บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากพระเทพฯ

ที่มา: เดลินิวส์

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ’พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา“ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำหนังสือ นำคณะผู้บริหาร สศช. และทีมงานจัดทำหนังสือ เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับ ’หลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ เพื่อบันทึกในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนับเป็น “บันทึกอันล้ำค่ายิ่ง” โดย “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้น้อมอัญเชิญเนื้อความสำคัญมานำเสนอสู่คนไทย เป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้...

ทรงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยใช้องค์ความรู้...

“...เรื่องหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสที่เผยแพร่เป็นที่รู้ทั่วไป หลักกว้าง ๆ ของพระองค์คือ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรว่ามีสิ่งอะไรที่ควรปรับปรุงได้ดีกว่านี้ ทำประโยชน์ให้เจริญรุ่งเรืองได้มากขึ้นกว่านี้ หรือประชาชนยังมีปัญหาความทุกข์ในพื้นที่แบบนี้ จะทำอย่างไร โดยพระองค์จะทรงใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้ว หรือหากยังทรงไม่มีความรู้ในสิ่งที่คิดว่าสำคัญ พระองค์จะทรงหาความรู้ โดยทรงศึกษาและสนทนากับผู้รู้ต่าง ๆ แล้วนำมาประยุกต์ปรับปรุง ด้วยความตั้งพระราชหฤทัยที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน พระองค์เองจะทรงลำบากเดือดร้อนอย่างไร ก็ทรงไม่สนพระทัย ถ้าทรงเห็นว่าดีแล้วก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะทำ หากว่ามีปัญหาหรือใครว่ามา ก็ทรงต้องมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาก็หลีกเลี่ยงไป ต้องอดทน ตั้งใจ ระมัดระวัง และรอบคอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งสมความรู้พื้นฐาน โดยทรงเรียนรู้จากการคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ถวายรายงานในเรื่องต่าง ๆ จากนั้น ทรงค่อย ๆ สร้างองค์ความรู้ของพระองค์เอง หลังจากทรงทำนาน ๆ ก็ทรงมีประสบการณ์ จนทรงประเมินราคาโครงการได้เลย...”

ทรงใช้ความรู้อย่างบูรณาการ มิได้ทรงตั้งทฤษฎีไว้ก่อน...

“...นอกจากนี้ ทรงนำความรู้และวิชาการต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “บูรณาการ” ไม่ทิ้งแง่ใดแง่หนึ่ง อย่างเช่น เรื่องอย่างนี้ในแนววิศวกรรมศาสตร์ทำได้ แต่ว่าอาจจะไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเหมาะสมดีในเชิงเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสมกับความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชน ก็ไม่ได้ เมื่อ พระองค์เสด็จฯ ไปพบประชาชนที่ทุกข์ยาก ทรงช่วยได้ก็จะช่วยทันที พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน แล้วทรงทำตามทฤษฎี อย่างทฤษฎีใหม่หรือทฤษฎีอื่น ๆ พระองค์ ทรงเห็นอะไรที่กระทบ หรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมาก ๆ ก็ออกมาเป็นทฤษฎี ฉันเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จฯ ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง...”

ทรงพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”…

’...เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน“ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ การทำงานพัฒนาไม่ได้เป็นเรื่องการเสียสละเพียงอย่างเดียว เป็นการทำเพื่อตนเองด้วย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าเราอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะที่คนอื่นทุกข์ยาก เราย่อมอยู่ไม่ได้ นักพัฒนาควรมีจิตสาธารณะ รักที่จะช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนอยู่เสมอว่า งานพัฒนานั้นต้องเป็นที่ต้องการของบุคคลเป้าหมาย และผู้ร่วมงานต้องพอใจ งานพัฒนาเป็นงานยากและกินเวลานาน ผู้ที่ทำงานพัฒนาหรือที่เรียกว่า “นักพัฒนา” จึงต้องเป็นผู้ที่อดทน เชื่อมั่นในคุณความดี มีใจเมตตากรุณา อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และอยากให้ผู้อื่นมีความสุข ต้องมีความรู้กว้างขวาง เพราะงานพัฒนาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ มาก ต้อง มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้าใจ และยอมรับนับถือผู้อื่น เพราะเป็นงานที่ไม่มีทางทำสำเร็จได้โดยลำพัง นอกจากนี้ นักพัฒนาต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ถ้าคอร์รัปชั่นหรือโกงเสียเองแล้ว ก็จะเป็นที่เกลียดชัง ผู้อื่นไม่ไว้ใจ หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อพัฒนาสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรือง ก็จะเกิดความสุขถ้วนทั่วทั้งบุคคลเป้าหมายและนักพัฒนาเอง

ด้วยวิธีเช่นนี้ และ ด้วยความตั้งใจจะทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ตัวเองจะลำบากเดือดร้อน ไม่สนใจ หรือหากเห็นว่าดีแล้ว ก็ต้องมีความตั้งใจ เข้มแข็ง และอดทนพอที่จะทำต่อไปโดยไม่ย่อท้อ ...“.


“ระเบิดจากข้างใน” พัฒนาให้ชาวบ้านเข้มแข็งก่อน...

“...การพัฒนาราษฎรในพื้นที่จะทรงมีวิธีของพระองค์ คือการเสด็จฯ ไปในป่าบนเขา ตอนแรกจะเสด็จฯ แบบยังไม่ได้มีการตัดถนนเข้าไป พระองค์ต้องเสด็จฯ เข้าไปอย่างลำบาก เพราะว่า พระองค์ไม่ต้องการจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบคนข้างใน ในขณะที่เขายังไม่เข้มแข็งพอ พอพัฒนาให้เขาเข้มแข็งแล้ว เขาจะออกมาเอง คือ ระเบิดจากข้างใน...” “...อย่างไรก็ตาม สมัยนี้การพัฒนาจะเป็นอีกแบบ จะให้คงแบบเดิมไว้คงไม่ได้ เราก็ต้องปรับปรุง...” “...ไม่ใช่จะยึดแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ให้สร้างถนนเข้าไป ต้องดูตามเหตุผล พระองค์ทรงไม่ว่า หากมีเหตุผลและความจำเป็น...”

ทรงเป็นต้นแบบ “ประชาพิจารณ์”…

“...ก่อนจะเสด็จฯ ไปทรงงานตามที่ต่าง ๆ จะทอดพระเนตรจากแผนที่ทางอากาศก่อนว่าควรจะเสด็จฯ ที่ไหน หรือจะทรงแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร เช่น สามารถนำน้ำจากตรงนี้ไปเลี้ยงนาตรงโน้น ได้ประโยชน์และจะต้องมีรายจ่ายจากการก่อสร้างหรือดำเนินงานเท่าไหร่ จะได้ผลจ่ายกลับคืนภายในกี่ปี และ ที่สำคัญต้องไปคุยกับชาวบ้านก่อนว่าเขาต้องการไหม ถ้าเขายังไม่ต้องการ ยังไม่สบายใจที่จะทำ เราก็ไปทำที่อื่นก่อน นั่นคือ ทรงทำประชาพิจารณ์ด้วยพระองค์เอง ทรงทำตรงนั้นเลย บางครั้งมีคนกราบบังคมทูลหรือถวายความเห็น บางทีก็ดี บางทีก็แย่ คือประโยชน์เข้าที่ตัวเขาคนเดียว คนอื่นไม่ได้ พระองค์ก็ทรงทำตามเขาไม่ได้ เพราะถ้าทรงทำ เขาสบายคนเดียว เพื่อนบ้านไม่สบาย ก็ต้องดูด้วย ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ...”

ทรงมุ่งพัฒนาทั้งคนและพื้นที่…

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเรื่องต้องพัฒนาทั้งคนและพื้นที่ โดยจะทรงพยายามให้ทั้งคนและพื้นที่ได้รับการพัฒนา พระองค์ตรัสว่า ถ้าพื้นที่ดี คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือคนเหล่านั้นที่เคยลำบาก ขณะเดียวกัน จะต้องพัฒนาคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นด้วย หากเป็นเช่นนี้ รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะมีการศึกษาดีและมีอาชีพที่มั่นคง พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโดยให้คนยากจนออกไปจากพื้นที่ และนำคนที่พัฒนาแล้วเข้าไปอยู่ในพื้นที่แทน เพราะทรงเห็นว่า หากใช้วิธีนี้คนจนที่ลำบากจะไม่ได้รับการพัฒนา...”

ทรงบริหารความเสี่ยง ทดลองจนได้ผลดีก่อนพระราชทานแก่ราษฎร...

“...พระองค์ตรัสเสมอว่า ถ้ายังไม่ดีจริง ไม่ให้ประชาชนนำไปทำแล้วต้องรับผลแห่งความผิดพลาดหรือรับกรรม...” “...พระองค์จะทรงทำโดยต้องทดลองจนแน่ใจว่าทำได้แล้วจึงให้เขาทำ เป็นการบริหารความเสี่ยง ไม่ให้เขาเสี่ยง คนที่ไม่มีแล้วยังมาเสี่ยงต้องรับเคราะห์กรรมอีก พระองค์จะไม่ทรงทำ อย่างตอนเสด็จฯ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเรื่อย ๆ ไปเจอบ้านชาวเขาหลายเผ่า ทอดพระเนตรเห็นเขาปลูกฝิ่น ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย ซ้ำยังทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะว่าสูบเองบ้าง และขายราคาถูกให้พ่อค้าคนกลาง พวกค้าฝิ่นเถื่อน สมัยก่อนนั้นประเทศอื่น ๆ เขาปราบฝิ่นโดยการเข้าไปเผาไร่ฝิ่น แต่ พระองค์ตรัสเสมอว่า ถ้าเรายังไม่สามารถช่วยเหลือใครให้มีความกินดีอยู่ดีขึ้น เราจะไปทำลายวิถีชีวิตเก่าเขาไม่ได้ และการที่จะช่วยเขา ต้องทดลองทำให้แน่ใจก่อนว่าดีแล้วจึงค่อยให้เขาทำ โดยพระองค์จะทรงทดลองปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น คือทรงค่อย ๆ ทำ...”

ทรงรับฟังและหาทางแก้ปัญหาให้ประชาชน...

“...เวลาจะเสด็จฯ ไปไหน บางครั้งคนทั้งขบวนยังไม่รู้เลยว่าจะเสด็จฯ ไปไหน เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ไม่ให้ประชาชนต้องลำบาก อย่างฉันตามเสด็จฯ บางทีพระองค์ทรงแกล้ง พระราชทานแผนที่มาให้ และตรัสว่าจะเสด็จฯ ประมาณตรงนี้ จะทรงขับรถไปตามที่ฉันบอกทาง ทรงให้เป็นเนวิเกเตอร์ ฉันก็บอกเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ตรงหน้า 3 เมตร จริง ๆ ไม่ถูก พระองค์ก็ทรงแกล้งขับตามที่ฉันพูด มีอยู่วันหนึ่งลงไปอยู่กลางนา ไม่มีคนเลย มีแต่พระรูปหนึ่งกำลังซ่อมหลังคาโบสถ์ พระหันมาเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ปีนลงจากโบสถ์ แล้วไปที่หอกลอง ตีกลอง ที่บอก หางเปียมาเลียใบตอง พระตีกลองตะลุ่งตุ้งแช่ ฉันก็ได้เห็นคราวนั้น พระตีกลองสักพักหนึ่งประชาชนก็มาเข้าเฝ้าฯ กันมากมาย มาเฝ้าฯ แล้วก็เล่าถวายว่า ตรงนี้เป็นอย่างไร มีความเดือดร้อนอะไร พระองค์ทรงรับฟัง แล้วก็ทรงช่วยแก้ปัญหาตามที่เขากราบบังคมทูล พอเขามากราบบังคมทูล พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรทันที แล้วก็ทรงถามและคุยกันว่า

ตกลงเราจะทำอย่างไรกันดีที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ...”.


ทรงทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุข…
“…พระองค์ทรงพัฒนาอย่างครบวงจร อะไรที่จะเสริมให้ดีขึ้นได้ ทรงทำทุกอย่าง…” “…เรื่องวิชาความรู้พระองค์ก็ทรงทำ หลักของพระองค์คือ ทรงทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชน ให้มีความสุข…”

พระองค์ทรงงานเพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง…
“…หลักของพระองค์ คือ อยากให้คนมีความรู้…” “…เป็นการทรงงาน เพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง มีสุขภาพดี มีความรู้ มีการศึกษา ที่สามารถจะทำอะไรได้ และจะได้ฝึกหัด นักพัฒนารุ่นต่อๆ ไป ให้มีจิตใจอยากจะทำสิ่งดีๆ ให้แก่ประเทศชาติ และให้มีความรู้ที่จะทำได้ มีสปิริต มีจิตอาสาที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ…”

ทรงเน้นให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส…
“…พอพระองค์เสด็จฯ ไปไหน เห็นคนเขาอดข้าวอดปลา พระองค์ทรงให้ตั้ง มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน สมัยโน้นก็หลายสิบปีมาแล้ว…” “…ในระยะเริ่มต้น ทรงให้มูลนิธิฯ จัดทำโครงการอาหารให้เด็กนักเรียน รวมทั้งทรงสอนให้นักเรียนปลูกผัก ปลูกไม้ผล เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในการทำการเกษตร สามารถลงมือทำกันเองได้ ซึ่งนอกจากจะได้มูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งของแล้ว ยังเป็นการรวมคนด้วย…” “…บางแห่ง ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปเป็นชั่วโมง ไปถึงที่นั่น ไม่มีไฟฟ้า ก็ไปช่วย ถ้าทำไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้ ก็ใช้พลังแสงอาทิตย์ การช่วยเหลือทุกอย่าง สืบเนื่องมาจากพระองค์ ตอนนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปที่ไหน ก็จะทรงสร้างโรงเรียน ในชนบทและชุมชน ที่อยู่ในที่ห่างไกล…”

ทรงศึกษาสภาพแวดล้อมระหว่างเสด็จฯ…
“…เวลาพระองค์เสด็จฯ ไปไหน ระหว่างเสด็จฯ จะทรงศึกษาไปด้วย เช่น เวลาทรงเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรไปตลอด ว่าที่ตรงนี้เป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะปรับปรุง หรือ จะนำสิ่งที่ดีที่มีอยู่มาเสริมให้ได้ดีที่สุดอย่างไร…” “…พระองค์ทรงสอนอีกว่า ขณะนั่งรถก็สามารถเรียนรู้ได้มาก จากการที่รถวิ่งขึ้นภูเขา หรือวิ่งอยู่บนพื้นราบ พืชพันธุ์ธรรมชาติจะเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นดิน สภาพหิน และสภาพอะไรๆ ก็เปลี่ยนไป เป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจอะไร หรือ ความเป็นอยู่ของราษฎรในที่ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร สามารถเรียนรู้จากธรรมชาติได้ทั้งนั้น ทอดพระเนตรเสร็จ ก็ทรงนำมาคิดวิเคราะห์เป็นโครงการ…”

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” แหล่งศึกษาและทดลองเพื่อการเรียนรู้…
“…การทรงงานพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะ ทรงเลือกพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่แบบเดียวกัน ได้ลองนำไปทำ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา…” “…จะมารวมกัน ทุกหน่วยทุกคน นำความรู้และเทคนิคของตัวเองมาลงในโครงการเดียวกัน เป็นการศึกษาร่วมกันในรูปแบบใหม่ เสร็จแล้วราษฎรก็มาดู นักพัฒนาก็มาศึกษา เพื่อนำความรู้ตรงนี้ ไปปรับใช้ในที่ของตัวเอง…”

หัวหิน…จุดเริ่มแห่งแนวพระราชดำริ…
“…จุดเริ่มแนวพระราชดำริ น่าจะเป็นแถวหัวหิน เพราะแถวนั้นเป็นที่ที่ขาดแคลนน้ำ จำได้ว่าพี่เลี้ยง หรือว่าข้าหลวง หรือคนที่ทำงานในวัง ที่วันไหนออกเวร ก็รับสนองพระราชดำริ ไปเป็นอาสาสมัคร ออกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไปช่วยสร้างถังน้ำ…” “…ทรงให้จัดตั้ง หมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร โดยทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ ในการจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรมีราคาต่ำ และไม่แน่นอน ซึ่งได้ผลดีและยกระดับเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่าง ชื่อ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ซึ่งเป็นโครงการเริ่มแรกเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ และทรงส่งเสริมหัตถกรรม โดย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเริ่มงานส่งเสริมอาชีพตั้งแต่ตอนนั้น…” การห่มดินก็คือการปลูกต้นไม้นั่นเอง…”.

ทรงให้ปลูกต้นไม้เพื่อรักษาดิน…
“…นานมาแล้ว ขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ฉันอยู่ด้วย มีชาวบ้านจำไม่ได้ว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงหรือกะหร่าง เขามาเข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลว่า เขาอยากจะกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า เนื่องจากทางราชการมาถางป่า ตัดต้นไม้ คือสมัยก่อน เวลาจะสร้างนิคม ตั้งเขตเกษตร ก็จะทำในสิ่งที่พระองค์เรียกว่า ปอกเปลือก ซึ่งคนกะเหรี่ยง หรือกะหร่าง นี่เขาหวงธรรมชาติ จึงไม่สบายใจ และกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า ภายหลัง พระองค์จึงมีพระราชดำรัสแก่ทุกคนว่า เราต้องไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน ให้ห่มดินแล้วดินจะดี

“อ่างเก็บน้ำใต้ดิน” ป้องกันน้ำท่วมและน้ำระเหย…
“…โครงการชลประทานในพระราชดำริที่มีลักษณะพิเศษคือ อ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งอยู่ในถ้ำที่บ้านห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณนี้เป็นภูมิประเทศแบบคาร์สต์ หรือเป็นเขตหินปูน จะมีถ้ำเป็นจำนวนมาก มีพระราชดำริที่จะเก็บน้ำไว้ในถ้ำ ซึ่งมีข้อดีคือ น้ำที่เก็บไว้ไม่ไปท่วมที่ดินของเกษตรกร และน้ำจะไม่ระเหยไปมากเหมือนอยู่กลางแจ้ง ข้อที่ลำบากมากคือการสำรวจพื้นของถ้ำว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะเสริมไม่ให้รั่วได้ การสำรวจต้องใช้หลายวิธีสอบเทียบกัน…” “…ตอนไปสำรวจ ก็หลงถ้ำ จนเกือบขาดออกซิเจนกัน…” “…ใน ด้านการป้องกันน้ำท่วม มีพระราชดำริทำแก้มลิง เพื่อเก็บน้ำเมื่อมีน้ำมากไว้ใช้ในฤดูแล้ง…”Good Morning และไปทีไรก็ Good Morning ทุกที…”.

ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยผู้ถวายฎีกา…
“…เรื่องคดีความทางกฎหมาย ประชาชนไทยทุกคนที่คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา ก็มีสิทธิถวายฎีกา พระองค์ก็จะทรงให้คนไปดู โดยสืบตั้งแต่ศาลชั้นต้น จากสำนวนคำให้การต่าง ๆ จะทำให้มองเห็นเลยว่า บางคดีเกิดขึ้นเนื่องจากความยากจน ความทุกข์ และความเดือดร้อน นอกจากจะตัดสินไปตามคดีความ ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยเหลือให้เขาดีขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงทำมาตลอด…

ทรงคิดค้นกังหันน้ำชัยพัฒนาและฝนเทียม…
“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้น กังหันน้ำชัยพัฒนา มีทั้งหมด 7 โมเดล เป็นเครื่องช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่า…” “…ทรงห่วงใยเกษตรกรที่ต้องพบปัญหาไม่มีน้ำใช้ในการบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง จึงทรงคิดค้น ฝนเทียม ขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว เป็นที่รู้จักกันในนาม ฝนหลวง…”

ทรงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ…
“…พระองค์ทรงช่วย อย่างเรื่องน้ำท่วม ตั้งแต่ทำเขื่อนป่าสัก น้ำก็ไม่ท่วมหนักอย่างเก่า ที่เราต้องปีนออกทางหน้าต่าง หรือปีนต้นไม้ไปทำงาน แล้วใช้ไดร์โว่ก็ไม่มีแล้ว ตอนนั้นหลานกำลังจะเกิด แล้วฉันเป็นคนแต่งห้องให้เขาใหม่ สั่งทำม่าน ต้องเอาม่านใส่เรือพายมาที่สวนจิตรฯ สมัยนั้นท่วมขนาดนี้ ตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเอง รถพระที่นั่งไปเสียกลางทาง พระองค์ทรงขับไปถึงซอยอ่อนนุช เพื่อทอดพระเนตรน้ำ…” “…ทรงดูจากเอกสารที่มีอยู่ และทรงสำรวจเอง เมื่อทรงสำรวจเสร็จ ก็มาทรงมีพระราชดำริว่าควรจะทำอย่างไร…”

ทรงลำบากตรากตรำเพื่อประชาชนผู้ยากไร้…
“…เวลาเสด็จฯ ไปที่ไหน พระองค์จะเสด็จฯ พระราชดำเนินนำไปก่อน เราก็วิ่ง คนในขบวนก็วิ่งกันกระเจิง ตามเสด็จฯ ไม่ค่อยทัน พระองค์ทรงพระราชดำเนินเก่ง…” “…เวลาเสด็จพระราชดำเนินก็จะทรงนำ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบางครั้งก็ต้องทรงช่วยให้เสด็จฯ ขึ้นเขา แล้วก็ ทรงร้องเพลงลูกทุ่งอยู่บนเขา ’ตายแน่คราวนี้ต้องตายแน่ ๆ“ เวลาตามเสด็จฯ จึงลำบาก จะวิ่งหนีเข้าร่ม หรือแอบไปกินอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพระองค์ทรงห้ามไม่ให้เรากิน ไม่ให้เราหลบแดด พระองค์ก็ทรงไม่หลบแดด ไม่ได้เสวยด้วยเหมือนกัน บางครั้งพระองค์เองทรงประสงค์ให้คนที่ตามเสด็จฯ ได้รับประทานด้วยซ้ำ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะได้พร้อมที่จะทำงาน แต่ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะบอกว่า พวกนี้ไม่สุภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เสวย แล้วทำไมถึงกินก่อน เป็นบาปกรรม คนเขาก็คิดอย่างนั้น พระองค์เองทรงลำบากกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ ตากแดดก็ตากด้วยกัน เพราะฉะนั้น ฉันนี่มีวิตามินดีเยอะมากเลย กระดูกแข็งแรง…”
“…เวลาตามเสด็จฯ นั้น หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นเขา เราก็ต้องปีนเขาด้วย พระองค์ทรงรับสั่งว่า การทำงานพัฒนา ร่างกายเราต้องแข็งแรง…” “…ฉันเคยฝึกให้แบกของเดินขึ้นเขา เพราะถ้าเกษตรกรพื้นที่สูงอยากให้เราเดินขึ้นไปดูไร่ของเขาบนภูเขา ก็ควรพยายามไป เขาชี้ให้ไปดูอะไรก็ต้องไป ถึงแม้บนยอดเขาจะมีกาแฟเพียงต้นเดียวก็ต้องขึ้นไป บางครั้งปีนเขาตั้งหลายลูก เราก็ต้องไป เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกร และผูกมิตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน พระองค์เสด็จฯ ไปทุกที่ ที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหนังสือ ที่ พระองค์ทรงขับรถพระที่นั่งลงไปอยู่กลางน้ำ แถวจังหวัดนราธิวาส พอเปิดประตูออกไปเป็นพงหนามพอดี นอกจากลงน้ำแล้วยังมีพงหนามอยู่ในน้ำด้วย และพอเวลาเสด็จฯ ไปถึงที่ไหนก็จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทุกคน จนมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าขืนทรงทักคนทุกจุดอย่างนี้กว่าจะถึงวังก็


เดลินิวส์

เขาจะใช้ "เจ้าล้อมเจ้า" เพื่อแก้ กม.112

มีเรื่องที่น่าประหลาดใจให้ต้องขบคิดอะไรหลายอย่าง เมื่อได้เห็นหนังสือฉบับหนึ่ง

เป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อเสนอต่อ "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ "ปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" พูดง่ายๆ ว่า มีการล่ารายชื่อกัน เพื่อเสนอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นเจ้าภาพในการแก้ไข ม.112

เพียงแต่รายชื่อที่แนบมานั้น มีความ "ไม่ธรรมดา" ในสังคมไทย

ท้ายหนังสือลงวันที่ 6 ธันวาคม ฉบับดังกล่าว มีลายเซ็นที่อ่านชื่อออกแล้วผมจำได้อยู่ 3 ชื่อ คือ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์ นริศรา จักรพงษ์ (ซึ่งท่านเป็นสะใภ้ของหม่อมราชวงศ์สายสวัสดี) และหม่อมราชวงศ์ ภวรี สุชีวะ (รัชนี) อีกท่านนามสกุลกฤดากร ชื่อขึ้นต้นด้วย ก ไก่ ที่เหลือจำไม่ได้และอ่านไม่ออกก็มี

นอกจากนี้ยังมีการอ้างด้วยว่า ท่านประธานชมรมราชสกุลวังหน้า ก็ได้ลงนามสนับสนุนด้วยเช่นกัน และหลังจากนี้ อาจจะมีการล่ารายชื่อสมาชิกใน "บวรราชสกุล" ที่เห็นด้วย หาก "กระแสแก้มาตรา 112" แรงพอ โดยมีบิ๊กเนมอย่าง "หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล" เป็นเรี่ยวแรงสำคัญอยู่ข้างหลัง

ผมยังไม่เชื่อ เห็นใจทุกท่านที่มีชื่อ ท่านคงจะถูกแอบอ้าง หนังสือนี้ต้องเป็นเอกสารปลอม ถูกทำขึ้นมาแน่ๆ และคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีทางเป็นจริงด้วย!!

จะจริงได้อย่างไรกันครับ ในเมื่อแต่ละท่านที่ถูกอ้างถึงนั้น มีการศึกษา มีฐานะ มีชาติตระกูล มากเพียงพอที่จะทำให้ท่านอยู่ในภาวะ "รู้คิด" และ "คิดถูก" ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ได้รับการตราไว้เพื่อเป็นความคุ้มครองแด่องค์พระประมุขของชาติ ซึ่งอยู่ในสภาพของ "สถาบัน" ที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของแผ่นดินและของสังคมด้วย

การที่มีคนที่ไม่พอใจ "เจ้า" แล้วปลุกปั่น ปั้นปฏิบัติการพิเศษขึ้นมาเป็นกระแส เริ่มจากจะล้มหรือจะแก้ ม.112 มันเป็นความผิดของตัวกฎหมายหรือสถาบันเสียที่ไหนกันเล่า

ยังไม่เคยมีการแสดงให้ประจักษ์ว่า มี "สุจริตชน" คนไหน ถูกคุกคามทำร้าย หรือลงโทษอย่างอยุติธรรม ชนิดไม่มีโอกาสต่อสู้เพราะกฎหมายมาตรานี้ให้เห็นเลย

ต้องไม่ลืมว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุว่า "มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" นี้ ไม่ใช่แค่กล่าวหากัน แจ้งความ ดำเนินคดี แล้วก็ติดคุกเลย ยังมีขั้นตอนของการต่อสู้ในศาลทั้ง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ ซึ่งไม่ว่าศาลตัดสินอย่างไร ศาลก็ต้อง "อธิบาย" ผ่านคำพิพากษาอย่างละเอียดอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ปฏิบัติการเคลื่อนไหวล้ม ม.112 นี้ ไม่เคยหยิบยก "พฤติการณ์ในคดี" มาแจกแจกให้เห็นเลยว่า มีสุจริตชนถูกเล่นงาน แต่มักจะเลี่ยงไปพูดในเชิงปรัชญาเรื่องความเหลื่อมล้ำบ้าง เรื่องใช้กฎหมายมาตรานี้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองบ้าง เรื่องโทษหนักเกินไปบ้าง หรือปีนั้นปีนี้ไม่มีคดีแบบนี้เลย ทำไมช่วงนี้ มีคดีแบบนี้มากเหลือเกิน ซึ่งในจดหมายที่ถูกอ้างว่า จะระดมรายนามของสมาชิก "บวรราชสกุล" มาสนับสนุนก็อ้างประเด็นนี้

ซึ่งเราก็ไม่ควร "เขลา" หูเบาแล้วเชื่อโดยไม่คิด

ก็เพิ่งไม่กี่ปีมานี้มิใช่หรือ ที่เกิดขบวนการล้มเจ้า ปลุกปลั่นประชาชนให้มีความชิงชังในสถาบันพระมหาษัตริย์ ประชาชนที่หลงเชื่อหรือคล้อยตาม ก็เลยแสดงความเห็นที่ "เกินเลย" ไปจากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างบริสุทธิ์ใจ ไปถึงขั้นดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งประชาชนทั่วไปก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครองเช่นกัน

หนังสือฉบับนี้ ยัง "แอบอ้าง" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาชี้นำทำนองว่า พระองค์ท่านเคยมีพระราชดำรัสในทำนองที่ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะลำบากด้วย ซึ่งเป็นการ "ตีความ" และแอบอ้างอย่างไม่บังควร

เอาเป็นว่า ผมยังไม่เชื่อว่าจะเกิดกระบวนการเช่นนั้นจากฝ่าย "ผู้มีชาติมีตระกูล" ในช่วงนี้แน่ และขอเรียกร้องด้วยความเคารพว่า ท่านที่มีชื่อถูกแอบอ้างก็ควรจะต้องติดตามตรวจสอบว่าเป็นฝีมือใคร หรือเปิดเผยต่อสังคมให้มัน "สง่าๆ" ไปเสียเลย หากว่านั่นมิใช่การแอบอ้าง

สังคมไม่ควรทำให้กฎหมายมาตรา 112 นี้ เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ใครจะเลิกใครจะแก้ ใครจะไม่เลิก ไม่แก้ ก็ควรเสนอแนวคิดออกมาอย่างเปิดเผยและบริสุทธิ์ใจ จากนั้นก็ถอยไปฟังความคิดของคนอื่นด้วย

ในการจะแก้หรือไม่แก้ ต้องพูดถึง

1.เจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่สัมพันธ์กันอยู่ในหลายๆ มาตราและหลายฉบับ จะพูดแค่มาตรา 112 ด้วยข้อความทีละท่อนๆ แบบคิดเองเออเองไม่ได้

2.เทียบเคียงให้เห็นชัดๆ ว่า นานาอารยประเทศ ต่างก็มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประมุขของตนแยกไปต่างหาก แต่ด้วยหลักการเดียวกันคือ ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งก็เป็นหลักเดียวกับการคุ้มครองพลเมืองอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เราอย่าทำเป็น "แกล้งโง่" แยกไม่ออกเลยนะครับ ว่าพฤติกรรมที่ว่านี้ แตกต่างจากการ "วิพากษ์วิจารณ์อย่างบริสุทธิ์ใจ" ยังไง และต่อให้เราแกล้งโง่ ถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาล ก็ต้องพิสูจน์ในประเด็นนี้กันอยู่ดี โดยที่ศาลก็จะต้องใช้เป็นหลักในการตัดสินด้วย

3.พูดมาตรงๆ ว่า กรณีที่แก้ ม.112 นี้ คิดจะล้มทั้งเจ้าล้มทั้งศาลเลยหรือเปล่า เพราะชอบพูดกันแต่ความบกพร่องผิดพลาดในชั้น "เจ้าพนักงาน" ทั้งนั้น ไม่พูดถึงกระบวนการยุติธรรมของศาล ตกลง การปฏิบัติในชั้นพนักงานที่อยุติธรรมนั้น มาได้ความยุติธรรมในชั้นศาลไหม? ทำไมต้องเลือกที่จะ "ข้ามหัวศาล" และทำเหมือนกฎหมายมันผิด หรือชวนให้คิดว่า สถาบันเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยลบหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีขอบเขตทิ้งไปอย่างหน้าตาเฉย

4.ส่วนข้อที่โอดครวญว่า ใครไปแจ้งความก็ได้ ก็ต้องเข้าใจว่า ความผิดนี้เป็นอาญาแผ่นดิน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะ "ประมุข" ของ "ราชอาณาจักร" ท่านทรงยกหรือตั้งตนขึ้นไปเองรึ? ก็มิใช่ เราต่างมีฉันทามติ ยกท่านไว้ในฐานะนี้ ทั้งในทางวัฒนธรรมของสังคม เราก็มีความเคารพเทิดทูนต่อพระองค์ท่านโดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับอีกด้วย จะให้พระองค์ท่านลงมาเป็นคู่ความกับประชาชนของท่านเองได้ยังไง รวมถึงจะให้องคมนตรี ซึ่งก็ปฏิบัติงานในนามของท่าน รวมถึงสำนักราชเลขาธิการไปแจ้ง ก็ไม่ต่างกัน นอกจากนี้คนที่ไปแจ้งความอย่างในปัจจุบัน ก็ไม่ได้เป็นคู่ความด้วยสักหน่อย เป็นแต่เพียงไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ เจ้าหน้าที่ก็ใช้ดุลพินิจให้ถูกต้องสิ จะไปร่วมกับขบวนการกลั่นแกล้งเขาทำไมล่ะ พิสูจน์ ไตร่ตรอง ทบทวน และทำสำนวนให้มันเที่ยงธรรมสิ เฉพาะประเด็นนี้ก็ไปปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่ไป ไม่ใช่มาล้มหรือแก้กฎหมาย ม.112 และต้องเอาผิดพวกแจ้งความเท็จหรือใส่ความให้มันหลาบจำด้วย จะได้เข็ด

5.เรื่องการห้ามประกันตัวที่โวยวายกันนั้น ก็เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานหรือศาล กฎหมายไม่ได้เขียนว่า "ห้ามประกันตัว" ฉะนั้น มีปัญหาก็ไปถามพนักงานกับศาลว่าทำไมไม่ให้ประกัน นอกจากนี้ ใช่ว่าทุกคดีความผิด ทุกคนต้องได้รับการประกันตัวเสียเมื่อไหร่ล่ะ คดีอื่นๆ ที่ไม่ได้ประกันกันก็เยอะแยะ แล้วจะมาโทษกฎหมายอาญา ม.112 กับสถาบันกันทำไม

6.อัตราโทษสูงไปไหม ก็ต้องดูว่า การละเมิดต่อองค์พระประมุขของราชอาณาจักร มันกระทบไปถึงอะไรบ้าง แล้วยังต้องเทียบเคียงกับอัตราโทษในการคุ้มครองประมุขของชาติต่างๆ ที่กฎหมายเราก็ตราไว้ด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า อัตราโทษอยู่ที่พฤติการณ์ในคดี และอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล กฎหมายไม่ได้บังคับศาลว่าต้องลงโทษในอัตราสูงสุด และการกำหนดโทษสูงๆ ในทางอ้อมมีผลต่อการ "ปราม" คนที่คิดจะละเมิดด้วยมิใช่หรือ

7.ประเด็นที่ว่า เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเห็น พูด เขียน หรือพิมพ์เผยแพร่ยิ่งไม่จริง กฎหมาย ม.112 ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ถ้าหยุดปากตัวเองไม่ได้ ก็เข้าคุก มันไม่ถูกตรงไหนล่ะ นอกจากนี้ยังมี "ค่านิยม" ของสังคมกำกับด้วย เราด่าพ่อล่อแม่ตัวเองไม่ได้ ก็ไม่เห็นโวยวายกันนี่นะ

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ไม่เห็น "ความบริสุทธิ์ใจ" ที่จะแก้ ม.112 นี้เลย

กฎหมายมีไว้คุ้มครองป้องปราม คนดีๆ คนไหนถูกกฎหมายนี้เล่นงาน ก็บอกมาสิ ถ้าไม่มี แปลว่าคนดีๆ เขาไม่เดือดร้อน

และอย่าคิดว่า จะเอา "คนเชื้อเจ้า" มาเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเลย เพราะนี่เป็นเรื่องที่ "คนในชาติ" ได้สร้างกฎหมายขึ้น ใช้มานานมากแล้ว ไม่เคยเกิดปัญหา แต่คนบางพวกกำลังทุรนทุรายกับกฎหมายที่ห้ามจาบจ้วงให้ร้ายประมุขในชาติของตนเอง ไม่ใช่เรื่องของ "ชนชั้นในสังคม"

คนเชื้อเจ้าเหล่านั้น ในทางนิตินัยก็คือ "ประชาชน" เท่ากับคนอื่นๆ

ถึงจะมีเชื้อเจ้า ก็ไม่ใช่ความชอบธรรมของการแก้กฎหมายอย่างไม่มีเหตุผล และไม่ได้รับฉันทามติจากสังคม เพราะกฎหมายข้อนี้ ไม่ใช่ "ระเบียบปฏิบัติ" ใน "บ้านเจ้าวังนาย" ที่จะใช้ "ระบบเครือญาติ" มาแก้ แต่เป็น "หลักการทางกฎหมาย" ของ "ประเทศชาติ"

แต่ละท่านก็ต้องกลั่นกรองให้ดีๆ ว่าเรื่องแบบนี้ควรที่จะรั้งสังคมให้กลับมามีเหตุมีผล หรือจะรีบพลีตนเป็น "อาวุธ" ให้คนที่อยากจะล้มเจ้าใช้อย่างเอิกเกริก

กระนั้นก็เถอะ ต่อให้ความเคลื่อนไหวแบบนี้มีอยู่จริง ผมก็ยังเชื่อว่า "คนเชื้อเจ้า" อยู่ในชั้นที่จะ "รู้คิด" และ "คิดเป็น"

แม้เขาจะพยายามแอบอ้าง "พระราชดำรัส" มาทำให้ไขว้เขวได้อย่างง่ายๆ ก็ตาม!!

จิตกร บุษบา

ศาลรัฐธรรมนูญ----ความเป็นองค์กรสูงสุดที่ต้องรักษาไว้


ผม ติดตามข่าวการครบวาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความไม่สบายใจนัก เพราะตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวได้ความว่า สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งมายังวุฒิสภาว่า ในต้นเดือนตุลาคม จะมีศาลรัฐธรรมนูญครบวาระตามมาตรา ๓๒๒ ของรัฐธรรมนูญ จำนวน ๔ ท่าน จึงขอให้วุฒิสภาดำเนินการสรรหาและคัดเลือกเพื่อจักได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป

เมื่อเรื่องมาถึงวุฒิสภา เกิดมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงครบวาระเพียง ๔ ท่าน ทำไมไม่ครบวาระ ๙ ท่าน ตามที่ควรจะเป็นตามมาตรา ๓๒๒ และตามข่าวได้ปรากฏต่อไปอีกว่า วุฒิสภามีทีท่าว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบวาระกี่ท่านกันแน่

เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องตามสมควร จึงจำเป็นต้องท้าวความถึงที่มาที่ไปให้เป็นพื้นฐานไว้ก่อน

เมื่อรัฐธรรมนูญออกใช้บังคับเมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๓๒๐ ว่าให้ดำเนินการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา ๒๕๕ ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๑๕ ท่าน โดยมีที่มาดังนี้

๑. ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๕ ท่าน

๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๒ ท่าน

๓. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งวุฒิสภาในขณะนั้น (ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้เลือก จำนวน ๕ ท่าน

๔. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งวุฒิสภาในขณะนั้นเลือก ๓ ท่าน

แต่โดยที่ในขณะนั้นยังไม่มีศาลปกครอง บทเฉพาะกาลจึงกำหนดไว้ว่าให้ศาลศาลรัฐธรรมนูญมีเพียง ๑๓ ท่าน ไปก่อนจนกว่าจะมีศาลปกครอง ซึ่งต่อมาหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปัจจุบันแล้ว จึงมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น และตุลาการศาลปกครองจึงมีครบจำนวน ๑๕ ท่านนับแต่นั้นมา

คงจะเป็นด้วยผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าวุฒิสภาในขณะนั้นมิได้มาจากการ เลือกตั้ง การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ จึงกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๓๒๒ ว่า

“ในวาระเริ่มแรก ฯ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ที่วุฒิสภาฯ (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) มีมติเลือก ให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่งของวาระที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งดัง กล่าว ฯลฯ”

วาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ มี ๙ ปี กึ่งหนึ่ง จึงเหลือ ๔ ปี ๖ เดือน ซึ่งระยะเวลา ๔ ปี ๖ เดือนดังกล่าวจะครบในวันที่ ๑๐ ตุลาคม นี้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกและต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะมีอายุครบ ๗๐ ปี จำนวน ๓ ท่าน ใน ๓ ท่านนั้น ได้มีการเลือกซ่อมโดยวุฒิสภาชุดเก่า ๒ ท่าน ส่วนอีกหนึ่งท่านเลือกโดยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดก่อนนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง จึงเหลืออยู่ เพียง ๙ ท่าน

ใน ๙ ท่านนี้ เป็นผู้ซึ่งวุฒิสภาชุดเก่าเลือก ๔ ท่าน และอีก ๕ ท่าน ศาลฎีกาเป็นผู้เลือก

ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้ง ๙ ท่านนั้น ควรจะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ ๑๐ ตุลาคม นี้ อันเป็นเวลาครบ ๔ ปี ๖ เดือน หรือว่าเฉพาะแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดเดิมเลือกซึ่งเหลืออยู่ ๔ ท่านเท่านั้นจึงจะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ศาลฎีกาเลือก ๕ ท่าน ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เพราะจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบ ๙ ปี เนื่องจากวุฒิสภามิได้เป็นผู้เลือก

ในปัญหาเรื่องนี้สำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่ธุรการให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังวุฒิสภาว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะมีอายุครบ ๗๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดที่แล้วเป็นผู้เลือกอีก ๓ ท่านจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ อันเป็นวันที่ครบ ๔ ปี ๖ เดือน จึงมีตำแหน่งว่างที่วุฒิสภาปัจจุบันจะต้องดำเนินการสรรหาและเลือก เพียง ๔ ตำแหน่ง

เมื่อเรื่องถูกส่งไปยังวุฒิสภา วุฒิสภาเกิดข้อสงสัยว่า เฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๔ ท่านนั้นเท่านั้นที่พ้นจากตำแหน่ง หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ ท่าน จะต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน

เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นดังกล่าว วุฒิสภาจึงดำเนินการปรึกษาหารือกันในหมู่ที่ปรึกษากฎหมายบ้าง โดยกรรมาธิการคณะพิเศษบ้าง แต่ก็ยังหาข้อลงรอยเป็นแนวเดียวกันไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวออกมาว่า จะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ ว่าจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าไรกันแน่

โดยที่ประชุมวุฒิสภาจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่มีความเห็นว่าตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญจำนวน ๔ ท่านเท่านั้นที่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนอีก ๕ ท่านยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพ้นจากตำแหน่งจำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นที่ผมเป็นห่วงใย และไม่คิดจะแสดงความเห็น

ข่าวเรื่องที่จะส่งปัญหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี่ต่างหากที่ทำ ให้ผมทุกข์ใจ เพราะหากมีการส่งเรื่องไปจริง จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเสียหายอย่างร้ายแรง และกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีทางแก้ไข

ที่ผ่านมาบางครั้งบางคราวแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และได้แสดงความไม่เห็นด้วยนั้นไว้ให้ปรากฏ

แต่ผมจะทำก็แต่เฉพาะเมื่อเห็นว่า ปัญหาเรื่องนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องของความเห็นทางกฎหมายในเชิงวิชาการ หรือเป็นการติติงเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญไว้เท่านั้น

การที่ผมหวั่นเกรงไปว่าการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะเสียหายต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑. เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การให้ศาลรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นผู้วินิจฉัยเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่รู้จะอ้างอะไร ครั้นจะรับไว้พิจารณา ก็จะเกิดการประดักประเดิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องขององค์กรเอง

๒. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับไว้แล้ว ก็จะต้องพิจารณาต่อไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับเลือกจากที่ ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่พ้นจากตำแหน่ง โดยยังอยู่ต่อไปได้จนครบ ๙ ปี ผู้คนก็จะกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่าเห็นแก่พวกพ้องของตนเอง แม้ว่าคำวินิจฉัยนั้นจะเป็นไปโดยสุจริตใจอย่างแท้จริงก็ตาม

การพิจารณาใด ๆ ที่ผู้พิจารณาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับส่วนได้เสียของ สมาชิกในองค์กรถึงหนึ่งในสาม ย่อมขาดอิสระอย่างแท้จริงที่จะพิจารณาได้ ความเกรงกลัวว่าจะถูกกล่าวหาดังกล่าวอาจทำให้วินิจฉัยไม่ตรงต่อความนึกคิด หรือความเห็นที่แท้จริงของแต่ละท่านได้

๓. ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตุลาการอีก ๕ ท่าน ต้องพ้นไปเมื่อครบกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน ความร้าวฉานก็อาจเกิดขึ้นในการทำงานต่อไปของศาลรัฐธรรมนูญได้

ปัจจุบันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่จำนวน ๑๕ ท่าน เมื่อประธานพ้นไปเพราะอายุครบ ๗๐ ปี การพ้นนั้นจะต้องพ้นไปในทันที ดังนั้นหลังจากวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเหลือเพียง ๑๔ ท่าน

ใน ๑๔ ท่าน นั้น ๓ ท่านจะต้องพ้นไปเมื่อถึงวันที่ ๑๐ ตุลาคม แต่จะยังอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนอีก ๕ ท่านที่มาจากศาลฎีกา จะยังเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัย แต่เมื่อถึงคราววินิจฉัยเรื่องนี้ท่านเหล่านั้นก็คงไม่อาจนั่งร่วมพิจารณา ด้วยได้

จึงเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำหน้าที่ในเรื่องนี้เพียง ๙ ท่าน ซึ่งจะเป็นจำนวนพอดีที่จะทำหน้าที่ใด ๆ ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย มาตรา ๒๖๗ กำหนดว่าต้องมีตุลาการไม่น้อยกว่า ๙ ท่าน

ถ้าเกิดล้มหายตายจากไป สักคนเดียว ก็จะทำงานกันต่อไปไม่ได้

สมมุติว่าใน ๙ ท่านนั้น (ซึ่งใน ๙ ท่านนั้น มี ๖ ท่านยังอยู่ต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา อีก ๓ ท่าน จะต้องออกไปแน่นอน )มีมติวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก ว่าตุลาการอีก ๕ ท่านพ้นจากตำแหน่ง ตุลาการที่จะเหลืออยู่ในตำแหน่งจริง ๆ จะมีเพียง ๖ ท่าน ซึ่งจะไม่เพียงพอที่จะทำงานใด ๆ ต่อไปได้ จนกว่าตุลาการใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องรอนานอีกเท่าไร

จริงอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ตุลาการทั้ง ๙ ท่านที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะยังคงสามารถทำหน้าที่อยู่ต่อไปได้จนกว่าตุลาการใหม่จะเข้ารับหน้าที่

แต่ใครจะคิดบ้างไหมว่า ระหว่างตุลาการฝ่ายข้างมากที่ลงมติวินิจฉัยให้ตุลาการอีก ๕ ท่านพ้นจากตำแหน่ง จะทำงานร่วมกันกับตุลาการที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นมนุษย์ แม้จะน่าเชื่อว่าท่านเหล่านั้นมีคุณธรรมสูงพอที่จะไม่นำเรื่องส่วนตัวมาปะปน กับการทำงาน แต่ใครจะรับรองได้ว่าความนึกคิดในประเด็นต่าง ๆ จะไม่กลายเป็นการแบ่งเป็น ๒ ขั้ว หรืออย่างน้อยก็จะถูกจับตามองจากสังคมไปในแนวทางนั้น

จะทำงานร่วมกันได้ต่อไปอย่างไรก็นึกไม่ออก

มีมติอะไรออกมา ก็อาจถูกตั้งข้อสงสัยอยู่ร่ำไป

แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเหลืออะไร

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้ทราบพร้อมทั้งแถลงถึงเหตุผลแล้ว ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบวาระเพียง ๔ ท่าน

การที่สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งหรือออกแถลงการณ์ ออกมานั้น คิดหรือว่าเป็นการทำโดยลำพัง โดยไม่ปรึกษาหารือกับใครบ้าง

เราจะยุติแต่เพียงนี้กันได้หรือไม่

เพื่อรักษาศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรสูงสุดและทำประโยชน์อย่างน่าเชื่อถือให้แก่บ้านเมืองได้ต่อไป

จริงอยู่ดำริของวุฒิสภาที่จะส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ไม่ใช่ความผิดของวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาคงประสงค์จะทำหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย มีข้อสงสัยใดก็อยากให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ซึ่งเป็นความรอบคอบที่น่าสรรเสริญ

แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการหาข้อยุติ กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์กรสูงสุด

บางทีเราอาจจะต้องนึกถึงหลักรัฐศาสตร์ไว้บ้างเหมือนกัน

เพราะถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาศาลรัฐธรรมนูญไว้ ต่อไปการพัฒนาการเมืองโดยอาศัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวจักรสำคัญ ก็จะเป็นไปได้ยาก

ลองช่วยกันคิดดูเถอะครับ!!



  มีชัย ฤชุพันธุ์

ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง