วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555
จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 มาร์คยัน ถอนผล วิจัยพระปกเกล้า
จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 ว่าด้วยการปรองดอง
โดย Abhisit Vejjajiva เมื่อ 25 มีนาคม 2012
ก่อนอื่นต้องผมขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานเวทีเสวนาที่โรงแรมมิราเคิล เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ที่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความคิดเห็น และท้วงติงรายงานการวิจัย ที่สำคัญที่สุดผมขอขอบคุณที่คณะผู้วิจัยได้ยืนยันชัดเจนว่าข้อเสนอ ของคณะผู้วิจัยนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องนำไปสานเสวนาระดับชาติเพื่อ สร้างบรรยากาศการปรองดอง และหาข้อยุติร่วมกัน มิใช่การหยิบส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วนำไปลงมติใช้เสียงข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นโดยกรรมาธิการ โดยสภาฯ หรือโดยรัฐบาล
ต่อมา รศ.วุฒิสาร ตันไชย หัวหน้าคณะผู้วิจัยและรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าได้ออกแถลงการณ์ยืนยัน ว่า "หากคณะกรรมาธิการฯ หรือสภาฯ มีการลงมติเลือกแนวทางหนึ่งแนวทางใดอย่าง รวบรัดด้วยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยมิได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยในส่วนของกระบวนการดังกล่าวที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วเสียก่อน คณะผู้วิจัยจะขอถอนรายงานวิจัยที่ได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อมิให้มีการ นำผลการวิจัยไปใช้ในการอ้างอิงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างความปรองดองในชาติได้อีกต่อไป"
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มีการออกแถลงการณ์ดังกล่าว และหลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการฯ ให้มีการประชุมเพื่อสรุปทบทวนรายงานของคณะกรรมาธิการ ซึ่งในขณะนี้ มีการหยิบข้อเสนอ เรื่องการนิรโทษกรรมคดีทั้งหมด และล้มคดี คตส. ไปลงมติด้วยวิธีการส่งแบบสอบถาม และนำผลไปสรุปเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนิรโทษกรรมคดีทุกคดี ล้มคดี คตส. โดยไม่มีการนำคดีมาดำเนินการใหม่ ล่าสุดมีการแจ้งมายังกรรมาธิการฯ ว่า จะไม่มีการประชุมอีก และ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขานุการ คณะกรรมาธิการ บอกเพียงว่า จะนำตัวเลขจากแบบสอบถามออกจากรายงาน ซึ่งน่าจะหมายความ ข้อเสนอ และข้อสรุป ในรายงานของคณะกรรมาธิการ จะยังคงเหมือนเดิม สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรี กล่าวรับลูกว่าจะให้ปัญหาการปรองดองยุติที่สภาฯ
ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า รศ.วุฒิสาร และคณะ มีความตั้งใจดีที่จะร่วมหาทางออกให้แก่บ้านเมือง แต่อาจลืมมองถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า หากคณะผู้วิจัยปล่อยให้มีการนำงานวิจัยนี้เข้าสู่สภาฯ จนนำไปสู่การลงมติ ย่อมสายเกินกว่าที่จะถอนรายงานวิจัยออกมา และเมื่อถึงเวลานั้นแม้คณะผู้วิจัยจะอ้างว่าได้ทำข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังกรรมาธิการฯ แล้ว ก็คงไม่สามารถหนีสภาพที่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมกับเสียงข้างมาก ที่กำลังลากความปรองดองไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ได้
ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการ สภาสถาบันพระปกเกล้า และเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะผู้วิจัยกรุณามาสัมภาษณ์ถามความเห็น เกี่ยวกับแนวทางปรองดอง ผมมีข้อเสนอ มายังผู้เกี่ยวข้องดังนี้
ข้อเสนอคือคณะผู้วิจัย
ถอนรายงานวิจัยออกจากคณะกรรมาธิการฯ ทันที เพื่อดำเนินการยืนยันตามเจตนารมณ์ของคณะผู้วิจัยที่ได้ประกาศไว้ และทบทวนรายงานในประเด็นดังต่อไปนี้
1. กรณี ข้อเท็จจริง เมื่อคณะผู้วิจัยเสนอให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงของ คอป. และเสริมความเขื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการปรองดอง ก็ควรจะเริ่มต้นจากคณะผู้วิจัยเอง ที่ควรนำเอาข้อสรุปของ คอป. เกี่ยวกับต้นตอของวิกฤติ คือ คดีซุกหุ้น พ.ต.ท. ทักษิณมาเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน แทนการเขียนถึงเรื่องนี้เพียง 2-3 ประโยค ในลักษณะที่สวนทางกับข้อสรุปของ คอป. นอกจากนั้นยังสมควรเอาคำพิพากษาของศาลในหลายๆ คดีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การเผาศาลากลาง และสถานที่สำคัญ มาบรรจุไว้ มิใช่กล่าวลอยๆ ว่าขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. ปี 2553
2. ทบทวนข้อเสนอที่สุดโต่ง และนำมาสู่ความขัดแย้ง คือการยกเลิกคดี คตส. ทั้งหมด และห้ามไม่ให้มีการนำมาพิจารณาใหม่ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ของผู้ต้องการหลุดคดี และเป็นการเสนอโดยกลุ่มคนดังกล่าวโดยคณะผู้วิจัยก็ยอมรับว่าเป็นข้อเสนอที่จะทำให้ “การสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่าถ้ากระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือไม่” ขณะที่คณะผู้วิจัยกลับไม่ยอมรับข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากที่ไม่มีส่วน ได้เสียในคดีที่ให้คดี คตส. เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยอ้างว่าไม่ตอบโจทย์การปรองดอง
หากไม่มีการทบทวนเรื่องนี้ รัฐบาลก็จะหยิบทางเลือกนี้ไปเริ่มดำเนินการตามรายงานของกรรมาธิการ ทำให้กระบวนการปรองดองถูกแปรเป็นการตอบโจทย์ผู้กระทำความผิด โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมกับความถูกต้องของบ้านเมือง ไปสู่สภาพ “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เช่นเดียวกับข้อเสนอนิรโทษกรรมที่คุณนิชา ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ระบุว่า
"ได้อ่านรายงานของคณะผู้วิจัยหลายครั้ง พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเราเหมือนกับคณะผู้วิจัยบอกไว้ ท่านตั้งธงว่าเป็นรายงานที่จะนำไปสู่ความปรองดอง และไม่ต้องการให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นมาอีก หรือต้องการความรุนแรงอีก เป็นรายงานที่เกิดจากความรู้สึกของคนที่สูญเสีย แต่เราอ่านรายงานฉบับนี้แล้ว ยอมรับได้ยาก แต่ถ้าเป็นคนอ่านที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากความผิด รายงานฉบับนี้ตอบโจทย์ มีหลายประเด็นที่ขัดแย้งกันเอง ในเรื่องตรรกะรวมถึงปรัชญาที่รายงานนำมาใช้อ้างอิง"
1. คณะผู้วิจัยควรใช้โอกาสการทบทวนนี้ประสานกับ คอป. ซึ่งกำลังทำรายงานฉบับที่ 3 ส่งให้รัฐบาลภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อนำมาประกอบการวิจัย เพราะแม้แต่นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. ยังให้ความเห็นว่า
"ผมคงไม่บังอาจไปวิจารณ์ กมธ.ปรองดอง เพราะเป็นการเมืองแต่ คอป.เป็นงานวิชาการเพื่อความปรองดองทุกด้าน เป็นการทำงานคนละบทบาท แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในข้อเสนอต่างๆ ของ กมธ.ปรองดองไม่ปรากฏข้อเสนอแนะของ คอป.อยู่เลย จึงสงสัยว่า คอป.ทำงานไม่ดีหรืออย่างไร และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คน ของสถาบันพระปกเกล้า ใช้เทียบเคียงกับงานสำรวจความคิดเห็นได้หรือไม่ เพราะมองว่าสัดส่วนน้อยมาก"
ผมจึงเรียกร้อง ให้คณะผู้วิจัยถอนรายงานที่กำลังถูกบิดเบือนไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ซึ่งจะสร้างความขัดแย้ง และทำลายความถูกต้องในบ้านเมือง อันจะส่งผลให้คณะผู้วิจัยและสถาบันพระปกเกล้าถูกครหาว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องการกระทำเช่นนี้ด้วย
ข้อเสนอถึงประธานและเลขานุการกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า
ผมเรียกร้องให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการสภาฯ โดยด่วน เพื่อพิจารณาปัญหาทั้งหมดนี้ เพราะกรรมการสภาฯ เป็นผู้อนุมัติให้มีการจัดทำงานวิจัยนี้ จึงหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ การประชุมเพื่อการกำหนดท่าทีที่ชัดเจน จะเป็นการปกป้องชื่อเสียงของสถาบันฯ
ข้อเสนอถึงประธานคณะกรรมาธิการฯ
ผมเรียกร้องให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยด่วน เพราะการไม่เรียกการประชุมในขณะนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการปล่อยให้รายงานของคณะกรรมาธิการฯ เขียนโดยกรรมาธิการคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่มีการทักท้วงจากกรรมาธิการอีกจำนวนหนึ่ง
หากปล่อยไปเช่นนี้ ประธานคณะกรรมาธิการฯ จะต้องรับผิดชอบกับกระบวนการบิดเบือนข้อเสนอของผู้วิจัย และการสร้างความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ ทั้งๆ ที่การเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ ต้องการเข้ามาแก้ไขความขัดแย้ง ที่ตนมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นด้วย
ขณะนี้ความสำเร็จเรื่องการปรองดอง แขวนอยู่บนเส้นด้าย รายงานของคณะผู้วิจัย สามารถนำไปใช้เป็นจุดเริ่มต้น ในการหาข้อยุติร่วมกัน เพื่อสร้างความปรองดองได้ จะเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากรายงานชิ้นนี้ ต้องกลายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ในการฉกฉวยผลประโยชน์ และสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ ส่งผลให้ความหวังของสังคมในเรื่องการปรองดองต้องล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง
ผมจึงหวังว่าข้อเสนอในจดหมายฉบับนี้เพื่อให้กระบวนการปรองดองเดินหน้าต่อไปได้ จะได้รับการพิจารณาด้วยดี จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.
ไทยรัฐ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน