ความเป็นไปได้ทางหนึ่ง ของการ Vote No ในทางกฏหมาย คือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการเลือกสส.เขต แม้เพียงเขตเดียวเท่านั้นก็ตาม เพราะเขตที่คะแนน Vote No มากกว่า ผู้ชนะที่ 1 ในเขตนั้นๆ ประชาชนผู้ Vote No สามารถอ้างเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นตัวตัดสิน เพราะเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้ชนะตามกฏหมายคนนั้น จึงถือว่าผิดหลักประชาธิปไตย ขัดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง และขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ที่บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
หากศาลตัดสินให้ Vote No ชนะในขตนั้น หลังจากเปิดสภาไปแล้ว ก็อาจจะเกิดกรณีสุญญากาศ เพราะสภาจะมี สส.ไม่ครบ 500 คน แม้สมมติว่า ศาลจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้า Vote No ในเขตนั้นเข้มแข็งชนะตลอด ก็จะทำให้สภาไม่มีวันได้ สส.ครบ 500 คน ภายใน 180 วัน ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๓ จึงเข้าสู่สภาวะไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้ จึงต้องใช้ประเพณีการปกครอง บนพื้นฐานบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗ เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิวัติ/ปฏิรูปประเทศ อย่างถูกต้องชอบธรรมตามกฏหมายทุกประการ
แต่ถ้าเกิดกรณี มีเขตมากกว่า 25 เขต ที่ Vote NO ชนะตลอด แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ Vote No ชนะ ก่อนการเปิดสภา ก็จะส่งผลให้เปิดสภาไม่ได้ เพราะจำนวนสส.ไม่เกินกว่า 475 คน (ต้องเกินกว่าร้อยละ 95 ของสส.ทั้งหมด 500 คน จึงจะเปิดสภาได้) จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองทันที
อ้างอิง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔
มาตรา ๙๓ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยเจ็ดสิบห้าคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ
หลักเกณฑ์และวิธีการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๙ (๒) ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่