จากกรณีที่เว็บ ไซต์ www.bangkokbiznews.com หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้เผยแพร่ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้
สาเหตุที่มาของข้อครหานี้คงมาจากมาตรา 7(3) ในร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว ซึ่งเขียนข้อความประหนึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลังในการดึงเอาเงินหรือ สินทรัพย์ต่างๆของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาใช้เพื่อชำระหนี้เงินกู้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทของกองทุนฟื้นฟูฯ
ผมคิดว่าหากเราจะทำความเข้าใจกับประเด็นความขัดแย้งนี้ได้อย่างลึก ซึ้งถ่องแท้ เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่าหนี้ก้อนโตจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท นี้มีที่มาอย่างไร ใครเป็นคนทำให้เกิดหนี้จำนวนมหาศาลขนาดนี้ได้
ผมจะพาผู้อ่านย้อนกลับไปในปี 2540 กลับไปสู่ช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมกันเลยครับ
ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้เริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ใกล้แตกปรากฏขึ้นเป็นระยะ เริ่มต้นจากการที่สถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก จนสั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ในวันที่ 27 เดือนมิถุนายน 2540 นั้นเอง ทางการได้สั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนจำนวน 16 แห่งเป็นระยะเวลา 30 วัน
ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงยืนยันผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ซึ่งมีใจความสำคัญสองประการคือ หนึ่ง จะไม่มีบริษัทเงินทุนใดๆ ถูกสั่งให้หยุดดำเนินกิจการนอกเหนือไปจาก 16 บริษัทดังกล่าว และ สอง รัฐบาลจะรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ทั้งในประเทศและนอกประเทศของบริษัท เงินทุนทุกแห่งที่ไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดดำเนินการ
การประกาศลดค่าเงินในเดือนกรกฏาคม 2540 ทำให้สถาบันการเงินต่างๆที่มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ต้องมีภาระการชำระคืนที่เพิ่มขึ้นในทันที ซึ่งได้ก่อให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้
รัฐบาลของพลเอก ชวลิต จึงได้มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังให้กองทุนฟื้นฟูฯดำเนินการประกัน เงินฝากให้กับผู้ฝากเงินและรับประกันหนี้ของเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินด้วย โดยมาตรการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ มาตรการ 5 สิงหาคม 2540
โดยในแถลงการณ์ร่วมของกระทรวงการคลังและธปท ในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 นั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า
“ในการรับประกันเงินฝากและหนี้สินของบริษัทเงินทุน ที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รัฐบาลจะให้กองทุนพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการ รับประกัน โดยแยกบัญชีต่างหากจากการดำเนินการด้านอื่นของกองทุนฟื้นฟูฯ และรัฐบาลจะรับผิดชอบภาระจากการรับประกันนี้”
สถาบันการเงินที่เข้าข่ายได้รับการประกันจากรัฐบาลนั้นได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 19 แห่ง บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 33 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อีก 12 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้คือสถาบันการเงินที่ไม่ได้มีคำสั่งให้ระงับกิจการในเวลานั้น นั่นเอง
จะเห็นได้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ต้องรับบทหนัก ในฐานะที่ให้การรับประกันความเสียหายที่จะเกิดกับผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของ สถาบันการเงินที่ยังดำเนินการอยู่ในเวลานั้น ซึ่งหมายความว่าหากสถาบันการเงินนั้นๆ ต้องปิดกิจการลง กองทุนฟื้นฟูฯ จะรับภาระจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน
กองทุนฟื้นฟูฯ มิได้มีสินทรัพย์มากมายแต่อย่างใด เงินของกองทุนฟื้นฟูฯ นี้มีที่มาหลักๆ ก็จากเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสรรให้ (ซึ่งก็เป็นการจัดสรรให้เป็นคราวๆ ไป) และเงินที่สถาบันการเงินนำส่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนของยอดเงินฝาก (หรือเงินกู้ยืม แล้วแต่กรณี) ดังนั้นเพื่อให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถหาแหล่งเงินทุนมาเจือจุนการรับประกันนั้น กองทุนฟื้นฟูฯ จึงต้องทำการกู้ยืมหรืออกพันธบัตร โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ให้การค้ำประกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องของสถาบันการเงินหาได้บรรเทาลงไม่ ในเดือนสิงหาคมปีนั้น ทางการได้ประกาศปิดบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวเพิ่ม อีก 42 บริษัท รวมเป็นบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกปิดกิจการทั้งสิ้น 56 บริษัท
จากคำมั่นสัญญาที่จะให้ความคุ้มครองกับสถาบันการเงินที่ยังไม่ถูกปิด ของ พลเอกชวลิต เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นั้น บัดนี้ได้กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะต้องหาเงินมาชดเชยความเสียหายให้กับผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการ เงินที่ถูกสั่งปิดกิจการทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน
จากรายงานของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการ บริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (หรือ ศปร.1) ระบุว่านับแต่เดือนสิงหาคม 2540 ที่ได้มีการประกาศปิดบริษัทเงินทุนและเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 56 แห่ง เมื่อถึงปลายปี 2540 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือสถาบันการเงินไปกว่า 7แสนล้านบาท
เงินจำนวนมหาศาลนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มาจากการออกพันธบัตรระยะสั้น ขายให้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี กองทุนฟื้นฟูฯกลับต้องจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรในอัตราที่สูงมาก เพื่อแลกกับการพยุงสถานะของระบบการเงิน อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่กองทุนฟื้นฟูต้องจ่ายนั้นในบางช่วงสูงถึงร้อยละ 24 ต่อปี วิธีการดำเนินการเช่นนี้ สร้างภาระที่พอกพูนยิ่งขึ้น จนกองทุนฟื้นฟูฯมีเงินกองทุนติดลบ และทำให้ไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินอื่นๆได้ ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นการกู้ยืมผ่านพันธบัตรของกองทุนฯ ทำให้การจัดสรรสภาพคล่องในตลาดเงินเกิดความบิดเบือนตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2541 รัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย จึงออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพันธบัตรกู้เงิน เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นจำนวน 500,000 ล้านบาท หรือที่เรียกว่าพันธบัตร FIDF 1 โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำส่งเงินเข้ามาใช้หนี้ที่เป็นเงินต้น ประมาณ 90% ของกำไรสุทธิของ ธปท. โดยคาดว่าจะชำระหนี้หมดภายในระยะเวลา 30 ปี ส่วนภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการออกพันธบัตรนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง
ฐานะการเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะสินทรัพย์ที่มีล้วนแต่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้รัฐบาลในเวลาต่อมาต้องออกพันธบัตร FIDF 2 (ในปี 2543) และ FIDF 3 (ในปี 2545) ในวงเงิน 112,000 ล้านบาท และ 780,000 ล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อนำเงินกู้ทั้งหมดมารวมเข้าเป็นกองเดียว มูลหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯมีมูลค่ารวมเท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท
มาถึงวันนี้หนี้ก้อนดังกล่าว ได้ถูกชำระเงินต้นไปบ้างแล้ว ซึ่งทำให้ยอดคงค้างมีมูลค่าเท่ากับ 1.14 ล้านล้านบาท นับจากปีที่ออก FIDF 3 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลาร่วมสิบปีแล้ว มูลหนี้ได้ลดลงไปเพียง 2.6แสนล้านบาท คิดเฉลี่ยต่อปีจะได้ว่า เงินต้นได้รับการชำระในจำนวน 2.6หมื่นล้านบาทต่อปี
เงินต้นที่ได้รับการชำระไปเพียงเล็กน้อยนี้ได้สร้างภาระต่อกระทรวง การคลังตามไปด้วย เพราะต้องจัดงบประมาณประจำปีไว้เพื่อจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร ภาระนี้ได้สร้างข้อจำกัดทางด้านการคลังต่อรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องอาศัยงบ ประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินการโครงการตามที่หาเสียงไว้ และโครงการฟื้นฟูประเทศภายหลังมหาอุทกภัยในปี 2554
นี่จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องเร่งออกพระราชกำหนดเพื่อโอนภาระการ ชำระดอกเบี้ยพันธบัตร FIDF รุ่นต่างๆ ไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยใน พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ระบุให้กองทุนฟื้นฟูฯ (ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นผู้รับผิดชอบการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของพันธบัตร FIDF ทั้ง 3 รุ่น โดยในมาตรา 5 ของร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดตั้งบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนเงิน กู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้น โดย ธปท.จะต้องนำส่งเงินหรือสินทรัพย์ ต่อไปนี้เข้าในบัญชีสะสมในแต่ละปี อันได้แก่ หนึ่ง ผลกำไรของ ธปท. ในแต่ละปีจะต้องถูกนำส่งเข้าบัญชีเพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยใน อัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 สอง สินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีจะถูกโอนเข้าบัญชีสะสมนี้ แทนที่จะนำส่งเข้าบัญชีสำรองพิเศษตามพระราชบัญญัติเงินตรา(มาตรา33) สาม เงินหรือสินทรัพย์ใดๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ซึ่งเป็นมาตรา 7(3) ในร่าง พ.ร.ก. นั่นเอง) และ สี่ ให้กองทุนฟื้นฟูฯ นำส่งเงินที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินเข้าบัญชีสะสมนี้
จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้แปลงหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จากหนี้สาธารณะให้กลายเป็นภาระที่แบงก์ชาติ และสถาบันการเงินต้องช่วยกันแบกรับแทน สถาบันการเงินนั้นต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งไม่ต่างจากการจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล กรณีนี้อาจพอจะเข้าใจได้ หากมองว่าสถาบันการเงินคือผู้ได้รับประโยชน์จากการก่อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ดังนั้นจึงสมควรต้องแบ่งเบาภาระหนี้ส่วนนี้บ้าง
แต่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไป การที่ธนาคารกลางรับชำระคืนหนี้สาธารณะนั้น จะกระทำได้ก็ด้วยการพิมพ์ธนบัตรใหม่ขึ้นมาเพียงสถานเดียว เราทราบกันดีว่าวิธีการ Monetize public debt หรือพิมพ์เงินเพื่อชำระหนี้สาธารณะนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงธนาคารกลางที่ถูกครอบงำโดยรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังอีกด้วย ประเด็นหลังนี้สร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินมาก เพราะจะทำให้นโยบายการเงินไร้ประสิทธิภาพ จนไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
ผมเชื่อว่าเราคงไม่อยากเห็นสถาบันที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตกอยู่สภาพเช่นนั้นนะครับ ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง เรายังต้องการนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่นักการเมืองไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาได้
Tags :
รศ.ดร. วิมุต วานิชเจริญธรรม