ครม.หั่นงบเยียวยาน้ำท่วมจาก 6หมื่นล้าน เหลือแค่ 2 หมื่นล้าน เน้นฟื้น 9โครงการหลัก ชดเชย 5พัน-โรงเรียน-สาธารณสุข-คมนาคม-แรงงานเลิกจ้าง ฯลฯ เผยถ้าไม่นับเงินชดเชย ซ่อมถนนได้มากสุด 1.8พันล้าน สั่งผันลงให้ได้ใน 3วัน ย้ำต้องโปร่งใส่ไม่ซ้ำซ้อน
 โดย เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ
หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 12ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือค่าใช้จ่ายฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย จากการตั้งเป้างบประมาณ วงเงิน 60,983.207 ล้านบาท ตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอมานั้น ผลสรุปในที่ประชุมครม.มีรายละเอียดดังนี้
นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ครม.ได้หารือค่าใช้จ่ายฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอมา และดำเนินการได้ทันทีภายในเดือน ม.ค.2555เป็นเงิน 20,110.55272ล้านบาท จากที่ขอมา 60,983.207ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูใน 3โครงสร้าง คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน 2.ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และ 3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
นางฐิติมากล่าวว่า ยังเหลือเงินที่จะดำเนินการได้อีกกว่า 2หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ให้แต่ละจังหวัดนำเสนอมา โดยรัฐมนตรีที่กำกับดูแลต้องดูข้อมูลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ส่วนงบประมาณ 20,110.55272ล้านบาทที่อนุมัติไป จะลงไปทันทีภายใน 3วัน ซึ่งการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ย้ำบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบครอบครัวละ 5,000บาท รวมถึงโครงการต่างๆ ที่จะฟื้นฟูต้องโปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน และหากมีการเปลี่ยนโครงการต้องรายงานรัฐมนตรี และส่งมายังคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานทราบทุกเรื่องด้วย
สำหรับโครงการที่จะใช้งบเร่งด่วนมีทั้งสิ้น 9โครงการ คือ
1.การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000บาทใน 62จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,635,110 ครัวเรือน วงเงิน 13,175.550 ล้านบาท
2.โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอของจังหวัด วงเงิน 314.544 ล้านบาท
3.โครงการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนและโรงเรียน 2,006แห่ง  วงเงิน 456.039 ล้านบาท
4.โครงการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณสุขในพื้นที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง 9จังหวัด วงเงิน 121.918 ล้านบาท
5.โครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการถูกเลิกจ้าง 100,000ราย วงเงิน 606 ล้านบาท
6.โครงการจัดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix IT Center) วงเงิน 17.850 ล้านบาท
7.โครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296แห่ง วงเงิน 1,382.619 ล้านบาท
8.โครงการฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญ จำนวน 708 สายทาง วงเงิน 1,813.870 ล้านบาท
9.โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบท 11สายทาง วงเงิน 139.810 ล้านบาท
รวมวงเงินทั้งสิ้น 20,110.557 ล้านบาท
สรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท (กรณีอุทกภัย) ปี 2554 10 อันดับสูงสุด
ข้อมูลวันที่ 12 สิงหาคม 2554  

ที่
จังหวัด
ครัวเรือน
จำนวนเงิน (บาท)
1
พระนครศรีอยุธยา
141,533
707,665,000
2
นนทบุรี
61,443
307,215,000
3
ปทุมธานี
59,632
298,160,000
4
นครสวรรค์
36,062
180,310,000
5
สุพรรณบุรี
24,576
122,880,000
6
อ่างทอง
23,257
116,285,000
7
นครปฐม
17,544
87,720,000
8
สระบุรี
15,538
77,690,000
9
ลพบุรี
13,446
67,230,000
10
สตูล
13,123
65,615,000

รวบรวมโดยศูนย์ข่าว TCIJ
การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000บาท ในกรุงเทพมหานคร (จ่ายผ่านธนาคารออมสิน)
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกฯ กล่าวว่า โครงการดำเนินการได้ทันทีในเดือนม.ค.2555วงเงิน 20,110.5572ล้านบาท นายกฯ ได้ให้หลักการเบิกจ่าย 5ข้อ คือ 1.คำนึงถึงงบประมาณที่ใช้ได้จริง 2.สศช.และสำนักงบประมาณต้องตรวจดูความซ้ำซ้อน 3.จัดลำดับความสำคัญของโครงการ 4.บูรณาการรวมกับงานด้านอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน และ 5.เงินที่ลงไปในชุมชนต้องเข้าไปถึงพี่น้องประชาชน
รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า  น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวขอบคุณที่ทุกคนสละวันหยุดมาทำงาน และย้ำว่าต้องเร่งพิจารณางบช่วยเหลือ โดยจัดลำดับตามหลัก 5ข้อเป็นหลัก และให้เร่งดำเนินการทันที โดยเชื่อว่าหลังเดือนก.พ.2555ซึ่งงบประมาณผ่านแล้ว ปัญหาก็จะคลี่คลายลง
ทั้งนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรีหลายคนแสดงความไม่พอใจในงบประมาณที่ได้รับ หรือได้รับเพียงเล็กน้อย อาทิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ แจ้งว่ามีโครงการต้องใช้เงิน 2,417ล้านบาท แต่ไม่มีอยู่ในวาระเลย ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์อธิบายว่า หากทุกคนยืนยันตัวเลขของตัวเองทั้งหมด งบประมาณคงไม่พอ ดังนั้นต้องไปดูว่าโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนคืออะไร ทำให้นายวรวัจน์แย้งว่า โครงการที่แจ้งมาถือว่าจำเป็นทั้งหมด และที่สำรวจมามีความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท แต่หลังจาก ครม.ให้ทบทวนจึงเหลือเพียง 2,417ล้านบาท สำหรับ 2,600โรงเรียน และหากให้รอถึงเดือน ก.พ.2555ก็อาจต้องเลื่อนเปิดเรียนไปอีก
ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ชี้แจงด้วยว่า ในฐานะที่ดูงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน หลายกระทรวงต้องกลับไปทำงบประมาณมาใหม่ ซึ่งงบนี้ยังไม่รวมงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมจะขอมาอีกกว่า 10,000 ล้านบาท และเงินเยียวยาที่จะขอมาอีก ดังนั้นทุกคนต้องปรับลด แต่นายวรวัจน์ยังยืนยันว่างบประมาณ 2,417ล้านบาทรอไม่ได้ ในที่สุดนายกฯ ได้ให้นายวรวัจน์ไปหารือกับ พล.อ.อ.สุกำพล และดูว่ามีตรงไหนที่ต้องปรับลดหรือเกลี่ยได้บ้าง
รายงานแจ้งอีกว่า นายกรัฐมนตรียังแสดงความหนักใจในงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากขอมาสูงถึง 18,000ล้านบาท โดยเฉพาะงบที่ต้องใช้ฟื้นฟูไร่นา และกำลังเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกรอบใหม่ หากไม่เร่งมอบเงินก็จะเกิดปัญหา ยังไม่รวมไปถึงงบประมาณในส่วนของเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ข้าว                
“นายกฯ ได้ย้ำว่า วงเงินที่อนุมัติไม่ได้หมายความว่า นำงบประมาณที่ได้ไปเทลงให้ประชาชนทั้งหมด ต้องไปตรวจดูความซ้ำซ้อน โดยอิงจากหมายเลข 13เป็นหลัก เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อไม่ให้เงินกระจุกตัวจุดใดจุดหนึ่ง” รายงานข่าวระบุ
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท (กรณีอุทกภัย) ปี2554 นั้น ทางธนาคารออมสินจะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินตามกรอบมติครม. ทั้งสิ้น 2,289,562 ครัวเรือน ทั่วประเทศ เป็นเงิน11,447,810,000 บาท  ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.มีการจ่ายเงินไปแล้ว 183,303 ครัวเรือน  คิดเป็นร้อยละ 35.5 และทางจังหวัดที่ระงับแจ้งจ่ายจำนวน 654 ครัวเรือน
ด้านการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296 แห่งนั้น  นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่านายกรัฐมนตรีแจ้งว่า งบประมาณดังกล่าวเป็นงบฯ เร่งด่วนที่จะใช้ในช่วงเดือนธ.ค.2554-ม.ค.2555 ต้องมีการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินทั้งหมดภายใน 3 วัน ดังนั้นในสัปดาห์นี้ตนจะเรียกนางโสมสุดา ลียะวณิช กรมศิลปากร มาประชุมหารือเกี่ยวกับแผนการและจัดจ้างการบูรณะ เพื่อให้ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามกรมศิลปากรได้จัดลำดับความสำคัญของโบราณสถานแต่ละแห่ง ที่ต้องเร่งดำเนินการบูรณะทันที
**รายละเอียดเพิ่มเติมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554 http://www.prd.go.th/download/flood_manual_54_02.pdf


โครงการฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
1.การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ  5,000 บาท
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น /สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.)/ สำนักงานเขต กทม.
2.โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอของจังหวัด

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด
3.โครงการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนและโรงเรียน 2,006แห่ง
สำนักงานเขตการศึกษา/ กระทรวงศึกษาธิการ
4.โครงการช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณสุขในพื้นที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง 9จังหวัด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้ง 9 จังหวัด
5.โครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการถูกเลิกจ้าง 100,000ราย
สำนักงานประกันสังคมทุกเขตพื้นที่ / กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน/
6.โครงการจัดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix IT Center)

ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน/ กระทรวงศึกษาธิการ
7.โครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296แห่ง

กรมศิลปากร/ กระทรวงวัฒนธรรม
8.โครงการฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลักและโครงข่ายสำคัญ จำนวน708สายทาง

สำนักงานทางหลวง/ กรมทางหลวง /กระทรวงคมนาคม
9.โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบท 11สายทาง
กรมทางหลวงชนบท

รวบรวมโดย ศูนย์ข่าว TCIJ
ขอบคุณภาพจากกรุงเทพธุรกิจ