บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ไวพจน์" ผ่าวงจร "ทหาร-การเมือง" ใช้ประโยชน์-ครอบงำ-ไร้สมดุล

  by ปกรณ์ ,
         
พลวัตการเมืองไทยในห้วงครึ่งทศวรรษมานี้ นับจากการรัฐประหารเที่ยวล่าสุดเมื่อปี 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กองทัพ" เข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมาก และกลายเป็นจุดเปราะบางอันสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารโดยตรง
           ประเด็นที่เกี่ยวกับ "บทบาท" ที่เหมาะควรของทหาร และ "ระยะห่าง" หรือ "ความสัมพันธ์" ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลควรเป็นอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนการเมืองไทยต่อไปในทิศทางที่เหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตยนั้น นับเป็นโจทย์ที่น่าค้นหาคำตอบไม่น้อยทีเดียว
           พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งผ่านงานการเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานเดิมของเขา คือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ทั้งยังร่วมกับองค์กรเอกชนต่างประเทศจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปกองทัพสำหรับ ประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพ่งมองภาพความเปราะบางนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
            พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่า ปัญหากองทัพหรือทหารเข้าไปมีบทบาททางการเมือง เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ ไม่เฉพาะไทย สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะกองทัพมีทรัพยากรบุคคลมาก จึงช่วยงานพัฒนาในประเทศที่ยังไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าจำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
            แต่ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ก็คือ เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ฝ่ายการเมืองเองจึงพยายามใช้ทหารเป็นเครื่องมือ เมื่อเลือกใช้ทหาร ฝ่ายทหารก็ชอบ เพราะได้งบประมาณมากขึ้น แล้วก็แสดงบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางประเทศกลายเป็นการครอบงำฝ่ายการเมืองไปเลย ซึ่งเป็นสร้างปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา
            ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ต้องสร้างสมดุลด้วยการ "ปฏิรูปกองทัพ" หรือ Military Reform ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็คิดและทำมานานมากแล้ว แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า
           "สาเหตุที่การปฏิรูปกองทัพทำได้ไม่ค่อยดี เพราะ 1.การเปลี่ยนแปลงกองทัพเป็น Political Issue หรือประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนด้วย คือต้องมี Political Will หรือเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน แน่วแน่ แต่บ้านเราฝ่ายการเมืองไม่เข้มแข็ง กลับใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ กองทัพก็เอนจอย (enjoy - สนุกสนาน) เพราะได้อำนาจต่อรองเพิ่ม ทั้งงบประมาณ และสถานะ เนื่องจากกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเมืองไปแล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปจึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และจะไม่คืบหน้าต่อไปถ้าการเมืองยังไม่เข้มแข็งอยู่แบบนี้"
           "2.กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ของกองทัพยังมีลักษณะยึดติดกับกรอบคิดแบบ เดิมๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ถูกชี้นำโดยประเทศมหาอำนาจ แม้จะยึดผลประโยชน์ชาติ หรือ National Interest แต่ทิศทางยังมีอคติ เพราะอยู่ภายใต้การชี้นำของมหาอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ จึงไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ชาติแบบเต็มร้อย แต่กลับเป็นไปในลักษณะตอบสนอบเฉพาะกลุ่ม"
            ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เขาให้น้ำหนักไปที่กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าเป็นจุดอ่อนทั้งในระดับกองทัพเองและรัฐบาล
            เขาขยายความว่า ในระดับผู้นำกองทัพหรือนายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา แม้ทำให้กองทัพมีการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่เป็นการเปลี่ยนเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน คือเมื่อเดินตามฝรั่ง ก็จะมุ่งเปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งเกิดผลน้อย หากจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลจริงๆ ต้องเปลี่ยนคู่กัน 2 แนวทาง คือ โครงสร้างการบริหารจัดการ และทิศทางการก้าวเดินซึ่งต้องเปลี่ยนด้วย
            เมื่อหันไปพิจารณาในระดับการเมืองหรือรัฐบาล จะเห็นว่าฝ่ายการเมืองเองก็ไม่มีกรอบคิดทิศทางที่ชัดเจน ใครขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ก็ปรับโครงสร้างนิดหน่อย ซื้ออาวุธนิดหน่อย ก็ถือว่าได้ปฏิรูปกองทัพแล้ว ทั้งๆ ที่เรายังมีจุดอ่อนการปฏิรูปเพื่อทำให้เกิดสมดุลระหว่างกองทัพกับการ เมืองอยู่มาก
           "นาย ทหารระดับสูงส่วนใหญ่ในบ้านเรามองแนวคิดแต่ Military Strategy (ยุทธวิธีทางทหาร) คือใช้กำลัง แล้วก็จัดซื้ออาวุธ ถามว่าเดินถูกทางไหม มันก็ถูก แต่ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ต้องมองให้เหนือกว่าเรื่องยุทธวิธีทางทหาร คือต้องมองไปที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หรือ  Security Strategy"
             อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพราะในประเทศเหล่านั้นประชาชนจะศรัทธากองทัพมาก และกองทัพมีอิทธิพลมาก เมื่อเสนอยุทธศาสตร์อะไรไป ผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคงก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงแก้ไม่ได้เพราะมองเฉพาะยุทธวิธีทางทหาร
            "ยกตัวอย่างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองแค่กรอบ Military Strategy ก็สั่งให้เอากำลังไปวาง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย จุดอ่อนคือกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนไม่สามารถหวังพึ่งกองทัพให้แก้ปัญหาชาติได้ เพราะแก้ได้แค่ระดับยุทธวิธี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมากองทัพแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของชาติไม่ได้เลย รวมทั้งปัญหาภาคใต้ด้วย เพราะมองแต่ยุทธวิธีทางทหาร เมื่อผนวกกับการเมืองก็อ่อนแอ ต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ จึงยิ่งไม่กล้าปรับเปลี่ยน ทำให้เจตจำนงทางการเมืองไม่แจ่มชัด ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนาไม่ได้"
             พล.อ.ไวพจน์ เสนอว่า การจะก้าวข้ามปัญหานี้ องค์กรเหนือกองทัพต้องแสดงบทบาทมากขึ้น อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และฝ่ายการเมือง จะมาใช้กองทัพแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้นปัญหาจะทับถม
            "ปัญหาของกองทัพกับปัญหาของฝ่ายการเมือง จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือการกำหนดนโยบายยุทธศาตร์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่หรือขับเคลื่อนประเทศไปข้าง หน้าได้ ปัญหาต่างๆ จึงแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่รีบแก้ตรงจุดที่เป็นต้นเหตุนี้ การก้าวเดินต่อไปจะยิ่งไร้ทิศทาง"
             "ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ยังเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดเวทีไปฟังปัญหา จากนั้นก็นำประเด็นที่รับฟังมากำหนดเป็นนโยบาย วิธีการแบบนี้แม้จะถูกต้องแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาระดับชาติ เพราะปัญหามันไม่ได้ง่ายแบบเดิมแล้ว ไม่เหมือนยุคสงครามเย็น เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อนสูง ไม่ใช่เรื่อง 1+1 = 2 อีกต่อไป"
             "อย่าง เช่นการจะสร้างความปรองดอง แล้วบอกว่าคนในชาติมีแต่ความแตกแยก จริงๆ แล้วแตกแยกไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นผลกระทบ ฉะนั้นต้องมองย้อนกลับไปว่าสาเหตุของความแตกแยกเกิดจากอะไร ด้วยเหตุนี้การโฆษณาให้ปรองดองจึงไม่เกิดผลอะไร เพราะต้องเข้าใจและหาวิธีแก้ปัญหาที่แก่น"
              "เช่น เดียวกับนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ประชาชนชอบเพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ฉะนั้นจึงใช้วิธีเดิมๆ ต่อไปอีกไม่ได้ เรากำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนี้ก็จะมีการแถลงนโยบาย และทำแผนปฏิบัติ แต่ถ้ายังเป็นแผนเดิม ทิศทางก็เดิมๆ ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาชาติได้สำเร็จ"
             ส่วนการปฏิรูปกองทัพด้วยการปรับลดขนาดลงเพื่อให้มีความคล่องตัวและพัฒนา ประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้นนั้น พล.อ.ไวพจน์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะภัยคุกคามในลักษณะที่เป็น Traditional Treat (ภัยคุกคามแบบเก่า) ในยุคสงครามเย็น ได้เปลี่ยนเป็น Nontraditional Treat หรือภัยคุกคามแบบใหม่ไปแล้ว
            "การต่อสู้กับภัยคุกคามแบบเดิม คือการรบด้วยกำลังทหาร ใครที่มีกำลังพลมากกว่า อาวุธมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะนั้น ปัจจุบันแทบจะหมดไปแล้ว ทุกวันนี้ทุกประเทศพยายามเป็นมิตรกัน มีการรวมกลุ่มกัน เช่น อาเซียน และมีองค์กรระหว่างประเทศคอยแก้ไขความขัดแย้ง อาทิ องค์การสหประชาชาติ ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการรบขนาดใหญ่มีน้อยมาก"
            "ส่วนภัยคุกคามรูปแบบใหม่มี 4 เรื่องหลัก คือ ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ ภัยพิบัติ และก่อการร้าย จึงต้องถือว่ารูปแบบเปลี่ยนไป การลดกำลังพลของกองทัพลงจึงเป็นเหตุเป็นผล ปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากขึ้น สามารถใช้แทนได้ และยังเป็นการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องใช้กำลังด้วย เรื่องแบบนี้เราก็เคยคิดกัน แต่อาจจะละเลยไป"
           พล.อ.ไวพจน์ บอกด้วยว่า ระบบป้องปรามทางยุทธศาสตร์ก็เช่น การพัฒนาเรื่องการรบร่วม แทนการจัดซื้ออาวุธบางประเภท เช่น ปืนเล็ก ซึ่งไม่ได้ตอบสนองอะไรในทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและเอ็นจีโอจึงจะประสบความสำเร็จ
            ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่ควรจะเป็นของกองทัพในความเห็นของอดีตขุนพลด้านความ มั่นคงอย่าง พล.อ.ไวพจน์ แต่การปรับบทบาทจะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปถามฝ่ายการเมืองด้วยว่าเมื่อไรจะเลิกใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ เสียที!

เปิดกฎหมาย...ศึกษากรณี “จตุพร”

โดย สำราญ รอดเพชร 27 กรกฎาคม 2554 16:13 น.

       “ที่ชอบพูดกันว่าปล่อยผี จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องที่เขาถูกร้องเรียนมาและน่าเห็นใจมากกว่าผู้ที่ได้รับการ เลือกตั้งแล้วถูกร้องเรียนมาภายหลังวันเลือกตั้ง มันเหมือนกับเป็นการรั้ง ไม่ให้เขาเป็น ส.ส. เราจึงต้องดูว่าผู้ที่ร้องเข้ามามีเจตนาเช่นนั้นหรือไม่ และเป็นความจริงหรือไม่ เพียงใด คือคำว่าปล่อยไปก่อน เราคงไม่ใช้ในภาษากฎหมาย เมื่อกฎหมายบอกว่า จะต้องมีการจัดประชุมสภาในนัดแรกภายใน 30 วัน เราก็ต้องมีการพิจารณารับรอง ส.ส.เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาทันตามที่กฎหมายกำหนด
      
       ส่วนเรื่องร้องเรียนเราจะมีการพิจารณากันต่อ จนกระทั่งครบ 1 ปี เพราะว่าที่ ส.ส.บางคนถูกร้องเรียนมากถึง 10 ราย ก็มี ต้องใช้เวลามาก ดังนั้นเราก็ต้องประกาศรับรองรายชื่อบุคคลนั้นไปก่อน จริงๆ แล้วหาก กกต.หรือศาลยกคำร้อง อยากให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนไปฟ้องร้องแก่ผู้ที่ร้องเรียนตน หากถูกร้องเรียนด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่จบสิ้น”
      
       นั่นคือตอนหนึ่งที่ ดร.สดศรี สัตยธรรม  1 ใน 5 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)พูดผ่านนสพ.ประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 3 วันก่อน และเมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่าแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกแขวนอยู่ เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือนายจตุพร พรหมพันธุ์ มี แนวโน้มที่ กกต.จะปล่อยไปก่อน ดร.สดศรีตอบทันทีว่า เรื่องคุณสมบัติ กกต.ควรพิจารณาภายใน 1 เดือน ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะรับรองไปก่อน เว้นแต่ว่าคุณสมบัติของคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนขัดต่อกฎหมาย ก็ไม่สามารถประกาศรับรองได้
      
       ล่าสุดขณะผมเขียนบทความชิ้นนี้ตอน 10 โมง วันที่ 27 ก.ค.ท่านดร.สดศรีก็ฟันธงซ้ำว่าในความเห็นส่วนตัวทั้ง “ณัฐวุฒิ-จตุพร” จะได้รับการรับสองการเป็น ส.ส.แน่นอน เว้นแต่ กกต.อีก 4 คนจะเห็นเป็นอื่น
      
       แน่ไหมครับ...ท่านผู้ชม!?
      
                    อันที่จริงจุดโฟกัสไม่ได้อยู่ที่กรณีณัฐวุฒิที่ถูกร้องเรียนเรื่องการพูด จาปราศรัย หากแต่อยู่ที่กรณีคุณสมบัติของจตุพรว่าขัดต่อตัวบทกฎหมายที่จะ เป็น ส.ส.หรือไม่...นั่นคือกรณีที่จตุพรเป็นผู้ “ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”  ทำให้เขามิได้ไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง (3 ก.ค. 2554)
      
                    ลองไล่เรียงกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 255
      
                   มาตรา 20 สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ (1)...(2).....(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 ......
      
                  มาตรา 19 ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง..............
      
                   มาตรา 8 ซึ่งอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง วรรคหนึ่งบัญญัติว่า
      
       “ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือ สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติซึ่งได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มี อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวนตั้งแต่ สิบห้าคนขึ้นไปอาจรวมกันดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองได้”
      
                    มาตรา 8 วรรคหนึ่งที่ยกมาสำคัญตรงที่ว่า “ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ที่บัญญัติว่า
      
                “มาตรา 100 บุคคล ผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (1).....(2).........(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
      
                    และตบท้ายด้วยมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
      
                 “มาตรา 26 ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอัน สมควรหรือเป็นผู้ที่มีรายชื่อในประกาศตามมาตรา 25 ให้ถือว่าผู้นั้นเสียสิทธิดังต่อไปนี้
      
                 (1).......................(2) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น........(3)..........
      
                   แม้ทนายและตัวของจตุพรจะพยายามแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเขาต้องการใช้ สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง และทางเขตที่อาศัยก็รับรองว่าเขาไม่เสียสิทธิเพราะได้แสดงเจตนาแล้ว แต่ข้อ เท็จจริงเชิงประจักษ์ก็คือว่า วันที่ 3 ก.ค. 2554 จตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิ
      
                   บางคนบอกว่า..จตุพรไม่ใช่ผู้เสียสิทธิ เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่มีสิทธิจะเสียเพราะเขาหมดสภาพหมดสิทธิไปแล้วตาม รธน.มาตรา 100 อนุ 3 ต่างหาก..
      
                    อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าผมไม่ใช่นักกฎหมายที่จะมาชี้ขาดอะไรได้ ขณะที่หลายคนอาจนึกถึงกรณีคุณก่อแก้ว  พิกุลทอง  ซึ่ง ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 กทม.เมื่อเดือนก.ค. 2553 ซึ่งในวันที่ 26 ก.ค.วันเลือกตั้งคุณก่อแก้วก็ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีจตุพรก็น่าจะเหมือนกรณีก่อแก้ว บางคนถามว่าถ้าวันนั้นคุณก่อแก้ว ชนะคุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ แล้วกกต.จะว่าอย่างไร...
      
                  นั่นสิครับ บังเอิญว่าคุณก่อแก้วแพ้ ปัญหามันจึงไม่เกิด กกต.ก็โชคดีไป...
      
                  แต่วันนี้มองรอบด้านแล้วผมเชื่อว่า กกต.กำลังมึนตึ้บ...ไม่รับรองคุณจตุพรก็จะเกิดปัญหาอีกแบบ ทั้งปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องมีการหยิบยกกรณีคุณก่อแก้วมาเปรียบเทียบหรือรวม ทั้งแง่มุมกฎหมายต่างๆ มาต่อสู้ และรวมทั้งปัญหาแรงกดดันจากมวลชนคน นปช.ที่วันนี้ใส่เสื้อแดงรอรับจตุพรออกจากคุกกันพร้อมพรึ่บแล้ว....
      
                  ขณะเดียวกันหาก กกต.รับรอง เชื่อขนมกินได้ว่าจะมีใครต่อใครแห่กันฟ้องเอาผิด กกต.ประเภท “จัดหนัก” อย่างแน่นอน
      
                    ถ้า กกต.มึนตึ้บ แล้วคนอย่างเราๆ ท่านๆ จะไม่มึนเสียยิ่งกว่าหรอกหรือ เพราะแม้วานนี้ท่านดร.สดศรีของผมจะบอกว่าให้ ปล่อย (จตุพร) ไปก่อน แต่เท่าที่จำได้เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ท่านเคยพูดถึงกรณีจตุพรว่าหากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปใช้ สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.มีปัญหาแน่ เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย...
      
                   ยุ่งล่ะสิ..!!??
      
                ที่ว่ามาทั้งหมดเพียงหยิบยกให้เห็นว่ากรณีจตุพรเป็นกรณีที่น่าศึกษาในเชิง การต่อสู้และการปฏิบัติตามกฎหมาย ในส่วนของจตุพรใครเป็นเขาก็ต้องต่อสู้สุด ฤทธิ์สุดเดชตามสิทธิที่ตัวเองเชื่อและมองเห็นว่าควรจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้นถ้าเขาได้รับการรับรองก็ไม่ควรไปด่าเขาในกรณีนี้...
      
                   ที่ผมเป็นห่วงก็คือ ในส่วนของ กกต.จะอธิบายความกับสังคมการเมืองอย่างไร
      
                   ยังไงๆ ก็ขออย่าได้มีชะตากรรมแบบ กกต.ชุด “สามหนาห้าห่วง” ก็แล้วกันน่ะครับ
      
                      samr_rod@hotmail.com

เกาหลีชี้ประชานิยม"ทักษิณ"ทำชาติล่มจม



หนังสือ พิมพ์โชซุนอิลโบ ของเกาหลีใต้ นำเสนอบทบรรณาธิการในหัวข้อ "ระวังระบบประชานิยม" พร้อม ทั้งยกตัวอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยขึ้นมาเตือนสตินักการเมืองและประชาชนในประเทศ รวมทั้งระบุว่านโยบายประชานิยมของอดีตผู้นำไทย อาจนำภาวะล่มสลายมาสู่ประเทศเหมือนกรณีของอาร์เจนตินา

บทบรรณาธิการ ดังกล่าว ระบุถึงสถานการณ์การเมืองในไทยช่วงที่มีการปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มผู้ ชุมนุมประท้วงเสื้อแดง เมื่อวันเสาร์ (10 เม.ย.) ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย บาดเจ็บกว่า 800 คน หลังจากรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และว่าความรุนแรงระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้บุกเข้าไปยังสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)+3 จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประชุม และผู้นำประเทศต่างๆ 16 ประเทศ ในจำนวนนั้นรวมไปถึงนายลี เมียงบัก  ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ต้องขึ้นไปบนดาดฟ้า เพื่อหลบหนีออกมาโดยใช้เฮลิคอปเตอร์

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ศูนย์กลางของผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2544 และได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2548 แต่ในเดือนมกราคมปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ได้ขายหุ้นของบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ให้แก่บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยไม่มีการจ่ายภาษี

สิ่ง ที่ปรากฏตามมาคือ หลักฐานต่างๆ ที่บ่งชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ตำแหน่งหน้าที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ธุรกิจของตนเอง หลีกเลี่ยงภาษี รับสินบนและฉ้อฉลการประมูลโครงการต่างๆ และในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลฎีกาของไทย ได้พิพากษายึดทรัพย์ที่ผิดกฎหมายของอดีตผู้นำไทยรายนี้เป็นเงินกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

นับตั้งแต่ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจเมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางเร่ร่อนไปทั่วโลก ขณะที่ผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้เคลื่อนขบวนไปทั่วเมืองหลวง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ด้วยความหวังว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง จนทำให้ไทยกลายเป็นรัฐแห่งสงครามกลางเมือง  บทบรรณาธิการของสื่อเกาหลีใต้ ระบุว่า กลุ่มที่ให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนใหญ่เป็นชาวนา คนยากจนทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ  และอดีตผู้นำไทยใช้วิธีการสื่อสารกับกลุ่มสนับสนุนเหล่านี้ ผ่านทางทีวีดาวเทียมและข้อความโทรศัพท์มือถือ

โชซุนอิลโบ ระบุด้วยว่า เหตุผลที่ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการเห็นเขากลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง แม้ว่า อดีตผู้นำไทยรายนี้จะฉ้อโกงอย่างมโหฬาร ก็เพราะประชาชนกลุ่มนี้ ถูกล่อหลอกด้วยนโยบายประชานิยม โดยหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประกาศพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี มอบสิทธิรักษาในสถานพยาบาลของรัฐในราคา 30 บาท มอบเงินทุน 1 ล้านบาทให้แก่หมู่บ้านแต่ละแห่ง ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า ต้องการขยับช่องว่างรายได้ระหว่างผู้อยู่อาศัยในเมืองและชาวนาให้แคบลง

อย่าง ไรก็ตาม บทบรรณาธิการฉบับนี้ ระบุว่า นโยบายที่ฟังดูดีจบลงที่เงินทุนในคลังของรัฐบาลหดหายไปมาก และท้ายที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นอำนาจ หลังจากต้องเผชิญหน้ากับกระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากคนชั้นกลาง ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับคุณภาพการบริหารประเทศ ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนชาวไทย ที่มีรายได้น้อย กลับเสพติดสิ่งที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงแรง และไม่มีวิธีใดที่จะเยียวยาประชาชนจากการเสพติดนโยบายประชานิยมนี้ได้ ซึ่งไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอกับปัญหานี้ อาร์เจนตินา ที่เป็นประเทศเจริญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคละตินอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ ที่ 1990 ยังมีจุดจบที่การกลับไปสู่สถานะโลกที่ 3 หลังจากพยายามทำตามความต้องการของประชาชน ที่เคยชินกับนโยบายประชานิยมอย่างไม่สามารถถอนตัวได้

บทบรรณาธิการ ของโชซุนอิลโบ ถือโอกาสปิดท้ายด้วยการระบุว่า ในเกาหลีใต้ก็ เช่นกัน พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดด้วยนโยบายที่หวังจะชนะใจประชาชน ก่อนหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 2 มกราคมปีหน้าจะเริ่มเปิดฉาก โดยพรรคประชาธิปไตย เสนอใช้เงินภาษีจำนวน 1.5 ล้านล้านวอน มาใช้ในโครงการมอบสิทธิเรียนฟรีแก่นักเรียน 5.48 ล้านคน

ส่วนพรรคแก รนด์ เนชั่นแนล ก็คลอดนโนบาย 9 ข้อ ที่มีเป้าหมาย เพื่อนำเงินของรัฐจำนวนกว่า 1.22 ล้านวอน มาช่วยคนยากคนจน ซึ่งบทบรรณาธิการโชซุนอิลโบ แนะนำว่า ทั้งสองพรรคการเมือง ควรดูเหตุประท้วงและปะทะกันขั้นนองเลือดในไทยเป็นกรณีศึกษา เพราะนโยบายประชานิยมที่ทั้งสองพรรคการเมือง กำลังงัดออกมาใช้  ไม่ต่างอะไรกับแหวนแห่งลางร้าย

atnnonline

กกต.แขวนต่อจตุพร ปล่อยแค่ณัฐวุฒิ

ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่มเติมอีก 94 คน ในวันนี้ ทำให้มีจำนวน ส.ส.เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 496 คน โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และ นางพรทิวา นาคาศัย รวมอยู่ด้วย

สำหรับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำไม่ได้รับการพิจารณาให้รับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต.

กกต.มีมติ 3 ต่อ2 ยังไม่ประกาศรับรอง เนื่องจากเห็นว่ายังมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. จึงทำให้ขาดความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งให้อนุกรรมการไต่สวนไปดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเพราะที่ผ่านมาไม่ได้ เสนอความเห็นต่อกกต.ในประเด็นนี้

“เรื่องนี้เป็นการขัดกันระหว่างรัฐธรรมนูญกับพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้อนุกรรมการไปตรวจสอบเพิ่มเติมในแง่ของข้อกฎหมาย ซึ่งกกต.ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าอนุกรรมการต้องดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด และกกต.ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะหยิบเรื่องขึ้นมาพิจารณาอีกเมื่อใด แต่ขอยืนยันว่ากกต.ทำเรื่องนี้ดีที่สุดแล้ว”

แหล่งข่าวจากกกต.เปิดเผยว่า สำหรับการลงมติในกรณีของนายจตุพรนั้น ที่ประชุมใช้เวลาในการถกเถียงเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก โดยกกต.ฝ่ายเสียงข้างมาก3 เสียง ประกอบด้วยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. นายประพันธ์ นัยโกวิท และนางสดศรี สัตยธรรม เห็นว่า ควรต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมายให้รอบคอบก่อน ซึ่งมีการเสนอกันว่า ควรมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ และถ้าจะส่งจำเป็นต้องประกาศรับรองไปก่อนหรือไม่ หากใช้แนวทางนี้ก็อาจทำให้กกต.เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องฐานละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่ เพราะความปรากฎอยู่แล้วว่าในวันเลือกตั้งนายจตุพร ไม่ได้ไปใช้สิทธิ ซึ่งก็ถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค ขณะที่ฝ่ายเสียงข้างน้อย 2 เสียง ประกอบด้วย นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น และนายสมชัย จึงประเสริฐ เห็นว่าควรประกาศรับรองไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้ง กกต.จะเอาอำนาจใดมาสั่งไม่ประกาศรับรองเนื่องจากรณีนี้ไม่ใช่เป็นการทุจริต เลือกตั้ง

ทั้งนี้มีการดำเนินคดีนายจตุพรโดยห้ามประกันตัว เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ศาลก็ไม่ยอมให้ประกันตัวหลายครั้ง แต่กลับหยิบยกเรื่องนี้มาประวิงเวลาหรือหาเหตุไม่รับรองให้นายจตุพรเป็นส.ส.

ในช่วงเช้าวันที่27 ก.ค. รายงานข่าวแจ้งว่า นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวว่า ใน เวลา 10.00น. กกต. ประชุมพิจารณารับรองสส. เพิ่ม โดยคาดว่าจะรู้ผลเวลา 15.00น. และมั่นใจว่าครบ 95 %เพื่อให้ทันเปิดประชุมสภา

ทั้งนี้ ที่ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่ยังไม่ได้ประกาศรับรอง 8-9คน โดยมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รวมอยู่ด้วย จะมีมติในวันนี้เช่นกัน และ "ดิฉันจะให้ นายจตุพร ผ่านแต่ไม่อาจยืนยันได้ว่า กกต.อีก 4 คน จะมีความคิดเห็นตรงกันหรือไม่" ซึ่งยืนยันว่าไม่กดดันได้พิจารณาตามข้อเท็จจริงทุกส่วน

แฉเอกสารลับรัฐบาลสหรัฐฯลอบบี้ประเทศคู่เจรจาเลิกค้านปม “สิทธิบัตร” -ส่อเอื้อบริษัทยา


เว็บไซต์ดังแฉเอกสารลับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาข้อตกลงกลุ่มหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิกยกเลิกการ คัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร เพื่อปลดล็อกการขอสิทธิบัตร ส่อเอื้อประโยชน์บริษัทยา ระวังรัฐบาลใหม่ของไทยเจอแน่ๆ
                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา www.citizen.org เว็บ ไซต์ของ Public Citizen  ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีชื่อเสียงคอยติดตามนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่เอกสารลับของสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯซึ่งเป็นเอกสารว่าด้วยเรื่อง ‘ข้อตกลงกลุ่มหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement: TPPA)’ ในหมวดที่พูดถึงการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความน่าสนใจของเอกสารฉบับนี้อยู่ที่ความพยายามของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงทีพีพีเอ ยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition)’

แหล่งข่าวจากทีมโครงการวิจัย ‘สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening Patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น’เปิดเผย ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (TCIJ)ว่า ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลห่างประเทศไทย เพราะเราเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับข้อตกลงนี้ แต่ในอดีตการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯ เคยยกประเด็นนี้เป็นหัวข้อเจรจากับไทยเมื่อมกราคม 2549 ก่อนที่การเจรจาจะหยุดชะงักไปในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การกลับมาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าคือพรรคไทยรักไทยในอดีต ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า อาจจะสานต่อให้เกิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
                “น่าสนใจว่าทำไมสหรัฐฯ จึงต้องการให้ประเทศนั้นประเทศนี้ยกเลิกสิทธิการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิ บัตรนั่นก็เป็นเพราะว่ากลไกการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรเปรียบเสมือน ปราการหลักที่ปกป้องผู้บริโภคจากการขอสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับของ บริษัทยา”แหล่งข่าวกล่าวและว่า
                ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ในกระบวนการขอสิทธิบัตรจะมีขั้นตอนที่เป็นขั้นการร้องคัดค้านที่ใช้ปฏิบัติ กันในประเทศต่างๆ อยู่ 2 แนวทางคือ การคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร และการคัดค้านหลังออกสิทธิบัตร (Post-Grant Opposition) ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างในหลักการสำคัญอยู่มากและส่งผลกระทบไม่เหมือนกัน
                ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัท ก. ต้องการจดสิทธิบัตรยา Aกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำการประกาศโฆษณาสิ่งประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตร ซึ่งหากเห็นว่า ยา A ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรเพราะไม่ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ เช่น แค่เปลี่ยนจากเม็ดเป็นแคปซูล ก็สามารถยื่นข้อมูลหลักฐานและเหตุผลในการคัดค้านได้ภายใน 90 วัน โดยผู้ที่คัดค้านนี้เป็น ‘ใครก็ได้’
                ขณะที่การคัดค้านหลังออกสิทธิบัตร หมายความว่า ยาAถูกรับรองและได้รับการคุ้มครองไปแล้ว จึงค่อยยื่นคัดค้านภายหลังว่า ยา Aมีความไม่เหมาะสมอย่างไร โดยผู้ร้องคัดค้านแบบนี้จะต้องเป็น ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’เท่านั้น ซึ่งตามการตีความของกรมทรัพย์สินฯ มักนิยามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแข่งขันกัน เป็นส่วนได้ส่วนเสียในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ
แต่จากคดีความที่เคยเกิดขึ้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้ตีความผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมถึงคนที่เสีย ประโยชน์จากการเข้าไม่ถึงยาด้วย
                แต่จะเห็นได้ว่าการร้องคัดค้านในแบบแรกเปิดกว้างให้สังคม นักวิชาการ ผู้บริโภค รวมถึงบริษัทยาเอง ได้มีส่วนในการตรวจสอบความเหมาะสมของการขอสิทธิบัตรมากกว่าแบบหลัง
                แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในภาวการณ์ปัจจุบัน มีการขอสิทธิบัตรยาที่มีเจตนาในการขยายระยะเวลาการถือสิทธิบัตรของยาชนิด เดิมออกไป โดยอ้างว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นและไม่มีความใหม่ในการประดิษฐ์เพียงพอ
                การยกเลิกการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรจึง เท่ากับเป็นการปิดกั้นการตรวจสอบจากภาคสังคมไปโดยปริยาย และจะสร้างผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในระยะยาว
                ในเอกสารที่รั่วไหลออกมาชิ้นนี้ สหรัฐฯ อ้างว่า สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรเป็นการสร้างภาระอันไม่ สมควรให้แก่ทั้งผู้ขอจดสิทธิบัตรและสำนักสิทธิบัตร สร้างความไม่แน่นอนและ ‘มีความเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ’ของบุคคลภายนอกซึ่งอาจคุกคามผู้ตรวจ สอบและผู้ขอจดสิทธิบัตรได้
             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  บทวิเคราะห์เรื่องนี้ในเว็บ www.citizen.orgก็ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า คำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ไม่เป็นจริง โดยยกเหตุผลดังนี้
-ในวงวิชาการชั้นสูงด้านเวชภัณฑ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี ใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ มีปัญหาเรื้อรังเรื่องการขอจดสิทธิบัตรที่ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่เป็นประจำ สิทธิบัตรที่ได้มาโดยไม่สมควรทำให้รัฐบาลและผู้บริโภคต้องสิ้นเปลืองค่าใช้ จ่าย รวมทั้งทำให้คู่แข่งที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องสิ้นเปลืองเงินทองเพื่อทำธุรก รรมเป็นจำนวนมาก แต่สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ ขอจดสิทธิบัตรใช้กฎระเบียบหาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่ถูกต้อง และยังจะช่วยยกระดับคุณภาพสิทธิบัตรด้วยการขจัดการขอจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณ ค่าออกไปอย่างเคร่งครัด
-สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรจะช่วยเพิ่มความแน่นอน ให้การตัดสินใจด้านธุรกิจของผู้ทำการประดิษฐ์และบริษัทผลิตยาชื่อสามัญ ด้วยการกำหนดข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรที่มีการคัดค้านได้เร็วมากกว่า (และสิ้นเปลืองน้อยกว่า) การไปฟ้องร้องคดีหลังจากมีการออกเอกสารสิทธิบัตรให้แล้ว
-การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรที่ไร้สาระและน้ำหนักต่างหากที่เป็นการสร้างภาระทางปกครองให้แก่สำนักสิทธิบัตรโดยไม่สมควร
-การร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการควบคุมกฎระเบียบได้ โดยการรายงานให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรทราบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เพื่อที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจจะตรวจสอบข้ออ้างสิทธิเรื่องความใหม่ (Novelty) และการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventiveness) ได้ เนื่องจากผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนามีเวลาและทรัพยากรจำกัด จึงมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือการวิจัยที่ดีที่สุด ส่วนผู้ขอจดสิทธิบัตรนั้น บางครั้งก็ประมาทหรือบ้างก็ถึงกับเจตนาที่จะละเลยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของงาน ที่ปรากฏอยู่แล้วให้ผู้ตรวจสอบทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งพบว่า เนื้อหาของฟากอียูก็มีความต้องการให้ยกเลิกการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรเช่น กัน แต่ด้วยจุดยืนของอาเซียนที่ไม่ต้องการเจรจาในกรอบที่เกินกว่าข้อตกลงของ องค์การการค้าโลก ทำให้การเจรจาดังกล่าวต้องยุติไป ทำให้อียูหันมาเจรจาในแบบทวิภาคีกับรายประเทศ และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย
นอกจากนี้ ในปี 2549 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยทำการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาแล้วครั้งหนึ่ง และได้มีการตัดการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรออกไป แต่ถูกคัดค้านในวงกว้างจึงทำให้ร่างดังกล่าวถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ทางกรมทรัพย์สินฯ ได้มีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรอีกครั้งหนึ่ง
        (สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ www.keionline.org/node/1091 และบทความวิเคราะห์เอกสารนี้ได้ที่ www.citizen.org/document/Leaked-US-TPPA- paper-on-eliminating-pre-grant-opposition.pdf.)

        ภาพจาก www.aidsaccess.com
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง