บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปชป.ดีแต่พูดจริงๆ

อ่านเรื่อง.. จะกระชากค่าครองชีพลงมาค่าาาา พ่อแม่พี่น้อง ของ Blogger กอร์ปศักดิ์ แล้ว ผมจึงเชื่ออย่างที่มีคนพูดว่า ประชาธิปัตย์ ดีแต่พูด จริง ๆ (ฮา)
by ภาณุมาศ_ทักษณา ,

 

          อยากให้อ่านบทความของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากพรรคประชาธิปัตย์ http://www.oknation.net/blog/korbsak/2011/08/21/entry-1 ก่อนนะครับ(ฮา)
          นายกอร์ปศักดิ์ ตั้งใจกระแนะกระแหน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทยในทำนอง
          “หาเสียงอย่าง แต่พอถึงเวลาทำจริง ๆ ทำอีกอย่าง” โดยยกตัวอย่างเรื่องราคาพลังงานซึ่งก็คือ น้ำมัน มาให้ผู้อ่านใน OKNATION ได้พิจารณา เหมือนนักวิชาการผู้รอบรู้
          แต่ผมอ่านแล้วไม่ยักกะรู้ (อาจโง่เพราะเรียนน้อยก็ได้ – ฮา) รู้แต่เพียงว่า ทุกวันนี้ รถยนต์เก๋งที่ผมใช้อยู่ 2 คัน (สลับกันใช้) ยังคงใช้น้ำมันเบนซิน 91 และรถปิกอัพที่ผมใช้มั่งไม่ใช่มั่งก็ยังคงใช้น้ำมันดีเซล อยู่
          บอกตรง ๆ ว่า ผมไม่เคยใส่ใจในนโยบายโป้ปดมดเท็จของพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกตัวเสียงข้างมาก และพรรคเล็กพรรคน้อยที่คอยรับเศษส่วนบุญเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลเลยแม้แต่พรรคเดียว
          ผมเห็นตั้งแต่โฆษณาหาเสียงแล้วว่า ทุกพรรคหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ จึงเขียนบทความให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่
          เพราะรู้ว่าในช่วงหาเสียง หากพรรคการเมือง “อ้างว่าเป็นนโยบายพรรค” จะหาเสียงเวอร์อย่างไร คือโกหกตอแหลอย่างไร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก็เอาผิดไม่ได้
          เหมือนที่ พรรคเพื่อไทยหาเสียงจนชนะเลือกตั้ง แล้วคุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ มาเขียนบทความเหมือนจะดูถูกคนไทยว่า โดนพรรคเพื่อไทย โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ชินวัตร หลอกนั่นแหละ
          ผมไม่รู้(เพราะผมโง่ – ฮา) ว่า เรื่องการตั้งราคาน้ำมันทุกชนิดที่คุณกอร์ปศักดิ์เขียนนั้น มันมีหลักการ หรือหลักเกณฑ์อย่างไร และเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่รู้หรือไม่สนใจที่จะรู้
          พูดง่าย ๆ คือ น้ำมันเบนซินจะลิตรละเท่าไหร่ น้ำมันดีเซลจะลิตรละเท่าไหร่ หรือก๊าซแต่ละชนิดจะขายยังไง หากยังมีปัญญาเติมได้ก็เติมไป หากเติมไม่ไหวก็หาทางแก้ เช่น ไปติดถังก๊าซอะไรก็ว่ากันไป...
          ส่วนเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว เขาจะลดราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นต่อของราคาสินค้าต่าง ๆ เพื่อ กระชากค่าครองชีพลงมาได้หรือไม่
          ในความรู้สึกของผมก็คือ ช่างหัวมัน...
          ผมว่าปัญหาของประเทศชาติไม่ได้อยู่ที่ราคาน้ำมัน หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะกระชากราคาค่าครองชีพลงมาได้หรือไม่อย่างไรนะครับ
อย่าลืมว่า รัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา( แถลงพรุ่งนี้กะมะรืน) นะครับ
หากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เสร็จเรียบร้อยราคาน้ำมันทุกชนิด ลดลงอย่างที่เขาเคยหาเสียงไว้ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ คุณกอร์ปศักดิ สภาวสุ จะเอาหน้าไปมุดตูด เอ๊ย เอาหน้าไปไว้ที่ไหนหรือ..
ผมน่ะเขียนบทความเตือนพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ตั้งแต่แพ้เลือกตั้งแล้วว่า ให้สงบปากสงบคำเอาไว้.. ศึกษานโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยให้ละเอียด เพื่อที่จะได้ “ซักไซ้ไล่เลียง” ในวันแถลงนโยบายได้อย่างเต็มที่
ไม่ต้องทะลึ่ง สอนโน่นสอนนี่ หรือ ฝากให้รัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ทำโน่นทำนี่อย่างที่ถนัดทำหรอก เพราะชาวบ้านเขาจะย้อนถามให้เจ็บกระดองใจเปล่า ๆ ว่า
สมัยเป็นรัฐบาลทำไมไม่ทะลึ่งทำ.. พอไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วทำเก่ง(ฮา)
คุณกอร์ปศักดิ์ เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นคนมีคุณภาพที่ผมยอมรับ.. อาจติดเชื้อนักการเมืองน้ำเน่าในพรรคประชาธิปัตย์มา จึงออกมาเขียนบทความเอามันแบบนี้นะครับ
ผมขอแนะนำให้กลับไปนั่งอ่านนโยบายองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23 – 24 นี้ให้ละเอียด แล้วใช้สิทธิของตัวเองอภิปรายให้เต็มที่ อย่างคนที่มีวุฒิภาวะจะสวยกว่านะครับ
ดีกว่ามากระแนะกระแหนเข้านอกรอบแบบนี้ เพราะการกระทำของคุณมันทำให้คนอย่างผมเชื่อว่า
พรรคประชาธิปัตย์ ดีแต่พูดจริง ๆ (ฮา)

เปิด 16 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลดันประชานิยมวัดฝีมือ 'ยิ่งลักษณ์'


รอกันมานานนับเดือน ที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” จะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศและทำความฝันที่คนไทยกำลังรอคอยให้เป็นจริง ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับคนทั้งประเทศ โดยระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ นายกฯหญิง จะเป็นผู้นำในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
   
นั่นหมายความว่าตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. เป็นต้นไป รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ โดยร่างนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ที่เป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลว่าต้องการเข้ามาบริหารประเทศเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทยอย่างแท้จริง…หรือแฝงไว้ด้วยซึ่งผลประโยชน์!!!
   
ร่างนโยบายของรัฐบาลมีทั้งหมด 8 ด้านที่ครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การปรองดอง การต่างประเทศ การศึกษา ไว้อย่างครบถ้วน และยังมีมากถึง 16 ข้อ ที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มทำทันทีในปีแรกของการบริหารประเทศ ทั้งการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้เหมาะสมและเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยการดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน การพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท
   
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20%  ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน
   
ที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นมาตรการเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก  การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท การจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาท หรือแม้แต่การใช้นโยบายจำนำสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร การออกบัตรเครดิตเกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แจกแท็บเล็ตให้นักเรียนป.1 จำนวน 8 แสนเครื่อง เป็นต้น
   
นับได้ว่าร่างกรอบนโยบายของรัฐบาล ล้วนแต่เน้นในเรื่องของ “ประชานิยม” ตามที่หาเสียงไว้จนครบถ้วน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้นั้นอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณที่เบื้องต้นคาดกันว่าจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท ในช่วง 4-5 ปี เพื่อเดินหน้านโยบายให้ได้ตามสัญญา ซึ่งยังไม่รวมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ยังต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอีกนับแสนล้านบาท
   
เบื้องต้นคาดกันว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 ใหม่ได้ลงตัวเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ก่อนการเบิกจ่ายจริงจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 55 ซึ่ง ’กิตติรัตน์ ณ ระนอง“ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ตอกย้ำไว้ชัดเจนว่า “โครงการใดไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำและรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ดีแต่กู้แน่ และหลักการที่สำคัญคือยึดมั่นในวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด”

อย่างไรก็ตามในแง่ของนักวิชาการ อย่าง ’ธนวรรธน์ พลวิชัย“ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า การจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงรัฐสภา กับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ภาพรวมถือว่าสอดคล้องกัน เพียงแต่จัดหมวดหมู่ให้กระชับและแบ่งสัดส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวให้ชัดเจน โดยแผนระยะสั้น ส่วนหนึ่งเพื่อหวังผลทางการเมืองตามที่เคยหาเสียงกันไว้ หากไม่ทำจะเกิดแรงกดดันจากสังคม
   
แต่อีกส่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ฟื้นตัว เพราะธุรกิจบางกลุ่มยังมีปัญหา และประชาชนยังเผชิญภาวะค่าครองชีพแพงอยู่ จึงจำเป็นต้องกระตุ้น ทั้งด้านการลดรายจ่าย ผ่านการงดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อลดราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีรายจ่ายลดลง รวมถึงลดแรงกดดันการขึ้นราคาสินค้าได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน รับจำนำข้าวเปลือก 15,000-20,000 บาท บัตรเครดิตพลังงาน กับชาวนา ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ การจับจ่ายในภาคประชาชน ขณะเดียวกันยังทำแผนระยะยาวควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การพัฒนาลุ่มน้ำ สร้างรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ซึ่งจะมีเงินอัดฉีดเข้าระบบ และทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีก 0.5-1%
   
ภาพรวมการจัดทำนโยบายจึงทำท่าว่ามีความเหมาะสม แต่ในขั้นปฏิบัติบางนโยบายมีสุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี เช่น การขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลควรมีท่าทีผ่อนปรน ให้บางส่วนที่พร้อมนำร่องไปก่อน ส่วนที่ยังไม่พร้อมค่อยทยอยปรับขึ้น รวมถึงการจำนำข้าว หากตั้งราคานำตลาดสูงไปจะบั่นทอนขีดการแข่งขันกับต่างชาติ รัฐจึงควรฟังเสียงผู้ประกอบการ และหาจุดลงตัวของการส่งออก และราคาข้าวในประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้
   
รวมถึงนโยบายพลังงาน รัฐบาลต้องดูให้ดี การลดดีเซลลิตรละ 2.60 บาท ถือว่าเหมาะสม เพราะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ราคาสินค้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก แต่ขณะที่เบนซินรัฐไม่ควรทำยาว อาจทำแค่ 3 เดือนตามที่หาเสียงไว้ เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง มีรถเก๋งขับ แรงกระตุ้นกำลังซื้ออาจไม่มีความจำเป็นนักและอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงได้ และทำให้แผนรณรงค์การใช้พลังงานทดแทนในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า  
   
ดังนั้นภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจำเป็นต้องเดินอย่างระวัง ไม่ควรทำประชานิยมมากไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเศรษฐกิจระยะยาวได้ จุดเปราะบางแรกคือ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น รัฐต้องติดตามนโยบายการกระตุ้นกำลังซื้อให้ดี ต้องทำให้เกิดการหมุนเวียนสร้างรายได้ระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต มีจีดีพี ที่ขยายตัวสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เพราะหากไม่ได้ผลอาจเกิดปัญหาหนี้สาธารณะสูงขึ้น เหมือนหลาย ๆ ประเทศที่เผชิญในตอนนี้
   
อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวัง คือ การดูแลเงินเฟ้อ หากมีการใส่เงินสูงขึ้น จะเป็นการเร่งให้เงินเฟ้อสูง และกระทบต่อเสถียรภาพการเติบโตในระยะยาว เพราะหากไม่ดูอาจทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มไปแบบไม่หยุด กลายเป็นความเสี่ยง และก่อให้เกิดฟองสบู่ขึ้นได้ จึงอยากให้รัฐบาลดูประเทศอื่นๆ เป็นแบบอย่าง เช่น จีนแม้เศรษฐกิจเติบโต แต่ได้คุมเงินเฟ้อไปด้วย ดังนั้น การมุ่งเพิ่มรายได้ประชาชน ให้สูงกว่ารายจ่ายอย่างเดียว โดยไม่มองถึงเงินเฟ้อ อาจไม่ใช่คำตอบของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเสมอไป
   
ขณะที่ ’รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์“ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มองว่า นโยบายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้นเป็นไปตามที่เคยหาเสียงไว้ ทั้งเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งถือว่าต้องทำไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าหลอกลวงประชาชน แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลต้องขยับโครงการที่ได้จัดงบประมาณของรัฐบาลชุดที่แล้วไว้ โดยการรื้อใหม่หรือทบทวน เมื่อเข้าไปรื้อใหม่จำเป็นต้องเป็นไปในลักษณะที่ใช้ความต้องการของประชาชนที่เคยถามไถ่กันมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งถือว่าไม่น่าเกลียดที่จะดำเนินการ 
   
นอกจากนี้การปรับนโยบายโดยเฉพาะเรื่องของภัยพิบัติ เช่นเรื่องน้ำท่วมที่ถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญจริง ๆ ที่ต้องใช้เงิน ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา หากมองว่าเป็นการทำประชานิยมเพื่อหาเสียง ตรงนี้…ทุกพรรคการเมืองเหมือนกันหมดแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง
   
แต่เรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะการแก้ปัญหาสังคม อย่างปัญหายาเสพติดแล้ว เรื่องการทุจริต ถือเป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ง่ายนักและเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาโดยตลอด ซึ่งมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายนี้ออกมาให้ชัดเจน ที่อาจนำไปสู่การรื้อขนานใหญ่ในงบประมาณรายจ่ายปี 55 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้า
   
อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรพิจารณาให้หนัก คือโครงการต่าง ๆ ถือเป็นโครงการที่จำเป็นและใช้เงินค่อนข้างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยาหรือแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะออกมาแบบงบฉุกเฉินหรืองบพิเศษ สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากที่สุดคือความรั่วไหล เพราะว่าถ้ารั่วไหลขึ้นมา นโยบายที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เท่ากับว่ากลายเป็นการตอกย้ำหรือซ้ำเติมให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก และอาจนำไปสู่การเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาตรวจสอบได้ทันที
   
นี่…เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกของการทำงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเท่านั้น จากนี้ไปคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นลงแล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะทำได้ในสิ่งที่พูดไว้ต่อประชาชนหรือไม่ หากทำไม่ได้ก็เท่ากับว่า “ดีแต่พูด” นั่นเอง.

...................

สาระสำคัญในร่างนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

ข้อเสนอนโยบายประกอบด้วยเอกสารทั้งหมด 34 หน้า แบ่งเป็นนโยบาย 8 ด้าน ประกอบด้วย
   
1. นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก ซึ่งมีทั้งหมด 16 ข้อ เช่น การสร้างความปรองดอง การแก้ไขปัญหายาเสพติด การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ การยกระดับคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น 
   
2. นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การพัฒนาและเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศของกองทัพให้มั่นคง เสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เป็นต้น
   
3. นโยบายเศรษฐกิจ
       
3.1 นโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศให้รับผิดชอบคนส่วนใหญ่และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
       
3.2 นโยบายสร้างรายได้ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภายนอกและภายในประเทศ ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าอาหาร ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงาน พลังงานทดแทน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
       
3.3 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบด้วยภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการและกีฬา  และการตลาด การค้าและการลงทุน
       
3.4 นโยบายโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน การบริหารจัดการระบบสินค้าและบริการ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย พัฒนาการขนส่งทางน้ำ พัฒนาท่าอากาศยานสากล เป็นต้น
       
3.5 นโยบายพลังงาน เช่น กำกับราคาพลังงานให้เหมาะสม เป็นธรรม ส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้น
       
3.6 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารความเร็วสูง ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรี เป็นต้น
   
4. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
       
4.1 นโยบายการศึกษา เช่น การปฏิรูประบบความรู้ของสังคมไทย ปฏิรูปครู จัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นต้น
       
4.2 นโยบายแรงงาน
       
4.3 นโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชน
       
4.4 นโยบายศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
       
4.5 นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม
   
5. นโยบายที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   
6. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม
   
7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
   
8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
       
8.1 ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
       
8.2 กฎหมายและการยุติธรรม
       
8.3 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม.

ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์

บิ๊กตู่ดันขึ้นยกแผงตท.12เฮ โผถึงมือ'ยุทธศักดิ์'


เดลินิวส์


'ดาว์พงษ์' รอง-บิ๊กหรุ่นแม่ทัพเรือ'วิทวัส'ปลัดกห.-'เสถียร'ผบ.สส.

'บิ๊กตู่' วัดใจนายกฯยิ่งลักษณ์ รื้อโผทหารหรือไม่ หลังส่งบัญชีแต่งตั้งระดับบิ๊กๆทบ.ถึงมือ รมว.กลาโหม เผย ประยุทธ์ ดันเพื่อน ตท.12ขึ้นเป็นแผง“ดาว์พงษ์” มือปราบม็อบแดงขึ้นรอง ผบ.ทบ. พร้อมเข็นน้องชายเป็นแม่ทัพน้อย 3 คุมภาคเหนือ “ทรงกิตติ” ดัน “เสถียร” นั่ง ผบ.สส. ขณะที่กำธรดัน “บิ๊กหรุ่น” นั่ง แม่ทัพเรือ ด้านทัพฟ้ายังนิ่ง รอลุ้นบิ๊กอ๊อดล้วงลูกทำบัญชีใหม่หรือไม่ โดยใช้เหตุผลหวังสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในกองทัพ ขณะที่เก้าอี้ “ปลัด  กห.” ส่อเค้าวุ่น สารพัดบิ๊ก ๆ หวังดันเด็กในคาถา “วิทวัส” ยังแรงได้ “บิ๊ก กห.” หนุน “กิตติพงษ์” เสนอชื่อ “คณิต”
 
โผถึงมือ “บิ๊กอ๊อด”
   
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2554 ทุกเหล่าทัพ นั้น ล่าสุดมีรายงานว่าได้จัดส่งมาถึงมือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้พูดคุยหารือกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยระหว่างหารือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้ให้นโยบายการโยกย้ายกับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัว ผบ.เหล่าทัพ ที่อยู่ปัจจุบัน โดยการโยกย้ายจะให้สิทธิการพิจารณากับ ผบ.เหล่าทัพอย่างเต็มที่ เพื่อจัดกำลังพลได้อย่างเหมาะสม แต่อาจจะมีการขอปรับแก้บางตำแหน่งเพื่อความเหมาะสมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้

เผย “บิ๊กตู่” ยึดชื่อเดิม
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของเหล่าทัพ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. ได้รับบัญชีรายชื่อโยกย้ายในส่วน กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้จัดส่งสำเนาให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ในช่วงเช้าวันศุกร์ ที่ 19 ส.ค.ในส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายเสร็จก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมที พล.อ.ประยุทธ์ คาดว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้กลับมานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็คงจะไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโผอะไรมากนัก ขณะเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม เป็น พล.อ.ยุทธศักดิ์ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังยึดในการใช้โผรายชื่อเดิมส่งไปยัง พล.อ.ยุทธศักดิ์ เพื่อเป็นการวัดใจรัฐบาล

ตท.รุ่น 12 ยึดเก้าอี้สำคัญ
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อส่วนใหญ่ของ ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ ได้จัดทำถือเป็นการตอบแทน และให้รางวัลกับเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 และนายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ดันน้องชายตัวเองคือ พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยภาคที่ 3 และจ่อขึ้นในตำแหน่งแม่ทัพภาค 3 ปีหน้า เพื่อการคุมพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมกับเสนอให้เพื่อนรักร่วมรุ่นคือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ จาก เสธ.ทบ.ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ. รวมทั้งดึง เพื่อนร่วมรุ่นอีก 2 คนคือ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และพล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 ขึ้น เป็น ผช.ผบ.ทบ.ทั้งคู่ จากเดิมที่จะดัน พล.ท.โปฏก บุนนาค ผบ.นสศ. เพื่อนอีกคนขึ้น แต่เกรงว่ากลัวถูกต้านจากรัฐบาล เพราะเป็นกำลังหลักในการสลายคนเสื้อแดงที่ผ่านมา
 
ชง “สุรศักดิ์” นั่ง ผบ.ทร.
   
ส่วนกองทัพเรือ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร.เสนอชื่อ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ตามคาด เพราะได้รับการยอมรับจากใน ทร.และให้สานต่อโครงการเรือดำน้ำต่อไป ขณะที่กองทัพอากาศ ที่คาดว่าจะมีการย้าย ผบ.ทอ.แน่เพราะ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.เคยส่งเครื่องบิน เอฟ-16 ไล่บี้ เครื่องบินเจ๊ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขณะนั้นได้บินเข้ามายังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทำให้โผของกองทัพอากาศ อาจจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ยืนยันว่าจะยังไม่เปลี่ยนตัว ผบ.ทอ.ใน ครั้งนี้

ทรงกิตติงัดข้อ ผบ.ทบ.
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนกองบัญชา การกองทัพไทย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส.ได้เสนอชื่อ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ประธานที่ปรึกษา บก.ทท. ขึ้นเป็น ผบ.สส. เพื่อปิดทาง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เสธ.ทหาร เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และเพื่อน ตท.12 ต้องการดัน พล.อ.ธนะศักดิ์ ขึ้นเป็น ผบ.สส. เพราะพล.อ.ธนะศักดิ์ มีอายุราชการถึง ปี 2557 เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ยังเกรงว่าหากเป็น พล.อ.เสถียร ขึ้นเป็น ผบ.สส. จะเกษียณปี 2555 ซึ่งอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจโดนเตะข้ามห้วยในปีหน้าได้

คนกลางยึดปลัด กห.
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอชื่อโยกย้ายในส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ก็น่าสนใจไม่น้อยเมื่อ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม น้องรักของ พล.อ.ประวิตร ได้เสนอชื่อ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษา กห.ขึ้นเป็น ปลัดฯกลาโหม  จากนั้นก็ทำหนังสือไปราชการเกือบทั้งเดือน โดยไม่ได้มาร่วมงานรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ด้วย ทำเอา พล.อ.ยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหมคนใหม่ไม่พอใจ เพราะแม้แต่วันที่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.กลา โหม ก็ไม่อยู่ร่วมงานไปต่างประเทศ ทำให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ สั่งทำโผรายชื่อในส่วนสำนักงานปลัดฯ กลาโหมใหม่ โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้เสนอชื่อ พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดฯ กลาโหม ที่เคยทำงานร่วมกันมา ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ และเพื่อน ตท.12 พยายามเข้ามามีบทบาทเสนอชื่อ พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์ เจ้ากรมเสมียนตรา ขึ้นเป็น ปลัดฯกลาโหม จึงสร้างความวุ่นวายให้กับการโยกย้ายครั้งนี้ จน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้ปรึกษากับ นายกรัฐมนตรี อาจหาคนกลางที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ ปลัดฯ กลาโหม ดังกล่าว

บิ๊กอ๊อดดันวิทวัส
   
สำหรับรายชื่อสำคัญในส่วนของสำนัก งานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.) เป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เจ้ากรมเสมียนตรา เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชาตรี ทัตติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม (สงป.) เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.ศรีเชาน์ จันทร์เรือง ผช.ผบ.ทอ. เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ ที่ปรึกษาพิเศษ สป. เป็น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม ที่ปรึกษาพิเศษ สป. เป็น เจ้ากรมเสมียนตรา พล.ท.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม (สนผ.กห.) เป็น ผอ.สนผ.กห. พล.ท.ชัยวัฒน์ สะท้อนดี รอง ผอ.ศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และพลังงานทหาร (ศอพท.) เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ สป.(อัตราพลเอก) พล.ท.บุญยวัจน์ เครือหงส์ รอง ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม (สงป.กห.) เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ สป.(อัตราพลเอก) พล.ท.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ หน.สนง.ปล.กห. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สป.(อัตราพลเอก) พล.ท.พัชราวุธ วงษ์เพชร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เป็น หน.ฝสธ.ปล.กห. พล.ท.วุฒิชัย สิริสัมพันธ์ น.สน.ปล.กห.เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สป.(อัตราพลเอก)

“เสถียร” ติดโผ ผบ.สส.
   
กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ประธานปรึกษา บก.ทท. เป็น ผบ.สส. พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผช.ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.สส. พล.ร.อ.ยุทธนา ฝักผลงาม ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เป็น รองผบ.สส. พล.อ.อ.สุปรีชา กมลศาสน์ หน.ฝสธ.ผบ.สส. เป็น รอง ผบ.สส. พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ผบ.สปท.) เป็น ประธานที่ปรึกษา บก.ทท. พล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษา สปท. เป็น ผบ.สปท. พล.ร.ท.อภิชาต สุวรรณะชฏ รอง เสธ.ทร. เป็น รอง เสธ.ทหาร

“ดาว์พงษ์” ขึ้นรอง ผบ.ทบ.
   
กองทัพบก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เป็น ประธานที่ปรึกษา ทบ.(อัตราจอมพล) พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.ชลวิทย์ เพิ่มทรัพย์ ปช.ทบ. เป็น หน.ฝสธ.ประจำ ผบช. พล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร จก.ยศ.ทบ. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) พล.ท.โปฎก บุนนาค ผบ.นสศ. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.(อัตราพลเอก) พล.ท.อรุณ สมตน รอง เสธ.ทบ. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.(อัตราพลเอก) พล.ท.อำพน ชูประทุม ผช.เสธ.ทบ.ฝกพ. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.(อัตราพลเอก) พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ. เป็น รอง เสธ.ทบ. พล.ท.วิลาศ อรุณศรี ผช.เสธ.ทบ.ฝขว. เป็น รอง เสธ.ทบ. พล.ท.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ผช.เสธ.ทบ.ฝกร. เป็น รอง เสธ.ทบ. พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็น ผช.เสธ.ทบ.ฝกพ. พล.ต.สินธุ์ชัย สมานทรัพย์ จก.ขว.ทบ. เป็น ผช.เสธ.ทบ.ฝขว. พล.ต.ศุภกร สงวนชาติศรไกร จก.กบ.ทบ. เป็น ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ. พล.ต.กฤษฎา อารีรัชชกุล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก เป็น ผช.เสธ.ทบ.ฝกร. พล.ต.ชาตอุดม ติตถะสิริ รอง ปช.ทบ. เป็น ปช.ทบ. พล.ต.สุรพงษ์ พูลทรัพย์ รองเจ้ากรมพลาธิการทหารบก เป็น เจ้ากรมพลาธิการทหารบก

“จีระศักดิ์” นั่งแม่ทัพภาค 2
   
พล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็น แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น แม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.ชาญชัย ภู่ทอง รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็น แม่ทัพน้อยที่ 2 พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็น แม่ทัพน้อยที่ 3 พล.ต.กัปนาท รุดดิษฐ์ ผบ.พล.1 รอ. เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.สุรนาท สุวรรณนาคร รองแม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ชานุกร ตันฑโกศล ผบ.มทบ.32 เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.พล.ร. 2 รอ. เป็น ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผบ.มทบ.11 เป็น ผบ.พล.ร.9 พล.ต. ประตินันท์ สายหัสดี ผบ.มทบ.33 เป็น ผบ.มทบ.32 พล.ต.เอนก อินทร์อำนวย ผบ. จทบ.เชียงราย เป็น ผบ.มทบ.33 พล.ต.สิโรจน์ ชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. เป็น เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก พ.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ รอง ผบ.พล.ร.2 เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. พ.อ.วรา บุญญะสิทธิ์ รอง ผบ.พล.1รอ. เป็น ผบ.มทบ.11 พ.อ.สุทัศน์ จารุมณี รอง ผบ.พล.ร.7 เป็น ผบ.พล.ร.7 พ.อ.นันทพล จำรัสโรมรัน รองผบ.พล.ม.2 รอ. เป็น ผบ.พล.ม.3 พ.อ.พิช  เยนทร์ ธัญญสิริ รอง จก.ขส.ทบ. เป็น จก.ขส.ทบ. พ.อ.พลาวุฒิ กลับเจริญ รอง จก.กร.ทบ. เป็น จก.กร.ทบ. พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รอง จก. กบ.ทบ. เป็น จก.กบ.ทบ. พ.อ.ปณต แสงเทียน รอง จก.ขว.ทบ. เป็น จก.ขว.ทบ.

“พลวัฒน์” ติดโผ เสธ.ทร.
   
กองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็น รอง ผบ.ทร. พล.ร.อ.วีรพล กิจสมบัติ  หน.คณะ ฝสธ.ประจำ ผบช. เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทร.(อัตราจอมพล) พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผู้ทรงวุฒิพิเศษ เป็น  ผช.ผบ.ทร. พล.ร.ท.พลวัฒน์ สิโรดม รองเสธ.ทร. เป็น เสธ.ทร. พล.ร.ท.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองทัพเรือภาค 1 เป็น ผบ.กองเรือยุทธการพล.ร.ท.ชุมนุม อาจวงษ์ ผบ.กองทัพเรือภาค  3 เป็น ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ พล.ร.ท.จักรชัยภู่เจริญยศ ผช.เสธ.ทร.ฝขว. เป็น รอง เสธ.ทร.พล.ร.ท.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร ผบ.รร.นายเรือเป็น รอง เสธ.ทร. พล.ร.ต.สุรชัย สังขพงศ์ เสธ.กองเรือยุทธการ เป็น ผบ.กองทัพเรือภาคที่ 1

“วิโรจน์” มีลุ้น ผบ.อย.
   
กองทัพอากาศ พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา ผบ.กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ท.ชนะ อยู่สถาพร รอง ผบ.คปอ. เป็น ผบ.คปอ. พล.อ.ท. วุฒิชัย คชาชีวะ รอง เสธ.ทอ. เป็น หน.ฝสธ.ประจำ ผบช.(อัตราพลเอก) พล.อ.ท.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ รอง เสธ.ทอ. เป็น ที่ปรึกษาพิเศษ ทอ. (อัตราพลเอก) พล.อ.ท.  ระพีพัฒน์ หลาบเลิศบุญ ผบ.หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.(อัตราพลเอก) พล.อ.ท.อารยะ งามประมวญ ผช.เสธ.ทอ.ฝขว. เป็น รอง เสธ.ทอ. พล.อ.ท.ธัชชัย ถนัดใช้ปืน ผช.เสธ.ทอ.ฝกพ. เป็น รอง เสธ.ทอ. พล.อ.ท.วิโรจน์ นิสยันต์ รอง ผบ.คปอ. เป็น ผบ.อย. พล.อ.ต.อานนท์ จารยะพันธุ์ รอง ผบ.อย. เป็น รอง ผบ.คปอ.

เผยโผอาจปรับเปลี่ยน
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2554  ซึ่งส่งถึงมือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม  คาดว่าน่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบดูรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ และเชื่อว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ อาจจะตัดสินใจแก้ไขบางรายชื่อ บางตำแหน่งที่ดูแล้วไม่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความลงตัวตามกรอบทิศทางของนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการโยกย้ายในยุคนี้จะต้องเลิกเล่นรุ่น เล่นพวก และจัดสรรตำแหน่งเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกองทัพ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และกองทัพอากาศ ที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้สัญญาณพิเศษที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและดูแลอย่างรอบคอบ.

เปิดก่อนรับเงินก่อน



ชี้ เปิดก่อนมีสิทธิ์ก่อน อ้าง หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นตัวขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธานเปิด “หมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตย” ที่บ้านนามั่ง ต.บ้านยวดอ.สร้างคอม จ.อุดรธานี เป็นหมู่บ้านเสื้อแดง 6 หมู่บ้าน ยกระดับเป็นตำบล ลำดับที่ 291 ของอุดรธานี มีนายเพชรศักดิ์ กิตติดุษฎีกุลประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทยนำชาวบ้านกว่า 1,000 คน มาร่วมงาน

ทั้งนี้นายเพชรศักดิ์ เปิดเผยว่า หมู่บ้านเสื้อแดงคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน เพราะการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมาบริหารงานแบบ 2 มาตรฐาน คนเสื้อแดงอุดรธานีไม่มีวันตาย หรือแตกดับ จะก้าวเดินต่อไปในฐานะผู้ริเริ่มที่จะทำให้หมู่บ้านเสื้อแดงเกิดจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย หลักพัน และหลักแสน บ่งบอก ถึงสัญลักษณ์ป้าย “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ที่ทุกหมู่บ้านจะเป็นสีแดง

ขณะเดียวกันนายสุชาติ กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า การเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยต่อไปจะมอบเงินกองทุนให้หมู่บ้านเสื้อแดง หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุน รวมถึงกองทุนเอสเอ็มอีให้กับหมู่บ้านเสื้อแดงอีก หมู่บ้านละ 5 แสนบาท โดยหมู่บ้านไหนเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงก่อนจะได้ก่อน

 

หยุดเอาใจพวกเศรษฐีเสียที!!(วอเรน บัฟเฟต)

ทำไมคนรวยกลับจ่ายภาษีน้อยกว่าคนจน??

สัปดาห์ที่แล้ว มหาเศรษฐีของโลกชาวอเมริกัน "นายวอร์เรน บัฟเฟตต์" สะท้อนความบัดซบคนในรัฐสภาที่ดีแต่ออกกฎหมายอุ้มคนรวย-รีดคนจน ประมาณว่า คนขายก๋วยเตี๋ยวถูกนับชามคำนวณภาษี แต่คนขายเงิน-ขายหุ้น กลับได้ยกเว้นภาษีเป็นกรณีพิเศษ!

ผู้ใช้นามว่า VARS ส่งเรื่องที่นายบัฟเฟตต์เขียน และมีผู้แปลจาก New York Times มาให้ผมอ่าน วันนี้ผมจะเอามาให้ท่านอ่านบ้าง ท่านที่อ่านแล้ว โปรดผ่านไป ส่วนท่านที่ยังไม่ได้อ่าน ต้องอ่านนะครับ

V

V

หยุดเอาใจมหาเศรษฐีเสียที!! สาสน์จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์”

ผู้นำประเทศของเราได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชน “เสียสละร่วมกัน” แต่ในคำขอนั้น พวกเขากลับยกเว้นตัวผมเอาไว้ ผมได้สอบถามไปยังเพื่อนมหาเศรษฐีหลายคนว่า พวกเขาคิดว่าตัวเองจะต้องเสียอะไรบ้าง จากคำขอดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครไปแตะต้องพวกเขาเช่นกัน
ในขณะที่คนจนและคนชั้นกลางออกไปสู้รบในอัฟกานิสถาน และคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มหาเศรษฐีอย่างพวกเรา กลับได้รับยกเว้นภาษีเป็นกรณีพิเศษ?

พวกเราบางคนเป็นผู้จัดการกองทุนซึ่งทำรายได้หลายพันล้านเหรียญฯ จากหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงานมากมาย แต่กลับได้รับอนุญาตให้จัดประเภทรายได้ของเราเป็น "รายได้ที่ได้รับการยกเว้น” ซึ่งช่วยให้ลดภาษีได้ถึง 15%
พวกเราหลายคนถือหุ้นไว้เพียง 10 นาที และทำกำไรได้ถึง 60% โดยเสียภาษีเพียง 15% ราวกับเป็นนักลงทุนระยะยาว
สิ่งเหล่านี้คือพรที่เราได้รับจาก พวกที่ออกกฎหมายในวอชิงตัน ซึ่งรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปกป้องเรา ราวกับพวกเราเป็นนกฮูกที่กำลังถูกไล่ล่าหรือสัตว์อะไรบางอย่างที่กำลังจะสูญ พันธุ์

ปีที่แล้วใบเสร็จภาษีทั้งหมดของผม ประกอบด้วยภาษีเงินได้ และภาษีอื่นๆ ที่เสียในนามของผม รวมแล้วเป็นจำนวน 6,938,744 ดอลลาร์ ฟังดูเหมือนเป็นเงินมากมาย แต่อัตราภาษีที่ผมจ่ายไปนั้นอยู่ในระดับ 17.4% ของรายได้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับลูกน้องอีก 20 คน ที่นั่งอยู่ในสำนักงานของผม ซึ่งเสียภาษีในอัตรา 33-41% เฉลี่ยแล้ว 36% เลยทีเดียว
ถ้าคุณใช้เงินทำเงิน แบบที่เพื่อนมหาเศรษฐีของผมทำ อัตราภาษีที่คุณต้องจ่ายจะยิ่งน้อยกว่านี้เสียอีก แต่ถ้าคุณทำงานเป็นลูกจ้าง คุณกลับต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผม โดยมากแล้วจะสูงกว่ามากทีเดียว

การจะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ คุณต้องวิเคราะห์ที่มาของรายได้ของรัฐบาลเสียก่อน ในปีที่แล้ว 80% ของรายได้รัฐบาลมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินประกันสังคม เหล่ามหาเศรษฐีจ่ายภาษีแค่ 15% ของรายได้ทั้งหมด แต่แทบไม่ต้องจ่ายประกันสังคมเลย
ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคนชั้นกลาง ที่โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี 15-25% ทั้งยังต้องรับกรรมด้วยการเสียภาษีประกันสังคมจำนวนมาก

ย้อนหลังกลับไปในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 อัตราภาษีสำหรับคนรวยยังสูงกว่านี้มาก เปอร์เซ็นต์ของภาษีที่ผมต้องเสียถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับคนทั้งหมด บางทฤษฎีถึงกับบอกว่าผมควรเลิกลงทุน เพราะยิ่งลงทุนมากก็ยิ่งต้องเสียภาษีมากขึ้นในอัตราก้าวหน้า ทั้งภาษีจากกำไรในการขายหุ้น และภาษีเงินปันผล

ผมอยู่ในแวดวงการลงทุนมามากกว่า 60 ปี ไม่ว่าตัวผมเองหรือใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเรายังไม่เคยเห็นใครเลิกลงทุน แม้แต่ในช่วงที่กำไรจากการขายหุ้น ถูกหักภาษีถึง 39.9% ในปี 1976-77 เพียงเพราะต้องจ่ายภาษีจากกำไรที่ทำได้ คนเราลงทุนเพื่อให้ได้เงิน และภาษีก็ไม่เคยทำให้พวกเขาถอยหนี
พวกที่เถียงว่าภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้การจ้างงานลดลง ผมจะบอกให้ว่า มีตำแหน่งงานเกือบ 40 ล้านตำแหน่ง ถูกว่าจ้างระหว่างปี 1980 ถึงปี 2000 ซึ่งคุณก็คงรู้ดีว่าอะไรเกิดขึ้นระหว่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราภาษีที่ต่ำลง และการจ้างงานที่ลดลง

ตั้งแต่ปี 1992 กรมสรรพากรได้รวบรวมข้อมูลของคนอเมริกัน 400 คน ที่เสียภาษีสูงสุด ในปี 1992 ปีเดียว คน 400 คนนี้มีรายได้รวมกัน 16,900 ล้านเหรียญฯ และจ่ายภาษีคิดเป็น 29.2% ของเงินจำนวนดังกล่าว ในปี 2008 รายได้รวมของ 400 คนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 90,900 ล้านเหรียญฯ เฉลี่ยแล้ว 227.4 ล้านเหรียญฯ ต่อคน แต่อัตราภาษีที่พวกเขาต้องเสียกลับลดลงเหลือ 21.5%

ภาษีที่ผมอ้างถึงในที่นี้ หมายถึงภาษีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลกลาง แต่เชื่อได้เลยว่า ภาษีประกันสังคมของ 400 คนนี้ ไม่ได้มากเหมือนกับรายได้ของพวกเขาอย่างแน่นอน ที่จริงแล้ว 88 จาก 400 คนที่ว่า ไม่ได้รับค่าจ้างเลย แต่พวกเขามีรายได้จากกำไรในการลงทุน พี่ๆ น้องๆ ของผมบางคนอาจไม่ชอบทำงาน แต่พวกเขาชอบที่จะลงทุน (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น)

ผม รู้จักมหาเศรษฐีจำนวนมาก พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย พวกเขารักอเมริกา และซาบซึ้งในโอกาสที่ประเทศนี้ให้กับเขา หลายคนได้มาร่วมโครงการ “สัญญาว่าจะให้” ของผม โดยรับปากว่าจะบริจาคเงินส่วนใหญ่ของพวกเขาให้กับการกุศล พวกเขาส่วนใหญ่แทบไม่สนใจหากจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติกำลังเดือดร้อน!

สมาชิกสภาคองเกรส 12 คน กำลังจะทำหน้าที่อันสำคัญยิ่ง คือจัดระเบียบการเงินของประเทศนี้เสียใหม่ พวกเขาได้รับคำแนะนำให้เขียนแผนระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดภาระการใช้จ่ายของชาติเราใน 10 ปีข้างหน้า ให้เหลือ 1.5 ล้านล้านเหรียญฯ แต่พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแผนลดภาษีให้ได้มากกว่านั้น

คนอเมริกันกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถของคองเกรส ในการจัดการกับปัญหาการใช้จ่ายของชาติ มีแต่การกระทำที่เร่งด่วน จริงแท้ และยั่งยืนเท่านั้น ที่จะขจัดความระแวงสงสัย หรือความสิ้นหวังออกไปจากจิตใจของอเมริกันชน ความรู้สึกเชื่อมั่นเท่านั้นที่จะสร้างความจริงขึ้นมาได้

งานแรกของสมาชิกสภาฯ 12 คน คือ ให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่แม้แต่คนรวยก็ทำไม่ได้ คือสัญญาว่าจะประหยัดเงินให้ได้มากๆ จากนั้นสมาชิกสภาฯ ทั้ง 12 คน จึงควรหันไปพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับรายได้ ผมอยากให้อัตราภาษีที่คนอเมริกัน 99.7% ต้องจ่ายยังคงเดิม แต่ควร ลดเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ลูกจ้างต้องจ่ายเป็นภาษีประกันสังคมลง 2% การลดลงนี้จะเป็นการช่วยเหลือคนจนและคนชั้นกลางที่กำลังต้องการความช่วย เหลือเป็นอย่างยิ่ง

แต่สำหรับคนที่ รายได้เกิน 1 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมีอยู่ 236,883 ครัวเรือน ในปี 2009 ผมเสนอให้ขึ้นภาษีทันที ใน ส่วนของรายได้ที่เกิน 1 ล้านเหรียญฯ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องรวมภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นและเงินปันผลด้วย และสำหรับคนที่ รายได้เกิน 10 ล้านเหรียญฯ ซึ่งมีอยู่ 8,274 คน ในปี 2009 ผมแนะนำ ให้ขึ้นอัตราภาษีขึ้นไปอีก
เพื่อนๆ ของผมและตัวผมได้รับการเอาอกเอาใจมากพอแล้วจากสภาคองเกรสที่แสนจะเป็นมิตร กับมหาเศรษฐีมาโดยตลอด ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของเราจะต้องทำให้เกิดการ “เสียสละร่วมกัน” อย่างแท้จริงเสียที

วอร์เรน อี บัฟเฟตต์
ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของเบิร์คไชร์ แฮธาเวย์


[เนื้อหาข้างต้นเป็นสารของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ออกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2011 ผมได้อ่านในเช้าวันที่ 15 ส.ค. แล้วถึงกับขนลุก ชอบมากๆ จึงรีบแปลจากเว็บไซต์ของ New York Times อยากให้คนไทยได้อ่านเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วเอาลงบล็อกโดยพลัน...มีใครคิดเหมือนผมบ้าง ผู้ชายคนนี้ยิ่งใหญ่เหนือคำบรรยายจริงๆ ครับ]
ใครไปเฝ้าทักษิณที่เขมร ช่วยเอา "สารของวอร์เรน บัฟเฟตต์" ไปให้อ่านด้วยก็จะดี และจะดียิ่งขึ้น ถ้าก๊อบปี้แจกคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาของเราทุกคน.

เปลว สีเงิน

สำรวจนโยบายดับไฟใต้...เพื่อไทย-ทหารยังเห็นต่าง และทิศทางปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ

 by ปกรณ์ ,

พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทรงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งหาวิธีคืนความสงบสุขให้กับดินแดนปลายสุดด้าม ขวานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ ณ ปัจจุบันหนักหน่วงรุนแรงเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาจนถึงขณะนี้ยังไม่มี “ยุทธศาสตร์” ที่ดีพอที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ความรุนแรงรายวันเกิดขึ้นซ้ำๆ มานานกว่า 7 ปีแล้ว
ขณะ ที่ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ดูจะเป็นปัญหาและถูกตั้งคำ ถามมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ปรากฏความ ชัดเจนว่าจะมีทิศทางอย่างไร

แม่ทัพ 4 ชู “อภัยโทษ-ล้างธุรกิจเถื่อน”
ประเด็นที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงมากเป็นพิเศษคือ “เหตุรุนแรงรายวัน” ที่ยังมิอาจหยุดยั้งได้ ทั้งการทำร้ายพระสงฆ์ ประชาชนไทยพุทธ มุสลิม และข้าราชการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครู
แน่นอนว่าการหยุดเหตุร้ายรายวัน เป็นภารกิจโดยตรงของทหาร!
                             
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในขณะนี้ มีสาเหตุจาก “ภัยแทรกซ้อน” คือกลุ่มอิทธิพลมืด ค้ายาเสพติด น้ำเถื่อน และสินค้าเถื่อน มากถึง 80% ส่วนสาเหตุจากการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ มีเพียง 20% เท่านั้น
โดยกลุ่มอิทธิพลเถื่อนใช้เงินจ้างกลุ่มติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอุดมการณ์ “ญิฮาด” (ทำสงครามและพร้อมพลีชีพเพื่อศาสนา) ให้ก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะลอบวางระเบิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่พะวงหรือเทกำลังไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเปิดทางหรือเปิดพื้นที่อีกหลายๆ จุดที่เป็นเส้นทางขนถ่ายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย
“เรา มีหลักฐานการโอนเงินจากกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายไปยังบัญชีของกลุ่มที่อยู่ใน โครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อผมได้ข้อมูลตรงนี้ ผมก็สั่งจับหมด ทำให้มีการก่อเหตุระเบิดตอบโต้บ่อยครั้งในระยะหลัง” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
สำหรับ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 20% ที่เป็นระดับปฏิบัติการจริงๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วมีไม่มากนัก ตัวเลขล่าสุดน่าจะไม่เกิน 7 พันคน โดยพื้นที่ก่อเหตุจะวนเวียนอยู่ในราว 12 อำเภอจาก 33 อำเภอ (เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วยจะเป็น 37 อำเภอ) และหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการซึ่งเรียกว่า “หมู่บ้านที่มีอำนาจซ้อนอำนาจรัฐ” มีอยู่ 309 หมู่บ้านจาก 2 พันหมู่บ้าน
จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การสังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของฝ่ายทหารใน 2 มิติ คือ
1.จัดการ กับกลุ่มอิทธิพลเถื่อนและผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ด้วยการประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีและยึดทรัพย์ขบวนการเหล่านี้ เพื่อหยุดวงจรธุรกิจเถื่อนและตัดเส้นทางเงินสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ
2.จัดการกับกลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยใช้นโยบาย “อภัยโทษ” เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาดึงคนเหล่านั้นให้เข้ามอบตัวกับทางราชการ
พล.ท.อุดม ชัย ชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งมีอยู่ 20% ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่ถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และศาสนา ทำให้จับอาวุธขึ้นมาสู้กับรัฐ ฉะนั้นจึงเสนอให้ “อภัยโทษ” กับคนกลุ่มนี้ และนำตัวเข้ารับการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกันก็เยียวยาผู้เสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบทุกคนทุกกลุ่ม โดยให้ฝ่ายทหารรับผิดชอบดูแลทั้งกระบวนการ
แนวทาง “อภัยโทษ” ของแม่ทัพภาคที่ 4 ใช้หลักการเดียวกับมาตรา 17 สัตต ของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 ต.ค.2519) ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว และคล้ายคลึงกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งทำให้คนที่เข้าป่าจับปืนสู้กับรัฐออกมามอบตัวเป็นจำนวนมาก (เพราะได้รับการยกเว้นความผิด) และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ได้อย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด
พล.ท.อุดม ชัย บอกว่า สาเหตุที่ต้องการประกาศนโยบายอภัยโทษก็เพื่อให้เกิดผลสะเทือนทางจิตวิทยาใน วงกว้าง เนื่องจากกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากเกินไป หลังจากประกาศใช้มาระยะหนึ่งในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ปรากฏว่ามีผู้เข้ามอบตัวกับรัฐเพียง 4 คน แต่กระนั้น การอภัยโทษจะมีระบบคัดกรองป้องกันพวกที่ต้องการเข้ามาฟอกตัว และจะไม่อภัยโทษให้กับกลุ่มที่ก่อคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าตัดคอ เป็นต้น
อย่าง ไรก็ดี แนวทางอภัยโทษซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่ามีความพร้อม และยินดีให้ตั้งคณะกรรมการจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของ ฝ่ายทหารนั้น ปรากฏว่ายังไม่เคยเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ฉะนั้นเรื่องนี้จึงจะเป็นข้อมูลสำคัญที่แม่ทัพภาคที่ 4 เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจด้วย
                   

เพื่อไทยเล็งตั้ง กอส.2 – เปิดโต๊ะเจรจา
ด้าน ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยดูจะยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนโยบายดับไฟใต้ เพราะตั้งแต่ชนะเลือกตั้งมายังไม่เคยพูดจาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเลย
สาเหตุ ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ ไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ประกอบกับความผิดพลาดในอดีตสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดอาการ “อึกอัก” เพราะเป็น “จุดอ่อน” ของพรรคตัวเอง
โดยเฉพาะแคมเปญหาเสียงเรื่อง “นครปัตตานี” หรือการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (อ่านรายละเอียดในเวทีวิชาการ) ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงว่าจะกลายเป็น จุดเริ่มต้นของการ “แบ่งแยกดินแดน” ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กล้าประกาศชัดๆ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ 
อย่างไรก็ดี มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ภายในพรรคเพื่อไทย โดยแกนนำพรรคจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าน่าจะผลักดันนโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป แต่ปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นเรื่อง “กระจายอำนาจ” ซึ่งเป็นทิศทางที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศ อันจะเป็นการลดแรงกระแทกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามคัดค้านนโยบาย “นครปัตตานี” อย่างแข็งขันด้วย
ทั้ง นี้ แนวทางการขับเคลื่อนจะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาชุดหนึ่งในรูปแบบที่คล้ายกับ คณะกรรมการอิระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในอดีต เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงจากประชาชน แล้วนำมากำหนดรูปแบบการปกครองอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับโมเดล "นครปัตตานี" เสียทีเดียว ทั้งนี้เพื่อลบข้อครหาที่ว่าการผลักดัน "นครปัตตานี" ไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยซึ่งใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า การจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถสร้างกระแสที่เป็นโจทย์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อจากการก่อความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมา ได้ระดับหนึ่ง และยังอาจเป็นเวทีการพูดคุยร่วมกันอย่างเปิดอกระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่คิดเห็นต่างกัน เพื่อร่วมกันสร้างโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อีกด้วย 
ขณะเดียวกัน ได้มีการประสานไปยังนายทหารที่เคยมีบทบาทเรื่องการ “เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ” กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ให้มาร่วมทีมแก้ไขปัญหาในมิติของการ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” หรือ Peace Talk ด้วย
นี่คือทิศทางการทำงานในภารกิจ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งดูจะยังไม่เป็นเอกภาพหรือมีทิศทางสอดคล้องลงตัวกับฝ่ายความมั่นคงมากนัก โดยเฉพาะการจัดตั้ง “นครปัตตานี” และการ “เปิดโต๊ะเจรจา” ซึ่งฝ่ายกองทัพปฏิเสธมาตลอด
และนั่นจึงทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอึมครึมต่อไป!
------------------------------------------------------------

“ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ทิศทางที่มิอาจเลี่ยง!
นอกจากแนวทาง “ดับไฟใต้” ตามยุทธศาสตร์คู่ขนานคือ “ความมั่นคง” ควบคู่ “งานพัฒนา” ซึ่งทำกันมาหลายปี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แล้ว ในช่วง 1-2 ปีมานี้ยังเกิดกระแส “กระจายอำนาจ” ซึ่งพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและภาคประชาสังคมด้วย
แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ก็ยังกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยเฉพาะการให้ยุบเลิก “การปกครองส่วนภูมิภาค” แล้วสนับสนุน “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงแทน
สอด คล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 ที่ว่า “รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการ สาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้งหมดนี้ได้นำมาสู่การสร้างกระแสรณรงค์ “จังหวัดจัดการตนเอง” และโมเดลองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่แบบพิเศษ เช่น เชียงใหม่มหานคร มหานครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งเป็นกระแสที่คึกคักจริงจังอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 กระแสที่ว่านี้ลามไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการเสนอ 2 โมเดลหลักๆ คือ 

1.นครปัตตานี เป็นโมเดลของพรรคเพื่อไทย และทางพรรคใช้เป็นนโยบายหาเสียงหลักในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา 
2.ปัตตานีมหานคร เสนอโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่หลายสิบ องค์กร
ในส่วนของ “นครปัตตานี” พรรคเพื่อไทยยกร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว ชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี ความยาว 121 มาตรา เพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษชื่อว่า "นครปัตตานี" ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี "ผู้ว่าราชการนครปัตตานี" มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมี "สภานครปัตตานี" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้ว่าราชการนครปัตตานี
สาระ สำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ให้ยกเลิก ศอ.บต.และ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (ผลักดันโดยพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว) โดยให้ "นครปัตตานี" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.นราธิวาส ยะลา และ จ.ปัตตานีอย่างบูรณาการแทน โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและอัตรากำลังของ ศอ.บต.มาเป็นของนครปัตตานี
แต่ ไม่แตะโครงสร้างกำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ส่วนโมเดล “ปัตตานีมหานคร” แม้จะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษขนาดใหญ่คล้ายๆ “นครปัตตานี” แต่มีประเด็นต่างกันในรายละเอียดพอสมควร ได้แก่
- พื้นที่ของปัตตานีมหานคร ครอบคลุม จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
- ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ เลือกตั้งทั้งหมด มีวาระ 4 ปี มีรองผู้ว่าฯ เป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- สภาปัตตานีมหานคร มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คนและผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ
งานพัฒนาพื้นที่ขับเคลื่อนโดย “ผู้อำนวยการเขต” ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ โดยมี “สภาเขต” มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อยเขตละ 7 คน คอยจัดทำแผนพัฒนาและจัดสรรงบประมาณ
นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างของ “สภาประชาชน” ลักษณะคล้ายสภาวิชาชีพที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ แต่เลือกตัวแทนกลุ่มวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการทำงานของปัตตานีนคร มี “คณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม” คอยให้คำปรึกษาและวินิจฉัยประเด็นทางศาสนาอิสลาม และ “คณะผู้แทนส่วนกลาง” ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างปัตตานีมหานครกับรัฐบาลกลางด้วย
แม้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยซึ่งชูนโยบาย “กระจายอำนาจ” โดยใช้โมเดล “นครปัตตานี” จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูธง “ไม่เอานครปัตตานี” และ “ไม่ยุบ ศอ.บต.” ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ากระแส “กลัวการกระจายอำนาจ” ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะพื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ความไม่สงบอยู่
ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากเดินหน้า “นครปัตตานี” หรือโมเดลการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษโมเดลอื่น จะกลายเป็นการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” และอาจส่งผลให้เกิดการ “แบ่งแยกดินแดน” ได้ในท้ายที่สุด
แต่เชื่อเถิดว่า กระแสการกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังเป็น “ทิศทางของโลก” ซึ่งไม่อาจขวางกั้นได้อีกต่อไป และพรรคเพื่อไทยก็กำลังฉวยกระแสนี้สร้าง “โจทย์ใหม่” ขึ้นในพื้นที่ ด้านหนึ่งก็เพื่อเปิดทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการ “ให้ยาที่ถูกกับโรค” ก็เป็นได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อสถาปนา “อำนาจใหม่” ขึ้น มาเพื่อผลทางการเมือง คล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าพรรคการเมืองใดที่คุม กทม. พรรคนั้นก็สามารถชิงความได้เปรียบและมีโอกาสได้ ส.ส.กรุงเทพฯมากกว่าพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งทั่วไป
นี่คือทิศทางของ “ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ซึ่งกำลังกลายเป็นทิศทางที่มิอาจหลีกเลี่ยงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว!
/////////////////////////////////////////////////////////
หมายเหตุ : สกู๊ปชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.2554

หมายจับ “แม้ว” ลวงโลก ภาพสะท้อนความไร้น้ำยา ตำรวจ-อัยการ และ “ปชป.”

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ใช้สถานะความเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอำนวยความสะดวกให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นผลสำเร็จนั้น ได้นำมาซึ่งความกระจ่างแจ้ง และสะท้อนให้เห็นถึงการทำหน้าที่และความลวงโลกขององคาพยพต่างๆ ทางกฎหมายของรัฐบาลไทยว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ให้สมกับภาษีที่ประชาชนจ่ายให้เลยแม้แต่น้อย
     
        ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ทำท่าประหนึ่งว่า ปฏิบัติการไล่ล่านักโทษชายหนีคดีอย่างเอาจริงเอาจริง แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีหมายจับ นช.ทักษิณส่งไปตำรวจสากลให้ดำเนินการในเรื่องนี้แต่ประการใด
     
        ทั้งนี้ พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่ากองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยร้องขอไปยังอินเตอร์โปล ที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้พิจารณาขึ้นหมายแดง พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อสองปีก่อน แต่ทางอินเตอร์โปลไม่ได้ขึ้นหมายแดงให้ และมีหนังสือตอบกลับมาว่า กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เข้าเงื่อนไข การประกาศหมายแดงของทางอินเตอร์โปล หลังจากนั้น กองการต่างประเทศก็ไม่ได้ร้องขอไปอีก จึงยืนยันได้ว่า ไม่มีการร้องถอนหมายแดงแต่อย่างใด เพราะอินเตอร์โปลไม่เคยขึ้นหมายแดง พ.ต.ท.ทักษิณมาก่อน
     
        เรียกว่าถึงบางอ้อในฉับพลันทันทีเลยทีเดียวว่า ที่ผ่านมาหมายจับทักษิณของตำรวจสากลที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ลงมาถึงนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คอยประโคมข่าวหนาหูไม่เป็นความจริง
     
        อย่างไรก็ตาม เมื่อความแตก นายอภิสิทธิ์ก็ออกมาอธิบายหรืออาจจะใช้คำว่าแก้ตัวถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างน้ำขุ่นๆ ว่า “มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วนคือ คดีที่ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับที่ดินรัชดา มีการขอไปแต่ทางต่างประเทศเห็นว่าความผิดทางกฎหมายของเราไม่สามารถเทียบ เคียงต่างประเทศได้ เพราะเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ขัดกันทางตำรวจสากล จึงไม่ออกหมายจับ ส่วนกรณีคดีการก่อการร้าย ทางดีเอสไอได้ส่งเรื่องให้ตำรวจและอัยการ ซึ่งปรากฏว่าจนถึงวันนี้ ทางตำรวจอัยการยังดำเนินการไม่เสร็จ”
     
        จากนั้นเมื่อถามจี้ว่า ถือเป็นความสะเพร่าของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หรือไม่ ที่ไม่ติดตามเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ต้องยอบรับว่าเราไม่ได้ทราบชัดเจนว่าขั้นตอนดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วหรือ ไม่ เพราะเมื่อดีเอสไอ ส่งไปเข้าใจว่า ตำรวจและอัยการ ก็ว่าไปตามกระบวนการ”
     
        คำถามก็คือ ทำไมเพิ่งมาบอกประชาชนเอาป่านนี้ เวลาผ่านมาตั้งนมนานก็ไม่เลือกที่จะพูดความจริงให้ประชาชนได้รับรู้
     
        ขณะเดียวกัน นอกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว หน่วยงานที่จะต้องตำหนิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คงเป็นเหล่าข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ดีเอสไอ หรืออัยการคดีต่างประเทศ ที่มีการดำเนินการกันอย่างหน้าดำหน้าแดงบนความโกหกหลอกลวงประชาชน
     
        ยิ่งเมื่อนายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ออกมาเปิดเผยว่าการติดตามผู้ร้ายข้ามแดนของอัยการ ต้องรอให้กระทรวงต่างประเทศแจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนของ พ.ต.ท.ทักษิณในญี่ปุ่นมาให้อัยการก่อน หากไม่ทราบที่อยู่ที่ชัดเจน อัยการก็ไม่สามารถระบุรายละเอียดเพื่อทำหนังสือขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ อัยการไม่สามารถใช้ข้อมูลที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆได้ ก็ยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
     
        คำถามที่เกิดขึ้นคือ ที่ผ่านมาอัยการเคยตั้งหน้าตั้งตาเดินเรื่องอย่างถึงที่สุดหรือไม่ หรือจะต้องรอให้กระทรวงต่างประเทศชี้ที่อยู่ให้ไปตามตามจับอย่างเดียว กระนั้นหรือ
     
       เพราะความจริงแล้ว ที่อยู่ของ นช.ทักษิณไม่ได้เป็นความลับ และใครๆ ก็สามารถเดินทางไปพบได้ นายบรรหาร ศิลปอาชาก็เคยเดินทางไปพบเพื่อต่อรองเก้าอี้ บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยกโขยงกันไปหาแทบหัวบันไดไม่แห้ง
       มาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกแบบเศร้าใจว่าข่าวโคมลอยลวงโลกครั้งนี้ ได้สะท้อนการทำงานของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ตำรวจ อัยการ และ ดีเอสไอ ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้เป็นอย่างดีว่ามีพฤติกรรมและสำนึกในหน้าที่ของตัวเองเพียงใด
     
        ดังนั้นแล้ว อย่าได้แปลกใจเลยว่าประชาชนทั่วไปจะหมดศรัทธาและตามมาด้วยคำตำหนิติเตียนองค์กรเหล่านั้น
9

คนงานเหนือหนุน300 สภาลูกจ้างวอนปูสร้างรพ.ให้คนไข้ประกันสังคมเลิกเป็นผู้ป่วยพลเมืองชั้น2


ผู้ ใช้แรงงานทั่วประเทศออกมาสนับสนุนค่าแรง300บาท ในภาพเป็นคนงานย่านรังสิต ล่าสุดคนงานภาคเหนือออกโรงหนุน ส่วนสภาองค์การลูกจ้างยื่น4มาตรการ 5ข้อเสนอ 33 วิสัยทัศน์ให้รัฐบาลปู1คลอดเป็นนโยบาย รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยประกันสังคม ไม่ให้เป็นพลเมืองชั้น2ทั้งที่จ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วยถูกหักทุกเดือน




เรียน นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ นาย เผดิมชัย สะสมทรัพย์

เรื่อง สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตย คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน


สืบเนื่องมาจาก ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยทำให้สิทธิเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย ในทางการเมือง ทำให้สิทธิสียงไม่มีความหมายในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของผู้ใช้แรงงานและสังคมไทย เนื่องเพราะอำนาจตกอยู่ในมือของฝ่ายนอกระบบประชาธิปไตย

ต่อมาเมื่อมีการเรียกร้องให้ยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชนกลับมีความหมายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้ใช้แรงงานก็เช่นกันได้มีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะเลือกพรรคการเมือง นักการเมือง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

ในช่วงที่มีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องเพราะนโยบายนี้จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวิตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

เราในฐานะผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ มีความคิดเห็นว่า การคัดค้านนโยบายนี้ ก็เพียงเพื่อยึดผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของนายทุนที่สนับสนุนฝ่ายอำมาตยา ธิปไตยมาตลอดเท่านั้นเอง

เราขอเรียกร้องให้

1.รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชน ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

จงเชื่อเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน

2. จัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับ การรับรองสัตยบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 ฯลฯ โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย

ด้วยความเคารพ

(นายอนุชา มีทรัพย์ )
กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ

(นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร)
ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

(นายอัครเดช ชอบดี)
ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์


สภาองค์การลูกจ้างยื่น 4 มาตรการ 5 ข้อเสนอ 33 วิสัยทัศน์ หนุนรัฐบาลคลอดเป็นนโยบายเพื่อผู้ใช้แรงงาน
สภา องค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นเสนอนโยบายแรงงานต่อพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเพื่อประกอบการจัดทำเป็นนโยบายในการแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึง ดังนี้

4 มาตรการ 5 ข้อเสนอ 33 วิสัยทัศน์ นโยบายของผู้ใช้แรงงาน

1. มาตรการทางกฎหมาย
2. มาตรการทางเศรษฐกิจ
3. มาตรการทางการเมือง
4. มาตรการการจัดการ

1. มาตรการทางกฎหมาย
1.1 ให้ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ

2. มาตรการทางเศรษฐกิจ

- เร่งจัดเก็บภาษีอากรเพื่อจัดงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีสำนักทรัพย์สิน
- มาตรการทางภาษี ยกเลิกมาตรการภาษีที่ซ้ำซ้อน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ใช้แรงงาน

3. มาตรการทางการเมือง

- ให้มีการแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพครบบริบูรณ์ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ
- ให้ยึดหลักประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เช่น ให้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมทุกฝ่ายและทำข้อตกลงร่วมกัน
- รัฐต้องไม่แทรกแซงและขัดขวางใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้ใช้แรงงานแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้

4. มาตรการจัดการร่วม

- ให้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมระหว่าง รัฐ กระทรวง นายจ้าง ลูกจ้าง และศาล เพื่อเป็นมติในการดำเนินการร่วมกัน
- การจัดประชุม 2 ฝ่าย ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้าง
- จัดประชุม 3 ฝ่าย หรือ 4 ฝ่าย ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5 ข้อเสนอ

1. เร่งดำเนินการรัฐสวัสดิการ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย
2. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ให้จัดหาสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายในย่านอุตสาหกรรมเพื่อลดค่าครองชีพ เพิ่มมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ค่าไฟฟ้าฟรี, ค่าน้ำประปาฟรี, ค่ารถไฟฟรี, ค่ารถเมล์ฟรี ฯลฯ ให้ทั่วถึงและเป็นจริง
3. รับรองอนุสัญญา 87,98
4. การเพิ่มค่าจ้าง
5. การพัฒนาฝีมือแรงงานตอบสนองรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้น

33 วิสัยทัศน์ นโยบายแรงงาน

1. * ต้องสร้างความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่าย คือ 1) ภาครัฐ กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ภาคการลงทุนคือผู้ประกอบการ สถาบันการเงินสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และ 3 ) ภาคการผลิตอุตสาหกรรม คือผู้ใช้แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน 4) ภาคเกษตรกรรม ชาวไร่ ชาวนา พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไป

2. * เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพและเป็นประชาธิปไตย (การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกกลุ่ม หรือคณะบุคคลหรือองค์กรที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง)

3. * จัดระบบค่าจ้าง ความปลอดภัย สวัสดิการ สิทธิทางการเมือง ตามที่บัญญัติไว้ในหลักกฎหมายและบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

* กระทรวงแรงงานต้องจัดการกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด / จัดระบบคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน

* กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ขยายวงเงินให้กับผู้ถูกเลิกจ้าง ปรับปรุงเงื่อนไขให้เหมาะสมและสอดคล้องในการรับสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างมี สิทธิ กรณีมีการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย

4. สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนต้องได้รับการตอบสนองครบถ้วน การเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตน

5. * พัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการลงทุน และการผลิต

* พัฒนาผีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี
* จัดทำแผนแม่บทว่าด้วย การทำงานในต่างประเทศ / การใช้แรงงานประเภทต่าง ๆ
* เสริมทักษะด้านการใช้ภาษาพูดและเขียน

6. * ให้ตรากฎหมายจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยขึ้น โดยรัฐต้องรับผิดชอบเป็นการสำคัญ

7. * ให้มีสถานดูแลเด็กอ่อน โดยการทำข้อตกลงระหว่างสถานประกอบการกับลูกจ้าง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน

8. * ให้ตรากฎหมายแรงงานต่างด้าว

* สิทธิประโยชน์ให้ได้รับเท่ากับแรงงานไทยในภาคการผลิตเดียวกัน
* จัดตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบอย่างชัดเจน /ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดกระทำผิด

9. * นำที่ดินที่ถือครองและไม่ทำประโยชน์ มาจัดสรรให้กับผู้มีรายได้น้อย

10. * ต้องมีที่อยู่อาศัยลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มสิทธิในการเป็นเจ้าของ

* ขยายโครงการรัฐสวัสดิการ

11. *กำหนดแผนปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ใช้แรงงานและประชาชน

12. * เร่งดำเนินการโครงการเม็กกะโปรเจ็ก เช่น ขุดท่าเรือน้ำลึก แลนบิด โครงการผันน้ำโขง ฟื้นฟู 26 ลุ่มน้ำ รถไฟรางคู่

13. * ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ทำโครงการพลังงานทดแทนทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานถ่านหิน

* โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรและรักษาสภาพแวดล้อม

14. สนับสนุนสถาบันวิจัยแห่งชาติร่วมเอกชนพัฒนาสินค้า

15. * ให้กระทรวงแรงงานและการท่องเที่ยวร่วมดำเนินการโดยมีคณะกรรมการร่วม
* สร้างความเชื่อมั่นต่อต่างชาติ

16. *กฎหมายแข่งขันทางการค้า ต้องใช้อย่างเคร่งครัด กำหนดกระบวนการขึ้น โดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

17. * สร้างวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนโดยผ่านนักศึกษา เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และนายจ้าง

18. * พัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมทางขนส่งไป ลาว เวียดนาม จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
* สร้างท่าเรือน้ำลึก และสายการบินขนส่งสินค้า

19. * การค้าเสรีมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลชุดพิเศษ

20. * จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเกษตรกรรม

21. * กำหนดการอุทธรณ์เรื่องภาษีให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 3 เดือน

22. * จัดระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีแผนแม่บทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

23. * ส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องเป็นจริง

24. * กระทรวงแรงงานต้องร่วมมือกับกระทรวง ไอ ซี ที สำนักนายก รัฐสภา พัฒนาระบบและจัดตั้งโครงข่าวสื่อสารพื้นฐาน

* จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ โดยกระทรวงแรงงานดำเนินการ

25. * กำหนดแผนจัดการด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมในสภาพปัญหาปัจจุบัน

* ให้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนตามมติต่างๆ โดยการประสานงานของกระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรฯ รัฐสภา สำนักนายก

26. * กำหนดแผนรับผู้ใช้แรงงานที่ผ่านการฝึกฝนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

* โครงสร้างการศึกษาของประเทศต้องกำหนดมาตรฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

27. * เร่งรัดการจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

28. * ด้านการต่างประเทศดำเนินการตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัดและให้มีการประชุมร่วมหลายฝ่ายขึ้น

29. * ยกเลิก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

* รวบรวมจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วม หลายฝ่าย

30. เร่งรัดจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฎหมาย ภายใน 3 เดือนและจัดประชุมหลายฝ่าย
31. * ยกเลิกกฎหมาย พรบ. พรก. ที่ปิดกั้นข้อมูล ข่าวสาร
* ผู้ใช้แรงงานต้องใช้สื่อของรัฐได้
* รัฐและสถานประกอบการต้องร่วมกันจัดตั้งศูนย์กลางรับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต

32. * ยกเลิก กฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่ควบคุมสื่อของรัฐให้จำกัดอยู่ในเฉพาะเพื่อความมั่นคง

33. * ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาบังคับใช้และปรับปรุงแก้ไข
* ยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โดย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ
สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย

สิงหาคม 2554

สภาองค์การให้สมาชิก6หมื่นคนส่งแบบสำรวจเรื่องค่าครองชีพ เพื่อสนับสนุนนโยบายค่าแรง300

"ภารกิจลับ" เจ้ากระทรวงบัวแก้ว ?


ยัง ไม่ทันได้เริ่มทำงานกันอย่างเต็มที่ก็ดูเหมือนว่า จะเริ่มมีเสียง  "ยี้"  ดังขึ้นกระหึ่ม คล้ายเป็นการ "ต้อนรับ"การมาของรัฐมนตรีหลายคนในครม. ของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสียแล้ว !
     ซึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น สุรพงษ์ โตวิจักชัยกุล เจ้ากระทรวงการต่างประเทศ เพราะทันทีที่เจ้าตัวเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว ก็ดูเหมือนว่า จะได้ "ก้อนอิฐ" มากกว่า "ดอกไม้"
      ทั้งนี้หากไม่นับ สาเหตุของ อาการ "ไม่ปลื้ม" บรรดา ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 บางคน นอกจากเรื่องของ "หน้าตา" ที่ไม่ได้ดูหล่อเหลา สมราคาคุย แล้ว ยังมีเรื่องคำถามที่อยู่ในใจ โดยเฉพาะเรื่องความ "เหมาะสม" และ "ความสามารถ" อีกด้วย
     โดยทันทีที่ปรากฎชื่อของ สุรพงษ์ ออกมา เสียงต่อต้านก็ดังขึ้นโดยเฉพาะจากฝ่ายตรงข้ามอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ดาหน้ากันออกมาถล่ม ถึงความเหมาะสม
     เพราะต้องยอมรับว่า กระทรวงการต่างประเทศ นั้นมีลักษณะพิเศษ อย่างหนึ่ง คือ แทบจะมี "ล๊อคสเป็ก"เจ้ากระทรวงเอาไว้ว่า ต้องมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับงานด้านนี้
     สังเกตได้จาก อดีตเจ้ากระทรวงหลายคนที่มักจะเป็น อดีตฑูต หรือ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้มาก่อนทั้งสิ้น ! !
     ดังนั้น การที่ สุรพงษ์ เข้ามารับตำแหน่งแน่นอนว่า นอกจากจะต้องเจอ "งานหนัก" แล้ว ยังจะต้องเผชิญหน้ากับ "แรงเสียดทาน"ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเจ้าตัวก็เคยยอมรับว่า ไม่คาดคิดว่าจะได้รับตำแหน่งดังกล่าวเพราะไม่มีความถนัด
     คำถามที่ตามมาคือเหตุใด และเพื่ออะไร พรรคเพื่อไทย จึงเลือกที่จะใช้ สุรพงษ์ เล่นกับของร้อนกับ "เก้าอี้อาถรรพ์" ตัวนี้ ในขณะที่ผ่านมาหลายต่อหลายคนปฏิเสธ
     และต้องไม่ลืมว่า กระทรวงการต่างประเทศ นั้นเป็นหนึ่งใน 5 กระทรวง ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯยืนยันว่า จะเป็นผู้คัดเลือกคนที่ไว้ใจได้ มาเป็นเจ้ากระทรวงด้วยตัวเอง

     ดังนั้นการที่ชื่อมาตกที่ สุรพงษ์ ที่นอกเหนือจากเรื่องของการทำงานแล้ว จึงเป็นไปได้ที่ นายใหญ่ นั้นหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ จากอาการถอนตัวของคนนอก ที่ไม่อยากถือ "เผือกร้อน" โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาข้อพิพาทระหว่างชายแดนไทย- กัมพูชา  

     และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ สุรพงษ์ นั้นมีศักดิ์ เป็น "ญาติ" ซึ่งไว้ใจได้ สามารถไว้ใจได้ รวมถึงที่ผ่านมา ก็มีผลงาน โดยเฉพาะบทบาทในสภาที่มักจะขุดคุ้ยข้อมูล มา "แทงใจดำ" พรรคประชาธิปัตย์ ในสภาเสมอๆ
     อย่างไรก็ตาม หากมองกันถึงหน้าที่เร่งด่วนของ รมว.บัวแก้วคนใหม่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา
     แต่ดูเหมือนว่า งานนี้ จะไม่ใช่ของยากสำหรับเจ้ากระทรวงการต่างประเทศคนใหม่  เพราะต้องไม่ลืมว่า ปมปัญหากรณีดังกล่าวนั้น รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์1"นั้นมี "ตัวช่วยพิเศษ" อย่างอดีตนายกฯทักษิณ อยู่แล้วทั้งคน เพื่อสามารถ "ต่อสาย" เจรจา เปลี่ยนสถานการณ์จาก "ร้อน" ให้เข้าสู่ภาวะที่ "ผ่อนคลาย" ลงได้ ด้วยเหตุที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ "สมเด็จฮุนเซน" ผู้นำรัฐบาลกัมพูชา นั่นเอง
     คำถามที่ตามมาคือ ถ้า "งานเร่งด่วน" ไม่ใช่การแก้ปัญหาความสัมพันธ์แล้ว "อะไร" คือภารกิจด่วนที่ รมว.บัวแก้วจะต้องทำ ?
     ซึ่งเรื่องนี้เองฝั่งตรงข้าม ได้มีการมองกันถึงเหตุผล พรรคเพื่อไทย ส่ง สุรพงษ์ เข้าไปในว่า จะเข้าไปทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้น
     แต่สิ่งแรกที่น่าจะเป็นไปได้ คือ การทำหน้าที่ "สางปัญหา" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเจอจากอดีตรมว.คนก่อนอย่าง กษิต ภิรมย์ เล่นเกม "แมวไล่จับหนู" ด้วยการถอนพาสปอร์ตการเดินทางของอดีตนายกฯทักษิณ โดยมีผลมาตั้งแต่ เดือน เม.ย.2552
     กรณีดังกล่าว ได้สร้างความยุ่งยากกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่าง มาก โดยเฉพาะในการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆเพื่อทำธุรกิจ และที่สำคัญนี่ยังเรื่องที่ดูจะกระทบต่อ "เครดิต" ของอดีตนายกฯทักษิณ อยู่ไม่น้อย
     โดยล่าสุดก็ได้มีการรายงานข่าวว่า  ได้มีคำสั่งภายในให้มีการหยิบยกกรณีการคืนพาสปอร์ต ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นงานแรกที่ เจ้ากระทรวงบัวแก้วคนใหม่ ต้องเร่งลงมือ
     ดังนั้นการตั้ง สุรพงษ์ เข้ามาจึงถูกตั้งข้อสงสัยว่า น่าจะมี "ภารกิจลับ" ซึ่งเป็น "วาระซ่อนเร้น" ใช่หรือไม่
     เพราะหากทางการไทย ให้การรับรอง พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นก็เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะสามารถเดินทางไปประเทศต่างๆได้อย่างสะดวก ซึ่งถือเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจในต่างแดนนั่นเอง
     นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์กันว่า  ภารกิจสูงสุดของ สุรพงษ์ ในหนนี้ คือ การพาตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านอีกด้วย
     ทว่า.. ภารกิจนี้ ยังจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เหมือนการขอคืนพาสปอร์ต นั่นเป็นเพราะยังคงมีแรงต้านจากฝั่งตรงข้ามที่สงบ เพื่อรอคอยจังหวะโหมกระแสรอบใหม่อยู่
     อีกทั้งต้องดูผลงานของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้วยว่า เข้าตาประชาชนหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นเรื่องการกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงต้องเลิกคิด 
     อย่างไรก็ตาม ภารกิจ ตาม "คำสั่งลับ" ของ รมว.ต่างประเทศคนใหม่ ในครั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักหากทำอะไรที่ "โฉ่งฉาง" และ "ขัดต่อนิติรัฐ" 
     เพราะไม่เช่นนั้น ตำแหน่งของ สุรพงษ์ เองจะกลายเป็น "สายล่อฟ้า" ชั้นดีต่อรัฐบาลของ นายกฯยิ่งลักษณ์ และกลายเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามที่เพลี่ยงพล้ำลุกออกมา "เข่ยา" อีกครั้งก็เป็นได้  !
     ทั้งนี้ยังมีอีกแง่มุมที่ไม่อาจมองข้าม สำหรับภารกิจลับของ รมว.บัวแก้ว นั้นที่ยังไม่ถูกเปิดออก นั่นคือการการกอบกู้ภาพลักษณ์ ลบข้อครหาต่างๆที่เคยมีต่ออดีตนายกฯทักษิณ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ให้หมดจดและออกมาในแง่บวกมากกว่าที่ผ่านมา
     และนี่อาจเป็น "ภารกิจสำคัญ" ที่ สุรพงษ์ ถูกส่งมาเพื่อดำเนินการนอกเหนือไปจากเรื่องของการคืนพาสปอร์ต ให้ "นายใหญ่" เท่านั้น เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่ "ภาพร้าย" ที่เคยมีของพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถูกลบล้างและ "ป้อนข้อมูล" ต่อนานาประเทศเสียใหม่แล้ว ย่อมหมายความว่า "ความชอบธรรม" ของอดีตนายกฯทักษิณ ได้แต่งตัวรอกลับบ้านเอาไว้ครึ่งทางแล้ว !!
ทีมข่าวคิดลึก

จุดพลุแก้รธน. !

กมการ เมืองของพรรคเพื่อไทย ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ เริ่มปรากฎชัดเจนว่า พรรคแกนนำรัฐบาลกำลังเป็นฝ่ายเปิดหน้ารุก และยืนยันในทุกความต้องการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยถูกจับตาจากสังคมมาแล้วแทบทั้งสิ้น      ทั้งเพื่อสนองความต้องการบางเรื่อง บางประเด็นให้กับ "เจ้าของพรรค" ตัวจริงที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้มีส่วนสำคัญต่อก้าวเดินของพรรคเพื่อไทยและครม.

     หรือการสนองตอบต่อความต้องการของทุกคนที่เกี่ยวข้อง โยงใยกับเครือข่ายอำนาจของอดีตนายกฯทักษิณ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
     ตลอดระยะเวลาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีความชัดเจนว่าประเด็นที่ถูกพูดถึงและถูกจับตามากที่สุดย่อมไม่พ้นการ เคลื่อนไหว "นอกประเทศ" ของ อดีตนายกฯทักษิณ ที่เจ้าตัวจงใจเดินทางไปยังประเทศต่างๆ 

     จนกลายเป็นข่าวคราวขึ้นมา ทั้งประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดคือการเตรียมเดินทางไปเยือนกัมพูชา ในฐานะที่มีผู้นำรัฐบาลอย่าง "สมเด็จฮุนเซน" เป็นผู้มักคุ้นกับอดีตนายกฯทักษิณ  แต่ถือเป็น ไม้เบื่อไม้เมากับ อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
     การเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่น ตามกำหนดการที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 22-28 ส.ค.นี้ กลายเป็นประเด็นคำถามร้อนแรง ที่โจมตีเข้าใส่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กันถ้วนหน้า ทั้งตัว นายกฯยิ่งลักษณ์ ในฐานะ ผู้นำรัฐบาลและ "น้องสาว"
     ไปจนถึง เจ้ากระทรวงบัวแก้วคนใหม่ อย่าง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ให้โดนถล่มจากฝ่ายค้านโดยที่ยังไม่ทันถึงเวลาการซักฟอกกันในสภาด้วยซ้ำ

     ล่าสุดประเด็นร้อนแรง ที่ได้ถูกจุดพลุขึ้นมารอบใหม่ กลายเป็น "คำถาม" ที่พุ่งเข้าใส่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ก่อนถึงวันที่รัฐบาลใหม่จะเปิดฉากแถลงนโยบายในสัปดาห์หน้า กลับกลายเป็นเรื่องราวทางการเมือง ที่ว่า "การแก้รัฐธรรมนูญ"
     และดูเหมือนว่า "คำตอบ"ที่ออกมาจากปากของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าโดยหลักการแล้วรัฐบาลยังต้องการ "ฟังเสียงประชาชน" และ "การแก้รัฐธรรมนูญ" นั้นต้องยืนอยู่บนหลักความต้องการของประชาชน ส่วนรายละเอียด จะเป็นเรื่องของ "สภา" ที่จะเป็นผู้พิจารณา !
     ทั้งนี้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ "แรงต้าน" จากฝ่ายที่ได้เคยประกาศเอาไว้แล้วว่า "รื้อเมื่อไหร่ เคลื่อนเมื่อนั้น" อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
     การจงใจเปิดเกมแรงของอดีตนายกฯทักษิณ โดยต่อเนื่องกัน ทั้งที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ยังไม่ทันได้ทำการแถลงนโยบายต่อสภา เช่นนี้โดยเฉพาะการที่ คนในพรรคเพื่อไทยเองที่เลือกหยิบเรื่องราวที่เป็นเหมือน "ชนวนเหตุ"การเมืองรอบใหม่ ขึ้นมาในรอบนี้
     อาจมีความน่าสนใจและมีวาระซ่อนเร้น  ที่แอบซุกซ่อนเอาไว้ มากไปกว่าเป็นเพียงการแสดงออกของ อดีตนายกฯทักษิณ ที่กำลังถูกติงว่าใจร้อน วู่วามและหากยังไม่หยุดเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่ออายุรัฐบาลของน้องสาวในอีกไม่นาน
     อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วการที่คนในพรรคเพื่อไทย ออกมาจุดพุลเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ2550 ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีหลายต่อหลายพรรคการเมืองที่ต่างต้องการ แก้ ไปจนถึงขั้น "รื้อ" ด้วยกันหลายพรรค
     ทว่าการปรับ หรือแก้ไขของพรรคการเมือง ทั้งภูมิใจไทยหรือแม้แต่พรรคชาติไทยพัฒนานั้น ดูจะมีความชัดเจนว่าพวกเขาต่างต้องการแก้ไข เพิ่มเติมในบางมาตราที่รู้สึกว่าส่งผลกระทบต่อเรื่องของการถูกสั่งให้ยุบพรรค  

     แต่สำหรับความวิตกกังวลที่ฝ่ายตรงข้ามอดีตนายกฯทักษิณ คือความวิตกที่ว่า อาจมีการ "สอดไส้" นำเรื่องของการ "นิรโทษกรรม" เพื่อช่วยล้างความผิดให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ รวมเข้าไปด้วยในคราวเดียวกัน
     มีข้อน่าสังเกตว่า ในการที่คนของพรรคเพื่อไทยกำลังพากันกระตือรือล้นที่จะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้ว การเลือกขยับหมากการเมืองว่าด้วยเรื่องดังกล่าวนั้น
     มี ความจำเป็น และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันใจ ทันการณ์ สำหรับพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออดีตนายกฯทักษิณ มากน้อยแค่ไหน
     เพราะต้องไม่ลืมว่า ความจำเป็นที่จะเลือกหยิบใช้หมากการเมือง แถวถัดไปของอดีตนายกฯทักษิณ คือบรรดาสมาชิกบ้านเลขที่ 111 นั้นเพียงอดใจรออีกไม่นาน เพียง8-9 เดือนข้างหน้า บ้านเลขที่ 111 ก็จะสามารถเป็นอิสระ ครบกำหนดการถูกสั่งให้เว้นวรรคทางการเมือง อันเนื่องมาจากคดียุบพรรค ในเดือน พ.ค.ปี2555 อยู่แล้ว
     ในทางกลับกัน เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่จะถูกใช้ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมี ความเป็นไปได้ว่าอาจยาวนานกว่านั้น และการที่มีข่าวว่ารัฐบาลตั้งเวลาเอาไว้ที่ 3 เดือนนั้นก็ดูจะเป็นไปได้ยาก หากหวังที่จะเร่งรัด รวบรัดได้จริง
     การเลือกเปิดเกมการเมือง ที่สร้างความวุ่นวาย ความวิตกกังวลให้แก่ฝ่ายตรงข้ามโดยเครือข่ายอำนาจเก่าของอดีตนายกฯทักษิณ นั้นกำลังกลายเป็น "ปมประเด็น" ที่สามารถดึงดูดและเบี่ยงเบนความสนใจของคนในสังคม ให้ต้องละสายตาไปจากการจับตาเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลใหม่อย่างได้ผลอยู่ หรือไม่ ?
     แท้ที่จริงแล้วยังมี "คำถาม" ที่เกี่ยวข้อง โยงใยกับการบริหารนโยบาย ของรัฐบาลใหม่ ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งนายกฯยิ่งลักษณ์ และแกนนำในรัฐบาลต่างต้องให้ "คำตอบ" อีกด้วยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนกำลังเผชิญวิกฤตจากภัยน้ำท่วมในเวลานี้
     หรือแม้แต่คำถามพื้นฐานที่ว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นได้จริงหรือไม่ 
     ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า หลังจากที่ "ผู้มีอิทธิพล" เหนือรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เลือกเปิดเกมการเมืองสารพัดเรื่องจนเป็นที่พอใจแล้ว

     อีกไม่นาน เมื่อนายกฯคนใหม่ สามารถคลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงลงได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ถึงเวลานั้นทุกอย่างอาจเข้าสู่ภาวะปกติ ?!

                                                                                                                ทีมข่าวคิดลึก

"ปู"วอน"ป๋าเปรม"เปิดโอกาสอวยพรวันเกิด!

"ปู"วอน"ป๋าเปรม"เปิดโอกาสอวยพรวันเกิด!เมินปชป.ดึง"พี่ชาย"ร่วมศึกซักฟอกนโยบายรบ.

"ปู"วอน"ป๋าเปรม"เปิดโอกาสอวยพรวันเกิด!เมินปชป.ดึง"พี่ชาย"ร่วมศึกซักฟอกนโยบายรบ.

ยิ่ง ลักษณ์”รอ”ป๋าเปรม”เปิดโอกาส พร้อมเข้าอวยพรวันเกิด ลั่นพร้อมแถลงนโยบายรัฐบาล ไม่หวั่นปชป.หยิบยก”ทักษิณ”อภิปราย ย้ำถ้าเกี่ยวข้องกับนโยบายยินดีชี้แจง พร้อมป้องพี่ชายเปล่าจุ้นการเมืองในพรรค แค่แนะนำในฐานะผู้มีประสบกการณ์
     ที่ทำการพรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันอังคาร 23 ส.ค.ว่า จะมีการแบ่งให้กับรองนายกรัฐมนตรีได้แถลงตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  โดยจะดูในภาพรวมทั้งหมด  เพราะถ้าหากให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงเอง การชี้แจงก็จะตรงกว่า สำหรับตนจะมีการแถลงนโยบายด้วยเช่นกัน  มาถึงวันนี้ก็มีความพร้อมในระดับหนึ่ง  สำหรับการประชุมวันนี้ก็จะเป็นเพียงการซักซ้อม  ส่วนรายละเอียดในส่วนของการทำงานด้วยภายหลังจากการแถลงนโยบาย  คงไม่ได้เน้นเรื่องนโยบายที่จะแถลงเพียงอย่างเดียว  หากผ่านสภาเรียบร้อยแล้วก็จะดูว่าจะเริ่มทำงานกันอย่างไรด้วย 
     ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการตั้งองครักษ์ 30 คน  และคนที่จะชี้แจงนโยบาย 20 นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการตั้งองครักษ์  เพราะเรื่องของนโยบายเป็นเรื่องที่พรรคได้ให้ส.ส.ได้รับทราบนโยบายของพรรค อยู่แล้ว  เพราะสุดท้ายส.ส.ต้องชี้แจงกับประชาชนเพื่อทำความเข้าใจในส่วนนั้น  และหลายท่านที่มาอยากแสดงความคิดเห็นจะเป็นเรื่องของวิปรัฐบาลจะไปบริหาร จัดการ
     ผู้สื่อข่าวถามว่าหวั่นใจวิวาทะของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาฯหรือไม่  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)คงต้องทำหน้าที่ของเขา ในส่วนของเราในฐานะรัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจงประชาชน  เมื่อถามว่าพรรคปชป.อาจจะหยิบยกเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาจะชี้แจงอย่างไร  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า  ตรงนี้ต้องดูหัวข้อ  เพราะว่าวันนี้เป็นเรื่องของการแถลงนโยบาย  อะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายก็ยินดีที่จะชี้แจง  ส่วนที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องนั้น  ในประเด็นเร่งด่วนเรามีนโยบายในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนอยู่แล้ว  ซึ่ง 10 นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่เร่งด่วน  ส่วนใหญ่แล้วงานที่จะออกมาจะเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและดูแล เรื่องค่าใช้จ่าย  ค่าครองชีพ  ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนอยู่แล้ว
     ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ  หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง  เพราะต้องการให้นายกฯได้มีโอกาสทำหน้าที่แก้ไขปัญหา  และตัดสินใจในการบริหารประเทศเอง  ตรงนี้จะมีใครสื่อสารถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ได้หรือไม่  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า  พ.ต.ท.ทักษิณเองก็คงทราบ เพราะท่านก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวทางการเมือง  ท่านก็ทำงานตามภารกิจของท่าน  เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่าเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ  เคลื่อนไหวก็จะเป็นการดิสเครดิตน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปด้วย  เช่นเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ออกมาระบุว่ามีส่วนร่วม  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า  ท่านในฐานะที่มีประสบการณ์  ท่านก็สามารถให้ความคิดเห็นได้  แต่ทั้งหมดแล้วอยู่ที่กลไกภายในพรรค  และเราเองก็ยินดีที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคน  และท่านอดีตนายกฯก็มีประสบการณ์เยอะ ก็สามารถนำประสบการณ์มาเป็นข้อแนะนำ  แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านจะลงมาจัดการในสิ่งต่างๆ 
     เมื่อถามว่า ได้มีการกกำชับรับมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เพราะอาจจะเจอศึกหนักในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า รัฐมนตรีมีความสามารถอยู่แล้ว  ท่านก็คงทำหน้าที่ในการชี้แจงอย่างเต็มที่ให้กับประชาชน 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 26 ส.ค. เป็นวันเกิดของพล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  นายกฯจะเข้าอวยพรด้วยหรือไม่  น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าวว่า  ถ้าท่านเปิดโอกาสให้เข้าอวยพร  ก็อยากจะไป  ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ชดเชย 2 แนวร่วมประชาธิไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ที่ถูกยิงจนพิการ  ตรงนี้ตนยังไม่ได้รับทราบข้อมูล  ว่าเป็นใครอย่างไร  ขอตรวจสอบก่อน  ส่วนกรณี 169 ศพ ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอผลการพิสูจน์ก่อน  ยังไม่อยากสรุปอะไรในตอนนี้  อยากให้มีการชี้แจงจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบเข้ามา

อย่าแก้รัฐธรรมนูญด้วยความกลัวกันอีก

  นักการเมืองส่วนใหญ่จะเริ่มแก้รัฐธรรมนูญกันอีกแล้ว   นักการเมืองส่วนน้อยก็ต้องต่อต้านอย่างแน่นอน      ปัญหาจะบานปลายไปสักแค่ไหน  เป็นความทุกข์ที่พวกนักการเมืองโยนเข้าใส่ประชาชนอีกครั้ง
     เรามาย้อนดูกันว่ารัฐธรรมนูญไทยมีจุดอ่อนตรงไหน ?พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช  วิจารณ์การเขียนรัฐธรรมนูญของไทยไว้ว่า  รัฐธรรมนูญไทย “เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาด้วยความกลัวอะไรบางอย่างเสมอ”
     “ รัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับ  ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ 2475 เป็นต้นมา  เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยความกลัวอะไรอย่างหนึ่งเสมอ  เช่นกลัวบุคคลคณะใด  หรือกลัวอะไรต่ออะไรเป็นบางอย่าง 
     ยกตัวอย่างเช่น  รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2475 ที่พระราชทานในรัชกาลที่ 7 นั้น  เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยความกลัวพวกเจ้ามาตรา 11  กำหนดว่าผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป  ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น  สมัครเป็นผู้แทนก็ไม่ได้  เป็นอะไรก็ไม่ได้หมด
     ทีนี้ต่อมาก็ถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ 2489  อันนี้ผมมีส่วนร่างด้วย  เป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว  ฉบับนี้เมื่อร่างเสร็จ  นำเสนอต่อสภา  ออกจะเป็นฉบับที่ปราศจากความกลัว.... .......แต่อย่างไรก็ตาม   ในการพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับ 2489  เมื่อเข้าสู่สภา  ความกลัวปรากฏออกมาให้แลเห็นได้ชัด  ว่าทางฝ่ายผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นกลัวผู้แทนราษฎรประเภทหนึ่ง  คือประเภทที่ราษฎรเลือกตั้งเข้ามาโดยตรง   ว่าจะมาทำร้ายท่านหรือมามีอำนาจเหนือท่าน   เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2489  ก็ได้รับการแปรญัตติในสภาให้เปลี่ยนรูปไปจากร่างเดิม

     ตามรูปเดิมนั้น (ต้นร่างรัฐธรรมนูญ)สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล  และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้ใจแล้ว  รัฐบาลอยู่ไม่ได้  ต้องลาออก  รูปเดิมนี้ถูกแปรญัตติมาเป็นว่า  ต้องให้สภาสูงลงมติด้วย  ไม่ยอมให้สภาผุ้แทนลงมติไม่ไว้วางใจแต่ฝ่ายเดียว  มติที่จะไล่รัฐบาลออกได้ต้องเป็นมติทั้งสองสภา 

     ความกลัวมันเกิดขึ้นตอนนั้น
     พอถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2492  ซึ่งมีการสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ครั้งแรก)ขึ้น  ในบทรัฐธรรมนูญนี้ก็มีความกลัวปรากฏให้เห็นได้ชัด  รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่กลัวทหาร  กลัวทหารจะเข้ายึดอำนาจ  กลัวทหารจะก่อการรัฐประหาร  กลัวทหารจะปฏิวัติ  เพราะฉะนั้นจึงมิได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมากมายหลายประการ  เกี่ยวกับการออกคำสั่งเคลื่อนกำลงของทหาร  การประกาศกฎอัยการศึก   ได้มีบทบัญยัติผูกมัดไว้มากมายไม่ให้ทำได้ง่าย ๆ  เป็นต้นว่าการย้ายกำลังทหารจะต้องมีพระบรมราชโองการ  ผู้บังคับบัญชาทหารจะไปทำเสียฝ่ายเดียวไม่ได้  การประกาศใช้กฎอัยการศึกจะต้องมีเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้  ในที่สุดก็แสดงให้เห็นชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลัวทหาร
 
      รัฐธรรมนูญฉบับ 2511  ที่ยกเลิกไป  ก็แสดงให้เห็นชัดว่ามีความกลัวอีก  รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลัวผู้แทนราษฎร  กลัวว่าผู้แทนราษฎรจะมาแย่งตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกันแล้วมาก่อกวนความวุ่นวาย  ผู้แทนราษฎรประเภทดาวจะเข้ามาโวยวายในที่ประชุมสภา  แล้วก็กลัวประการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง   ผลก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นี้ตัดอำนาจผู้แทนราษฎรไปมาก  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ยอมให้ผุ้แทนราษฎรได้เข้ารับตำแหน่งการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือแม้แต่เลขานุการรัฐมนตรี

     สรุปแล้วรัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับร่างกันขึ้นมาด้วยความกลัวหรือด้วยภยาคติ ทั้งนั้น  ของอะไรที่ทำด้วยภยาคติจะดีไม่ได้   เราทำอะไรด้วยความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจกันแล้ว  มันจะให้เป็นผลสำเร็จเรียบร้อย  หรือเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไม่ได้  จะต้องมีคนไม่พอใจ  อาจมีอุปสรรค   มีการขัดข้องในอนาคต
     รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนี้  ผมเห็นว่าเราจะต้องทิ้งความกลัวให้หมด  และจะต้องเชื่อกันเองจริง ๆ สักทีหนึ่ง ( คึกฤทธิ์ ปราโมช  คัดจากหนังสือ “ผลงานและชีวิตทางการเมืองของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช กับประชาธิปไตย” ของ สามน  กฤษณะ)
     รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2540  กลัวทหารยึดอำนาจ มุ่งส่งเสริมให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง  หวังให้เกิดการเมืองสองขั้วสองพรรคใหญ่
     รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2550   กลัว “ทุนยักษ์” ซื้อเสียง  ซื้อประเทศไทยได้   กำหนดโทษนักการเมืองถึงขั้นยุบพรรค
    
     การแก้รัฐธรรมนูญก็คือการ “เขียน” รัฐธรรมนูญใหม่นั่นเอง    และมันก็หนีไม่พ้นบทสรุปที่ว่า  เขา “เขียนกันด้วยความกลังอะไรบางอย่าง” 

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง