บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ใครจะรับรองว่า เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล แล้วจะไม่มีการแก้แค้น

สัมภาษณ์-ปาฐกถา ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ “ต้องปฏิวัฒนะ คือเปลี่ยนหลักการประเทศ”


       เปิดมุมมอง ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เชื่อประเทศไทยยังสงบยาก หากไม่ให้ที่ยืนแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เสนอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ปฏิวัฒนะ 4 ด้าน ซึ่งเป็นมากกว่าการปฏิรูป

       เคยผ่านสนามการเมืองใหญ่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.แบบอิสระไร้สังกัด “ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ในวันนี้มีมุมมองต่อการเมืองไทยในสภาพปัจจุบันว่ายังวนเวียนอยู่ในความขัดแย้ง
       แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ความขัดแย้งเหล่านั้นก็จะไม่หมดไป มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น...
       ดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า  สถานการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ระหว่งทุนเก่ากับทุนใหม่ ทุนที่เสียประโยชน์มาแย่งประเทศกัน โดยอ้างทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ประโยชน์ของตัวเอง สุดท้ายประเทศก็แหลกราน  ประชาชนถูกทำให้เลือกข้าง ประเทศเสียหายมาก และเชื่อว่าจะเสียหายต่อไปอีกหลายปี ถ้าไม่หาทางออกอย่างถูกต้อง อาจเสียหายถึง 10 ปี
       “หากยังเดินอย่างนี้ต่อไป จะนำไปสู่การขัดแย้งรุนแรงขึ้นในรอบต่อไป อาจเกิดสงครามกลางเมือง คนตายหลายพันคนก็ได้ ผมคิดว่าชีวิตประชาชนมีค่า ดังนั้นจึงไม่ควรคิดถึงแต่ตัวเอง อย่าปล่อยให้ประชาชนเป็นเหยื่อของความรุนแรง จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดินต่อ โดยสงบ สันติ ปรองดอง
       ผมคิดว่าเราต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อการดีขึ้นของประเทศ ไม่ใช่แค่คำว่าปฏิรูป ซึ่งแปลว่าเปลี่ยนรูป แต่ต้องเปลี่ยนหลักการประเทศใหม่ ซึ่งผมเรียกว่า “ปฏิวัฒนะ” เป็นเรื่องที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาดีขึ้น เจริญงอกงาม ด้วย 4 องค์ประกอบ
       ได้แก่ 1. ต้องปฏิสังขรณ์ เรื่องใหญ่ๆถ้าซ่อมแซมประเทศดีขึ้นได้ ก็เอาไปซ่อม  2. ปฏิรังสรรค์ บางเรื่องมีองค์ประกอบดีแต่ต่อกันผิด ก็เอามาต่อใหม่  3. ปฏิรูป บางอย่างหลักการถูก แต่รูปแบบผิด ก็ทำรูปให้ถูก แต่ดำรงหลักการเอาไว้  และ 4. ปฏิวัติ ถอนรากถอนโคน เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในบางเรื่อง แล้วสร้างระบบใหม่ ต้องเลือกให้ถูก อะไรอยู่ตรงไหน”

       ที่พูดกันตอนนี้ เป็นแต่รูปแบบภายนอก ไม่ใช่สาระที่แท้จริงซึ่งมีอีกมาก  เพราะประเทศจะอยู่ได้ ต้องมี “สมดุลวิถี” ต้องเข้าใจความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้าเราไม่สร้างสมดุล ยังทะเลาะกันไม่เลิก จะทำให้ประเทศ สงบ สันติ ได้อย่างไร
       ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุว่า สมดุลในทางการเมืองที่ต้องแก้ไข คือ 1. อำนาจที่ไม่สมดุล และ 2. เศรษฐกิจที่ไม่สมดุล มีความเหลื่อมล้ำมาก มีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ คนกลุ่มหนึ่งไม่มีที่ยืนในสังคม อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเราจัดระบบไม่ถูกต้อง มีการแยกข้างสู้กัน แบบหักหาญให้ตายกันไปข้างหนึ่ง
       “ขอย้อนกลับไปที่ผมบอกว่าเป็นการต่อสู้ของกลุ่มทุนก็คือ กลุ่มทุนเดิมผูกขาด ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เป็นทุนครอบงำ ทุกคนที่ได้ประโยชน์ต้องอยู่ในเครือข่ายหรือเป็น “ซับคอนแทรก” รายใหญ่ แต่พอทุนใหม่เกิดขึ้น ซึ่งผมขอเรียกว่าทุนคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งก็คือทุนสื่อสาร ในสังคมข้อมูลข่าวสาร  มาสู้กับทุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็คือคลื่นลูกที่ 2  เรียกว่าเป็นการปะทะกันที่รุนแรง แบ่งฝ่ายกัน เพราะทุนไปครอบงำทุกอย่าง เช่น การเมืองจะทำอะไรก็ใช้ทุน นำไปสู่ปรากฎการณ์ เมื่อ 2 ปีก่อน มีการแยกข้างชัดเจนใครได้ประโยชน์ก็จะกดคนที่เสียประโยชน์ คนเสียประโยชน์ก็จะสู้เต็มที่ ใครอยู่ในอำนาจก็จะใช้   อำนาจ ทำให้เกิดความแตกแยก เพราะสู้กันระหว่าง 2 ทุน 2 ซีก 2 สี 2 พรรค แยกข้าง 
       แม้แต่ข้าราชการ ที่ใครอยากเติบโตก็ต้องมีสังกัด ว่าจะอยู่พรรคไหน นักวิชาการก็ถูกดึงให้สนับสนุนข้างใดข้างหนึ่ง พูดเอียงข้างไปทางใดก็แล้วแต่ ใครเอาทุนวิจัยไปให้ หรือช่วยแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางบริหาร”

       ในส่วนของภาคประชาสังคม อำนาจรัฐก็เข้าไปช่วยเอ็นจีโอข้างตัวเอง เอาเงินไปแจกชุมชนทั้ง ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างก็ทำเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากภาคประชาชนให้เขามีการแยกข้าง สุดท้ายก็เกิดการแตกแยกอย่างหนัก ประชาชนแยกข้างจึงมีความรู้สึกร่วมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทะเลาะเข้าไปในความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง ถ้าแก้ไม่ถูกวิธี คนก็จะจับอาวุธมารบกัน ตายเป็นพันๆคน
       ดังนั้น ตอนนี้ก็คือทุกคนจะมองความเป็นธรรมจากมุมของตัวเอง แล้วมองอีกข้างว่าเป็นฝ่ายผิด เพราะคนส่วนหนึ่งเลือกข้างเรียบร้อยแล้ว เกิดพลังกลุ่ม เป็น “กรุ๊ปไดนามิก” มีอะไรมาเป็นชนวน ก็จะเกิดการ “สปาร์ค” ได้ทันที นิดเดียวก็จะลุกลาม จะไม่ใช้เหตุผลแต่ใช้กำลัง สุดท้ายก็บานปลาย เพราะอาวุธมีอยู่เต็มประเทศ ซื้อหาง่าย อาวุธสมัยคอมมิวนิสต์ ก็ซ่อนอยู่เต็มไปหมด ประเทศไทยก็จะเจอสภาพที่ทุกฝ่ายมีกำลังอาวุธกันหมด และเมื่อไม่เป็นธรรม ก็ตีกัน ฆ่ากัน ถ้ายังไม่แก้ไขให้ถูก
       “ทางออกก็คือ ถ้าคำนึงถึงแต่ความสงบ อาจเกิดการปราบปรามให้ราบคาบ ซึ่งทำไม่ได้เพราะความแตกแยกลงลึก จะปราบไม่ได้ เพราะคนเยอะมาก ถ้าสู้ไม่ได้เขาก็ลงใต้ดิน  ไม่ช้าก็จะนำไปสู่การแยกประเทศ สหประชาชาติก็จะเข้ามา กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศและนานาชาติ จะเอาประโยชน์จากความแตกแยกนี้” 

       ไม่เพียงเท่านั้น อีกส่วนจะคิดว่า ขอชนะเลือกตั้งให้ราบราบ เมื่อมีอำนาจรัฐก็จะจัดการอีกข้าง ซึ่งไม่สำเร็จแน่นอน เพราะจะพบกับสภาพ “เป็นรัฐบาลได้ แต่ปกครองไม่ได้” เมื่อประชาชนจำนวนมาก รู้สึกอึดอัด ไม่เป็นธรรม แม้ตั้งรัฐบาลจะเป็นรัฐปกครองที่ล้มเหลวที่สุด คนไม่เชื่อกฎหมาย ไม่ยอมรับใช้กฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ไม่มีทางสงบ
       “เพราะเวลาคุณชนะเลือกตั้ง อีกฝ่ายก็จะบอกว่าเอาเปรียบ คุณโกง ส่วนอีกข้างก็จะบอกว่า อีกฝ่ายซื้อเสียง และถ้ามีการยุบพรรคอีกก็จะมีการลุกฮือ ใครมาเป็นรัฐบาลอีกข้างก็จะก่อกวน ปกครองไม่ได้ ปัญหายิ่งหนักขึ้นกว่าเก่า
       ผมมองว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งผมก็รักประชาธิปไตยและสนับสนุนการเลือกตั้ง  แต่เราอาจคิดผิด ที่คิดว่าเลือกตั้งแล้วจะจบ เพราะหลังจากนั้นจะมีข้อท้วงติงตลอดเวลา ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นที่ยอมรับ ถ้าชนะไม่เด็ดขาด ก็จะถูกชี้หน้าด่า การตั้งรัฐบาลก็จะลำบาก ถ้าได้ที่ 2 แล้วตั้งรัฐบาล คนได้ที่ 1 ก็ไม่ยอม ถ้าได้ที่ 1 แล้วตั้งรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะเจาะยาง ให้ถอนอำนาจปกครองออกให้ได้ เลือกตั้งแล้วก็กลับมาสู่ที่เดิม ยังเป็นวงจรเดิมไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข”

       ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกว่ามีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องการวิธีคิดแบบอยู่ร่วมกัน ใจต้องเป็นเอกภาพจริงๆ มีน้ำใจต่อกัน ที่ผ่านมาใช้คำว่าปรองดอง ถามว่าแปลว่าอะไร แปลว่าอดทนต่อไปใช่หรือไม่ แล้วอีกนานแค่ไหน  แต่ถ้าให้ทุกคนมีที่ยืน และสร้างสมดุลวิถี ให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ต้องทำให้คนรู้สึกเต็มใจ คิดว่าการต่อสู้คือการเอาชนะกันทางความคิด ไม่ใช่ใช้กำลัง ซึ่งไม่มีทางได้ข้อยุติ  ต้องให้ คนใช้เหตุและผล แต่ปัจจุบันเรายังเป็นสังคมที่ชอบอำนาจดิบเรื่อยๆ สิ่งที่ถูกต้องไม่เอา เราชอบทุบโต๊ะ ข้าจะเอาอย่างนี้
       ส่วนคนที่เป็นกลางก็ไม่กลางจริง กลางที่เห็นคือเงียบกริบ ไม่ทำอะไร คือกลางสละสิทธิความคิด สละสิทธิทางการเมือง ไม่มีจุดยืน เกียร์ว่าง อะไรก็ได้ ทั้งที่จริงๆแล้ว คนเป็นกลางก็ต้องมีจุดยืนที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

       ... นี่คือมุมมองของนักวิชาการ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองในช่วงวิกฤตรุนแรงมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์จนมุม ทุกคนต่างต้องการเห็นทางออก ซึ่งคนที่อยู่ในอำนาจไม่ว่าฝ่ายใดก็ควรตระหนักรับฟัง

การปฏิรูปประเทศไทย โดย นายแพทย์ประเวศ วะสี

การปฏิรูปประเทศไทย 
โดย นายแพทย์ประเวศ วะสี

๑. ไม่มีรัฐบาลใดแก้ปัญหาประเทศได้ (เพราะใช้แต่กลไกที่เป็นทางการ)

สังคม ไทยติดอยู่ในมายาคติ ๔-๕ อย่างที่ทอนพลังและทำลายตัวเอง มายาคติอย่างหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับความเป็นทางการมากเกินไป ที่จริงความไม่เป็นทางการมีมาก่อน ใหญ่กว่า และมีสาระมากกว่าความเป็นทางการ ภาษาอังกฤษว่า Formal ก็ติดใน Form หรือรูปแบบมากกว่าสาระ
โครงสร้างแท่ง (รูป ก.) จะใช้อำนาจมากกว่าปัญญา เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนและยาก การพัฒนาด้วยอำนาจจะไม่สำเร็จ หากทำงานด้วยโครงสร้างนี้จะไม่สำเร็จต่อการแก้ไขปัญหา เพราะทุกรัฐบาลมุ่งแต่ใช้กลไกที่เป็นทางการ
โครงสร้างแท่ง (รูป ข.) การอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในแต่ละพื้นที่มีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบันต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างอยู่เพราะความเป็นทางการ หากบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะเกิดอิทธิพลังแห่งความสำเร็จ (รูป ข.)

การบริหารจัดการใหม่ คือ การส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ องค์กร และทุกเรื่อง เกิดเป็นเครือข่ายของความร่วมมือร่วมใจของคนไทยเต็มประเทศ เพื่อจะลดพลังทางลบเพิ่มพลังทางบวก พาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ไปสู่การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่ สุด จากทรัพยากรต่างๆ ที่มากเกินพอจะสร้างความสุขให้คนไทยทุกคน


๒. ความฝันใหญ่ของคนไทยร่วมกัน
การสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ ที่สุดในโลก ถือว่าเป็นจิตนาการที่ใหญ่ ประเทศใดหรือองค์กรใดมีจิตนาการใหญ่ ประเทศนั้นองค์กรนั้นจะมีพลังมหาศาลในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นจริง การทำอะไรให้มีพลังไม่ใช่เริ่มต้นที่ความรู้ เพราะความรู้มักจะมีข้อจำกัดที่ทอนพลัง “ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ไม่ได้” จินตนาการ ใหญ่ที่ไม่มีข้อจำกัดจึงเพิ่มพลัง โดยการที่คนไทยต้องมีการจินตนาการใหญ่ร่วมกันว่า เราจะร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

๓. ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเป็นอย่างไร

ควร มีการระดมความคิดกันทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ว่าหมู่บ้านน่าอยู่เป็นอย่างไร ท้องถิ่นน่าอยู่เป็นอย่างไร จังหวัดน่าอยู่เป็นอย่างไร และประเทศน่าอยู่เป็นอย่างไร แทนที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเป็นผู้นิยามว่าประเทศน่าอยู่ ที่สุดเป็นอย่างไร คนไทยทั้งหมดจะเป็นผู้นิยาม ในกระบวนการนี้จะเป็นการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม ซึ่งจะเกิดพลังขับเคลื่อนมหาศาล
ตัวอย่างองค์ประกอบของการเป็นประเทศน่าอยู่
(๑) มีเศรษฐกิจดี ประชาชนมีสัมมาชีพอย่างถ้วนหน้าและมั่นคง
(๒) มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไมตรีจิต ไม่ทอดทิ้งกัน
(๓) มีสันติประชาธรรม ที่มีการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน มีความเป็นธรรม
(๔) มีสิ่งแวดล้อมดี ที่เกื้อกูลต่อชีวิต
(๕) มี สสส. คือ สุนทรียธรรม สันติภาพ และสุขภาพ
ทั้ง ๕ รวมกันอาจเรียกว่าเบญจลักษณ์ของการเป็นหมู่บ้านน่าอยู่ ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดน่าอยู่ ประเทศน่าอยู่เบญจลักษณ์ดังกล่าวอาจเป็นโครงให้เพิ่มเติม ตกแต่ง ต่อเติม อย่างใดก็ได้ตามปรารถนาของแต่ละกลุ่ม

๔. การพัฒนาอย่างบูรณาการ

โดย เอาพื้นที่เป็นตัวตั้งการจะเป็นประเทศน่าอยู่ ต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ๘ เรื่องเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย ซึ่งอาจเรียกว่า “บูรณาการ ๘”
การพัฒนาอย่างบูรณาการ เอากรมหรือหน่วยงานเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะกรมหรือหน่วยงานแยกเป็นเรื่องๆ ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เรามีตัวอย่างของหมู่บ้านและตำบลที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ แล้วเกิดความร่มเย็นเป็นสุขประดุจสวรรค์บนดิน ควรส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้าน ทุกท้องถิ่น และทุกจังหวัด สามารถรวมตัวกันพัฒนาอย่างบูรณาการจนเกิดสภาวะร่มเย็นเป็นสุขเต็มพื้นที่
ถ้ามหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งร่วมมือกับจังหวัด หนึ่งจังหวัดในการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัดภายใน ๕ ปี ทุกชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็ง ภายใน ๑๐ ปี บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ภาคธุรกิจมีโครงสร้างอย่างกว้างขวางและบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก หากภาคธุรกิจรวมตัวกันและทำงานพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบ จะเป็นพลังมหาศาลในการสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ภาคธุรกิจน่าจะรวมตัวกันเป็น “สภานักธุรกิจเพื่อการพัฒนา” (Business Council for Development) เชื่อมโยงกับองค์กรทางธุรกิจที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น และทั้งจังหวัด ปัญหาต่างๆ ต่อให้ยากเพียงใดไม่น่าจะทานพลังแห่งความร่วมมือของคนไทยได้

๕. ปฏิรูปประเทศไทยอย่างน้อย ๑๐ เรื่อง

นอก จากการพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ยังมีเรื่องหรือประเด็นใหญ่ที่ต้องการปฏิรูปอีกหลายเรื่อง เรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน จะปฏิรูปแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ปฏิรูปการเมือง จะไม่สำเร็จ เครื่องดนตรีทั้งวงต้องบรรเลงเพลงเดียวกัน รูปข้างล่างแสดงประเด็นใหญ่ๆ ๑๐ เรื่อง ที่เชื่อมโยงกัน แต่ละเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ยากและยังแตกแขนง แยกย่อยไปได้อีก ควรมีบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน ที่จับประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือมากกว่าศึกษาค้นคว้า ให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ

ความจริงมหาวิทยาลัยต่างๆ มีอาจารย์และนักวิชาการจำนวนมาก ควรจะเป็นขุมกำลังของการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย การที่มหาวิทยาลัยไม่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพราะมหาวิทยาลัยทำ งานโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ขาดการรวมตัวกันทำงานเชิงประเด็น นอกจากโครงสร้างที่เป็นคณะวิชา ภาควิชา สาขาวิชา มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิชาการรวมตัวกันข้ามองค์กร ข้ามสาขาวิชา ตามประเด็น เช่น ที่ยกตัวอย่างมา ๑๐ เรื่อง หรือประเด็นอื่นใดที่คิดว่ามีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และเกาะติดประเด็นนั้นๆ ส่งต่อความรู้ไปให้สังคมเคลื่อนไหวไปสู่ความสำเร็จ

๖. เครือข่ายปฏิรูป

ประเทศ ไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศ(บุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน) ในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดนี้ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งจะทำได้สำเร็จ แต่บุคคล กลุ่มบุคคลองค์กร สถาบันต่างๆ สามารถคิดโดยอิสระ เคลื่อนไหวเข้ามาเชื่อมโยงด้วยมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ใหญ่ร่วมกัน คือ เปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปประเทศไทยในที่สุด จะเกิดเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งประเทศเป็นพลังขับเคลื่อน ประเทศไทยไปสู่จุดลงตัวใหม่ด้วยพลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ และพลังทางสันติวิธี ที่ทุกคนเป็นอิสระ สร้างสรรค์เต็มที่ ไม่มีใครหรือองค์กรใดมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนทุกกลุ่มเข้ามาเชื่อมโยงกันด้วยความสมัครใจและความสุขในการได้เรียนรู้ ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

๗. เซลล์สมองทางสังคม ศูนย์ข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ความจริงในแต่ละพื้นที่มีบุคคล องค์กร สถาบันจำนวนมาก ที่ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ไม่มีพลังสร้างสรรค์เกิดขึ้น ดัง (รูป ก.) ที่เหมือนสังคมไม่มีเซลล์สมอง และรูป (ข.) แสดงเซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน  ทำให้เกิดพลั งสร้างสรรค์ไปสู่ความสำเร็จ
เซลล์สมองทางสังคมทำหน้าที่ ๖ อย่าง คือ
(๑) สำรวจข้อมูลในพื้นที่
(๒) ส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ
(๓) มีการจัดการความรู้ คือดึงความรู้จากการปฏิบัติเก่าที่มีอยู่ในตัวคนออกมาใช้
(๔) วิจัยสร้างความรู้ใหม่ที่ต้องการใช้งาน
(๕) สังเคราะห์ประเด็นนโยบายที่เกิดขึ้น
(๖) ทำการสื่อสารทั้งในพื้นที่และกับภายนอก
หน่วยงานที่ทำหน้าที่เซลล์สมองอาจเป็นองค์กร ที่มีอยู่แล้ว เช่น อบต. โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ อยู่ที่การปรับตัวให้ทำหน้าที่ครบทั้ง 6 ประการ นักพัฒนาเอกชนสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเซลล์สมองทางสังคม
มหาวิทยาลัยควรเป็นเซลล์สมองขนาดใหญ่ ถ้ามีเซลล์สมองน้อยใหญ่ทำงานเชื่อมโยงกันเต็มประเทศ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนจากการเป็นสังคมอำนาจ ไม่มีเซลล์สมอง ซึ่งไม่ได้ผล ไปเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมที่มีเซลล์สมอง เกิดผลสัมฤทธิ์สูง สามารถสร้างสังคมที่คนไทยทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความสุขได้
ควรมีศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เพื่อรวบรวมและกระจายข้อมูลข่าวสารให้รู้กันทั่วใคร ที่ไหนกำลังทำอะไร เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็สามารถเป็นศูนย์ข้อมูลข่าว สารปฏิรูปประเทศไทย ศูนย์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
เพื่อคนไทยครับ ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการณ์ที่ยากที่สุดๆ ไม่มีใคร องค์กรใด สถาบันใด หรือรัฐบาลใด สามารถแก้ไขได้ นอกจากคนไทย กลุ่ม องค์กร สถาบัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีวิธีการทำงานอย่างเป็นระบบที่ไม่ได้ใช้อำนาจ แต่ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือปัญญา เป็นเครื่องมือ เกิดพลัง 4 คือ พลังทางสังคม พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ พลังแห่งสันติวิธี ซึ่งเป็นอิทธิพลังหรือพลังแห่งความสำเร็จ ปฏิรูปประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่ร่มเย็นเป็นสุข หรือประเทศที่น่าอยู่ที่สุด

Animal Farm กับการเมืองไทย โดย พิณ พัฒนา


โดย พิณ พัฒนา
หมายเหตุก่อนอ่าน : งานเขียนชิ้นนี้ ได้พูดถึงวรรณกรรมเทพนิยายเรื่อง Animal Farm  โดย ได้เล่าสาระของเรื่องไว้ด้วย หากผู้ใดยังไม่เคยอ่านหรือดู และตั้งใจว่าจะอ่านหรือดูล่ะก็ การอ่านงานเขียนชิ้นนี้อาจมีผลหรือไม่มีผลต่ออรรถรสในการเสพ Animal Farm อันนี้มิทราบได้ ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบ
 
 
 
 
 
 
โจมตีฝ่ายขวา แต่ก็ไม่ได้ยกย่องฝ่ายซ้าย เป็นทัศนะของจอร์จ  ออร์เวลที่ปรากฏในหนังสือ Why I Write (1947)
 
จอร์จ ออร์เวล (1903-1950) เป็นนักประพันธ์ชาวอังกฤษที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางต่ำ เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตในสังคมชนชั้นที่หลากหลาย เช่น เรียนหนังสือในโรงเรียนของชนชั้นสูง รับราชการเป็นตำรวจซึ่งไปประจำการอยู่ในพม่า ใช้ชีวิตอย่างคนจรจัด ทำงานใช้แรงงาน สอนหนังสือ เป็นนักข่าว เขาเปลี่ยนงานไปมา และนั่นก็ทำให้เขาสัมผัสการกดขี่ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
 
ในช่วงที่เป็นนักข่าวนี้เอง เขาเขียนนวนิยายเรื่อง Animal Farm (1945) เป็น นวนิยายแนวเสียดสีการเมืองเผด็จการแบบสหภาพรัสเซีย ที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ และด้วยความหวาดกลัวในเผด็จการคอมมิวนิสต์ ทำให้เรื่องแอนิมอลฟาร์มนี้ ยังกลายเป็นหนังสือบังคับอ่านของนักเรียนมัธยมในหลายๆ ประเทศ
 
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้หยิบบทละครเรื่อง แอนนิมอลฟาร์ม... การเมืองเรื่องเศร้า ขึ้นมาแสดงอีก
 
 
แอนิมอลฟาร์ม เล่าเรื่องราวของ แมนเนอร์ฟาร์ม ที่นายโจนส์เป็นเจ้าของ ในฟาร์ม มี หมู ม้า แกะ ไก่ หมา ลา
 
ค่ำ คืนหนึ่ง เฒ่าเมเจอร์ หมูเก่าแก่ที่สัตว์ทุกตัวนับถือ ได้ปลุกอุดมการณ์ของเหล่าสัตว์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่บริโภคโดยไม่ผลิต ทั้งยังกดขี่สัตว์ให้ทำงานแลกกับส่วนแบ่งอันน้อยนิด แล้วก็กอบโกยผลผลิตไปแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก็ได้ผล สัตว์ทั้งหมดร่วมกันก่อการปฏิวัติ
 
"จง จำไว้ว่าอุดมการณ์ของเจ้าจะต้องไม่หยุดชะงัก ไม่มีการตกลงใดๆ ที่จะทำให้เจ้าหลงทาง อย่าฟัง หากมีมันคนใดกล่าวว่ามนุษย์และสัตว์มีผลประโยชน์ร่วมกัน" เฒ่าเมเจอร์ กล่าว ก่อนจะตายจากไปด้วยความชรา
 
สัตว์ทุกตัวซึมซับอุดมการณ์เหล่านั้น และต่างมีเป้าหมายของการปฏิวัติตรงกันคือ เพื่ออิสรภาพ
 
 
ชนชั้น ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง
 
เหล่าหมู ซึ่งถือกันว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในบรรดาสรรพสัตว์ที่มีอยู่ ได้จัดระบบความคิดตามคำสอนของเฒ่าเมเจอร์ออกมาเป็น ลัทธิสัตว์นิยม หมูเหล่านี้ ได้แก่
 
นโปเลียน - - เป็นหมูที่ไม่ค่อยพูด ดูเป็นตัวของตัวเอง
สโนว์บอล - - หมูคล่องแคล่ว สร้างสรรค์
สเควลเลอร์ - - ปราดเปรื่องในการพูด ถนัดเบี่ยงประเด็น ทำดำให้เป็นขาว
 
แนวคิดแบบสัตว์นิยมก่อร่างขึ้น แต่ก็เกิดคำถามที่ท้าทายสวนทางกับจิตวิญญาณของสัตว์นิยม สัตว์บางตัวพูดถึง ความภักดีต่อ เจ้านาย ผู้ให้อาหาร โดยเฉพาะเจ้าม้ามอลลี่ที่ถามว่า เมื่อปฏิวัติแล้วจะมีน้ำตาลก้อนกินไหม แล้วจะมีริบบิ้นผูกคอไหม
 
คำตอบ ที่มอลลี่ได้ก็คือ สัตว์ไม่มีเครื่องมือสำหรับทำน้ำตาลก้อน และน้ำตาลก้อนจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะสัตว์จะได้ครอบครองข้าวโอ้ตและฟางทั้งหมด และริบบิ้นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทาส
 
มอลลี่เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยสบายใจ
           
 
แล้ว การปฏิวัติก็สำเร็จ นายโจนส์ถูกเหล่าสัตว์ขับไล่ออกไป แมนเนอร์ฟาร์มถูกเปลี่ยนชื่อเป็นแอนิมอลฟาร์ม โดยพวกหมูสรุปหลักการแนวคิดแบบลัทธิสัตว์นิยม ออกมาเป็นบัญญัติเจ็ดประการ คือ
 
อะไรก็ตามที่เดินด้วยสองขาคือศัตรู
อะไรก็ตามที่เดินด้วยสี่ขาหรือมีปีกคือมิตร
สัตว์จะต้องไม่สวมเสื้อผ้า
สัตว์จะต้องไม่นอนบนเตียง
สัตว์จะต้องไม่ดื่มเหล้า
สัตว์จะต้องไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันเอง
สัตว์ทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน
 
สัตว์ ทุกตัวต้องเรียนวิธีอ่านและเขียน แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่สามารถอ่านและเขียนได้คล่องแคล่ว บัญญัติเจ็ดประการจึงถูกย่อลงสั้นๆ เหลือคติพจน์ที่ว่า สี่ขาดี สองขาเลว
 
ภายใน ฟาร์มเปลี่ยนระบบการปกครองใหม่ สโนว์บอลประกาศว่า "เก็บเกี่ยวให้เร็วกว่าที่โจนส์และลูกน้องของมันเคยทำไว้" ส่วนนโปเลียนรับหน้าที่ดูแลผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว และยังแอบเอาลูกหมาที่เพิ่งคลอดไปเลี้ยงเอาไว้เอง ๙ ตัว
 
สัตว์ทุกตัวขยันขันแข็งในการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเจ้าม้าบ็อกเซอร์ ที่พูดอยู่เสมอว่า ข้าจะทำงานให้หนักขึ้น
 
 
พวกพ้อง
 
หมู ซึ่งถือกันว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุด ทำหน้าที่ควบคุมกำกับสัตว์อื่นๆ ไปโดยปริยาย สโนว์บอล ซึ่งพูดเก่ง มักได้ชัยชนะจากเสียงส่วนใหญ่หลังมีการอภิปราย ส่วนนโปเลียน เชี่ยวชาญในการหาเสียงระหว่างพักการประชุม โดยเฉพาะเสียงจากพวกแกะ พวกแกะเหล่านี้ ชอบร้องประสานเสียงกันว่า สี่ขาดี สองขาเลว โดยไม่ได้ดูกาลเทศะ และมักร้องตอนสโนว์บอลอภิปรายเสมอ
 
 
การคอรัปชั่น  เบี่ยงประเด็น
 
แล้ว ความจริงก็ถูกเปิดเผย จากข้อตกลงเดิมที่ว่า ผลผลิตทั้งหลายจะได้รับการปันส่วนแก่ทุกตัวเท่าๆ กัน แต่ก็พบว่าน้ำนมและแอปเปิ้ล ถูกลำเลียงไปเก็บที่ห้องของพวกหมู
 
สเควลเลอร์ จึงต้องออกมาทำหน้าที่สื่อสารกับสัตว์ทุกตัวว่า อ๊ะ อย่าคิดว่าพวกหมูกำลังทำในสิ่งที่เห็นแก่ตัวและมีอภิสิทธิ์นะ หมูน่ะ ไม่ได้ชอบนมและแอปเปิ้ลหรอก แต่เราเหล่าหมูเป็นสัตว์ที่ต้องใช้สมอง จำเป็นต้องรักษาสุขภาพของตนเอง เพราะคงไม่มีใครอยากให้นายโจนส์กลับมาหรอกใช่ไหม
 
เพียงแค่พูดชื่อนายโจนส์ สัตว์ทุกตัวก็หัวหดและยอมรับโดยปริยายว่า น้ำนมและแอปเปิ้ล จะสงวนไว้เพื่อพวกหมูเท่านั้น
 
 
 
ข่มขวัญ หลอกลวง
 
ความ ขัดแย้งครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อสโนว์บอลเสนอในที่ประชุมว่า แอนิมอลฟาร์ม ควรจะสร้างกังหันลมเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าทดแทนแรงงานสัตว์และให้พลังงานแก่ เครื่องทำความอบอุ่นในหน้าหนาว แต่นั่นต้องใช้แรงงานสร้าง 1 ปี ซึ่งหลังจากมีกังหันลมแล้ว สัตว์ทุกตัวจะสบายขึ้น และทำงานน้อยลงเหลือเพียง 3 วันต่อสัปดาห์
 
เมื่อสโนว์บอลอภิปราย นโปเลียนนิ่งเงียบไม่เสนอแผนการใดๆ แต่มักพูดว่า สิ่งที่สโนว์บอลทำจะต้องล้มเหลว
 
เหล่าสัตว์พูดกันว่า สนับสนุนสโนว์บอล สามวันต่อสัปดาห์ , “สนับสนุนนโปเลียน อาหารเต็มราง
 
เจ้าลา เบนจามิน เป็นตัวเดียวที่ดูนิ่งเฉย ไม่อยู่ฝ่ายใด มันไม่เชื่อว่าจะมีอาหารสมบูรณ์กว่าเดิม ไม่เชื่อว่ากังหันลมจะลดเวลาทำงานได้ ไม่ว่าทางไหน ชีวิตก็ต้องดำเนินอย่างเคย คือ ทุกข์ยากลำเค็ญ
 
เบนจามินไม่ค่อยคุยกับใคร ดูเหมือนจะมีแต่บ็อกเซอร์ ผู้ซึ่งพูดเสมอว่าข้าจะทำงานให้หนักขึ้น เพียงตัวเดียวที่เบนจามินนับถือ
 
เมื่อถึงวันลงคะแนนเสียงเรื่องสร้างกังหันลม สโนว์บอลก็ลุกขึ้นอภิปรายด้วยคำพูดสวยหรู นโปเลียนอภิปรายกลับโดยใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาทีด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาว่า กังหันลมเป็นเรื่องเหลวไหล
 
แล้วนโปเลียนก็ยืนขึ้น เรียกหมาทั้ง 9 ตัวที่แอบเลี้ยงเอาไว้ ออกมาไล่งับสโนว์บอล จนสโนว์บอลต้องหนีออกไปจากแอนิมอลฟาร์ม ไม่ได้กลับมาอีกเลย
 
 
เสแสร้ง สร้างภาพ กดขี่ หลอกลวง
 
เมื่อ สโนว์บอลจากไป นโปเลียนประกาศยกเลิกการประชุมทุกวันอาทิตย์ ยกให้ปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในฟาร์มเป็นหน้าที่คณะกรรมการหมู คณะพิเศษ ที่มีนโปเลียนเป็นประธาน
 
สเควลเลอร์ ก็ออกมาทำหน้าที่อีกครั้ง โดยการบอกว่า คงไม่มีใครคิดหรอกนะว่า การเป็นผู้นำเป็นเรื่องสนุกสนาน ในทางตรงกันข้าม มันเป็นความรับผิดชอบที่ลึกซึ้งและหนักอึ้ง
 
"ไม่ มีสหายตัวไหนที่จะมีความเชื่ออย่างหนักแน่นกว่าสหายนโปเลียนอีกแล้วที่ว่า สัตว์ทุกตัวมีความเสมอภาคกัน สหายนโปเลียนจะมีความสุขมากหากพวกเจ้าจะสามารถตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวพวกเจ้าเอง แต่เพราะบางครั้งพวกเจ้าอาจจะตัดสินใจผิดพลาด"
 
"ความ กล้าหาญยังเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ความภักดีและความเชื่อฟังเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า การก้าวเดินที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ศัตรูมีชัยเหนือเรา แน่นอน คงไม่มีใครอยากให้นายโจนส์กลับมา"
 
 
ข่มขู่ หลอกใช้ เอารัดเอาเปรียบ
 
และแล้ว โครงการสร้างกังหันลมก็ดำเนินต่อไป กำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และสัตว์ทุกตัวจะได้รับส่วนแบ่งอาหารที่ลดลง
 
คำพูดของสเควลเลอร์อาจจะไม่ได้ทำให้สัตว์ทุกตัวเข้าใจได้ แต่เสียงขู่ของสุนัขก็ทำให้สัตว์ทุกตัวยอมรับไปโดยปริยาย
 
แล้วพวกหมู ก็ย้ายจากเล้าไปอยู่ในบ้าน
 
โคลเวอร์ ม้าอีกตัวซึ่งรู้สึกได้ว่าตัวเองไม่สบายใจต่อการเปลี่ยนแปลงก็อึดอัด มันอ่านหนังสือไม่แตก แต่ก็พอจำได้ว่า การนอนบนเตียงผิดเพี้ยนไปจากบัญญัติ 7 ประการกล่าวไว้ ได้แต่รำพึงกับเบนจามิน ซึ่งดูไม่เห็นด้วยและไม่แยแสกับอะไรเลย เหล่าสัตว์มาค้นพบภายหลังว่า  บัญญัติถูกแก้เป็น
 
สัตว์จะไม่นอนบนเตียง พร้อมสิ่งปกคลุม
 
แอ นิมอลฟาร์ม เริ่มค้าขายแลกเปลี่ยนกับมนุษย์ ไข่ถูกนำไปขาย มันผิดความรู้สึกของแม่ไก่ ที่ถือว่าการพรากไข่ไปถือเป็นการฆาตกรรม ไก่จึงต่อต้านด้วยการปีนไปที่จันทันแล้วออกทิ้งไข่ลงบนพื้น ผลที่แม่ไก่ได้รับคือ ถูกลงโทษไม่ให้รับส่วนแบ่งอาหาร ทำให้แม่ไก่ 5 ตัวต้องตายไป
 
 
ปั่นกระแส ปั้นเรื่อง แปลงสาร สาดโคลน ใส่ความ อุ้มฆ่า และตัดตอน
 
ตลอด เวลาในแอนิมอลฟาร์ม แม้สโนว์บอลจะจากไปแล้ว แต่มีข่าวลือเสมอๆ ว่า สิ่งที่ผิดปกติล้วนเป็นฝีมือของสโนว์บอล สโนว์บอลกลายเป็นอิทธิพลมืดที่ครอบงำให้ทั้งฟาร์มอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว มีการปล่อยข่าวว่าสโนว์บอลกำลังวางแผนล้มล้างแอนิมอลฟาร์ม
 
สัตว์หลายตัวในแอนิมอลฟาร์ม ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้าย เพียงเพราะรับสารภาพว่า ฝันถึงสโนว์บอล
 
เวลานี้ บัญญัติ 7 ประการ ได้ถูกทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
 
สัตว์จะต้องไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันเอง โดยไร้เหตุผล
สัตว์จะต้องไม่ดื่มเหล้า มากเกินไป
 
 
โปรยยาหอม ลวงให้หลง
 
เวลาผ่านไป ยุคของนายโจนส์หายไปจากความทรงจำแล้ว เหล่าสัตว์รู้แต่ว่าชีวิตปัจจุบันนั้น ลำเค็ญ พวกมันหิวและหนาว
 
สิ่ง ที่ทำให้มันยังอยู่ได้ก็คือ ศักดิ์ศรีในความรู้สึกของพวกมัน แต่ก่อนพวกมันเป็นทาส แต่เดี๋ยวนี้เป็นอิสระ เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีมากกว่าที่เคยมีมาก่อน
 
บอก เซอร์ ผู้มีคติประจำใจว่า ข้าจะทำงานให้หนักขึ้น ก็ทำงานจนล้มป่วยลงไป นโปเลียนแสดงความเป็นห่วงจึงบอกว่าจะพาไปโรงพยาบาล แต่แท้จริงแล้ว ส่งไปโรงฆ่าสัตว์ ได้เงินมาซื้อเหล้าให้กลุ่มท่านผู้นำในฟาร์ม
 
สเควลเลอร์ จะคอยบอกสถิติตัวเลขของผลผลิตให้เหล่าสัตว์รับรู้เสมอว่า มีปริมาณอาหารที่เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอย่างไร ซึ่งพวกสัตว์ก็ได้แต่รับรู้ แต่ไม่เคยรู้ว่า ผลผลิตนั้นหายไปไหน และเมื่อเทียบกับยุคของนายโจนส์ มีผลผลิตเท่าไร
 
 
ท้ายที่สุด เหล่าหมูก็ลุกขึ้นยืนด้วยขาหลังสองขา พวกแกะที่เคยพร่ำร้องว่า สี่ขาดี สองขาเลว ก็เปลี่ยนมาร้องว่า สี่ขาดี สองขาดีกว่า
 
บัญญัติได้ถูกทำให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น ว่า
 
สัตว์ทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวมีความเท่าเทียมมากกว่าสัตว์อื่นๆ
 
ฉาก สุดท้ายของแอนิมอลฟาร์ม เป็นฉากที่มนุษย์เข้ามาในแอนิมอลฟาร์มตามคำเชิญของท่านผู้นำนโปเลียน เพื่อยืนยันว่า สัตว์และมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน และแสดงให้มนุษย์ดูเป็นตัวอย่างว่า ที่แอนิมอลฟาร์มนี้ สัตว์ชั้นต่ำทำงานได้มากกว่า ขณะที่รับอาหารน้อยสุด จนเป็นที่เลื่องลือไปว่า แอนนิมอลฟาร์มมีการปันส่วนที่ต่ำ และเวลาทำงานยาวขึ้น
 
 
เดาแทนใจหลายคนว่า ขณะที่ได้อ่านหรือดูเรื่องแอนิมอลฟาร์ม คงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวละครต่างๆ ว่าเป็นดั่งใครในเวทีการเมือง
 
แต่ เราก็พบว่า บุคลิกของตัวละครต่างๆ พบเห็นได้กับทุกยุคสมัย แต่ไม่ชัดเจน ตายตัว มีความลื่นไหล แถมยังมีพัฒนาการที่ซับซ้อนแยบยลขึ้นอีกด้วย เพียงแต่อารมณ์ในตอนนี้ อาจพาใจให้คิดไปว่ามันช่างคล้าย...
 
เดาว่า จอร์จ  ออ ร์เวลคงมิได้คิดจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบบใดๆ ตัวเขายึดมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ไม่มีระบบชนชั้น ไม่เชื่อในบทบาทของรัฐ และไม่เชื่อในระบบทุนนิยม สิ่งที่แอนิมอลฟาร์มจะบอก จึงไม่ใช่การหนีจากระบอบการปกครองแบบใด แต่หลีกหนีจากการกดขี่ของมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน และชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่ต่อสู้กันระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูก ปกครอง
 
ออร์เวลไม่ได้เสนอทางออกใดๆ ให้แก่เหล่าสัตว์ แต่ดูเหมือนเขาจะบอกว่า การปฏิวัติไม่ได้นำไปสู่การปลดปล่อยที่ ยั่งยืน
 
และเขาทำให้เรารู้ด้วยว่า พล็อตบางพล็อต มันก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก            
 
คำถามท้าทายที่คณะผู้จัดละคร ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ถามคนดู คือ คุณคิดว่า คุณคือใครในแอนิมอลฟาร์ม
 
นโปเลียน               - - เป็นหมูที่ไม่ค่อยพูด ดูเป็นตัวของตัวเอง
สโนว์บอล              - - หมูคล่องแคล่ว สร้างสรรค์
สเควลเลอร์            - - ปราดเปรื่องในการพูด ถนัดเบี่ยงประเด็น ทำดำให้เป็นขาว
เจ้าม้ามอลลี่           - - "ปฏิวัติแล้วจะยังมีน้ำตาลก้อนกินไหม"
เจ้าม้าบ็อกเซอร์       - - ข้าจะทำงานให้หนักขึ้น
พวกแกะ                - -  ชอบร้องประสานเสียงกันว่า "สี่ขาดี สองขาเลว" โดยไม่ได้ดูกาลเทศะ
เจ้าลา เบนจามิน      - - นิ่งเฉย ไม่อยู่ฝ่ายใด ไม่เชื่อว่าจะมีอาหารสมบูรณ์ ไม่เชื่อว่าจะเหนื่อยน้อยลง ชีวิตก็ต้องดำเนินอย่างเคย คือ ทุกข์ยากลำเค็ญ
เจ้าม้าโคลเวอร์        - - ผู้ซึ่งรู้สึกไม่สบายใจเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงอันไม่ชอบมาพากล
 

จิตสำนึกใหม่ ออกกฎเหล็ก แก้จิตสำนึกเหลว ถอดถอนง่าย ไล่นักการเมืองขี้ฉ้อ

การ ปฏิรูปการเมืองจะว่าไปไม่สำคัญเท่าตัว “นักการเมืองไทย”  เพราะจะร่างกฎหมาย มากมายเพียงใด หรือปรับปรุงเพื่อให้ทันกับยุคสมัยเปลี่ยนไป  หากฎเกณฑ์บทลงโทษเจ๋งๆ มาล้อมดักนักทุจริต คอรัปชั่น แต่ “คนการเมือง” ก็ยังหาช่องโหว่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำผิดกฎหมาย ทั้งที่อยู่ในยุคที่สังคมตื่นตัวเรื่อง“จริยธรรม- จิตสำนึก”

แน่นอน จิตสำนึกกินไม่ได้ และไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ แต่เป็น มาตรฐานที่ควรจะอยู่สูงกับ “ผู้ปกครอง” เรามีคำพูดมากมายที่ถามถึงประชาชนควรมีจิตสำนึกทางการเมืองอย่างไร   แต่สำหรับตัว นักการเมือง ที่ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่าง สมกับคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือก ปัญหาเรื่องขาดจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่ และการปฏิบัติของนักการเมืองไทยไม่จะรู้จักคำว่า “จิตสำนึก” จะมีทางออกอย่างไรเพื่อแก้ที่ตัว “คน”  ให้เคารพกฎเกณฑ์ในบ้านเมือง อยู่กับร่องรอย ไม่ทุจริต ใช้อำนาจฉ้อฉล ประพฤติมิชอบ
ตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา อดีตประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการ เมืองของสังคมไทย มองว่า  ปัญหาใหญ่ของนักการเมืองไทยคือ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ คิดแต่เรื่องตัวเองมากกว่าเรื่องประเทศชาติและประชาชน  มองแต่ประโยชน์ของกลุ่ม ก๊วน และของพรรคการเมืองที่สังกัดจนทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากมาย  เช่น ที่เห็นชัดคือ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. หลายพรรคมีมีจุดยืนชัดว่าจะสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบ 400+100 แต่เมื่ออภิปรายในวาระแก้ไข กลับไม่กล้ายืนยันในจุดยืนตัวเอง สุดท้ายเมื่อลงมติก็ไปสนับสนุนสูตร 375+125  ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับจุดยืนตัวเอง  อ้างเพียงว่าต้องทำตามมติพรรค และก็ทราบมาว่า ส.ส.บางพรรค อยากร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก แต่เมื่อพรรคประกาศว่า คว่ำบาตร ไม่ร่วมแก้ด้วย ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดมาก

สำนึกสาธารณะ- ทำผิดต้องอายจนอยู่ไม่ได้

“สำนึกสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ นักการเมืองไทยต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่างในต่างประเทศ ค่านิยมที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณีทางการเมืองที่ดีงามของบ้านเขา เช่น ในญี่ปุ่น เมื่อผู้นำประเทศเขาทำตาม สัญญาเรื่อง ย้ายฐานทัพสหรัฐฯ จากโอกินาว่าไม่ได้ เขาก็ลาออก  มองเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง ดังนั้น นักการเมืองไทยจำเป็นต้องปฏิรูปจิตสำนึกสาธารณะเป็นการด่วนเพราะเราอยู่ใน ขั้นมีปัญหามาก จะไปทางไหนก็อ้างว่า พรรคมีมติอย่างนี้ ซึ่งขัดต่อประโยชน์ส่วนรวม”

เขายกตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา นักการเมือง ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าของชาวบ้าน แต่เมื่อพื้นที่นั้นไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคตน จึงไม่ช่วยอย่างจริงจังจนปัญหาลุกลาม เพราะนักการเมืองคิดแต่เรื่องประโยชน์ที่ตนเองจะได้ หากทุ่มแล้วไม่ได้คะแนนก็ไม่ทำ ดังนั้น การแก้ปัญหานี้  ทุกฝ่ายต้องสร้างกระแส ค่านิยมเรื่อง “คุณธรรมนำสังคม” ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จ จากการรณรงค์ในเรื่องที่คิดว่า ไม่น่าจะทำได้  คือ การเลิกสูบบุหรี่
ส.ว.สรรหาผู้นี้ บอกว่า สังคมต้องสร้างกระแสให้เห็นว่า สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องให้ถือเป็น “เรื่องแปลกแยก”ที่สังคมต้องไม่สนับสนุน ไม่ต้อนรับ โดยเฉพาะสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากในการรณรงค์ ในเกาหลีใต้ถึงขนาดที่สื่อสามารถบอยคอตนักการเมืองที่มีประพฤติกรรมไม่ดี ทุจริต คอรัปชั่น โดยจะไม่นำเสนอข่าวของนักการเมืองคนนั้น  สื่อไทยก็สามารถทำได้ นักการเมืองคนใดมีพฤติกรรมแย่ เช่น ชกต่อยในสภา โกหก เราก็ไม่นำเสนอ หรือ กระทั่งรับไหว้ แต่ปัญหาคือสังคมไทยยังยืดถือคนรวย เมื่อมีเงินให้ทุกอย่างก็จบ  สำคัญคือ เราต้องกดดันสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับนักการเมือง เพื่อให้เกิดกระแสเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน  ซึ่งบางพื้นที่มีแนวโน้มที่ดี เช่น การเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพ ที่ได้คนอย่าง รสนา โตสิตระกูล เข้าสภา

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า อยากให้นักการเมืองไทยเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในบ้านเมืองนี้ คือ ความไม่เป็นธรรมในสังคม ถ้านักการเมืองมีจิตสำสาธารณะที่เข้าใจตรงนี้ก็จะนำมาสู่การทำงานที่ยึดหลัก สิทธิ มนุษยชน  เพราะปัญหาความไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในขณะ นี้  นอกจากนี้การเป็นผู้แทนปวงชนในระบอบประชาธิปไตย ต้องทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง การใช้อำนาจ บรรทัดฐานต่างๆ  ต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ตัดสินใจโดยนโยบายของรัฐ จนกระทบและละเมิดต่อสิทธิชุมชน  ดังนั้น นักการเมืองควรเข้าใจปัญหานี้ก่อน  เพราะขณะนี้ภาคประชาชนตื่นตัวไปไกลมาก แต่นักการเมืองไทยยังไม่เข้าใจ ไม่พัฒนา ไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบการเมืองไทยจนก่อให้เกิดวิกฤตในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับทางออก นพ.นิรันดร์ เห็นว่า ขณะนี้ภาคสังคม สื่อมวลชน ราชการได้ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเร่งปฏิรูปตัวเอง และเคารพสิทธิมนุษยชน แต่นักการเมืองไทยก็ยังไม่เข้าใจ และยึดกับผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าส่วนรวม  เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ยังวนเวียนอยู่เรื่องประโยชน์ของนักการเมืองเป็นตัวตั้ง หรือ การแก้ปัญหาพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยล้มเหลวไม่สามารถแก้ปัญหาเขตแดนได้ ทั้งที่ภาคประชาชนได้ออกมาตรวจสอบและนำเสนอข้อมูล ดังนั้น สังคม สื่อมวลชน ต้องกดดันเรียกร้องให้นักการเมืองชำระล้างจิตสำนึกตัวเอง มิฉะนั้นก็คงไม่สามารถปฏิรูปประเทศไทยได้ ตรงกันข้ามก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงต่อเนื่อง และการทุจริตคอรัปชั่นที่แก้ไม่จบ   การเมืองไทยวันนี้ ยังคงล้าหลังไม่ปฏิรูปตัวเอง นับจากการรัฐประหารปี 2490 ที่ฝ่ายทหารได้ยึดอำนาจ ปิดฉากยุคของคณะราษฎรเป็นต้นมา

สร้างกลไกกำกับ ประจานนักการเมืองโดดร่ม

ขณะที่  รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย มองว่า การจะเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาปฏิรูปจิตสำนึกตัวเอง คงทำไม่ได้เพราะนักการเมืองไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องคอรัปชั่น  แต่นักการเมืองทั่วโลกก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น ต้องสร้างกลไก มากำกับจิตสำนึก และพฤติกรรมเพื่อเอาผิด มีมาตรการลงโทษนักการเมืองที่โกง

“กลไกอย่างหนึ่งคือ การให้ประชาชนรู้ว่า นักการเมืองที่เขาเลือกมานั้นมีพฤติกรรมอย่างไร เช่น เข้าประชุมสภากี่ครั้ง  ทำหน้าที่ในสภาครบถ้วนหรือไม่ เราต้องทำให้นักการเมืองกลัวประชาชนให้ได้ และต้องทำให้การเข้าสู่อำนาจของเขา ไม่ว่า ส.ส.หรือรัฐมนตรีถูกตรวจสอบได้”

รศ.สิริพรรณ บอกว่า ทางออกเฉพาะหน้าเบื้องต้น คือ การแก้ไขรธน. โดยแก้ที่โครงสร้างการตรวจสอบนักการเมืองด้วยการเปิดให้ภาคประชาชน ตรวจสอบนักการเมืองได้ง่าย เช่น การถอดถอน เพราะทุกวันนี้ รธน.เหมือนเขียนหลอกให้ตรวจสอบได้ แต่เมื่อมีการยื่นรายชื่อประชาชน เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ก็ไม่มีการถอดถอน และไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงซักครั้ง  นักการเมืองเขากลัวประชาชนมากที่สุด ดังนั้นเราต้องแก้กติกาว่า หากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่เกินกึ่งหนึ่งเข้าชื่อถอดถอนก็ให้เขาพ้น ตำแหน่งได้
ความเห็นของ อาจารย์รัฐศาสตร์ผู้นี้ ไม่ต่างจาก รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เธอมองว่า การจะปฏิรูปตัวนักการเมืองเป็นเรื่องยาก เพราะปัญหาการเมืองคือ ใช้เงินและอ้างว่า มาจากการเลือกตั้งทั้งที่การเลือกไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตยทั้งหมด จึงไม่ควรให้ความสำคัญไปที่ตัวนักการเมืองอย่างเดียว  แต่ต้องเน้นให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง มีพลังที่จะตรวจสอบนักการเมืองเพื่อให้นักการเมืองเกิดการปรับตัว

“จิตสำนึกของนักการเมืองจะต้องเกิดจากการตื่นตัวของประชาชน เหมือนพระสงฆ์ เมื่อมีปัญหาเรื่องสีกาผู้หญิง สังคมก็จะกดดันอย่างรุนแรง ซึ่งก็แรงกว่าพระบางรูปเจอปัญหาเรื่องโกงเงินทั้งที่ก็ผิดเหมือนกัน  นี่คือพลังของภาคประชาชน  แต่พลังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ นะ ประชาชนเองก็ต้องมีจิตสำนึกในเรื่องนั้นด้วย โดยต้องเห็นว่า เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องช่วยกันปลุก ต้องสร้างให้เกิดขึ้น”

เธอ ยกตัวอย่าง กรณี  โรห์ มู ฮุน อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเพื่อหนีเรื่องอื้อฉาวจากการถูกสอบสวนกรณีที่ภริยาและ หลานรับสินบน เป็นตัวอย่างเห็นได้ชัดที่ถูกกระแสสังคมกดดันจนอยู่ไม่ได้  ความจริงที่เกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น และการใชอำนาจมิชอบเยอะมากและผู้นำของเขาก็ติดคุกรวมถึง 2 คุก แสดงว่า กลไก และ พลังของภาคประชาชนที่นั่นเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังมีกรณีรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ส่งข้อความเอสเอ็มเอสจีบแดนซ์เซอร์ จนสื่อมวลชนเปิดเผยออกมา คือต้องให้นักการเมืองอายต่อสังคมให้ได้  ที่สำคัญต้องทำให้นักการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แต่โครงสร้างการเมืองไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก

“เราควรมีประวัตินักการเมืองเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่า นักการเมืองคนใดมาประชุมสภากี่ครั้ง และ ลงมติอย่างไร ใช้สิทธิประโยชน์เดินทางไปไหนบ้าง  เหมือนในเกาหลีที่เขาสามารถบล็อกนักการเมืองที่มีประพฤติกรรมไม่ถูกต้อง โดยเครือข่ายภาคประชาชนของเขานำรายชื่อนักการเมืองที่มีปัญหาออกมาเปิดเผย พบว่า 90% ที่นำเปิดเผยนั้น ไม่ได้รับเลือก เราจึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนมองนักการเมืองในฐานะสินค้าเพื่อตรวจสอบอย่างถี่ ถ้วนก่อนลงคะแนนเลือก”

เหล่านี้เป็นมุมมองทั้ง นักวิชาการ ส.ว. การจะขอให้นักการเมืองรับผิดชอบ ลาออกคงยาก ด้านหนึ่งต้องสร้างกลไกกำกับ และสร้างระบบถ่วงดุลของภาคประชาชนขึ้นมาคานการใช้อำนาจของนักการเมือง
รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง