บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กิตติรัตน์ “พยานปากเอก ว.๕ ชั้น ๗”


เปลว สีเงิน

เย็นวาน (๒๐ ก.พ.๕๕) ตั้งใจจะไปดูหนัง The Ides of March หรือในชื่อไทยว่า “การเมืองกินคน” ที่เขาฉายให้ดูที่พารากอน แต่ก็ “ตกรอบ” จนได้ เพราะมัวคุยตรงนี้นั่นแหละ แต่ยังไงก็ต้องตามไปดูวันหลังให้ได้ เขาจะเริ่มฉายจริงวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ก.พ. เหตุที่ต้องดู นอกจากผม “ชอบผู้ชาย” ที่ชื่อ “จอร์จ คลูนีย์” แล้ว โครงเรื่องนี้มาจาก “การเมืองสหรัฐ” กล่าวกันว่า นักการเมืองไม่ดูก็ได้ เพราะเลวอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แต่ระดับชาวบ้านต้องดู จะได้รู้ว่า เบื้องหน้าสวยงามของนักการเมืองนั้น ล้วนมาจากเบื้องหลังแสนทราม กระทั่งระหว่าง “เพื่อนรักร่วมพรรค” ก็ยังหักกันได้!
เมื่ออดดูหนัง ก็มานั่งจ๋องๆ คุยต่อ แต่ภาพยนตร์จากเรื่องจริง “ว.๕ ชั้น ๗” ที่กำลังฉายทั่วประเทศ และทั่วโลกอยู่ตอนนี้ ทำท่า “ปิดฉากไม่ลง” ไปเรื่อยๆ ตัวพระ-ตัวนาง อันเป็นตัวแสดงนำ ก็ค่อยๆ ออกฉาก “เผยโฉม” ทีละตัว…ทีละตัว เหมือนหนังสืบสวน แต่แทนที่จะคลายปม
กลับขมวดปม ชวนให้ผู้ชมตามจินตนาการตัวเกร็ง!?
ก็ดูซี ตอนเปิดฉากมี “เธอ” คนเดียว คือตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต่อมาก็มี “เขา” คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้เปิดเผยโฉมหน้าเข้ามาร่วมฉากเรื่อง ว.๕ ชั้น ๗ ด้วยตัวเอง
แล้วเมื่อวาน (๒๐ ก.พ.) รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็รำป้อเข้ามาร่วมฉากเป็นบุคคลที่ ๓ อีกคน โดยบอกว่า วันนั้น…ก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์ ว.๕ ชั้น ๗ ด้วย!
ผมก็มานั่งคิดๆ อืมมมม…จากวันเกิดเหตุ ๘ ก.พ. จนห่างออกไป ๑๐ วัน ๑๒ วัน สังคมตะโกนถามกันขรม แต่คน “อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ” กลับนั่งเฉย
นายเศรษฐา กับนายกิตติรัตน์ คงจะเพิ่ง “คิดอะไรได้” จึงยอมเผยตัวออกมาว่าเป็นผู้ร่วมในรายการ ว.๕ ของนายกฯ อย่างที่เธอบอกนักข่าววันแรกว่า…”ในฐานะนายกฯ สามารถไปเจอกับใครก็ได้”!?
เออออ…ถามจริงๆ เถอะ คุณกิตติรัตน์เป็นรองนายกฯ ทำงานร่วมคณะรัฐบาลกับยิ่งลักษณ์ จะให้ความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง-การเงิน กันในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้หรือไง หรือไม่พบหน้า-พบตากันเลย จึงต้อง ว.๕ หนีประชุมสภาฯ หลบคณะทำงาน ไปหารือกันถึงในที่รโหฐานแบบนั้น
คือโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ชั้น ๗?
และนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อนรักคนดีของท่านรองฯ กิตติรัตน์นั้น ก็ถามจริงๆ เถอะ ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าสันถวะพบปะหน้าค่าตา หรือให้ความคิดเห็นประเสริฐทางเศรษฐกิจ-การเมือง-การเงินกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์มาก่อนเลยอย่างนั้นหรือ?
พูดชัดๆ คือ คุณเป็นเพียงนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้มีความปรารถนาดีต่อรัฐบาล ต่อนายกฯ หญิง และต่อประเทศชาติบ้านเมือง ประเภทแฟนการเมืองผู้มีศรัทธา “อยู่วงนอก” แบบนั้นใช่ไหม
จึงทั้งไม่สามารถ และทั้งไม่มีโอกาสจะได้เข้าพบนายกฯ แบบคนรู้จักใกล้ชิดแม้ซักครั้งหนึ่ง แม้กระทั่ง “เต็มที่” ตอนแดงจลาจลเมือง ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ และตอนเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ตาม…ในฐานะผู้ศรัทธาเพื่อไทยและ นปช.
คุณเศรษฐาก็ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้พบปะนายกฯ ยิ่งลักษณ์แบบตัวเป็นๆ มาก่อนเลยใช่ไหม?
ถ้าแบบนั้นก็น่าเห็นใจ!
และพอเข้าใจได้ว่า ทำไมนายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงต้อง “หนีประชุมสภาฯ” หลบหลีกผู้คน ไปภารกิจลับส่วนตัวกับคุณเศรษฐาและคนอื่นๆ อีก ๖-๗ คน (ตามที่คุณเศรษฐาอ้าง) ที่ชั้น ๗ โฟร์ซีซั่นส์
เป็นนักการเมืองก็ต้องเอาใจและเลี้ยงน้ำใจ “ผู้มีอุปการะพรรค” อย่างนี้แหละ…ยิ่งเป็นน้ำใจจากนักธุรกิจใหญ่อย่างคุณเศรษฐา ผมเป็นยิ่งลักษณ์ จะให้ขึ้นไปหารือถึงชั้น ๘ โน่นเลย
และกรณีอย่างนี้ ไม่เพียงคุณเศรษฐา กับผู้สนับสนุนขาใหญ่รายอื่นๆ วิสัยนักการเมืองก็จำเป็นต้อง “เจียดเวลา” ไป ว.๕ ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง-การเงิน ตามจังหวะสุดแต่จะฉกฉวยได้ด้วยเช่นกัน!
ความจริงน่ะนะ แต่แรก…ไม่มีใครเขาว่า การ ว.๕ ชั้น ๗ ของยิ่งลักษณ์ไปในเชิงคบชู้สู่สวาท หากแต่คำพูดแก้ตัวของยิ่งลักษณ์ และของคณะบริวารที่ออกมา ล้วนให้โทน “แก้ตัว-แก้ข่าว” ชี้นำให้คนคิดตามไปในทางนั้น เรื่องราวที่เป็นข่าวจึงเป็น “คาวโฉ่”
ไม่เชื่อก็ลองไปรีเพลย์คำพูด-คำสัมภาษณ์เก่าๆ ของตัวเองดูก็ได้ เพราะแบบนี้ จึงมีคำว่า “กินปูนร้อนท้อง” เป็นศัพท์สำนวนไทยไง!
ในความเห็นผมนั้น เพราะการ “ไม่ทำความจริงให้ปรากฏ” แต่วันแรกที่นายเอกยุทธออกมาแฉ ประเด็นที่นายกฯ บอกว่า “ไปในสถานที่เปิดเผย ไม่เสียหายด้วย” มันจึงเป็นความไม่เสียหายในความมะลำเมลืองทางสงสัยของผู้คน
ถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่เสียหาย แล้วจะต้องไปอมพะนำไว้ทำไม ก็เห็นเวลาไป…พี่น้องค้าาาา ที่โน่น-ที่นี่ ยกคณะทีวี-นักข่าวตามก้น ให้คอยเก็บภาพ-เก็บข่าวมาเชย-มาชม แล้วรายการที่เปิดเผย-สง่างาม-เป็นผู้หญิงไม่ทำอะไรเสียหายครั้งนี้
มีเหตุผลอะไรต้องทำแบบลับๆ ล่อๆ ว.๕?
และถ้าจะแค่ให้คำแนะนำ-คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ-การเมือง-การเงิน ชนิด “ไม่มีนอก-ไม่มีใน” จะว่าไปแล้ว คนเหล่านั้นกันเองทั้งนั้น
ฉะนั้น “ตรงไหนก็ได้…นั่งกินข้าวแบบเปิดเผยซักมื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องพบกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ลับหู-ลับตาอย่างนั้น จริงมั้ย?
ประเด็นที่ต้องตอบประชาชนคือ ตัดเรื่องหญิง-ชายออกไป ก็ต้องตอบให้เคลียร์ว่า…การพบปะของผู้นำประเทศฝ่ายบริหาร กับนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ในลักษณะ “ลับลมคมใน” นั้น เจรจาด้วยเรื่องอะไรกัน มีการเมืองเพื่อธุรกิจ และธุรกิจเพื่อการเมืองหรือเปล่า ยิ่งลักษณ์ก็มีธุรกิจจัดสรร นายเศรษฐาก็ธุรกิจจัดสรร
ดังนั้น “พื้นที่รับน้ำ” นี่สำมะคัญ ต้องเคลียร์?
แต่ผมสบายใจแล้ว นายกฯ ไม่เคลียร์ ก็ไม่เป็นไร นายเศรษฐาไม่พูด ก็ไม่เป็นไร เพราะถึงนาทีนี้ ผลประโยชน์ของประชาชนมีพยานแล้ว คือ…ท่านรองนายกฯ กิตติรัตน์!
ท่านออกมารับเต็มปาก-เต็มคำแล้วว่า ร่วมหารืออยู่ในรายการ ว.๕ ชั้น ๗ นั้นด้วย พูดชัดๆ ก็คือ อย่างน้อยก็มีรองฯ กิตติรัตน์เป็น “บุคคลที่ ๓” สามารถอ้างอิงเป็นพยานในเหตุการณ์ที่จะให้ปากคำต่อกระบวนการยุติธรรมทุกชนิดได้ว่า…วันนั้น
๑.มีใครบ้างร่วมหารืออยู่บนชั้นที่ ๗?
๒.มีการสนทนาหารือด้วยหัวข้อใดบ้าง?
๓.นายกฯ มากับใครบ้าง?
๔.ใครเป็นผู้ลงชื่อจองห้อง กี่ห้อง ชั้นไหนบ้าง?
นี่หัวข้อคร่าวๆ นะครับที่รองฯ กิตติรัตน์ควรเตรียมเป็น “คำตอบพยาน” ไว้เนิ่นๆ ในเมื่อยืนยันว่า “ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” ก็ต้องเคลียร์ให้ชัด อีกสาเหตุหนึ่งที่ไทยถูกแบล็กลิสต์เพราะอะไรทราบมั้ย
ก็เพราะไทยฉาวโฉ่ทั้งโลกด้าน “การเมืองคอรัปชั่น” นั่นไง!
คอรัปชั่นมันมาคู่กับการฟอกเงิน ก็ฟอกเงินที่โกงบ้าน-โกงเมืองกันไปนั่นแหละ แล้วแบบนี้ FATF เขาจะไม่ว่าเรามีพฤติกรรมสนับสนุนการฟอกเงิน และการก่อการร้ายได้ไง
จำให้ดีนะ ท่านรองฯ กิตติรัตน์ รองฯ เฉลิมระบุว่า มีคนร่วมประชุมบนชั้น ๗ จำนวน ๗-๙ คน ส่วนนายเศรษฐาบอกว่ามีคนร่วมหารือนายกฯ ๖- ๗ คน สำหรับที่นายกฯ ปฏิเสธหน้าตาเฉยว่า “ไม่ได้ไปประชุม” นั้น ก็ปล่อยเธอไปเถอะ เพราะนั่นคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ!
ประเด็นอยู่ตรงว่า ตอนนี้ “สิ่งที่ต้องสำแดง” ปรากฏออกมาเพียง ๓ คน คือ นายกฯ นายเศรษฐา และตัวท่านรองฯ กิตติรัตน์ ก็หมายความว่า ยังเหลืออีก ๕-๖ คน ที่ยังต้องนำมาพิสูจน์ว่า…ผู้ร่วมหารือในวันนั้นด้วย!
คือใครบ้าง?
ท่านกิตติรัตน์ ทั้งในฐานะข้าราชการ ตำแหน่งรองนายกฯ และในฐานะพยานที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยไม่เปิดปาก เมื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ท่านต้องเปิดปากแล้วว่า ๕-๖ คนนั้น คือใครบ้าง?
เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของชาติ พิทักษ์ความบริสุทธิ์ของนายกฯ และพิทักษ์การเมืองระบอบประชาธิปไตย ผมเกรงว่า ในที่สุด…หน้าที่เป็นกุญแจไขปริศนา ว.๕ ชั้น ๗ จะตกอยู่ที่ท่านรองกิตติรัตน์ อดีตนักศึกษา วปอ.ร่วมรุ่น “ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์-เศรษฐา” ชนิดเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว
และเพื่อเน้น “ความบริสุทธิ์” จากครหาทั้งปวง นอกจากรองฯ กิตติรัตน์เป็นพยานบุคคลแล้ว พนักงานโรงแรมผู้บริการบนชั้น ๗ รวมถึงภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิด ก็จะถูกเรียกมาเป็นพยานยืนยัน “ความบริสุทธิ์” ด้วยเช่นกัน
จะ ๒ ต่อ ๒ บนชั้น ๗ ตามพยานเอกยุทธ หรือจะ ๑ ต่อ ๗-๙ คน ตามพยานเฉลิม หรือจะ ๑ ต่อ ๖-๗ คน ตามพยานเศรษฐา มั่นใจได้ว่า จากปากคำพยานรองฯ กิตติรัตน์ และจากปากคำพยานพนักงานโรงแรม และจากภาพบันทึกกล้องวงจรปิดบนชั้น ๗
จะ “ตอบโจทย์” ทั้งหมดได้ครบถ้วน!
เอ้า…ก็อย่าลืมไปดู The Ides of March “การเมืองกินคน” ก็แล้วกัน แล้วจะรู้ว่า “สิ่งที่เห็น-สิ่งที่ศรัทธา” หาใช่เป็นดังที่เห็น-ดังที่ (หลง) ศรัทธาไม่

โธ่! ก็แค่นายกรัฐมนตรีหนีประชุมสภาไปพบผู้ชายที่โรงแรม!?

นักข่าวประจำทำเนียบฯ คนหนึ่งอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมเมื่อบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานทั้งตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยได้แจ้งให้นักข่าวทราบว่า ไม่ต้องตามขบวนรถของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นภารกิจส่วนตัว เมื่อถามว่าภารกิจส่วนตัวคืออะไร เหตุใดจึงไม่ให้นักข่าวตามไป นักข่าวได้รับคำตอบว่า:

“ไปทำผม!!?”

ยิ่งทำให้นักข่าวงงงวยมากขึ้นว่าเหตุใดจึงไปทำผมในช่วงเวลาราชการในเวลาบ่าย ทั้งๆ ที่มีการประชุมรัฐสภาในวันดังกล่าวด้วย?

นักข่าวเมื่อได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นนี้ ย่อมสงสัยเกิดคำถามว่าการไปทำผมนั้น มันเป็นความลับที่นักข่าวไม่ควรล่วงรู้ ใช่หรือไม่ ว่าเธอทำผมร้านไหน? ทำทรงอะไร? และใครทำผมให้?

ภารกิจในช่วงบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 จึงย่อมเป็นภารกิจที่ไม่ต้องการให้นักข่าวตามไป และไม่ต้องการให้รู้ เพราะนักข่าวในวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถจะรู้เหตุผลที่แท้จริงในการใช้เวลาราชการในวันดังกล่าวได้เลย แสดงว่าไม่ได้ต้องการให้มีการเปิดเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภารกิจดังกล่าว อย่างแน่นอน และด้วยเหตุผลการไปครั้งนี้จึงย่อมมีพิรุธที่ชวนให้สงสัย ส่วนเหตุผลที่เกิดขึ้นในภายหลังนั้นก็ล้วนแล้วแต่เพิ่งจะมาอธิบายกันไม่กี่วันนี้เอง และต่อให้สมมติว่าเป็นเหตุผลที่พยายามกล่าวอ้างกันตอนนี้จริง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะต้องปิดเป็นความลับโดยห้ามนักข่าวติดตามไปในวันดังกล่าว

และข้อสำคัญภารกิจในการเดินทางไปในเวลาราชการเช่นนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมแสดงว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าการประชุมสภา เพราะความจริงนายกรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะเชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งภาครัฐเอกชนมาร่วมประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างไม่ยากเย็น

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถือเป็นครั้งแรกที่นักข่าวได้สอบถามหลังจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งได้เปิดประเด็นว่าถูกทำร้ายแล้ว (หลังจากที่เขียนเฟสบุ๊คเล่าถึงเหตุการณ์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นไปข้างบนกับใครคนหนึ่ง) โดยนักข่าวสอบถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ได้เจอกับนายเอกยุทธ หรือเปล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แต่อมยิ้มและไม่ตอบคำถามใดๆ

คำถามก็คือถ้าเรื่องมันง่ายๆ และไม่มีอะไรมากมายอย่างที่พยายามจะอธิบายกันในช่วงหลังนี้ เหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ตอบคำถามเช่นนี้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 !?

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 คนที่ไม่ได้เดินทางขึ้นไปด้วยอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กลับมาตอบคำถามแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งมีพิรุธสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า เหตุใดถ้าไม่มีเรื่องอะไร ทำไมถึงไม่ตอบเอง แต่กลับให้คนอื่นที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยมาตอบแทน?

ยังมีข้อสงสัยหนักขึ้นไปอีก เพราะในวันเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์ตกม้าตายที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไประบุให้ข่าวว่า:

“ชั้น 7 เป็นห้องประชุม นายกฯ ก็ไปประชุม ทั้งนี้ผมไม่ได้ขอกล้องดูบริเวณชั้น 7 เพราะไม่ใช่หน้าที่ของผม และมีคนอยู่ในห้องประชุม 7- 9 คน และผมไม่รู้ว่าชั้น 7 เขาประชุมเรื่องอะไร ต้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจง”

ในขณะที่วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับให้สัมภาษณ์สวนไปอีกทางหนึ่งว่าไม่ได้ไปประชุมเมื่อถูกนักข่าวถามตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมให้ถามนายกรัฐมนตรีว่าไปประชุมเรื่องอะไร โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า:

“ไม่ได้ประชุม ในฐานะนายกฯ ก็สามารถไปเจอกับใครก็ได้ ที่สำคัญไปในสถานที่เปิดเผย ไม่เสียหายด้วย... ดิฉันเองก็อดทน จะอดทน ก็เชื่อว่าผู้ที่ฟังอยู่ก็คงจะพิจารณาเอง เราเองเราเป็นผู้หญิงก็ยืนยันว่าเราเองไม่ทำอะไรเสียหายหรอกค่ะ”

จริงอย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเอาไว้ เชื่อว่าผู้ที่ฟังอยู่ก็คงจะพิจารณาเอง ดังนี้

1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภารกิจนี้ไม่ใช่การประชุม คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้าไม่ประชุมแล้วไปทำอะไร? หรือจริงๆ แล้วมีการประชุมแต่ไม่สามารถบอกให้ประชาชนได้รู้ได้เพราะเป็นเรื่องที่ปกปิดและเป็นความลับ? หรือคิดจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใดจนไม่สามารถเปิดเผยได้?

2. ไปในเวลาราชการและหนีการประชุมสภา

3. ห้ามนักข่าวตามไป

4. นายเอกยุทธซึ่งในเฟสบุ๊ครายงานว่านายกรัฐมนตรีขึ้นไปข้างบนกับผู้ชายคนหนึ่ง และบังเอิญที่นายเอกยุทธถูกทำร้ายร่างกายในเวลาต่อมาไม่กี่นาที

5. น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถตอบนักข่าวได้ชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ ว่าไปเจอใครและเรื่องอะไร

6. ต้องให้คนอื่นตอบแทน โดยที่ตัวเองไม่ตอบเหตุผลต่างๆ เสียเองตั้งแต่วันแรก ทำให้เหตุผลเกิดขัดแย้งกันเอง

นี่เป็นพิรุธที่เกิดขึ้นจาก 3 วันแรกเท่านั้น!!!

และความจริงที่ง่ายที่สุดและจะทำให้ประชาชนหายเคลือบแคลงสงสัยได้ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือข้อเสนอของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่ท้าทายให้เปิดเทปกล้องวงจรปิดในชั้น 7 ว่า นายกรัฐมนตรีไปชั้น 7 หรือไม่ พูดหรือทำอะไรกับใคร กี่คน และใช้เวลาเท่าไหร่ และไปไหนต่อหรือไม่ เพียงทำแค่นี้เรื่องก็จะหมดข้อสงสัยในหลายประเด็นไปโดยทันที อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาพลักษณ์และความโปร่งใสของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเอง จริงหรือไม่?

เว้นเสียแต่ว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น จึงไม่ต้องการที่จะเปิดเผยออกมาได้!!!

เพราะถ้าพ้นจากเรื่องนี้แล้วก็ยังมีคำถามต่อว่าในเวลาราชการนายกรัฐมนตรีหนีการประชุมสภาไปพบกับใคร และเรื่องอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเจรจาที่ห้ามนักข่าวตามนั้น เป็นการเจรจากับนักธุรกิจเพียงคนเดียว หรือเพียงไม่กี่คน ก็ย่อมเกิดคำถามตามมาได้ว่าเหตุใดนักธุรกิจกลุ่มอื่นไม่สามารถที่จะเข้าร่วมการพูดคุยนั้นได้ และเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงต้องเดินทางออกจากทำเนียบฯ พบกับนักธุรกิจคนเดียวหรือบางคนที่โรงแรมแห่งนี้?

หลังจากเกิดพิรุธมากมาย สื่อมวลชนได้พุ่งเป้าการเปิดประเด็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หนีการประชุมสภา หนีออกจากทำเนียบฯ และห้ามนักข่าวตามเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น ได้ไปพบกับผู้ชายนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหาร แสนสิริกรุ๊ป

ทั้งนี้หลังวันเกิดเหตุผ่านไป 9 วัน ไม่มีคำตอบชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริกรุ๊ป ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตกเป็นข่าวความตอนหนึ่งว่า:

“ในระหว่างการร่วมงานเปิดตัวพรีเซลโครงการแสนสิริชั้น 5 สยามพารากอนว่า ได้พบนายกฯ ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์จริง แต่เป็นการเข้าพบกันหลายคนเป็นกลุ่ม 6-7 คน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในหลายเรื่องหลายประเด็น ทั้งเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย การเงิน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า ผมอยากให้ทุกฝ่ายให้เกียรติท่านนายกฯ โดยเฉพาะเป็นสุภาพสตรีด้วย และเป็นนายกฯ ประเทศไทย ส่วนเรื่องดังกล่าวก็เป็นไปตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยให้ข่าวไปแล้ว”

เฉพาะข้อมูลนี้ก็เกิดความขัดแย้งกับข้อมูลเดิมอีกแล้วคือ:

1. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ว่าไม่ได้ไปประชุม แต่เนื้อหาที่นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นั้นกลับเข้าข่ายเป็นลักษณะการประชุม

2. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า “มีคนอยู่ในห้องประชุม 7- 9 คน” แต่ในขณะที่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 นายเศรษฐากลับระบุว่า “มีคนอยู่ในห้อง 6-7 คน”

3. หากมีการพูดคุยตามที่นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์เป็นความจริง ก็ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะห้ามนักข่าวติดตามไป หรือปิดบังเอาไว้ถึง 9 วัน โดยปล่อยให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย อีกทั้งยังน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วยซ้ำที่นายกรัฐมนตรีไปพบปะนักธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง

4. เกียรติในความเป็นสุภาพสตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรเริ่มต้นที่ทั้งสองฝ่าย ทั้งนายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐา หากนายเศรษฐาเห็นเรื่องเกียรติของสุภาพสตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีจริง ก็ควรจะไปพบนายกรัฐมนตรีในเวลาราชการอย่างเปิดเผยโปร่งใส มิใช่มาพบกันที่โรงแรมในเวลาราชการและหนีการประชุมสภาออกมา โดยที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ยืนยันได้ว่ามีการประชุมกันชั้นไหน และหัวข้ออะไร และเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มที่เจรจาหรือไม่?

ล่าสุดสื่อมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ลงข่าวโดยอ้างแหล่งด้วยข้อความว่า:

“แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซันส์ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริ กรุ๊ป ออกมายอมรับว่ามีการพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จริง แต่เป็นการพบปะกันเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ 2 ต่อ 2 นั้น เป็นเรื่องจริง เพราะการพบปะครั้งนั้น มีการนัดหมายล่วงหน้ากับกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีก 1 คน ที่รับทราบนัดหมายร่วมคณะด้วย รวมถึงบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร ก็รับทราบด้วยเช่นกัน แต่จะส่งตัวแทนร่วมหารือหรือไม่ ไม่ทราบ นอกจากนี้ ยังมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมพบปะหารือด้วย โดย 1 ในหัวข้อที่มีการพูดคุยกันคือเรื่องราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2555 ที่จะประกาศราคาออกมาประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ รวมถึงแผนผังเมืองใหม่ด้วย

ถ้าหากมีการพบปะกันในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเพียงไม่กี่รายเป็นความจริง หัวข้อที่พูดกันในเรื่องราคาประเมินที่ดิน และแผนผังเมืองใหม่นั้น ถือได้ว่าอาจจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือสามารถเจรจาได้มากกว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนผังเมืองใหม่นั้น อาจโยงใยกับการสร้างฟลัดเวย์ที่จะเปลี่ยนพื้นที่รับน้ำออกไปในภาคตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ย่อมหมิ่นเหม่ต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่รายที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลได้ ใช่หรือไม่?

ถ้าเป็นด้วยเหตุผลนี้ก็จะทำให้พิรุธที่ดูขัดแย้งมากมายที่กล่าวมาข้างต้นได้รับคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผลสอดรับมากขึ้น ทั้งการห้ามนักข่าวเดินทางไปทำข่าว การไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อ 6-7 คนที่เข้าร่วมประชุม หรือการระบุของนายกรัฐมนตรีปัดว่าไม่ได้มีการประชุมกัน ฯลฯ

หรือในทางตรงกันข้าม หากข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นการปั้นเรื่องเล่าความเท็จ แต่เป็นการพบกันเรื่องส่วนตัว 2 ต่อ 2 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายเศรษฐา ก็จะอธิบายด้วยเหตุการณ์พิรุธต่างๆ ข้างต้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีใช้เวลาราชการและไม่เข้าประชุมสภาแล้วไปทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งข้างต้นแล้ว ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมของสื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนทั่วไปย่อมจะมีสิทธิรู้ความจริงที่เกิดขึ้น!?

เพราะการตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการจำกัดเรื่องเพศ และการตรวจสอบพฤติกรรมความไม่โปร่งใสและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่มีสายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ถูกจำกัดในเรื่องเพศเช่นกัน

ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 30 วรรค 2 ว่า:

“ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิอ้างเรื่อง “เพศ” ของตัวเองที่จะได้รับอภิสิทธิ์ให้ยกเว้นการถูกตรวจสอบได้เลย เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงก็เรียกร้องสิทธิให้ทัดเทียมกับผู้ชายมาโดยตลอดมิใช่หรือ จนวันนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ดังนั้นไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย หากเป็นนายกรัฐมนตรีหรือนักการเมืองแล้วต้องพร้อมยอมรับการตรวจสอบได้แม้กระทั่งเรื่องจริยธรรม และนายกรัฐมนตรีไม่ว่าหญิงหรือชายก็ควรจะชี้แจงให้ประชาชนได้หมดข้อกังขาที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย

แต่ถ้ามัวแต่ไม่ชี้แจง ตอบคำถามไม่ได้ ทำตัวลับๆ ล่อๆ แล้วยังไม่ตอบคำถามประชาชน ไม่พร้อมถูกตรวจสอบ โดยเอาเพศมาอ้างแล้ว...จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไปทำไม?


ปานเทพ พัวพงธ์พันธ์

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง