. เขียนโดย กสานต์ คำสวัสดิ์ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา
คกก.ปฏิรูป กม. เสนอร่าง กม.ท้องถิ่น ให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอนผู้บริหาร อปท.จริง เสนอตั้ง “สภาปกครองท้องถิ่น” ปลดล็อค มท.ขึ้นตรงนายกฯ เก็บภาษีเองเพื่อพัฒนาพื้นที่เต็มร้อย
วันที่ 22 มี.ค.55 ที่โรงแรมทีเคพาเลซ กรุงเทพฯ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ด้านการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดย ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะกรรมการคณะกรรมการฯ นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกล่าวว่ามุ่งเน้นให้ประชาชนมีอำนาจถอดถอนสภาฯและผู้บริหารท้องถิ่นได้ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 285-287
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญระบุว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งองค์กรปกครองถิ่นมีสิทธิ์ลงคะแนนถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ โดยการเข้าชื่อออกบทบัญญัติท้องถิ่น และร้องขอให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จัดทำประชามติ แต่ปัญหาคือบทบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ และบางเรื่องไม่เหมาะสม จึงต้องมีการบัญญัติใหม่โดยเฉพาะมาตรา 287 เรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจำเป็นต้องผลักดันให้เป็นจริง
“การกระจายอำนาจที่เป็นจริงประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ องค์กรท้องถิ่นต้องกำหนดวิธีการและช่องทางให้ อย่างน้อยต้องเปิดโอกาสเรื่องการจัดทำแผนพัฒนา ทำงบประมาณ การประชุมสภา กำหนดหลักเกณฑ์ประเมินภาษี การกระทำที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง รวมทั้งการมีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ที่เสนอนี้ได้ผลักดันไปยังคณะกรรมการกระจายอำนาจแล้ว ซึ่งมาตรา 287 เป็นเรื่องใหม่ ระบุรายละเอียดการยื่นถอดถอนชัดเจน จะมีการเร่งรัดต่อไป” ผศ.ดร.อรทัย กล่าว .
ด้าน ศ.อุดม ทุมโฆสิต อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการฯ เสนอให้มีการจัดตั้งสภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ (ส.ท.ช.) โดยเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่คณะกรรมการฯเสนอ เพื่อผลักดันให้การปกครองท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยปลดแอกจากกระทรวงมหาดไทย ให้ ส.ท.ช.เป็นองค์กรสูงสุดด้านการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของชาติ และบูรณาการการปกครองท้องถิ่นให้สอดคล้องกับส่วนกลาง และให้สำนักงาน ส.ท.ช.เป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ทั้งนี้กรรมการสภาปกครองท้องถิ่นฯจะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ มีกรรมการโดยตำแหน่งคือรัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงมหาดไทย,รมว.กระทรวงการคลัง ,รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,รมว.กระทรวงศึกษาธิการ,รมว.กระทรวงสาธารณสุข ,รมว.กระทรวงคมนาคม ,รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 2คน, ผู้แทนเทศบาล 3 คน,ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต). 6 คน และผู้แทนองค์กรท้องถิ่นรูปแบบอื่น 1 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน
“การกำกับดูแลโดยมหาดไทย ทำให้กระจายอำนาจไม่เป็นจริง จึงจำเป็นต้องออกจากวังวนอำนาจส่วนกลาง รวมทั้งเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่ทำให้องค์กรท้องถิ่นมีอิสระซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน รู้สึกอยากเสียภาษีเพราะภาษีเพราะที่จ่ายไปจะกลับมาหาเขาโดยตรง ไม่ใช่รอรับจากรัฐบาล” ศ.อุดม ทุมโฆสิต กล่าว
นายวรยุทธ ช่วยณรงค์ อนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านการเมืองการปกครอง คณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่าที่ผ่านมาองค์กรท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการ จึงไม่ตอบสนองประชาชน การมี ส.ท.ช.ทำให้บทบาทท้องถิ่นครอบคลุมงานทุกกระทรวง ทำให้ท้องถิ่นเป็นกลไกแก้ปัญหาประชาชนจริงๆ
เช่น การจัดเก็บรายได้ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นเก็บเอง 10 % นอกเหนือจากนั้นมีการจัดเก็บจากส่วนกลาง แต่ถ้าให้ท้องถิ่นจัดเก็บเองทั้งหมด ประชาชนจะรับรู้ที่มาที่ไปของเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมตรวจสอบองค์กรท้องถิ่นให้โปร่งใสโดยประชาชนในท้องถิ่นในฐานะเจ้าของเงิน
“องค์กรท้องถิ่นก็จะนำเงินไปใช้สุรุ่ยสุร่ายไม่ได้อีกแล้ว เพราะประชาชนจะตื่นตัวมากขึ้นในการกำกับดูแล ตรงนี้เป็นการลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรับชั่นได้ด้วย” นายวรยุทธ กล่าว .
วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน