บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บก.ลายจุด จัดหนัก แม้ว!

ครั้งที่ม่านควันแห่งการสลายการชุมนุมเมื่อพฤษภาคม53 ยังหนาทึบ พรางสายตาให้คนเสื้อแดงลอยเคว้ง ไร้หลักทิศ “สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด)” ได้ส่งแคมเปญ “วันอาทิตย์สีแดง”ทำกิจกรรมผูกผ้าที่แยกราชประสงค์กระตุกสติคนเสื้อแดง

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า แม้จะไม่ส่งผลแบบทันด่วน แต่การใช้สันติวิธี พร้อมขยายแนวร่วมรบแบบที่เรียกว่า ”แกนนอน” ทำหน้าที่ “สื่อสาร”และเรียกสติแนวร่วมแบบไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้คนเสื้อแดงเริ่มรวมติดก่อนจัดขบวนต่อรองกับรัฐบาลใหม่

ครบรอบ2ปีการชุมนุม มีบริบทที่พิเศษกว่าครั้งไหน ด้วยวีดีโอลิงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปรียบเปรย"เสื้อแดง" เป็นดั่ง "เรือ" ที่ส่งถึงฝัง โดยที่จากนี้ไปเขาเลือก “สละเรือ”เพื่อ"นั่งรถ" ได้ซ่อนนัยยะสู่การตีความได้หลายหลาก


คุณทักษิณกำลังหลงตัว คิดว่าตัวเองเป็นเป้าหมาย คำพูดล่าสุดมันชัดเจนที่คิดว่าตัวเองคือเป้าหมายการต่อสู้ครั้งนี้ ทั้งที่จริงๆ แม้จะรักคุณทักษิณแต่คนเหล่านั้นเรียกร้องประชาธิปไตย ถึงจะชอบคุณทักษิณ แต่เงื่อนไขการสู้เพื่อคุณทักษิณอย่างเดียวไม่สามารถเรียกคนออกมาได้ขนาดนี้ อย่างน้อยก็ไม่มีทางเรียกคนอย่างผมได้ หรือเรียกปัญญาชน กระทั่งชาวบ้านออกไม่ได้ขนาดนี้ ลำพังคุณทักษิณมันไม่เพียงพอหรอก เพราะประเด็นใหญ่ที่ประชาชนสนใจคือสังคมที่จะวิวัฒนาการไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีคุณภาพทางการเมืองที่สูงกว่าสมัยคุณทักษิณด้วยซ้ำ แต่พอคุณทักษิณพูดแบบนี้มันก็กลายเป็นรถไฟสายประชาธิปไตยถึงแค่สถานีคุณทักษิณ ซึ่งคุณทักษิณอาจจะบอกนี้คือสถานีประชาธิปไตย แต่นั่นคือการหลงตัวเอง

วิเคราะห์ว่าเหตุใดคุณทักษิณถึงพูดเช่นนั้น

คงคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากไปเจรจากับฝั่งโน้นมา และฝ่ายโน้นเองอาจจะให้ทหารเริ่มออกจากประชาธิปัตย์ หัวหน้าอำมาตย์ก็ไปฟังเพลงที่ทำเนียบรัฐบาล มีรดน้ำดำหัวกัน นั่นมันคือการส่งสัญญาณชัดว่ามีการเจรจาต่อรองกัน ทางนี้ (ฝ่ายคุณทักษิณ) จึงส่งสัญญาณมาก ผมว่าสิ่งที่น่ากลัวสำหรับอำนาจนอกระบบไม่ใช่คุณทักษิณแล้ว แต่มันคือเสื้อแดง ดังนั้นเขาต้องหยุด และคุณทักษิณอาจรับจ็อบมาให้ช่วยหยุดคนเหล่านี้

หรืออาจจะประเมินแล้วว่าเสื้อแดงอย่างพวกคุณ ที่ถือเป็นแดงฝ่ายก้าวหน้ามีน้อย

ผมว่าเขาไมได้ประเมินเรื่องนั้น แต่เขาคงคิดว่าเมื่อพูดแล้วทุกคนจะเห็นตามเลย มันอาจมีทีมาจากการประเมินผิด ทุกคนเวลาเจอคุณทักษิณก็แสดงออกถึงความรัก มีคนอยากไปหาเยอะ คือมีทั้งคนที่รักเขาจริงๆ อีกอย่างคือเขาเป็นศูนย์รวมอำนาจ มีแต่คนอยากเข้าถึง อยากเป็นสายตรง ดังนั้นเขาอาจจะมั่นใจว่าเป็นที่รัก มีความสำคัญ แต่คิดบนฐานตัวเอง ไม่ได้คิดบนฐานชาวบ้าน เขาไม่รู้ว่าในประเทศไทยมันมีมิติอย่างไรบ้าง

คนเสื้อแดงที่มองไปไกลกว่าเรื่องคุณทักษิณมีมากขนาดไหน

ที่ไปไกลกว่าคุณทักษิณอาจมีไม่เยอะ แต่ว่าคนที่คิดมากกว่าทักษิณมันมีมาก กล่าวคือพร้อมจะต่อสู้เรื่องที่มากกว่าเรื่องของคุณทักษิณมาก เพียงแต่เสื้อแดงส่วนใหญ่ยังยึดติดกับคุณทักษิณเพราะอยากจะพาไปด้วย นึกออกไหม คือเขาเองก็อยากจะลากไปด้วย คิดว่าลงเรือลำเดียวกัน แต่การปราศรัยครั้งนี้มันเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ก้าวข้ามเพราะการพูดเช่นนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งก้าวข้ามคุณทักษิณได้

แนวคิดแบบก้าวหน้า จะช่วงชิงแกนนำในหมู่คนเสื้อแดงได้อย่างไร

ไม่ ไม่ (ส่ายหน้า) ผมไม่กล้าขนาดนั้น ผมไม่มีศักยภาพพอจะไปนำใครขนาดนั้น ผมเป็นแค่คนขายไอเดีย และคิดว่านี่คือเวลาที่ดีที่สุด แต่ต้องให้เวลาเขาถกเถียงกันสักพักนี่เป็นประเด็นที่ร้อนที่สุดแล้วในหมู่คนเสื้อแดง เพราะนี่หมายถึงการสร้าง ทิศทางของคนเสื้อแดงต่อจากนี้ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งคนที่ควรจะพูดก่อนและผมเองก็ให้เกียรติคือ อ.ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) ประธานนปช.มิเช่นนั้นหากไม่พูดมันก็เปรียบเสมือนมวลชนถูกทิ้งกลางทะเล

ตอนนี้ผมเองเพียงตะโกนบอกว่า “เราต้องไปต่อ” เพราะวันนี้เถ้าแก่ดูไบไปแล้ว เราก็ต้องทำใจ ใครจะไป ไม่มีใครว่าหรือใครจะอาลัยอาวรณ์ผมก็เข้าใจ แต่ผมเองไม่มี ผมเพียงแต่รู้สึกว่าเมื่อคุณคิดลงจากขบวนก็น่าจะทำให้ดูดีหน่อย ผมรับไม่ค่อยได้ที่จะบอกว่าผมเพียงแค่มาส่งคุณ ผมเองก็มีศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน และมีสถานะเป็นแนวร่วม คือเรากำลังวิ่งไปหาสั่งคมประชาธิปไตย เพราะคิดว่าสังคมแบบนี้จะให้ความเป็นธรรมกับเราทุกคน ถ้าคุณเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นธรรมคุณก็โดดขึ้นมา แต่จู่ๆคุณก็บอกว่าคุณถึงแล้ว แต่เรายังไม่ถึงนะ

คุณคิดว่าความเป็นธรรมของคุณคือการไปเจรจาก็ตามใจ แต่ว่าคุณขึ้นเขาได้คนเดียวนะ แล้วชาวบ้านเยอะแยะจะทำยังไง จะรักษาขบวนอย่างไร แล้วขอโทษนะ…ผมคิดว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจประวัติศาสตร์จริงๆ คุณทักษิณนั้นเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของคนประชาชนแต่มันปฏิเสธไม่ได้ว่าความแข็งแรงของคนเสื้อแดงในวันนี้ กลุ่มคนชอบคุณทักษิณมีส่วนสำคัญอย่างมากเพราะมันอ้างประชาธิปไตยไง ถึงมีคนตามมา ถ้าไปบอกว่าเพื่อทักษิณคนจะไม่ตามมาขนาดนี้

ก้าวต่อไปของคนเสื้อแดงควรจะเป็นอย่างไร

ผมยืนยันว่าขบวนการประชาธิปไตยต้องประกอบไปด้วยองค์กรขนาดเล็กจำนวนมาก และองค์กรขนาดเล็กนี้เองถึงจะล้อมเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสมาพันธ์หรือสมัชชา แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีองค์กรขนาดเล็ก มีแต่องค์กรขนาดใหญ่ และองค์กรขนาดใหญ่นี่เองที่รวบการนำ การคิด เป็นคนกำหนด แต่ถ้าเรามีองค์กรขนาดเล็กจำนวนมากแล้ว เวลาเคลื่อนก็จะทำให้ภาพใหญ่มันแน่น อีกอย่างการรวมกลุ่มขนาดเล็กทำให้เกิดการปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมวลชนเป็นผู้ปฏิบัติการได้ มันจะมีศักยภาพมาก พลังของขบวนจะเพิ่ม วันนี้เสื้อแดงเยอะมากพอแล้ว เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจากมวลชนมาเป็นผู้ปฏิบัติงานให้ได้ เพื่อศักยภาพมันจะสูงสุด เมื่อเขารวมกลุ่มกัน มันจะเกิดการศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่ฟังการปราศรัยเสร็จ ใครพูดอย่างไรก็ว่าตามนั้น

กลุ่มย่อยที่ว่าหมายถึงอะไร หรือเป็นการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงแบบที่ทำอยู่

ได้หมด อาจจะเป็นตามซอย ที่ทำงาน ชุมชน เรื่องนี้มันเกิดขึ้นสมัย14ตุลา 16 มันทำสิ่งที่เรียกว่ากลุ่มศึกษา ที่อาจไม่ต้องมีการชุมนุมใหญ่โตก็ได้ แต่กลุ่มศึกษา อาจจะเป็นผู้นำตามธรรมชาติ ชุมชน มีแดงประจำซอย แดงประจำออฟฟิศ มีการเกาะกลุ่มใกล้บ้าน เป็นพรรคพวกสถาบันเดียวกัน รวมกลุ่มกัน มีวิทยากรมาให้ความรู้ เหมือนสมัยก่อนที่ศึกษาจากบทความ มาวิเคราะห์กัน

เสื้อแดงในเชิงปริมาณพอแล้ว สิ่งที่เราขาดคือคุณภาพ ถ้าเสื้อแดงเปลี่ยนเป็นคุณภาพได้ ชนชั้นกลางก็จะยอมรับมากขึ้น พวกที่เคยต่อต้านก็จะลดการต่อต้าน อาจจะไม่ถึงขนาดกลับข้างมาเป็นพวกแต่จะลดการต่อต้านลง

การชนะเร็วๆคือการชนะแบบชนชั้นนำ ไม่เกิดประชาธิปไตยจริงๆ นี่คือโอกาสดีที่จะเปลี่ยนคุณภาพของคนในสังคม ประชาธิปไตยที่สุดคือการเปลี่ยนคุณภาพในสังคม ไม่ใช่แค่การมีรัฐบาลที่ดีเท่านั้น แต่คุณภาพคนในสังคมต้องเปลี่ยน

จริงอยู่การล้มอำมาตย์เป็นภารกิจหนึ่ง แต่หากเราล้มอำมาตย์โดยไม่ได้เน้นการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยก็ไม่ต่างอะไรกับพันธมิตร ที่บอกว่านักการเมืองเลว ซึ่งผมเองก็ไม่เคยขัด แต่พันธมิตรฯก็ไม่มีรูปแบบการนำเสนอทางใหม่ๆ อย่างช่วงหลังที่คนเสื้อแดงเริ่มพูดถึง Primary vote แบบนี้ เพราะไม่มีทางเลยที่นักการเมืองจะพูดก่อน แต่มวลชนต้องเสนอเรื่องแบบนี้

นี่เฉพาะเรื่อง primary Vote น่ะ แต่ต่อไปมันต้องพูดไปถึงประชาธิปไตยกินได้ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งของการสร้างพรรคการเมือง ที่ตอบสนองคนในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมและสังเคราะห์ปัญหา หรือข้อเสนอ นำไปสู่การพัฒนาชุมชนตนเอง และข้อเสนอใดที่ต้องขึ้นไปในระดับนโยบายพรรคก็ต้องมีช่องทางที่จะรับจากข้างล่างและทำการสังเคราะห์ผลักดันเป็นนโยบายไปสนับสนุน นี่คือระบบพรรคการเมืองในฝันที่เราอยากจะเห็น แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในการออกแบบในพรรคการเมืองไทย ที่มีแต่ระบบเหมาทำ จะดีหน่อยก็ตรงที่บางพรรคอาจจะมีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่ออกไปสำรวจ วิจัย แล้วผลิตเป็นนโยบาย ซึ่งถือว่ายังดีกว่าการนั่งเทียน แต่ก็ถือว่าไม่ใช่กระบวนการมีส่วนร่วมอยู่ดี ลองคิดดูถ้าพรรคเพื่อไทยทำได้เช่นนี้ พวกฝ่ายพันธมิตรก็รับได้

การสร้างสังคมตื่นรู้แบบใช้แกนนอน สำหรับคนเสื้อแดงเองจะเริ่มเมื่อใด

จะทำอะไรขอรอดูก่อน ผมยอมรับตอนนี้ผมทะเล่อทะล่าพอสมควร หมายความถ้าพูดมากกว่านี้ว่าผมกลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องชิงดีชิงเด่น ผมวางตัวแบบนี้เพื่อผมจะมีพื้นที่เสนอต่อ ดังนั้นจะไม่ทำตัวในลักษณะการช่วงชิงแกนนำ และศักยภาพผมเองก็ทำขนาดนั้นไม่ได้ ผมประเมินตัวเองแล้ว ผมเป็นเพียงนักออกแบบนวัตกรรม เสนอความคิด แต่ผมคงไปนำคงไม่ไหว อย่าสงไรก็ตามพวกคุณต้องให้โอกาส นี่มันเพิ่งผ่านไม่กี่วัน และไม่มีใครแม้แต่คนเดียวสนับสนุนกับสิ่งที่คุณทักษิณคนเสื้อแดงก่อน จริงอยู่มีคนยังรักคุณทักษิณอยู่ แต่ข้อเสนอไม่มีใครเห็นด้วย

ความขัดแย้งในครั้งนี้ไมได้เกิดจากชนชั้นนำเหมือนที่เป็นมา จริงอยู่ที่วิกฤติการณ์ส่วนหนึ่งคือการที่ช้างชนกัน คือเป็นเรื่องของชนชั้นนำผู้มีอิทธิพล แต่ครั้งนี้มันมี2มิติ คือการปะทะด้านบน และการขยับตัวของชนชั้นกลาง และที่ซ้อนกว่านั้นคือการขยับในระดับฐานล่าง ที่ คนเหล่านี้มันลุกขึ้นมาอีก แล้วมีมิติการเคลื่อน ดันจากข้างล่างมาข้างบน เรื่องชนชั้นผมยืนยันมันมีอยู่จริง โคตรจริงเลย เพียงแต่ตัวละครที่เห็นมักจะมีแต่ระดับแกนนำที่ออกมาชนกันตามหน้าสื่อ

หลังการสลายการชุมนุม คุณออกเคลื่อนไหวด้วยการใช้สัญลักษณ์ด้วยการผูกผ้าแดง จะเกิดขึ้นสัญลักษณ์อะไรกับประเด็นนี้

ครั้งนั้นถึงผมไม่ออกมาทำวันอาทิตย์สีแดง มันก็ต้องมีคนออกมาอยู่ดี นั่นเพราะเจตจำนงมันมี ผมไม่ได้มีศักยภาพสูงขนาดนั้น แต่ความเป็นจริงทางสังคมทำให้เกิด มันเป็นความเป็นจริงที่คนรู้สึกอยากจะสู้ เหมือนกับรอบนี้ซึ่งต้องอ่านให้ออก ประเด็นคือตอนนั้นหลังจากปี 53 คนยังไม่ยอมแพ้แต่ไม่รู้สู้อย่างไร พอมีคนเคลื่อนเขาก็เกาะสิ่งนี้ ตอนนี้ก็เหมือนกัน คนมันยังไม่อยากหยุดแม้คุณทักษิณบอกจะพอแล้ว แต่คนไม่อยากหยุด มันเหมือนกันทุกประการ เพียงแต่รอใครมาทำหน้าที่และมีทิศทาง ปักธง เพื่อเดินไปอีกรอบ

แต่เมื่อบริบทเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ก็ต้องคิดวิธี ผมคิดเล่นๆอาจจะมีทัวร์รถไฟสายประชาธิปไตยสักรอบ อาจเช่าโบกี้ขึ้นรถไฟไปอยุธยา ไปบ้านอ.ปรีดี (พนมยงค์) เชิญตัวหลักๆนักวิชาการที่ก้าวหน้า เชิญหลากหลายกลุ่มที่มีนัยยะ มาหารือบนรถไฟ และทบทวนกันว่าทำไมเส้นทางสายประชาธิปไตยมันไม่สุดสักที ถ้าจะเดินทางมันต้องทำอย่างไร ก็ใช้เส้นทางนี้หารือ ส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ ให้เปรียบเสมือนว่าการขึ้นรถไฟที่มีตัวแทนจากคนหลายกลุ่ม

(หมายเหตุ : สัมภาษณ์พิเศษ : 'สมบัติ บุญงามอนงค์' ก้าวข้าม 'ทักษิณ' แบบแกนนอน)


กุ้งอินเตอร์

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทำความเข้าใจหลักการ “เงินเยียวยา” ทำไมห้ามฟ้องแพ่ง



เรียบเรียงโดยกองบรรณาธิการ

กรณีการรับเงินเยียวยาความเสียหายจากการชุมนุม และมีข้อกำหนดห้ามฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐนั้น สามารถกระทำได้ เพราะฐานของการได้รับค่าเสียหายนี้ คือ ความรับผิดโดยปราศจากความผิด (ชดใช้ให้ไปก่อน โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าคนชดใช้ คือรัฐนั้น กระทำละเมิดหรือไม่ ทั้งนี้เป็นไปตามนิตินโยบาย) ในต่างประเทศระยะหลัง ศาลวางแนวรับรองความรับผิดโดยปราศจากความผิดเพิ่มขึ้นมา และขยายวงออกไปในหลายเรื่อง เช่น ผู้เสียหายจากการก่อการร้าย การรักษาพยาบาลฯ จนทำให้ผู้เสียหายฟ้องศาลมากขึ้น เพื่อขอค่าเสียหายจากรัฐ เพราะผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ว่ารัฐทำละเมิด ถ้าศาลเห็นว่าเป็นความรับผิดโดยปราศจากความผิด ศาลก็จะให้เอง

พอคดีแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็เข้ามาช่วยด้วยการออกกฎหมายรายฉบับ กำหนดเรื่องที่ใช้ความรับผิดโดยปราศจากความผิด (เช่น ผู้เสียหายจากการักษาพยาบาล, ผู้เสียหายจากการชุมนุม, ผู้เสียหายจากการก่อการร้าย เป็นต้น) มีหลักการคือ ให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง พิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่ารัฐผิด พิจารณาแค่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับความเสียหาย และดูความร้ายแรงของความเสียหายเพื่อกำหนดจำนวนเงินมากน้อยต่างกันไป

เมื่อกำหนดค่าเสียหายให้แล้ว ผู้เสียหายยังไม่พอใจ ก็จะอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการอีกชุดเพื่อให้ชี้อีกครั้งก็ได้

หากผู้เสียหายพอใจตกลงรับเงินค่าเสียหาย ก็ไม่อาจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อศาลได้อีก แต่หากไม่พอใจ ก็ฟ้องศาลได้อีก

นี่เป็นหลักการปกติ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติลงมาช่วย เพื่อให้คดีไม่รกศาล และผู้เสียหายก็ได้เงินรวดเร็ว

กฎหมายแบบนี้มีมากมายที่ฝรั่งเศส เคยมีผู้ร้องไปยังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเหมือนกันว่า การกำหนดว่าถ้ารับเงินแล้ว ห้ามฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายนั้นขัดกับสิทธิการฟ้องคดี แต่ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ขัด

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นคดีเรียกค่าเสียหาย เรียกเงินเท่านั้น ไม่ได้ตัดสิทธิการฟ้องคดีอาญา

ดังนั้น ที่รัฐบาลทำอยู่ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน คือ รับเงินแล้ว ฟ้องเรียกเงินอีกไม่ได้ แต่เมื่อมีการกำหนดตัวเงินมาแล้ว ผู้เสียหายยังไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องศาลต่อได้ และที่สำคัญ การรับเงิน หรือไม่รับเงิน ไม่ได้ไปตัดเรื่องฟ้องคดีอาญา

ที่ฝรั่งเศส มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่ง ตราเมื่อ 4 มีนาคม 2002 กฎหมายนี้กำหนดว่า บุคคลผู้เสียหายจากการตรวจ การรักษาพยาบาล โดยที่ความเสียหายนี้ ไม่ได้เกิดจากการกระทำละเมิด ผู้เสียหายอาจร้องขอต่อคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ได้ โดยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ความเสียหายเกิดจากการกระทำ ความเสียหายผิดปกติ ความเสียหายร้ายแรง

อาจเป็นไปได้ว่า เกิดใช้สองช่อง คือ ฟ้องศาล และ ร้องกับคณะกรรมการ

เช่น ฟ้องศาลไปแล้ว ศาลยังไม่ตัดสิน แล้วมาขอคณะกรรมการอีก กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องต้องแจ้งแก่คณะกรรมการฯด้วยว่า ได้ฟ้องศาลในเรื่องนี้ไปแล้ว ผลก็คือ อายุความของศาล และกระบวนพิจารณาในศาล หยุดลงชั่วคราวไปก่อน

เช่น ร้องขอคณะกรรมการแล้ว แต่คณะกรรมการยังไม่วินิจฉัย ก็เลยไปฟ้องศาลอีก กฎหมายกำหนดให้ ผู้ฟ้องต้องแจ้งแก่ศาลด้วยว่า ตนได้ร้องต่อคณะกรรมการฯไว้ด้วย

ในกรณีที่คณะกรรมการฯวินิจฉัยให้จ่ายแล้ว ก็จะแบ่งเป็น

1.) พอใจ รับเงิน จบ ห้ามฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้อีก

2.) ไม่พอใจ อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ วินิจฉัยมา พอใจ จบ ห้ามฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้อีก

3.) ไม่พอใจ อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ วินิจฉัยมา ไม่พอใจ ไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายในเรื่องนี้ อีก กรณีนี้คู่พิพาทกัน ก็คือ ผู้เสียหาย กับ คณะกรรมการกองทุนนี้ โดยเรื่องที่พิจารณาคือ ควรได้ค่าเสียหายเท่าไร ศาลอาจบอกว่า เท่าเดิม หรือ ศาลอาจเพิ่มให้ (แต่ลดลงไม่ได้)

สำหรับกรณีของไทย เข้าใจดีว่าผู้เสียหายหลายคนอาจยังติดใจว่า ทำไมฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อให้จ่ายค่าเสียหายไม่ได้ ขออธิบายดังนี้

1.) พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 วางหลักว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องฟ้องตัวหน่วยงาน แต่ถ้ากรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในนามส่วนตัว ทำนอกการปฏิบัติหน้าที่ ต้องฟ้องตัวเจ้าหน้าที่

2.) กรณีสลายการชุมนุม ไม่มีช่องไหนที่จะฟ้องตัวคนได้เลย เพราะการสั่ง การปฏิบัติการ การสลายชุมนุมอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งนั้น หากไปละเมิดก็เป็นละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ต้องฟ้องหน่วยงานเสมอ ไม่มีทางฟ้องอภิสิทธิ์ สุเทพ ได้

3.) เมื่อฟ้องหน่วยงานไปแล้ว หากศาลพิจารณาว่าเป็นละเมิดจริง ก็จะสั่งให้หน่วยงานชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย จะเห็นได้ว่า เป็นเงินที่มาจากงบประมาณแผ่นดินเช่นเดียวกัน

4.) หากหน่วยงานจ่ายไปแล้ว เห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิด กระทำโดยจงใจหรือประมาทร้ายแรง หน่วยงานก็ไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่คนนั้น (ซึ่งไม่เกี่ยวกับผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายได้รับเงินไปแล้ว หน่วยงานกับเจ้าหน้าที่เขาว่ากันเอง)

5.) จะเห็นได้ว่า หากใช้ช่อง พ.ร.บ. ปี 39 แล้ว กระบวนการจะช้าและเป็นภาระแก่ผู้เสียหายมาก ดังนี้ 1. ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นให้ได้ว่ามีการละเมิด 2. สมมติศาลพิพากษาให้หน่วยงานจ่าย หน่วยงานก็จะสู้คดีต่ออีกในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา 3. ค่าเสียหายที่ผู้เสียหายขอต่อศาลไปนั้น อาจไม่ได้ตามที่ขอ เพราะศาลจะดูหลายๆ อย่างประกอบ เช่น ระดับความเสียหาย, ค่าเสียโอกาสในอนาคตมีจริงหรือไม่, ผู้เสียหายมีส่วนร่วมกระทำผิดในการละเมิดนั้นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งปกติแล้ว ขอไปทีไร ศาลให้ไม่เต็มเสมอๆ 4. องค์คณะของศาลแต่ละคดี อาจตัดสินไม่เหมือนกันก็ได้

6.) การสลายการชุมนุมในปี 52 มีคดีตัวอย่าง ทนายสุวิทย์ ทองนวล (ทำคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ร่วมกับทนายคารม พลพรกลาง) เป็นคนทำคดีฟ้องฐานละเมิดโดยเอา พ.ร.บ. 39 มาใช้ ขอไปประมาณกว่า 3 ล้าน ศาลสั่งให้หน่วยงานชดใช้ ได้มาล้านกว่าๆ (เคยเป็นข่าวใน น.ส.พ. ข่าวสด) และไม่แน่ใจว่าหน่วยงานสู้คดีต่อหรือไม่

7.) กรณีระเบียบฯเยียวยานี้ เปิดทางเลือกให้ผู้เสียหาย หากผู้เสียหายไม่เอาทางนี้ ก็ไปฟ้องได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าไปฟ้องต่อศาล ก็ต้องใช้หลักตาม พ.ร.บ. ปี39 ซึ่งไม่มีทางที่จะฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพได้โดยตรง แต่ต้องฟ้องหน่วยงาน

8.) ระเบียบฯนี้ ไม่ได้ตัดเรื่องความผิดอาญา ในระบบกฎหมายเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่มีกฎหมายใดตัดความผิดอาญาจากการสลายการชุมนุมได้ นอกจากจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม

นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาด้วย คือ กรณีความรับผิดแบบ without fault นั้น ศาลไทยยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าไร พอพูดเรื่องละเมิด ก็ต้องลากไปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 420 คือ ต้องไปพิสูจน์ว่ากระทำผิด ละเมิด ให้ได้ ถึงจะได้ค่าสินไหมทดแทน

ทีนี้ ในกรณีกฎหมายปี 2002 ของฝรั่งเศสนั้น เขาก็เอาเฉพาะเรื่องกรณี without fault เท่านั้น ที่ให้ใช้ช่องคณะกรรมการฯ แต่ถ้าเป็นการฟ้องความรับผิดที่มี fault ขึ้นมา ก็ไปว่ากันเอง ซึ่งว่ากันเองนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องฟ้องหน่วยงานก่อนอยู่ดี (หากเป็นการละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่)

แต่พอมากรณีของไทย มันจะผสมมั่วๆ อยู่นิดหนึ่ง คือ กรณีระเบียบเยียวยา ไม่ได้พูดเรื่อง without fault เพราะ เขาอาจไม่รู้จักก็ได้ แต่ผมเห็นว่าฐานที่รัฐบาลยอมจ่ายนี้ เป็น without fault แน่นอน เพราะจ่ายโดยไม่ได้ไปหาฐานละเมิด

แต่ระเบียบฯนี้ก็ไปเขียนอีกว่า ตัดสิทธิฟ้องแพ่ง (เดาว่า เขาไม่รู้จักเรื่อง without fault กับ fault จริงๆ เลยไม่รู้จะเขียนตัดยังไง) และหากมีการไปฟ้องศาล เป็นไปได้ว่าศาลเองก็อาจไม่รู้เรื่องอีกเหมือนกัน

นักกฎหมายไทยไม่ค่อยรู้จัก เรื่อง without fault ทุกวันนี้ตอนบรรยายวิชากฎหมายปกครอง ผมจะพูดเรื่องนี้ประมาณ 3 คาบทุกครั้ง เพราะ concept แบบ without fault ต่อไปจะใช้เยอะขึ้นแน่นอน ตามความคิดการพึ่งพาอาศัยกันฉันมิตร (national solidarity)

จริงๆ เรื่องนี้พอมีโผล่ๆ มาอยู่บ้าง เช่น กรณี ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรณีร่าง พ.ร.บ. ความเสียหายจากการรับริการสาธารณสุข, กรณี พ.ร.บ. เกี่ยวกับเรื่องการชดเชยให้กับคนติดคุก ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาว่าบริสุทธิ์

อีกประเด็น ก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ถูกความคิดแบบกฎหมายเอกชนครอบงำมานาน พอพูดเรื่องฟ้องกันทีไร จะต้องคิดภาพตัวคนลอยมาทันที เช่น ก ตีกบาล ข ก ก็ฟ้องเรียกเงินจาก ข ข ก็เอาเงินของตนมาจ่าย ก แต่ในทางคดีปกครอง เขาไม่ได้เล่นกันที่ตัวคน เช่น ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ ก ออกมา ก็เล่นไปที่ตัวคำสั่ง ไม่ได้เล่นไปที่เจ้าหน้าที่ ก หรือ เช่น เจ้าหน้าที่ ก ปฏิบัติหน้าที่แล้วไปละเมิด ข ข ก็ฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ก เพราะ การกระทำของ ก เป็นไปเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทำในนามของหน่วยงานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมา ไม่มีคำพิพากษาใดพูดชัดเรื่อง without fault เลย นอกเสียจากมี พ.ร.บ. กำหนดไว้ชัดเจน เช่นพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

และหากฟ้องแบบ fault ไปได้ ก็ต้องเจอกับ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี 2539 ที่ไปฟ้องเอากับหน่วยงานอยู่ดี และใช้กระบวนการนานมาก

รัฐบาลเองก็อาจแยกไม่ออกกระมัง เลยเขียนระเบียบออกมาแบบเร็วๆ แบบนี้

ตอนทำระเบียบ ไม่รู้ว่าเขาเอาแบบของ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 มาดูไหม เพราะอันนี้เขียนค่อนข้างใช้ได้ มีคณะกรรมการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเขียนชัดว่าไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น

หากจะทำให้เป็นระบบกว่านี้ ควรออกมาในรูปแบบ ดังนี้

1.) มีคณะกรรมการพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้อง

2.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายพอใจ รับไป จบ

3.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายไม่พอใจ อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้เสียหายพอใจ จบ

4.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายไม่พอใจ อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้เสียหายไม่พอใจ ฟ้องศาล เพื่อให้ศาลกำหนดจำนวนเงินให้ใหม่

5.) กรณีไม่เลือกช่องทางคณะกรรมการ ก็ไปฟ้องศาลได้โดยตรง

6.) นี่เป็นความรับผิดแบบ without fault ไม่ใช่ความรับผิดแบบ fault หากตั้งฐานเอาแบบ fault ก็ไปฟ้องได้

(ประเด็น คือ ผู้ปฏิบัติกฎหมายไทยจะรู้จักและแยกแยะ without fault กับ fault ได้หรือไม่ หรือเหมารวมไปหมด ดังนั้น จริงๆ น่าจะตรากฎหมาย เขียนระเบียบให้ชัด ผมจึงคาดเดาว่า ด้วยเหตุนี้เอง ระเบียบฯ จึงไปเขียนว่าตัดสิทธิฟ้องแพ่ง เพราะ ไม่รู้จักเรื่อง without fault กับ fault รู้จักแค่ว่าถ้าฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน เรียกเงินกัน ต้องเป็นฟ้องแพ่งแบบละเมิดหมด)






ที่มา: เฟซบุ๊คส่วนตัวปิยบุตร แสงกนกกุล


มีการเรียบเรียงเพิ่มเติมในเวลา 00.34 น.(25 พ.ค.55)
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง