บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน


โดย Kittisak Prokati
ผม จากเมืองไทยมาประชุมสมาคมนักกฎหมายเปรียบเทียบที่เมืองเยอรมันเสียหลายวัน ระหว่างนี้ได้รับจดหมายแสดงความตะขิดตะขวงใจกับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ จากมิตรสหายและลูกศิษย์ลูกหาหลายราย จึงตอบไปในเบื้องต้นว่า ก่อนอื่นควรแสดงความคารวะต่อชาวคณะนิติราษฎร์ซึ่งเป็นผู้ที่กล้าคิดและแถลง ความคิดเห็นของตนต่อสาธารณชนเพื่อชักชวนให้มาคิดคล้อยและคิดค้านกันบนฐาน แห่งเหตุผล เพราะท่านเหล่านี้กำลังชักชวนให้เรามาร่วมกันสร้างโลกและสร้างสังคมด้วยเหตุ ด้วยผล ไม่จมอยู่ในอคติ หรือผลัดกันเขียนเวียนกันอ่านวานกันชมเฉพาะหมู่พวกของตัว

ใน ขณะเดียวกันก็ควรยินดีว่าการที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ เตือนให้เราสำรวจ และการสำรวจความบกพร่องในเชิงหลักการของข้อคิดความเห็นของเราเองเป็นสิ่งที่ ควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ ทำนองดียวกันการสำรวจข้อคิดของคนที่เรารักและนับถือ ไปจนกระทั่งการเตือนให้เขามองเห็นความบกพร่องบางข้อ หรือเตือนให้มองเห็นในมุมมองอื่นบ้าง ตามมาตรฐานเยอรมันถือว่าพึงกระทำเป็นนิตย์ และอันที่จริงเป็นหน้าที่ของมิตรอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง การที่นักวิชาการนำเสนอความเห็นต่อสาธารณชน โดยนำสิ่งที่ไม่ควรเทียบกันมาเทียบกันประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เทียบกันได้ หรือแสดงความเห็นโดยไม่ชี้แจงให้ชัดว่าเป็นความเห็น แต่ทำให้คนเชื่อไปว่าเป็นความรู้โดยมิได้ตั้งแง่คิดให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรอง อย่างแจ่มชัดนั้น อาจชวนให้เกิดความหลงทาง หรือเกิดไขว้เขวทางความคิดแก่คนหมู่มากจนยากจะแก้ไข เป็นสิ่งที่นักวิชาการพึงระวัง

เรื่องการลบล้างผลคำพิพากษา ที่อ้างว่าขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างร้ายแรงโดยอ้างอำนาจประชาชนนั้น ก่อนอื่นต้องพิเคราะห์กันเสียก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่า การอ้างอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนขึ้นลบล้างคำพิพากษานั้น ในเชิงหลักการเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่

หลักของการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตยนั้น ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะตั้งอยู่บนฐานของเสียงข้างมากเฉย ๆ แต่เพราะเป็นเสียงข้างมากที่ยืนยันหลักการถือกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าหลักนิติธรรม นั่นคือนับถือว่า ข้อพิพาททั้งปวงต้องได้รับการวินิจฉัยจากศาลยุติธรรมที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วย กฎหมาย กล่าวอีกอย่างก็คือ อำนาจสูงสุดแม้จะเป็นของประชาชน แต่ก็จำกัดโดยกฎหมายเสมอ และกฎหมายที่ว่านี้มีอยู่อย่างไรก็ต้องตัดสินโดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นอิสระ

ที่ ว่าเป็นอิสระในที่นี้ก็คือต้องเป็นคนกลาง ที่เข้าสู่ตำแหน่งเพราะมีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางคุณวุฒิ และทางคุณธรรม ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่พอจะทำให้น่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณวุฒิเป็นผู้รู้กฎหมาย รู้ผิดชอบชั่วดี และเป็นผู้ทรงคุณธรรมคือวินิจฉัยตัดสินคดีไปตามความรู้และความสำนักผิดถูก ของตน โดยตั้งตนอยู่ในความปราศจากอคติ และมีหลักเกณฑ์ทางจรรยาบรรณคอยควบคุม

ด้วย เหตุนี้แม้ประชาชนจะลงประชามติไว้ว่าอย่างไรก็ตาม หากประชามติซึ่งเป็นการใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนนั้นขัดต่อกฎหมาย ศาลซึ่งเป็นคนกลางที่เป็นอิสระก็มีอำนาจชี้ขาดว่าประชามตินั้นขัดต่อกฎหมาย และไม่มีผลบังคับ

ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้เห็นได้จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ ๔ สิงหาคม ปี ๒๐๑๐ นี้เองว่า ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๐๐๘ ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาค และขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ตามประชามตินั้น ประชาชนเสียงข้างมากในแคลิฟอร์เนียต้องการให้กำหนดตายตัวลงในรัฐธรรมนูญของ แคลิฟอร์เนียทีเดียวว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น

คำ พิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาในคดีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน จัดเป็น Anti-Majoritarian Decision แต่ศาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ยอมรับว่า เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียง ข้างมากรับรู้ไว้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคำพิพากษาจะเป็นธรรมเสมอไป และใช่ว่าวงการตุลาการไทยเป็นสถาบันที่แตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่กระนั้น เราก็ยังต้องถือเป็นหลักว่า คำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมย่อมต้องได้รับการแก้ไขจากอำนาจตุลาการด้วยกัน การปล่อยให้อำนาจนิติบัญญัติอ้างอำนาจประชาชนเข้าแทรกแซง ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างคำพิพากษานั้น ย่อมขัดต่อหลักความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ เว้นแต่สิ่งที่อ้างว่าควรลบล้างไปนั้น แท้จริงมิได้มีฐานะหรือมีค่าเป็นคำพิพากษาแต่อย่างใด  เมื่อไม่มีค่าพอที่จะนับถือเป็นคำพิพากษาแล้ว การจะลบล้างโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติย่อมพอจะฟังได้ ไม่ต่างอะไรกับการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง

ปัญหาจึง อยู่ที่ว่า จะอาศัยเกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนั้น ๆ เป็นคำพิพากษาที่ควรเคารพหรือไม่ ซึ่งแน่นอนไม่อาจใช้เพียงเกณฑ์เสียงข้างมากเป็นเป็นเครื่องตัดสินได้ มิฉะนั้นเสียงข้างมากในวันข้างหน้าก็อาจกลับเสียงข้างมากของวันนี้ได้เสมอ แต่ต้องว่ากันตามหลักเหตุผล ผิด-ถูกที่่ได้รับการใคร่ครวญอย่างรอบคอบจนประจักษ์แน่แก่ใจแล้วเท่านั้น

กรณี คำพิพากษาของ "ศาลประชาชนในยุคนาซี" ที่รัฐสภาเยอรมันได้ตรากฎหมายลบล้างไปเมื่อปี ๒๐๐๒ นั้น อันที่จริงไม่ใช่เป็นเพราะนั่นเป็นคำพิพากษาที่ขัดต่อความยุติธรรมธรรมดา แต่เป็นเพราะกรณีดังกล่าวไม่อาจนับเป็นคำพิพากษาได้เลยต่างหาก เพราะนั่นคือองค์กรนาซีที่ใช้ชื่อว่า "ศาลประชาชน" โดยแฝงอยู่ในรูปของศาล และอ้างศาลเป็นเครื่องมือก่อการร้ายและก่ออาชญากรรม  ดังนั้นการนำกรณีนี้มากล่าวถึงในการสนับสนุนข้อเสนอให้ลบล้างคำพิพากษาของ ศาลไทยนั้น ทำให้น่าคิดว่ากรณีองค์การก่อการร้ายของนาซีเยอรมันจะเทียบกันกับกรณีของศาล ไทยได้ละหรือ?

ผู้ที่สนใจประวัติของนาซีเยอรมันย่อมรู้ดีว่า "ศาลประชาชนยุคนาซี" นั้นไม่ใช่่ศาลยุติธรรมตามความหมายที่เราเข้าใจกันในประเทศไทย แต่เป็นศาลพิเศษที่ฮิตเล่อร์ตรากฎหมายตั้งขึ้น และเหตุที่ตั้งศาลพิเศษนี้ขึ้นก็เพราะศาลยุติธรรมเยอรมันในเวลานั้นไม่ยอมตก อยู่ใต้อำนาจการชี้นำของฮิตเล่อร์ โดยได้พิพากษาปล่อยตัวกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่ฮิตเล่อร์กล่าวหาว่า เป็นตัวการวางเพลิงเผารัฐสภาเยอรมันเป็นอิสระ  ฮิตเล่อร์ไม่พอใจที่ตนควบคุมตุลาการในศาลยุติธรรมไม่ได้ ก็เลยอ้างอำนาจประชาชนใช้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความเสียใหม่ แล้วตั้ง "ศาลประชาชน" ขึ้นมา โดยโอนคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งหมดมาไว้กับศาลประชาชนนี้ แล้วจำกัดเขตอำนาจศาลยุติธรรมพิจารณาคดีอาญาทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

ศาล ประชาชนของฮิตเล่อร์นี้ปรกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษา ๕ นาย ในจำนวนนี้เป็นผู้พิพากษาอาชีพ ๒ นาย แต่อีก ๓ นายเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคนาซีซึ่งฮิตเล่อร์เป็นผู้แต่งตั้งด้วยตนเอง โดยจะต้องปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่พรรคที่จงรักภักดีต่อฮิตเล่อร์อย่างเห็น ประจักษ์เท่านั้น เพียงแค่องค์ประกอบเช่นนี้ก็ทำให้เห็นได้ชัดแล้วว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ผู้พิพากษาไม่ได้เป็นอิสระ แต่เป็นสาวกของฮิตเล่อร์ที่ตั้งขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจนั่นเอง ทำให้เราไม่อาจเรียกศาลประชาชนของฮิตเล่อร์ได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจ ตุลาการ เพราะที่จริงเป็นแต่องค์กรพรรคนาซีที่แฝงอยู่ในชื่อของศาลเท่านั้น

เพียง เท่านี้เราก็จะเห็นได้ว่า กรณีที่เยอรมันตรากฎหมายลบล้างคำพิพากษาศาลประชาชนนาซีนั้น ยากที่จะนำมาเทียบกับกรณีของไทย เพราะตุลาการในศาลแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้นไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะ ปฏิวัติรัฐประหาร แต่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาอาชีพที่มีที่มาจากผู้พิพากษาอาชีพเท่านั้น คณะปฏิวัติรัฐประหารไม่มีอำนาจคัดเลือกหรือแต่งตั้งแต่อย่างใด

นอก จากนี้เราควรทราบต่อไปได้ว่าในศาลประชาชนของนาซีนั้น นอกจากผู้ใช้อำนาจตัดสินจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของนาซีเป็นเสียงข้าง มากแล้ว ศาลประชาชนนาซียังไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาเลือกทนายความได้อย่างอิสระอีกด้วย ผู้ต้องหามีสิทธิแค่เสนอชื่อผู้ที่ตนเห็นควรเป็นทนาย และบุคคลดังกล่าวจะเป็นทนายให้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากศาลนาซีเสีย ก่อนเท่านั้น โดยทั่วไปทนายความที่ได้รับความเห็นชอบจากศาลจะรู้ตัวว่าตนได้ว่าคดีใดล่วง หน้าเพียง ๑ วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการพิจารณา โดยมากทนายความมักไม่รู้จัก หรือไม่มีโอกาสติดต่อกับผู้ต้องหามาก่อนล่วงหน้ามาก่อน และศาลจะพิจารณาคดีอย่างรวบรัด โดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา

จาก ตัวเลขทางการเยอรมัน ในปี ๑๙๔๔ ศาลประชาชนของฮิตเล่อร์มีผูู้พิพากษาอาชีพราว ๑ ใน ๔ ของผู้พิพากษาที่ได้รับแต่งตั้งมาจากเจ้าหน้าที่พรรคนาซี  และนับแต่มีการตั้งศาลแห่งนี้ขึ้นจนสิ้นสุดสงครามโลกนั้น ศาลนี้ได้พิพากษาตัดสินประหารชีวิตคนไปราว ๗,๐๐๐ คน

ประสบการณ์ อันเลวร้ายของฮิตเล่อร์และพลพรรคนาซีนี้เป็นสิ่งที่คับข้องใจประชาชนเยอรมัน มานาน ดังนั้นจึงพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดรัฐสภาเยอรมันจึงตรากฎหมายลบล้างคำพิพากษาของศาลประชาชนนาซีเป็นการ ทั่วไป ซึ่งก็คือลบล้างคำพิพากษาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือคดีการเมืองในยุคนาซี หรือคดีที่อ้างอิงกฎหมายที่นาซีตราขึ้นเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าการเพิกถอนคำพิพากษาศาลประชาชนนาซีนั้นแท้จริงเป็นการเพิกถอน คำตัดสินขององค์กรก่อการร้ายสำคัญในอดีต  ไม่ได้ยกเลิกคำพิพากษาคดีอาญาทั่วไปของศาลยุติธรรมเยอรมันแต่อย่างใด

ข้อ ที่น่าคิดต่อไปอยู่ที่ว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองของไทยเรา ซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาอาชีพทั้งหมด และมีกระบวนการพิจารณาที่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ได้เต็มที่ตาม กฎหมาย เลือกทนายความของตนเองได้อย่างอิสระ จะไปเทียบกับการตัดสินขององค์การก่อการร้ายที่แฝงอยู่ในรูปของศาลนาซีได้ อย่างไร?
บางทีเราอาจต้องคอยเตือนตัวเองไว้บ้างว่า ยามที่เราคอยเตือนผู้อื่นไม่ให้ตกหลุมทางความคิด โดยระวังอย่าปักธงคำตอบไว้ล่วงหน้าแล้วค่อยหาเหตุผลตามหลังนั้น เรากำลังตกอยู่ในหลุมนั้นเช่นกันหรือเปล่า?

"หนูทดลอง" ! ?

ส่ง เสียง ส่งสัญญาณติดต่อกันมาหลายวันแล้ว จากฟากฝั่งของกลุ่มคนเสื้อแดง ถึงความเป็นไปได้ว่าในราวต้นเดือนต.ค.นี้  อาจได้เห็น คนเสื้อแดงที่ชื่อ "เจ๊ดา" ดารุณี  กฤตบุญยาลัย และ จรัล ดิษฐาอภิชัย  แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะเดินทางกลับไทยเพื่อเข้ามอบตัว ในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมา
     ส่วนแกนนำนปช.คนสำคัญ ที่ชื่อ "กี้ร์" อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง  ยังไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่า เขาจะกลับมามอบตัวเมื่อใด
 เพราะ ล่าสุดเจ้าตัวได้เปิดใจกับสื่อไทย ครั้งล่าสุดจากงานฟุตบอลนัดพิเศษ ที่กัมพูชาที่ผ่านมาว่า ขึ้นอยู่กับ "ความปลอดภัย" และจนกว่าจะแน่ใจต่อ "สถานการณ์" !
     หากมองเพียงภาพรวมโดยทั่วไป การที่แกนนำนปช.บางส่วนที่ยังคงหลบหนีคดีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง อริสมันต์-ดารุณีและ จรัล หากพวกเขาต้องการ "กลับบ้าน" ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
     หรือหากพวกเขาจะออกมาเคลื่อนไหวส่งสัญญาณ ที่เป็น "คุณ" แก่พวกเขาในยามที่ "เจ้านาย" กำลังเรืองอำนาจ พรรคเพื่อไทยอยู่ในฐานะรัฐบาล
     ทว่าหากมองให้ลึกลงไปแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าแกนนนปช.ทั้งสามรายที่กำลังถูกระบุถึงในเวลานี้นั้น กำลังทำหน้าที่เป็นเสมือน "หมาก" เพื่อ" หยั่งกระแส" จากฝ่ายตรงข้ามถึงบรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองที่แท้จริงว่าอยู่ในระดับ ใดกันแน่
     เพราะ "ปฏิกริยา" ที่จะปรากฎออกมาตอบรับกระแสข่าวที่ว่าด้วยแกนนำนปช.สองราย คือจรัล และดารุณี เตรียมตัวกลับมามอบตัวสู้คดีในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้นั้น
     อาจเป็นเครื่องมือ "บ่งชี้"ให้พอมองเห็นเค้าลาง และ "ความเป็นจริง" ได้ว่า "ขั้วอำนาจ" ตรงข้าม กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก จะพึงพอใจหรือไม่สบอารมณ์ต่อการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมากน้อยแค่ไหน
     ในความเป็นจริงแล้วว่ากันว่า ที่มีข่าวว่า "นายใหญ่" ลงทุนใช้วิธีการ "กล่อม"แกนนำนปช.บางราย ให้กลับเมืองไทยเพื่อมอบตัวสู้คดีนั้น หากพวกเขาสามารถกลับมาได้จริง
     โดยที่ไม่มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แน่นอนว่าสถานะของพวกเขายังคงเป็น "หมาก" ที่ยังอาจเดินต่อไปได้บนกระดานตลอดช่วงเดือนต.ค.นี้เป็นต้นไป
     ทว่าในทางกลับกัน หากกลับมาแล้ว ต้องเผชิญหน้ากับ "เหตุไม่คาดฝัน" สถานะของแกนนำเหล่านี้ จะกลายเป็นเพียง "หนูทดลอง" ไปทันที ! 
     และต้องไม่ลืมว่า ชะตากรรมของ "หนูทดลอง" นั้นมักจบลงในบทสรุปที่ไม่ใคร่จะงดงามและสวยหรูเท่าใดนัก
     แต่หากถามว่าในสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ  กำลังยืนอยู่ในจุดที่เป็นฝ่าย "ได้เปรียบ" แทบทุกประตู
     แกนนำในรัฐบาลสามารถบริหารจัดการ "อำนาจ" ที่มีอยู่ในมือเพื่อ "สลายขั้ว" กลุ่มการเมืองเดิมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญ ๆ
     โดยระบุว่าเพื่อรองรับและให้สอดคล้องต่อการทำงานของรัฐบาลใหม่ซึ่งวาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการในหลายต่อหลายด้านด้วยกัน
     ทว่า "ความได้เปรียบ"ที่มองเห็นผ่านการเคลื่อนไหวของฝ่ายบริหารชุดใหม่ด้วยท่าที อันคึกคึกเช่นนี้นั้น อาจยังไม่สามารถ สร้าง "หลักประกัน" ให้กับอดีตผู้นำอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างแท้จริง !
     ยิ่งสำหรับคนที่เคยผ่านการเดินเกมทั้งใต้ดิน -บนดินมาแล้ว ย่อมรู้ดีว่า บรรยากาศที่ "เงียบงัน" จนผิดปกตินั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าวางใจอย่างแน่นอน
     ฉะนั้นเมื่อท่ามกลาง " ความเงียบ" ที่ดูคล้าย "เป็นปกติ" เช่นนี้ หรือการยืนอยู่บนความได้เปรียบในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐ
     แต่ทั้งหลายทั้งปวง อาจยังไม่สามารถการันตีได้ว่า ตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ จะหาญกล้าตัดสินใจ "กลับบ้าน" ได้ในเร็ววัน ตามที่แกนนำในรัฐบาลและในพรรคเพื่อไทย บางคนมักประกาศผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้งว่า "จะพาทักษิณ กลับบ้าน"
     เพราะต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างอาจไม่ง่ายดายราวพลิกฝ่ามือ เมื่อเทียบกับการได้มาซึ่งชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพราะวันนี้แม้อำนาจรัฐอยู่ในมือ "น้องสาว" นายกฯยิ่งลักษณ์ แล้วก็ตาม แต่ในใจของพ.ต.ท.ทักษิณ เขาย่อมรู้ดีว่า
     ก่อนที่ตนเองจะเหยียบย่าง กลับบ้านได้จริงนั้น ควรที่จะส่ง "หนูทดลอง" ลงมาชิมลาง ประเมินอุณหภูมิทางการเมืองเพื่อป้องกันการผิดพลาด และลดความสุ่มเสี่ยงที่จะลุกลามมาถึงตัว
     ทั้งนี้สัญญาณที่จะต้องจับตากันจากนี้ต่อไป คือความจงใจของบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงที่อยู่ในประเทศ จะเริ่มเร่งเร้า ปูดประเด็นเรื่อง "กลับบ้าน" ให้กับ นปช.ที่ยังคงหลบหนีและร่อนเร่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนต.ค.เป็นต้นไป
     เพื่อทดสอบ "แรงต้าน" และ "เสียงตอบรับ" จากรอบข้าง ทั้งฝ่ายที่เชียร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อ "หยั่งเสียง" ฝ่ายตรงข้ามที่ยัง "พรางตัว" โดยผ่าน "หมาก" หรือ "หนูทดลอง" อย่างแกนนำนปช.ระดับเกรดซี อย่างดารุณีและจรัล
     หากปรากฎชัดเจนแล้วว่าแกนนำนปช.ในแถวแรก อย่างดารุณี-จรัล ยังไมได้รับ "ไฟเขียว" โอกาสที่จะโยน "หมาก"ในแถวต่อไป ระดับเกรดบี อย่าง จักรภพ เพ็ญแข -ใจ อึ้งภากรณ์ ก็ยังต้องถูก "ติดเบรค" กันไปก่อน
     และ นั่นย่อมหมายความว่า แกนนำนปช. "ตัวพ่อ" อย่าง "พ.ต.ท.ทักษิณ"  คงต้องฉุกคิดและกลับไปประเมินเกมอีกครั้งว่า โอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้ "กลับบ้าน" ก่อนช่วงเวลาสำคัญในเดือนธันวาคมนั้น ดูจะยังคงเป็น "ฝัน"ที่เลือนลางกันต่อไป !
                                                                                                               ทีมข่าวคิดลึก.สยามรัฐ

ล้วงลึก “วรเจตน์” สะท้อนตัวตน “คณะนิติราษฎร์” เคลียร์ใจข้อครหา “ล้างผิดเพื่อทักษิณ”


“สื่อมวลชนไปตีความเขียนข่าวว่าเป็นการล้างผิดให้กับพ.ต.ท .ทักษิณ ชินวัตร เป็นความเท็จ คือมันไม่จริงวันนี้เรายืนยันข้อเสนอของเรา และเพิ่มเติมบางประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ให้เข้าใจมากขึ้น  ส่วนที่มีการพูดถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเพราะ ได้มาซักถามว่าเป็นการทำเพื่อคนๆเดียว เราจะได้รู้ว่าไม่ใช่การทำเพื่อคนๆเดียว แต่เป็นการทำเพื่อหลักการ  เราจะได้มาคุยกัน จะได้อธิบาย เหมือนกับที่แถลงไปวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าไม่ได้ทำเพื่อคนๆเดียว ปกติคนจะมองว่าเป็นการทำเพื่อคนๆเดียวเป็นการลดน้ำหนักข้อเสนอโจมตีส่วนตัว ซึ่งผมไมได้มีอะไร ผมก็สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

ไม่บ่อยครั้งนักมีข้อเสนอในทางกฎหมายออกมาสู่สาธารณะแล้วกลายเป็นประเด็น ที่คนส่วนใหญ่พูดถึงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะนี้ ประเด็นของ “ข้อเสนอการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ของคณะนิติราษฎร์ ทำให้สังคมเกิดความสงสัยในหลายประเด็น  วันนี้ทางศูนย์ข้อมูล& ข่าวสืบสวนฯ www.tcijthai.com ได้มี โอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มคณะนิติราษฎร์ ภายหลังการแถลงจุดยืนและชี้แจงทำความเข้าใจต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ ได้นำเสนอในวันที่ 19 ก.ย. 54 ครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร โดยเสนอให้ “ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49”  ซึ่งมีหลากประเด็นที่คาใจคนในสังคมจำนวนมาก วันนี้ทางศูนย์ข้อมูล& ข่าวสืบสวนฯ จึงมาคลี่คลายข้อสงสัยเหล่านั้น

อยากให้อธิบายตามที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการลบล้างคำพิพากษาที่มีผลพวงมาจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ในส่วนของคดีที่ดินรัชดา ?
ต้องเริ่มกันใหม่ หมายความว่าต้องลบล้างคำพิพากษา และพิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ ไม่ได้หมายความว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะพ้นผิด ส่วนใหญ่คนเข้าใจว่าลบล้างคือพ้นผิด เราบอกว่า  ยังไม่ใช่การดำเนินคดีกับเขา ซึ่งเขาเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ ก็ต้องเริ่มกันใหม่ เหมือนกับคดียึดทรัพย์ ก็ต้องคืนเงินไปก่อนและเริ่มกระบวนการพิจารณากันใหม่

ในทางปฏิบัติกระบวนการยุติธรรมจะทำอย่างไร?
ขึ้นอยู่กับหลักที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะทำกันขึ้นมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นเรื่องใหม่จะทำครั้งแรก ต้องมีการบัญญัติขึ้นครั้งแรก เหมือนกับการล้มล้างรัฐประหาร ในหมวดนี้จะระบุไว้ว่า จะลบล้างอะไรบ้าง มันจะเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมปกติที่เกิดขึ้นมาใหม่

ตามกระบวนการทางกฎหมายคือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ บัญญัติมาตราขึ้นใหม่?
ใช่เราต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แต่มันจะมีอยู่หลายเรื่อง ต้องประกาศลบล้างคำสั่ง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)อะไรต่างๆ  ลบล้างไป มันจะเกิดกระบวนการหลายอย่างขึ้นพร้อมกัน เช่น การดำเนินคดีกับคนซึ่งทำรัฐประหารภายหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้กระทำโดยอำนาจของประชาชน และรัฐธรรมนูญ

 หากการลบล้างผลพวงจากรัฐประหารนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ไม่น่าจะวุ่นวาย ไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่มันทำให้เขาสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ที่เป็นธรรม และยุติธรรมไม่เกี่ยวกับการตั้งปรปักษ์มาสอบสวน

กฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์จากผลของการรัฐประหาร รวมถึงกฦหมายอื่นที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะทำอย่างไร ?
 อันนี้ไม่กระทบอยู่แล้ว ไม่กระทบเลย หลายคนพยายามเสนอแล้วบอกว่าเราเสนอลบล้างผลการรัฐประหารทั้งหมด จะกระทบ แต่ทางคณะนิติราษฎร์ เราดูไม่ได้เสนอไปมั่วๆ เราเสนอให้ล้างทั้งหมดแต่เราก็ดูว่าจะกระทบอะไรไม่ได้เสนอแบบมั่วๆ เสนอเฉพาะเรื่อง จะล้างคำประกาศของคปค. รัฐประหารโดยตรง ส่วนกฎหมายที่ออกมาเป็นเรื่องๆ ที่มันก่อตั้งสิทธิไม่ได้กระทบ ไม่กระทบอยู่แล้ว คนที่พูดพยายามทำให้มันรู้สึกว่าน่ากลัวมากๆ  แต่เราเสนอเพื่อให้สามารถเอาผิดกับคนที่ทำรัฐประหารได้ ประเด็นในสังคมมันเป็นแบบนี้ ก็เลยมองว่าเราสุดโต่งไป แต่ความจริงไม่ใช่ เราคัดเลือก (Selected)  ว่าคนที่สุจริตก็จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับคนที่ไม่สุจริตจะได้รับผลกระทบแน่ เพราะเขาทำผิด

กระบวนการท้ายที่สุดคือนำตัวของพล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคปค.(คมช.) มาลงโทษ ?
ก็หลายคนนะ คนเหล่านั้นก็ต้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผิดหรือไม่ผิดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายว่ากฎหมายใดควรยกเลิกหรือไม่
ใช่ เอาในทางหลักการเรายอมรับว่ามีการลบล้างผลพวงที่มาจากรัฐประหาร มันจะทำขึ้นในชั้นของการร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. จะต้องบัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ เสร็จแล้วเราจะคัดเลือกแต่ละเรื่อง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่น่าจะยาก เพราะมันจำกัดผลอยู่ อะไรที่เป็นกฎหมายที่มาจากผลพวงรัฐประหารที่เป็นประโยชน์ก็ไม่น่าจะลบล้าง ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวหรอก  คนที่บอกว่าลบล้างหมด คือ เขากลัวว่าจะไปเอาผิดกับคนที่ทำรัฐประหาร ประเด็นมันเป็นอย่างนี้


ที่มาของคนที่จะมาทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณากฎหมาย มาจากไหน ?
 มันต้องมาจากส.ส.ร.ในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าส.ส.ร.จะมาจากไหน จะใช้ระบบการสรรหาแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือไม่  ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิใช่หรือไม่  ก็มีหลายแนวทาง อีกแนวทางคือ ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ ตามโควตาของพรรค และเป็นไปตามสัดส่วนของส.ส.ในสภา ซึ่งมีหลายแนวทางในการได้มาของส.ส.ร. ตามรัฐธรรมนูญ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน ออกเสียงประชามติ

หลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลกันมากโดยเฉพาะประเด็นในการแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ทางกลุ่มนิติราษฎร์จะอธิบายตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนได้อย่างไร?
มาตรา 112  ทางคณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไปแล้ว ขณะนี้เงียบไป เพราะบรรยากาศในการพูดถึงประเด็นแก้ไขมาตรา 112 มันไม่ค่อยเอื้อเท่าไหร่ คนไม่ค่อยพูดกัน หวังว่าต่อไปทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะพูดถึงกันเยอะขึ้น ส่วนตัวบทที่ทางคณะนิติราษฎร์ เสนอให้แก้ไข  (อ่านต่อในlink  http://www.enlightened-jurists.com/)   ทางคณะนิติราษฎร์ไม่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112  แต่มีการประนีประนอมกับสถาบันทางจารีตอยู่ เพียงแต่ว่าให้มันสมเหตุสมผล คือโทษที่มีโทษจำคุก 3-5 ปีมันไม่สมเหตุสมผล เมคเซ็นซ์(Make sense) กับความผิด เรื่องโทษถือเป็นเรื่องแรกที่จำเป็นต้องแก้ไขก่อน เพราะโทษมันหนักจนเกินไป


คดีของพ.ต.ท.ทักษิณ มันเริ่มต้นมาจากการรัฐประหาร หากทำให้มันเสียเปล่า แล้วเริ่มต้นใหม่แล้วประชาชนทั่วไปจะไว้วางใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการตัด ตอน?

“เป็นเรื่องซึ่งต้องทำขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องถามก่อนว่าการตั้งคำถามแบบนี้เป็นการปฏิเสธการลบล้างคำ พิพากษาหรือไม่ หมายความว่า เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เราปฏิเสธรัฐประหาร ส่วนจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร ปฏิรูปองค์กรกระบวนการยุติธรรมอย่างไรต้องทำต่อมาอีก  เราจะมาบอกว่าเริ่มต้นใหม่อย่างไรไม่รู้ แต่ให้คงไว้ ก็ไม่ถูก Logic ใน ทางกลับกันมันไม่ถูกต้องล้างไป แล้วไปว่ากันข้างหน้า อย่าบอกว่าข้างหน้าไม่แน่ใจ ไม่รู้แล้ว ยังคงประกาศของคปค.ไว้ เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง”


การลบล้างคำพิพากษาในคดีที่ดินรัชดามันเริ่มต้นดำเนินการมาก่อน 19 ก.ย.49 แล้วใช่หรือไม่ ?
ไม่ใช่ คดีที่ดินรัชดามีการตั้งข้อกล่าวหาและเริ่มกระบวนการฟ้องร้องโดยคตส.เป็นคน ทำ คตส.ดึงคดีนี้ขึ้นมา แต่ยอมรับว่าการกล่าวหาในคดีมันมีอยู่ก่อน เขาดึงขึ้นมา แต่คำพิพากษามันมีขึ้นมาจากผลพวงจากตัวรัฐประหารนั่นเอง

นอกจากนี้มีคดีใดอีกบ้างที่ต้องลบล้างคำพิพากษา?
 คดีหวยบนดิน, คดีกล้ายาง  แต่ในคดีกล้ายางมีการปล่อยตัว ก็ต้องมาว่ากันใหม่ คดียึดทรัพย์ฯ ถ้าผมจำไม่ผิดอย่างน้อยมี 4 คดี ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตอนนี้ยังมีอยู่  ซึ่งคดีเหล่านี้ต้องเริ่มใหม่ซึ่งไม่ใช่เป็นผลที่มาจากรัฐประหาร  คือเข้าใจไหมว่า การรัฐประหารมีตำหนิตรงที่ตั้งคนเข้ามาและดำเนินกระบวนการพิจารณาส่งฟ้อง ศาล  คือถ้าไม่มีรัฐประหารกระบวนการจะไม่เกิดขึ้นแบบนี้

มุมของนิติราษฎร์ก็ต้องพิจารณาถึงกรณีที่คนเสื้อแดงเสียชีวิตจาก การกระชับพื้นที่เข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพด้วยใช่หรือไม่ ?
ถูกต้อง ต้องทำอย่างนั้น เราต้องการให้สังคมไทยเรียนรู้ความจริง และกลับไปสู่ความเป็นจริง เพียงแต่ว่าข้อเสนอนี้มันทำให้ใครหลายๆคนเสียประโยชน์ เขาต้องตำหนิ โจมตี เป็นเรื่องปกติ

ทำไมทางกลุ่มนิติราษฎร์ถึงกลับมาพูดอีกรอบหลังจากออกแถลงการณ์ครบ 1 ปี นิติราษฎร์ในวันที่ 19 ก.ย. 54 ที่ผ่านมา?

“ประเด็นคือ พบว่าสื่อมวลชนไปตีความเขียนข่าวว่าเป็นการล้างผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นความเท็จ คือมันไม่จริงวันนี้เรายืนยันข้อเสนอของเรา และเพิ่มเติมบางประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ให้เข้าใจมากขึ้น  ส่วนที่มีการพูดถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเพราะ ได้มาซักถามว่าเป็นการทำเพื่อคนๆเดียว เราจะได้รู้ว่าไม่ใช่การทำเพื่อคนๆเดียว แต่เป็นการทำเพื่อหลักการ  เราจะได้มาคุยกัน จะได้อธิบาย เหมือนกับที่แถลงไปวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าไม่ได้ทำเพื่อคนๆเดียว ปกติคนจะมองว่าเป็นการทำเพื่อคนๆเดียวเป็นการลดน้ำหนักข้อเสนอโจมตีส่วนตัว ซึ่งผมไมได้มีอะไร ผมก็สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

ทำไมคณะนิติราษฎร์ถึงเลือกใช่ช่วงเวลาช่วงนี้มาประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอ?
ก็มันครบ 5 ปี รัฐประหารและเป็นช่วงเวลาที่พูดกันถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีจังหวะไหนเหมาะสมในการทำให้ข้อเสนอนี้เป็นที่พูดถึงในสังคมเท่ากับตอน นี้

ทำไมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ทางคณะนิติราษฎร์จึงไม่เสนอข้อเสนอดังกล่าว
“ก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย คือ เสนอไปก็หายไป แต่ตอนนี้มีวี่แววว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มันจึงรับพอดีกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าเรื่อง นี้จะบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ ทำไมไม่ถามล่ะว่าไม่เสนอในรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ทำไมถามถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ล่ะ ก็ตอบเลยว่าตอนนั้นยังไม่มีวี่แววแก้รัฐธรรมนูญ”

ขณะนั้นคณะนิติราษฎร์ยังไม่ก่อตั้งด้วยใช่หรือไม่
ก็ใช่ ถูกต้อง แต่เราก็เป็นกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  นิติราษฎร์ มันก็ต่อเนื่องมาจากกลุ่ม 5 อาจารย์ฯ  ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร มีแถลงการณ์ตั้งหลายสิบฉบับออกไป
แนวทางที่จะเสนอสู่ คณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอนธ.)บ้าง?
 สิ่งที่เราเสนอคงเป็นส่วนหนึ่งซึ่งคอนธ.จะนำไปพิจารณา ส่วนประเด็นจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมขึ้นมาก็ยังไม่ทราบในเชิงรูปธรรมจะทำอะไร ขึ้นบ้าง  เราคนละส่วนกันแน่นอนว่าในทางความคิดบางอย่างอาจตรงกันเป็นเรื่องปกติ แต่ยืนยันว่าจะทำงานทางวิชาการอยู่อย่างนี้ไม่ได้ไปทำอะไรที่ไหน ทีนี้มีคนมาถามเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราตอบไม่ได้ ตอบได้เพียงว่า ถ้าผม หรือคณะนิติราษฎร์เข้าไปแล้วสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำอะไรไม่ได้เราก็อยู่ตรงนี้ ถือว่าเอาประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนหมู่มากเป็นใหญ่ ไม่ใช่เพื่อตัวผมเอง  ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็สอนหนังสือไปเพียงแต่อยากเห็นสังคมพัฒนาไปในทางที่ดี และผมเข้าใจว่าคนในสังคมตื่นตัวขึ้นเยอะมาก  อย่างข้อเสนอนี้ทางคณะนิติราษฎร์ก็ไม่คิดว่าจะทำให้คนตื่นตัวได้มากขนาด นี้  ซึ่งก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนการโจมตีเป็นเรื่องปกติ

“เราถือว่าเราทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ๆไม่มีใครมีผลประโยชน์  ถ้ามีเรื่องผลประโยชน์ป่านนี้ก็คงสบายกันไปแล้ว ไม่ต้องมาทำแบบนี้ ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องเอาเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของเราไปแลก เราเป็นนักวิชาการซึ่งไม่ได้อยู่ค่ายไหนอยู่แล้ว  ส่วนก้าวต่อไปจากนี้อาจจะเสนอประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญและอาจจะทำรัฐธรรมนูญ บางหมวด เป็นต้นแบบข้อเสนอ อย่างเช่นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ที่เราทำเป็นตัวบทชัดเจนแล้วเสนอออกไป  สิ่งที่เราจะทำคือการให้ความรู้กับประชาชน เช่นถ้าเราทำหมวดรัฐสภา ส.ส.ต้องสังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรคการเมือง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คนมีความรู้ในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไป ได้ เหล่านี้คือ ฐานสำคัญของพัฒนาการทางประชาธิปไตย แต่เราจะทำเท่าที่กำลังเรามี เราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร”

สิ้นคำให้สัมภาษณ์นายวรเจตน์ ถูกบรรดากลุ่มคนเสื้อแดงห้อมล้อมขอถ่ายรูปทันที !คลี่คลายความสงสัยเรื่องประเด็นการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไปได้พอสมควร ต่อจากนี้ไปก็คงต้องมาดูกันว่า ข้อเสนอที่ทางคณะนิติราษฎร์ จะนำไปสู่ผลพวงทางนิตินัย อย่างไรกับเรื่องนี้โดยเฉพาะข้อเสนอในการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ.  2550 และมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น...ไม่รู้ว่า “นักการเมือง” จะสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างไร คงต้องติดตาม เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้มติของประชาชนทั่ว ประเทศอย่างที่ใครหลายคนคิดไว้!

คืนชีพ...บ่อนคาสิโนถูกกฏหมาย?

 เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ สำนักงานสลากฯ เตรียมเสนอคลังขอแก้ พ.ร.บ.จัดตั้งกาสิโน หนุนผุดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ไอเดียบรรเจิดจับโรงเรียน บ่อน รวมไว้ที่เดียวกัน ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุนวงเงิน 1 หมื่นล้าน พร้อมชงแก้มาตรา 22 จัดสรรเงินส่งรัฐใหม่
 นายวันชัย สุระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  เปิดเผยว่า สำนักงานสลากฯ มีแนวคิดที่จะให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 และมาตรา 22 โดยขอให้นายสมชาย พูลสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำเรื่องดังกล่าวหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไป
        สำหรับการแก้ไขมาตรา 5 วัตถุประสงค์การตั้งสำนักงานเพื่อให้มีขอบข่ายในการทำกิจการที่กว้างยิ่ง ขึ้น โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้สำนักงานสลากฯ สามารถดำเนินกิจการได้หลากหลาย ครอบคลุมถึงการตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถเข้าไปใช้บริการได้ เพราะจะรวมบริการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งช็อปปิ้งมอลล์ โรงเรียนกวดวิชา สนามกอล์ฟ และธุรกิจบันเทิงรูปแบบต่างๆ ซึ่งในมาเก๊า เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จ่ายภาษีให้รัฐบาลถึงกว่า 30% จนรัฐบาลนำเงินมาสร้างสาธารณูปโภคพัฒนาประเทศได้
        สำหรับพื้นที่ที่สำนักงานสลากฯ เห็นว่าน่าจะตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในประเทศไทยคือ ทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะไม่เหมาะกับการทำการเกษตรกรรม การมีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เกิดขึ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปการลงทุนของเอกชนที่รับสัมปทาน จะช่วยสร้างงานอีกจำนวนมาก และรัฐบาลได้ภาษีไปพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกาสิโนรายล้อมประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยมีความพร้อมมากกว่า ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
 "การขอแก้กฎหมายในครั้ง นี้ทำให้สำนักงานสลากฯ มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถจำหน่ายสลากออนไลน์และการทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  เพิ่มจากวัตถุประสงค์ปัจจุบันกำหนดให้ทำใน 3 เรื่อง คือ การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล, จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่ง พ.ร.บ.สลากฯ ไม่เคยแก้เลยมาตั้งแต่ปี 2517 วันนี้สังคมเปลี่ยนไป หลายประเทศเช่นมาเก๊ามีการนำรายได้จากธุรกิจกาสิโนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ประชาชนเองก็มีรายได้ มีงานทำ ที่ผ่านมาเสนอให้สมชาย พูลสวัสดิ์ ประธานบอร์ดคนเก่า ให้ไปเสนอเรื่องการแก้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ให้ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนประธานเป็นเบจญา หลุยเจริญแล้ว ก็คาดว่าจะเสนอเรื่องให้พิจารณาต่อไป เพื่อให้นำรายได้จากส่วนนี้มาพัฒนาประเทศ" นายวันชัยกล่าว
 ทั้งนี้ ในการทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในการลงทุน ซึ่งอาจจะดึงกลุ่มทุนจากต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วม
 สำหรับ แนวทางการจำหน่ายสลากออนไลน์ เห็นว่ามีโอกาสที่จะหวนกลับมาออกสลากออนไลน์แบบเลขท้าย 3 และ 2 ตัวเหมือนที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่นำผลการศึกษาของนายเกียรติ สิทธีอมร ที่สนับสนุนให้ออกสลากการกุศลเป็นออนไลน์แบบเลข 6 หลัก
 นายวันชัยกล่าว เสริมอีกว่า ส่วนการแก้มาตรา 22 เพื่อเปิดทางให้สำนักงานสลากฯ ลดการนำส่งเงินรายได้เข้าคลัง จากปัจจุบันที่ พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ มาตรา 22 กำหนดให้จัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลาก ต้องเแบ่งเงิน 60% เป็นเงินรางวัล และให้ 12% เป็นรายจ่ายการบริหารงาน ที่เหลืออีก 28% เป็นรายได้นำส่งแผ่นดิน โดยจะเสนอให้ลดรายได้นำส่งแผ่นดินเหลือ 25% และให้นำรายได้ 3% ตั้งเป็นกองทุนที่มีคณะกรรมการบริหารจัดการ เน้นการช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ เช่น น้ำท่วม
 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ นำส่งรายได้ส่งเข้าแผ่นดินในปี 2553 เป็นเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่มีการนำส่งรายได้ 1.4 -1.5 หมื่นล้านบาท โดยหากให้กันรายได้ 3% มาตั้งเป็นกองทุนจะเป็นเงิน 480 ล้านบาท
 นายวันชัยกล่าวถึงสลากออนไลน์ว่า สำนักงานสลากฯ พร้อมที่จะเดินหน้า ขณะนี้รอนโยบายจากรัฐบาลเท่านั้น ส่วนปัญหาสลากขายเกินราคานั้น เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่าจำนวนสลากที่พิมพ์ทั้งสิ้น 68 ล้านฉบับในขณะนี้ยังไม่เพียงพอ ส่วนการจะเพิ่มจำนวนพิมพ์ขึ้นไปอีกนั้น ก็จะเพิ่มได้คราวละ 4 ล้านฉบับ และสูงสุดไม่เกิน 72-72 ล้านฉบับต่องวดเท่านั้น หากเพิ่มถึง 80 ล้านฉบับ เชื่อว่าจะเกินกว่าความต้องการของตลาด เพราะเกินกำลังซื้อของประชาชน.



คมชัดลึก

ไม่ใช่ไม่เคยมีคาสิโนนะ
ประเทศไทยเคยมีสถานคาสิโนครั้งแรก ที่ตำบลหัวหิน เมื่อ พ.ศ. 2482 คนไทยเสียค่าผ่านประตูคนล่ะ 10 บาทต่อหนึ่งวัน ถ้าตีตั๋วตลอดอาทิตย์เสียเพียง 40 บาท ส่วนคนต่างด้าวเสียค่าผ่านประตูคนละ 2 บาท

ครั้นถึงสมัยสงคราม เงินเฟ้อ ไทยต้องพิมพ์ธนบัตรให้ทหารญี่ปุ่นใช้ เมื่อสงครามใกล้จะยุติ รัฐบาลได้ประกาศเปิดสถานคาสิโนเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 อนุญาตให้ประชาชนเล่นการพนันต่างๆ ได้ เช่น ถั่ว โป ไฮโล และจับยี่กี ฯลฯ สถานที่แห่งแรก คือ สนามม้านางเลิ้ง แล้วต่อมาได้เปิดตามอาคารเช่นที่เยาวราช

เปิดบ่อนคาสิโนอยู่ประมาณ 4 เดือน ทางราชการก็ประกาศเลิกสถานคาสิโนทั้งหมด ให้เล่นวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2488 เป็นวันสุดท้าย
โหถึงขนาดไปดูงานแล้วด้วยเหรอ ผอ.กองสลาก


   


พบกลุ่มทุนกว้านซื้อที่ดินทุ่งกุลา


กลุ่มนายทุนกว้านซื้อที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้หลังกองสลากชงผุดคาสิโน ให้ราคาไร่ละ 80,000 บาท
นางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า หลังจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเล็งสร้างกาสิโนในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ปรากฏว่า เริ่มมีนายทุนเข้าติดต่อชาวบ้านหนองอีเข็ม หมู่ 10 ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ เพื่อขอซื้อพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเทศบาล ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย และเทศบาล ต.หินกอง อ.สุวรรณภูมิ มีทั้งพื้นที่สาธารณะและที่นาของชาวบ้าน รวมกว่า 1,000 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง พื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ปีละครั้ง โดยให้ราคาไร่ละ 8 หมื่นบาท ซึ่งมีชาวบ้านทยอยขายไปแล้วบางส่วน ทั้งที่ไม่ทราบรายละเอียดว่าจะซื้อไปสร้างอะไร ยังไม่มีใครรู้ข้อมูลที่แน่ชัด
นางบุญเกิด กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมามากมาย ถ้าหากสร้างขึ้นสามารถจะนำเงินเข้าไปพัฒนาประเทศได้ปีละมหาศาลนั้นมีความ เป็นไปได้ แต่ต้องนึกถึงผลดีผลเสียตามมา เพราะทุ่งกุลาร้องไห้ถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์และมหาสารคาม ซึ่งพื้นที่กว่า 9 แสนไร่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด
ทั้งนี้รัฐบาลที่ผ่านมามีโครงการที่จะผลักดันให้ทุ่งกุลาฯเป็นพื้นที่ เศรษฐกิจพิเศษ โดยเรื่องอยู่ในระหว่างการศึกษา และหากรัฐบาลมีการนำเรื่องนี้มาพิจารณา ก็ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆด้วย ทั้งนี้เมื่อหลายปีก่อนเคยมีการหยิบยกเอาพื้นที่ ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย เป็นพื้นที่ก่อสร้างสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ และบ่อนกาสิโนระดับโลกบนเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ จนมีกลุ่มคนออกมาสนับสนุน และต่อต้านและล้มเลิกไปในที่สุด
"ในอนาคตหากจะมีการยกเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่ อยากจะฝากบอกว่าต้องนึกถึงบุคลากรในพื้นที่ด้วยเพราะประชากรส่วนใหญ่ประกอบ อาชีพทำนา ปลูกข้าวหอมมะลิขายได้ราคา 16,000 บาทต่อตัน หากเขาไม่ได้ทำนาแล้วจะเอารายได้มาจากไหน มีอาชีพรองรับหรือไม่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ"นางบุญเกิด กล่าว
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง