เส้นแบ่งความคิด: 'โครงสร้างพลังงานไทย'กับทางเลือกในปัจจุบัน
แก้วสรร อติโพธิ
มาตรการเศรษฐกิจรัฐบาลนายกฯปูมีเรื่องสำคัญที่ต้องตรวจทานและสื่อสารกันให้ละเอียดหลายเรื่องด้วยกัน
ทั้งการปรับโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง พลังงาน ชลประทาน
ปรับการเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกทั้งการตลาด และการเงินการลงทุน
รวมทั้งการอัดฉีดเงินประชานิยมหลายก้อนหลายทางหลายเรื่องไปยังประชาชนที่ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายชาชนที่ตกเป็นกลุ่มเป้าหมาย
มาตรการเหล่านี้แน่นอนว่าจะมีผลปรับเปลี่ยนสังคมการเมืองเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างสำคัญ จึงควรที่จะได้ช่วยกันหาความจริง หาข้อมูลแลกเปลี่ยนความ
เห็นกันให้มาก เฉพาะที่ผมเห็นว่าสำคัญยิ่งก็คือเรื่องโครงสร้างพลังงาน ที่ขอนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกันต่อไป โดยลำดับดังนี้
พลังงานฟอสซิล
โลกปัจจุบันกำลังปรับตัวไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากที่สุด ในด้านขนส่งนั้น
ตัวอย่างของเซี่ยงไฮ้ก็ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์น้ำมันสำเร็จแล้ว รถไฟก็เป็นรถไฟฟ้า ส่วนรถยนต์ขนาดเล็กชาร์จแบตเตอรี่วิ่งได้ทั้งวันนั้นก็กำลังอยู่ระหว่างทุ่มทุนพัฒนาของจีนอย่างเต็มที่ โรงงานอุตสาหกรรมกว่าครึ่งเขาก็ปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตนั้นการใช้พลังงานโดยตรงจากก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันหรือถ่านหินในอุตสาหกรรมเซี่ยงไฮ้ ก็จะเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
สำหรับฐานพลังงานไฟฟ้านั้น จีนยังยืนหลักอยู่บนพลังงานฟอสซิลคือก๊าซหรือถ่านหิน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูนั้นทราบว่ากำลังถูกทบทวนอย่างหนัก ทั้งถิ่นฐานและชนิดของเทคโนโลยี
ตัวอย่างของจีนที่ใช้พลังงานฟอสซิลในรูปของพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ถือเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจมากสำหรับโครงสร้างพลังงานไทย บรรดาโครงการขนส่งทางรางไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือระหว่างภูมิภาครถที่ไทยกำลังพัฒนาขึ้นนั้น ล้วนควรจะต้องมุ่งไปในทิศทางนี้ไม่ควรใช้เทคโนโลยีของถ่านหินหรือก๊าซเอ็นจีวีเลย ส่วนโรงงานทั้งหลายที่ใช้ก๊าซหรือถ่านหินโดยตรง ก็จะต้องถูกคุมเข้มในเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะปล่อยให้ขนส่ง หรือเผาผลาญจนมลพิษกระจายไปทั่วเช่นสมุทรสาครนั้นไม่ได้
ในส่วนฐานพลังงานไฟฟ้าไทยนั้น ฐานนิวเคลียร์คงถูกคัดค้านหาที่สร้างไม่ได้อีกนาน ฐานถ่านหินนั้นปัจจุบันก็ให้เอกชนลงทุนปั่นไฟขาย กฟผ. อยู่ในระดับหนึ่ง ฐานส่วนใหญ่ 70% จึงเป็นก๊าซธรรมชาติทั้งจากอ่าวไทยและแหล่งยาดานาของพม่า ซึ่งก็มีปัญหาอยู่ตรงราคาว่า ปตท. เอากำไรเกินไปหรือไม่ และเมื่อปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเหลือใช้ได้อีก 20 ปีเท่านั้นอย่างนี้ จะหาแหล่งเพิ่มเติมจากทะเลพม่า หรือเขมรได้อีกหรือไม่
ต่อปัญหาการลดราคาก๊าซให้สมเหตุผลกว่าทุกวันนี้นั้น ก็วิจารณ์กันมากว่าในเมื่อฐานทรัพยากรอยู่ในอ่าวไทยแล้ว แล้วทำไมจึงอิงราคาตลาดโลกด้วย แล้วทำไมจึงมีสองราคา ทำไมราคาขายให้ กฟผ. จึงแพงกว่าราคาล่าง ถ้ารัฐบาลตรวจสอบต้นทุนกันให้ดีๆ จะลดราคาต้นทุนทั้งแอลพีจี และทั้งราคาไฟฟ้าบ้านได้มากกว่านี้ได้หรือไม่ แต่ปัญหาราคาต้นทุนก๊าซนี้ก็ยังไม่อยู่ในตะกร้านโยบายพลังงานของรัฐบาลใหม่เลย
ในตะกร้านโยบายปัจจุบัน รัฐบาลประกาศจะเจรจาร่วมพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย ตรงพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา อย่างเดินหน้าเต็มตัวเลยทีเดียว ซึ่งทิศทางนี้ก็มิได้มีผู้ใดคัดค้าน ปัญหาตัวจริงจะอยู่ที่ความโปร่งใสและกระบวนการได้มาซึ่งข้อตกลงว่า จะเป็นที่ยอมรับทั้งในรัฐสภาและประชาชนในวงกว้างได้หรือไม่เท่านั้นซึ่งก็มีประเด็นที่เริ่มปรากฏแล้วดังนี้
1.การกำหนดพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาที่สมเหตุผลและรับกันได้
2.การกำหนดสัดส่วนที่แบ่งปันกันระหว่างไทย-กัมพูชา ทั้งก๊าซและสารปิโตรเคมีคุณภาพดีจำนวนมหาศาลที่จะได้จากแหล่งนี้
3.การกำหนดจุดขึ้นบกของท่อก๊าซโรงแยกก๊าซ แหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะพัฒนาขึ้น ว่าจะอยู่ในประเทศใด จะแยกกันหรือรวมกัน จะใช้ที่เก่าหรือที่ใหม่ถ้าเป็นที่ใหม่ในเขมรจะมีนักการเมืองไทยหรือเขมรร่วมทุนกันตั้งฝูงบริษัทปิโตรเคมีขึ้นใหม่ โดยกดราคารับซื้อในราคาถูกจนรวยเละหรือไม่ ทำไมนักการเมืองชินวัตรจึงเทียวไล้เทียว ขื่อไปเกาะกงกันเป็นประจำมานานแล้ว นี่ก็เป็นจุดสำคัญที่ต้องตรวจทานให้ดี
พลังงานชีวมวล
ในส่วนนี้ได้ฟังคุณพิชัย รัฐมนตรีพลังงานท่านแสดงวิสัยทัศน์ถึงพลังงานจากอ้อยและมันแล้วก็ชื่นใจที่ท่านให้ความสำคัญมากว่าจะมีผลให้ไทยพึ่งตนเองและเติบโตด้วยตนเองได้อีกมาก ก็หวังว่ารัฐบาลกับปตท. และภาคเอกชนและเกษตรกรจะสามารถพัฒนากลุ่มการผลิตเศรษฐกิจพลังงานชีวมวล (Cluster) ขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ได้
กุญแจความสำเร็จในวิสัยทัศน์นี้จะอยู่ที่สัญญารับซื้อของ ปตท. ในจำนวนและเวลาและราคาที่แน่นอนก่อน จากนั้นจึงดึงทั้งเอกชน กลุ่มเกษตรกร เข้ามาร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมเป็นรายพื้นที่อีกชั้นหนึ่งแล้วจึงจะได้นโยบายและแผนการลงทุนที่เป็นจริงได้ในที่สุด ความสามารถที่จะพัฒนาแผนพัฒนากลุ่มการผลิตเฉพาะพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดซึ่งความสำเร็จ รัฐบาลจะผลักดันอย่างไรให้เกิดกระบวนการพัฒนาแผนอย่างนี้ได้ ก็ต้องติดตามกันต่อไป
พลังงานทดแทน
การดิ้นรนของ กฟผ. ที่จะได้ไฟฟ้าจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงนั้น ไม่เป็นที่ขานรับจากรัฐบาลเลยจนปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านมาจะมีความสุขมากกับการให้เอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขาย กฟผ. เป็นหลัก แม้ในอนาคตจะมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น คำตอบก็จะเป็นให้เอกชนปั่นไฟขายให้ กฟผ.เหมือนเดิม ทางเลือกที่พูดกันก็จะมีอยู่เพียงว่า ใช้ก๊าซหรือถ่านหินเท่านั้น
พ้นจากพลังน้ำ ก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ตรงจุดนี้ก็เริ่มมีความสำเร็จในระดับโลกให้เห็นแล้ว ทั้งในระดับชุมชนหรือเมือง เช่นที่เยอรมนีก็ทำได้ถึงระดับไปขอเช่าหลังคาตึกรามบ้านช่องในเมือง วางผืนโซลาร์เซลล์ส่งไฟฟ้าเข้าระบบกลาง แล้วเจ้าของหลังคาก็ได้ค่าเช่าเป็นไฟฟ้าให้ใช้สอยจนยิ้มไปเลย ซึ่งเท่าที่ติดตามมาจนปัจจุบันนั้น การไฟฟ้าก็สามารถคืนทุนได้เช่นกัน แต่เป็นระยะยาวมากเงินจึงจมอยู่นานทีเดียว
ในส่วนรัฐบาลปัจจุบัน ผมก็เห็นท่านรัฐมนตรีพิชัย ท่านพูดเรื่องนี้อย่างมีวิสัยทัศน์ทีเดียว แต่ยุทธศาสตร์ยังไม่ปรากฏ ก็ขอเสนอผ่านบทความนี้ในฐานะที่ได้เคยติดตามปัญหาการพัฒนาพลังงานแสงแดดนี้มาว่า ปัญหาหลักที่สุดจะอยู่ที่ต้นทุนโซลาร์เซลล์ ซึ่งปัจจุบันนี้ทราบว่าเทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าไปมาก ลดทั้งต้นทุนเพิ่มทั้งคุณภาพและอายุใช้งานดีขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องส่งเสริมการลงทุน หรือร่วมลงทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีสร้างบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์เพื่อการบริโภคของเศรษฐกิจไทยได้แล้ว ที่ผ่านมามีรายงานวิจัยและข้อเสนออย่างนี้มานานนับยี่สิบปีแล้ว ก็ไม่เป็นที่สนใจของ กฟผ.หรือนักการเมืองไทยเลย
โดยรวมแล้วผมไม่มีศรัทธาที่จะเสนออะไรต่อรัฐบาลปูจ๋านี้ แต่เมื่อได้เห็นได้ฟังอะไรต่อรัฐบาลปูจ๋านี้ แต่เมื่อได้เห็นได้ฟังวิสัยทัศน์ของท่านรัฐมนตรีพิชัยแล้ว ก็ให้รู้สึกพอใจที่ท่านคิดอ่านจริงๆ จังๆ ท่าทางจะทำงานจริง ก็เลยขอเสนอความคิดเห็นมาสมทบ เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง หวังว่าท่านจะรักษาเข็มมุ่งนี้ไว้ได้ ไม่บ่ายเบนไปกับประโยชน์ส่วนตนของใคร
เรื่องทิศทางพลังงานนี้ถ้าทุจริตแล้วผิดเลยพังเลยนะครับ ไม่มีหรอกครับทุจริตด้วยแล้วได้ผลงานด้วย นั่นมันนิทานในโพลล์ดูถูกสมองคนเท่านั้นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน