บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พระปกเกล้า" ชง กมธ. ปรองดอง พท. จะเลือก "นิรโทษกรรม" แบบไหน?

. เขียนโดย isranews


หลังจากทำงานมาได้ 4 เดือน ในวันอังคารที่ 13 มี.ค.นี้ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร” ที่มี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน จะนัดประชุมกรรมาธิการทั้งหมดเพื่อลงมติชี้ขาดถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง เป็นข้อเสนอ ส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ว่า แนวทางไหนเหมาะที่สุดในปัจจุบัน

การลงมติครั้งนี้จะพิจารณาจากข้อเสนอของ “สถาบันพระปกเกล้า” ที่กรรมาธิการมอบหมายให้ไปศึกษาแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า รายงานชิ้นนี้ มาจากการศึกษาจากทั้งเชิงทฤษฎี กรณีศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างความปรองดองในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเอกสารมีความหนา 100 กว่าหน้า

ข้อเสนอปรองดองของสถาบันพระปกเกล้ามี 2 ทางเลือก คือ 1.นิรโทษกรรมในทุกกรณี และ 2. นิรโทษกรรมแต่เว้นผู้ที่กระทำความผิด โดยในแต่ละทางเลือกจะมีความเห็นทั้งผลดีและผลเสียเสนอประกอบไปให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณา สำหรับ คณะกรรมาธิการวิสามัญปรองดองฯ มีจำนวน 38คน แม้จะมาจากทุกพรรค แต่ส่วนใหญ่เป็นกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยตามสัดส่วนเสียงข้างมากในสภา

“ทีมงานปฏิรูป” คัดสาระสำคัญในงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามานำเสนอตามข้อมูลข้างล่าง

----
1. การจัดการกับความจริง - จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ พบว่า ภาพรวมการจัดการกับความจริงมักมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่สอบสวนหาความจริง ยกเว้นกรณีประเทศโบลิเวียที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการในด้านการหาข้อเท็จจริง เนื่องจากสังคมได้ลงประชามติให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือใน อาเจะห์แม้จะมีข้อตกลงร่วมกันที่จะหาข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น

งานวิจัยมีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการกับความจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ว่า

- ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะภายในเงื่อนเวลาที่เหมาะสม

- การกำหนดให้เปิดเผยข้อเท็จจริง ควรเป็นการศึกษาเพื่อเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

- จะต้องไม่มีการระบุตัวบุคคลในเหตุการณ์ต่างๆ

- เพื่อให้ศึกษาปรากฎการณ์ สังคมจะได้เรียนรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการสร้างฉันทามติร่วมกันเพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

- สนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ค้นหาความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสียให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน

- หน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความร่วมมือกับ คอป. ในการตรวจสอบค้นหาความจริง ต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้น

2. การให้อภัย ผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย

ทางเลือกที่หนึ่ง - ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน

ทางเลือกนี้ถือเอาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดเป็นตัวตั้ง และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยนิรโทษกรรมทั้งคดีการกระทำความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ให้ถือเสมือนว่า ไม่เคยมีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นมาก่อนเลย หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้องแล้วแต่กรณีนั้นเสีย แต่หากได้ถูกฟ้องร้องต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องดำเนินการถอนฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้องเมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีไปและสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วย หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำหรือ หากผู้กระทำความผิดกำลังรับการลงโทษก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและให้ถือเสมือนว่า ผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดมาก่อน ศาลจะพิพากษาเพิ่มโทษโดยอ้างว่า เป็นการกระทำความผิดซ้ำไม่ได้ จะไม่รอการลงโทษหรือไม่รอลงอาญาก็ไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่า ผู้นั้นไม่เคยกระทำความผิดใดๆมาก่อน เป็นการลบความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้สังคมเดินต่อไปได้

ลักษณะการนิรโทษเช่นนี้มีปรากฎในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง เช่น เกาหลีใต้ โมร็อคโค ซึ่งเน้นไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง

ข้อดี

- ไม่เป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ซึ่งการยกเลิกความผิดไปทั้งหหดจะเป็นการลด “เงื่อนไข” ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทุกฝ่ายได้

- สังคมต้องการความสงบสุข และเดินหน้าต่อไปได้

ข้อสังเกต

- ลำพังแต่การนิรโทษกรรมนั้น มีผลในด้านการยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายเท่านั้น แต่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทางอื่นนั้นก็ยังมีอยู่ จึงควรร่วมกับกระบวนการอื่น เช่น การเยียวยาความเสียหาย ซึ่งการดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรมนี้มีหลายประเทศ เช่น ในชิลีมีการจ่ายค่าชดเชยและมีมาตรการเยียวยา หรือ ในโมร็อคโคที่มีการตั้งคณะกรรมการรับฟังความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

- ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจยังไม่พอใจ และต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำผิด รวมทั้งการขอโทษจากคู่กรณีเพราะการนิรโทษกรรมจะเป็นการ “ลบ” ทางของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดมารับผิดชอบการกระทำของตัวเอง ด้านหนึ่ง การนิรโทษกรรมเช่นนี้เป็นการปลดข้อจำกัดที่สังคมจะเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ต้องพะวงกับความผิดของผู้เกี่ยวข้อง แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการทิ้งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้ถูกกระทำในบางกรณี เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่อาจเรียกร้องการเอาโทษต่อผู้กระทำความผิดได้อีกแล้ว

- การนิรโทษกรรมโดยเนื้อแท้คือ การ “ไม่ต้องรับผิด ในสิ่งที่ผิด” หากเลือกใช้กระบวนการนี้จะไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาด และอาจก่อให้เกิดความเคยชิน ต่อการไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น หากไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์และทำความจริงให้ปรากฎ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันได้อีกเรื่อยๆ ในหลายประเทศจึงต้องมีกระบวนการค้นหาความจริงควบคู่ไปด้วย เช่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร รวันดา ทางเลือกที่สอง – ออกพรบ. นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลานทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนข้อดี

- เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินในช่วงเวลาหลายปี โดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา ที่มีเพียงมาตรการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพปัญหา

การแยกส่วนของมูลเหตุจูงใจทางการเมืองออกจากคดีอาญาปกติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ย่อมเป็นการรักษาคุณธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้ปะปนกับความรับผิดกชอบที่มีมูลเหตุทางการเมือง ลักษณะเช่นนี้จึงคล้ายกับปรากฎการณ์ในการแก้ปัญหาในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และผู้ถูกคุมขังที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกกลุ่มก่อการร้ายโดยมีคำสั่งปล่อยโดยประธานาธิบดี แต่ไม่รวมถึงคดีที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป

- สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นเจตนาพิเศษที่ควรได้รับการเคารพตามแนวทางเสรีประชาธิปไตย เป็นการตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวขเองกับการทำผิดที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมออกไป

- สิทธิของประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบได้รับการคุ้มครอง

ข้อสังเกต

- เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดอง เพราะเป็นเพียงการลดปริมาณของความขัดแย้งลง โดยยังคงมีผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำทั้งของตนเองและผู้อื่นอยู่

- การกำหนดแยกฐานความผิดที่ยึดโยงกับเรื่องการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะต้องมีการพิสูจน์เจตนาพิเศษว่าเป็นการกระทำเพราะการเมือง ผลที่ตามมาของการแยกเจตนาทางการเมืองออกจากเจตนากระทำผิดอาญาปกติไม่ชัดเจน อาจทำให้คนที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมยังต้องถูกลงโทษอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ทั้งสองทางเลือกควรไม่ให้มีการนิรโทษกรรมกรณีความที่เกียวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกง่ายต่อการเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในอนาคต นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด เห็นควรว่า ไม่ควรรวมกรณีการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ต้องอยู่ในกระบวนนิรโทษกรรมโดยให้กรณีดังกล่วเข้าสู่กระบวนยุติธรรมตามปกติ

3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคตส.

ทางเลือกที่หนึ่ง – ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ปปช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่สิ้นสุดแล้ว

ข้อดี
- กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรง

- สังคมไม่รู้สึกว่า เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีทั้งยกฟ้องและพิพากษาว่า มีความผิดตามข้อกล่าวหา

- สร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการ

- สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดำเนินต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการยกเลิก เพิกถอนใดๆ

ข้อสังเกต

การยึดหลักการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (ประกาศคมช.มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย) โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม จะมีผลต่อความเป็นธรรมของสังคม

ทางเลือกที่สอง - ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยให้ถือว่า คดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ข้อดี
- คืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม

- ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบกลับคืนมา

- ผู้ถูกตัดสินตามคำพิพากษา และมวลชนผู้สนับสนุนรู้สึกได้ว่า ได้รับความเป็นธรรม (คืนมา)

- สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย

ข้อสังเกต

- บางคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีสองครั้ง

- พยานหลักฐานในคดีอาจไม่ครบถ้วน ซึ่งมีผลต่อคำพิพากษาของศาล

ทางเลือกที่สาม – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง


ข้อดี

- ขจัดความเคลือบแคลงและไม่เชื่อมั่นในจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขาดความชอบธรรมในด้านที่มาของอำนาจ

- สถาบันตุลาการถูกกันออกจากจุดที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย ทำให้ดำรงรักษาความเป็นกรรมการกลางที่เป็นอิสระได้

- สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย

ข้อสังเกต

- ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม

- ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมบางฝ่ายยังดำรงอยู่

- การสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่า ผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดหรือไม่

4. การกำหนดกติกาทางการเมืองซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลัก/รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ควรแก้ไข

- การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และ องค์กรอิสระ

ปัญหาการจัดระบบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นกลไกหลักของการปกครองประเทศ ก็เป็นปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความขัดแย้งในปัจจุบัน เช่น การที่รัฐธรรมนูญ 2540 มีเจตนารมณ์ที่จะแบ่งแยกอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกจากกัน โดยให้ สส.ที่เป็นฝ่ายบริหารต้องลาออกจากตำแหน่ง และ การที่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ สส.หลายคนต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อ สส.คนใด ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในสภาได้อีก ทำให้รัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจในวิถีทางที่ผิดจากแนวทางของนายกรัฐมนตรี

ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านยังเห็นว่า กติกาทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่อาจแก้ปัญหาการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารหรือปัญหาการที่ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระได้น้อย อันเป็นปัญหาเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการเสียงข้างมาก รวมทั้งการที่องค์กรอิสระต่างๆ ถูกมองว่ามีการแทรกแซงการทำงานและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายคู่ขัดแย้งต่างๆอยู่ จึงควรมีการระดมความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับกติกาที่จะลดปัญหาดังกล่าว

- การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบองค์กรสรรหาองค์กรอิสระ

ปัญหาการได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าสู่การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีปัญหาว่า องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถูกแทรกแซง และล้มเหลวในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางส่วน มีที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามาจากตัวแทนองค์กรตุลาการเป็นส่วนใหญ่

แม้ชื่อเสียงของกรรมการสรรหาจะเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ได้มีส่วนร่วมในการสรรหาบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะระบบได้มาซึ่งผู้พิพากษา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของคณะกรรมการสรรหาองค์กรเป็นระบบปิด ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจตุลาการ ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้ไปเป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จึงเท่ากับประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และไม่มีช่องทางตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจในการคัดเลือกได้ จึงมีข้อถกเถียงกันว่า กระบวนการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในด้านที่มา และกระบวนการทำงานขององค์กรที่จะให้มีองค์กรอิสระนั้น ตรวจสอบได้ยากและมีการยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก

- การยุบพรรคการเมืองโดยง่าย

จากการยื่นเสนอให้มีการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองจะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันในระบบการเมืองได้ถูกทำลายลง ซึ่งการยุบพรรคโดยเฉพาะพรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้มีผู้แทนในสภา เพียงเพราะเหตุกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ทำหน้าที่บางอย่าง

5. การสร้างการยอมรับต่อมุมมองประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน

กรณีนี้เป็นการจัดการด้านกระบวนทัศน์ของสังคมโดยเฉพาะในเรื่องความเห็นร่วมกันในคุณลักษณะของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการพิจารณาถึงกติกาการเมืองที่เป็นธรรม ผ่านการพิจารณาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายแม่บททางการเมืองไทย ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นร่วมกันผ่านกลไกหลักในระดับชาติ ด้วยความร่วมมือจากคนไทยทั้งชาติ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อค้นหาจุดร่วมกันของสังคม ซึ่งจะกลายเป็นค่านิยมร่วมกันของสังคม

6. การวางรากฐานประเทศเพื่อความเป็นธรรม

ในการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น คณะผู้วิจัยมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่เสนอว่า “ความล้มเหลว” ของประเทศไทย เกิดจาก ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกมิติ ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแกนนำหลักที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ด้วยเหตุนี่จึงต้องมีการปรับ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้นและมีความเท่าเทียมกัน ทั้งทรัพยากรในรูปแบบกายภาพ และ ทรัพยากรทางอำนาจ โดยคณะกรรมการปฏิรูปได้แบ่งทรัพยากรออกเป็น 4 ประเภท คือทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรทางสังคม ทรัพยากรทางการเมือง อันนำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ตามทรัพยากรแต่ละประเภท

ข้อเสนอของ คปร. เน้นไปที่เครื่องมือหลักๆ สองเครื่องมือ ได้แก่ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดิน การบริหารทรัพยากรแร่โดยหลักการความเป็นหุ้นส่วนสาธารณะ การกระจายการบริหารจัดการน้ำ ทะเล และชายฝั่งให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น การปรับโครงสร้างการบริหารการเมือง การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ การลดการรวมศูนย์และการมุ่งเน้นการกระจายผลประโยชน์ การกระจายความเป็นธรรมเพื่อแก้ปัญหาในการชดเชยโอกาสที่ผู้ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม การสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง

แนวทางการสร้างความปรองดอง จะต้องเป็นแนวทางที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาล ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลักในการสื่อสารสังคมเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างให้เกิดบาดแผลและความเจ็บช้ำให้กับสังคมจึงต้องพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก เช่น การยกย่องให้เกียรติผู้สูญเสีย หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย เช่นเดียวกับกรณีของโคลอมเบีย โมรอคโค รวันดา แอฟริกาใต้ ชิลี เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ซึ่งได้สร้างบรรยากาศใหม่ที่มุ่งเน้นให้คนชาติมองถึงอนาคตร่วมกัน

นอกจากนี้สังคมจะต้องร่วมมือในการงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ เช่น การใช้มวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ไม่ว่า องค์กรตุลาการ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการ หรือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย การยกเลิกการก่อตั้งหมู่บ้านมวลชน เนื่องจากเป็นปมขัดแย้งหลักที่สำคัญในสังคม ทั้งนี้เพื่อลดความกดดันต่อหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างกันเพื่อให้ระบบของความยุติธรรมสามารถดำเนินการต่อไปโดยปราศจากความตรึงเครียดเพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการยุติธรรม

ทุกฝ่ายควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติความเคลื่อนไหวใดๆที่อาจถูกตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันที่อยู่ในความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นที่รักหวงแหนยิ่งของประชาชนคนไทย

รธน.ไทยมีเอาไว้ให้พวกโสณทุจริตฉีก เพราะไม่สามารถเอาผิดทุจริตเชิงนโยบายได้

โดยแทน ราศนา

เหตุผลสำคัญที่นำมากล่าวอ้างเพื่อทำการฉีกรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ก็คือ การบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ของรัฐบาลก่อน เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นอย่างมากมาย โดยมีผู้นำประเทศ บริวารและญาติโกโหติกาพากันรุมแทะทึ้งทรัพย์สมบัติแผ่นดินที่ตนเองได้รับมอบหมายจากประชาชน จากสังคมให้เข้าไปจัดการดูแล จนสังคมรับพฤติกรรมผลาญชาติอย่างนั้นไม่ไหว ความไม่พอใจของสังคมกลายเป็นถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ที่ทำให้กลุ่มคนหลากหลาย นับตั้งแต่ “ฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น และฝ่ายคุ้ย” ต่างเข้ารุมสกรัมยิงธนูเพลิงเข้าใส่ สุดท้ายฝ่ายคว้า คือคมช.ตัดสินใจทำรัฐประหาร น่าที่จะได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า เป็นการทำรัฐประหารที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หากเปรียบประเทศเป็นเสมือนบ้านหนึ่งหลัง ประชาชนผู้เป็นลูกบ้านหรือคนอยู่ในบ้าน ได้มีฉันทามติให้เลือกนายกรัฐมนตรี อันเปรียบเสมอพ่อบ้านเข้าไปจัดการดูแลทรัพย์สินแผ่นดินหรือตัวบ้านให้เกิดความมั่นคงตรงตั้ง พ่อบ้านมีหน้าที่จะต้องคอยทำนุบำรุงบ้านเรือนที่อยู่ร่วมกันให้อยู่เย็นเป็นสุข ดูแลความมั่นคง ความปลอดภัย กระทั่งแสวงหาแนวทางใดก็ตามที่จะสร้างความมั่งคั่งแข็งแรงให้กับบ้านเรือนอันเป็นสินทรัพย์ส่วนรวม

การณ์ได้ปรากฎชัดแล้วว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้นได้สมคบกับบริวารตัดริดเสาเรือนออกขายให้แก่คนต่างชาติต่างภาษาทีละต้นสองต้น เหล่าบริวารก็ได้เข้าร่วมสมาคมรื้อกระเบื้องมุงหลังคาออกขาย กระทำตนเป็นมอดไม้รุมเจาะไชขื่อแป เป็นงานโยธาธิการที่แสดงออกถึงการมุ่งโสณทุจริตประเทศอย่างโจ่งแจ้ง

มีการวางแผนคอร์รัปชั่นที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่เรียกกันว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย”

เป็นความผิดที่ตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ไม่สามารถเอาผิดได้ ไม่สามารถกระชากคอนักการเมืองผู้วางนโยบายอันทำให้เกิดความผิดพลาดในการบริหาร เป็นผลให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปนับหมื่นนับแสนล้านบาทเข้าคุกได้แม้แต่รายเดียว

อดีตผู้นำประเทศที่แม้จะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย นักการเมืองและบริวารที่ร่วมกระทำการโสณทุจริตยังคงลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม และยังได้กลับมามีอำนาจผ่านการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความทุจริตซึ่งได้รับการรับรองจาก กกต.(กรรมการรับรองการโกงการเลือกตั้ง)

ปรากฏการณ็ดังนี้ นอกจากได้แสดงออกถึงช่องว่างทางกฎหมาย ความขาดหายในทางประสิทภาพของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังได้สะท้อนถึงคุณภาพนักการเมืองของประเทศไทย ที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดกล่าวพาดพิงไปถึง นอกเสียจากการพะวักพะวนสนใจอยู่กับการมุ่งเน้นนับจำนวนและวิธีการที่จะได้มาในเชิงปริมาณ

ประเด็นคุณภาพของนักการเมืองในระบอบที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นปมปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และจะเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้ใหม่และฉบับต่อๆไปขาดหลักประกันถึงความยั่งยืน เสี่ยงต่อการถูกฉีกทิ้งเหมือนฉบับเดิมๆ

และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ เนื้อแท้ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนายทุนใหญ่ จึงไม่มีมาตรการกำกับการโกงกินหรือการทุจริตเชิงนโยบาย อันเป็นวิธีการที่พวกเขาใช้ในการขูดรีดสังคมและเอารัดเอาเปรียบคนทั้งประเทศ

การเอาผิดกับนักการเมืองที่กระทำโสณทุจริตต่อประเทศในเชิงนโยบายจึงน่าจะเป็นเป้าหมายหลักในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ควรมีเพียงการป้องกันหรือกีดกันนักการเมืองผู้ทุจริตไม่ให้เข้าสู่ระบบเลือกตั้ง หากจะต้องมีมาตรการปราบปรามควบคู่ คือจะต้องมีหลักการอันเป็นแม่บทเอื้อให้องค์กรอิสระหรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเอาผิดกับนักการเมืองที่ทุจริตเชิงนโยบายได้โดยง่าย และโอกาสก็ผ่านไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

การโค่นล้มระบอบทักษิณลงไปได้โดยง่ายดายเพราะประชาชนเห็นชัดแล้วว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้นและพวกพ้องกระทำโสณทุจริตต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง แต่นับเนื่องมาจากวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา เป็นเพราะคมช.และรัฐบาลชุด คมช.ยังไม่สามารถเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและบริวารได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการเรียกร้องให้นำอดีตนายกรัฐมาตรีกลับประเทศ ขบวนการนี้เติบใหญ่เข้มแข็งขนกระทั่งสามารถบีบให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องยุบสภา นำมาซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่ และพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทยของอดีตนายกรํฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ก็ได้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อดีตนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวพ้นจากความผิดในคดีที่สามารถดำเนินการได้โดยกฎหมายและอีกหลายคดีที่ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะเป็นการ “ทุจริตเชิงนโยบาย”

โอกาสของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิดกับการ “ทุจริตเชิงนโยบาย”ได้สิ้นสุดไปนานแล้ว การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ ของพรรคเพื่อไทย จะไม่เพียงแต่ไม่มีกฏหมายแม่บทที่จะให้สามารถเอาผิดการทุจริตเชิงนโยบายได้แล้ว ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการผูกขาดอำนาจที่จะทำให้เกิดอภิสิทธิ์เหนือรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ต่อการฉ้อฉล อำนวยประโยชน์ให้กับการปกครองของทุนที่ได้ครอบงำการเมืองไปแล้วอย่างเบ็ดเสร็จ



มันไม่มีความต่างกับข้อกล่าวหาเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งของรัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืนแต่อย่างใด และคำกล่าวที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย แน่แท้ไซร้ ย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น” ก็ยังคงเป็นสัจจธรรมอยู่เสมอ โจทย์ใหญ่ของขบวนการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยในประเทศไทยก็คือ อีกสักเมื่อไหร่จึงจะก้าวออกจากกรอบคิดที่ว่า มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญใหม่คือการพัฒนาประชาธิปไตย ??..




"แม้ว"เหิมโชว์บทผู้นำตัวจริง รุกคืบแก้รธน.ท้าทายพลังมหาชน

(แนวหน้าวิเคราะห์)


รัฐบาลทักษิณส่วนหน้าภายใต้การนำของนายกฯนกแก้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าเป็นแค่รัฐบาล หุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณ และเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะที่เป็นนายใหญ่ตัวจริงโดย ในการวีดีโอลิงค์มายังเวทีปราศรัยการชุมนุมคนเสื้อแดง หลายหมื่นคน ที่โบนันซ่ารีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวชื่นชมที่ร่าง แก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ยกร่าง รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับของรัฐบาลผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ขณะเดียวกันก็ปลุกขวัญมวลชนคนเสื้อแดงให้ยอมตายเพื่อระบอบ ทักษิณด้วยการส่งสัญญาณสั่งการ ไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผู้เป็นน้องสาว ว่าจะต้องมีการจ่ายเงินเยียวยาปูนบำเหน็จแก่คนเสื้อแดงที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ก่อการร้ายเผาบ้าน ทำลายเมืองจนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สามารถช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา ได้สำเร็จภายในเวลา 3 เดือน

หลังคำประกาศิตของ พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็สนองคำสั่งในทันทีทันใดโดยล่าสุด คณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2553 โดยอ้างแบบ ตีขลุมว่าเพื่อสร้างความปรองดอง ทั้งๆ ที่เป้าหมายแอบแฝง ที่แท้จริงเพื่อเป็นการปูนบำเหน็จให้เหล่ากองกำลังคนเสื้อแดง ที่ร่วมเหตุการณ์เผาบ้านทำลายเมืองให้มีขวัญกำลังใจยอมขายชีวิตแลกกับเงินก้อนโตสู้เพื่อระบอบทักษิณต่อไป

มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ สร้างบรรทัดฐานอันเลวร้ายเพราะกลายเป็นว่าม็อบที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นก่อการร้ายเผาบ้านทำลายประเทศเพื่อระบอบทักษิณกลับได้รับรางวัลตอบแทนอย่างงาม โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งบงการอยู่เบื้องหลังม็อบคนเสื้อแดง กลับใช้อัฐยายซื้อขนมยายด้วยการสั่งการผ่านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ใช้งบประมาณแผ่นดินปูนบำเหน็จแก่คนเสื้อแดงที่ทำร้ายประเทศยอมขายชีวิตเพื่อตัวเอง

ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลทักษิณส่วนหน้าอาศัยพวกมากลากไปเดินตามแผนรุกคืบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อลบล้างโทษความผิดทั้งหมดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทรัพย์สิน 46,000 ล้านบาท ที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินคืน รวมทั้งแผนที่จะรื้อโครงสร้างเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ด้วยการ ลดอำนาจบทบาทของสถาบันหลักต่างๆ ของชาติที่เป็นอุปสรรคขวากหนามในการแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลเพื่อ ยึดครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบทักษิณ โดยเฉพาะ สถาบันศาล องค์กรอิสระต่างๆ และอาจรวมถึงกองทัพ

ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์พิเศษทีมงานของหนังสือพิมพ์ในเครือบางกอกโพสต์ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลง อำนาจบทบาทของศาลตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ ขณะที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาขานรับสัญญาณของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยย้ำว่าต้องมีการรื้ออำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระครั้งใหญ่เพื่อให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเกิด ความเที่ยงธรรมซึ่งก็สอดคล้องกับสัญญาณของบรรดาแกนนำพรรค เพื่อไทยก่อนหน้านี้โดยเฉพาะ นายวัฒนา เมืองสุข สส.บัญชีรายชื่อ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย

จากท่าทีของพรรคเพื่อไทยตลอดช่วงที่ผ่านมามีสัญญาณชัดเจนว่ามุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านส.ส.ร.ร่างทรงเพื่อรื้ออำนาจบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือแม้แต่ศาลยุติธรรมโดยมีแนวคิดกำหนดให้ประธานศาลฎีกาจากเดิมที่คัดเลือกกันเองในหมู่ตุลาการมา เป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนองค์กรอิสระซึ่งตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะถูกลดอำนาจบทบาทก็คือคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งสถาบันศาลและองค์กรอิสระ ทั้งหมดข้างต้นล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายอำนาจทาง การเมือง และเศรษฐกิจเพื่อผูกขาดอำนาจยึดครองประเทศของระบอบทักษิณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองที่เคยฝากรอยแค้นฝังลึกไว้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีตัดสินให้ยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งตัดสินให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก

นักวิเคราะห์มองว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรื้ออำนาจบทบาทของสถาบันศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ก็เท่ากับเป็นการทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมืองอย่างสิ้นเชิงซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมากและเป็นการนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง

จากความพยายามที่จะดันทุรังใช้พวกมากลากไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เกิดกระแสคัดค้านต่อต้านอย่างกว้างขวางจนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอว่าเพื่อเป็นการถอดชนวนความขัดแย้งและเป็นการสร้าง หลักประกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่แตะต้องในประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้นควรที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ชัดเจนในร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญว่าจะไม่มีการแตะต้องใน 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องอ่อนไหวคือ 1.หมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ 2.หมวดว่าด้วยศาล และองค์กรอิสระ และ 3.ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ชมรม ส.ส.ร.50 ซึ่งเป็นอดีตส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำโดย นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ออกมาเคลื่อนไหวและเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 291 บัญญัติให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบางมาตราบางหมวดเท่านั้น ไม่ได้ให้คนนอก มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับซึ่งเท่ากับ ล้มล้างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

นายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในชมรมส.ส.ร.50 ชี้ว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ต่างอะไรจากการรัฐประหารยึดอำนาจประเทศโดยเผด็จการรัฐสภา และเข้าข่ายความผิดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญซึ่งพรรคการเมืองที่ร่วมแก้ไขมาตรา 291 อาจได้รับโทษถึงขั้นยุบพรรคฐาน ล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย

ขณะที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำ กลุ่มเสื้อหลากสี เตรียมยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหากศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็น โมฆะทันที

นอกจากนี้ยังเตรียมยื่นเรื่องเพื่อดำเนินคดีอาญาและให้ยุบพรรคการเมืองที่รับหลักการแก้ไขมาตรา 291 ด้วย

ด้านพลังประชาชนหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีการประชุมแกนนำจากทั่วประเทศประกาศเดินหน้าคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างถึงที่สุด

แม้จะเกิดกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จน อาจนำไปสู่วิกฤติของประเทศ แต่พ.ต.ท.ทักษิณดูเหมือนจะไม่ใส่ใจ แม้แต่น้อย และยังคงมุ่งเดินหน้าด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกอย่าง จะ เป็นไปตามแผนที่ตัวเองวางไว้ โดยเขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้แสดงความมั่นใจอ้างว่าเขาจะเดินทาง กลับประเทศไทยได้ภายในสิ้นปีนี้ และอ้างด้วยว่าคนไทย 66 ล้านคน สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวต่างชาติถามว่า หากเดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่รับโทษจำคุก 2 ปีตามคำพิพากษา ของศาลจะสร้างความสมานฉันท์ได้อย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ กลับอ้างหน้าตาเฉยว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร จากท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนอกจากสะท้อนความเป็นผู้นำตัวจริงของรัฐบาลและบงการอยู่เบื้องหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองแล้ว ยังเป็นการท้าทาย พลังมหาชนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีวาระแอบแฝงครั้งนี้

ทีมข่าวการเมือง
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง