"ณอคุณ" กลับรับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. เมินข้อเสนอ ป.ป.ช. ที่ห้ามข้าราชการเป็นประธานในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทด้านสาธารณูปโภค อ้างไม่มีข้อห้ามและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เผย ปี 2553 ได้ค่าจ้าง 3.3 ล้าน
ด้วยข้ออ้างว่า ไม่มีใครปฏิบัติตามข้อแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และไม่มีข้อห้าม “ณอคุณ สิทธิพงศ์” ปลัดกระทรวงพลังงาน จึงได้หวนคืนตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ นายนริศ ชัยสูตร รักษาการประธานกรรมการ ปตท. ได้แจ้งลาออกจากตำแหน่งต่อที่ประชุม และเสนอชื่อนายณอคุณให้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง หลังจากได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดไปเมื่อ 24ธันวาคม 2553แต่ยังคนนั่งเป็นกรรมการบอร์ดอยู่ โดยอ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงาน ปตท.
นายนริศให้เหตุผลในลาออก ว่า
“เป็นเพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะต่อ ครม.ว่า ควรหลีกเลี่ยงการให้ข้าราชการระดับสูงเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งนายณอคุณได้แสดงสปิริตโดยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ปตท. ผมจึงทำหน้าที่รักษาการมากว่า 7เดือน แต่ที่ผ่านมาไม่มีกระทรวงใดปฏิบัติตามข้อแนะนำของ ป.ป.ช. เมื่อ ครม. สอบถามไปยัง ป.ป.ช. ว่ามีข้อกำหนดว่าห้ามปลัดกระทรวงมาเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจใด ซึ่ง ป.ป.ช. ตอบข้อหารือว่าเป็นเรื่องที่ ครม. ต้องพิจารณาเอง จึงเท่ากับว่าไม่มีข้อห้ามดังกล่าว
“เมื่อชัดเจนแล้วว่าไม่มีข้อห้ามดังกล่าว ประกอบกับในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ผมจึงใช้โอกาสนี้หยุดทำหน้าที่รักษาการประธานกรรมการ และคืนความถูกต้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานตามเดิม เพื่อให้การบริหาร ปตท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาปลัดกระทรวงพลังงานทุกคนจะเป็นประธานบอร์ด ปตท. ซึ่งกรรมการทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ และไม่มีการเสนอชื่อผู้อื่นมาเป็นประธานนอกจากนายณอคุณ” (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 23กรกฎาคม 2554)
กรณีดังกล่าว สื่อมองต่างมุม สื่อบางสำนักชี้ว่า ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่สื่อบางสำนักยืนยันว่า การกลับคืนตำแหน่งประธานบอร์ดของนายณอคุณหนนี้เป็นผลกจากการเมืองเปลี่ยน ขั้ว
ย้อนดูประวัตินายณอคุณ เขาเคยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงปี 2544-2546ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ต่อมาย้ายเข้ามารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2546และเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ครั้งแรกปลายปี 2550หลังจากที่ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานในขณะนั้นได้ลาออกไป กระทั่งนายณอคุณได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพลังงานในเดือนตุลาคม 2553
หากยังจำกันได้ 24มกราคม 2554คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตของรัฐวิสาหกิจ หนึ่งในนั้นคือหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับผู้อำนวย การสำนัก ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับทั้ง ด้านนโยบายและด้านปฏิบัติการเป็นประธาน หรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร
ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งภายหลัง ครม. ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการไปวิเคราะห์ผลกระทบให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยอ้างว่าข้อเสนอของ ป.ป.ช. ยังไม่มีความชัดเจน และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ อาจกระทบต่อการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจและการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
และยังให้วิเคราะห์ว่าข้อเสนอของ ป.ป.ช. จะครอบคลุมหรือมีผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมี พ.ร.บ.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอยู่แล้วหรือไม่
นี่คือ ประเด็นที่นายนริศยกขึ้นเป็นเหตุผลว่า เหตุใดนายณอคุณจึงควรกลับมานั่งบอร์ด ปตท. บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีสถานะคลุมเครือ บางครั้งหยิบยกสถานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจมาใช้ แต่บางครั้งก็ใช้สถานะของการเป็นบริษัทมหาชน
ทีนี้ ลองย้อนกลับไปอ่านรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ‘ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ’ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นด้วยเมื่อวันอังคารที่ 4พฤษภาคม 2553ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า
‘ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้าน ปิโตรเลียมของไทยเกิดจากปัญหาด้านธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล เนื่องจากบทบาทอันซ้อนทับกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ระหว่างเจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจและกำหนดนโยบาย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชนได้เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการธุรกิจ พลังงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งโดยภาระหน้าที่ของกรรมการในธุรกิจพลังงานนั้นคือการสร้างกำไรสูงสุดให้ แก่บริษัท บทบาทและหน้าที่ที่ทับซ้อนกันนี้จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้นโยบายของ รัฐอาจถูกครอบงำจากผลประโยชน์ของภาคธุรกิจได้’
ในรายงานภาคที่ 2ยังเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2550ที่มี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฉบับที่ 5และ 6เปิดช่องให้ข้าราชการระดับสูงสามารถดำรงตำแหน่งในนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ถือหุ้น และให้ข้าราชการที่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารในนิติบุคคลที่รับสัมปทาน ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการ
การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจการพลังงานมิได้ใช้บทบาทในฐานะ กรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐวิสาหกิจผลักดันให้กิจการพลังงานเกิดการแข่งขัน อย่างเสรีและเป็นธรรม แต่กลับปล่อยให้ธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่อย่างบริษัท ปตท. สามารถถือหุ้นในกิจการด้านพลังงานให้สัดส่วนที่สูง เช่น การปล่อยให้ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5แห่งจาก 6แห่ง ซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน
ในด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ รัฐยังได้ให้สิทธิพิเศษแก่ ปตท. โดยไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ ปตท. คืนท่อส่งก๊าซทั้งบนบกและในทะเลซึ่งเป็นสาธารณสมบัติที่ได้มาโดยการใช้อำนาจ มหาชนให้กับกระทรวงการคลัง แต่กลับยอมให้ ปตท. เป็นผู้ประเมินค่าท่อส่งก๊าซใหม่ ทำให้ ปตท. สามารถขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซได้จากมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินเพิ่มขึ้น เสมือนว่า ปตท. ยังเป็นเจ้าของท่ออยู่ อันขัดกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
ในรายงานภาคที่ 2ยังได้อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ ปี 2553พบว่า นายณอคุณนอกจากจะดำรงตำแหน่งประธาน บอร์ด ปตท. ซึ่งแม้จะลาออกในเดือนตุลาคม แต่ยังคงนั่งเป็นกรรมการอยู่ เขายังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. อีกด้วย
เมื่อกลับไปดูค่าตอบแทนที่ ปตท. จ่ายให้แก่นายณอคุณเมื่อปี 2551ในฐานะประธานกรรมการที่ปรากฏอยู่ในรายงานของวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยเงินโบนัสจ่ายจริง 2,212,851.20บาท และค่าเบี้ยประชุม 770,887.10บาท รวมแล้ว นายณอคุณรับไป 2,983,738.30บาท
และจากการตรวจสอบของ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) พบว่า ปี 2552นายณอคุณ ได้รับค่าตอบแทนจาก ปตท. เป็นค่าเบี้ยประชุม 800,000บาท และเงินโบนัสอีก 2,500,000บาท รวมเป็นเงิน 3,300,000บาท
ล่าสุด ปี 2553ค่าตอบแทนที่ ปตท. จ่ายให้นายณอคุณ ที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2553ของ ปตท. แบ่งเป็นค่าเบี้ยประชุม 850,000บาท และเงินโบนัสอีก 2,490,410.96บาท เบ็ดเสร็จ นายณอคุณมีรายได้จากการเป็นบอร์ด ปตท. เมื่อปี 2553เท่ากับ 3,340,410.96บาท
ย้อนกลับมาดูรายงานของวุฒิสภา ตอนหนึ่งระบุว่า
‘ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และขัดหลักธรรมาภิบาลในการ แยกบทบาทหน้าที่และแยกขอบเขตอำนาจอย่างร้ายแรง เพราะข้าราชการที่เข้าไปเป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจจัดการในบริษัทผู้รับ สัมปทานย่อมได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่มีมูลค่าสูงในรูปเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยประชุม และโบนัสที่มาจากผลกำไร ซึ่งอาจนำไปสู่การครอบงำนโยบายของรัฐได้’
เอาเข้าจริง เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในบ้านเรา เป็นเรื่องเบลอๆ ไม่ชัดเจน เพราะตัวบทไม่ชัดเจนหรือแสร้งไม่ให้ชัดเจน คำตอบน่าจะรู้กันอยู่แก่ใจ .
ภาพจาก www.siamsport.co.th/Sport_Other/101217_243.html
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง