หลายสิบปีก่อน องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ “อสมท.”ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ แดนสนธยา ” ด้วยรัฐวิสาหกิจแห่งนี้มีความลึกลับซับซ้อน ภายในองค์กรมีการแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และ เขียนโดย ทีมข่าวอิศรา หมวดยังมีการเมืองจากภายนอกเข้าแทรกแซงการดำเนินงานภายในอีกด้วย ท่ามกลางความอลวน อลเวง ภายใน อสมท. สาธารณะชนแม้จะรับรู้แต่ก็ไม่กระจ่างชัด ราวกับเป็นดินแดนที่มีแสงสว่างเห็นเพียงลางๆ ไม่ชัดเจน มีความน่าพรั่นพรึงหลังพระอาทิตย์ตกดิน ดุจดังภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง “แดนสนธยา” ที่ฉายเป็นซี่รี่ย์โด่งดังทางช่องของ อสมท.เอง ในสมัยโน้นเลยทีเดียว
สมญานาม “แดนสนธยา”เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา หลังจาก อสมท.เข้าสู่ยุคการทำงานอย่างมืออาชีพ ภายใต้การนำของ นายแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีต ผอ.อสมท. ผลงานที่ปรากฎเป็นที่รู้กันทั่วไป ขณะที่พนักงาน อสมท.ในช่วงเวลานั้น ก็ให้การยอมรับนับถือในฝีไม้ลายมือ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและองค์กร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้บุคคลภายนอก ผู้ร่วมลงทุนสถานีวิทยุกับอสมท.เสียผลประโยชน์และโกรธแค้น จ้างมือปืนไปดักยิงจนเสียชีวิต
มาถึงวันนี้ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ในชื่อใหม่ว่า บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เสียงวิพากษณ์วิจารณ์ในบรรดาพนักงาน อสมท.ว่า “แดนสนธยา”กลับมาอีกแล้วหนาหูขึ้น เมื่อมีข่าวความขัดแย้งระหว่าง นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ หรือประธานบอร์ด กับ นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ร้อนแรงถึงขั้นมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาจ้างบริหารกับนายธนวัฒน์ ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นำพนักงานประมาณ 80 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทหรือบอร์ด อสมท ผิดหลักธรรมาภิบาล บริหารงานไม่โปร่งใส เรื่องที่บอดร์ดมีมติแก้ไขโครงสร้างใหม่ของ อสมท. ยุบตำแหน่งสำคัญระดับ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บางตำแหน่ง และการโยกย้ายผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
งานนี้โจษจันกันทั่วอสมท. ถึงขนาดที่ว่ามี “การเมืองเข้าแทรก” มีเรื่องของ “สี”เข้ามาเกี่ยวข้อง โยงไปถึงเรื่องของ “ บุคลากรภายใน”ที่จะมาสวมตำแหน่งสำคัญระดับบริหารในองค์กร ซึ่งพนักงานจำนวนหนึ่งร้อง “ยี้” เข้าไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานเองยังมีการถือหางฝ่ายประธานบอร์ด กับอีกฝ่ายก็เชียร์กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ระดับบริหาร "กินเกาเหลา" ที่น่าติดตามความเป็นไปอีกครั้งหนึ่งใน “แดนสนธยา”
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท.
ที่มาของเหตุการณ์ที่มาของเหตุการณ์ในแดนสนธยาหนนี้ มาจากการประชุมบอร์ด อสมท.เมื่อวันที่ 15 กันยายน และ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด เป็นประธานการประชุม โดยวันที่ 15 กันยายน เป็นการประชุมและมีมติให้ดำเนินการแก้ไขโครงสร้างใหม่ของบริษัทฯ ที่ประชุมเห็นชอบกับการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และวันที่ 16 กันยายน ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร โดยมีการกำหนดแต่งตั้งผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 6 อัตรา โดยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 5 อัตรา และหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน 1 อัตรา
ส่วนการแต่งตั้งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีก 2 อัตรา ให้ฝ่ายบริหาร อสมท. พิจารณาตามความจำเป็นและให้เสนอหลักเกณฑ์แนวทางการคัดเลือกหรือสรรหาให้ บอร์ดพิจารณาโดยเร็ว
มติบอร์ดยังให้ยุบตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานเทคโนโลยี่ (สำนักวิศวกรรม) และตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบริหารความเสี่ยง และให้ย้ายและแต่งตั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักผู้ตรวจการ เป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักข่าวไทย และ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานยุทธศาสตร์และบริหารความเสี่ยง เป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักทรัพยากรมนุษย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป
พนักงาน อสมท.งุนงงสงสัย
มติของที่ประชุมบอร์ดดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึงในแวดวงพนักงาน อสมท. บางส่วน ว่าบอร์ดพิจารณามีมติในเรื่องของการแก้ไขโครงสร้างว่าเป็นไปตามหลักการและ เหตุผลหรือไม่ ส่วนหลักการและแนวคิดในการจัดทำโครงสร้าง อสมท.ใหม่ เป็นไปตามที่บริษัทที่ปรึกษาคือ เอสอาร์ไอ คอนซัลแตนท์ ซึ่ง อสมท.จ้างมาจัดทำโครงสร้าง ดำเนินการไว้หรือไม่
นอกจากนี้ มติบอร์ดที่ให้ยุบตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานเทคโนโลยี่ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของ อสมท. สมควรหรือไม่ และมติให้ย้ายและแต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักผู้ตรวจการ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักข่าวไทย เหมาะสมหรือไม่
โดยเฉพาะตำแหน่งหลังนี้ มีข้อสังเกตุว่า ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักผู้ตรวจการ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่มาก่อน และเพิ่งโยกย้ายมาเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักผู้ตรวจการ เมื่อราว 1 ปีเศษ ที่ผ่านมานี่เอง มีเหตุผลในการโยกย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งนี้อย่างไร
รอง กก.ผอ.ใหญ่ ร้องเรียน รมต.สำนักนายก
หลังจากนั้น ก็เกิดความเคลื่อนไหวในอสมท.จากพนักงานบางส่วน โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา โดยนางสุนทรีย์ แก้วกรณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมพนักงาน อสมท.ประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานจากสายวิศวกรรมโทรทัศน์และนายสถานีวิทยุภูมิภาค ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับ ดูแล อสมท. มี 3 ประเด็นหลัก สืบเนื่องมาจากมติที่ประชุมบอร์ด คือ
ปัญหา การจัดทำโครงสร้างบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)ปัญหาการเลื่อนและโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงปัญหาเรื่องการ ปฏิบัติหน้าที่ของบอร์ด อสมท.
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนระบุว่า มติบอร์ดทำให้เกิดความเสียหายสรุปว่า การจัดทำโครงสร้างบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งบอร์ดมีมติปรับปรุงโครงสร้าง และให้มีผลบังคับในวันที่ 1 ตุลาคม นั้น เมื่อพิจารณาโครงสร้างดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักการและเหตุผล โดยหลักการและแนวคิดในการจัดทำโครงสร้าง ไม่เป็นไปตามที่บริษัทที่ปรึกษา เอสอาร์ไอ คอนซัลแทนท์ ดำเนินการไว้
การเลื่อนตำแหน่ง และโยกย้าย แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงตามมติบอร์ด โดยแต่งตั้ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2 ราย ย้ายและแต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2 ราย ทั้งๆที่ไม่ได้ผ่านการคัดสรร ถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบ และไม่เป็นธรรมต่อผู้บริหารระดับอำนวยการฝ่ายอีกหลายคนที่มีคุณสมบัติเหมาะ สม
นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้จัดการใหญ่ อสมท.
ประธานบอร์ดกังขา กก.ผอ.ใหญ่ อสมท.
ความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งของพนักงาน อสมท.บางส่วน นำโดยนางสุนทรีย์ แก้วกรณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับ ดูแลงาน อสมท. ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นใน “แดนสนธยา” วันที่ 28 กันยายน นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท. เรียกประชุมคณะกรรมการบอร์ดวาระพิเศษ ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท. และพนักงาน อสมท. มีข้อสงสัยในโครงสร้างบางสายงาน ที่ไม่มีผู้บริหารระดับ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ( สายงานเทคโนโลยี่ และ สายการเงินและบริหารความเสี่ยง ) และความเหมาะสมในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารตามโครงสร้างใหม่ ( ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักผู้ตรวจการเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักข่าวไทย และ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานยุทธศาสตร์และบริหารความเสี่ยง เป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักทรัพยากรมนุษย์ )
หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรื่องจากปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว เพื่อนำกลับมาเสนอในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป วันที่ 20 ตุลาคม 2554
นอกจากนี้ บอร์ดยัง มีมติแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างบริหารงานใน ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ นายธนวัฒน์ วันสม โดยมีนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ เป็นประธาน และนายนัที เปรมรัศมี และนายธีรภัทร สงวนกชกร เป็นคณะทำงาน กำหนดกรอบการทำงาน 15 วันนับจากวันที่ 28 กันยายน 2554 โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเริ่มประชุมครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม
นายสุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุของการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว เนื่องจากบอร์ด อสมท มีข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนายธนวัฒน์ วันสม หลายประเด็นใน ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการทำงานล่าช้า หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบอร์ดมอบหมายภารกิจหรือไม่ รวมทั้งมีการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการบริหารงานบุคคล จนก่อให้เกิดความแตกแยกภายในองค์กรหรือไม่
“ประเด็นสำคัญที่ทำให้บอร์ดมีมติแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสัญญาฯ จากข้อสงสัยในประเด็นที่มอบหมายให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทำหน้าที่ชี้แจงการปรับโครงสร้างองค์กรให้กับพนักงานได้รับทราบเป็นระยะ พร้อมให้สะท้อนความคิดเห็นจากพนักงานมายังบอร์ด แต่เหตุการณ์ที่พนักงานได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนการทำงาน ของคณะกรรมการปรับโครงสร้าง ต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และหลังจากบอร์ดได้มารับฟังความคิดเห็นจากสหภาพ อสมท จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ทำหน้าที่ตามที่บอร์ดมอบหมายหรือไม่” นายสุรพล กล่าว
ประธานบอร์ด อสมท กล่าวว่า นอกจากนี้ยังประเด็นอื่นๆ อีกเช่น คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ได้ขอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ชี้แจงการใช้งบประมาณด้านซีเอสอาร์ ของหน่วยงานต่างๆ ผ่านสื่อ อสมท ที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้รับการชี้แจงจาก กก.ผอ.ใหญ่ เป็นต้น
“ ปัญหาที่คณะกรรมการ อสมท. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ มีประเด็นหนึ่งที่อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลคือ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ได้ขอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ชี้แจงการใช้งบประมาณด้านการทำกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม(ซีเอสอาร์ )ของหน่วยงานต่างๆ ผ่านสื่อ อสมท. มูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้รับการชี้แจงจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่” นายสุรพล กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมบอร์ด ยังมีมติให้ระหว่างที่คณะทำงานตรวจสอบสัญญาฯ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ห้ามนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานทุกระดับ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในกรณีเร่งด่วนที่ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายในตำแหน่งสำคัญ ที่ส่งผลต่อการทำงานขององค์กร โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ว่างลง จากบุคลากรเกษียณอายุการทำงาน ให้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เสนอมายังคณะกรรมการบอร์ด อสมท ซึ่งจะทำหน้าที่ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวเอง คณะกรรมการมีมติให้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร ที่บอร์ดมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน นี้ด้วย
“มติบอร์ด ที่ห้ามกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทำหน้าที่แต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงาน อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรตามโครงสร้างใหม่ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของพนักงาน อสมท บอร์ดจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส”นายสุรพล กล่าว
ประธานบอร์ด อสมท กล่าวด้วยว่า ผลการสอบสวนของคณะทำงานฯ ที่มีระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่ 28 กันยายน นี้ หากพบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไม่มีความผิด ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างต่อไป แต่หากพบว่ามีความผิด จะต้องไปดูรายละเอียดว่าผิดในสัญญาข้อใด ซึ่งมีบทลงโทษกำกับไว้ในสัญญาชัดเจน
“ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีแรงกดดันมายังคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต่างๆ รวมทั้ง อสมท เช่นเดียวกัน เพื่อให้กรรมการลาออก แต่ ตน และกรรมกา คนอื่นๆ อีก 3 คนที่จะครบวาระการทำงานในเดือนเมษายน 2555 ยืนยันว่า จะไม่ลาออกก่อนวาระแน่นอน โดยตนประกาศไว้ในวันรับตำแหน่งประธานบอร์ดแล้วว่าจะทำหน้าที่จนครบวาระ 3 ปี
การเมืองแทรกแซง อสมท ?
ความขัดแย้งระหว่าง นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด หรือคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ นายนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่ประชุมบอร์ดยัง มีมติแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างบริหารงานใน ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยมีนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะต้องตรวจสอบให้เสร็จภายใน 15 วันนับจากวันที่ 28 กันยายน 2554 ซึ่งได้เริ่มประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พนักงาน อสมท.ที่ทำงานในองค์กรแห่งนี้มายาวนาน ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องรุนแรง แม้ว่าที่ผ่านๆมา เคยมีความขัดแย้งกันระหว่างบอร์ดกับผู้บริหาร ก็ยังไม่เคยถึงขั้นมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาจ้างบริหารกรรมการผู้ อำนวยการใหญ่มาก่อน และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของ อสมท. หากเกี่ยวพันถึงเรื่องการเมืองภายนอกเข้าแทรกแซง อสมท.ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรูปบริษัทมหาชน
“ ใน อสมท.ก็รู้กันอยู่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการการเมือง รัฐบาลไม่ว่าชุดไหนก็พยายามเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ อสมท. อาจใช้วิธีการหาทางให้คนของนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ หรือปัจจุบันคือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ผู้บริหารก็ต้องไป หรือถ้าผู้บริหารอยู่ต่อไป ก็ต้องร่วมงานกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลได้ดี แล้วก็เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลใหม่อยู่ตรงกันข้ามกับประธานบอร์ดคืออยู่กันคนละข้างชัดเจน ประธานบอร์ดก็ต้องไป ” แหล่งข่าวใน อสมท กล่าว
“ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาจ้างกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เกิดขึ้นในการประชุมบอร์ดวาระพิเศษ วันที่ 28 กันยายน วันนั้นมีการลงมติว่าจะปลดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ด้วย แต่เสียงไม่พอ 3 ใน 4 ของที่ประชุม จึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาจ้างบริหาร แทน” แหล่งข่าวอีกคนหนึ่ง ใน อสมท.กล่าว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน อสมท.สอดคล้องกับที่นายสุรพล นิติไกรพจน์ เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า หลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมีการเมืองแทรกแซงคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายองค์กร รวมทั้ง อสมท. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสัญญาจ้างบริหาร ก็คือการส่งสัญญาณเตือนฝ่ายการเมืองในรัฐบาล ว่าอย่าใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ อสมท หรือกดดันให้คณะกรรมการลาออก ซึ่งนายสุรพลเองก็ประกาศชัดเจนว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการ อสมท แต่จะอยู่จนครบวาระในเดือนเมษายน 2555
“ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีแรงกดดันมายังคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมทั้ง อสมท เพื่อให้กรรมการลาออก แต่ผมและกรรมการคนอื่นๆอีก 3 คนที่จะครบวาระการทำงานในเดือนเมษายน 2555 ยืนยันว่าจะไม่ลาออกก่อนวาระแน่นอน โดยผมประกาศไว้ในวันรับตำแหน่งประธานบอร์ดแล้วว่า จะทำหน้าที่จนครบวาระ 3 ปี ” นายสุรพล กล่าวกับทีมข่าวอิศรา ก่อนหน้านี้
นายสุรพลกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า อสมท มีคุณสมบัติแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่น นอกจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังเป็นกิจการด้านสื่อสารมวลชน ดังนั้น นักการเมืองในรัฐบาลต้องระมัดระวังที่จะไม่เข้ามาแทรกแซงเพราะอาจขัดต่อ กฎหมายและรัฐธรรมนูญได้
“ อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวระบุว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ฝ่ายบริหารของ อสมท บางคนพยายามดึงฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกใน อสมท ถึงขนาดมีการล่ารายชื่อเพื่อกดดันให้คณะกรรมการลาออก กอปรกับเป็นช่วงที่ ปัญหาการบริหารงานของนายธนวัฒน์ วันสม ซึ่งคณะกรรมการ อสมท เคยอุ้มชูและปกป้องมาตลอดสร้างปัญหาให้แก่ อสมท มากขึ้นเรื่อยๆจนพนักงานไม่พอใจ คณะกรรมการจึงถือโอกาสสะสางปัญหาและส่งสัญญาณเตือนฝ่ายการเมืองพร้อมกันใน คราวเดียว” นายสุรพล กล่าว
เรื่องภายในโยงการเมืองภายนอก
แหล่งข่าวระดับผู้บริหารระดับสูงใน อสมท. ให้ข้อมูลว่า นอกจากความขัดแย้งระหว่างประธานบอร์ดกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ยังมีเรื่องภายในของ อสมท เอง ที่โยงไปถึงการเมืองภายนอก เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการเชื่อกันว่าอาจจะมีการ “เชื่อมโยง” อสมท.ไปเกี่ยวกับการเมืองภายนอก
“ เรื่องหนึ่งคือ มีความพยายามจะแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานอาวุโส แล้วให้นับเวลาอายุการทำงานย้อนหลัง เพื่อที่จะได้ขึ้นเป็นระดับ “หัวหน้าส่วน” พนักงานคนนี้เคยถูกตั้งกรรมการสอบ ทำให้เงินเดือนไม่ขึ้นนานหลายปี ภายหลังผลการสอบสวนไม่มีความผิด อสมท.จึงจ่ายเงินค่าเสียโอกาสเป็นเงินนับล้านบาท และต่อมาก็มีความพยายามจะคืนความเป็นธรรมให้อีก โดยให้นับอายุงานย้อนหลังเพื่อให้เป็นระดับ “อาวุโส” เพื่อมีโอกาสขึ้นเป็นผู้บริหารระดับต้น คือระดับส่วน แต่พนักงานคนนี้ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ในพรรคเพื่อไทย ก็เป็นที่วิตกกังวลว่าจะนำการเมืองเข้าแทรก อสมท. เพราะพนักงานคนนี้ถูกดึงไปทำงานใกล้ชิดกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่” แหล่งข่าวระดับผู้บริหารใน อสมท.กล่าว
นอกจากนี้ การแต่งตั้งพนักงานให้ดำรงตำแหน่งทั้งระดับผู้บริหาร ลงมาถึงพนักงานพนักงานระดับล่าง ก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่เหมือนเดิม ว่ามีการเล่นพรรค เล่นพวก ทำให้บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์และอาวุโส ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน
“ ยกตัวอย่าง ระดับผู้อำนวยการฝ่ายคนหนึ่ง ทำงานในสำนักข่าวไทยมายาวนานมาก พูดไปนักการเมืองรุ่นเก่าส่วนใหญ่ต้องรู้จัก โดนย้ายออกนอกสำนักข่าวมาคุมงานอีกสายงานหนึ่งหลายปีแล้ว ถึงวันนี้ควรได้รับการพิจารณาผ่านกระบวนการสรรหาอย่างถูกต้องร่วมกับผู้อยู่ ในข่ายมีคุณสมบัติเหมาะสม ไปเป็น ผอ.สำนักข่าว ไทยแทนคนเดิมที่เกษียณอายุ แต่ยังไม่มีการสรรหา บอร์ดก็มีมติให้แต่งตั้งโยกย้ายตัวบุคคลไปดำรงตำแหน่งนี้เลย ตรงนี้ก็คือเหตุผลหนึ่งทีมีการร้องเรียนกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ” แหล่งข่าวกล่าว
ปัญหาภายในกลายเป็นปัญหาการเมือง
การยื่นหนังสือร้องเรียนของ นางสุนทรีย์ แก้วกรณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท.กับพนักงานส่วนหนึ่ง ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน เรื่องการปฎิบัติหน้าที่ของบอร์ด อสมท. ในมติปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของ อสมท. มติการโยกย้ายผู้บริหารให้ไปดำรงตำแหน่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบ อสมท. และไม่เป็นเป็นธรรมกับบุคลากรอีกหลายคนที่มีคุณสมบัติอยู่ในข่ายได้รับการ พิจารณา
โดยอ้างถึงมติการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ กันยาน ที่ผ่านม 15 และ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมา วันที่ 30 กันยายน รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยมีเหตุผลว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนจากฝ่ายบริหารและพนักงาน อสมท. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญ อาจมีผลกระทบโดยรวมกับนโยบายรัฐบาล และการบริหารงานของ อสมท. จึงขอให้กระทรวงการคลัง แจ้งไปยังนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท สรุปว่า
ให้ระงับการประกาศและการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างใหม่ของ อสมท. ตามมติที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 15 กันยายน และ 16 กันยายน จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ และรายงานผลต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายก เมื่อเห็นชอบแล้วจึงดำเนินการต่อไปได้
ระงับการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและพนักงาน ตามมติที่ประชุมบอร์ด วันที่ 16 กันยายน จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ และรายงานต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายก เมื่อเห็นชอบแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ หากผลการสอบสวนไม่ปรากฎความ “ไม่เป็นธรรม” ให้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายมีผลย้อนหลังได้
วัน เดียวกันนั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งหนังสือส่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) วันนั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ทำหนังสือถึงนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท. อ้างถึงหนังสือของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีข้อความต่อท้ายในหนังสือระบุว่า
สำนัก งานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)โดยได้รับ มอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใคร่ขอให้ท่านในฐานะประธานกรรมการ บมจ.อสมท ได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดัง กล่าวด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป หากผลเป็นประการใด ขอโปรดแจ้งให้ สคร.ทราบในโอกาสแรกด้วย จักขอบคุณยิ่ง
ในหนังสือฉบับนี้ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด ลงนามทราบ และให้ทำหนังสือทบทวนการสั่งการของของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีประจำสำนักนายก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้เป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้สำเนาแจกให้คณะกรรมการบอร์ดทราบ
โดยการสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการแทรกแซง การทำงานของ อสมท. ซึ่งเป็นกิจการด้านสื่อสารมวลชนและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะแม้ .อสมท จะเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ขณะเดียวกัน อสมท ก็เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
ดังนั้น การกำกับดูแล อสมท ต้องทำผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นห็นว่า คณะกรรมการบริษัท ไม่ทำตามระเบียบข้อบังคับหรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นก็มีสิทธิแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ไม่น่าจะมี อำนาจใดๆที่จะแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการบอร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสมท ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษจากรัฐธรรมนูญที่ ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารกิจการ
เข้าข่ายกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความ “เปิด หลักฐาน”รมต.สำนักนายกฯ-รมว.คลัง”แทรกแซง อสมท ขัด รธน. ระวังถูกถอดถอน ลงในเวปไซต์สำนักข่าวอิศรา สรุปว่า การที่ทั้งน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอ ให้ประธานคณะกรรมการ บมจ.อสมท ระงับการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทและแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน จึงอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ดังนี้
" มาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือ พิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหาร กิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการ ดังกล่าว
มาตรา 266 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อ ประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้า ราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
มาตรา 268 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลง ต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
อาจมีการโต้แย้งว่า การกระทำดังกล่าวของ น.ส.กฤษณาและนายธีระชัย เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ซึ่งทั้งสองต้องแน่ใจว่า มีบทบัญญัติในกฎหมายใดที่ให้อำนาจรัฐมนตรีทั้งสองในการ“ล้วงลูก”ถึงขั้น สั่งให้ระงับการปรับโครงสร้างการบริหารบริษัท และระงับการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน เพราะขนาดข้าราชการประจำรัฐมนตรียังแค่เสนอให้มีการโยกย้ายแต่งตั้งข้า ราชการได้เพียงผู้บริหารระดับสูงหรือซี 10 เท่านั้น
เพราะ เท่าที่ตรวจสอบไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการระงับหรือแต่งตั้งโยก ย้ายผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้นการกระทำของทั้ง น.ส.กฤษณาและนายธีระชัย จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อาจถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านล่ารายชื่อ ส.ส.1 ใน 4 หรือ 125 คนยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่บัญญัติว่า
“ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี …ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”
ทั้งนี้การกระทำของน.ส.กฤษณาและนายธีระชัย ปรากฏหลักฐานชัดเจนเป็นหนังสือทั้งสองฉบับที่ขอให้ประธานคณะกรรมการ บมจ.อสมท ระงับการปรับโครงสร้างการบริหารบริษัทและระงับการแต่งต้งโยกย้ายผู้บริหาร ระดับสูง "
อสมท.ปั่นป่วน
ความขัดแย้งระหว่างประธานบอร์ด อสมท.กับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทำให้พนักงาน อสมท.จับตาว่าต่อจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นใน “แดนสนธยา ” ซึ่งเวลานี้ก็มีผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายประธานบอร์ด และฝ่ายกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
“ มีเรื่องโยกย้ายแต่งตั้งอีกประมาณ 10 คำสั่ง ที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะแต่งตั้ง แต่เมื่อมีคำสั่งประธานบอร์ดห้ามไม่ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ดำเนินการ จนกว่าผลการสอบสวนสัญญาจ้างบริหารของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่จะเสร็จสิ้น (ภายใน 15 วัน หลังวันที่ 28 กันยายน เป็นต้นไป) เรื่องก็ยังคาอยู่ ในร่างคำสั่งแต่งตั้ง เฉพาะของสำนักข่าวไทยมากถึง 17 ตำแหน่ง ก็มีการพิจารณากันแล้วว่าเป็นการโยกย้ายที่เหมาะสม แต่จะเหมาะสมจริงหรือไม่ ก็ยังไม่รู้” แหล่งข่าวระดับสูงใน อสมท.ให้ข้อมูล
“ ส่วนเรื่องตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายเทคโนโลยี่ ซึ่งไม่มีในโครงสร้างใหม่ ที่มีการร้องเรียนกัน ปรากฎว่าในการทำโครงสร้างตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่มีมาก่อนแล้ว เรื่องไปถึงบอร์ดก็เลยไม่มี เป็นที่รู้กันว่า อสมท. มาถึงทุกวันนี้ได้ก็ด้วยเสาหลักคืองานด้านข่าว และงานด้านวิศวกรรม แม้จะมีรองกรรมการผู้อำนวยการดูแล แต่ตำแหน่งผู้ช่วยฯที่หายไป มีความสำคัญมาก เมื่อก่อนคือตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม เมื่อบอร์ดรู้ปัญหานี้แล้วก็ให้ไปพิจารณามาใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า เชื่อว่าจะต้องมีการเพิ่มเข้าไป” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
“ พนักงานก็ทำงานกันต่อไปตามปกติ ใครจะไป ใครจะมา ก็รู้อยู่ว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนที่นี่มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งว่า ต้องทำงานไปตามที่นักการเมืองกำหนด เรื่องเปลี่ยนสี ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว แม้กระทั่งการปรับตัวให้เข้ากับหัวหน้างานก็ต้องทำ เข้ากันไม่ได้ก็เกิดเรื่อง ทนไม่ไหวก็ต้องลาออกไป เป็นเรื่องธรรมดา ” พนักงาน อสมท. คนหนึ่งกล่าว
เรื่องของความขัดแย้งระหว่างประธานบอร์ด อสมท กับ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หนนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งขององค์กรแห่งนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าเรื่องของการตรวจสอบสัญญาจ้างบริหารกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่าจะลงเอยอย่างไร เรื่องของประธานบอร์ดที่กล่าวว่ามีการเมืองแทรกแซง อสมท เรื่องของรัฐมนตรีประจำสักนักนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระผำผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะมีการถอดถอนกันหรือไม่ ล้วนแล้วแต่ต้องถูกบันทึกไว้ทั้งสิ้นใน “แดนสนธยา”