มีโอกาสได้พูดคุยนอกรอบกับแหล่งข่าวท่านหนึ่ง
มีข้อมูลที่น่าสนใจจึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
แต่กว่าจะเขียนได้ก็ต้องนั่งนึกอยู่นานว่าจะนำเสนออย่างไรดี
เพราะในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
การเผยแพร่ข้อมูลบางอย่างจำเป็นต้องใช้วิจารณญานและการไตร่ตรองอย่างมาก
เพราะอาจจะก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมาในภายหลังได้
(หวังว่าจะไม่เกิด อิอิอิ)
.
นี่เป็นบทสนทนาช่วงหนึ่ง
แหล่งข่าว :
ผมต้องออกตัวก่อนนะว่า ผมไม่ใช่คนเสื้อแดง หรือเสื้อสีใดๆ ทั้งนั้น
แต่ผมมีเพื่อนทั้ง 2 ฝ่าย บอกได้อย่างหนึ่งว่า
ทุกคนล้วนรักประเทศชาติด้วยกันหมด ไม่มีใครไม่รัก
เพียงแต่บางคนถูกหล่อหลอมมาด้วยวิธีคิดผิดๆ
จขบ. :
ปัญหาความขัดแย้งจะจบไหมคะ
แหล่งข่าว :
จบได้ แต่ชัยชนะต้องเป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด
คุณรู้ไหมว่าการต่อสู้ในวันนี้ไม่ใช่การต่อสู้ของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์
แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดของ 2 ขั้ว
ประเทศไทยในวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า
เรามีลักษณะเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ขั้วหนึ่ง ประชาชนมีความศรัทธาและยังต้องการพึ่งพิง
พระบรมโพธิสมภารของมหากษัตริย์
ขั้วสอง ประชาชนต้องการประชาธิปไตยแบบ
ที่ไม่ต้องการการพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภารของมหากษัตริย์
ประเทศของเราต้องแก้ไขปัญหาในจุดนี้ เราจะเลือกทางไหน ??
เพื่อทำให้ 1 ประเทศมี 1 ระบบเท่านั้น
ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง
ประชาชนมีความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช่ความแตกแยก
ถามว่าคุณเข้าใจไหมว่า 2 ขั้วนี้ต่างกันอย่างไร
ภายใต้การปกครองระบอบเดียวกัน
ขั้วแรก ด้วยความรักและศรัทธาในสถาบัน
คนไทยมีสังคมแบบครอบครัว มีพ่อของบ้าน มีพ่อหลวงของประเทศ
เมื่อมีปัญหาอะไรก็ตามในประเทศนี้ ทุกคนจะเริ่มมองหาที่พึ่งที่เป็นคนกลาง
ที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นแกนหลักของบ้านเมือง ทุกคนจึงหวังพึ่งพ่อหลวง
ขั้วที่สอง ต้องการให้กลไกประชาธิปไตยหมุนไปตามครรลอง
โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือการแทรกแซงใดๆ
จขบ. :
พระองค์ท่านไม่ได้แทรกแซงทางการเมือง !
แหล่งข่าว :
คุณเห็นไหม ทุกคนยังหวังพึ่งพิงพระองค์ท่าน
มีปัญหาอะไรก็วิ่งเข้าไปหาท่าน
ทุกคนยังเอ่ยถึงท่านตลอดเวลาในวันนี้
ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องของการเมือง ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง
ไม่ควรนำประเด็นทางการเมืองไปเกี่ยวกับพระองค์ท่าน
จขบ. :
ประเทศที่มีระบอบการปกครองคล้ายเรา แต่ไม่มีปัญหา
เช่น ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ทำไมของเราถึงมีปัญหา
แหล่งข่าว :
ประเทศไทยมีลักษณะอย่างที่บอกคือ 1 ประเทศ 2 ระบบ
ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ เขามีลักษณะ 1 ประเทศ 1 ระบบ
จขบ. :
พูดได้ไหมว่า ระบอบการปกครองของไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะ
จึงไม่จำเป็นต้องไปเหมือนประเทศอื่น
แหล่งข่าว :
ศาสตร์การปกครองมันลึกซึ้งมากคุณ ผมก็ไม่ได้เข้าใจมากนัก
แต่ก็พยายามมองให้รอบด้าน ปัญหาสำคัญในวันนี้คือ
เรามีปัญหาที่ “คน” เราสามารถเป็น 1 ประเทศ 1 ระบบได้
แต่ต้องไปแก้ปัญหาที่ “คน”
คุณต้องยอมรับอย่างนึงว่าคนของเราไม่ใช่คนแบบญี่ปุ่น หรือคนแบบอังกฤษ
ที่เขาสามารถพึ่งพิงตัวเอง และเชื่อในกลไกการปกครอง
เชื่อในระบบ เชื่อในผู้นำประเทศ เชื่อในผู้บริหาร
ซึ่งผู้บริหารที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาของเขาก็จะมีสปิริต มีคุณธรรม
ซึ่งสำคัญสำหรับการบริหารประเทศ
แต่ผู้บริหาร หรือนักปกครองของเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่หรือเปล่า
ตราบใดที่ยังไม่มีคุณธรรม ก็ไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจประชาชนทั้งประเทศได้
คนญี่ปุ่น คนอังกฤษ เมื่อถึงคราวมีปัญหาเขาตัดสินกันที่อำนาจรัฐที่เป็นธรรม
ไม่มีใครไปพึ่งพิงสถาบัน สถาบันจึงอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง
พระองค์ท่านคือศูนย์รวมความรักความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ
และคือสัญลักษณ์ของชาติที่ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง
ถ้าเรายืนด้วยขาของตัวเองได้ 1 ประเทศ 1 ระบบ ก็จะเป็นจริง
โครงสร้างหรือทิศทางการบริหารประเทศต้องมีความแน่นอน
เพราะรัฐบาลมา 4 ปีแล้วก็ไป รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องบริหารต่อไป
ไม่ใช่ยึดที่ตัวบุคคลเหมือนของเรา เปลี่ยนรัฐบาลทีก็เปลี่ยนนโยบายที
แผนพัฒนาเศรษฐกิจเปลี่ยนกันทุก 2 ปี เมื่อไหร่เราจะพัฒนา
ประเทศต้องยึดหลักการปกครอง ไม่ใช่หลักตัวคน หรือหลักความชอบส่วนบุคคล
เพราะคนไม่คงที่ เปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา
ประเทศควรจะต้องยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่มองไกล คิดไกล
ต้องมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องจริงจังจึงจะเห็นผล
จขบ. :
ประเทศไทยจะก้าวไปถึงวันนั้นได้ไหม
แหล่งข่าว :
ได้ แต่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะอย่างเด็ดขาด
จขบ. :
ดูจากสภาพแล้ววันนั้นคงยังมาไม่ถึง
แหล่งข่าว :
ใช่ แต่คุณอย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษฝ่ายนั้นฝ่ายนี้
บอกได้เลยว่า ทุกคนมีส่วนผิดด้วยกันทั้งนั้น
เรายอมรับให้คนไม่ดีเข้ามาบริหารประเทศ
ผมไม่ได้หมายถึงรัฐบาลชุดไหนไม่ดีนะ
แต่หมายถึงคนที่คุณเลือก คุณเลือกคนดีหรือเปล่า
คุณเปิดโอกาสให้คนไม่ดีมีที่ยืนในสังคมหรือเปล่า
คุณไม่จำกัดพื้นที่ของคนไม่ดีใช่หรือไม่
ไม่เฉพาะนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ประชาชน
“ทุกคน”ผมใช้คำว่า”ทุกคน”ที่มีส่วนผิด
ลองคิดดูตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน
คุณเปิดโอกาสให้คนทำไม่ดีเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า
คุณเคยจ่ายเงินให้ตำรวจตอนทำผิดกฎจราจรบ้างไหม
คุณยอมเสียเงินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ได้ในบางสิ่งบางอย่างมาหรือไม่
คุณเอารัดเอาเปรียบ แสดงความเห็นแก่ตัวในการใช้ชีวิตประจำวันบ้างหรือเปล่า
ทุกวันนี้คุณรับรู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่คุณก็ยอมรับมัน
คุณรู้ว่านักการเมืองโกงกิน
แต่คุณบอกว่าคุณไม่มีทางเลือก คุณจึงจำเป็นต้องเลือก
นั่นแหละสังคมไทย แก้ได้อยู่ แต่จะใช้เวลานาน
อยู่ที่ตัวคุณ ตัวผม และทุกๆ คน
.
เราจบบทสนทนาลงเมื่อเย็นย่ำ
ระหว่างทางกลับบ้าน คิดเพลินๆ ย้อนกลับไปในห้วงเวลา 6-7 ปีมานี้
จะว่าไปสถานการณ์ต่างๆ มันดำเนินไปตามพัฒนาการของมัน
เกิดความขัดแย้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ จนแยกเป็น 2 ขั้วชัดเจน
มีปัจจัยอะไรต่างๆ แทรกเข้ามาตลอดเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้
นึกไปถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นๆ ทุกอย่างจะเป็นไปตามกลไกของมัน
เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันจะปรับสภาพตัวเองกลับ เช่น เวลาที่เงินฝืดถึงขีดสุด
มันจะเริ่มกลับมาสู่สภาวะเงินเฟ้อ ยามที่เกิดฟองสบู่มากๆ วันนึงมันจะแตก
จากรวยเปลี่ยนมาจน ความขัดแย้งในวันนี้ก็อาจเป็นเช่นเดียวกัน
เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันต้องมีทางออก เพียงแต่ไม่รู้จะไปออกทางไหนเท่านั้น
.
ชมพูภูคา