ใกล้เข้ามาทุกที สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 แต่จวบจนวินาทีนี้ เชื่อว่า ยังมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนมากกำลังอยู่ในภาวะสับสน ลังเลว่า ไม่รู้จะกากบาทเลือกผู้แทนฯ คนใด หรือพรรคไหนดี
อาจด้วยเพราะตัวเลือกที่มีจำกัด พรรคเดิม คนหน้าเดิมๆ หรือไม่ก็พรรคใหม่ หน้าเก่า จับมือกันไปกันมาเป็นพัลวัน จนเกิดคำถามตัวโตว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เลือกไปนั้น จะทำงานให้กับประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือจะซ้ำรอยเดิมกับเหตุการณ์ที่พบเห็นจนชินตา ไม่ว่าจะความประพฤติของผู้แทน หรือกระทั่งบรรยากาศ ‘สภาล่ม’ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Database: TPD) เว็บไซต์
www.tdp.in.th เปิดผลสำรวจ ชุด
“ถอดรหัสนักการเมือง” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังนักการเมือง กว่าจะมาเป็นนักการเมือง รวมทั้งพฤติกรรมการหาเสียงและรักษาฐานเสียง โดยเก็บข้อมูล ส.ส. เชิงลึกในพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก สุพรรณบุรี นครปฐม อุทัยธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุดรธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และชลบุรี
ไล่ดู
ภูมิหลังของ ส.ส.มีข้อมูลที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 35.29 มาจากบุคคลที่อยู่ในตระกูลพ่อค้าคหบดีในจังหวัด รองลงมาร้อยละ 22.69 เป็นคนที่อยู่ในตระกูลการเมือง ตั้งแต่สมัยปู่ยาตายาย พ่อแม่ อีกทั้งโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในทางกลับกัน มี ส.ส.เพียงร้อยละ14.29 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อนเข้ามาเป็น ส.ส.
ถึงบรรทัดนี้คงหายสงสัยแล้วว่า ทำไม ส.ส. ดีๆ ถึงมีน้อย
นอกจากนี้ หากพิเคราะห์ภูมิหลัง ส.ส. โดยแบ่งตามภูมิภาค จะเห็นชัดเจนว่า
- ภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นภาคที่ ส.ส.มีภูมิหลังประเภทอยู่ในตระกูลนักการเมืองมากที่สุดในประเทศ
- ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส.ส. ส่วนใหญ่มาจากตระกูลคหบดีในจังหวัด
- ภาคใต้ จัดว่าเป็นภาคที่มี ส.ส. น้ำดีมากที่สุด เนื่องจากมี ส.ส.ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งมากกว่าภาคอื่น
ทว่า นอกจากเช็คภูมิหลังนักการเมืองแล้ว อีกขั้นเราต้องเข้าใจก้าวย่าง กว่าจะมาเป็นนักการเมืองด้วย ซึ่งเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย มีการวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียด เช่น ส.ส. ร้อยละ 45 เข้ามาทำงานในสภาได้ เพราะคำชักชวนจากพรรคการเมือง มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพรรค หรือกระทั่งเป็นเด็ก ‘หิ้วกระเป๋า’ ติดสอยห้อยตามนักการเมืองมาก่อน ขณะที่ร้อยละ 21 มาเป็น ส.ส. ได้เพราะรับ ‘มรดก’ จากคนในครอบครัว จนในที่สุดก่อให้เกิดระบบผูกขาดทางการเมือง
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ประเทศไทยมี ส.ส. ที่มุ่งหน้าสู่เส้นทางการเมือง เพราะ
"จิตอาสา" อยากทำงานเพื่อประชาชน เพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น สัดส่วนดังกล่าว จึงนับว่า
‘น้อยมาก’ เมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ในรัฐสภา
ขณะเดียวกัน หากแจกแจงพฤติกรรมของ ส.ส. ที่ใช้ในการหาเสียง สร้างความนิยมในตัวเองและใช้รักษาฐานเสียงเก่า สร้างฐานเสียงใหม่ พบว่า เกมการเมืองที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง จำต้องงัดยุทธวิธีนานัปการออกสู้ศึก ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน อาทิ แจกข้าว แจกของ เป็นประธานงานศพ ร่วมงานแต่ง งานบวช นอกจากนี้ยังใช้กลุ่มประชาสังคม สื่อ และเครือข่ายนักการเมืองในพื้นที่เป็นหมากทางการเมืองอีกด้วย
แน่ นอนว่า ผลสำรวจของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยอีกเช่นกัน ที่ตอกย้ำว่า ส.ส.ร้อยละ 86.21 มีพฤติกรรมแบบ ส.ส. อิงพวก ซึ่งหมายถึงว่า มีการสร้างเครือข่ายนักการเมือง ทั้งในระดับ ส.อบต. สท. ส.อบจ. เรื่อยไปกระทั่งระดับ ส.ส. เพื่อลงพื้นที่หาเสียงด้วยกัน เป็นก๊วนเดียวกัน ขณะที่ร้อยละ 86.07 เป็น ส.ส.พึ่งหัวคะแนน ฐานเสียงจัดตั้ง ส่งผลให้วงจรการเมืองไทย นักการเมืองไทยหนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์
นอกจากนี้ยังมี ส.ส. อีกร้อยละ 57.38 ซึ่งจัดอยู่ในประเภท ส.ส.ซุปเปอร์มาร์เก็ต ใช้สำนักงาน ส.ส. เป็นที่แจกข้าวของมากกว่ารับเรื่องร้องทุกข์เสียอีก
ในฐานะผู้บุกเบิก ตั้งเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า การตีแผ่ข้อมูลชุด
‘ถอดรหัสนักการเมือง’ เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า ภูมิหลังของนักการเมือง ซึ่งมีที่มาต่างกัน ย่อมมีผลโดยตรงต่อการรักษาฐานเสียง รวมถึงพฤติกรรมในสภา พร้อมกับยกตัวอย่าง นักการเมืองประเภทหิ้วกระเป๋า จะมีแนวโน้มขาดการประชุมสภา ไม่ค่อยเข้าร่วมโหวตผ่านกฎหมาย
"พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยทำหน้าที่ อีกทั้งการรักษาฐานเสียง มักใช้วิธีการ ‘ซื้อเสียง’ สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ฉะนั้น จึงต้องมีการเชื่อมโยงให้ประชาชนเห็นภาพดังกล่าวชัดเจน จะได้รู้ทันพฤติกรรมของนักการเมือง ท้ายที่สุดจะได้รู้ว่า ควรเลือกใครดี"
ขณะเดียวกัน อาจารย์จรัส ได้แนะวิธีเลือกเฟ้น ส.ส. ให้กับประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยว่า อย่าไปเลือกตามหัวคะแนน หรือตามที่ถูกกาหัวไว้แล้วว่าจะต้องเลือกใคร โดยไม่รู้ไม่เห็นข้อมูล หรือไม่ได้คิดเลยว่า คนที่เลือกไปนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนได้จริงหรือไม่ เพราะปัญหาสภาล้ม ส.ส.ไม่มีความรับผิดชอบ ล้วนเป็นผลจากการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพต่ำ
ดังนั้น ส.ส.เก่าต้องดูที่ผลงาน สอบได้ หรือสอบตก ส่วนคนที่ไม่ได้เคยรั้งตำแหน่งก็ดูจากพื้นเพว่าเป็นมาอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความคิดที่เป็นเสรีชน รวมถึงสร้างเสรีภาพในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
ส่วนคนรุ่นใหม่ที่โดดมาเล่นการเมือง ดร.จรัส มองว่า จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะลูกหลานตระกูลนักการเมือง ดารา นักกีฬาหรืออะไรก็ตาม ที่เข้ามาท้าชิงตำแหน่ง ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะในช่วงที่ผ่านมา นักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจ มักกระจุกตัวอยู่แค่ในบางอาชีพ หรือคนบางกลุ่มเท่านั้น กลุ่มอาชีพอื่นๆ อาทิ เกษตรกร กรรมกร หรือผู้มีอาชีพรับจ้าง ซึ่งเป็นตัวแทนของคนจำนวนมาก กลับหายไป ดังนั้น ต้องผลักดันให้นักการเมืองนึกถึงการส่งผู้สมัครที่มีภูมิหลังแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น จะได้มีองค์ประกอบที่หลากหลายมากกว่านี้
แต่ทั้งนี้ คงไม่สามารถบอกได้ว่า ใครดีหรือไม่ดี อย่างไร ต้องรอพิสูจน์จากผลงาน การทำหน้าที่หลังจากเข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้แทนแล้ว แต่ขอย้ำว่า หน้าที่ของผู้แทนคือ ดูแลปัญหาของคนในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าดารา จะดูแลเฉพาะเรื่องกิจการบันเทิง หรือนักกีฬา จะดูเฉพาะเรื่องการส่งเสริมด้านกีฬาอย่างเดียวเท่านั้น
นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ แสดงทรรศนะต่อไปว่า การเลือกตั้ง การมี สส. ยังเป็นสิ่งที่ความจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย จะไม่มีไม่ได้ แต่หากรู้ว่าคนไหนไม่ดี โดดประชุม ก็ไม่ต้องเลือก ส่วนคนที่ยังไม่รู้ คงต้องลองเลือกๆ ไปก่อน หากทำหน้าที่ไม่ดีอย่างน้อยที่สุด 4 ปีก็จัดการได้อีกที หรือไม่ก็ใช้วิธีถอดถอนออกจากตำแหน่ง
แต่จากการมองประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศที่เผชิญกับ
‘นักการเมืองไม่ดี’ ดร.จรัส พบว่า เมื่อชาวบ้านชาวเมืองลุกขึ้นมาตรวจสอบ ไล่จิกนักการเมืองให้ทำหน้าที่ให้ดี จะทำให้นักการเมืองเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด เนื่องจากต้องหันมาดูตลาด เพราะรู้แล้วว่าประชาชนเฝ้าติดตาม และมองผลงานมากกว่าเชื่อหัวคะแนน
ในทางกลับกัน ดร.จรัส ทิ้งท้ายถึงประชาชนที่มีสิทธิ์มีเสียงด้วยว่า ส.ส.ก็เหมือนนักเรียน เมื่อรู้ว่าไม่เข้าเรียน ไม่ส่งการบ้าน ถึงเวลาอยากสอบผ่าน ก็ใช้วิธีเอาอกเอาใจ เอาของไปฝากครู จนทำให้ครูกลายเป็นคนไม่ดี ไม่ได้ดูที่ผลงานหรือความตั้งใจของเด็ก เช่นเดียวกับประชาชน หากไม่ได้ดูที่การทำงาน แต่กลับให้ ส.ส. สอบผ่านด้วยวิธีการดังกล่าว เท่ากับว่าประชาชนกลายเป็นครูที่ไม่ดีเช่นกัน
ดังนั้น หากประชาชนพบเห็น ส.ส. ที่ทำงานไม่ดีก็จะต้องให้สอบตก ให้บ๊วย สส.รายนั้นไป จนกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม กลายเป็น ส.ส.ที่ดี”