บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โอกาสและความท้าทายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ




โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ
ในช่วงหลายเดือนมานี้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลักมีรายงานข่าว เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2554 มีข่าวกรณีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร และผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมื่อเดือนมกราคม 2554 เรียบร้อยแล้ว ได้ประสบอุบัติเหตุล้มศีรษะกระแทกพื้นจนอาการสาหัส แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ตรวจสอบประวัติกลับพบว่า แรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองเป็นเงินร่วมแสนกว่าบาท แต่เนื่องจากแรงงานไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้ต้องออกมารักษาตามมีตามเกิดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามทั้งต่อนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน ถึงช่องว่างการดูแลและคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ยังมีการ ละเลยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ รวมถึงขาดการตรวจสอบและติดตามจากนายจ้าง จนนำมาสู่ความสูญเสีย ความหวั่นวิตกของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เรียบร้อยแล้ว และต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายระบุไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เฉพาะที่ จ.สมุทรสาครเพียงจังหวัดเดียว มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 70,000 คน แต่กลับมีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 10,000 กว่าคนเท่านั้น นี้คือช่องว่างที่น่าหวาดหวั่นต่อคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งยิ่งนัก !
นี้ไม่นับว่าโดยทั่วไปแล้วแรงงานข้ามชาติจำนวนมากต่างก็ยังเข้าไม่ถึง สิทธิขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา สิทธิสวัสดิการอื่นๆ รวมถึงการต้องเผชิญกับความยากจนอันเนื่องมาจากภาวะของการถูกจำกัดสิทธิ์ใน การเดินทางเพื่อการประกอบอาชีพ และความรู้สึกด้อยคุณค่า ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมคนอื่น น้อยเนื้อต่ำใจในชะตากรรมที่เผชิญ
กรณีดังกล่าวทำให้นึกถึงตัวอย่างรูปธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่งที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่นโดยตรงและสามารถเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของการอุดช่องว่างดังกล่าวนี้ได้ ท้องถิ่นหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการอยู่ร่วมกันของคนต่าง ชาติพันธุ์ อีกท้องถิ่นหนึ่งเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน
เทศบาลเชิงดอย ต.เชิงดอย  อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกันกับประชากรต่างชาติพันธุ์ กลุ่มลาหู่ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อพยพลงมาจากบนดอย จ.เชียงราย เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้มาอาศัยอยู่ร่วมกับคนเมืองในหมู่บ้านแม่ดอกแดง และนำมาซึ่งปัญหาการอยู่ร่วมกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงการพัฒนาสถานะบุคคล การไม่สามารถควบคุมเรื่องการย้ายเข้าย้ายออกของคนลาหู่ การไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติในชุมชน การต้องมาใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกัน ความไม่สมดุลในการจัดการวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กลาหู่  ปัญหาดังกล่าวได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจและการแบ่งฝักฝ่ายคนในหมู่บ้าน จนในที่สุดเทศบาลตำบลเชิงดอย จึงได้ร่วมกับสำนักงานประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานคริสตจักรภาคที่ 6 ลาหู่ และหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชักชวนคนเมืองและคนลาหู่มาแสวงหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดเทศบาลเชิงดอยจึงได้ออกเป็นเทศบัญญัติกำหนดแนวทางการจัดการในการ อยู่ร่วมกันในชุมชนบ้านแม่ดอกแดงขึ้นมา
เทศบาล เมืองเมืองแกนพัฒนา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้จับมือกับโรงพยาบาลแม่แตง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แตง ผลักดันโครงการหน่วยปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ พัฒนาให้เกิดคลินิกชุมชนเมืองแกนซึ่งเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนขึ้นมา ปรัชญาของศูนย์แห่งนี้ ก็คือ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยยามใด ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติใดก็ตาม จะต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก ปัจจุบันศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งนี้ดูแลประชากร 16 หมู่บ้าน รวมประมาณ 13,000 คน โดยมีแพทย์และพยาบาลมาทำการตรวจรักษาทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และรถพยาบาลบริการรับส่งผู้ป่วยจากบ้านถึงศูนย์แพทย์ ชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เทศบาลเมืองเมืองแกนสนับสนุนงบประมาณด้านการบริหารจัดการ ส่วนบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ผู้ป่วยลดลงโดยเฉพาะวัณโรคซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยในชุมชนเป็นจำนวน มาก    
แน่นอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากย่อมมองว่าการอพยพเข้ามาของแรง งานข้ามชาติเป็นการเบียดเบียนทรัพยากร สวัสดิการ และโอกาสการมีงานทำซึ่งจำกัดอยู่แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านโครงสร้างประชากร เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเกิดต่ำลงเรื่อยๆ รวมทั้งยังประสบภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในบางภาคการผลิต เช่น ประมง ประมงทะเลต่อเนื่อง คนรับใช้ในบ้าน แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานแล้ว ต่างต้องอยู่ในชุมชนที่แออัด สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เข้าไม่ถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ โอกาสที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสุขภาพอนามัยที่เลวร้ายของแรงงานข้ามชาติและคนไทยโดยรวมในท้องถิ่นก็เป็น เรื่องกระทบที่จะติดตามมาอย่างแน่นอน
หลายท้องถิ่นอาจจะกล่าวว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ.2542  และแผนการถ่ายโอนฯ พ.ศ.2545 ที่เป็นการกระจายอำนาจภารกิจของรัฐไปสู่ท้องถิ่น ก็ไม่ได้ระบุภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีเพียงระบุในเรื่องของ “ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน” เท่านั้น อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “แรงงานข้ามชาติ” ก็ถือเป็น “แรงงาน” คนหนึ่งเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันบริบทต่างๆได้เอื้อต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆใน การทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้าม ชาติ เช่น การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระบวนการสมัชชาสุขภาพเชิงประเด็น/เชิงพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ , การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ภายใต้ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2550 รวมถึงบทบาทของสหภาพแรงงานไทยในระดับพื้นที่ เช่น สหภาพในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กระทั่งบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ เหล่านี้ต่างมีส่วนสำคัญยิ่ง
จากตัวอย่างจะเห็นยุทธวิธีน่าสนใจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งนำมาใช้ คือ การพัฒนาให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของฝ่ายต่างๆในชุมชนที่เป็นแกนสำคัญในการ เข้ามาดำเนินงานร่วมกัน มุ่งไปที่ผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเริ่มต้นทำงานเพื่อการคุ้มครองและเข้า ถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ การเริ่มต้นด้วยการเน้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เชิงวิธีคิดเรื่องทัศนคติเชิงชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ผ่านกิจกรรมต่างๆที่ออกแบบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาจุดร่วมของปัญหา, ค้นหาความรู้ที่จะนำมาใช้ในการจัดการปัญหา ,ออกแบบแนวทางการพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทความเป็น ประชากรกลุ่มเฉพาะของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การปรับวิธีคิดให้เกิดการยอมรับและเคารพต่ออัตลักษณ์และ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดี การเคารพความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในท้องถิ่น และในที่สุดการเคารพสิทธิในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะติดตามมา
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการอยู่ร่วมกันใน ชุมชน ที่สาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่เข้าใจกัน มาจากอคติหรือการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการกีดกันและผลักไสคนอีกกลุ่มหนึ่งไปอยู่ชายของของสังคม และเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้
วันนี้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นคงไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของแรงงานข้าม ชาติจากประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ดังนั้นการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบที่ดีผ่านกลไกความร่วมมือของ ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆในท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นปรากฏการณ์ในเชิงบวกซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ แรงงานอพยพข้ามชาติจะได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ท้องถิ่นก็จะได้กำลังแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนจริง ซึ่งการจัดการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจะจัดการได้ ด้วยตนเองเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆที่พร้อมเอื้ออำนวยและเป็น พันธมิตรอยู่แล้ว


รัฐบาลใหม่ กับลมหายใจร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงาน”




โดย  บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง





หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้มีการนำเสนอข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 20 กันยายน 2554 ว่าคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้นำร่าง พระราชบัญญัติที่จัดทำโดยภาคประชาชน 4-5 ฉบับ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้รัฐบาลต้องให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายจะตกไปในเดือนกันยายน 2554  หนึ่งในร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบและให้นำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนฯ คือร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 14,500 รายชื่อ ที่เสนอโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย) ทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ของรัฐบาลชุดที่แล้วที่อยู่ในขั้นของการพิจารณาชั้นวุฒิสมาชิกต้องตกไป ทั้งนี้ร่างกฎหมายประกันสังคม (ฉบับผู้ใช้แรงงานฯ) ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี 20 กันยายน 2554 จะต้องมีการนำเสนอเข้าบรรจุวาระเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรก โดยมีการประเมินว่าน่าจะประมาณเดือน พฤศจิกายน 2554

เมื่อมองจุดความเชื่อมโยงของการเปิดหน้าต่างด้านนโยบายประชานิยมยกกำลัง 2 ในรัฐบาลชุดนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เช่นการปฏิรูปเรื่องการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท หรือ การปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท  บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นการดำเนินนโยบายแบบเขย่าฐานคิดเดิมของการจ้างงาน ระบบสวัสดิการแรงงาน ระบบสวัสดิการสังคม  ที่ต้องปรับทั้งระบบ และก่อให้เกิดการเปิดเผยข้อเท็จ จริงด้านข้อมูลที่เป็นจริงของนายทุนนักการเมือง กับผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน โดยล่าสุดการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับภาคประชาชนผู้ใช้แรงงาน)เสนอผ่านมติคณะรัฐมนตรี และเตรียมนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมเป็นการทำงานแบบได้ใจประชาชนแรงงาน ที่เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมในระบบ 9.4 ล้านคน และสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบ (ม.40)อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาประกันสังคมมีเงินจากการสมทบของสมาชิกมากถึง 8 แสนล้านบาท

การที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวกรอบเล็กแสดงความยินดีต่อผู้ใช้แรงงาน เช่น รัฐไฟเขียวก.ม.ประกันสังคมเข้าสภา, แรงงานยิ้มร่างกฎหมายสปส.เข้าสู่สภาฉลุย, ไฟเขียว กม.ประกันสังคมฉบับ คสรท. เป็นปรากฎการณ์ ของข่าวที่ทำให้ผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน เกิดความยินดีเชื่อมั่นระดับหนึ่งต่อการนำเสนอร่างพรบ.ประกันสังคมที่เป็นลมหายใจด้านคุณภาพชีวิตแรงงาน และทำให้เห็นว่ ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีชุดนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำตามข้อเสนอของผู้ใช้แรงงาน  เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 เวทีจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีคุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้แทนพรรคมารับข้อเสนอสาระสำคัญ ของการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม (ฉบับภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน) ในห้าประการดังนี้




ประการที่หนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ กล่าวคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระมีการกำหนดกฎระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เอง เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง โดยประกันสังคมจะต้องสังกัดกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ประการที่สอง สำนักงานประกันสังคม ต้องมโปร่งใส มีกระบวนการที่ตรวจสอบได้ กล่าวคือ กิจการของสำนักงานประกันสังคม ต้องมีการปรับปรุงด้านการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีที่สุด มีการพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องทั่วไป อีกทั้งมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ประการที่สาม ต้องมีการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวคือ ผู้ประกันตนทุกคนควรมีสิทธิในการเลือกตั้งคณะกรรมการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ต้องมีการแก้ไของค์ประกอบกระบวนการที่ได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการฯ เพื่อเป็นหลักประกันที่ชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้าง และผู้ประกันตน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานประกันสังคม

ประการที่สี่ สิทธิในการใช้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา กล่าวคือ ผู้ประกันตนและคู่สมรสต้องมีสิทธิการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ตามความต้องการ หรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่เข้ารับการรักษา หรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตน การขยายสิทธิประโยชน์ควรให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิ และเหมาะสมกับสภาพงานของคนงาน

ประการที่ห้า ประกันสังคมต้องถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน กล่าวคือ การประกันสังคมเป็นหลักการที่คนทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันสมทบเป็นกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต เมื่อเกิดเหตุใดเหตุหนึ่งจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ดังนั้นคนทำงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่ออย่างน้อยจะได้มีหลักประกันให้กับตนเองทั้งปัจจุบัน และอนาคต

จากข้อเสนอทั้งห้าประการที่เป็นสาระสำคัญในร่างกฎหมายประกันสังคมฯ เป็นเสมือนการย้ำเตือนเจตนารมณ์ของผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน  ซึ่งบัดนี้รัฐบาลของนายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้ก้าวไประดับหนึ่งของการต่อลมหายใจของผู้ใช้แรงงาน โดยการนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับผู้ใช้แรงงานฯ) ผ่านมติครม. แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือ รัฐบาลต้องเร่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 รับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. …. โดย คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฯ อยากให้คำนึงถึงผู้แทนแรงงาน นายจ้าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ และนักกฎหมายที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านสวัสดิการแรงงาน และงานระบบประกันสังคม เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.ฉบับนี้ฯ

โดยผมขอฝากธรรมบรรยายตอนหนึ่งเพื่อเป็นข้อคำนึงที่นัการเมืองควรมีต่อประชาชน ดังคำบรรยายธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต ) ในหนังสือชื่อจุดหมายของงานการเมือง “ ถ้านักการเมืองมีจิตใจใหญ่กว้างจริงๆ เป็นนักการเมืองที่แท้ ก็คือจะทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ใจอยู่ที่นั่น ไม่คิดถึงตัวเอง ก็อยากจะเห็นประชาชนมีความสุขด้วยใจจริง จนกระทั่งเหมือนกับเอาความสุขของตนไปฝากไว้กับประชาชน เหมือนกับต้องพูดว่า ข้าพเจ้าจะมีความสุขได้ ต่อเมื่อได้เห็นประชาชนอยู่ดีมีสุข ” ฝากสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของผู้ใช้แรงงานด้วยครับ รัฐบาล และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านครับ

/////////////////////////////////////////////

น้ำท่วมเคยเป็นมิตร

พื้นเพบรรพบุรุษผมเป็นคนกรุงเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคุ้นเคยกับน้ำหลากน้ำท่วมเป็นอย่างดี
       
        ประวัติศาสตร์ไทยบอกให้เรารู้ว่าน้ำหลากน้ำท่วมไม่เพียงแต่เป็นมิตร หากแต่ยังช่วยรักษาเอกราชด้วยการเป็นกองกำลังธรรมชาติขับไล่ศัตรูผู้รุกรานออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ฤดูน้ำหลากน้ำท่วมก็ไม่ใช่ฤดูเพาะปลูกหรือฤดูเก็บเกี่ยว ธรรมชาติออกแบบแผ่นดินสุวรรณภูมิไว้ให้น้ำพัดพาแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์มาทับถมเป็นปุ๋ยธรรมชาติสำหรับฤดูเพาะปลูกปีต่อไป
       
        เสียทีที่ผมเกิดกรุงเทพฯ จึงไม่ได้ซึมซับกับวิถีของคนชนบทแม้แต่น้อย เวลาพูดจาถึงชนบทและคนยากคนจนจึงออกจะไม่ได้มาจากส่วนลึกภายในของหัวใจเพราะถึงจะได้สัมผัสได้รับรู้ ก็ต้องสารภาพว่าเป็นไปอย่างผิวเผินอย่างฉาบฉวยเต็มที จึงไม่ค่อยได้พูดได้เขียนถึงมากนัก ทางในการพูดการเขียนและความสนใจค่อนข้างจะไปในประเด็นทางการเมืองและทางตัวบทกฎหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้ไม่เขียนไม่พูดถึงเห็นจะไม่ได้ แม้จะยังไม่ตกผลึกเต็มร้อยก็จะขอกลั่นจากความรู้สึกกึ่งดิบกึ่งสุกมาแลกเปลี่ยนกัน
       
        ความทรงจำเกี่ยวกับอยุธยาเวลาไปเยี่ยมบ้านญาติทุก ๆ ปีก็คือรูปทรงของบ้านครับ !
       
        แม้จะไม่สวยงาม แต่ก็มีลักษณะของบ้านทรงไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงใต้ถุนสูง ประมาณ 3 เมตรจากระดับพื้นดิน หลังคาหน้าจั่วมุมไม่กว้างนัก ใต้ถุนจะมีเรือผูกอยู่กับเสาเรือน
       
        น้ำหลากน้ำท่วมเป็นชีวิตปกติของคนอยุธยาและคนสุวรรณภูมิ !
       
        ตั้งแต่คุณพ่อถึงวัยชราและเสียชีวิตในที่สุด ญาติ ๆ ทยอยตามไป ผมไม่ได้ไปอยุธยาเป็นประจำเหมือนวัยเด็ก แต่สิ่งที่ได้รับรู้ก็คือเครือญาติรุ่นผมไม่ได้สืบทอดวิชาชีพทำนาต่อจากพ่อแม่ ถึงจะยังมีนาอยู่ก็จ้างเขาทำ แล้วหันมาประกอบวิชาชีพอื่นตามอัตภาพและตามที่จะมีโอกาสร่ำเรียน รับราชการเป็นครูบ้าง เป็นตำรวจชั้นประทวนบ้าง ถือเป็นความก้าวหน้าของชีวิตในมุมมองของทั้งลูกและของพ่อแม่ เพราะการทำนานั้นลำบากและรายได้น้อย
       
        สิ่งที่เกิดขึ้นเห็น ๆ มาเป็นสิบ ๆ ปีคือที่นาเริ่มแปรสภาพไปเป็นแหล่งรองรับความเจริญของเมืองหลวง
       
        แทนที่จะทำนา เจ้าของที่นาส่วนหนึ่งขายหน้าดินให้พ่อค้า ในแม่น้ำก็มีธุรกิจดูดทราย เพื่อนำมาบำรุงธุรกิจก่อสร้างในเมืองหลวงที่ใช้ดินใช้ทรายถมที่สร้างบ้านสร้างโรงงาน ที่นาในบางอำเภอบางตำบลแปรสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรม
       
        บ้านในกรุงเทพฯแทบไม่มีทรงไทยให้เห็น มีแต่ทรงสเปน ทรงโรมัน ทรงทิวดอร์ ทรงเมดิเตอเรเนียน ฯลฯ หรือถ้าจะมีทรงไทยอยู่บ้างก็เป็นทรงไทยประยุกต์เอามาแต่หน้าจั่ว ไอ้เรื่องใต้ถุนสูงไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะไม่จำเป็นต้องรับน้ำหลากน้ำท่วม ทำไมจะต้องทำใต้ถุนสูงให้เสียพื้นที่ใช้สอย เมื่อเกิดน้ำท่วมก็รณรงค์ต่อสู้กันอย่างหนัก คิดค้นหาวิธีการไม่ให้น้ำเข้ามา เพราะถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจ
       
        บ้านยุคใหม่ ๆ ในอยุธยาและจังหวัดอื่นก็จำลองแบบจากกรุงเทพฯไปเป็นส่วนใหญ่
       
        บ้านทรงไทยโบราณถ้าจะมีให้เห็นบ้างก็เป็นบ้านรุ่นเก่า จำนวนหนึ่งที่สภาพเยี่ยมก็ขายยกหลังให้ผู้มีอันจะกินและมีรสนิยมนำไปปลูกประยุกต์ประดับบารมี
       
        ไม่เพียงแต่บ้านที่เปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย
       
        วิถีชีวิตแบบเกษตรแม้จะยังคงอยู่ในจังหวัดภาคกลางและภาคอื่น แต่ก็เป็นเกษตรเพื่อการพาณิชย์ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มมาแทนที่ปุ๋ยธรรมชาติที่มากับน้ำหลากน้ำท่วม การเพาะปลูกเริ่มไม่มีฤดูกาล จากปีละครั้งหรือ 2 ครั้ง เป็นปีละหลายครั้ง ไม่ต้องพูดถึงกรุงเทพฯที่วิถีชีวิตแทบจะแยกจากเกษตรเกือบจะสิ้นเชิง
       
        ธรรมชาติออกแบบวิถีชีวิตของคนแถบนี้ไว้ง่าย ๆ ให้เป็นเมืองน้ำ
       
        เราตั้งถิ่นฐานเกาะอยู่กับแม่น้ำ การเลือกทำเลเมืองหลวงก็ยึดถือแม่น้ำเป็นสำคัญ การคมนาคมการขนส่งใช้แม่น้ำลำคลองเป็นสำคัญ ระบบขนส่งมวลชนทางด้านสินค้าที่สำคัญที่สุดก็คือเรือโยงในแม่น้ำ ต่อเมื่อมีทางรถไฟจึงเกิดเป็น 2 ระบบควบคู่กันไป
       
        กรุงเทพฯที่เคยได้สมญาว่าเวนิสตะวันออกก็บอกเล่าแล้วว่าเราเป็นมิตรกับน้ำแค่ไหน
       
        แต่แล้วเราก็ค่อย ๆ ลืมรากเหง้าของเราเอง
       
        จากเมืองน้ำ จากเมืองคน เราเลือกที่จะแปรเปลี่ยนบ้านเมืองของเราให้เป็นเมืองรถ เมืองถนน ทุกสรรพสิ่งรวมทั้งนโยบายและแผนพัฒนาประเทศเราเลือกที่จะสนับสนุนคนใช้รถใช้ถนน สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เป็นนโยบายเป็นแผนของประเทศอย่างเราที่ไม่มีน้ำมันเป็นของตัวเองเป็นเรื่องเป็นราว
       
        เมื่อ 7 ปีก่อนตอนผมย้ายบ้านมาอยู่ละแวกถนนพุทธมณฑลสาย 2 ใหม่ ๆ ยังชื่นชมเลยว่าถนนสายนี้สวยงามมาก มีลำคลอง 2 ฟากฝั่ง มีต้นไม้ใหญ่เป็นแนว 2 ข้างถนน เสียแต่ที่ถนนแคบไปหน่อย เผลอแผล็บเดียวมีการขยายถนนออกเป็นหลายเลน ขยายก็ขยายไป แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือมีการถมคลองทั้ง 2 ข้าง และโค่นต้นไม้ใหญ่ 2 ฟากฝั่งไปด้วย ผมว่าการขยายถนนหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯและในประเทศนี้จะเป็นไปในลักษณะนี้ คุ้มกันหรือไม่กับการได้พื้นผิวจราจรเพิ่มขึ้นแลกกับลำคลองที่หายไปกลายเป็นเพียงท่อระบายน้ำ ที่ตลกก็คือถนนพุทธมณฑลสาย 2 ยุคใหม่ก็กว้างขวางและสวยอยู่หรอก โดยเฉพาะการมีเกาะกลางถนนที่นำต้นไม้ใหญ่มาปลูก ไม่รู้ว่าถ้าจะทำอย่างนี้แล้วสู้รักษาต้นไม้และลำคลองเก่าไว้ไม่ดีกว่าหรือ
       
        ไม่ขอว่าใครในวันนี้ เพราะเราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
       
        มันเหมือนกับว่าเราหลงระเริงกันมามาก
       
       มันเหมือนกับว่าเราลืมอดีตลืมรากเหง้าของเราเองกันมานาน
       
        น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เราคิดอะไรได้บ้าง ?
       
        เท่าที่ผมคิดได้ ก่อนจะคิดอะไรไปไกล เราน่าจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ให้ได้เสียก่อน
       
        จะทำอย่างไรให้น้ำท่วมกลับไปเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติปรกติที่เป็นมิตรกับเรา !
       
        และเราต้องอยู่ร่วมกับมิตรของเราให้ได้ !!
       
        อาจจะมีโครงการมากหลาย แต่เป้าหมายของโครงการคืออะไรเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อขจัดน้ำท่วม เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือเพื่อให้น้ำหลาน้ำไหลไปตามธรรมชาติโดยการทำทางน้ำให้กว้างขวางโยงใยต่อเชื่อมเหมือนในอดีต เพื่อให้น้ำไหลมาแล้วก็ไหลไปลงทะเลโดยเร็ว ไม่รุนแรง
       
        แต่จะถกประเด็นนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
       
        เพราะจะต้องหันกลับมาถกถึงวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นของมนุษย์กันเสียก่อน จะเดินหน้าไปตามแนวคิดของลัทธิทุนนิยมสุด ๆ เพิ่มการบริโภค เพิ่มการใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจในทุกทางทุกวิถี เร่งใช้ทรัพยากรธรรม ชาติกันโดยไม่คำนึงถึงอนาคต และ ฯลฯ
       
        เหตุการณ์ในบ้านเราวันนี้ หากมองให้เชื่อมประสานกับเหตุการณ์ในโลก ทั้งด้านภัยพิบัติ ทั้งด้านวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในศูนย์กลางทุนนิยมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป การเคลื่อนไหวมวลชนในนิวยอร์ค ณ วอลสตรีท
       
       อย่าว่าแต่เราที่เป็นหางแถวทุนนิยมเลย หัวแถวทุนนิยมยังเอาตัวแทบไม่รอด
       
        ถึงเวลาที่เราจะคิดใหม่ทำใหม่กันได้หรือยัง ?



ผู้จัดการออนไลน์

ภาพข่าวพระราชกรณียกิจเมื่อ6ตุลาคม2519


เมื่อลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ร่มโพธิ์แก้วจะพาพฤกษาสดใส(ภาพขวา)-พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พสกนิกรชาวไทยผู้มั่นคงในองค์พระมหากษัตราธิราช เฝ้าถวายความจงรักภักดีโดยคับคั่ง

พุทธมามก(ภาพซ้าย)-สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามก ปฏิบัติพระองค์โดยเบญจศีล ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นี้ (ภาพและคำบรรยาย:เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519)

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
6 ตุลาคม 2554

สถาบันกษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนสักการะของพสกนิกรชาวไทยได้มีบทบาทสำคัญในการดับ วิกฤตการณ์การเมืองมาหลายคราว ให้เหตุร้ายต่างๆสงบเย็นลงด้วยพระบารมี ทว่าในคราวเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ไม่ได้มีบันทึกทางราชการไว้ในแง่มุมนี้แต่อย่างใด

ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บันทึกไว้ในบทความทางวิชาการว่า จากการศึกษานั้นพบว่า ไม่ได้มีการบันทึกในหนังสือทางการชื่อ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 –กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ แต่อย่างใด (ดูหน้า 2 ของหนังสือ ซึ่งสรุปพระราชกรณียกิจวันที่ 5 ตุลาคม แล้วข้ามไปวันที่ 8 ตุลาคมเลย)

กระนั้นก็ตามหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ก็ได้บันทึกพระราชกรณียกิจอันเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยไว้ดังต่อไปนี้


วันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกขับไล่ไปในคราวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้กลับเข้าประเทศ โดยบวชเป็นสามเณรมาจากสิงคโปร์ จากนั้นได้มายังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยมีพระญาณสังวร เป็นองค์อุปัชฌาย์
ต่อ มาในเวลา 21.30 น.วันที่ 23 กันยายน 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระบรมราชินีฯเสด็จไปที่วัดบวรนิเวศ เพื่อสนทนาธรรมกับพระญาณสังวรฯ ซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงเมื่อพระองค์ทรงผนวช

ในระหว่างการเยือน คุณหญิงเกษหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่า ได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก “ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด”
เย็นศิระเพราะพระบริบาล-เด ลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพในหลวงและสมเด็จพระบรมฯ กำลังทรงเสด็จทอดพระบาท โดยมีลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งนั่งถวายบังคมกับพื้น พร้อมคำบรรยายว่า “เมื่อลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ร่มโพธิ์แก้วจะพาพฤกษาสดใส พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พสกนิกรชาวไทยผู้มั่นคงในองค์พระมหากษัตราธิราช เฝ้าถวายความจงรักภักดีโดยคับคั่ง”

ดร.สมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าคำบรรยายนี้ถูกต้อง ก็แสดงว่า ในวันนั้น ในหลวงทรงเสด็จไปยังบริเวณใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ (ธรรมศาสตร์-สนามหลวง)มาก น่าเสียดายว่า คำบรรยายไม่ได้ระบุว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรและเวลาใด (ทั้ง 2 พระองค์อยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล)

ติดกันยังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมฯทรงกำลังนมัสการพระญาณสังวร โดยมีคำบรรยายว่า “พุทธมามก สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามก ปฏิบัติพระองค์โดยเบญจศีล ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นี้” (ทรงอยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล จึงอาจเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่เสด็จวัดพระแก้วในอีกภาพหนึ่ง)

ทรงต้องการให้บ้านเมืองสามัคคี-หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์ว่า เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้รับสั่งเรียกนายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเข้าเฝ้าฯ ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการที่ได้มีลูกเสือชาวบ้านจากต่างจังหวัดนับเป็นหมื่นๆ คนได้มาชุมนุมนั้นอาจจะประสบปัญหาเกี่ยวกับอาหารและที่พัก ทรงรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัว

ในขณะนั้นเองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพร้อมกับนายธรรมนูญ เทียนเงิน มาที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้านด้วย ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่มาชุมนุมว่า
"ข้าพเจ้า ขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี"..

ขณะที่วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับพระราชดำรัสครั้งนี้ว่า “ได้มีรับสั่งขอบใจที่ทุกคนรู้สึกเจ็บร้อนแทนพระองค์” (ยังเตอร์กของไทย, หน้า 219)



พระมหากรุณาธิคุณ-เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ตีพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์เจ้าฟ้าชายในหน้า 1 พร้อมคำบรรยายว่า
“เสด็จฯ ทำเนียบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค. ทรงมีรับสั่งกับลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งไปชุมนุมอย่างแน่นขนัดประมาณ 6 หมื่นคน”



พระมหากรุณาธิคุณจาก2ทูลกระหม่อม-หนังสือ พิมพ์เสียงปวงชน ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงกำลังก้มลงสอบถามอาการผู้บาดเจ็บที่กำลังนอนอยู่บนเตียงผู้หนึ่ง ด้วยพระพักตร์ห่วงใย พร้อมคำบรรยายภาพว่า
“ทูลกระหม่อมทั้งสอง พระองค์เสด็จเยี่ยมตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการกวาดล้างที่ธรรมศาสตร์ ที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ 15.00 น. วันที่ 7 เดือนนี้ และพระราชทานเงินของมูลนิธิสายใจไทยให้ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทุกคน”


สองสัปดาห์ต่อมา คือในวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลและ บรรจุศพนายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยในเช้าวันที่ 6 และเสียชีวิต (จากกระสุนของฝ่ายนักศึกษา?) โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ เสด็จพระดำเนินทรงร่วมงานด้วย วันต่อมา ไทยรัฐ ตีพิมพ์บนหน้า 1 พระฉายาลักษณ์ทั้งสองพระองค์ในฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ดำ กำลังทรงนั่งย่อพระวรกายลงสนทนากับครอบครัวของนายเสมออย่างใกล้ชิด พร้อมคำบรรยายภาพสั้นๆ (ในลักษณะที่หนังสือพิมพ์เรียกว่า “ภาพเป็นข่าว”)

วันที่ 22 ตุลา ไทยรัฐ และ ไทยเดลี่ ตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ของ 2 พระองค์ในพระอริยาบทเดียวกันระหว่างทรงสนทนากับลูกเสือชาวบ้านที่มาร่วมงาน และเฝ้ารับเสด็จในวันบรรจุศพนายเสมอ แต่อยู่ในหน้า 4

มีเพียง เดลินิวส์ ฉบับวันนั้น ที่นอกจากตีพิมพ์พระฉายาลักษณ์ในหน้า 1 แล้ว ยังรายงานข่าวในหน้าเดียวกัน ดังนี้:


ฟ้าหญิงฯ สดุดีศพลูกเสือชาวบ้าน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองเสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ “นายเสมอ อ้นจรูญ” ลูกเสือชาวบ้านที่เสียชีวิตจากการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ จากเหตุการณ์จลาจล “6 ต.ค.” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ท่ามกลางลูกเสือชาวบ้านร่วมพิธีกว่า 5 พันคน ทรงสดุดีวีรกรรมว่าสมควรแก่การเชิดชูเป็นแบบอย่าง

เมื่อเวลา 15.00 น. (ที่ 20 ตุลาคม 2519) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 5 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อเสด็จมาถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ พระสงฆ์ 39 รูป สวดมาติกาจบแล้ว เจ้าพนักงานลาดภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯเสด็จไปทอดผ้าแล้วทรงหลั่งทักษิโณทก

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงกล่าวสดุดีเกียรติคุณ นายเสมอ อ้นจรูญ ว่า
“การ ปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ [เป็นไปตาม] คำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ปฏิญาณไว้กับลูกเสือชาวบ้าน สมควรแก่การเชิดชู เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือชาวบ้านต่อไปในด้านมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”
แล้วเสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาวดำวางบนพานที่ตั้งหน้าหีบศพ ทรงวางพวงมาลา

ในโอกาสนี้ ทั้งสองพระองค์ เสด็จเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านกว่า 5,000 คน ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง ที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างคับคั่งตามพระอัธยาศัยด้วย

สำหรับวีรกรรมของนายเสมอ ที่ได้ปฏิบัติจนถึงแก่เสียชีวิต คือ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 08.00 น. นายเสมอได้ติดตามตำรวจเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ถูกฝ่ายผู้ก่อการไม่สงบระดมยิงมาจากด้านข้างหอประชุมใหญ่ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา


ทรงเยี่ยมกับพสกนิกร-ในหลวง และพระบรมราชวงศ์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร และลูกเสือชาวบ้านที่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ทรงพระเกษมสำราญกับราษฎรอย่างใกล้ชิด อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น ก็คงทำให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยทั่วกันว่า แผ่นดินไทยสงบร่มเย็นมาตลอดได้ก็ด้วยพระบารมี ขอทรงพระเจริญ


ไทยอีนิวส์

หมู่บ้านแดงถูกรีดบ้านละ2.2พัน ค่าป้ายทักษิณ

ปชป.ค้านชง พรบ.กลาโหมเข้าสภาฯ ชี้ พท.หวังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ จี้ "ยิ่งลักษณ์"ตอบมีจุดยืนเดียวกับลูกพรรคหรือไม่ ด้าน"อรรถพร"เสนอสอบตั้งอำเภอแดง ขณะแดงอุดรเตรียมยกระดับหมู่บ้านแดงเป็นอำเภอแดง หลังอัพเกรดตัวเองเป็นสมาพันธ์ฯ ปูดหมู่บ้านอึดอัด ถูกเรียกเก็บเงิน2.2พันบ.ต่อครัวเรือนอ้างเป็นค่าป้ายรูป "ทักษิณ" พร้อมธงแดงติดหน้าหมุ่บ้าน "ขวัญชัย"เผย ไม่เคยเห็นด้วย แย้มเป็นเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงรอย "แรมโบ้อีสาน"เตือนพันธมิตร ฯ หยุดสร้างความแตกแยก ยันนิรโทษกรรมไม่ใช่เพื่อ "ทักษิณ" คนเดียว ขณะ "ปู"ยันสั่ง ปค.อป. ดูแลเยียวยาแดงพร้อมเร่งดำเนินการตามข้อเสนอของคอป.ด้วย
     เมื่อวันที่ 8ต.ค.54 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกฏหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนคนที่3 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายประชา ประสพดี ส.ส.พรรคเพื่อไทยในฐานะรองประธานคณะกรรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนคนที่1 เตรียมเสนอให้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวแก้ไขพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551ในสัปดาห์หน้าโดยจะเรียกผบ.เหล่าทัพเข้าชี้แจงด้วยว่า ตนขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหมได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นจุดยืนของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ทั้งนี้หากกฎหมายข้าราชการกลาโหมมีปัญหาในการบังคับใช้จริง เหตุใดในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็สามารถปฏิบัติใช้ได้โดยไม่เกิดปัญหา เป็นไปได้หรือไม่ว่าในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ทำตามใบสั่งจะใช้ตำราได้คืบเอาศอก หลังจากที่เลือกตั้งคุมอำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จก็ยังเหลือเพียงสถาบันกองทัพเท่านั้นที่ยังไม่สามารถสั่งการได้เพียงองค์กรเดียว จึงพยายามที่จะรุกคืบขอแก้ไขเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้
     " การที่จะเรียกผบ.เหล่าทัพและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาบี้ในคณะกรรมาธิการฯในสภาไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ถ้าพรรคเพื่อไทยมีความบริสุทธิ์ใจก็ควรให้กรรมาธิการเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นหาข้อดี ข้อด้อยมากกว่าที่จะเรียกนายทหารมาไล่ต้อนเพื่อชำระความแค้นส่วนตัว และขอให้สังคมจับตามองว่า กรณีนี้พรรคเพื่อไทยมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยก็พยายามเข้าไปแทรกแซงบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปีและแต่งตั้งตำแหน่งนายทหารในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) "
     นายอรรถพร พลบุตร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมาธิการฯชุดเดียวกัน กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการฯดังกล่าว ถือเป็นเกราะป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองต่อกองทัพ หรือกล่าวคือการนำกองทัพมารับใช้นักการเมือง ดังที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างปี2544-2547 ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและมีการแทรกแซงกองทัพอย่างหนักจนถึงขั้นผลักดันญาติผู้พี่เป็นผบ.ทบ.และผบ.สส และถือเป็นยุคมืดของกองทัพ โดยระบุว่าการแก้ไขพ.ร.บ.เพื่อเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง จะทำให้กองทัพก็จะอ่อนแอลง ซึ่งจะกระทบต่อภาระกิจหลักในการปกป้องประเทศชาติและดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ
     "เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย คือต้องการอำนาจโยกย้ายและจัดขุมกำลังในกองทัพให้หันมารับใช้ระบบทักษิณ เพราะกองทัพคืออุปสรรคสำคัญในการยึดประเทศของระบบนี้ ทั้งนี้ผมก็จะเสนอให้คณะกรรมาธิการฯตรวจสอบกรณีการจัดตั้งหมู่บ้านแดงเป็น อำเภอแดง ซึ่งถือเป็นขบวนการสร้างความขัดแย้งอีกกรณีด้วย "
     วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานถึงการจัดตั้งอำเภอคนเสื้อแดงใน จ.อุดรธานีว่า จะมีขึ้นจริงโดยกำหนดการเดิมจะมีการเปิดในวันที่ 9 ต.ค.54 นี้ แต่จะมีการเลื่อนออกไป เพราะในวันดังกล่าวกลุ่มคนเสื้อแดงในจ.อุดรธานีจะมีการประชุมเพื่อเลือกตั้งและคัดเลือกคณะกรรมการสมาพันธ์คนเสื้อแดงแห่งประเทศไทย โดยะจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลังจากเปิดตัวคณะกรรมการสมาพันธ์ฯชุดดังกล่าวแล้ว
     นายอานนท์ แสนน่าน เลขานุการหมู่บ้านคนเสื้อแดงจ.อุดรธานี กล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้พวกตนจะทยอยเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงจำนวนมากแล้ว แต่พวกตนก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยมาเต็มใบ ยังคงมีฝ่ายอำมาตย์เข้ามาแทรกแซง ทำให้พวกตนจะยกระดับหมู่บ้าน ตำบลเสื้อแดง ขึ้นเป็นอำเภอเสื้อแดง โดยที่ จ.อุดรธานี นั้นจะมีการเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรกของประเทศ ที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม หลังจากที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาพันธ์ฯในวันที่9ต.ค.แล้วเสร็จ โดยจะเชิญ น.พ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ที่ปรึกษามูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ไทยรักไทย เป็นประธานฯ พร้อมเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย
     ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า การเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงในหลายหมู่บ้านและหลายจังหวัดรวมทั้งในจ.อุดรธานีในขณะนี้สร้างความลำบากใจให้กับประชาชนในหมู่บ้านอย่างมากเนื่องจากมีแกนนำที่นำป้ายทางเข้าหมู่บ้านซึ่งมีรูปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาติดไว้นั้น ได้เรียกเก็บเงินจากชาวบ้านเป็นค่าป้ายๆละ 2,000 บาท ส่วนธงแดงจะนำไปติดไว้หน้าบ้านคิดค่าบริการธงละ 200 บาทอีกด้วย
     ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวถึงการเปิดอำเภอเสื้อแดงว่า ตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ซึ่งความเป็นจริงชาวจ.อุดรธานี มีในรักประชาธิปไตยอยู่แล้วไม่ควรที่จะไปบังคับเขาให้เป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดงเหมือนเอาอะไรไปประทับตราเขาเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางไปเปิดบ้านคนเสื้อแดงนั้นก็เคยอยู่กับตนเองมาก่อน แต่เนื่องจากเรื่องผลประโยชน์ทำให้แยกตัวออกไปเปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงซึ่งกำลังเป็นปัญหาให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเขาจ้องเล่นงานอยู่
     น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ซึ่งครั้งนี้ ได้ใช้ บ้านพักส่วนตัว บ้านเลขที่ 38/9 ซอยโยธินพัฒนา 3 เขตลาดพร้าว เป็นสถานที่ในการส่งสัญญาณว่า กรณีที่ทางคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาที่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปค.อป.) ซึ่งคณะกรรมการปค.อป. นี้จะดูในเรื่องของการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการตามข้อเสนอของคอป.ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานด้วย
     "ส่วนนโยบายบ้านหลังแรกในราคาไม่เกิน1ล้านบาท เรายืนยันว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่เกี่ยวกับบริษัทเอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งธอส.จะคิดดอกเบี้ย 0 % เป็นเวลา 3 ปี"
     นายสุพร อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน แกนนำ นปช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะรวมตัวชุมนุมเรียกร้องคัดค้านการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า หากแกนนำพันธมิตรฯและแนวร่วมยังรักประเทศชาติอยู่ ก็ขอให้หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอีก เพราะประเทศบอบซ้ำมามากแล้ว ประชาชนได้อยู่อย่างมีความสุข พร้อมทั้งยืนยันการนิรโทษนั้นไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงผู้เดียว แต่จะเป็นผลดีต่ออีกหลายคน ที่ได้รับผกระทบจากการปฏิวัติ 19 กย. 49
     ส่วนกระแสข่าวลือว่าตนจะเข้ามาแทรกแซงเรื่องการโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ จ.นครราชสีมานั้น ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นอำนาจของรัฐบาลหากที่จะพิจารณาว่าใครเป็นคนดี มีความสามารถ โดยยืนยันว่าคนเสื้อแดงโคราชสามารถร่วมงานได้กับทุกคนแบบไม่แบ่งพรรคพวกเพื่อการร่วมกันพัฒนาประเทศ


สยามรัฐ

ผูกขาดแข่งขันทางการค้า "เกษตร-พลังงาน-โทรคมนาคม"


  • เขียนโดย สาธินีย์ วิสุทธาธรรม ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์
เรื่องความเลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ที่ยังค้างคาใจอยู่ว่า ทำไมคนจน ถึงแตกต่างจากคนรวย ใช่... เพราะความรู้่โอกาส ความขยัน หรือผลที่เกิดจากฎแห่งกรรม
เราลองไปฟังมุมคิดเรื่องการผูกขาดและสนับสนุน การแข่งขันทางการค้า ในภาคธุรกิจการเกษตร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจพลังงาน อาจจะได้คำตอบ จากคำถามข้างต้น....
ผูกขาดการแข่งขันการค้าธุรกิจการเกษตร
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
"รัฐบาลไม่ค่อยชอบให้ตลาดสินค้าเกษตรมีการแข่งขัน มักเข้าแทรกแซง โดยอ้างว่าเกษตรกรเป็นคนยากจน ทั้งที่ภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการค้าขายในระดับฟาร์ม"
ตลาดสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันมาก แต่รัฐบาลไม่ค่อยชอบให้มีการแข่งขัน ชอบที่จะผูกขาด โดย ที่รัฐบาลอ้างว่า เกษตรกรเป็นคนยากจนต้องช่วยเหลือโดยการเข้าแทรกแซง ภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการค้าขายในระดับฟาร์ม เมื่อหลุดจากมือเกษตรกรไปจนกระทั่งถึงการส่งออก มีการแข่งขันค่อนข้างมาก ยกเว้นการค้าปุ๋ย ยาปราบศรัตรูพืชที่มีผู้แข่งขันน้อยราย แต่การที่ภาครัฐเข้าไปยุ่งนั้นเกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา 
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า การผูกขาดมีข้อเสีย คือ 1.ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคแพงขึ้น 2.ผู้ขายถูกกดราคามาก การ ค้าขายลดลง ปัญหาใหญ่ คือ กำไรของผู้ที่ต้องการการผูกขาด จะทำทุกอย่างโดยเฉพาะการพึ่งอำนาจรัฐเข้ามาผูกขาด และการผูกขาดที่จีรังยั่งยืนต่อเมื่อมีอำนาจรัฐ
สำหรับเรื่องปุ๋ย มีบริษัทเพียงไม่กี่ราย แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วเกษตรกรไทยเป็นเกษตรที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และใช้น้อยที่สุด โครงสร้างตลาดมีปัญหาน้อย แต่เพิ่งจะเริ่มมีปัญหาเมื่อรัฐบาลเข้ามาคุมราคาปุ๋ย เกิดบริษัท 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำถูกกฎหมาย กับกลุ่มที่มีการเมืองหนุนหลัง มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้าง วัสดุการเกษตร ยาปราบศรัตรูพืชไม่มีความโปร่งใส มีการหากินกันได้
การประมูลข้าว รัฐบาลประมูลข้าวหรือสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เวลานี้รัฐบาลกำลังจะซื้อข้าวเข้ามาในโครงการรับจำนำ และมีข้าวที่รัฐบาลจะประมูลออกจำนวนมาก เวลาประมูลข้าวจะมีปัญหาอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ มีปัญหาบริษัทจีนที่จะมาเป็นนายหน้าในการประมูล ปัญหาล่าสุดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะขึ้นมามีปัญหาขายข้าวให้อินโดนีเซียในราคา ถูกเป็นพิเศษ ขณะนี้รัฐบาลขายข้าวแบบ G2G รัฐต่อรัฐ มีประวัติการขายให้เกาหลีเหนือ แต่เกาหลีเหนือไม่ชำระเงินให้ และจะตั้งบริษัทสามัคคีแห่งชาติเข้ามาขายเรื่องเหล่านี้ เรียกว่าเป็นฝีมือของการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงทั้งสิ้น 
ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือบทเรียนว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ข้อมูลไม่เคยโปร่งใส อ้างว่าจะซื้อของแจกเกษตรกร แต่กระบวนการซื้อก็มีนอกมีในตลอดเวลา อ้างว่าเกษตรกรยากจน ตัวเลขที่ชัดเจนเฉพาะชาวนาอย่างเดียวอย่างน้อยที่สุดมีชาวนา 1.2 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่ม 4 กลุ่มรายได้ที่สูงที่สุดในประเทศ ไม่ใช่ชาวนาทุกคนยากจน แต่รัฐบาลนำข้ออ้างนี้มาใช้ตลอดเวลา
การพิจารณาขายข้าวรัฐบาลจะขายล็อตใหญ่ๆ ที่มีผู้ประมูลน้อย จึงมีการฮั้วกันง่ายมาก ฉะนั้น จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการแทรกแซง ถ้าเป็นไปได้จะเพิ่มเติมกฎหมายแข่งขันการค้าให้นักธุรกิจ ประชาชนสามารถฟ้องหน่วยงานราชกราที่ประมูลไม่โปร่งใสได้ ฟ้องรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการซื้อขายแบบฮั้วกันได้ เป็นปัญหาที่เราต้องเริ่มคิดเรื่องเหล่านี้แล้ว เพราะมีแนวโน้มที่รัฐบาลกำลังจะเข้ามาทำธุรกิจการเกษตร
เมื่อรัฐบาลเข้ามาทำธุรกิจการเกษตรแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเราเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งที่สำคัญๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง แต่สิ่งเหล่านี้ในที่สุดเมื่อรัฐบาลเข้ามาแทรกแซง มีการผูกขาด ตัดตอน จะเอื้อผลประโยชน์ต่อนักธุรกิจที่อาศัยซุกปีกรัฐบาลเข้ามาหากิน โดย อ้างว่าพ่อค้าส่งออกชอบตัดราคากัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการจัดระเบียบการส่งออก การอ้างเหล่านี้เป็นการอ้างเพื่อที่จะเข้ามาผูกขาด ตัดตอน ซึ่งฝ่ายที่จะสูญเสียคือเกษตรกรที่จะมีทางเลือกในการขายของน้อยลง ผู้บริโภคที่จะต้องซื้อของราคาแพงขึ้น
ผูกขาดการแข่งขันการค้าธุรกิจพลังงาน
นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
"ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน บีบก็ตายคลายก็รอด"
มี 4 ประเด็นที่จะนำเสนอเกี่ยวกับการผูกขาดด้านธุรกิจพลังงาน
1.ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่มีการผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน กฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้า กำหนดว่า รัฐวิสาหกิจไม่ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นยังมีบริษัทอย่าง ปตท. ใช้สิทธิ์นี้อยู่ ทำให้เกิดการได้เปรียบ เช่นกรณี ปตท. สามารถถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงจากทั้งหมด 6 โรง ซึ่งทำให้สามารถผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันได้ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่มีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย รัฐวิสาหกิจได้กำหนดนโยบายการให้แรงจูงใจโรงกลั่นน้ำมันให้มากลั่นในประเทศ ไทย แต่ซื้อในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ และในเวลานี้เรากลั่นและส่งออกได้ (ปี 2551) ส่งออกได้มากกว่าข้าวและยางพารา เราส่งออกพลังงานได้ 2.9 หมื่นล้าน แต่รัฐบาลก็ยังคงให้แรงจูงใจนี้อยู่ ซึ่งราคาส่งต่างประเทศขายถูกกว่าคนไทย ทำให้เห็นว่าไม่ใช่กลไกการแข่งขัน 
2.การควบรวมกิจการ เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการผูกขาด บริษัท ปตท.มีการควบรวมกิจการทั้งแนวนอน คือ การเทคโอเวอร์ปั๊มน้ำมัน สามารถขยายส่วนแบ่งตลาด และการควบรวมแนวดิ่ง คือ ควบรวมโรงกลั่นกับปิโตรเคมี เป็นการฮุบเอาสิ่งที่เป็นวัตถุดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง LPG เป็นสิ่งที่แย่งชิงกันใช้ระหว่างภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ถือข้ออ้างว่า ปิโตรเคมีสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าประชาชน
3.กรณีเชื้อเพลิงทุกชนิดถ้าสามารถทดแทนกันได้ ต้องแข่งขันกัน แต่ปรากฏว่าบริษัท ปตท. ผูกขาดทั้งน้ำมัน ก๊าซ LPG NGV เอทานอล ก่อนหน้านี้เมื่อรัฐบาลประกาศชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทำให้เบนซิล กับแก๊ซโซฮอลมีราคาใกล้กัน คนจึงหันไปใช้เบนซิลเพิ่มขึ้นมา 100% พอมีคนโวยวายก็ถ่างราคาได้ทันที ซึ่งไม่ใช่กลไกการแข่งขัน เป็นกลไกการบริหารจัดการ เรียกได้ว่า บีบก็ตายคลายก็รอด สามารถคุมช่องว่างระหว่างราคาเอาไว้ ทำให้กลไกการแข่งขันไม่เกิดขึ้นจริง 
4.เรามีกฎหมายที่ไปเปิดช่องให้ผู้ บริหารระดับสูงไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้ พ.ร.บ.ว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการรัฐวิสาหกิจมีการแก้เพิ่มตำแหน่ง ควบได้มากขึ้น เมื่อเข้าไปเป็นก็เกิดการขัดแย้งกันในหน้าที่ คนที่เป็นบอร์ดในบริษัทก็ต้องสร้างกำไรให้แก่บริษัท แต่ถ้าเป็นรัฐต้องคุ้มครองผู้บริโภค แต่เมื่อควบ 2 ตำแหน่งกลายเป็นว่าทำเพื่อกำไรบริษัท ไม่ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน เป็นบทบาทที่ขัดแย้งกัน มีผลประโยชน์ทั้งโบนัสและเบี้ยการประชุม ทำให้สภาพการผูกขาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 84 วงเล็บ 5 ระบุไว้ชัดเจนว่านโยบายของรัฐจะต้องส่งเสริมเศรษฐกิจที่เสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้นเลย แต่สภาพการต่างๆ เหล่านี้ยังดำรงอยู่เต็มที่ในธุรกิจด้านพลังงาน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์เป็นอย่างมาก
ผูกขาดการแข่งขันทางการค้าธุรกิจโทรคมนาคม
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช ทีดีอาร์ไอ
"ผลประโยชน์ของผู้บริโภค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญชาติของผู้ประกอบการโทรคมนาคม"
 ภาคโทรคมนาคมมีปัญหาจากการที่ตลาดไม่ได้แข่งขันเท่าที่ควร หรือที่เรียกว่า “ตลาดกึ่งผูกขาด” เนื่องจากเรามีมรดกบาปที่ทำให้เกิดสินค้าบริการโทรคมนาคมมีราคาแพงและคุณภาพ ไม่ดี ใช้อินเตอร์เน็ตก็โหลดความเร็วไม่ได้ตามเกณฑ์ โทรศัพท์สายก็หลุดบ่อย สัญญาณไม่ชัดเจน
บริบทที่ทำให้สินค้าและบริการด้านโทรคมนาคมแพงและคุณภาพไม่ดีมาจาก 2 เรื่องด้วยกัน... 
ประการแรก โครงสร้างตลาดโทรคมนาคมที่ใช้เงินในการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท จนกลายเป็นว่า ตลาดผูกขาดโดยธรรมชาติ แต่ระยะหลังเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ทำให้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้ามา ซึ่งก็ช่วยให้โทรคมนาคมราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม ยังเหลือมรดกบาปอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ สัมปทานที่ให้สิทธิผูกขาดบริการโทรคมนาคมแก่เจ้าของบริษัท แต่ขณะนี้มรดกบาปดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะหายไปอีกเช่นกัน เพราะปัจจุบันสิทธิผูกขาด หรือสัมปทานตามกฎหมายหมดไปแล้ว ตัวสัมปทานเองก็กำลังจะหมดใน 1-2 ปีนี้ ฉะนั้น เรื่องดังกล่าวจึงถือเป็นข่าวดี 
สำหรับด้านโทรคมนาคมนั้นมีกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้นระบุไว้ว่า ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สามารถกำหนด กฎเฉพาะขึ้น เพื่อลดการผูกขาดได้
ฉะนั้น หากเรื่องใดที่เป็นกฎหมายทั่วไป กฎหมายแข่งขันทางการค้าก็เข้ามาจัดการ ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับโทรคมนาคม ก็ใช้กฎของ กสทช.เข้ามาจัดการ ซึ่งหากดูจุดนี้ก็ถือว่าดี เพราะประชาชนจะมีเครื่องมือคุ้มครองถึงสองชั้น แต่กลับปรากฏว่า ตั้งแต่มี กสทช. (เดิมนั้นเรียกว่า กทช.) การกำกับดูแลต่างๆ พบว่า ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการผูกขาดมากขึ้น 
ตัวอย่างที่กระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจนคือ การกำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง หากสังเกตจะพบว่าที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการไม่เคยเสียค่าบริการต่ำกว่า 1 บาทต่อนาทีเลย นั่นเพราะว่า กทช. ไปกำหนดให้ราคาค่าเชื่อมต่อโครงค่ายอยู่ที่ 1 บาท (อธิบายสั้นๆ หากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือของบริษัท ก ติดต่อไปยังผู้ใช้บริการของบริษัท ข บริษัท ก ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท ข 1 บาท) ทั้งที่ต้นทุนค่าโทรของแต่ละเจ้าไม่เกิน 25 สตางค์ แต่หลังจากที่มีการกำหนดราคาจาก กทช. ที่ราคา 1 บาทต่อนาที ตรงนี้ชัดเจนว่า สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง 
“ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ของที่ควรจะถูกกลับต้องแพง เพราะผู้ประกอบการจะคิดราคาถูกก็ทำไม่ได้ ซึ่งหากคำนวณกันหยาบๆ จะพบว่า ผลประโยชนที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ แต่กลับถูกโยกไปที่ผู้ประกอบการนั้นมากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี”
ส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้นพบว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันทำไม่ได้ ยกตัวอย่างบริษัท ฮัทช์ (Hutch) เข้ามาไม่นานก็อยู่ไม่ได้ เพราะเป็นบริษัทเล็ก โอกาสที่ผู้ใช้บริการจะโทรไปหาผู้ใช้บริการในเครือข่ายอื่นจึงมีมากกว่า อีกทั้งเมื่อต้องจ่ายให้บริษัทเจ้าอื่นนาทีละ 1 บาทก็ทำให้ไม่สามารถตัดราคา เพื่อดึงลูกค้าได้ ผู้ประกอบการรายใหม่จึงเกิดขึ้นไม่ได้ ตายไปในที่สุด
ประการที่สอง เมื่อไม่นานมา นี้ กทช. ได้ออกประกาศเรื่องการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่จะทำธุรกิจโทรคมนาคมจะต้องผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ดูเหมือนว่า คนไทยจะได้ประโยชน์ แต่เมื่อศึกษากันจริงๆ การที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญชาติของผู้ประกอบการ ฝรั่ง จีน สิงค์โปร์หรืออะไรก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การทำให้ตลาดเกิดการแข่งขัน
“ที่ผ่านมามีการสร้างความรู้สึก ความเชื่อที่ว่า ต้องเป็นผู้ประกอบการไทยเท่านั้น ซึ่งการสร้างวาทกรรม ความเชื่อดังกล่าวทำให้บริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นคนไทยได้ประโยชน์ ดังนั้น กฎกติกาดังกล่าวที่ กทช. ผ่านออกมา โดยไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ควรจะเป็นนั้น อีกทั้งยังไปกระทบตลาด กระทบผู้บริโภค จึงอยากฝาก กสทช. ชุดใหม่ให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน 
“ยกเลิกการประกาศเรื่องการครอบงำ กิจการโทรคมนาคมโดยคนต่างด้าว รวมทั้งลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายให้อยู่ที่อัตราไม่เกิน 25 สตางค์ต่อนาที”
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง