Permalink
เทคโนโลยีด้านแท็บเลตพีซี(Tablet
PC) ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น รูปแบบการใช้งานของแท็บเลตพีซียังถูกใช้
เพื่อ “ทดแทนการใช้งานพีซี” เป็นหลัก
เช่น การท่องเว็บ อ่านอีเมล โซเชียลเน็ตเวิร์ค ดูหนังออนไลน์ ฯลฯ และมีข้อมูลระบุว่า
เรายังไม่เห็นการนำแท็บเลตพีซีมาใช้เปลี่ยนกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ (ที่ถูกเซ็ตโดยพีซีธรรมดา)ไปมากเท่าไรนัก ในด้านตลาดผู้บริโภค ก็เพิ่งจะเริ่มเห็นแท็บเลตพีซีถูกใช้งานเพราะรูปแบบที่แปลกใหม่
โดยเฉพาะเกมและความบันเทิงที่ใช้วิธีการสั่งงานด้วยการสัมผัสผ่านหน้าจอได้ง่ายกว่า
(ซึ่งเป็นจุดต่างสำคัญของแท็บเลตพีซีกับคอมพิวเตอร์พีซี) และในภาคธุรกิจแล้วนั้น
ก็ยังไม่เห็นการใช้งานนอกเหนือจากการอ่านอีเมล อ่านเอกสาร และอ่านเว็บ
จึงถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังต้องอาศัยการออกแบบเพื่อให้ใช้งานอย่างเกิดประโยชน์และการยอมรับจากผู้บริโภค
แม้เราจะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการสื่อสารและรูปแบบการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่
จนทำให้พรรคเพื่อไทยนำมาชูเป็นนโยบายหนึ่งในการหาเสียงก็ตาม
ตามนโยบายด้านการศึกษาที่พรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงเอาไว้นั้น
ในปีการศึกษาหน้า(๒๕๕๕) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
๑ ( ป.๑)ทุกคนจะได้รับแจกแท็บเลตพีซี (ซึ่งมีหน้าตาคล้ายๆ กับเครื่อง iPad) จำนวนราวๆ ๘ แสนคนทั่วประเทศ ใช้จำนวนเครื่องเท่ากับจำนวนเด็ก(One
Tablet per Child) โครงการนี้จะใช้เงินงบประมาณประเทศราวๆ
๕,๐๐๐ ล้านบาท
และเมื่อจะมีการนำมาสู่การปฏิบัติจริงในเร็วๆ
นี้ ก็เกิดการกังวลใจถึงความคุ้มค่าหรือประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจากการใช้เครื่องแท็บเลตพีซี
ทั้งในภาพรวมและภาพย่อยที่จะเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ
พรรคเพื่อไทยเคยระบุถึงแท็บเลตพีซีว่า จะเป็นเหมือนกับ
“อีบุ๊ก”(E-Book)ที่มาพร้อมกับโปรแกรมการเรียนการสอน หรือ คอร์สแวร์(Courseware) สามารถใช้กับเครือข่ายไร้สายไว-ไฟ(ฟรี) การลงทุนแจกแท็บเลตให้กับเด็กครั้งนี้
หากคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๑.๘๒
บาทต่อวัน ถือเป็นการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่คุ้มค่าเป็นการเพิ่มศักยภาพคน
เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘
และ
อาจจะมีการสั่งเครื่องแท็บเลตพีซีเหล่านี้มาจากประเทศจีนหรืออินเดียนำเข้า
มาประกอบในเมืองไทยก่อนที่จะได้แจกจ่ายไปยังเด็กนักเรียนชั้น
ป.๑ ทั่วประเทศ โดยราคาเครื่องที่จะสั่งมาจากอินเดียนั้นอยู่ที่ประมาณ
๑,๕๐๐ บาท แต่หากเครื่องที่นำเข้ามาจากประเทศจีนจะอยู่ที่
๓ - ๔,๐๐๐ บาท (นโยบายนี้พรรคเพื่อไทยตั้งงบประมาณไว้เครื่องละไม่เกิน
๕,๐๐๐ บาท) แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า
เครื่องไม้เครื่องมือที่นำเข้าจากบางประเทศนั้นมีคุณภาพต่ำ มีความคงทนน้อย
เพราะสินค้าที่ผลิตจากประเทศเกล่านั้นต่างก็เน้นใช้ต้นทุนต่ำในการผลิต และเมื่อนำไปใช้กับเด็กๆ
ที่ยังไม่สามารถดูแลรักษาเครื่องไม่เครื่องมือที่มีราคาแพงด้วยแล้ว
ก็น่าจะมีปัญหาได้
ปัญหา
มากมายก็กำลังจะตามมา
เช่น โปรแกรมที่จะใส่บรรจุลงไปในเครื่องนั้น
การเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งการเปิดปิดเครื่อง
การเก็บรักษาเครื่อง การเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนการใช้งาน
การใช้งานที่ไม่คุ้มค่า
ซึ่งครูน่าจะมี “ข้อห้าม”มากมาย
โดยเฉพาะการอนุญาตให้เด็กนำกลับไปใช้ทำการบ้านหรือเพื่อให้ผู้ปกครองได้มี
ส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนของลูกหลานอีกด้วย
แม้จะมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเตรียมตัวเข้ามาเสนอบริการแบบ
“โททัลโซลูชัน” (Total Solution) ด้วยการให้บริการครบวงจรทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์การเรียนการสอน(เนื้อหา)
ซอฟต์แวร์การจัดการการเรียนการสอน การควบคุม การกระจายสื่อ รวมถึงการบริการดูแลบำรุงรักษาเครื่องก็ตาม
แต่ดูเหมือนจะมีความกังวลใจกันมากขึ้น
เมื่อต้องพิจารณาถึงประเด็นประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า คุ้มทุน(Cost
Effectiveness) เพราะมิใช่เพียงแค่เด็กในเมืองเท่านั้นที่จะได้รับการแจกแท็บเลตพีซีเหล่านั้น
เด็กๆ ในชนบทที่ห่างไกลก้จะได้รับการแจกจ่ายเช่นเดียวกัน ทุกๆ โรงเรียนต่างก็อยากได้เครื่องแท็บเลตพีซีมาให้นักเรียนและครูใช้ในการเรียนการสอน
และเพราะว่าเป็นหน้าตาให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาอีกประการหนึ่งด้วย
แต่เมื่อเราจะทำโครงการใดๆ
เกี่ยวกับการลงทุนทางการศึกษา
เราจะต้องให้มีการประเมินประสิทธิภาพของการลงทุนนั้นให้ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่
๑) ด้านปริมาณ (Quantity) ๒) คุณภาพ (Quality) ๓) เวลา (Times) และ ๔)ค่าใช้จ่าย(Expenses)
โครงการแจกแท็บเลตพีซีก็ควรจะต้องถูกประเมินประสิทธิภาพอย่างรอบด้านเช่นเดียวกัน
จึงจะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมแก่เด็กๆ (ป.๑) ได้แก่
๑)
ปริมาณแท็บเลตพีซี ความครอบคลุมของเครื่องฯ ที่แจกจ่ายลงไปให้แก่เด็กๆ
อย่างทั่วถึง ครอบคลุมเด็กนักเรียนตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้
๒)
คุณภาพของเครื่องแท็บเลตพีซี ซึ่งต้องพิจารณากันอย่างครอบคลุมถึงคุณภาพทางด้านกายภาพของเครื่อง(ฮาร์ดแวร์)
และซอฟท์แวร์(โปรแกรมที่ใส่ไว้ในเครื่องฯ)
๓) จำนวนเวลาของการใช้งาน ต้องมีการเก็บข้อมูลว่า
เด็กมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานมากน้อยแค่ไหน ใช้เวลาเหล่านั้นไปทำอะไรกับมันบ้าง และ
๔)
ค่าใช้จ่ายทางตรง ที่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้
เช่น งบประมาณในการจัดซื้อ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ค่าเพิ่มหรือถอดโปรแกรม
ค่าซ่อมบำรุงรักษา และระบบศูนย์รวมของการบำรุงรักษาในแต่ละพื้นที่
และค่าใช้จ่ายทางอ้อม(ได้แก่ ต้นทุนในการเสียโอกาส)
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงการได้รับการยอมรับจากสังคมร่วมด้วย เช่น ความคาดหวังและความคิดเห็นที่ประชาชนที่มีต่อโครงการนี้ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก
ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผู้ใกล้ชิดตัวเด็กและมีส่วนเป็นเจ้าของเงินภาษีนั้นด้วย
หรืออีกวิธีหนึ่ง
โดยวิธีวัด “ผลิตภาพ”(Productivity)ก็ได้
โดย “ผลิตภาพ เท่ากับ ผลลัพธ์(Output + Outcome) หารด้วยปัจจัยนำเข้า(Input)”
ถ้าหาก
“ผลลัพธ์”น้อยกว่าปัจจัยนำเข้าก็ถือว่า ขาดทุน หรือ ไม่คุ้มค่า หรือถ้าเกิดผลลัพธ์สูง เด็กนักเรียนได้ประโยชน์มาก
จนเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนอย่างมากมายขึ้นในสังคมไทย เด็กๆ
มีความฉลาดมากขึ้น ไม่เพียงแค่ผู้กุมนโยบายจะได้ลงมือใช้เงินจัดซื้อ และเด็กๆ
ได้รู้จักและสัมผัสเครื่องมือสุดยอดไฮเทคที่สุดเท่านั้น
ผลิตภาพจึงหมายถึง
ความคุ้มกับไม่คุ้มเท่านั้น
(ภาพ เด็กในประเทศจีนกำลังใช้แท็บเลตพีซีในการเรียน)
ด้วยวิธีการประเมินอย่างใดอย่างหนึ่งใน
๒ วิธีการนี้ของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า
การแจกแท็บเลตพีซีมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความคุ้มทุน
หรือไม่เกิดความสูญเสียงบประมาณ สิ้นเปลืองทรัพยากรประเทศชาติ
หากพรรคเพื่อไทยทำได้ดีในนโยบายนี้
ก็อาจหมายความว่า เงินงบประมาณเพียง ๕,๐๐๐
ล้านบาทนั้นมันได้ส่งผลให้ระบบการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการปฏิรูปการศึกษาทีใช้ความพยายามมาอย่างยาวนานก็เป็นได้
(ภาพหน้าตาแท็บเลตพีซีของบริษัท Bharat Electronics ผู้ผลิตจากอินเดีย ราคา ๒,๑๐๐ บาท)
เมื่อได้ออกมาเป็นนโยบายโดยพรรคเพื่อไทยแล้ว การแจกแท็บเลตพีซีน่าจะเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อย
เพราะยังไม่มีใครการันตีได้ว่า
จะเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลแค่ไหน
เมื่อนโยบายนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการแจกจ่ายแท็บเลตพีซีเป็นเด็กนักเรียนชั้น
ป.๑ จึงมีคำถามว่า เมื่อให้นักเรียนชั้น
ป.๑ ได้ใช้เรียนหนังสือแล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง แน่นอนว่า
เครื่องแท็บเลตพีซีนั้นหากนำเอาไปใช้กับคนรุ่นไหนก็ย่อมเกิดมีการเปลี่ยนแปลงแก่คนในรุ่นนั้น
เพราะคนเหล่านั้นก็จะได้ใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่มีทั้งสาระและบันเทิงอยู่ในตัวครบครันในรูปแบบที่ทันสมัย
ในคำถามที่ว่านั้น
หากเราปรับเปลี่ยนโจทย์กันเสียใหม่
ด้วยการนำเอาเครื่องแท็บเล็ตพีซีมาใช้กับเด็กนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนระดับของสติปัญญาของเด็ก
ก็ย่อมได้รับผลลัพธ์แตกต่างกันออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น หาดนำเครื่องแท็บเลตพีซีเครื่องเดียวกันนี้ไปให้เด็กนักเรียนในช่วงชั้นที่
๒ (ชั้น ป. ๔ )ได้ใช้เรียน ย่อมได้รับผลลัพธ์ ต่างออกไป
ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าเด็กชั้น ป.๑ เพราะอย่างน้อยๆ เด็กก็มีความพร้อมในการเรียนรู้มากกว่า
ใช้งานได้เป็นผลมากกว่า
เช่น
เดียวกัน
หากรัฐบาลลงทุนในจำนวนเครื่องต่อหัวเท่าๆ กัน
แล้วนำไปให้เด็กนักเรียนในช่วงชั้นที่
๓ (ม.๑ )ก็ย่อมได้รับผลลัพธ์ดีกว่าการใช้งานกับเด็ก ป.๔ อย่างแน่นอน
และถ้าหากเรานำเครื่องแท็บเล็ตพีซีไปให้เด็กนักเรียนชั้น
ม.๔ ได้เกิดการเรียนรู้และค้นหาวิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
และความงดงามที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของวัฒนธรรมไทยก็ย่อมเกิดภูมิปัญญาแก่
เด็กนักเรียนเหล่านั้นมากกว่า
๓ กลุ่มแรกนั้นเสียอีก
ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไม่ทำเช่นนั้น...?
ในเรื่องนี้จึงไม่มีอะไรสะท้อนมากเกินไปกว่า
ความต้องการเอาชนะในการเลือกตั้งมากกว่าการใช้เหตุผลในการคิดหาวิธีการเพิ่มสติปัญญาให้แก่เด็กนักเรียน
และยังสะท้อนลึกไปถึงนิสัยของคนไทยที่ต้องการ “การได้หน้า”กันเสียมากกว่า แล้วก็เชื่อเหลือเกินว่า
เมื่อนโยบายแจกแท็บเลตพีซีออกมาใช้เป็นการจริงจังแล้ว ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย
แล้วคนที่ทำนโยบายนี้มาใช้ก็ต้อง “รักษาหน้า”ตัวเอง เกรงก็แต่ว่าจะมีการแก้ผ้าเอาหน้ารอดกันอีก เหมือนหลายๆ
โครงการที่แล้วๆ มา
คุณค่าทางเศรษฐกิจของการศึกษา
หมายถึง การที่ประเทศมีเศรษฐกิจดี
อันเนื่องจากประชาชนมีการศึกษาที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในมนุษย์คิดเป็นรายหัวสูงแล้วก็ตาม
แต่ก็ได้ส่งผลให้ประชาชนเป็นพลเมืองดี มีทักษะที่ดีในการทำงาน ได้แรงงานที่มีคุณภาพ มีสินค้าบริการที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสืบเนื่องต่อๆ
กันไป ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดการผลิตเองในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ
จนกระทั่งประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง เราจึงจะเชื่อได้ว่า
นโยบายนี้มี “คุณค่าทางเศรษฐกิจของการศึกษา”
เพื่อให้เรื่องแท็บเลตพีซี
จะไม่ใช่เพียงเพื่อเอาเงินภาษีของเรา ไปซื้อ “ของเล่น”แจกให้แก่เด็กๆ เป็น “เครื่องทดลองให้แก่คนออกนโยบาย” และเป็น
“การหาประโยชน์จากการจัดซื้อเครื่องแท็บเลตพีซีของนักการเมือง”