‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ กลายเป็นประเด็นที่ถูกเอ่ยถึงท่ามกลางสภาวการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบครึ่งศตวรรษ ‘ภาษีน้ำท่วม’ คือเครื่องมือหารเฉลี่ยที่ถูกพูดถึง เมื่อประชาชนกลุ่มใหญ่ยังสามารถใช้ชีวิตแห้งๆ กลางวงป้องกันของรัฐ แต่ประชาชนกลุ่มใหญ่กว่าเปียกปอนและได้รับความเสียหายสุดคณานับ จึงฟังดูมีเหตุผลเพียงพอที่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมควรแบกรับภาระ ต้นทุนบางอย่างร่วมกัน แต่การลงมือทำจริงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้หลายด้านประกอบ
โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
แนวคิดการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมถูกจุดขึ้นครั้งแรกโดยนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี 2554 โดยเสนอว่าให้จัดเก็บภาษีในเขตที่มีน้ำท่วมเพื่อนำเงินมาจัดทำระบบระบายน้ำ แต่ถูกคัดค้านจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แล้ว ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็จุดประเด็นเรื่องนี้อีกครั้ง แต่แตกต่างในรายละเอียด ข้อเสนอของ ดร.อัทธ์คือควรเก็บภาษีน้ำท่วมจากคนกรุงเทพฯ เพื่อนำเงินไปชดเชยพื้นที่ที่รับน้ำแทน รวมถึงนำมาจัดระบบน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะที่ ดร.อัทธ์ เสนอ กรุงเทพฯ ยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้แนวคิดดังกล่าวถูกพูดถึงในระยะแรกๆ พร้อมยกตัวอย่างการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมในประเทศออสเตรเลีย จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรัฐควีนแลนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ก่อนที่ประเด็นนี้จะค่อยๆ จมหายไปกับสายน้ำ
สถานการณ์ก่อนหน้ากับความพยายามปกป้องกรุงเทพฯ อย่างแข็งขัน แม้ว่าภายหลังจะเอาไม่อยู่ก็ตาม ได้ก่อคำถามในประเด็นความเป็นธรรมทางสังคมและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่า เทียม ความรู้สึกดังกล่าวถูกตอกย้ำอีกครั้งจากแถลงการณ์ของสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทยที่เสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ โดยข้อหนึ่งมีใจความว่า ให้รัฐบาลปกป้องกรุงเทพฯ ให้ถึงที่สุดเพราะเป็นศูนย์กลางติดต่อธุรกิจและติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศ ภาษีน้ำท่วมจึงยังคงเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณา
ภาษีน้ำท่วม ทำจริง ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ว่ากันตามหลักการแม้ภาษีน้ำท่วมสามารถทำได้ แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี อย่างอมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ ผู้อำนวยการโรงเรียนภาษี ซึ่งเป็นสถาบันเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรด้านภาษีและตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ กลับเห็นว่าในทางปฏิบัติยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาอยู่มาก
เบื้องต้น อมรศักดิ์อธิบายว่า ภาษีทุกประเภทเป็นนโยบายมหภาค เมื่อมีการกำหนดนโยบายภาษีใดๆ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งภาษีน้ำท่วมก็ไม่มีในทางทฤษฎี คำถามต่อมาของอมรศักดิ์ก็คือแล้วจะใช้ภาษีตัวไหนในการเก็บ เพราะหากไปเพิ่มภาษีจากฐานภาษีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หลักในการลดช่องว่างและ กระจายรายได้ ย่อมทำให้การทำหน้าที่ของภาษีดังกล่าวผิดเพี้ยนไปแต่สิ่งที่ดูจะยุ่งยากยิ่ง กว่าในมุมของอมรศักดิ์คือการพิสูจน์
“ผมเห็นด้วยกับการจัดเก็บ แต่ต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าการที่น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าปล่อยให้ท่วมกรุงเทพฯ แล้วคนจังหวัดอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า ก็ยังเดือดร้อนอยู่ สมมติว่าขณะนี้เดือดร้อน 100 แต้ม ถ้าปล่อยให้ท่วมกรุงเทพฯ จะเดือดร้อน 95 แต้ม มันไม่ใช่ศูนย์นะครับ ไม่ใช่ว่าปล่อยท่วมกรุงเทพฯ แปลว่าจังหวัดอื่นไม่เดือดร้อน คุณต้องพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ให้ได้ก่อน แล้วอย่าลืมว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ประเทศ แล้วคุณจะเก็บตรงไหน เก็บเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเปล่า สมมติว่าอยุธยามีบางจุดที่ไม่ท่วมจะเก็บหรือไม่”
ประเด็นนี้ในทางปฏิบัติไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแบบร้อย เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยต้องสร้างเงื่อนไขพื้นฐานขึ้นมาชุดหนึ่ง อมรศักดิ์เสนอว่า หากจะเก็บก็ควรเป็นในรูปของค่าธรรมเนียม เพราะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติน้อยกว่าและส่งผลกระทบไม่กว้างเท่ากับนโยบาย ภาษีซึ่งเป็นเรื่องเชิงมหภาค
ปรับโครงสร้างภาษีและจัดผังเมือง ต้องทำพร้อมกัน
ในมุมของ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ประเด็นไกลกว่าการเก็บภาษีเฉพาะหน้าว่า
“ภาวะที่กรุงเทพฯ มีกำลังป้องกันตัวเองมากกว่า แล้วพื้นที่รอบนอกรับภาระน้ำ อย่างนี้เรียกได้ว่ากรุงเทพฯ ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ กทม. ลงทุนไป ถ้าเป็นเหตุเฉพาะหน้าแล้วจะเก็บภาษีก็พอจะทำได้แต่ถ้ามองระยะยาวต้องคิดหนัก เพราะหมายถึงเรายอมรับปัญหาน้ำท่วมแล้วใช่มั้ย กทม. ภาษีน้ำท่วมไม่ใช่สิ่งเชิดหน้าชูตา มันอาจนำมาใช้ได้เมื่อประชาชนข้างนอกไม่ได้เตรียมตัวรับน้ำ คนข้างในได้ประโยชน์ แต่ระยะยาวมันเหมือนเป็นกระจกฟ้องว่าเราบริหารน้ำไม่ได้”
แต่หากจะต้องเก็บภาษีน้ำท่วมกันจริงๆ คำถามสำคัญคือจะเก็บจากใคร ดร.อดิศร์ กล่าวว่า สามารถเก็บได้จากหลายฐาน เช่น ฐานรายได้จากกิจกรรมในกรุงเทพฯ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น แต่ในมุมของ ดร.อดิศร์ เห็นว่าควรเก็บจากฐานภาษีที่ดินเนื่องจากเชื่อมโยงกับน้ำท่วมโดยตรง ทว่า การจะเก็บภาษีน้ำท่วมจากฐานที่ดินก็มีความซับซ้อนที่ภาครัฐจะต้องลงมือ จัดการก่อน
“การจะเก็บภาษีน้ำท่วมจากฐานที่ดินต้องนิยามขอบเขตก่อนว่าจะเก็บจากใคร เพื่อชดใช้ใคร ซึ่งถ้าไม่ได้ทำโซนนิ่งแล้วจะเก็บภาษี มันก็แปลก ดังนั้น จึงต้องทำโซนนิ่งก่อน การเก็บภาษีก็จะเริ่มมีความละเอียดขึ้น เช่น ถ้าคุณอยู่ถูกที่ถูกทางคุณก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าอยู่ในเขตสุขุมวิท สีลม ก็ต้องจ่ายแพงหน่อย หรือถ้าคุณไปตั้งโรงงานหรือนิคมในพื้นที่รับน้ำก็ต้องจ่าย เพราะรัฐต้องปกป้อง”
ดร.อดิศร์ กล่าวว่า การใช้เครื่องมือทางภาษีและการจัดผังเมืองที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะ ยาว เพราะโครงสร้างภาษีที่ดินที่สอดคล้องกับการวางผังเมืองจะช่วยจัดการพื้นที่ ให้กิจกรรมแต่ละอย่างอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ยกตัวอย่างเช่นหากนิคมอุตสาหกรรมตั้งในที่ที่รัฐจัดให้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ น้ำไม่ท่วมก็อาจได้รับการลดหย่อนภาษี แต่ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็จะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีหรือไม่ควรได้รับการชด เชยความเสียหาย เป็นต้น
ต้องออกแบบกฎหมาย
ภาษีน้ำท่วมไม่มีข้อห้ามในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ในเชิงกฎหมายก็มีคำถามว่าสามารถจัดเก็บได้หรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า กฎหมายให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้โดยต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือต้องไม่มีการ เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่มิได้หมายความว่าต้องได้ปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน ผู้มีรายได้สูงย่อมควรเสียภาษีสูงกว่าผู้ที่รายได้น้อย เพราะเป้าหมายคือนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หากพิจารณาจากจุดนี้จะเห็นว่ากฎหมายเปิดช่องให้รัฐสามารถเก็บภาษีน้ำท่วมได้
แต่วีรพัฒน์กลับมองว่า จุดตั้งต้นของแนวคิดภาษีน้ำท่วมวางอยู่บนตรรกะที่ผิด
“เพราะเรากำลังบอกว่าเพียงเขาไปอยู่ในพื้นที่หนึ่งซึ่งอาจไม่รู้มาก่อน ว่าจะได้รับการปกป้อง ทำไมเขาจึงต้องจ่ายภาษีเพราะเหตุที่เขาไปอยู่ในพื้นที่นั้น ถ้าเราใช้ตรรกะแบบนี้ได้ก็จะนำไปสู่ปัญหาอื่น สิ่งที่ผมเสนอคือภาษีเก็บได้แต่ต้องเก็บด้วยตรรกะและวิธีการที่ถูกต้องว่า ประเทศเป็นของเราทุกคน ต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพียงแต่มาตรการภาษี ประโยชน์ของมันเป็นการทำอย่างพร้อมเพรียงและเป็นระบบ สามารถจัดเก็บรายได้และนำไปใช้เป็นก้อนใหญ่ได้ การช่วยคนน้ำท่วมก็เท่ากับช่วยคนไม่ถูกน้ำท่วม เพราะปัญหามันส่งผลกระทบไปหมด แนวคิดนี้อยู่บนพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม”
วีรพัฒน์ ยังเสนอว่าควรใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางประชาธิปไตยโดยการร่วมเสนอ กฎหมายที่สามารถนำมาใช้รับวิกฤตในอนาคตได้อีก แนวคิดคือการมีกฎหมายที่เปิดช่องให้คณะรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลพินิจเสนอ มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเสนอต่อสภาเป็นครั้งๆ เพื่อให้เกิดการกลั่นกรองและติดตามการทำงานจากฝ่ายนิติบัญญัติ
วีรพัฒน์ กล่าวว่า การออกมาตรการใดๆ หรือแม้กระทั่งการเก็บภาษีน้ำท่วม ไม่ใชเรื่องทางกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นทางการเมืองด้วย
“ถ้าผมเป็นฝ่ายบริหารจะออกกฎหมายขึ้นภาษี ถ้าฝ่ายค้านรุมด่า ผมก็แพ้เลือกตั้ง จะให้สภาเสนอกันเองก็ไม่ทำอีก เดี๋ยวโดนประชาชนด่าอีก ต่างฝ่ายต่างกลัวผลกระทบทางการเมือง แต่กฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปมนี้ เพราะเป็นการบังคับให้ ครม. เสนอก่อนโดยให้สภากลั่นกรองว่าจะเอาหรือไม่ สมมติว่าสภาไม่เอา สุดท้ายประชาชนเดือดร้อน คนก็จะถามสภา แต่ถ้าผ่านออกมาแล้วไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ก็ต้องรับผิดทั้งคู่ ถ้าดีก็ได้เครดิตทั้งคู่ มันจึงมีแรงจูงใจให้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติช่วยกันดูว่า จะทำยังไงให้มาตรการนี้สมเหตุสมผล เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์สาธารณะ”
การเก็บภาษีน้ำท่วมหรือมาตรการใดๆ เพื่อเยียวยาสถานการณ์วิกฤต นอกจากมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ วีรพัฒน์เห็นว่ายังต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายที่รัดกุม ลดความขัดแย้งทางการเมือง และเปิดช่องทางให้สังคมสามารถตรวจสอบมาตรการของรัฐได้

รูปประกอบจาก www.thaitravelnews.net


 
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง