บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

องค์กรสีขาว เปิดตัว “D Passport" หนุนคนดี ให้ได้สิทธิพิเศษสมัครงาน

“ดนัย จันทร์เจ้าฉาย” โชว์หนังสือเดินทางแห่งความดี สร้างมิติใหม่ ไม่พิจารณาเฉพาะเกรดเวลารับสมัครพนักงาน แต่จะเน้นความสำคัญกับการทำความดี กิจกรรมอาสา ด้าน “ผาณิต” ชี้ต้องยกย่องคนดี เชื่อช่วยขจัดความชั่วร้ายลงได้

วันที่ 16 มกราคม สำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีสีขาว และสถาบันการศึกษา เปิดตัว “หนังสือเดินทางแห่งความดี หรือ D Passport” ซึ่งเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนความดีในรูปแบบสมุดบันทึกการทำความดีทุกรูปแบบ เพื่อปลุกจิตสำนึกของเยาวชนให้มีจิตอาสา เสียสละ ซื่อตรง โปร่งใส โดย D Passport ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการสมัครงานกับเครือข่ายองค์กรภาคีสีขาว โดยจะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานเป็นอันดับต้นๆ

นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวเปิดงานว่า การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม หรือการสร้างคนดีนั้นต้องหล่อหลอมจากเนื้อใน เพราะการปรับจิตสำนึกให้คนไม่ดี กลับตัวเป็นคนดี เป็นเรื่องยาก

“การสร้างคนดีต้องสนับสนุน ขยายผลให้เกิดมากขึ้น คนดีที่ซ้อนอยู่ในสังคมต้องถูกนำมายกย่อง ไม่ใช่ด้วยการให้โล่รางวัลหรือเงิน แต่ต้องทำให้คนดีคงอยู่ต่อไป เพื่อขจัดความชั่วร้ายให้หมดไปจากสังคมไทย และหวังว่าการจัดอันดับการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจะดีขึ้นเป็นลำดับ”

นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานสำนักงานทูตความดีแห่งประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของ D Passport ว่า เวลาที่เราเดินทางไปต่างประเทศ มักถูกตรวจค้นอย่างหนัก จนศักดิ์ศรีแทบไม่เหลือ โดยเฉพาะผู้หญิงไทย นั่นเป็นเพราะภาพลักษณ์ของประเทศไทย อีกทั้งที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้มีเครื่องมือในการวัดผลหรือประเมินผลการทำความดีอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การออก D Passport จึงเป็นมิติใหม่ในการการันตีพฤติกรรมและอุปนิสัยในการทำความดี โดยจะการสะสมแต้มลงในสมุดบันทึกความดีที่ออกและรับรองให้โดยสถาบันการศึกษา ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ยื่นประกอบการฝึกงานหรือสมัครงานในองค์กรภาคีเครือข่าย โดยจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ

“D Passport เป็นโครงการที่เฟ้นหาคนดี ส่งเสริมคนดี โดยเชื่อว่า สิ่งที่คิด เชื่อ พูด ทำ และทำซ้ำจะซึมเข้าไปในจิตใจของผู้คน ส่วนมหาวิทยาลัยนำร่องที่จะเข้าร่วมโครงการมีทั้ง 15 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศรีปทุม ฯลฯ”

ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า คนที่ทำธุรกิจ เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องการคือ ความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งไม่ได้จากเครื่องไม้เครื่องมือ หรือความสามารถในการจ่าย แต่ต้องมาคนที่ทุ่มเท ทีมงาน พนักงานทุกคนที่มีใจ เห็นว่าองค์กรเป็นบ้านของตนเอง เพราะธุรกิจสำเร็จได้นั้น ไม่ได้มาจากผู้นำ ที่เป็น ‘ฮีโร่’ เพียงคนเดียว

ขณะที่นายวสันต์ โพธิพิมพานนท์ ประธานกรรมการ ทองหล่อ กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันการสร้างเด็กให้เป็นคนดีนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะบ้านเรายังสอนลูกแบบผิดๆ ทำอะไรส่วนใหญ่ก็ถูกดุว่าไม่ดี ขณะที่ข่าวสารส่วนใหญ่ก็นำเสนอแต่ข่าวร้าย ส่วนข่าวดีกลับเงียบหาย จนทำให้คนในประเทศวิตกจริต

นายวสันต์ กล่าวถึงความหมายของคนดี และการกระทำที่ดีว่า คนที่ไม่ทำความชั่ว หรืออะไรที่ไม่ดี ไม่ควรกระทำ ก็นับว่าเป็นคนดีแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่ทิ้งขยะ ต่อให้ไม่ไปกวาดถนนก็ถือว่า เป็นคนดี เพราะไม่ทำให้ถนนสกปรกตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกัน ถ้าคนไม่ตัดต้นไม้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปปลูกป่า

น.พ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า ความสุข สุขภาพ ความดี การประสบความสำเร็จ เป็นจิกซอว์เดียวกัน เพราะความดีกับความสุขมีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในศาสตร์การแพทย์ จิตที่ดีจะส่งพลังไปที่สมอง ขณะที่สมองจะสร้างสารเคมีส่งมาที่ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของร่ายกาย ทั้งนี้ การทำความดีนั้นต้องทำให้เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเข้าใจว่า ความดีสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชียร์

ส่วน ผศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ D Passport กล่าวว่า นิสิต นักศึกษามีพลังที่จะทำความดีอยู่ในตัวเอง อย่างเช่นในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา นักศึกษาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม มีการเผยแพร่เรื่องจิตสาธารณะเพิ่มเติมจากหลักวิชาการ ก็จะช่วยให้เกิดการสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ขณะที่ความดีต้องได้รับการพูดถึง ถูกนำมาเป็นตัวอย่างในสังคมมากขึ้น เพื่อสังคมที่มีสุข

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับองค์กรสีขาว ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนและภาคประชาสังคม กว่า 300 องค์กร ซึ่งมุ่งมั่นในหลักการ 4 ข้อ ได้แก่

1. ไม่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งปวง และปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกกรณี

2.เกณฑ์ในการรับสมัครพนักงานใหม่จะให้ความสำคัญกับการทำความดี กิจกรรมอาสา ไม่พิจารณาเฉพาะใบแสดงผลการศึกษาเท่านั้น

3.เกณฑ์ในการประเมินผลงานพนักงานประจำปี จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมอาสาที่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง

และ 4.เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาที่ทำความดีอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม หรือได้ผ่านโครงการฑูตความดีแห่งประเทศไทยเข้าฝึกงานหรือทำงานในองค์กร


เขียนโดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ หมวด isranews

“ลับเฉพาะ” อัยการกับคดี 16 ศพ โจทก์แดงฟ้อง 2 ล้าน แต่รัฐบาลให้ 7.75 ล้านบาท !?

กรณี 16 ศพ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามธงของรัฐบาลที่จะดำเนินการเอาผิดกองทัพและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในข้อกล่าวหาว่า ทหารฆ่าประชาชนเมื่อเหตุการณ์เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2553 นั้น เป็นไปอย่างน่าติดตามยิ่ง

เพราะกรณีนี้ถือเป็น 1 ใน 3 ประเด็นซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและเผชิญหน้าขั้นสูงสุดระหว่างกองทัพบกกับรัฐบาล นอกเหนือไปจากจุดเปราะบางเรื่องขบวนการจาบจ้วงและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจุดเปราะบางในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา

หลังจากที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่อัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทำการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน

เดิมทีมีกระแสข่าวว่าอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ อันเป็นการเริ่มต้น “นับ 1” ในการพิจารณาคดีนี้ ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งมีข่าวว่าจะนำผลของคดีนี้ไปเชื่อมโยงกับการปล่อยประกันตัวให้กับนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แต่ทว่ามีการดำเนินการสับขาหลอกยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองแทนเป็นผลสำเร็จเสียก่อน การยื่นเรื่องคดี 16 ศพต่อศาล จึงได้ชะลอออกไป

อย่างไรก็ตามคดีนี้มีระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคห้า ที่บัญญัติเอาไว้ว่าเมื่ออัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ทำคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกทำเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

อัยการได้รับสำนวนจากตำรวจวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 จึงกำหนดครบ 30 วันไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555 และอัยการได้เลื่อนไปแล้ว 1 ครั้ง

แปลว่านับไปอีก 30 วัน ก็จะครบกำหนดการเลื่อนครั้งแรก ก็จะตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ซึ่งอัยการจะต้องทำความเห็นไปยังศาล หรือเลื่อนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 อีกไม่เกิน 30 วัน

เมื่อนับไปอีก 30 วัน ครั้งที่สอง อัยการจะต้องทำความเห็นไปยังศาลเพื่อให้ไต่สวนภายในไม่เกินวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

แต่ประการสำคัญก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 นั้นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็น “การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน”

ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายการเมืองโดยพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. ได้รณรงค์ปลุกระดมมาโดยตลอดว่า “ทหารฆ่าประชาชน” อันเป็นผลทำให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเกิดความคับแค้นในจิตใจ และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ตัดสินใจอาศัยเหตุในการปลุกระดมที่ผ่านมาว่าคนเสื้อแดงถูกรัฐบาลชุดที่แล้วและทหารฆ่าสังหารโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้มาตรการเยียวยาด้วยงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และเตรียมจ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตสูงถึง 7.75 ล้านบาท ก่อให้เกิดขวัญกำลังใจต่อมวลชนคนเสื้อแดงที่ได้ลืมตาอ้าปากจากภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศ

หลายคนไม่สงสัยอีกต่อไปแล้วหากรัฐบาลตั้งธงเอาไว้ก่อนว่า “ทหารฆ่าประชาชน” กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูและของกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลต่างได้เตรียมตัวชงตั้งสำนวนไปตาม “ธง”ของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงในคดี 16 ศพว่า “ทหารฆ่าประชาชน” เอาไว้แล้ว

ส่วนอัยการถือเป็นกระบวนการกลางน้ำสำคัญก่อนถึงมือศาล เพราะถ้าหากอัยการได้ตัดสินใจส่งให้ศาลไต่สวนแล้ว ก็ย่อมหมายความว่ากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำและกลางน้ำผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวในการยืนยันว่า การเสียชีวิต 16 ศพ ของกลุ่มคนเสื้อแดง สื่อมวลชนต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือทหารทั้งสิ้น

และต้องไม่ลืมว่านายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดยุคปัจจุบันเคยตกเป็นที่ครหาอย่างหนักจากสังคมมาแล้ว กรณีที่ไม่คำร้องต่อศาลฎีกาในคดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กรณีการหลบเลี่ยงภาษีการขายหุ้นชินคอร์ป ทั้งๆที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ใครจะไปเชื่อมั่นความเป็นธรรมของอัยการยุคนี้ว่ากล้าจะยืนตรงกันข้ามกับ “ธง”ของรัฐบาลได้

แต่ถ้าหาก“อัยการ “ ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” เมื่อตัดสินใจยืนข้างรัฐบาลและคนเสื้อแดง แล้ว ย่อมเท่ากับว่าทนายแผ่นดินย้ายข้างกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับกองทัพบกทันที

เพราะหากคดีนี้เป็นผลทำให้สรุปออกมาเบื้องต้นว่า “ทหารฆ่าประชาชน” เมื่อไหร่ ก็ย่อมทำให้ “วีรบุรุษปราบโจรก่อการร้ายเผาเมือง” จะถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็น “ฆาตรกรฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์” และถ้าถึงวันที่ทหารถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ในฐานะจำเลยสังคม วันนั้นก็จะถือเป็นชัยชนะทางการเมืองของคนเสื้อแดง สามารถนำไปป่าวประกาศโฆษณาชวนเชื่อขยายผลทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงได้รับความอยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผลทำให้เป็นการเพิ่มความชอบธรรมในการได้รับเงินเยียวยา (จากภาษีประชาชนคนทั้งประเทศ) และสร้างความชอบธรรมในการรื้อโครงสร้างและการโยกย้ายผู้คุมกำลังในกองทัพยุคนี้ทั้งหมด

ในทางตรงกันข้ามหากทหารไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ถือเป็นความพ่ายแพ้และเสียหายเพิ่มเติมอย่างใหญ่หลวงของคนเสื้อแดงเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นว่าเรื่องที่ทหารฆ่าประชาชนนั้นกลายเป็นเท็จ และเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงที่แกนนำคนเสื้อแดงมาปลุกระดมขึ้นมาเองทั้งสิ้น

และซ้ำร้ายอาจเป็นการตอกย้ำการกระทำความผิดของคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และอาจส่งผลทำให้คนเสื้อแดงเสียชีวิตไม่ได้รับเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทคืนด้วย

และไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด คดีชันสูตรพลิกศพจะต้องส่งถึงศาลในทางใดทางหนึ่งไม่เกินวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 แน่นอน

ถ้าเช่นนั้นก็ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใด อัยการ จึงไม่เร่งดำเนินการคดีนี้ให้เสร็จสิ้นและส่งถึงศาลให้รวดเร็ว? ก็คงได้แต่คิดถึงความเป็นไปได้หลายประการคือ

1. เนื้อหาสำนวนมีความยาวมากจึงต้องการใช้เวลา หรือ

2. ต้องการให้ฝ่ายการเมืองใช้เป็นเครื่องมือบีบและต่อรองทหารก่อนอัยการยื่นถึงศาล หรือ

3. คดีนี้มีปัญหายากที่จะยื่นถึงศาลได้ หรือยื่นแล้วคนเสื้อแดงอาจพ่ายแพ้เสียเอง

และความจริงก็มีอยู่ที่ว่าสำนวนชันสูตรพลิกศพที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำส่งอัยการนั้น มีช่องโหว่และโต้แย้งได้อยู่หลายประเด็น โดย 2 ประเด็นที่ถือเป็นสาระสำคัญคือ

1. รายงานผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนเปรียบเทียบกับอาวุธปืน เอ็ม 16 ที่ทหารได้ส่งมานั้นไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายตำรวจกลับทำสำนวนว่าอาวุธปืนดังกล่าวฝ่ายทหารเป็นผู้ทำบัญชีและส่งอาวุธปืนมาให้พนักงานสอบสวนตรวจฝ่ายเดียว จึงอาจเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้ผลการพิสูจน์คลาดเคลื่อนได้

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถมีหลักฐานได้ว่ากระสุนในศพผู้เสียชีวิตนั้นมาจากทหารจริงหรือไม่?

2. ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเป็นคนยิง รวมทั้งวิถีกระสุนก็ไม่มีความชัดเจน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงใช้รูปแบบอื่นในการตั้งธงว่าทหารฆ่าประชาชน เช่น การอธิบายสภาพแวดล้อมว่าบริเวณที่มีผู้เสียชีวิต 16 ศพ ไม่มีชายชุดดำ และการจัดพยานคนเสื้อแดงและพยานบุคคลให้สอดคล้องกัน แล้วจึงสรุปสำนวนว่า:

“จึงเห็นว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด”

แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้กำลังทำให้ “อัยการ” จะต้องตัดสินใจว่าตกลงแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุด จะยังคงเป็นสถาบันที่มีมาตรฐานหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่? หรือแท้ที่จริงแล้วสถาบันนี้ไม่มีมาตรฐานเพราะขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจทางการเมืองในเวลานั้นกันแน่?

เพราะก่อนหน้านี้ประมาณเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปรากฏว่ามีครอบครัวคนเสื้อแดงหลายที่เสียชีวิต ได้ยื่นคำฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงการโหม และกองทัพบก เป็นจำเลย ซึ่งเมื่อสำรวจแล้วปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหายแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 2 ล้านบาท และสูงสุดประมาณ 2.7 ล้านบาท

สังคมไทยจึงควรตั้งคำถามว่า 7.75 ล้านบาท ที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีกำลังจะจัดให้กับคนเสื้อแดง จึงย่อมชัดเจนว่าเป็นการการจัดงบประมาณเกินกว่าคำฟ้องและความต้องการของโจกท์เสื้อแดงที่เรียกร้องสูงสุดในคดีความที่ 2.7 ล้านบาทนั้น เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ !!!?

ที่น่าสนใจก็คือว่าอัยการในฐานะทนายแผ่นดินโดยการมอบอำนาจจากทั้ง 3 หน่วยงานและได้รับทราบคำฟ้องของโจทก์คนเสื้อแดงแล้ว ได้ขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์คนเสื้อแดง ด้วยการบรรยายที่ยาวเหยียดโดยหยิบยกในหลายประเด็น เช่น

“โจทก์กล่าวลอยๆ เพราะไม่ได้ระบุให้ชัดเจนลงไปว่าผู้ตายถูกฆ่าตายที่ไหน อย่างไร เวลาเท่าใด ด้วยอาวุธชนิดใด อาวุธของผู้ใด โดยใครทำให้ตาย คำฟ้องจึงเคลือบคลุม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดี ผู้ตายเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อขึ้นด้วย ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ประกอบมาตรา 233 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเอาค่าเสียหายใดๆจากผู้หนึ่งผู้ใดได้... ผู้ตายไม่เชื่อฟังประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนด และคำเตือนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รีบออกจากสถานที่ชุมนุม ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอันตรายจากการที่กลุ่มติดอาวุธสงครามที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงยิงทำร้ายเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน พนักงานเจ้าหน้าที่เองก็ต้องหาที่กำบังเพื่อหลบกระสุนปืนและไม่ให้ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามร้ายแรงจากกลุ่มผู้ติดอาวุธดังกล่าว

ดังนั้นโดยสถานการณ์ที่เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ที่ทางราชการพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็วนี้ ผู้ตายควรที่จะอยู่ในเคหสถานของตนและคอยฟังข่าวสารของทางราชการจาก สถานีวิทยุ, โทรทัศน์, สื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง แต่ผู้ตายกลับออกมาอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งมีการชุมนุม ทำให้การแก้ไขสถานการณ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น จึงถือได้ว่าผู้ตายเป็นผู้สมัครใจที่จะเข้าไปเสี่ยงภัย รับภัยพิบัตินั้นเอง ผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมกันก่อเหตุ และร่วมกันทำให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะมาฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ จากผู้หนึ่งผู้ใดรวมทั้งจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้”

อัยการซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องคดีความแพ่งที่โจทก์เสื้อแดงมาทุกคดี ด้วยเหตุผลที่มากมายหลายประเด็น แล้วจะมาเป็นทนายให้กับรัฐบาลอีกชุดยืนข้างคนเสื้อแดงว่าถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมเพื่อเอาผิดกับทหารได้อย่างไร ?

ดังนั้น หากอัยการตัดสินใจส่งศาลฟ้องคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดง ย่อมเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในคดีความ ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง และเลวร้ายไปกว่านั้นอาจทำให้สถาบันอัยการถูกมองว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมือง ที่ใช้กฎหมายมั่วๆอย่างไรก็ได้เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองในแต่ละยุคเท่านั้น

อัยการในวันนี้จึงมีแค่สามทางเลือก คือ

1. ถอนตัวออกจากเป็นทนายให้เจ้าหน้าที่รัฐในคดีความแพ่งที่คนเสื้อแดงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชน แล้วยอมรับว่าที่ผ่านมาที่ต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อไปเป็นทนายให้คนเสื้อแดงแล้วยื่นต่อศาลไต่สวนในคดีชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดงเพื่อเอาผิดทหาร หรือ

2. ไม่ยื่นการสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพต่อศาลในคดีที่กล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชน และยืนหยัดตามสิ่งที่อัยการได้เคยต่อสู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ในคดีความแพ่งหลายคดี ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ผิด หรือ

3. ใช้กฎหมายมั่วๆ แล้วอ้างว่ามีคนละคดี และเป็นคนละกรณีกัน

อีกไม่เกิน 2 เดือน เราจะได้รู้กันเสียทีว่าคดีนี้จะเป็นความพ่ายแพ้ของทหาร หรือ จะเป็นความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดง ด้วยมาตรฐานของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ว่าแบบไหนกัน !?

Manageronline
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง