บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไม่เหลื่อมล้ำ!เปิดตัวเจ้าพ่อที่ดิน ครม.ยิ่งลักษณ์ 36 คน 2,782 ล้าน


เจาะถือครองที่ดินของคณะรัฐมนตรีรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 36 คน 2,782 ล้าน เลี่ยปลอดประสพ สูงสุด 807 ล้าน ขณะที่ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ตุน 2,000 ไร่ “ฐานิสร์”หลานป๋าเหนาะไม่เบาเกือบ 1,000 ไร่ มากกว่า 100 ล้านนับสิบ น้อยกว่าครม.มารค์ 341 ล้าน
       การถือครองที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่นักการเมืองให้ความนิยมสะสมเป็นอันดับต้น ๆทุกยุคสมัย
     ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (www.cijthai.comตรวจ สอบข้อมูลจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  พบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ยิ่งลักษณ์1) ถือครองรวมกัน2,782  ล้านบาท  จำนวนดังกล่าวแม้ไม่เท่า การถือครองของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชุดแรก (มาร์ค 1) ซึ่งมีมูลค่าที่ดินรวม 3,124.6  ล้านบาท  กระนั้นมูลค่าการถือครองก็ห่างกันประมาณ 341.8ล้านบาท
     ทั้งนี้มีผู้ถือครองมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท 9 คนมากสุด
     นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคู่สมรส  807.5 ล้านบาท
     นายชุมพล ศิลปอาชา  รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคู่สมรส  376.7  ล้านบาท
     นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล  รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม และคู่สมรส   223.1  ล้านบาท
     นายชูชาติ หาญสวัสดิ์  (โสด) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  147.9 ล้านบาท
     นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 154.5 ล้านบาท
     พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา   รัฐมนตรีว่าการกระทารวงกลาโหม และคู่สมรส 141.9 ล้านบาท
     พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 134.9 ล้านบาท
     นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคู่สมรส 124 ล้านบาท
     พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคู่สมรส  115.3 ล้านบาท
     ถือครองที่ดินมูลค่ามากกกว่า 50 ล้านบาท มี 4 คน ได้แก่  นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์    รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
      ไม่ถือครองดินคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทว่าคู่สมรสถือครองมูลค่า  250,000 บาท  (ดูตาราง)
      ถ้าคิดตามจำนวนเนื้อที่ นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ ถือครองมากสุด  2,026 ไร่
      นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  761 ไร่
      นายภูมิ สาระผล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์   131 ไร่
      พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก   129 ไร่
      ถือครองที่ดินน้อยสุด 3 อันดับ  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  0-3-16 ไร่   นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทารวงเกษตรและสหกรณ์ 75 ตารางวา นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  20 ตารางวา
      ไม่มีที่ดินคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
       ในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยเรียกร้องให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินซึ่งเป็น มาตรการทางด้านภาษีในการจัดการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย”
       ขณะที่ “ความเหลื่อมล้ำ”ถูกหยิบเป็นประเด็นขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในช่วง
ก่อนหน้านี้ จนนำมาสู่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
       ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ “แกนนำ”กลุ่มการเมืองที่เคยขับเคลื่อน “ความเหลื่อมล้ำ” เข้ามามีอำนาจ แนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินจะถูกขับเคลื่อนต่อหรือไม่?
       เป็นเรื่องทำนายได้?
         .....
   การถือครองที่ดิน ครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (ครม.ปู 1)

ชื่อ
มูลค่า  (บาท)
1.นายปลอดประสพ สุรัสวดี                   561,327,250
คู่สมรส                                           246,214,750
807,542,000
2.นายชุมพล ศิลปอาชา                           8,100,000
คู่สมรส                                           368,900,000
376,700,000
3.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล                      19,176,000
คู่สมรส                                           203,964,000
223,140,000
4.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์
-
147,976,393
5.นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล
-
154,552,000
6.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา                    70,000,000
คู่สมรส                                             71,985,000
141,985,000
7.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก
-
134,900,000
8.นายพิชัย นริพทะพันธ์                         84,000,000
คู่สมรส                                             40,000,000
124,000,000
9.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก                   28,550,000
คุณหญิงวารุณี คู่สมรส                            86,824,835
115,374,835
10.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์                         5,430,000
คู่สมรส                                             84,349,000
89,779,000
11.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง                        57,864,450
นางลำเนา                                         22,285,000
80,149,450
12.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คู่สมรส –
65,186,350
13.นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์                     39,000,000
คู่สมรส                                             16,000,000
55,000,000
14.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล                42,100,000
คู่สมรส                                               4,500,000
46,600,000
15.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ                        10,700,000
คู่สมรส                                             25,439,650
36,139,650
16.นางสุกุมล คุณปลื้ม                              948,000
นายสนธยา คู่สมรส                             28,414,000
29,362,000
17.นายฐานิสร์ เทียนทอง
-
18,077,375
18.นางบุญรื่น ศรีธเรศ
-
17,796,598
18.นายภูมิ สาระผล                               14,410,000
คู่สมรส                                               2,615,000
17,025,000
20.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ                   15,048,010
คู่สมรส                                                  207,350
15,255,360
21.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต                 10,527,600
คู่สมรส                                               3,852,000
14,379,600
22.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข                       1,764,073
คู่สมรส                                               9,383,380
11,147,453
23.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ                        2,100,000
คู่สมรส                                              6,838,275
8,938,275
24.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์
-
8,647,150
25.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง                       2,000,000
คู่สมรส                                              6,000,000
8,000,000
26.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล
-
6,600,000
27.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์
-
5,950,000
28.นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น
-
4,460,000
29.นายสันติ พร้อมพัฒน์                    1,780,000
นางวันเพ็ญ คู่สมรส                           2,500,000
4,280,000
30.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
-
3,960,125
31.น.อ.อ.อนุดิษฐ์  นาครทรรพ
คู่สมรส -
3,860,000
32.นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์
-
2,000,000
33.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์
-
1,800,000
34.นายวิทยา บุรณศิริ
-
1,143,900
35.นายธีระ วงศ์สมุทร
-
750,000
36.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ –
คู่สมรส                                                 250,000

250,000
รวม
2,782,707,514
  ที่มา :สำนักงานป.ป.ช.,ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (www.cijthai.comรวมรวม

 รัฐมนตรีรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (มาร์ค 1) ที่ถือครองที่ดินมูลค่ามากสุด  

ชื่อ
รวมมูลค่า  (บาท)
1.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์
คู่สมรส ไม่มีที่ดิน
580,706,867
2.นายชุมพล ศิลปอาชา                          100,000
คู่สมรส                                           379,276,250
379,376,250
3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค                    79,937,000
คู่สมรส                                           208,247,600
บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ                             36,720,000
324,904,600
4.นายชาติชาย พุคยาภรณ์                    301,665,919
คู่สมรส                                               2,288,000
บุตรไม่บรรลุนิติภาวะ                               1,230,000
305,183,919
5.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล                       19,176,000
คู่สมรส                                           201,232,000
220,408,000
6.นายกรณ์ จาติกวณิช                        119,612,633
คู่สมรส                                            27,512,500
147,125,133
7.นายมานิต นพอมรบดี                        87,396,489
คู่สมรส (เสียชีวิต)                               48,113,211
135,509,700
8.นายไพฑูรย์ แก้วทอง                          7,188,500
คู่สมรส                                            97,692,500
104,881,000
ที่มา :สำนักงานป.ป.ช.,ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (www.cijthai.comรวมรวม

    นักการเมืองที่มีที่ดินมากที่สุด (ตามมูลค่า)

1.นายบรรหาร ศิลปอาชา และคู่สมรส
243 แปลง  2,062.2 ล้าน
2.นายสาคร เกี่ยวข้อง และคู่สมรส
72 แปลง 803.6 ล้าน
3.ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และคู่สมรส
41 แปลง 600 ล้าน
4.นายพิเชษฐ์ ตันเจริญและคู่สมรส 
37 แปลง 463 ล้าน
5.นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค และคู่สมรส
33 แปลง 446.9 ล้าน
 6.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ และคู่สมรสม
131 แปลง 389.2 ล้าน
7.นายสุรเดช ยะสวัสดิ์
25แปลง 274.4 ล้าน
8.นางวรศุลี เชาว์ศิริกุล
65 แปลง 257.3 ล้าน
9.นายสุชน ชามพูนท และคู่สมรส
112 แปลง 250.8 ล้าน
10.นายทศพร เทพบุตร และคู่สมรส
69 แปลง 239.9 ล้าน
 ที่มา :สำนักงาน ป.ป.ช. , ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (www.cijthai.com) รวบรวม

ศึก 2 นิติฯ กับเผด็จการรัฐธรรมนูญ 4 ฝ่าย

       “กลุ่มนิติราษฎร์” เสนอแนวคิดให้ลบล้างผลของรัฐประหารในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พวกเขาเห็นว่า คณะรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 เป็นต้นธารแห่งความชั่วร้ายที่ทำลายรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยของทักษิณ พวกเขาเห็นผิดอย่างร้ายแรงที่เห็นระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย (แท้จริงคือคณะรัฐประหารโค่นเผด็จการรัฐธรรมนูญ)
       
        ส่วนคณาจารย์อีกฝ่ายหนึ่ง 23 คนลงชื่อแสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ “กลุ่มนิติราษฎร์” และเห็นว่าหากจะล้มล้างผลของรัฐประหารต้องล้มล้างทั้งหมดนับแต่ คณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล สมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นต้นมา เพราะเป็นต้นธารแห่งความหายนะของชาติ โดยเข้าใจผิดเห็นระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญเป็นระบอบประชาธิปไตย จนเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ คือ รัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-รัฐบาลจากการเลือกตั้ง-รัฐประหาร...หากคิดล้มล้างผลของรัฐประหาร 49 ก็เสมือนไม่มีผลรัฐประหารปี 49 ก็แสดงว่าคนที่จะได้ประโยชน์มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า กลุ่มนักวิชาเกิน “นิติราษฎร์” กำลังรับใช้ใครอยู่อย่างอดสูที่สุด
       
        เราขอย้ำว่าสภาพการณ์ที่แท้จริงทางการเมืองไทยเป็นระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลผลิตของขบวนการลัทธิเผด็จการรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มคนในคณะราษฎรได้สถาปนาขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475
       
        ผ่านมายาวนาน 79 ปี ซึ่งลัทธิเผด็จการรัฐธรรมนูญนี้ เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดของคณะผู้ปกครองเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย โดยเข้าใจและยึดเอารูปการปกครอง (ระบบรัฐสภา) และวิธีการปกครอง (รัฐธรรมนูญ) ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย นี่คือความเข้าใจผิด เห็นผิด คิดผิด สอนผิดทำผิด ปกครองผิดของคณะผู้ปกครองไทยที่สืบทอดอย่างผิดๆ ทำผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะแสดงให้เห็นว่าสัมพันธภาพลักษณะการปกครองแบบเผด็จการรัฐธรรมนูญ ดังนี้




       ลักษณะของการเมืองการปกครองชนิดนี้คิดเกินกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็คือพวกเขาเอาการปกครองมาเป็นการเมืองนั่นเอง คนมีอำนาจเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ประชาชนไม่รู้เท่าทันตกเป็นการเมือง เผด็จการทุกชนิดไม่สามารถเปิดหลักการปกครองได้ กลุ่มการเมืองแนวทางการเมืองใหญ่ๆ ที่ยึดติดแนวทางนี้ได้แก่ 1) คณะราษฎรปีกซ้าย ได้แก่พรรคเพื่อไทย นิติราษฎร์ ฯลฯ 2) คณะราษฎรปีกขวา ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ 3) พรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ ซึ่งทำแนวร่วม อิงอาศัย สนับสนุนทั้งสองฝ่าย เพื่อรักษาระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญให้ยาวนานที่สุดและรุนแรงขึ้นเพื่อให้เกิดรัฐประหาร จากนั้นพรรคคอมฯ เป็นแก่นนำโค่นกองทัพโดยมีพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นกำลังช่วย เพราะตนเสียประโยชน์จากรัฐประหาร 4) คณะรัฐประหารโง่เขลาเบาปัญญา ฉีกรัฐธรรมนูญ มีอำนาจ แล้วก็ไปสร้างรัฐธรรมนูญเป็นวงจรอุบาท์ซ้ำซาก ผิดแล้วผิดอีกเช่นเดิมโดยไม่รู้สึกรู้สา
       
        ขอเชิญท่านมาเป็นเจ้าของแนวคิดแก่นไทยเราแท้ๆ สัมพันธภาพการปกครองแบบธรรมาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบไทยที่แท้จริง ยิ่งใหญ่ ดังนี้




       ถามว่าจะเลือกสัมพันธภาพแบบไหนระหว่างเผด็จการรัฐธรรมนูญกับสัมพันธภาพแบบธรรมาธิปไตยอันเป็นปัญญาแก่นแท้ของปวงชนไทย
       
        การปกครองแบบเผด็จการทุกชนิดเป็นคุณต่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคนายทุนผูกขาดต่างชาติ และพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชนในลักษณะ “สาละวันเตี้ยลง” โดยเฉพาะระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว สามารถหลอกได้แนบเนียนมาก ยากที่ใครๆ จะจับได้ หรือแม้แต่สถาบันหลักของชาติ กองทัพก็ยังคงเข้าใจผิดและยังคงสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการนี้อยู่ต่อไปหรือไม่
       
        ผลของการปกครองแบบเผด็จการ ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูได้จาก รัฐบาลทักษิณ ดูได้จาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยิ่งปกครองยิ่งคอร์รัปชัน ยิ่งปกครองยิ่งเสื่อม ยิ่งปกครองยิ่งเสียศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของชาติ ยิ่งปกครองยิ่งแตกแยกและทำนายว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะโกลาหลเลวร้ายยิ่งกว่า



Manager online

สมาคมอาเซียน

ก่อนที่อาเซียนจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 อาเซียนผ่านอะไรมาบ้าง ทั้งสาเหตุของการรวมกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาค ทั้งความท้าทายหลายหลากที่มีทั้งอุปสรรคและโอกาสก่อเกิดให้กลายเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังจะพัฒนาเป็นประชาคมอาเซียนที่มี 3 เสาหลักสำคัญ

ทั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการรวมกลุ่มของอาเซียนที่พัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงลึกมากขึ้นท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลก



ความเป็นมาของอาเซียน

44 ปีสำหรับการรวมตัวของ ASEAN นับตั้งแต่ปี 1967 เป็นความร่วมมือที่พัฒนามาจาก ASA ที่ก่อตั้งในปี 1961 แต่ล้มเหลวเพราะประเทศสมาชิก (ไทย มลายา ฟิลิปปินส์) ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ นำไปสู่การก่อตั้งอาเซียนที่แม้จะมีปฏิญญากรุงเทพที่มุ่งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในช่วงก่อตั้ง แต่นัยซ่อนเร้นทางการเมืองที่สำคัญเกิดจากความต้องการแก้ไขความขัดแย้งภายในประเทศสมาชิกว่าด้วยเขตอำนาจอธิปไตยทับซ้อน อาทิ มาเลเซียกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์กับมลายา (มาเลเซีย) ที่มีปัญหาอธิปไตยเหนือเกาะบอเนียวหรือซาบาห์ และความหวาดกลัวจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จากจีนและสหภาพโซเวียตที่แผ่ขยายมายังเวียดนามเหนือในทศวรรษ 1960

อาเซียนในยุคแรกเริ่ม จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐให้ดีขึ้นและรวมตัวกันเพื่อป้องปรามภัยจากคอมมิวนิสต์ร่วมกัน ถึงกระนั้นในปี 1975 คอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือสามารถยึดครองเวียดนามใต้ได้ ลาวและกัมพูชายังถูกยึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เช่นกัน ตลอดจนการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามที่ยาวนานนับ 10 ปี ตั้งแต่ 1979-1989 ที่อาเซียนผนึกกำลังร่วมกับแรงสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติอันนำไปสู่การถอนทหารของเวียดนาม

20 ปีแรกของอาเซียนถือเป็นความร่วมมือที่เน้นการเมือง-ความมั่นคงเป็นหลัก เมื่อล่วงเข้าสู่ต้นทศวรรษ 1990 การล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและในสหภาพโซเวียตกอปรกับกระแสโลกาภิวัตน์ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โลกและอาเซียนเริ่มให้ความสำคัญจากการเมือง-ความมั่นคง ไหลริน (spill over) ไปสู่ด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

ผลประโยชน์ที่ลงตัวภายใต้ความร่วมมือ
ต้นทศวรรษ 1990 อาเซียนเริ่มเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขณะเดียวกันได้มีเวทีเพื่อการปรึกษาหารือภายใต้กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) จนกระทั่งปี 1995 ความร่วมมือจากกลุ่มประเทศหลักที่ร่วมก่อตั้ง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ได้ขยายวงสมาชิกเพิ่มขึ้น คือเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีพัฒนาการไปในทางที่ดีจนเกิดความร่วมมือขนาดย่อยภายใต้กรอบอาเซียนเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Growth Triangle SIJORI) ประกอบด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซียบริเวณเกาะบาตัมจังหวัดริเอา และมาเลเซียบริเวณรัฐยะโฮร์ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (IMT-GT: Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Quadrangle Economic Cooperation) ประกอบไปด้วย จีน พม่า ลาว ไทย ความร่วมมือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย กัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือแบบ อาเซียน+ หรือ ASEAN Plus เพื่อการสานผลประโยชน์ร่วมกันผ่านกรอบความร่วมมือขนาดเล็กทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างรัฐมากขึ้น

เส้นทางสู่อาเซียน 2015
บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้อาเซียนได้เรียนรู้ว่าไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังภายใต้กระแสทุนนิยมโลก ขณะเดียวกัน กระแสการก่อการร้ายเริ่มขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเห็นได้จากการโจมตีสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา และในเอเชียคือการก่อการร้ายวางระเบิดที่บาหลี อินโดนีเซียในปี 2002 รวมถึงโรคระบาดที่แพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น โรคซาร์สที่ลุกลามจากจีนมายังฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ แคนาดา และขยายไปทั่วโลก โรคไข้หวัดนก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่ ท้าทายประเทศต่างๆ ทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค ให้แสวงหาวิถีทางในการรวมตัวกันเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ดังนั้น แนวคิดในการการรวมกลุ่มและร่วมมือกันมากขึ้นน่าจะช่วยให้อาเซียนร่วมอยู่ในเวทีประชาคมโลกได้อย่างไม่ลำบากนัก

รัฐภาคีอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน หรือ Bali Concord II เมื่อปี 2003 เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme 2004-2010) โดยมี 3 เสาหลักสำคัญตามที่กล่าวมาข้างต้น และได้ลดระยะเวลาที่จะเข้าสู่ประชาคมในปี 2020 เป็นปี 2015 โดยเฉพาะในด้านการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ AEC จะทำให้มีตลาดและฐานการผลิตเดียว ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือมีความเสรีมากขึ้น ภายหลังเป็นประชาคมอาเซียนเต็มตัวในปี 2015 ประเทศสมาชิกจะรวมตัวเป็น ตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดถึง 600 ล้านคนจะสามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างสะดวก

แน่นอนว่าการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกในด้านสินค้าและบริการจะเพิ่มมากขึ้น เพราะอัตราภาษีจะเท่ากับร้อยละ 0 และยังขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายอาจต้องหาแรงจูงใจและแรงดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัวบทกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเป็นประชาคมอาเซียนดังกล่าว และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับประชาคมอาเซียนเศรษฐกิจให้มากขึ้น อย่างน้อยควรให้ความรู้และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการให้มีการเชื่อมโยงความรู้ และสามารถผลักดันกลไกดังกล่าวในทางที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลต้องหาทางเพิ่มทักษะและความรู้ให้แก่แรงงานไร้ฝีมือ เพื่อพัฒนาเป็นแรงงานมีฝีมือ ที่ส่งผลให้ช่วยลดอัตราการว่างงาน ที่ทำให้ระดับพัฒนาการในสังคมมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อคนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถหาเลี้ยงชีพได้ แนวโน้มของอัตราการก่ออาชญากรรมจะลดลง

ประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แต่ละประเทศต้องพยายามรักษาบริหารบ้านเมืองให้มีเสถียรภาพ เพื่อสนับสนุนให้มีการค้าการลงทุนในประเทศของตนมากขึ้น เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันขยายตัวลุกลามไปทั่วโลก การปกครองบ้านเมืองให้เกิดเสถียรภาพจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและทำการค้าขายกับประเทศนั้นๆ เมื่อรายได้ภายในประเทศเพิ่มพูน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันอาเซียนจะสามารถประคับประคองสถานะตนเองไม่ให้ประสบกับวิกฤตทางการเงินได้อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1997

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รัฐภาคีอาเซียนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในด้านนี้ควบคู่กับการเมืองความมั่นคงและเศรษฐกิจ เนื่องจากการเรียนรู้วิถีชีวิตและการเข้าใจวัฒนธรรมของรัฐภาคีร่วมกันจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง-ความมั่นคง จะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันมากขึ้น มากกว่าจะขับเคี่ยวกันด้วยการแข่งขัน เพราะทุกประเทศได้ร่วมเข้ามาอยู่วงไพบูลย์เดียวกัน ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดชะตาอาเซียนไปพร้อมๆ กัน

ความร่วมมือของอาเซียนเกิดมานานนับ 4 ทศวรรษแล้ว อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะขยับเข้าสู่การเป็นประชาคม ขณะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการเริ่มตื่นตัวพร้อมที่จะรับมือกับโอกาสและความ ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น ภาคประชาสังคม และประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อปรับตัวเข้าสู่การบูรณาการความร่วมมือในเชิงลึกของอาเซียนและประสบความสำเร็จ

 
ขอบคุณข้อมูลจาก siamintelligence


จับตารัฐบาล-กองทัพแบ่งเค้ก"ดับไฟใต้


การ เดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เที่ยวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อวันอังคารที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา หน่วยในพื้นที่ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงาน ผบ.ทบ.ว่า ปีหน้าจะใช้งบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาในพื้นที่กว่า 10,000 ล้านบาท
          ขณะที่ในด้านกำลังพล จะมีการถอนกำลังของกองทัพบก (ทบ.) ออกจากพื้นที่เป็นบางหน่วย และได้จัดสรรกำลังพลที่เป็นทหารพรานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้เข้าปฏิบัติหน้าที่ทดแทน เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป โดยจะมีการจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มอีก 2 กรม จำนวน 3,000 นาย จาก 7 กรมที่มีอยู่เดิม และจะทยอยดำเนินการจัดตั้งให้ครบตามจำนวนอีก 3 กรม (รวมเป็น 5 กรมใหม่) เพื่อให้กำลังพลครอบคลุมการปฏิบัติทุกพื้นที่
          นี่คือความเคลื่อนไหวในภารกิจดับไฟใต้จากทางฝั่งกองทัพ และหน่วยงานในพื้นที่
          ทางด้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งนั่งหัวโต๊ะประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ย. และมติจากที่ประชุมคือตั้ง ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบ.กช. ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยปฏิบัติ
          ส่วนนโยบายเรื่องการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า "นครปัตตานี" ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ นายกฯบอกว่ายังไม่ไปถึงตรงนั้น เพราะประชาชนต้องการเรื่องความปลอดภัยก่อน
          ขณะเดียวกันก็มีข่าวมาตลอด 2-3 สัปดาห์ว่า รัฐบาลจะส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต. แทน นายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่ตั้งในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
          ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวหลักๆ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นในห้วง 1 เดือนเศษของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลจะยังไม่มีนโยบายอะไรชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดการปัญหาจะยังคงอยู่ในมือของฝ่ายทหารเป็นส่วน ใหญ่ และอาจสวนทางกับยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ที่ได้รับการยอมรับ แต่ระยะหลังเริ่มไม่ค่อยมีใครพูดถึงแล้ว

ทุุ่ม 2.7 พันล้านตั้ง 5 กรมทหารพราน
          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการเตรียมการเพิ่มกำลังทหารพรานอีกหลายพันนายใน พื้นที่ ซึ่งหากพิจารณาท่าทีเช่นนี้ของฝ่ายกองทัพแล้ว ย่อมชัดเจนว่าสวนทางกับเสียงเรียกร้องให้ลดกำลังพลลง และเลิกใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากการแก้ไขปัญหายังผูกติดกับมิติเดิมๆ
          สำหรับการเพิ่มกำลังทหารพรานนั้น เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ เมื่อวันอังคารที่ 3 พ.ค.2554 อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้จัดตั้งกองบังคับการกรมทหารพรานเพิ่มเติม อีก 5 กรม วงเงิน 2,692 ล้านบาทเศษ โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นการใช้งบประมาณประจำของกระทรวงกลาโหม แยกเป็นงบประมาณของปี 2554 จำนวน 18 ล้านบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีกราว 2,673 ล้านบาทเศษ เป็นงบประมาณประจำปี 2555 ถึงปี 2556
          นอกจากนั้นยังขออนุมัติงบประมาณประจำปีเพิ่มเติมในปี 2556 เป็นต้นไปสำหรับหน่วยงานทหารพรานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยใช้งบเพิ่มอีกปีละ 688 ล้านบาทเศษด้วย
          ปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนใต้มีกรมทหารพรานปฏิบัติภารกิจอยู่แล้ว 7 กรม ประกอบด้วย
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ที่ อ.รามัน จ.ยะลา
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ตั้งอยู่ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ตั้งอยู่ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ตั้งอยู่ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา
          แต่ละกรมมีกำลังพลเต็มอัตรากำลังจำนวน 1,489 นาย (แต่ส่วนใหญ่จะมีไม่ครบ) ทั้งยังมีกำลังพลจากทหารพรานหญิงอีก 4 หมวด รวมยอดกำลังพล ณ ปีงบประมาณ 2554 เฉพาะทหารพรานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 10,921 นาย
          สำหรับการจัดตั้งกรมทหารพรานใหม่ตามที่ ครม.อนุมัติ จะจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 5 กรมทหารพราน และ 5 หมวดทหารพรานหญิง พร้อมปฏิบัติงานส่วนแรกในเดือน ต.ค.2554 และเต็มจำนวนในเดือน เม.ย.2555 เพื่อรองรับกำลังทหารหลักจะถอนกำลังกลับจำนวน 7 กองพัน
          ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีทหารพรานทั้งสิ้น 12 กรมทหารพราน กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิงเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในพื้นที่ควบคู่กับกองพลทหารราบที่ 15 ตัวเลขกลมๆ เฉพาะทหารพรานราว 18,000 นาย
          ทั้งนี้ ในส่วนของกรมทหารพรานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปี             2554-2555       รวม 5 กรมทหารพรานนั้น กองทัพบกได้มอบหมายให้แต่ละกองทัพภาคเปิดรับและฝึกอบรมด้ังนี้
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 โดยกองทัพภาคที่ 1
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 โดยกองทัพภาคที่ 2
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 33 โดยกองทัพภาคที่ 3
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 โดยกองทัพภาคที่ 4
          - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 โดยกองทัพภาคที่ 4
          แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยว่า โครงการจัดตั้งกรมทหารพรานเพิ่มในพื้นที่ชายแดนใต้นี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพื่อถอนกำลังพล “ทหารหลัก” จากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ออกจากพื้นที่ เพื่อส่งมอบให้ “ทหารพราน” ซึ่งเปรียบเสมือน "ทหารบ้าน" มีความชำนาญพื้นที่ และเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นเป็นอย่างดี รับผิดชอบสถานการณ์ต่อไป

เทหมื่นล้านสถาปนา "ทัพน้อยที่ 4"
          นอกจากเพิ่มกรมทหารพรานอีก 5 กรมในพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว กองทัพบกยังมีแผนจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 (ทน.4) เพื่อรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ด้วย โดยที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพเดียวที่ไม่มีกองทัพน้อย
          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม นขต.ซึ่งมี ผบ.ทบ.เป็นประธาน ได้รับทราบถึงการเสนอขอเตรียมจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 โดยมีเหตุผลเนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ เปลี่ยนไป ทำให้กองทัพภาคที่ 4 ต้องปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน และภารกิจอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          ทั้งนี้ กองทัพน้อยที่ 4 จะตั้งหน่วยที่ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีกรอบระยะเวลาการจัดตั้ง 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ             2555-2558      
          แหล่งข่าวจาก ทบ. กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพเดียวใน 4 กองทัพที่ไม่มี “กองทัพน้อย” ฉะนั้น การจัดตั้งกองทัพน้อยขึ้นนับว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพื่อแบ่งเบาภารกิจของ กองทัพใหญ่ โดยเฉพาะในภาคใต้มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนซึ่งเป็นปัญหา ยืดเยื้อ หากมีกองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง ทำให้กองทัพใหญ่มีสรรพกำลังและความพร้อมเพียงพอในการทำงานด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
          ฉะนั้นหากจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 เรียบร้อย กองทัพน้อยก็จะรับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ โดยเป็นกำลังหลักใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งก็อาจจะต้องมีการบรรจุกำลังพลเพิ่มและเปิดอัตราใหม่บ้าง
          “เรื่องนี้จะไม่กระทบกับนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะส่วนนั้นเป็นการถอนกำลังจากกองทัพภาคอื่นๆ ที่ลงมาช่วย คือกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 แต่การตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 เพื่อรับผิดชอบงานดับไฟใต้โดยตรง แต่ไม่ได้ไปแทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะโครงสร้าง กอ.รมน.ประกอบกำลังจากหลายหน่วย แต่กำลังพลจากกองทัพน้อยที่ 4 จะเป็นกำลังหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
          อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กองทัพน้อยที่ 4 ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมหน่วยกำลังที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ เช่น กรมทหารพรานที่จะเพิ่มอีก 5 กรมภายในปี 2555 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่มีอยู่เดิม จึงมีการขอเปิดอัตรากำลังใหม่กว่า 300 อัตรา ซึ่งขัดกับมติ ครม.และมติสภากลาโหมที่กำหนดว่าการจัดตั้งหน่วยใหม่จะต้องไม่เพิ่มกำลังพล เพราะจะเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว แต่ให้ใช้วิธีเกลี่ยกำลังในกองทัพของตนเองแทน
          นอกจากนั้น โครงการจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 ยังขัดกับแผนแม่บทการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม ที่มีแผนให้ยุบกองทัพน้อยที่มีอยู่ 3 กองทัพในปัจจุบัน คือ กองทัพน้อยที่ 1 กองทัพน้อยที่ 2 และกองทัพน้อยที่ 3 ภายในปี 2559 ด้วย เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็น จึงทำให้เกิดคำถามว่าการที่กองทัพบกผลักดันให้จัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 จะขัดกับแผนแม่บทการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมหรือไม่
          สำหรับงบประมาณสำหรับจัดตั้งกองทัพน้อยที่ 4 แม้จะยังไม่มีการเปิดเผย แต่คาดว่าต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพราะมีการเปิดอัตราใหม่ และยังต้องก่อสร้างสาธารณูปโภค ทั้งอาคารกองบัญชาการ อาคารสำนักงาน ที่พัก เรือนนอนของกำลังพล ขณะที่ก่อนหน้านี้มีโครงการจัดตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) และกองพลทหารราบที่ 7 (พล.ร.7) ซึ่งใช้การเกลี่ยกำลังพล ก็ใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทเช่นกัน

คำถามถึงยุทธศาสตร์ดับไฟใต้
          จาก 2 โครงการยักษ์ของกองทัพบก คงพอมองเห็นภาพอนาคตของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะอยู่ใน กำมือของทหารไปอีกนาน แม้จะมีการส่งสัญญาณทำนองว่าจะเร่งถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ แต่ก็มีโครงการตั้งกรมทหารพรานเข้าไปแทน และจัดตั้้งหน่วยเหนือเพิ่ม (กองทัพน้อยที่ 4) เพื่อบังคับบัญชาหน่วยกำลังอีกชั้นหนึ่ง
          ที่ผ่านมามีบางฝ่ายประเมินว่า การจัดตั้ง ศบ.กช.ของรัฐบาลเพื่อบูรณาการภารกิจดับไฟใต้ทั้งในระดับนโยบายและระดับ ปฏิบัติ เป็นการ "ลดทอน" อำนาจทหาร เพื่อเพิ่มอำนาจฝ่ายการเมือง และดึงงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาทที่ ศอ.บต.รับผิดชอบมาบริหารจัดการเอง
          แต่นั่นเป็นเพียง "ฉากหน้า" เพราะหากหากพิจารณาลึกลงไปจะพบว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก "ที่มา" ของโครงสร้าง ศบ.กช.แท้ที่จริงแล้วเสนอโดยกองทัพภาคที่ 4 โดยรับกรอบแนวคิดมาจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ซึ่งปัจจุบันถูกยืมตัวไปช่วยราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.13 กับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็น่าจะชัดว่าโครงสร้างนี้สนองตอบการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานด้านความมั่นคงเองมากกว่า
          ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งมีสายสัมพันธ์ดีเยี่ยมกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ลงไปบัญชาการแทน นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ คนปัจจุบันอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่โครงสร้าง ศบ.กช. จะตั้งขึ้นเพื่อดึงงบจาก ศอ.บต.มาบริหารเอง หนำซ้ำรัฐบาลยังจะใช้ ศอ.บต.เข้าไปขับเคลื่อนงานมวลชนและพัฒนาเพื่อแย่งชิงความนิยมในพื้่นที่ฐาน เสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็น 5 จังหวัดรวมสงขลากับสตูลด้วย
          ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ไม่ได้ประกาศนโยบายหรือทิศทางใหม่ใดๆ สำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่พรรคเพื่อไทยเคยชูเป็นนโยบายหา เสียงมาเอง หรือยุทธศาสตร์ด้านความเป็นธรรม (สิทธิการประกันตัว / ยกเลิกกฎหมายพิเศษ / แนวทางตั้งศาลชารีอะฮ์) ที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาเนิ่นนาน หรือแม้กระทั่งการเจรจาสันติภาพที่แอบทำกันลับๆ มาหลายปี
          ฉะนั้นทิศทางนโยบายดับไฟใต้ ณ นาทีนี้ จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่สาระสำคัญ นอกเสียจากการแบ่งเค้กงบประมาณก้อนโตระหว่างกองทัพกับรัฐบาล และการยึดกุมตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานบริหารระดับพื้นที่ เพื่อผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปเท่านั้นเอง...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพการฝึกทหารพรานจากเว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันเสาร์ที่ 1 ต.ค.2554

ทีมข่าวอิศรา

ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475



การพยายามเข้ายึดอำนาจการ ปกครองของประเทศ มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่การเข้ายึดอำนาจการปกครองพร้อมกับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง คงไม่มีใครไม่นึกถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
  การปฏิวัติภายใต้การนำของเหล่า " คณะราษฎร " ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. เป็นการยึดอำนาจการปกครองประเทศจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป


        เราคงเคยได้ยินคำว่า ปฏิวัติ กบฏ และรัฐประหารมาบ้างเเล้ว หลายคนไม่รู้ว่าคำ 3 คำนี้แตกต่างกันอย่างไร ก่อนอื่นจึงต้องให้ความเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้กันก่อน 





        เริ่มจาก คำว่า ปฏิวัติ (อังกฤษ: revolution) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากระบบเดิม ยกเลิกระบบเดิม ใช้ระบบใหม่ เป็นการอธิบายว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในทางการเมือง การปฏิวัติ คือ การยึดอำนาจจากผู้ปกครองเดิม แล้วทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แตกต่างจากการก่อรัฐประหาร ที่หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลที่บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่มิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองหรือรัฐทั้งรัฐเสมอไป  นั้นจึงเป็นเพียงการยึดอำนาจปกครอง แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง  และรูปแบบสุดท้ายนั้นก็คือ การกระทำที่มีเจตนาเช่นเดียวกับการรัฐประหารและปฏิวัติเพียงแต่กระทำการไม่ สำเร็จ บทลงโทษสำหรับผู้แพ้นั้นก็คือ การถูกบันทึกว่าเป็น "กบฏ" สถานเดียว จึงจะเห็นได้ว่า แม้รูปแบบในการเข้ายึดอำนาจจะเป็นการเข้ามาไม่แตกต่างกันนัก แต่การที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของปฏิบัติการนั้นเอง


        ในอดีตก่อนที่จะมีการ "การปฏิวัติสยาม" ก็ได้มีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อนหน้านี้เช่นกัน ย้อนไป  24 (พ.ศ. 2455)  ปีก่อนการการปฏิวัติสยาม ได้เกิด กบฏ ร.ศ. 130 ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6   ครั้งนั้น


        นาย ทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย  แต่แผนการแตกเสียก่อน ผู้ก่อการในครั้งนั้นได้รับโทษประหารชีวิตเเละขังคุกกันตามสภาพความผิด แต่ด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราช วินิจฉัย มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์ ทุกนจึงได้รับการลดหย่อนโทษตามสมควร


        กลับมาที่ "การปฏิวัติสยาม" ซึ่งคณะ" คณะราษฎร " ได้ให้เหตุผลในการก่อเหตุครั้งนั้นว่าสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ทั้งความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความไม่พอใจที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มักเอาแต่ทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานของ พระเจ้า ดังที่ระยาทรงสุรเดชเองเคยพูดว่า "พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วย วิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..."  อีกทั้งตอนนั้นทั่วโลกก็มีกระแสการโค่นล้มระบอบกษัตริย์เกิดขึ้น เช่น รัสเซีย จีน หรือเยอรมนี การได้รับอิทธิพลทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของประเทศตะวันตก ในเหล่านักศึกษาไทยที่ไปศึกษายังต่างประแดน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1   และการใช้จ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ความแตกต่างทางฐานะด้านสังคมที่ไม่ยุติธรรมระหว่างข้าราชการที่เป็นเจ้าและ ที่เป็นสามัญชน




ภาพจาก www.sarakadee.com


        " คณะราษฎร " ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยในครั้งนั้น เป็นกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม คือกลุ่มนักเรียนไทยในต่างประเทศ  และกลุ่มนายทหารทั้งทหารบกรวมทั้งทหารเรือในประเทศไทย จำนวน 115 คน นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)  และหากจะพิจารณาดูแล้วก็จะพบว่าบุคคลทั้ง 2 กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลระดับปัญญาชนที่มีสติปัญญาการศึกษาสูง ที่ต่างมีพื้นฐานบางประการเหมือนกันนั้นก็คือ ได้รับอิทธิพลของรูปแบบการปกครองจากประเทศทางตะวันตเมื่อครั้งที่ไปทำการ ศึกษา 



        พ.ศ. 2469  ณ หอพัก Rue de summerard กรุงปารีส 7 ปีก่อนทำการปฏิวัติ


        ใน ครั้งนั้นผู้ดูเเลนักเรียนไทยซึ่งเป็นพระราชวงศ์องค์หนึ่งได้แจ้งกลับมายัง เมืองไทยว่า มีนักเรียนไทยที่มีแนวคิดเป็นพวกหัวรุนเเรง จะเป็นภัยต่อประเทศจึงเห็นว่าควรให้บางคนกลับประเทศไทยเสีย ทางด้านนักเรียนไทยเองก็มีความไม่พอใจในสถาณการณ์บ้านเมืองอยู่เเล้ว การรวมกลุ่มเพื่อผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มาตั้งแต่ พ.ศ. 2469




        ภาพหมู่ คณะราษฎร ถ่ายที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2468 ในการพบปะเพื่อเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพจาก www.th.wikipedia.org


        ณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกที่หอพัก Rue Du Somerard กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้เข้าร่วมประชุมมี 7 คน ประกอบไปด้วย ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม กำลังศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ในโรงเรียนนายทหาร) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (ศึกษาวิชาการทหารม้าในโรงเรียนนายทหารของฝรั่งเศส) นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอกในสวิตเซอร์แลนด์) หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยเลขานุการทูตสยามประจำกรุงปารีส) นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) และนายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส) ภายหลังการประชุมที่ยืดเยื้อถึง 5 วัน ก็ได้มีมติให้นายปรีดี เป็นประธาน และหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสม โดยตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบกษัตริย์เหนือกฏหมายมาเป็น การปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฏหมาย โดยใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" " และจากประสบการณ์ของ กบฎ ร.ศ.130  ทำให้คณะผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครองในครั้งนี้ได้ทำการวางแผนการด้วยความ รัดกุมอย่างยิ่ง


24 มิถุนายน 2475


        ก่อน การปฏิวัติ"คณะราษฎร"ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนกันหลายครั้ง หากว่ามีความเสี่ยงสูงก็ต้องยอมยกเลิกแผนการนั้นไปก่อน จนกระทั่งถึงครั้งที่เห็นชอบกันว่ามีความพร้อมมากที่สุด นั้นคือ จะทำการปฏิวัติในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะ ในวันนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่ พระราชวังไกลกังวล จึงทำให้ในกรุงเทพฯ เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนเท่านั้น



        การปฏิวัติครั้งสำคัญครั้งนี้ ได้ทำการประชุมวางแผนกัน ณ บ้านของ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่12 มิถุนายน 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่มออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ


        หน่วยที่ 1 เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 06.00 น.ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข รวมทั้งคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดสามารถแล่นเข้ามาได้ 



        หน่วยที่ 2 เริ่ม งานตั้งแต่เวลา 01.00 น. ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ รวมทั้งวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์


        หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที


        สุดท้าย หน่วยที่ 4 อัน ถือว่าเป็น " มันสมอง "  โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมการเจรจากับต่างประเทศหลังการปฏิบัติการสำเร็จ


        ใน วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร โดยพระยาทรงสุรเดช อาศัยความเป็นอาจารย์ใหญ่ที่สอนนักเรียนที่โรงเรียนนายร้อย ใช้กลลวงนำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง



        แผน การในครั้งนี้สำเร็จลง เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ด้วยการวางแผนที่แยบยล ตั้งแต่การจับตัวประกัน การตัดการสื่อสาร และที่สำคัญการลวงทหาร ดังที่พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า    "เป็น เพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการ ฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่"




ภาพจาก สถาบันพระปกเกล้า


        ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อ และบ้านเมืองต้องได้รับความเสียหาย อีกทั้งพระองค์เองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบ ประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหา กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ


        หลัง ยึดอำนาจสำเร็จ วันที่ 26 มิถุนายน 2475 ผู้แทนคณะราษฏรได้เดินทางเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ วังศุโขทัย นำเอกสารสำคัญขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองประเทศ โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ในวันที่ 27 มิถุนายน



        สภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกตามธรรมนูญการปกครองฯ มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี คนแรกของประเทศไทยและมีนายปรีดี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม


        การ ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ภายใต้การนำของคณะราษฎร เป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย  อำนาจอธิปไตยซึ่งเดิมเป็นของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้มาเป็นของประชาชน และยกกษัตริย์ขึ้นเป็นประมุขของประเทศ โดยไม่มี พระราชอำนาจในทางการบริหารบ้านเมืองอย่างแท้จริง หากเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ การกระทำของกษัตริย์ในทางการเมืองต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเสมอ นั่นคือ ผู้ลงนามสนองฯเป็นผู้กระทำและรับผิดชอบ ส่วนการกระทำของกษัตริย์เป็นแต่เพียงในนามเท่านั้น และมีหลัก 6 ประการเป็นเป้าหมาย อันประกอบด้วย เอกราช, ความปลอดภัย, ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ, ความเสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา




ที่มาภาพ : http://prachatai.com


        หลักฐานแห่งประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ถูกถ่ายทอดมาถึงปัจจุบันบนลานบนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่าเป็น สมุด ทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน เขียนไว้ว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”


        ภาย หลังการปฏิวัติที่สำเร็จลง ก็ใช่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะสงบลงเอยด้วยดี ยังการต่อสู้ทางการเมืองของผู้มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันทั้ง ผู้นำในระบบเก่าที่ยึดมั่นในทาง(สมบูรณาญาสิทธิราชย์) กับระบอบใหม่ (ประชาธิปไตย) รวมทั้งในกลุ่มคณะราษฎรเองก็มีความขัดแย้งกันในภายหลังอย่างรุ่นเเรงเช่นกัน



        สิ่ง ที่เราได้จากวันที่ 24 มิถุนา 2475 คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ แต่ประชาธิปไตยจะก้าวไปในทิศทางใดขึ้นอยู่กับผู้ใช้ในปัจจุบัน


        เบื้อง หน้าเบื้องหลังการปฏิวัติ กบฏ หรือรัฐประหารในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น กับสิ่งที่เรารับรู้ย่อมเป็นไปอย่างหลากหลาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครคือผู้ครอบครอบ "อำนาจ"ในการเปิดเผยประวัติศาสตร์ในขณะนั้นๆ



        แต่ สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจละเลยได้ นั้นก็คือ ส่วนหนึ่งของ พระราชหัตถเลขาฉบับประวัติศาสตร์ว่าของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้ง ได้ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม 2477  ความว่า



        "…ข้าพเจ้า มีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน"


ข้อมูลอ้างอิง
10 ธันวา วันรัฐธรรมนูญ ? คอลัมน์ ระดมสมอง  โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3855 (3055)
กบฏ - ปฏิวัติ - รัฐประหาร ในสังคมการเมืองไทย หัวไม้ story
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 งานศึกษาวิจัย ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
สถาบันพระปกเกล้า www.kpi2.org


รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง