บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปิดบทวิเคราะห์การเมืองธีรยุทธฉบับเต็ม




เปิดบทวิเคราะห์การเมืองไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง 'ธีรยุทธ บุญมี ' ฉบับเต็ม
นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์การเมืองไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง ดังนี้

1.ยุคของการเมืองปัจจุบันยุคของทักษิณ-การเมืองรากหญ้า ประชานิยม

1. การเมืองยุคของทักษิณ ช่วงเกือบ 15 ปีที่พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งทั่วไป ได้เสียงข้างมากติดต่อกัน รวมทั้งสามารถขยายฐานรากหญ้า เสื้อแดง ระดมพลไปเลือกตั้งและชุมนุมประท้วงได้อย่างกว้างขวาง สะท้อนว่าทักษิณกลายเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีบารมีทางการเมืองในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ที่มีบทบาทเปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ซึ่งได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทักษิณจะช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้นหรือประเทศล่มจมยังเป็นสิ่งต้องพิสูจน์อีกยาวนาน

2. เกิดการเมืองรากหญ้า-ประชานิยม วิกฤติการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ที่รุนแรงที่สุดคือการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย เพราะมองว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ต้องสนใจจริงจัง เช่น ฝ่ายอนุรักษ์มองว่า เสื้อแดงไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือคือ (ก) นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยผ่อนเบารายจ่ายของคนจนอย่างมาก

นอกจากแก้การเจ็บไข้ร่างกายแล้ว ยังแก้เจ็บใจที่แต่ก่อนไปสถานพยาบาลแล้วถูกดูถูกปฏิเสธ (ข) ชาวบ้านมองกองทุนและโครงการช่วยคนจนต่างๆ ว่าเป็นก้าวแรกที่มีการช่วยเหลือทางวัตถุโดยตรงและจริงจังแก่ชาวบ้าน (ค) ชาวบ้านชอบความรวดเร็วและเด็ดขาดเอาจริงเอาจังของทักษิณ โดยเฉพาะในการปราบปรามยาเสพติด (ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ปัญหายาเสพติดกระทบโดยตรงต่อครอบครัวคนชั้นกลางล่าง ชั้นล่าง หรือคนจนในเขตเมืองมากกว่าที่คิด และลดลงมากในช่วงทักษิณ) ส่วนเสื้อแดงก็ไม่ยอมรับเสื้อเหลือง มองเป็นพวกไม่มีเหตุผล ความคิด เพราะคลั่ง “ชาติ” คลั่ง “เจ้า”

3. การเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อประชาธิปไตย ถ้าจะมองพัฒนาการการเมืองไทยในด้านสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ในช่วงราชาธิปไตยชาวบ้านไม่มีทั้งเสรีภาพและศักดิ์ศรี ต่อมาในช่วงเผด็จการทหารมีบางส่วนได้มีศักดิ์ศรีแต่ไม่มีเสรีภาพ ชนชั้นกลางในสังคมไทยเพิ่งจะมีเสรีภาพก็ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และชาวบ้านระดับรากหญ้าเองก็มามีเสรีภาพในการแสดงออกหลัง 19 กันยายน 2549 การเมืองรากหญ้าจึงเป็นดัชนีบ่งชี้พัฒนาการของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต อย่างไรก็ตาม พลังรากหญ้า เสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นคราวๆ ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด



2.รากเหง้าของวิกฤติ

1. เรารวมศูนย์มากเกินไป ท้ายที่สุดศูนย์กลางเอาไม่อยู่
ก่อน รัตนโกสินทร์ไทยไม่ได้ปกครองแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ มีความหลากหลายของรูปแบบการปกครอง ขนบ วัฒนธรรม เพิ่งมีการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จทุกด้านในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยรัฐเป็นเจ้าของและผู้ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง เชิดชูส่วนกลาง กดเหยียดของเดิม จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ความน้อยเนื้อต่ำใจในหลาย ๆ ด้านฝังลึกอยู่ เนื่องจากทุกอย่างรวมศูนย์ที่รัฐ ทั้งอำนาจและทรัพยากร ชนชั้นนำที่เข้ามามีอำนาจการเมืองล้วนหยิบฉวยใช้ประโยชน์จากรัฐทั้งสิ้น

ส่วนชาวบ้านเกือบไม่เคยได้อะไรจากรัฐ จึงตำหนิชาวบ้านเต็มที่ไม่ได้ เมื่อประเทศต้องการให้มาลงคะแนนเป็นรากฐานให้ประชาธิปไตย พวกเขาจึงถือเป็นอำนาจต่อรองในการซื้อ-ขายเสียง ขอโครงการเข้าหมู่บ้าน ชาวบ้านตื้นตันใจกับทักษิณที่ใช้ประชานิยมผันเอาเงินของรัฐไปช่วยชาว บ้านอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง แม้ตัวเองจะไม่ยอมจ่ายแม้แต่สตางค์แดงเดียวก็ตาม
ตัวอย่างความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการรวมศูนย์มากเกินไป ซึ่งต้องร่วมกันแก้ไข คือ

(ก) ความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ คุณภาพชีวิต อำนาจในการใช้และควบคุมทรัพยากรพื้นฐาน ตั้งแต่ ดิน น้ำ ลม ไฟ แร่ธาตุ ป่าไม้ การสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพอนามัย ฯลฯ มีอยู่มากและได้พูดกันมากแล้ว

(ข) ประวัติศาสตร์เป็นความภาคภูมิใจของคน ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เราเน้นประวัติศาสตร์แบบกษัตริย์นิยมเป็นรัชกาลๆ ไป เกือบไม่มีเรื่องราวของคน อาชีพ สถานะอื่น ไม่มีประวัติศาสตร์สังคมโดยรวม

ไม่มีการเขียนประวัติศาสตร์ว่าคนอาชีพต่างๆ มีส่วนสร้างสังคมอย่างไร ราวกับว่าไม่มีพวกเขาอยู่ ความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศจึงเกิดน้อย สถานที่สาธารณะของเรามีรูปปั้น มีชื่อถนน สะพาน อาคาร สวนสาธารณะ ฯลฯ ตามพระนามพระมหากษัตริย์ เกือบไม่มีชื่อของปราชญ์ชาวไทย พระ ทูต นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร สถาปนิก นายแพทย์ นักสำรวจ นักเศรษฐศาสตร์ นักแต่งเพลง กวี ศิลปิน ดารา นักกีฬา เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ พระยาอนุมานราชธน พุทธทาสภิกขุ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุนทราภรณ์ มิตร ชัยบัญชา สุรพล สมบัติเจริญ ปรีดา จุลละมณฑล รวมทั้งบุคคลสำคัญของท้องถิ่นต่างๆ ในต่างประเทศเช่นราชสำนักอังกฤษให้อิสริยาภรณ์กับหลากหลายอาชีพ แม้แต่ชาวต่างประเทศ เปเล่ เอลตัน จอห์น บิล เกทส์ เดวิด เบคแฮม ฯลฯ ในขณะที่เรามีให้กับข้าราชการทหาร พลเรือน และภริยา กับนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่

(ค) ภาษา ขนบประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่นถูกทอดทิ้งละเลยไปมาก เช่น มีการรื้อถอนคุ้มจวนเจ้าเมือง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่สวยงาม แล้วสร้างศาลากลางที่อัปลักษณ์แบบไทยภาคกลางลงไปแทน วัดวาจำนวนมากก็ถูกเปลี่ยนเป็นแบบวัดภาคกลางแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการใช้ภาษาบาลี ไปเป็นชื่อถนน อำเภอ ตำบล แทนชื่อท้องถิ่น ฯลฯ ยิ่งสร้างความแปลกแยก แทนที่จะสร้างความเข้าใจ เคารพซึ่งกันและกัน

ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมมาตลอดชีวิต ถูกดูหมิ่นดูแคลน ไม่มีศักดิ์ศรีของตัวเองให้เกิดความเคารพความรับผิดชอบตัวเอง เมื่อชนชั้นกลางในเมืองต่อต้านคนที่มีบุญคุณเช่นทักษิณ จนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ขึ้น พวกเขาจึงรู้สึกว่ายิ่งถูกซ้ำเติม ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศูนย์กลางใช้ 2 มาตรฐานต่อพวกเขา จึงเกิดการไม่ยอมรับอำนาจของศูนย์กลางขยายตัวกว้างขวางขึ้น
2. ความต่างในค่านิยม ความคิดพื้นฐานระหว่างรากหญ้ากับชนชั้นนำ ตอกย้ำความไม่เข้าใจกันเพิ่มมากขึ้น

ชาวบ้านอยู่กับความยากจนมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย จึงชอบวัตถุจับต้องได้อย่างเห็นชัดๆ ชอบความไวทันใจแบบปาฏิหาริย์ ชาวบ้านจึงชอบตะกรุด หลวงพ่อคูณ (กูให้มึงรวย) แทงหวย ชอบทองคำ ซึ่งบ่งบอกถึงความรวยชัดๆ (มวยไทยเก่งๆ ได้แจกสร้อยทองคำ) ชาวบ้านยังมีค่านิยมแบบนักเลง มีน้ำใจให้กัน พึ่งพากันได้ ชอบฮีโร่หรือวีรบุรุษที่สร้างความหวัง (ส่วนใหญ่ไม่สมหวัง) ให้กับตน ชอบผู้นำที่ฉับไว กล้าได้กล้าเสีย ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า ส่วนคนชั้นสูงชอบระเบียบ ความสงบ เรียบร้อย เพราะเท่ากับว่าคนที่ต่ำกว่ายอมรับโครงสร้างอำนาจเดิม และมองว่าระเบียบเป็นสิ่งเดียวกับประสิทธิภาพ

แต่เมื่อใช้กับระบบราชการที่มีอยู่มานานจึงเชื่องช้า (นี่เป็นค่านิยมหลักของประชาธิปัตย์ที่ถูกวิจารณ์หนักมาตลอด) ชนชั้นสูงชั้นกลางเน้นการพึ่งตนเองและระบบ เน้นวัตถุเหมือนชาวบ้านเช่นกันแต่พยายามมีคำอธิบาย พวกเขาเน้นนามธรรม และชอบเทศนาคุณธรรม ความดี จึงเป็นที่มาของความต่างระหว่างประชาธิปไตยกินได้ของชาวบ้านกับประชาธิปไตย ดูได้ของชนชั้นสูง

ความแตกต่างในค่านิยมระหว่างชนชั้นล่าง และชนชั้นสูง/กลาง

ชั้นล่าง ค่านิยมชีวิตทั่วไป ชอบความง่าย สนุกสนาน รู้สึกชีวิตไม่เป็นธรรม ชอบวัตถุจับต้องได้ เน้นการพึ่งพา ช่วยเหลือกัน ใจกว้างใจนักเลง

ชั้นสูง/กลาง ชอบระเบียบ กระบวนการ ความสงบเรียบร้อย มารยาท ชีวิตเป็นโอกาส ช่องทางเปิดกว้าง ชอบนามธรรม เน้นคุณธรรม ความดี (แต่ก็ชอบวัตถุ) เน้นการพึ่งตนเอง ช่วยตนเอง

ค่านิยมทางการเมือง
ชั้นล่างชอบ ผู้นำวีรบุรุษ นโยบายประชานิยม ประชาธิปไตยกินได้

สำหรับนักการเมือง ประชาธิปไตย (กู) ได้กิน

ชั้นสูง/กลาง ไม่ชอบทักษิณที่ไม่เคารพกติกา ไม่ชอบประชานิยม เพราะทำให้คนไม่รับผิดชอบตนเอง ชอบ

ประชาธิปไตยคนดี (เพราะพวกเราเป็นคนดี) หรือประชาธิปไตยดูได้ เผด็จการคนดีก็รับได้

3.มุมมองใหม่ของปรากฏการณ์ของ การเมืองรากหญ้า ขบถ”คนเล็กคนน้อย”

1. จะเข้าใจปรากฏการณ์เสื้อแดงได้ดีขึ้น ถ้ามามองทฤษฎีวงจรอุบาทว์หรือทฤษฎีสองนคราฯ ให้ลึกลงในระดับโครงสร้าง เราเคยอธิบายว่าการเมืองไทยเป็นสองนคราธิปไตย คือคนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล หรือคนชนบทซื้อ-ชายเสียงเลือกตั้ง นักการเมืองถอนทุน ชนชั้นกลางไม่พอใจ ทหารรัฐประหารเลือกตั้งใหม่

แต่นี่เป็นการมองเชิงปรากฏการณ์ ถ้ามองเชิงโครงสร้างเราจะมองเห็นวงจรของการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจการ เมืองซ้อนทับอยู่ คือ ชนบทเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร แรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งที่มาที่ชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย (ซึ่งก็คือการเลือกตั้ง) ส่วนเมืองเป็นแหล่งผลิตใช้ทรัพยากร และเป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย และเพื่อให้วงจรนี้ดำรงต่อไปได้ก็มีการครอบงำชาวบ้าน โดยวาทกรรมความสำคัญของศูนย์กลาง ของประชาธิปไตยคนดี และมาตรการสุดท้ายคือรัฐประหาร

ประเทศตะวันตกไม่เกิดวงจรอุบาทว์นี้ เพราะเขาทำให้ประชาชนทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนร่วมรับผิดชอบ กล้าใช้สิทธิเสรีภาพของตน ประชาธิปไตยในต่างประเทศไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ต้องมีการลงทุนด้านสังคม การศึกษา ค่านิยม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม รับผิดชอบ กลุ่มธุรกิจ ธนาคาร อุตสาหกรรม และภาคสังคมเป็นตัวหลักในการสร้างมหาวิทยาลัย โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ที่ประชุม ชุมชน หอศิลป์ ที่ฟังดนตรี สร้างสังคมที่ดี สวยงาม น่าอยู่ น่ารับผิดชอบร่วมกัน ฯลฯ

ชนชั้นนำไทยละเลยภารกิจนี้โดยสิ้นเชิง กลับโยนความไม่เป็นประชาธิปไตยไปที่ชาวบ้าน ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ชนชั้นสูงของไทยสร้างค่านิยม อุดมการณ์แบบนิยมกษัตริย์ ทหารเน้นอุดมการณ์ความมั่นคง ส่วนกลุ่มทุน ธุรกิจต่างๆ ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบหรือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยขึ้นเลย ชนบทจึงเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร แรงงานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นผู้ลงคะแนนเสียง หรือแหล่งที่มาของความชอบธรรม (legitimacy) ของประชาธิปไตยที่ดึงดูดเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยที่ตัวเองเกือบไม่ได้อะไร

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็รู้ดีว่าอำนาจต่อรองทำให้เกิดผลประโยชน์ได้ เมื่อคนเมืองต้องการให้พวกเขาลงคะแนนเลือกตั้ง การซื้อ-ขายเสียงอย่างเป็นระบบ การของบโครงการเข้าหมู่บ้านจึงเริ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2521 และขยายตัวเรื่อยมา สังคมทั่วไปประณามว่าเป็นเหมือนมะเร็งร้ายของประชาธิปไตย แต่ถ้าจะมองว่าเป็นการแบ่งปัน ขอคืน ของชาวชนบทก็ได้เช่นกัน

การเกิดขึ้นของการเมืองรากหญ้าจึงเสมือนเป็นกระบวนการย้อนกลับที่จะดึงเอา อำนาจ ความมั่งคั่ง ศักดิ์ศรี ความภูมิใจ กลับคืนสู่ชนบท จะเป็นสิ่งที่ดีมากและเกิดผลยั่งยืนแก่ประชาธิปไตยถ้ากระบวนการนี้ยั่งยืน แล้วสร้างความเป็นธรรมในที่สุด เพราะความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำต่างๆ เป็นรากเหง้าลึกที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหาเหลือง-แดง การเมืองรากหญ้า-ประชานิยม (ดูแผนภาพประกอบ)

2. เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจ เมืองไทยยุค 2 ก๊ก ก๊ก “คนเลว” โจโฉ จะชนะก๊ก “คนดี” เล่าปี่-ขงเบ้ง ขณะที่การเมืองไทยกำลังก่อรูปเป็น 2 ศูนย์อำนาจ คือ ศูนย์อำนาจฝ่ายอนุรักษนิยมกับศูนย์อำนาจรากหญ้า ซึ่งเป็นภาวะที่ทั้งน่าสนใจและน่าเป็นห่วงมากที่สุดเมื่อเทียบกับการเปลี่ยน แปลงการเมืองทั้งหมดที่ผ่านมา ภาวะ 2 ศูนย์อำนาจจะแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนมีฐานที่มั่น ที่มาความชอบธรรม (legitimacy) ควบคุมอำนาจที่ต่างกันชัดเจน

(ก)จากนโยบายประชานิยม ซึ่งจะหลากหลายขึ้น ทั้งประชานิยม เศรษฐกิจ อาชีพ สังคม (กองทุนสตรี การแจกคอมพิวเตอร์แทบเล็ตให้เด็กนักเรียน[3]) ประชานิยมด้านอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี

(ข) จากคนเล็กคนน้อย จากหลากหลายอาชีพ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเหยียด เช่น ตำรวจ อัยการ พ่อค้า แม่ค้า (ไม่จำเป็นต้องเป็นคนจนหรือยศชั้นต่ำ)

จะเห็นได้ว่าฝ่ายเสื้อแดง-รากหญ้าอยู่ในสถานะได้เปรียบ ฝ่ายอนุรักษ์เสียเปรียบ เพราะ (ก) แนวทางและวาทกรรมในการต่อสู้ของเสื้อแดงจูงใจคนเล็กคนน้อย (แต่เป็นคนส่วนใหญ่ได้) ส่วนของความคิดอนุรักษ์จำกัดอยู่ในเรื่องชาติและพระมหากษัตริย์ (ข) เสื้อแดงมีความชอบธรรมในเรื่องประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความชอบธรรมสากลของโลกปัจจุบัน

ส่วนความชอบธรรมของฝ่ายอนุรักษ์เป็นเชิงประวัติศาสตร์ประเพณีซึ่งเกาแก่และ สึกกร่อนได้ (ค) วิสัยทัศน์ของพลังอนุรักษ์ตีบตันจึงเป็นฝ่ายตั้งรับ ในขณะที่ฝ่ายรากหญ้าเส้นทางเปิดกว้างเพราะสามารถคิดสิ่งใหม่ๆ มาให้กับชาวบ้านได้ โดยมีงบประมาณ ทรัพยากรรองรับ

ภาวะ 2 ศูนย์กลางไม่เป็นผลดีในที่สุดต้องเหลือเพียงศูนย์เดียว ในระยะยาวโอกาสของพลังฝ่ายรากหญ้ามีมากกว่า
4.บทสรุป

ไม่มีทางออกในระยะใกล้ มีแต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อทางออกระยะยาว

1. ไม่มีทางออกจากการรอมชอมในระยะสั้น เพราะปัญหาฝังลึกมานาน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีปากเสียงมานาน อีกฝ่ายศรัทธาในสถาบันที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานาน ต่างเชื่อว่าอีกฝ่ายจะล้มล้างหรือซ้ำเติมฝ่ายตน

2. การขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้น ดังที่กล่าวว่า วงจรการเมืองเป็นเสมือนการย้อนเอาอำนาจ รายได้ ศักดิ์ศรี ความภูมิใจ ความยุติธรรมกลับคืน เส้นแบ่งระหว่าง 2 ศูนย์อำนาจนอกจากจะเป็นความเสียเปรียบ/ได้เปรียบ คนต่ำต้อย/คนชั้นสูง มีแนวโน้มขยายเป็นเรื่องอัตลักษณ์ (คนอีสาน เหนือ ใต้ กรุงเทพฯ) วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับการเมืองประชาธิปไตยในแง่ที่จะเกิดความหลากหลายทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม การตระหนักในอำนาจ ศักดิ์ศรีของตนเองกับคนไทยอย่างกว้างขวางที่สุด เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต แต่ถ้าเป็นวงจรการเมืองแบบเอาคืนหรือทีใครทีมันอย่างสุดขั้ว ก็จะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อได้ และจะเป็นเรื่องเสียหายเกิดความเสียหายร้ายแรงที่สุดถ้าเส้นแบ่งขั้วขัดแย้งขยายเข้าไปสู่สถาบันกองทัพ ศาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองจะผ่านความรุนแรงไปได้อย่างน้อยช่วงหนึ่งถ้าทักษิณและเพื่อไทยมองเห็นว่า เวลาอยู่กับฝ่ายตน ไม่จำเป็นต้องกดดันให้มีการเผชิญหน้าของมวลชน และใช้เวลาดังกล่าวแก้ไขความไม่ถูกต้อง ซึ่งมีมาช้านานให้ดีขึ้น แต่ก็ควรมุ่งเชิงโครงสร้างและค่านิยมที่ควรมากกว่า

3. ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์หรือแม่บทความคิดใหม่ว่า ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง การปฏิรูปปรับปรุงสถาบัน องค์กร สำคัญๆ ต่างๆ ทั้งหมด อาทิ

รูปแบบการปกครองประเทศควรเป็นอย่างไร ควรจะกระจายอำนาจการตัดสินใจในทางเศรษฐกิจ การศึกษาในระดับภูมิภาค การพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร

เป็นที่ประจักษ์ชัดจากความขัดแย้งปัจจุบันว่า ได้ลุกลามไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ นักวิชาการรวมทั้งนักคิดที่ใกล้ชิดราชสำนัก เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
นพ.ประเวศ วะสี นายอานันท์ ปันยารชุน ควรสร้างการศึกษาค้นคว้า สร้างความรู้ที่ถูกต้องว่า สถาบันกษัตริย์ควรจะดำรงอยู่ในระบบเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์อย่างไร โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการอนุรักษ์สุดขั้วบางส่วน ที่พยายามจะหวนกลับมายกย่องให้พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ มีพระราชอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการย้อนยุค สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยและโลกยุคข่าวสารได้ยั่งยืน ก็ต้องเป็นสถาบันที่มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริง

นอกจากจะมีหน้าที่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแล้ว ยังมีภารกิจตามขนบประเพณี ทางศาสนา วัฒนธรรม และที่สังคมคาดหวัง เช่น เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นแหล่งที่มาของเกียรติยศ จริยธรรม คุณธรรม พิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์สำคัญทั่วโลกล้วนสรุปว่า นโยบายประชานิยมแม้จะมีส่วนดีในหลายด้านแต่ก็ล้มเหลวในที่สุดในทุกประเทศที่เคยใช้มา เพราะเกิดปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและเงินเฟ้อรุนแรง สังคมต้องช่วยกันกดดัน วิพากษ์ วิจารณ์ทักษิณและพรรคเพื่อไทยทีจะพัฒนาเปลี่ยนรูปนโยบายนี้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ผู้ที่ควรร่วมคิด ผลักดันประเด็นข้างต้นควรเป็น นักวิชาการเสื้อเหลือง แดง และนักวิชาการทั่วไปที่ไม่ยึดแนวสุดขั้วจนปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง ภาคธุรกิจ กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งอยู่ตรงกลางมากที่สุด แต่ก็มีผลได้ผลเสียจากความขัดแย้งปัจจุบันมากที่สุด ควรมีบทบาทชดเชยสิ่งที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ด้วยการลงทุนสร้างความยุติธรรม บรรยากาศ ค่านิยมประชาธิปไตยให้กว้างขวางที่สุด

4.การเกิดขั้วทางอำนาจนี้ คงดำเนินต่อไปอีกยาวนาน มีโอกาสเกิดการชุมนุมประท้วงรุนแรงขึ้นได้อีก จำเป็นที่เราต้องยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยเข้มแข็ง (strong democracy) ที่ใช้ทั้งสิทธิและเสรีภาพและตามลักษณะที่เข้มแข็งทั้ง 3 ด้าน (strong right, strong freedom, strong responsibility) คือเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็รักษาสิทธิของตน รับผิดชอบต่อสิทธิเสรีภาพของตนเต็มที่

5.สิ่งที่ต้องทำ

1. ต้องปรับกระบวนทัศน์หรือแม่บทความคิดว่าประเทศไทยควรเป็นอย่างไรใหม่ ประเทศไทยเราคงไม่อยู่ ดำรงอยู่ และก้าวหน้าต่อไปด้วยแนวคิดง่ายๆ ว่าไทยเป็นเมืองสงบ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำไม่มีใครอดตาย เป็นประเทศที่ยึดมั่นใน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพราะมีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม โลกาภิวัตน์ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีสื่อสาร ฯลฯ เกิดขึ้น เราต้องตั้งคำถามต่อปัญหาใหญ่ๆ ของประเทศใหม่ทั้งหมด เช่น

เราจะมีประชาธิปไตยแบบไหน จะมีประชาธิปไตยรากหญ้าที่มีการตรวจสอบ สกัดกั้นการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองได้ไหม จะพัฒนาองค์กรตรวจสอบอย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองบทเรียนประวัติศาสตร์ว่า ประชานิยมที่ถูกนำมาใช้ล้มเหลวในที่สุด แต่บางส่วนมองว่ามีด้านที่ดีในเชิงการเมือง สังคม ความยุติธรรม และอื่นๆ นักเศรษฐศาสตร์ไทยต้องเพิ่มการถกเถียง ถ่ายทอดความรู้ทัศนะในประเด็นดังกล่าวแก่สังคมให้กว้างขวางที่สุด

2. ทุกฝ่ายทั้งเหลือง-แดง ทุกสถาบันของประเทศ ควรปรับตัวให้เข้ากับสภาวการณ์ใหม่ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสียหน้าเสียศักดิ์ศรี หรือเป็นการยอมรับแรงกดดันจากอีกฝ่าย

3. ทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิ กล้าใช้สิทธิของตนเอง เช่น ไม่ควรยินยอมให้พลังฝ่ายใดทำรุนแรงเกินเหตุ เช่น การยึดทำเนียบ การขับไล่ล้มการประชุมนานาชาติ การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การยึดราชประสงค์ จนเกิดการปราบปรามและการเผาราชประสงค์อีกต่อไป แต่ละฝ่ายควรรักษาสิทธิของตนเองอย่างจริงจัง เพราะการกระทำดังกล่าวแม้จะอ้างว่าทำด้วยเจตนามุ่งหมายที่ดี แต่เมื่อเกิดผลเสียหายขึ้นแล้วก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียมกัน เพื่อรักษาระบบยุติธรรมของประเทศเอาไว้ ส่วนจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมทั้งหมดจะช่วยกันพิจารณา

4. โดยส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย อนาคตการเมืองไทยจึงจะยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่จะอยู่กับคนชื่อทักษิณอยู่อีกต่อไปนานพอสมควร

5. โดยส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอมากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย อุดมการณ์การเมืองที่มีความสามารถชี้ทางออกที่เหมาะสมให้สังคมไทยได้ ซึ่งเท่ากับประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น



คมชัดลึก

ระบอบนายกรัฐมนตรีคู่ – ยิ่งลักษณ์ออกหน้า ทักษิณคุมหลัง

Siam Intelligence


อีกแง่มุมในแวดวงการเมืองไทยที่น่าสนใจก็คือ “สถาปัตยกรรมเชิงอำนาจ” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ตอนนี้ดูจะลงตัวกับ “ระบอบนายกคู่” ที่มียิ่งลักษณ์คุมงานเบื้องหน้า และทักษิณคอยดูแลอยู่เบื้องหลัง

ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้าน เราต้องยอมรับว่า ศูนย์กลางของการเมืองไทยนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เกินสิบปี อยู่ที่คนๆ เดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีหรืออดีตนายกรัฐมนตรีผู้โดนรัฐประหารก็ตาม เขาก็ยังมีบทบาทอย่างเด่นชัด และเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งตลอดมา

ปฎิเสธไม่ได้ว่า “นวัตกรรมทางการเมือง” ของพรรคไทยรักไทยที่สร้างขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ หาเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เปลี่ยนโฉมวงการการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง

และมาถึงบัดนี้ปี 2555 เราก็ยังไม่สามารถหาคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลย ทำให้เขายังมีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้

แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้มีอำนาจตัวจริงของรัฐบาลไทยหลายสมัย กลับไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ทำให้เขาต้องหาลู่ทาง สร้างระบบการปกครองประเทศมาจากภายนอก


ป้ายหาเสียงพรรคเพื่อไทย "ยิ่งลักษณ์เป็นนายก"
ระบอบที่ว่านี้เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ตัดสินใจใช้ “ระบอบนอมินี” มอบหมายให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวแทนในการบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี และมี พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายอยู่เบื้องหลัง

แต่ระบอบนี้ก็มีจุดอ่อนที่ว่านายสมัครมีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนเกินไป จนสุดท้ายเกิดสภาวะ “แก๊งสี่คน” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถควบคุมสั่งการได้ แถมในช่วงนั้นรัฐบาลสมัครก็ถูกรุมเร้าจากปัญหาภายนอกคือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคดีทำกับข้าว จนสุดท้ายรัฐบาลสมัครก็ต้องล่มสลายลง

พ.ต.ท.ทักษิณ แก้จุดอ่อนเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว โดยใช้ “ระบบเครือญาติ” ส่งน้องเขยอย่างนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่น่าจะควบคุมได้ง่ายกว่านายสมัคร (ผ่านนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “เจ๊แดง” น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง) เพียงแต่สถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นก็ยังร้อนแรง บวกกับ “บารมี” ของนายสมชายที่ภาพลักษณ์ดูอ่อนแอ แถมยังไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนมากนัก ก็ทำให้รัฐบาลพลังประชาชนล้มลงไปอีกครั้งจากกรณียุบพรรคพลังประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามครั้งที่สามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ดูจะประสบความสำเร็จ เมื่อ “นอมินี” คนใหม่เป็น “สายตรง” หรือ “โคลนนิ่ง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็ยอมรับว่า “พี่ทักษิณมีบุญคุณเปรียบเสมือนพ่อคนที่สอง” ยิ่งแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของบุคคลทั้งสอง ที่การันตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถบัญชาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ดั่งใจ

นอกจากจุดอ่อนเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีแล้ว การใช้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังแก้ปัญหาเรื่อง “บารมีทางการเมือง” ที่ล้มเหลวในสมัยรัฐบาลสมชายมาก่อนได้สำเร็จ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร่วมหาเสียงในฐานะ “ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” มาตั้งแต่ต้น และเสน่ห์ส่วนตัวของเธอเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา บุคลิกความเป็นผู้หญิง ประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชน ก็ทำให้เกิดกระแส “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” ชนะเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย

ความเป็นหญิงและวัยวุฒิ-คุณวุฒิที่ถือว่า “เด็กมากในทางการเมือง” กลับกลายเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากศัตรูทางการเมือง ถึงแม้ว่าคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยจะไม่พอใจกับการอ่านสคริปต์แบบนกแก้วของ การตอบคำถามที่ผิดพลาดหลายครั้ง หรือการเลี่ยงที่จะตอบปัญหาในประเด็นสำคัญๆ จนถูกวิจารณ์อยู่บ่อยๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์หลีกเลี่ยงการปะทะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีประโยชน์ต่อรัฐบาลเพื่อไทยตรงที่ลดความร้อนแรงทางการเมืองลง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผิดพลาดมาก่อนในรัฐบาลไทยรักไทยสมัยที่สอง

พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกที่จะคุมเกมการเมืองภายในพรรคเพื่อไทยเอาไว้เองทั้งหมด ดังที่เราเห็นข่าว ส.ส. ของพรรคเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนคุมเกมในสภาและในพรรคแบบเบ็ดเสร็จ ป้องกันความผิดพลาดในรัฐบาลสมัครที่กลายเป็นรัฐอิสระในพรรคพลังประชาชน และป้องกันปัญหา “งูเห่า” แบบกรณีของนายเนวินในการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ลงไปได้

ถึงแม้รัฐบาลเพื่อไทยจะขลุกขลักไปบ้างในช่วง 4-5 เดือนแรก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทย แต่หลังจากผ่านการปรับแต่งแก้ไขอยู่หลายครั้ง รัฐบาลเพื่อไทยก็เริ่มมั่นคงและมีเสถียรภาพมากกขึ้น ดุลย์อำนาจระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มลงตัว เกิดเป็นสภาวะ “นายกรัฐมนตรีคู่” ที่อาจไปได้ดีและตอบโจทย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างตรงประเด็น

ใน “ระบอบนายกรัฐมนตรีคู่” จะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ให้กับนายกรัฐมนตรี 2 ระดับ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของประเทศไทย รับผิดชอบงานบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปผ่านการทำงานของคณะรัฐมนตรี (โดยมี “มือดี” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งเข้ามาช่วยมากมาย) และงานพิธีการต่างๆ ตามหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเนื้องานบริหารมากนัก จุดสำคัญคือภาพลักษณ์ “รอมชอม” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ค้ำจุนรัฐบาลเอาไว้ และได้เสียงสนับสนุนจากคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งทางการเมืองอีกแล้ว
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีเงา” จะดูแลเกมการเมืองภายในพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มคนเสื้อแดง (ผ่านระบบการสื่อสารต่างๆ) ดูแลยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ (ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเยือนประเทศนั้นๆ ก่อนหรือหลังการเยือนอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์) และนโยบายระดับมหภาคหรือเมกะโปรเจคต์ทั้งหลาย (ตามสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่ให้ไว้ตอนหาเสียง)
ระบอบนายกคู่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรับงานที่ต้องออกหน้าและติดต่อกับประชาชนโดยทั่วไป ดึงเสียงสนับสนุนการปรองดองจากประชาชนส่วนใหญ่ ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำงานเบื้องหลังที่มีความสำคัญในระดับ “ขาดไม่ได้” เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น จุดอ่อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สร้างศัตรูได้ง่าย ถูกแก้ไขโดยไม่ออกมาเป็นคนเบื้องหน้าคอยปะทะโดยตรง

ความเข้มแข็งของ “ระบอบนายกคู่” เวอร์ชัน 3.0 นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาล และถ้าในปี 2555 นี้ ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 ได้สำเร็จ สถานะของรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ “นายกคู่” จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เมื่อประกอบกับความอ่อนแอของภัยคุกคามภายนอก ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังติดในวังวนการเมืองแบบเดิมๆ และกลุ่มพันธมิตรที่พลังเสื่อมถอยลงไปมาก ทำให้โอกาสที่รัฐบาลเพื่อไทยจะอยู่ยาวยิ่งมีสูง



อย่างไรก็ตาม “ระบอบนายกคู่” อันเกิดขึ้นจากข้อจำกัดทางกายภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้มีแต่จุดแข็งเสมอไป

การคงอยู่ของระบอบนายกคู่ เกิดจากการที่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ในประเทศเพียงคนเดียว และมี “ระยะห่าง” ระหว่างกลุ่มก๊วนทางการเมืองในประเทศกับตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่นอกประเทศไทย

การสั่งงานต่างๆ ถึงจะขาดประสิทธิภาพไปบ้างเพราะเจ้าตัวไม่ได้อยู่คุมเอง แต่ก็ตรงไปตรงมาเพราะมาตามสายการบังคับบัญชาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วางเอาไว้แล้ว และการการันตีด้วยสายเลือดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่มีวันทรยศพี่ชายอย่างแน่นอน

แต่สุดท้ายแล้ว ปลายทางของ “ระบอบนายกคู่” ก็คือการเตรียมความพร้อมทางการเมือง เพื่อให้ “นายกตัวจริง” ได้กลับบ้านอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549

แต่การกลับเมืองไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้ “ดุลยภาพ” ของระบอบนายกคู่สูญเสียไป เพราะสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหมดความหมายลง เหลือเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงในนามเท่านั้น อำนาจที่แท้จริงจะถูกรวบไปอยู่ในมือของ “นายกตัวจริง” ที่ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่นั่งบัญชาการอยู่ในบ้านจันทร์ส่องหล้า

คำถามคือ ความสัมพันธ์ของ “นายกรัฐมนตรีคู่” จะเป็นอย่างไรต่อไป และมันจะกลายเป็น “จุดเริ่มต้นของการล่มสลาย” ของระบอบนายกคู่หรือไม่

และหลังจากนั้น การเมืองไทยจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ เหมือนกับตอนปี 2548-2549 อีกครั้งหรือเปล่า?
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง