โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
ในบรรดาเศรษฐศาสตร์หลายปีกหลายสำนัก สำนักหนึ่งที่เห็นจะกล่าวถึงกันบ่อยก็คือสำนักเสรีนิยม นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้มีมุมมองต่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องการให้ “ลดการควบคุม (deregulation)” โดยมีเหตุผลว่า การควบคุมที่เข้มงวดมากจนเกินไปนำมาสู่ความขาดประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยรัฐบาลได้ง่าย ยกตัวอย่างนะครับ เช่น หากรัฐบาลเข้าไปสร้างให้เกิดการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวดมากๆ ทำให้การเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายมีต้นทุนสูง แรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็จะเข้ามาทำงานในประเทศแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น ก็จะต้องปรับลดอุปสรรคหรือเงื่อนไขที่ไปก่อให้เกิดความยุ่งยากโดยใช่เหตุเหล่านี้ลง
นักเศรษฐศาสตร์เรียกการสร้างอุปสรรคหรือการกำกับดูแลที่ “มากเกินไป” ของรัฐบาลเหล่านี้ว่า “เทปสีแดง (red tape)” เทปสีแดงนอกจากจะทำให้เกิดความล้มเหลวของนโยบาย (เช่นตัวอย่างข้างต้นก็คือ รัฐบาลต้องการให้แรงงานเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายแต่ด้วยเทปสีแดงทำให้แรงงานเลือกที่จะเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายแทน) เทปสีแดงยังก่อให้เกิดปัญหาการแสวงหากำไรเกินปรกติ (ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ) กล่าวคือ เมื่อมีเทปสีแดงมากๆ การแข่งขันก็จะลดลง (less competitive) การแข่งขันที่ลดลงจะทำให้ตลาดกลายเป็นตลาดแข่งขันน้อยราย หรือตลาดผูกขาด เมื่อมีการผูกขาดเกิดขึ้นผู้ขายก็สามารถโขกกำไรจากผู้บริโภคได้อย่างงาม ในขั้นนี้จึงมองได้ว่า รัฐบาลสร้างเทปสีแดง เทปสีแดงสร้างกำไรหรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
เมื่อเทปแดงสามารถสร้างกำไรเกินปรกติได้ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ควบคุมเทปแดงโดยตรงก็สามารถที่จะระบุได้ว่า ใครจะได้กำไรไป เช่น สมมติรัฐบาลใช้อำนาจรัฐที่มียึดป่าที่เคยเป็นสินทรัพย์ส่วนรวม (commons) มาเป็นของรัฐ (nationalization) หลังจากนั้นรัฐบาลก็เอามาประมูลขายโดยให้เอกชนรายเดียวเท่านั้นได้สิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่า แต่รัฐบาลไม่ได้เปิดให้เกิดการประมูลอย่างเสรี รัฐบาลใช้วิธีการเข้ามากำหนดเสป็คของผู้รับสัมปทานสูงมากจนกระทั่งในทางปฏิบัติแล้วมีเอกชนเพียงรายเดียว หรือสองรายเท่านั้นที่สามารถจะประมูลการใช้ประโยชน์จากป่าได้ นัยนี้การที่รัฐเข้ามากำหนดเสป็คสูงมากไปจึงเป็น “เทปสีแดง” และเทปสีแดงที่เกิดขึ้นมา จะสามารถบอกได้เลยว่า ใครจะได้รับสัมปทานไป นัยนี้ เทปสีแดงจึงมักมาควบคู่ไปกับการคอรัปชัน
นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจำนวนมากจึงเกลียด / กลัว เทปสีแดงนี้ และในพุทธทศวรรษที่ 2530 แนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นกระแสที่ใหญ่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในนามของ ฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) โดยองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวมีรองประธานคือ Anne Krueger นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เก่งกาจในเรื่องการวิเคราะห์กำไรเกินปรกติ/ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (มีเทปสีแดงเป็นสาเหตุการเกิดค่าเช่าฯ) (ธนะพรพันธุ์, 2548)
หากเว้ากันในภาษาชาวบ้านหลักสำคัญของเสรีนิยมที่ว่าต้องการการกำกับดูแลน้อยที่สุดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนั้น “เส้นแบ่ง” ควรอยู่ที่ตรงไหน? เทปสีแดงควรจะหนาได้แค่ไหน? เกษียร เตชะพีระ เคยแนะแนวทางเอาไว้ว่า “ตามหลักปรัชญาเสรีนิยม เหตุผล 2 ประการที่ส่วนรวมจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้คือ 1. เพื่อปกป้องตัวเอง 2. เพื่อไม่ให้คนอื่นถูกทำร้ายเสียหาย เช่น ไม่ให้ขับรถเร็วเกินไป (ต่อให้เป็นรถของตัวเอง) ไม่ให้พกปืนเดินเพ่นพ่านในที่สาธารณะ (ต่อให้เป็นปืนของตัวเอง) ไม่ให้พกของมีคมขึ้นเครื่องบิน (ทั้งที่เป็นสมบัติของตัวเอง) ฯลฯ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับ 2 ประการนี้แล้ว คุณทำไปเลยแล้วดูแลรับผิดชอบตัวเอง ดีเอง เลวเอง ได้เอง เสียเอง คนอื่นไม่เกี่ยว” (เตชะพีระ, 2555) หากกล่าวในภาษาเศรษฐศาสตร์คงต้องกล่าวว่า “ทำไปเถิด… ตราบที่การกระทำดังกล่าวไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะในทางลบ (negative externality)”
เรื่องที่ผมจะชวนผู้อ่านทุกท่านคิดก็คือ… ถ้านักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมอย่าง John Williamson มาเห็นการบังคับให้ผู้ขับขี่จักรยานยนตร์ต้องใส่หมวกกันน็อก แล้วนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจะมองเรื่องนี้อย่างไร? (นับเป็นซีรี่ยส์เอาเศรษฐศาสตร์มามองเรื่องชาวบ้านๆ อีกชิ้นหนึ่งหลังจากฉบับก่อนชวนผู้อ่านทุกท่านคิดไปแล้วว่า เราควรสนับสนุนการล็อกล้อ หรือลากรถดี)
เมื่อพิเคราะห์ดู (สวมแว่นตานักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม) การบังคับให้ผู้ขี่จักรยานยนตร์ใส่หมวกกันน็อก ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ต้องย้ำนะครับว่าเป็นมุมองด้านหนึ่งเท่านั้น) เหตุผลก็เพราะอย่างนี้ครับ ในด้านหนึ่ง การจะใส่หมวกกันน็อกหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าไปกำกับ หรือกำหนด เพราะการจะสวมหรือไม่สวมหมวกกันน็อกก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ขับขี่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ส่งผลกระทบไปถึงผู้อื่นเลย (ไม่เหมือนการเมาแล้วขับ หรือการสูบบุหรี่ที่คนโดยรอบได้รับโทษจากความประมาทของผู้ขับหรือผู้สูบไปด้วย) นัยนี้การที่รัฐเข้าไปบังคับเรื่องการจะสวมหรือไม่สวมหมวกกันน็อกจึงเป็นเรื่องที่ “เกินเลย” หรือเป็นเทปสีแดง
หลายท่านอาจจะมองว่า “ก็มันเป็นประโยชน์นี่หน่า อย่างน้อยก็ไม่มีใครเสียประโยชน์อะไร แม้จะรำคาญใจอยู่บ้างที่รัฐบาลมากำหนดเรื่องเช่นนี้แต่ก็น่าจะทำให้คนตายน้อยลง คนที่โดนบังคับให้สวมใส่หมวกกันน็อกก็ได้รับประโยชน์ในแง่นี้ด้วย” ทว่า… ในความเป็นจริงแล้ว การที่รัฐบาลเข้ามากำหนดอย่าซีเรียสว่าประชาชนทุกคนควรใส่หมวกกันน็อกถึงขั้นออกกฎหมายเอาผิดนั้นมีผลร้ายในแง่เศรษฐศาสตร์เสรีนิยมในสองระดับด้วยกันครับ
ประการแรก การสร้างเทปสีแดง ซึ่งในที่นี้คือการออกกฎหมายมากำกับพฤติกรรมการขับขี่ว่าจะต้องสวมใส่หมวกกันน็อกเท่านั้น นำมาสู่ปัญหาคอรัปชัน เพราะ เมื่อมีการละเมิดกฎหมายไม่ยอมสวมใส่หมวกกันน็อก การใช้ดุลยพินิจในการตัดสินว่าจะปรับหรือปล่อยนั้นเป็นของเจ้าพนักงาน เทปสีแดงนี้จึงยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของเจ้าพนักงาน (discretionary red tape) ทำให้เกิดการจ่ายสินบนได้ง่าย แต่ปัญหานี้เป็นเพียงปัญหาทางอ้อม คือไม่ได้แปลว่าการแก้ไขปัญหาคอรัปชันคือการยกเลิกกฎหมายที่รัฐเข้ามากำกับดูแล (ไม่เช่นนั้นคงต้องยกเลิกกฎหมายเสียหมด สำหรับประเทศไทย) ผู้เขียนเพียงแค่ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การเข้ามากำกับดูแลของรัฐมักมีช่องให้เกิดการคอรัปชันด้วยเสมอ
ประการที่สอง คือการสูญเสียทรัพยากร หมายความว่า ถ้าการเลือกที่จะสวมหมวกกันน็อกหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขตการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล การตัดสินใจนั้นไม่ได้ไปกระทบกับผู้อื่น ผู้ตัดสินใจเข้าใจความเสี่ยงและสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่ใส่หมกกันน็อกอย่างชัดเจน เรื่องนั้นก็ไม่น่าจะไปบังคับขู่เข็ญให้เขาต้องเลือกทางที่เขาไม่ต้องการจะเลือก แต่หากรัฐดึงดันที่จะบังคับ และต้องการบังคับให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงๆ รัฐบาลก็จะต้องเสียทรัพยากร (เช่นกรณีนี้ก็คือ เจ้าพนักงานที่จะต้องมาตรวจตราการใส่หมวก) การเสียทรัพยากรดังกล่าวจะไปกระทบกับภาระงานอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่าในแง่ที่ว่า เป็นงานที่ซีเรียสจริงๆ ถ้าไม่เข้าไปทำจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ยกให้เห็นภาพยิ่งขึ้นก็คือ แทนที่จะจัดสรรเจ้าพนักงานไปดำเนินการควบคุมระบบจราจรให้คล่องตัว ตรวจตราความปลอดภัยบนถนนทางหลวง ฯลฯ กลับต้องมาตรวจสอบเรื่องหมวกกันน็อก เป็นต้น
กล่าวเช่นนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดความสงสัยว่า “แล้วรัฐทำอะไรได้บ้าง?” ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม รัฐสามารถที่จะให้ข้อมูลที่ดียิ่งขึ้นได้ เช่น คำนวณอัตราการตายเทียบกันระหว่างผู้ประสบอุบัติเหตุแล้วสวมหมวกกันน็อกเมื่อเทียบกับกรณีไม่สวม ฯลฯ การให้ข้อมูลแล้วเคารพต่อการตัดสินใจของประชากรตนเองนั้นในแง่หนึ่งเป็นการยอมรับความมีวุฒิภาวะของประชาชน (maturity) และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการลดมุมมองแบบพ่อปกครองลูก หรือการใช้เผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งพยายามจะชี้สั่งตลอดเวลาว่าสิ่งนี้ดีและเจ้าก็ควรจะทำ ถ้าเจ้าไม่ทำก็จะถูกทำโทษ (เพราะถ้าไม่ทำโทษเจ้าอาจจะได้รับเภทภัยร้ายแรงกว่าที่เราทำโทษเจ้าเสียอีก) นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลทำได้และควรทำก็คือ การทำให้มั่นใจว่าคนทุกคนจะเข้าถึงหมวกกันน็อกได้หากต้องการ (accessibility) เช่นราคาต้องถูกเพียงพอ ต้องหาซื้อได้ไม่ยาก
และทั้งหมดนี้ก็คือ มุมองของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่มองเรื่องหมวกกันน็อกใบหนึ่ง แล้วเห็นเทปสีแดงหนาๆ คาดอยู่, ผู้อ่านทุกท่านหละครับเห็นยังไง?
วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน