บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้านวินจยย.รับจ้าง



         เปิดขุมทรัพย์หมื่นล้านวินจยย.รับจ้าง "ตำรวจ-เทศกิจ-กลุ่มอิทธิพล" พุงกาง ใครแข็งเมืองส่งมือปืนตามเก็บ สมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์ฯ เสนอทางออกให้กระทรวงคมนาคมรับหน้าเสื่อบริหารจัดการแทนกทม. ตัดตอนมาเฟีย
         ตีแผ่กลุ่มอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หลังสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ทนถูกมาเฟียขูดรีดไม่ไหวเข้าร้องเรียนต่อ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ให้ปราบปรามกลุ่มมาเฟียวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานครใหม่ หลังมาเฟียจักรยานยนต์รับจ้างฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพราะมาตรการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลคลายความเข้มข้นลง
        จากการตรวจสอบของ "คม ชัด ลึก" พบว่า ชนวนเหตุที่ทำให้ปัญหามาเฟียและกลุ่มอิทธิพลขูดรีดเรียกเก็บค่าคุ้มครองจาก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างไม่หมดไปจากสังคมนั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะผลประโยชน์ก้อนโต ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์มหาศาลมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินก้อนนี้ถูกกระจายส่งต่อเป็นทอดๆ ให้แก่กลุ่มผู้มีอิทธิพล 4 กลุ่มหลัก คือ ลิ่วล้อนักการเมือง คนมีสี ตำรวจ และเทศกิจ
      "คม ชัด ลึก" ได้รับการเปิดเผยจากผู้คร่ำหวอดในธุรกิจรถจักรยานยนต์รับจ้างรายหนึ่งว่า หลายสิบปีมาแล้วที่ธุรกิจวินจักรยานยนต์รับจ้างสร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม มาเฟียที่คอยจัดเก็บผลประโยชน์จากบรรดาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสร่างซาลงบ้างก็เฉพาะสมัยที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากหมดยุคดังกล่าวกลุ่มมาเฟียก็กลับมามีบทบาทในธุรกิจวินจักรยานยนต์ รับจ้างอีกครั้ง
      แหล่งข่าวรายนี้ บอกว่า มาเฟียวินจักรยานยนต์รับจ้าง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดิมที่เคยถูกกวาดล้างปราบปรามไปในช่วงรัฐบาลปราบปราม กลุ่มผู้มีอิทธิพล แต่ได้กลับมาอีกครั้งหลังการปฏิวัติในปี 2549 โดยมาเฟียที่ว่าส่วนใหญ่ เป็นลิ่วล้อของนักการเมือง ลูกน้องทหาร นิ้วของตำรวจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งการเรียกเก็บผลประโยชน์จากวินจักรยานยนต์รับจ้างนั้น หากเป็นวินเดิมที่มีอยู่ก่อนก็จะเข้ามายึดวิน โดยบีบให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในวินนั้นๆ ยินยอมให้มาเฟียดังกล่าวเป็นประธานวิน รวมถึงยังนำสมัครพรรคพวกเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการวิน
       "มาเฟียเขาจะบีบบังคับให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างยอมรับให้เขาเป็น ประธานวิน รวมทั้งจะนำสมัครพรรคพวกเข้ามาเป็นคณะกรรมการวิน ซึ่งในรายละเอียดของการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างก่อนหน้านี้ระบุว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจะจดทะเบียนเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สาธารณะได้ก็ต่อเมื่อไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตในพื้นที่ โดยต้องผ่านการรับรองจากประธานและคณะกรรมการวินจักรยานยนต์รับจ้างนั้นๆ ซึ่งมาเฟียที่เข้ามายึดวินจะฉวยโอกาสนี้เรียกเก็บผลประโยชน์จากการรับรองผู้ ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยอ้างว่าเป็นค่ารับรองในหลักหมื่นบาทต่อคน" แหล่งข่าวรายนี้ ขยายความ
       เขาบอกด้วยว่า นโยบายประชาภิวัฒน์ในยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างใหม่โดยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับ จ้างทั้งหมดไปขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มาเฟียเหล่านี้ก็จะเกณฑ์สมัครพรรคพวกไปลงทะเบียนเพิ่มเติมจากผู้ขับขี่เดิม อาทิ เดิมวินที่พวกเขาดูแลอยู่เคยมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เพียง 50 คน แต่กลับไปเกณฑ์คนไปลงทะเบียนเป็น 150 คน เพื่อนำส่วนต่างดังกล่าวมาตัดเสื้อวินจักรยาน
ยนต์ขายต่อให้แก่ผู้ที่ ต้องการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างรายใหม่ โดยจะจำหน่ายกันในอัตราสูงตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงเกือบสองแสนบาทต่อเสื้อวิน 1 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของวินจักรยานยนต์นั้นๆ
       นอกจากค่าเสื้อวินแล้วมาเฟียยังเรียกเก็บค่ารายวันและรายเดือนเพิ่มเติมอีก โดยอ้างว่าเป็นค่าน้ำร้อน ค่าน้ำชา และค่าตำรวจ โดยการจัดเก็บค่ารายวันนั้นมีตั้งแต่ 20 บาทต่อวันไปจนถึง 120 บาทต่อวัน ขณะที่รายเดือนมีตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของวินจักรยานยนต์เช่นกัน  
 ข้อมูลดังกล่าวสอด คล้องกับ นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า นโยบายประชาภิวัฒน์ที่กำหนดให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างไปยื่นจด ทะเบียนใหม่กับสำนักงานเขตต่างๆ รวม 50 เขต กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มมาเฟียวินจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามาหาผลประโยชน์จาก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีทั้งที่เข้ามาข่มขู่ยึดวิน และจัดตั้งวินใหม่ขึ้นมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารทับเส้นทางของวินเดิม จนเกิดปัญหาแย่งชิงผู้โดยสาร เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทและลุกลามไปถึงขั้นฆ่ากันตาย
      นายเฉลิม บอกว่า กลุ่มมาเฟียดังกล่าว มีทั้งที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ลูกน้องทหาร นักเลงคุมบ่อน เด็กเดินยาที่คอยจัดเก็บเงินให้แก่ตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจบางคน ซึ่งมาเฟียเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลกลุ่มเดิมๆ ที่เคยคุมวินจักรยานยนต์รับจ้างเก่าสมัยก่อนนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งหลังจากนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลลดความเข้มข้นลงบุคคลเหล่านี้ก็กลับ มาอีก
       "อย่างที่ วินซอยต้นโพธิ์ ย่านห้วยขวาง มีลูกน้องนักการเมืองพรรคหนึ่งเป็นมาเฟียใหญ่คอยจัดเก็บผลประโยชน์ในวินดัง กล่าวอยู่ ผู้ขับขี่รายใดต้องการไปวิ่งวินต้องซื้อเสื้อวินตัวละ 1.8-2 แสนบาทต่อตัว หรือไม่ก็ต้องเช่าเสื้อตัวละ 4.5 พันบาทต่อเดือน บวกกับค่าตำรวจอีกเดือนละ 300 บาท ผู้ขับขี่รายใดไม่ยอมจ่ายก็ไม่สามารถเข้าไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ และหากรายใดดื้อดึงก็จะถูกรุมทำร้าย" นายเฉลิมกล่าว
      นายเฉลิม ให้ข้อมูลด้วยว่า ที่วินจักรยานยนต์รับจ้างแห่งหนึ่งย่านอ่อนนุช ก็มีมาเฟียซึ่งเป็นลูกน้องของคนสนิทนักการเมืองรายหนึ่งเข้าไปขอบริหารวิ นแทนประธานวินคนเก่า เมื่อถูกปฏิเสธ มาเฟียรายนี้ก็จัดส่งมือปืนเข้าไปยิงประธานวินรายนี้จนเสียชีวิตแล้วเข้าไป ยึดวินบริหารแทน กรณีนี้ตำรวจก็ทราบดีว่าคนร้ายคือใครแต่จนถึงทุกวันนี้เวลาล่วงเลยกว่า 2 ปีแล้วตำรวจก็ยังไม่จับกุมคนร้าย
       ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้มาเฟียวินจักรยานยนต์รับจ้างไม่หมดไป นายเฉลิมเชื่อว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐหิวเงิน มาเฟียเหล่านี้แทบทั้งหมดเป็นคนที่มีความสนิทสนมทำหน้าที่จัดเก็บผลประโยชน์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสิ้น
       "การเข้าไปยึดวินหรือตั้งวินใหม่ของมาเฟียไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้รับไฟเขียวจากตำรวจหรือเทศกิจในพื้นที่ โดยการจัดตั้งวินใหม่นั้นมาเฟียจะเข้าไปติดต่อกับตำรวจจราจรและตำรวจฝ่ายสืบ สวนในแต่ละโรงพักว่าจะขอจัดตั้งวินในพื้นที่แล้วเสนอค่าตอบแทนให้เป็นราย เดือน จำนวนเท่าไหร่แล้วแต่การเจรจาตกลง หลังจากนั้นจะเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่เทศกิจในสำนักงานเขตในพื้นที่ เจรจาต่อรองจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนกันเช่นกัน เพราะการตั้งวินส่วนใหญ่จะตั้งบนทางเท้า หากไม่ได้รับความยินยอมจากเทศกิจก็จะตั้งไม่ได้" นายเฉลิม ขยายความ
       อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างนั้น พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านจราจร ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ล่าสุด พล.ต.ต.วรศักดิ์ ได้สั่งการให้ทุกโรงพักสำรวจจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างทั้งหมด
      ปัจจุบันพบว่า มีวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 6,330 วิน รวม 97,620 คัน แบ่งรายละเอียดตามพื้นที่ได้ดังนี้ บก.น.1 จำนวน 485 วิน รวม 8,536 คัน บก.น.2 จำนวน 3,018 วิน รวม 22,580 คัน บก.น.3 จำนวน  347 วิน รวม 5,614 คัน บก.น.4 จำนวน 349 วิน รวม 11,845 คัน บก.น.5 จำนวน 790 วิน รวม 19,555 คัน บก.น.6 จำนวน 307 วิน รวม 2,482 คัน บก.น.7 จำนวน 302 วิน รวม 7,634 คัน บก.น.8 จำนวน 259 วิน รวม 7,166 คัน บก.น.9 จำนวน 473 วิน รวม 12,208 คัน ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมวินเถื่อนซึ่งมีการจัดตั้งใหม่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีอยู่ 594 วิน รวม 3,362 คัน โดยตัวเลขวินเถื่อนดังกล่าวนั้นยังไม่ชัดเจนอยู่ระหว่างการตรวจสอบยืนยัน จำนวนที่แท้จริงอีกครั้ง
        ทั้งนี้ หากคำนวณตัวเลขผลประโยชน์จากธุรกิจวินจักรยานยนต์อย่างคร่าวๆ พบตัวเลขมหาศาลจากค่าเสื้อวิน เฉลี่ยต่อตัว 1 แสนบาท หากมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนคน เป็นเงินรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่นับรวมเงินค่ารายเดือนที่เฉลี่ยอีก 1,000 บาทต่อคัน เป็นเงินรวมกันอีกกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือนหรือตกประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี, ค่ารายวันเฉลี่ยอีก 50 บาทต่อคัน รวม 1 แสนคัน เป็นเงินประมาณ 5 ล้านบาทต่อวัน หรือราว 150 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 1.8 พันล้านบาทต่อปี โดยเม็ดเงินเหล่านี้ จะถูกจัดสรรส่งต่อเป็นทอดๆ ให้แก่คน 4 กลุ่ม ได้แก่ มาเฟียคุมวินในสัดส่วนร้อยละ 40, นักการเมืองร้อยละ 20,ตำรวจร้อยละ 20 และเทศกิจร้อยละ 20


  เผยพฤติกรรมโหดมาเฟีย จยย.รับจ้าง ฆ่าคนเก่าเข้ายึดตำแหน่งประธานใหม่แทน แฉเล่ห์ "สวมรอยเพิ่มจำนวน จยย." รีดหนักเสื้อกั๊กตัวละแสน ตร.เตรียมจัดระเบียบครั้งใหญ่ ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ร่วมพิจารณาตั้งวิน ขณะที่ "วัน อยู่บำรุง" ปฏิเสธให้ความเห็นมาเฟีย จยย. ทั้งๆ ที่เคยเคลื่อนไหวในการจัดระเบียบ
        หลังจาก "คม ชัด ลึก" ตีแผ่ขุมทรัพย์มูลค่าหมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานครต้องจ่ายให้แก่ กลุ่มมาเฟีย จนสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยต้องรวมตัวกันเรียกร้อง ให้มีการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างจำนวนไม่น้อยยังถูกคุกคามเรียก เก็บผลประโยชน์อยู่
       นายสมใจ หนุ่มใหญ่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านอ่อนนุช ซึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารมานานกว่า 10 ปี ยอมรับว่า รู้สึกเป็นกังวลในความปลอดภัยของชีวิต เนื่องจากกำลังถูกคุกคามจากมาเฟียวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เข้ามาข่มขู่ เรียกเก็บผลประโยชน์ภายในวินจักรยานยนต์รับจ้างอยู่เสมอ แม้ว่าเมื่อปี 2546 มีการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างไปแล้ว และได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานเขตอย่างถูกต้อง อีกทั้งภายในวินจักรยานยนต์รับจ้างที่สังกัดอยู่ ก็มีคณะกรรมการวิน มีการคัดเลือกประธานวินขึ้นมาทำหน้าที่บริหารวินตามระเบียบที่กำหนดไว้ ทุกอย่าง ในระยะแรกไม่มีปัญหา กระทั่งเมื่อปีเศษๆ ที่ผ่านมา เริ่มมีมาเฟียเข้ามายึดวินและเรียกเก็บเงินอย่างไม่เป็นธรรม
       "มาเฟียกลุ่มนี้เป็นคนในพื้นที่มีบ้านพักอยู่ย่านวัดใต้ เป็นนักเลงคุมบ่อน มีลูกพี่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองพรรคใหญ่ ตอนแรกเข้ามาเจรจากับประธานวินคนก่อนขอบริหารวินแทน แต่ประธานวินไม่ยินยอม เขาจึงยิงประธานวินเสียชีวิต หลังจากนั้นก็เข้ามายึดวินทำหน้าที่เป็นประธานวินแล้วนำลูกน้องเข้ามาเป็น คณะกรรมการวิน ข่มขู่ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งนี้จ่ายค่าน้ำวันละ 20 บาทต่อคน" นายสมใจกล่าว
      ตลอดระยะเวลา 1 ปีเศษ นายสมใจยินยอมจ่ายเงินวันละ 20 บาทให้แก่มาเฟียรายเพราะกลัวถูกทำร้าย กระทั่งรัฐบาลชุดก่อนมีนโยบายประชาภิวัฒน์ กำหนดให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างต้องไปขึ้นทะเบียนใหม่กับสำนักงานเขต มีการกำหนดให้ผู้ขับขี่รายเดิมต้องมีหนังสือรับรองจากประธานวินจึงจะไปขอจด ทะเบียนได้ กลายเป็นช่องทางให้มาเฟียรายนี้ขูดรีดเงินเพิ่มอีก
      "มาเฟียมาบอกพวกผมหากต้องการจดทะเบียนต้องจ่ายเงินเป็นค่ารับรองให้เขาคนละ 1 หมื่นบาท พวกผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทั้งที่เป็นคนเก่าคนแก่ขับกันมานานแล้ว และเคยจดทะเบียนอย่างถูกต้องมาตั้งแต่ปี 2546 จึงไม่ยอมจ่าย และได้ไปติดต่อขอจดทะเบียนเองที่สำนักงานเขต แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะต้องมีหนังสือรับรองจากประธานวินมาแสดง" นายสมใจกล่าว
       ทุกวันนี้นายสมใจและเพื่อนรวม 16 คน ในวินจักรยานยนต์แห่งนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้าง แม้จะมีการติดต่อยอมลดเงินค่าออกหนังสือรับรองให้จากเดิมเรียกเก็บ 1 หมื่นบาทต่อคน ลดเหลือ 6,000 บาท หากยังไม่ยอมอีกจะถูกข่มขู่เอาชีวิต
       "วันก่อนมีชายฉกรรจ์เข้ามานั่งที่วินของผม เขานั่งรอจนกระทั่งถึงคิวรับส่งผู้โดยสารของผมจึงจะมาขึ้นรถ ผมเห็นพฤติกรรมแปลกจึงปฏิเสธไป เพราะตัวเขาปฏิเสธที่จะไปกับคันอื่น เมื่อผมไปส่งผู้โดยสารรายอื่นกลับมาแล้วเขายังรออยู่อีก ผมเลยให้เพื่อนพยายามถ่ายภาพเอาไว้ เขาเห็นดังนั้นจึงเดินหนีไป ทุกวันนี้ผมต้องระมัดระวังตัวทุกฝีก้าว จะออกจากบ้านเฉพาะเวลากลางวัน และกลับเข้าบ้านก่อนค่ำเสมอ" นายสมใจกล่าว
       นอกจากมาเฟียกลุ่มนี้จะเรียกเก็บค่าออกหนังสือรับรองจากนายสมใจและเพื่อน ร่วมวินแล้ว ยังมีการเกณฑ์คนไปลงทะเบียนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่ม จากเดิมวินแห่งนี้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเพียง 83 คน แต่มาเฟียรายนี้กลับไปแจ้งสำนักงานเขตว่ามีถึง 124 คน ส่วนต่างดังกล่าวนี้ มาเฟียได้นำไปตัดเสื้อวินมาขายให้แก่ผู้ขับขี่รายใหม่ในราคาตัวละ 1 แสนบาท ทำให้มาเฟียกลุ่มนี้มีรายได้จากการขายเสื้อวินทันที 4.1 ล้านบาท
      อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เป็นงานฝากที่ กทม.รับต่อมาจากกระทรวงคมนาคม นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากมีการเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับงานกลับไปทำเองก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำ ได้ โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ที่มอบอำนาจให้ปลัดกรุงเทพมหานครดำเนินการในการจดทะเบียนแล้วให้ระบุใหม่ โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งทาง กทม.ไม่ได้ขัดข้อง
       ส่วนความคืบหน้าในการจดทะเบียนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างนั้น นายธีระชน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทางปลัด กทม.ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ดำเนินการ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เนื่องจากมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในเขตต่างๆ ทยอยไปจดทะเบียนกับสำนักงานเขตอยู่อย่างต่อเนื่อง
       "ส่วนข้อครหาที่มีการระบุว่ามีเจ้าหน้าที่เทศกิจไปเกี่ยวข้องกับการรับผล ประโยชน์ สมัยที่ผมยังกำกับดูแลสำนักเทศกิจนั้น ก็ยอมรับว่ามีเรื่องดังกล่าวจริง ก็ได้มีการโยกย้ายไปกว่า 2,000 คน ขณะนี้สำนักเทศกิจไม่ได้อยู่ในกำกับผมแล้ว โดยท่านผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ กทม. อีกคน เป็นผู้กำกับดูแล ผมจึงไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร" นายธีระชนกล่าว
       ขณะเดียวกัน นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักเทศกิจ กล่าวถึงกระแสข่าวมีเทศกิจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มาเฟียวินมอเตอร์ไซค์ว่า ต้องรอการตรวจสอบรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะยังเป็นแค่กระแสข่าว แต่ถ้ามีการร้องเรียนและพบว่าเทศกิจของกทม.เกี่ยวข้องจริงๆ ก็สามารถเอาผิดเทศกิจเพราะมีโทษทางวินัยแน่นอน 
       "การขึ้นทะเบียนวินมอเตอร์ไซค์นั้นก็เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ตำรวจแต่ละพื้นที่ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว" นายวัลลภกล่าว
 ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผบช.น. ซึ่งกำกับดูแลการปราบปรามมาเฟียและกลุ่มผู้มีอิทธิพล กล่าวว่า หลังจากสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยเข้าพบ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. เพื่อให้ช่วยเหลือในการปราบปรามกลุ่มมาเฟียนั้น ผบช.น.ได้มอบหมายให้เข้าไปดำเนินการในการปราบปรามมาเฟียดังกล่าว ปรากฏว่า มีการจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่ร่วมกันทำร้ายนายชัยรัตน์ สีหวงษ์ อายุ 37 ปี ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างซอยพร้อมพงษ์ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยสาเหตุเกิดจากกลุ่มผู้ต้องหามีพฤติกรรมจัดตั้งวินจักรยานยนต์เถื่อนวิ่ง รับส่งผู้โดยสารทับเส้นทางวินที่นายชัยรัตน์ขี่อยู่
        พล.ต.ต.วิชัย กล่าวอีกว่า ได้กำชับให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนทุกโรงพักกวดขันเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว และมอบหมายให้ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น.รับผิดชอบงานด้านจราจรเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวนวินจักรยานยนต์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนในเขต กทม.ทั้งหมด หลังจากทราบจำนวนอย่างชัดเจนแล้ว จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดระเบียบวิ นจักรยานยนต์ทั้งหมด
       ในเบื้องต้นนั้นการจัดตั้งวินจักรยานยนต์ขึ้นใหม่จะต้องมีการขออนุญาตอย่าง ถูกต้องจากตำรวจและสำนักงานเขตในพื้นที่ โดยการจัดตั้งวินใหม่นั้นจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ประกอบด้วย ตำรวจ เจ้าหน้าที่ กทม. และตัวแทนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และที่สำคัญบริเวณที่ตั้งวินจะต้องไม่อยู่บนทางเท้าหรือกีดขวางช่องทางจราจร
         ทั้งนี้ จากกรณีที่นายวัน อยู่บำรุง ผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเอาจริงเรื่องกวาดล้างวินมอเตอร์ไซค์เถื่อน ทาง กทม.เห็นว่าเป็นเรื่องดี และคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจากเป็นลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงน่าจะประสานตำรวจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
         "คม ชัด ลึก" ได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง จากนายวัน อยู่บำรุง แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะตอบถึงกรณีปัญหาดังกล่าว

          วิน จยย.ครวญมาเฟียผ่าน "ระวังภัย"  "มาเฟียรีด-ขู่เอาชีวิต"

        ขณะเดียวกัน "คม ชัด ลึก" ได้ร่วมมือกับสถานีข่าว "ระวังภัย" รับเรื่องร้องเรียนและข้อมูลปัญหามาเฟียวินมอเตอร์ไซค์ได้ที่สายด่วนระวัง ภัย 1769 โดย "เฉลิม ชั่งทองมะดัน" นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ร้องทุกข์ผ่านรายการ "ลุงแจ่มออนแอร์" ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-14.00 น. สะท้อนความทุกข์จากภัยของกลุ่มผู้มีอิทธิพลขูดรีดและข่มขู่อย่างท้าทาย กฎหมาย พร้อมทั้งเรียกเจ้าหน้าที่รัฐจัดระเบียบอย่างเร่งด่วน
       เฉลิม ระบุว่า คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทำมาหากินสุจริตอย่างพวกเราถูกกลุ่มมาเฟียคุกคามรีด เงินอย่างไม่เป็นธรรมมานานแล้ว กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน ได้พยายามรวมตัวกันตั้งสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีช่องทางกฎหมายใดจะไปจัดการกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป ล่าสุดร้องเรียนต่อ "วัน อยู่บำรุง" ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม และ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถึงกระนั้นยังไม่มีความคืบหน้า
 แม้ว่าหลายปีมานี้พวกเราพยายามต่อสู้ หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ถ้าพวกเขารู้ว่าใครเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม หรือเป็นสมาชิกสมาคม จะส่งคนมาข่มขู่เอาชีวิต บางรายถูกทำร้ายร่างกาย จึงต้องกัดฟันทนจ่ายเงินเพื่อความปลอดภัย อย่างเช่น วินหลัง สน.พระโขนง ทุกวันนี้มีมอเตอร์ไซค์กว่า 100 คัน จ่ายรายเดือนคันละ 750 บาท แว่วมาว่าหลังสงกรานต์จะเก็บเพิ่มเป็น 1,000 บาท
       "โธ่เอ๊ยจ่ายเดือนละ 750 บาท คนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเรายังลำบาก นี่จะขูดรีดกันถึง 1,000 บาท ที่สำคัญพวกเขาจะตัดเสื้อเพิ่มอีกตัวละ 1 แสนบาท กลุ่มมาเฟียที่เป็นลูกน้องของคนมีสี ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากเด็กเดินยา เด็กโพยพนันบอล น่าแปลกที่ตำรวจหรือกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้เลย พวกนี้ยิ่งเหิมเกริมและเพิ่มจำนวนมากขึ้น"
       นายกสมาคมย้ำว่า วินมอเตอร์ไซค์ถือเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ลองคิดง่ายๆ ปัจจุบันวินที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 4,500 วิน แต่ความจริงเมื่อรวมวินเถื่อนด้วยจะมีถึง 6,000 วิน ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องมีกว่า 1 แสนคัน ถ้ารวมรถเถื่อนที่วิ่งรับผู้โดยสารตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคัน ส่วนราคาเสื้อวินซื้อขายกันตามทำเลเฉลี่ยขั้นต่ำตัวละ 3 หมื่นบาท สูงสุดถึงตัวละ 1.5 แสนบาท ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อซื้อเสื้อวินแล้วจะขี่รับผู้โดยสารได้ต้องจ่ายให้คนคุมวินวันละ 20-120 บาท หรือใครไม่มีเงินซื้อเสื้อวินให้จ่ายค่าเปลี่ยนหน้า 3,000 บาท จากนั้นจ่ายรายเดือน 1,700 บาท ดังนั้นในแต่ละปีวงการนี้จึงมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท เรื่องนี้ พล.ต.ท.วินัยบอกว่า ขอเวลาในการเคลียร์ปัญหา 2 เดือน ถึงวันนี้ครบกำหนดแล้ว ยังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ ดังนั้นอีกไม่กี่วันนี้เราจะเข้าร้องเรียน ผบช.น.อีกครั้ง รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย และ วัน อยู่บำรุง
       "สิ่งที่เราต้องการ คือ ข้อแรก มอเตอร์ไซค์ที่นำมาขับวินต้องเป็นรถป้ายเหลืองเท่านั้น อีกทั้งที่ผ่านมาสำนักงานเขตต่างๆ ของ กทม. (กรุงเทพมหานคร) ไม่ยอมให้ป้ายเหลือง อย่างที่สำนักงานเขตวัฒนา เจ้าหน้าที่มักอ้างว่านายยังไม่ได้สั่ง จุดนี้ถือเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มมาเฟียมาเรียกร้องเงินจากเราได้ ส่วนข้อสอง ต้องยกเลิกเก็บค่ารายวันและรายเดือน ขอย้ำว่าพวกเราจะไม่เรียกร้องความเป็นธรรมเลย ถ้าเงินที่ถูกเก็บไปนำเข้าระบบภาษีสำหรับพัฒนาประเทศ แต่ในความเป็นจริงรายได้ส่วนนี้ไม่ต่างกับธุรกิจมืด เช่น หวยใต้ดิน พนันบอล เงินไม่ได้เข้าสู่รัฐ ทุกบาทไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มผู้มีอิทธิพล"
        ต่อมาเวลา 18.00-19.00 น. "เฉลิม ชั่งทองมะดัน" ให้สัมภาษณ์ในรายการ 108 ข่าวระวังภัย ทางสถานีข่าว "ระวังภัย" ว่า ราคาเสื้อวินมอเตอร์ไซค์มีราคาตั้งแต่ 4 หมื่นบาทขึ้นไป จนถึงราคา 3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับรายได้ในการวิ่งแต่ละพื้นที่ โดยหัวหน้าวินจะเป็นคนกำหนดเอง เคยร้องเรียนแล้วเรื่องยังไม่ถึงไหน ตำรวจกำลังดำเนินการ และรอ กทม. และสำนักงานเขตออกคำสั่ง ที่ผ่านมาหลังจากการประกาศนโยบายประชาภิวัฒน์ว่า ใครอยากขับให้ไปลงทะเบียน ก็มีพวกนักการเมืองท้องถิ่นไปเปิดวินใหม่ และไม่ให้คนที่วิ่งวินมอเตอร์ไซค์มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2546 มาลงทะเบียน แถมยังเป็นการตั้งวินซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่เป็นการตั้งวินเถื่อน
       "ที่ผ่านมามีเพื่อนที่เป็นหัวหน้าวินซอยสุขุมวิท 77 โดนยิงจนเสียชีวิต รวมถึงมีอีกหลายคนที่โดนทำร้ายได้รับบาดเจ็บ ข้อเรียกร้องของพวกผมคือให้คนที่วิ่งวินตั้งแต่ปี 2546 สามารถจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง และสามารถวิ่งวินได้ ส่วนวินที่มาตั้งซ้ำซ้อนขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย"
 จากนั้นทางรายการ ได้ติดต่อ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบช.น. ซึ่งเข้าสายรออยู่และรับฟังปัญหาด้วย พล.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า หลังจากนายเฉลิมร้องเรียน ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในแต่ละวันจัดกำลังตำรวจจราจรลงพื้นที่สำรวจวินมอเตอร์ไซค์ว่ามีจำนวนเท่าใด มีจุดไหนบ้างที่มีการตั้งซ้อนขึ้นมา หลายจุดได้รับการแก้ไขแล้ว เราจะแก้ในจุดที่มีการร้องเรียนว่ามีการข่มขู่อย่างฝั่งธนบุรี ทั้งนี้พบว่าการร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่ในย่านพระโขนง สุขุมวิท ซึ่งอยู่เขตพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (บก.น.5)
       ถึงตรงนี้ผู้ดำเนินรายการต่อสายถึง นายประชัน (นามสมมติ) วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ร้องเรียนเข้ามาว่าถูกข่มขู่ถึงขั้นเอาชีวิต เล่าว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องความยุติธรรม หลังจากถูกผู้มีอิทธิพลเข้ามาซื้อวินมอเตอร์ไซค์ จากกรรมการวินโดยที่พวกเราไม่รู้ และแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานวิน ก่อนจะมีการซื้อเสื้อวินเพื่อนำไปปล่อยเช่า โดยที่ไม่มีชื่อลงทะเบียนกับเขต โดยตำรวจและเจ้าหน้าที่เขตนั้นรู้เห็นเป็นใจด้วย รวมทั้งมีการพยายามข่มขู่กับคนขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ที่เรียกร้องความเป็น ธรรมด้วย
       ระหว่างนั้น พล.ต.ต.วิชัยสอบถามถึงพื้นที่ที่มีการข่มขู่ ก่อนนายประชันจะตอบว่า เป็นพื้นที่บางกอกใหญ่ ซึ่งเคยมาร้องเรียนกับพล.ต.ต.วิชัยแล้ว โดย พล.ต.ต.วิชัยบอกว่า ตรงจุดนี้นั้นได้รับร้องเรียนมาแล้ว ตอนนี้มีการดำเนินการให้แล้ว
      "ตอนนี้มีผู้กำกับคนใหม่เข้ามารับหน้าที่ ผมมีการสั่งให้ดำเนินการแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบในเรื่องของวินที่มาซื้อที่ส่วนบุคคลแล้วนำมา ตั้งวิน เพื่อไม่ให้มาเบียดเบียนวินที่ถูกต้อง ก่อนได้ย้ำกับนายประชันว่า ขอให้มาหาผมและบอกว่าตำรวจคนไหน หรือเทศกิจคนใดมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบ ผมจะเข้าไปดำเนินการ" พล.ต.ต.วิชัยกล่าวทิ้งท้าย


   "สังศิต" จี้รัฐบาลประกาศให้ชัดนโยบายวิน จยย.ปลอดมาเฟีย แนะตั้งรมว.คมนาคมเป็นแม่งาน นายกวินจยย.แฉจยย.ถูกรีดส่วย 3,000-5,000 บาทแลกกับหนังสือรับรองคนขับ จี้ผู้ว่าฯกทม.ลงมาดูแล รองผบช.น.เผยแผนจัดระเบียบจยย.เสร็จ เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องประชุม 19 เม.ย.
      หลังจาก "คม ชัด ลึก" ตีแผ่ปัญหากลุ่มมาเฟียรีดไถและเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากวินรถจักรยานยนต์ รับจ้างจนกลายเป็นขุมทรัพย์นับหมื่นล้านบาท จนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างทนไม่ไหวต้องเข้าพบ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. เพื่อเรียกร้องให้กวาดล้างปราบปรามกลุ่มมาเฟียและจัดระเบียบวินรถ จักรยานยนต์รับจ้างใหม่
       ล่าสุด นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 23 เมษายนนี้ พล.ต.ท.วินัยได้นัดหมายให้กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ได้รับความ เดือดร้อนจากการถูกกลุ่มาเฟียรีดไถเข้าพบ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอีกครั้ง หลัง "คม ชัด ลึก" ตีแผ่ปัญหามาเฟียเรียกเก็บผลประโยชน์ฯ ได้รับการประสานจาก พล.ต.ท.วินัยให้เดินทางไปพบที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในเวลา 11.00 น. วันที่ 23 เมษายน เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและมาเฟียเพิ่มเติม รวมถึงรับฟังแผนปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
      "วันดังกล่าวผมจะเดินทางไปพบ พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยประมาณ 50-60 คน ซึ่งรู้สึกดีใจที่ปัญหากำลังได้รับความสนใจจากตำรวจ อยากให้แก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวได้เสียที เนื่องจากต้องเดือดร้อนจากปัญหามาเฟียมานาน และต้องการให้ทั้งตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวาดล้างปราบปรามมาเฟียวิ นจักรยานยนต์รับจ้างไปให้หมด เพื่อลบภาพด้านลบของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มมาเฟีย" นายเฉลิม กล่าว
       นายเฉลิม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบรรดามาเฟียเหล่านี้ เป็นต้นเหตุทำให้คนทั่วไปมองวินจักรยานยนต์รับจ้างว่าเป็นมาเฟีย ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างต้องการทำงานอย่างสุจริต และอยู่อย่างสงบเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่ถูกมาเฟียบังคับให้ทำอย่างโน่นอย่างนี้ บ่อยครั้งที่มีการใช้กำลังหรือใช้ความก้าวร้าว ซึ่งทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยแต่ก็ต้องทำตามคำสั่ง เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถขับขี่รถจักรยานยนต์ในวินนั้นๆ ได้
      นอกจากต้องการให้ตำรวจเร่งปราบปรามกลุ่มมาเฟียแล้ว นายเฉลิม บอกว่า ต้องการให้สำนักงานเขตต่างๆ เร่งออกหนังสือรับรองการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างให้แก่ผู้ขับขี่ที่เป็น ขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้วให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้ออกหนังสือรับรองให้เฉพาะผู้ขับขี่ตัวจริงเท่านั้น ไม่ใช่ไปออกหนังสือรับรองให้กลุ่มมาเฟียที่ส่งสมัครพรรคพวกเข้ามาลงทะเบียน แล้วไปจัดทำเสื้อวินออกมาขาย หรือให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เช่า เพราะหากยังไม่เข้มงวดในเรื่องนี้ปัญหามาเฟียวินจักรยานยนต์ก็คงแก้ไม่ได้
      "เท่าที่ทราบ กทม.มีคำสั่งให้สำนักงานเขตต่างๆ ทั้ง 50 เขต เร่งดำเนินการออกหนังสือรับรองให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างให้แล้ว เสร็จโดยเร็ว แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง 30 กว่าเขตเท่านั้นที่ดำเนินการเสร็จสิ้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 20 เขต ยังไม่มีความคืบหน้า ความล่าช้าในเรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตำรวจไม่สามารถเข้าไป จัดการกลุ่มมาเฟีย หรือบรรดาวินเถื่อนต่างๆ ได้ เนื่องจากจะมีข้ออ้างว่าอยู่ระหว่างรอหนังสือรับรองจากสำนักงานเขต ผมอยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือปลัดกทม. ลงมาจี้เรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะขณะนี้การออกหนังสือรับรองของสำนักงานเขตล่าช้ามาก ยกตัวอย่างเช่น เขตวัฒนา ประเวศ บางกอกใหญ่ และลาดพร้าว ได้รับการร้องเรียนจากเพื่อนสมาชิกสมาคมมากที่สุดว่าไม่ได้รับความสะดวกจาก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบางทีมีการเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการออกหนังสือรับรอง ตั้งแต่ 3-5 พันบาทต่อราย" นายเฉลิมกล่าว
       นายเฉลิม บอกด้วยว่า หากสำนักงานเขตออกหนังสือรับรองให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสร็จสิ้นเร็ว บรรดาผู้ขับขี่ก็จะนำเรื่องไปยื่นขออนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง สาธารณะ (ป้ายเหลือง) จากกรมการขนส่งทางบก และเมื่อกลับมาขับขี่รถจักรยานยนต์รับส่งผู้โดยสารตำรวจก็จะสามารถคัดแยกได้ ว่าใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง หากใครไม่ถูกต้องก็จับดำเนินคดีและมีมาตรการห้ามไม่ให้เข้ามาขับขี่อีก การทำเช่นนี้จะสามารถกำจัดกลุ่มมาเฟียได้ในที่สุด
      สอดคล้องกับ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับส่วยและผลประโยชน์นอกกฎหมายในสังคม ไทยอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า การออกข้อบังคับให้ผู้ที่ต้องการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตต่างๆ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ดีบางคนเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์จาก ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ มีการเข้าไปเรียกเก็บผลประโยชน์ จึงทำให้การจดทะเบียนไม่แล้วเสร็จเสียที ทั้งนี้ในข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนอย่าง ชัดเจนจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น
      "ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้ชัดเจนว่า สำนักงานเขตจะต้องจดทะเบียนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างให้แล้วเสร็จเมื่อ ไหร่ กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางคนเตะถ่วงซื้อเวลาในการจดทะเบียนเพื่อ เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้ผู้ขับขี่จำนวนไม่น้อยไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้และต้องหันไปเช่าหรือ เสื้อวินจากกลุ่มมาเฟียมาขับ เข้าสู่กระบวนการส่วนมาเฟียวินจักรยานยนต์เช่นเดิม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" รศ.ดร.สังศิต ขยายความ
       รศ.ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ รัฐบาลต้องประกาศเป็นนโยบายให้ชัดเจนเลยว่าจะต้องทำให้วินจักรยานยนต์รับ จ้างปลอดจากมาเฟีย โดยมอบหมายให้ รมว.คมนาคม เป็นแม่งานในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบวิ นจักรยานยนต์ ซึ่งในการจดทะเบียนจะต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และต้องเปิดจดทะเบียนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้ต้องการประกอบอาชีพนี้สามารถประกอบอาชีพได้โดยถูกกฎหมาย หากทำได้เช่นนี้บรรดามาเฟีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ไม่สามารถเข้าไปรีดไถผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างได้อีก
       ด้าน พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น.รับผิดชอบงานด้านจราจร ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.วินัย ให้รับผิดชอบในการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างในเขต กทม.เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนการจัดระเบียบวินจักรยานยนต์รับจ้างเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติในวันที่ 19 เมษายนนี้ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 

         ผนึกสามเส้าสางปมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
             การเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างผ่าน "คม ชัด ลึก" และสถานีข่าว "ระวังภัย" ทางสายด่วนระวังภัย 1769 หลังจากถูกกลุ่มมาเฟียรีดไถและข่มขู่ถึงขั้นจะเอาชีวิตนั้น ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 18 เมษายน เวลา 18.00-19.00 น.ในรายการ 108 ข่าวระวังภัย ทางสถานีข่าว "ระวังภัย" มีการพูดคุยกับ วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.แสดงความเป็นห่วงใยเรื่องปัญหาวินมอเตอร์ไซค์ที่ถูกผู้มีอิทธิพลคุกคาม อยากให้ผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบเข้ามาให้ข้อมูลเรา เพื่อจะได้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เกี่ยวข้องในทางอาญา และทางวินัย
        เรื่องของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างการดูแลตอนนี้จะมาจากหลายหน่วยงาน ทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจจากเขตต่างๆ คณะกรรมการในระดับ กทม. กรมการขนส่งทางบก และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ร่วมกันเข้ามาจัดระเบียบเรียบร้อย ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในเรื่องการลงทะเบียน ส่วนข้อเท็จจริงที่อาจจะมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากตรง นี้ ต้องมีการสอบสวนกันอีกที ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้ามาสืบสวนตรงนี้
        ส่วนเรื่องของนโยบายประชาภิวัฒน์นั้น อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลอาศัยช่องโหว่นั้นหาประโยชน์ได้ ตอนนี้ กทม.ต้องมาหาทางดูแลในเรื่องการลงทะเบียน การดูแลผู้ขับขี่อยู่เดิมที่ต้องมาลงทะเบียน หรือผู้ขับขี่ใหม่ที่เป็นป้ายทะเบียนขาว เปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนเหลือง ตรงนี้เราต้องมีการดูแลและให้ความเป็นธรรม
       ประเด็นที่กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์แจ้งว่ามีการปลอมป้ายเหลืองนั้น กทม.ไม่มีข้อมูลตรงนี้ เพราะอยู่ในหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่ กทม.เข้าไปเกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินการขั้นสูงสุดแน่นอน เพราะผู้ว่าฯ ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจน
      "กทม.อยากจะขอข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด เราเคยมีกรณีแม่ค้าหาบเร่แผงลอยที่ร้องเรียนเข้ามา ทางเราได้ตรวจสอบและพบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ออกนอกลู่นอกแถว มีโทษถึงขั้นไล่ออก ถ้ามีการจัดระเบียบเป็นป้ายเหลืองทั้งหมดจะสามารถแก้ไขปัญหากลุ่มผู้มี อิทธิพลตรงนี้ได้ เป็นเป้าหมายของเราที่จะดำเนินการให้ได้" วัลลภย้ำ
      เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น.กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ประมาณ 3 สัปดาห์แล้วว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่วินมอเตอร์ไซค์ เรามีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์ เบื้องต้นทราบว่ามีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ระยะหลังเมื่อมีการเข้มงวดก็ลดหายไป
      ในช่วงท้าย ผบช.น.ให้คำมั่นว่า วันที่ 23 เมษายนนี้ ได้นัดหมายกับกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกครั้ง เพื่อจะได้สะสางปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น

  by Sp-Report

ยิ่งลักษณ์เยือนจีน หารือเต็มคณะ เซ็นสัญญาข้อตกลง 8 ฉบับ

เส้นทางการเดินสายเยี่ยมเยือนมิตรประเทศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาบรรจบที่ประเทศจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียเข้าจนได้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนประเทศเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการมาก่อนแล้ว


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยือนประเทศจีน
การเยือนจีนครั้งนี้เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ และนายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการแบบเต็มคณะกับทางการจีน ซึ่งนำโดยนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน

ผู้แทนของฝ่ายไทยประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ดังนี้

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
หารือเต็มคณะ แท็บเล็ต-รถไฟ-พลังงาน-น้ำ

สำหรับประเด็นการหารือแบบทวิภาคีเต็มคณะ มีเรื่องที่น่าสนใจดังนี้

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาที่ยั่งยืนของไทย 4 สาขา ได้แก่ การจัดหาคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) แก่นักเรียนไทย ความร่วมมือด้านรถไฟ พลังงานสะอาด และการบริหารจัดการน้ำ
กำหนดทิศทางและตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย- จีน ใน 3 สาขาหลัก ดังนี้ การเพิ่มการค้าร้อยละ 20 ต่อปี การลงทุนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ความร่วมมือเป็นรายมณฑลของจีนกับไทย โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ 3 มณฑลของจีนแล้ว คือ ยูนนาน กวางตุ้ง และเซียะเหมิน ซึ่งไทยจะตั้งคณะทำงานร่วมกับมณฑลเสฉวนต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จีนจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ SMEs ที่เข้าไปลงทุนในจีนแบบครบวงจรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน
ขอให้รัฐบาลจีนอนุมัติการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นครกวางโจว
เชิญนายเวิน เจียเป่า เข้าร่วมการประชุม WEF ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่กรุงเทพฯ
ลงนามข้อตกลง 8 ฉบับ

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ร่วมการเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 8 ฉบับ ดังนี้ (ตัวเน้นสีโดยทีมงาน SIU)

1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างปี 2555-2559 (Joint Action Plan on Thailand-China Strategic Cooperation Between the Government of the People’s Republic of China 2012-2016) ซึ่งถือเป็นแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 2 สำหรับการดำเนินความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในสาขาต่างๆ กว่า 17 สาขา ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่าย ได้แก่ การเมือง การทหาร ความมั่นคง การค้า การลงทุน การเงินและธนาคาร เกษตรกรรม อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษาและการอบรม สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์-การแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี โดยมีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายจีน คือ นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน

2) แผนพัฒนาระยะ 5 ปี ไทย-จีน ระหว่างปี 2555-2559 ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าเชิงกว้างและเชิงลึก (Five-Year Development Plan on Trade and Economic Cooperation between the People’s Republic of China and the Kingdom of Thailand) ที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับจีนในระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2555 – 2559 ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้าง และเชิงลึกไทย-จีน อาทิ การอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

3) บันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและจีน (Memorandum of Understanding Between the Ministry of Commerce of the People’s Republic of China and the Ministry of Commerce of the Kingdom of Thailand on Agricultural Trade Cooperation) ซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายจีนที่จะจัดตั้งคณะทำงานเรื่องการค้าสินค้าเกษตร เพื่อหารือประเด็นที่ไทยและจีนมีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนา ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหาและป้องกันหรือกำจัดอุปสรรคทางด้านสินค้าเกษตร มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

4) บันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย และ State Administration for Industry and Commerce ของจีน (Memorandum of Understanding for Cooperation Between the Ministry of Commerce of the Kingdom of Thailand and the State Administration for Industry and Commerce of the People’s Republic of China) เป็นบันทึกความเข้าใจที่เน้นความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค การลงทะเบียนกิจการบริษัท และเครื่องหมายการค้า มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟ (Memorandum of Understanding Concerning Feasibility Study for Cooperation on railway Development Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) ที่ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานสำหรับการขยายผลความร่วมมือด้านรถไฟ โดยเฉพาะ สาย กทม. – เชียงใหม่ มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และฝ่ายจีน คือ นายเซิ่ง กวางจู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟจีน

6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดการน้ำ (Memorandum of Understanding Concerning Feasibility Study for Cooperation on railway Development Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) ที่ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับรัฐมนตรี เพื่อประสานงานให้เกิดความร่วมมือด้านนี้ต่อไป โดยฝ่ายจีนจะมีการจัดทำรายงานด้านต่างๆ อาทิ ความร่วมมือด้านระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ระบบการบัญชาการเดี่ยว โครงสร้างพื้นฐานของการป้องกันอุทกภัย เป็นต้น

7) ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศน์ทางทะเล (Agreement on Establishment of Thailand – China Joint Laboratory for Climate and Marine Ecosystem between Ministry of Natural Resource and Environment, Kingdom of Thailand and State Oceanic Administration, People’s Republic of China) เป็นข้อตกลงย่อยของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทะเลระหว่างกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับทบวงกิจการมหาสมุทรแห่งชาติจีน เพื่อร่วมมือกันในด้านต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักเทดนิคและนักวิทยาศาสตร์ การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างกัน และการค้นคว้าวิจัย มีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และฝ่ายจีน คือ นายหลิวชื่อกุ้ย ผู้บริหารทบวงกิจการมหาสมุทร (ระดับ รมช.)

8) ถ้อยแถลงร่วมระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Joint Statement Between the People’s Republic of China and the Kingdom of Thailand on Establishing a Comprehensive Strategic Cooperative Partnership)เป็นเอกสาร ผลลัพธ์การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-จีนที่มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อ เนื่อง ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงความพร้อมในการร่วมมือกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีอย่างรอบด้านในอนาคต

ข้อมูลจาก สำนักนายกรัฐมนตรี

รายละเอียดการหารือแบบทวีภาคี

วันนี้ (17 เม.ย.55) เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางถึงมหาศาลาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน รอให้การต้อนรับ ก่อนนำนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วยการขึ้นแท่นทำความเคารพ เดินตรวจแถว กองทหารเกียรติยศ ณ ลานหน้ามหาศาลาประชาชน ด้านทิศตะวันออก

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเข้าสู่อาคารมหาศาลาประชาชน เพื่อหารือข้อราชการแบบเต็มคณะกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้เข้าร่วมฝ่ายไทยประกอบด้วย ประกอบด้วย นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีเต็มคณะกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาเยือนจีนครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี พร้อมขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้จะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความ สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมถือโอกาสนี้ แสดงความขอบคุณในความห่วงใยและความช่วยเหลือที่จีนให้แก่ไทย เมื่อครั้งไทยประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรง ซึ่งเป็นกำลังใจให้ไทยเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้

โดยในการหารือวันนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนความ ร่วมมือยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในสาขาที่ยั่งยืนของไทย 4 สาขา ได้แก่ การจัดหาคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) แก่นักเรียนไทย ความร่วมมือด้านรถไฟ พลังงานสะอาด และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในการเจรจาหารืออย่างต่อเนื่อง โดยขอให้มีการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศสองฝ่ายเป็นลักษณะยุทธศาสตร์ โดยเร็ว เพื่อขยายผลความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดทิศทางและตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย- จีน ใน 3 สาขาหลัก ดังนี้ การเพิ่มการค้าร้อยละ 20 ต่อปี การลงทุนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 3 เพื่อผลักดันความร่วมมือใน 3 สาขาหลักดังกล่าว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ไทย และจีนยังได้เน้นกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเป็นรายมณฑลของจีนกับไทย โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับ 3 มณฑลของจีนแล้ว คือ ยูนนาน กวางตุ้ง และเซียะเหมิน ซึ่งไทยจะตั้งคณะทำงานร่วมกับมณฑลเสฉวนต่อไป รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างจังหวัดของไทยกับมณฑลต่าง ๆ ของจีน

สำหรับความร่วมมือด้านการ เกษตร ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้าเกษตรไทย-จีน ซึ่งเป็นกลไกในการเจรจาเพื่อเพิ่มพูนปริมาณการค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและผลไม้ รวมทั้งเสนอให้มีการร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าต่างๆ ระหว่างกัน อาทิ การจำกัดโควต้าการนำเข้า และการปลอมปนข้าวไทยในจีน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ เช่น ความร่วมมือในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในประเทศที่สาม โดยรัฐบาลของสองประเทศจะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งระหว่างภาคเอกชนกับเอกชน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้การดูแลนักลงทุนไทยในจีน และขอให้ช่วยดูแลนักลงทุนไทยให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจในจีน โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จีนจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือ SMEs ที่เข้าไปลงทุนในจีนแบบครบวงจรในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน พร้อมใช้โอกาสนี้ เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนไปลงทุนในสาขาที่ไทยส่งเสริมการลงทุน อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ชิ้นส่วน ยานยนต์ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลมและพลังงานชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและเน้นการท่อง เที่ยวในเชิงคุณภาพมากขี้น โดยตั้งเป้าให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า และขอให้รัฐบาลจีนอนุมัติการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นคร กวางโจว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนได้ดีขึ้น พร้อมย้ำนโยบายของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับจีนในรายมณฑล โดยไทยประสงค์จะจัดตั้งคณะทำงานไทย-เสฉวน เพิ่มเติมจากที่มีคณะทำงานมณฑลยูนนาน กวางตุ้งและเมืองเซียะเหมิน

นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอของรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา 100 คน และขณะนี้ทราบว่ามีนักศึกษาจีนจำนวนมากที่สนใจเรียนภาษาไทย และนักศึกษาไทยก็สนใจเรียนภาษาจีนมากขึ้นเช่นกัน จึงขอให้รัฐบาลจีนสนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยในจีน และขอให้จีนสนับสนุนการส่งครูอาสาสมัครจีนไปสอนในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจีนตอบรับตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือในภูมิภาคที่ผ่านมาไทยและจีนมีบทบาทสำคัญในการ พัฒนาเครือข่ายการเชื่อมโยงคมนาคมในภูมิภาค อาทิ การเปิดเส้นทาง R3A ที่เชื่อมโยงจากนครคุนหมิง ยูนนาน ผ่านลาว และเข้าสู่ไทยที่ อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย และมาถึงกรุงเทพฯ และสะพานเชื่อมแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งกำหนดจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปีนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้จีนเร่งรัดการก่อสร้างสะพานดังกล่าวให้แล้วเสร็จตาม กำหนด ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลต่อการไปมาหาสู่ของประชาชนและการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำไทย-จีน ในฤดูแล้งอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีด้วย พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้เชิญนายเวิน เจียเป่า เข้าร่วมการประชุม WEF ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2555 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ที่กรุงเทพฯ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับผู้นำจากประเทศเอเชียตะวันออก ซึ่งไทยยินดีที่จะประสานกับ WEF เพื่อจัดกำหนดการพิเศษในลักษณะการสนทนาพิเศษร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.เคล้าส์ ชวับ ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง WEF

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความสนับสนุนอย่างยิ่งต่อความร่วมมือระหว่างสอง ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ไทย-จีน และแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยให้สองประเทศตั้งใจปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจีนยินดีอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่าย โดยขอให้ไทยอำนวยความสะดวกด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแร่โปแตสเซียมในไทยด้วย นอกจากนี้จะร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือด้านการเงิน เช่น การขยายสาขาธนาคารในสองประเทศ การชำระเงินโดยใช้เงินตราของไทยและจีนในการค้าการลงทุน

พร้อมกันนี้ จีนยินดีสนับสนุนการสร้างระบบรถไฟ และมอบหมายให้หน่วยงานทั้งสองประเทศไปร่วมกันดำเนินงานอย่างรวดเร็วและราบรื่น รวมทั้งการสนับสนุนวิสาหกิจด้านอวกาศและไอทีระหว่างกัน และจีนยินดีสนับสนุนด้านชลประทานตามที่ได้มีการลงนามร่วมกันไปแล้ว ที่สำคัญจีนขอให้ไทยส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายตามลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและจีนจะร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับจีนเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ประเทศในอนุภูมิภาค รวมทั้งเมียนมาร์โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ด้วย นอกจากนี้ไทยและจีนจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในกรอบอาเซียน เพื่อรองรับความท้าทายจากปัญหาสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

และในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของไทยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการใน ครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงสัมพันธภาพของทั้งสองประเทศ โดยในหลักการนายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความประสงค์ที่จะให้หมีแพนด้า (หลินปิง) อยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยจะให้หน่วยงานทั้งสองประเทศไปหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังการหารือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนจะร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 8 ฉบับ ก่อนเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้า ภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ ห้องโถงตะวันตก ศาลามหาประชาชน

ข้อมูลจาก สำนักนายกรัฐมนตรี




View ResultsShare This
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง