โดย isranews หมวด ข่าว
เครือข่าย ปชช.ด้านสาธารณสุข จับตา “ยิ่งลักษณ์” มุมมิบคุย บ.ยาข้ามชาติ หวั่นแอบแผงผูกขาด ตัดสิทิ์คนไทยเข้าไม่ถึงยาจำเป็นราคาแพง เรียกร้องรอบคอบ-ฟังความเห็นรอบด้านก่อนทำข้อตกลง
วันที่ 13 มี.ค.55 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีที่วานนี้ (12 มี.ค.55) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับบริษัทยาข้ามชาติและนักธุรกิจอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในประเทศ เรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรและระบบกำหนด-ควบคุมราคายา โดยรับปากตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัทยาข้ามชาติ ติดตามการผลิตเวชภัณฑ์ไทยและให้กำหนดราคาอย่างเหมาะสม
โดยนายนิมิตร์ กล่าวว่า ดูจากพฤติกรรมของบริษัทยาข้ามชาติที่ผ่านมา การเสนอแนวทางดังกล่าวเป็นความพยายามห้ามไม่ให้มีการต่อรองราคายา ซึ่งผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีโอกาสที่จะต่อรองทำให้สามารถลดงบประมาณจัดซื้อยาได้จำนวนมาก “หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับปาก จะส่งผลให้กลไกต่อรองราคาเป็นอัมพาต บริษัทเสนอเท่าไหร่คือเหมาะสม และอาจส่งผลต่อการประกาศใช้ซีแอล หรือลามไปถึงการออกกฏระเบียบหรือแก้ไขอะไรที่ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทยาก่อน”
นายนิมิตร กล่าวอีกว่า ในการแถลงต่อสาธารณชนของรัฐบาล ไม่ได้ให้รายละเอียดต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่องตั้งข้อสังเกตว่าการควบคุมราคายาเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรปี 2542 ได้มีการยกเลิกคณะกรรมการสิทธิบัตรยาซึ่งทำหน้าที่ควบคุมราคายา โดยเป็นผลมาจากการกดดันของสหรัฐฯ โดยใช้มาตรการพิเศษ 301 เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะตัดสิทธิพิเศษสินค้าส่งออกไทย ส่งผลให้ไทยไม่มีกลไกควบคุมราคายา จนเกิดการผูกขาดราคาโดยบริษัทยาอย่างอิสระ
"ทำให้ที่ผ่านมาไทยไม่มีกลไกใดๆควบคุมราคายา โดยเฉพาะในกลุ่มยาใหม่ที่มีผู้จำหน่ายรายเดียว ส่งผลให้ผูกขาดโดยบริษัทยาอย่างอิสระ เห็นได้จากค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7-8 ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี”
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าผลพวงต่อเนื่องของการไม่มีระบบควบคุมราคายา ส่งผลให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นซึ่งมีราคาแพงได้ ทั้งนี้การที่บริษัทยาหรือตัวแทนนักธุรกิจอุตสาหกรรมยาเสนอให้นายกฯ มีแนวทางกำหนดราคายานั้น ต้องระดมสมองต่อข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบด้านโดยมีกระบวนการรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“ที่สำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน บริษัทยาไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมการตัดสินใจในทุกเรื่อง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน”
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวอีกว่า วันที่ 12 มี.ค. ที่ประเทศอินเดียเพิ่งประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ให้บริษัทยาชื่อสามัญของเขาผลิตยารักษามะเร็งตับที่ติดสิทธิบัตรบริษัทไบเออร์ เยอรมันนีได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงมากกว่า 30 เท่า และเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก อยากขอให้รัฐบาลไทยพิจารณานโยบายต่างๆโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุน
ทั้งนี้ภาคประชาชน โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้บริโภค และนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องไม่รีบตัดสินใจ จนกว่าจะมีการศึกษาหรือรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าจับตามองและติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด .
วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555
ผบ.กองเรือเฉพาะกิจผสม 151 ภารกิจปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย
ปัญญา ทิ้วสังวาลย์
ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งของ “กองทัพเรือไทย” ที่ได้รับเกียรติจากกองกำลังผสมทางทะเล Combined Maritime Forces (CMF) ให้ พล.ร.ต.ธานินทร์ ลิขิตวงศ์ เป็นผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 (Combined Task Force 151 : CTF 151) พร้อมฝ่ายอำนวยการรวม 16 นาย ในการตามภารกิจปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดในพื้นที่อ่าวเอเดน ชายฝั่งโซมาเลีย และบริเวณใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 ระยะเวลาการปฏิบัติภารกิจประมาณ 126 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจะมีการรับหน้าที่ในวันที่ 29 มีนาคมนี้
การปฏิบัติการครั้งนี้ของ “กองทัพเรือไทย” จะปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังต่างชาติอีก 7 ชาติ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และเกาหลีใต้ โดยมีเรือรบ จำนวน 5 ลำ จากสหรัฐอเมริกา 2 ลำ อังกฤษ 2 ลำ และเกาหลีใต้อีก 1 ลำ
พล.ร.ต.ธานินทร์ เปิดเผยว่า ครั้งนี้เราเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเป็นผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจผสม 151 คือมีการส่งกำลังพลไปปฏิบัติงานทั้งหมด 16 คน โดยรวมกับกำลังทหารเรืออีก 6 ประเทศ รวมทั้งหมด 24 คน ทำหน้าที่บัญชาการกองเรือป้องกันและปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน ซึ่งการไปปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เราไม่ได้มีการส่งเรือไป จึงต้องไปบัญชาการเรือของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเกาหลีใต้ ที่ส่งมาให้จำนวน 5 ลำ ระยะเวลาปฏิบัติงานประมาณ 126 วัน ปฏิบัติการที่แตกต่างไปจากเดิมคือเราไปทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองเรือ
“ถือเป็นการยกระดับในการทำงานให้ดีขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของกองทัพเรือที่ได้มีโอกาสในการบัญชาการกองเรือต่างชาติ ทั้งผมจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจบนเรืออังกฤษที่ถือเป็นเรือบัญชาการของผม ทั้งนี้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการจัดทำแผนในการปฏิบัติงาน และประสานงานกับกองกำลังที่ประเทศบาห์เรนในการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการทำงานครั้งนี้ และเตรียมการเลือกกำลังพลของไทยทั้ง 16 คน ครึ่งหนึ่งเป็นกำลังพลที่เคยไปปฏิบัติงานในตะวันออกกลางมาแล้ว และอีกครึ่งหนึ่งก็ไม่เคยปฏิบัติงานในตะวันออกกลางมาก่อน”
พล.ร.ต.ธานินทร์ กล่าวว่า กำลังพลที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้มีความสามารถในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนี้ น.อ.วิศาล ปัญทะวางกูล ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการ CTF 151 ซึ่งการปฏิบัติงานของกำลังพลทั้ง 24 คน จะทำหน้าที่บนบก 4 คน ในการประสานงานระหว่างกำลังในทะเล ส่วนอีก 20 คน จะบัญชาการบนเรือรบ ที่ผ่านมามีประเทศสิงคโปร์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ CTF 151 มาแล้วถึง 2 ครั้ง และมีการส่งเรือรบออกไปปฏิบัติภารกิจในน่านน้ำอ่าวเอเดนเหมือนกับประเทศไทย 2 ครั้งเช่นเดียวกัน และเป็นผู้บัญชาการ 1 ครั้ง ถือว่าเรามีการพัฒนาเทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านของเราในอาเซียน
“ผมคณะจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในวันที่ 11 มีนาคมนี้ และจะเดินทางกลับในวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 โดยจะอยู่ในทะเลเกือบ 3 เดือนเต็ม ส่วนเวลาที่เหลือจะทำงานบนบก สำหรับสถานการณ์ในอ่าวเอเดนก็ยังคงมีการปล้นเรือสินค้าของกลุ่มโจรสลัดอย่างต่อเนื่อง แต่การที่มีกำลังเข้าไปในพื้นที่ถือเป็นการป้องปรามที่ไม่ให้กลุ่มโจรสลัดปล้นได้อย่างสะดวกใจ ที่สำคัญหลังจากการเดินทางไปปฏิบัติงานของกองทัพเรือไทยในครั้งนี้แล้วก็จะสามารถประสานงานกำลังของประเทศอื่นๆ เพราะจากกำลังของ CTF 151 ยังมีกำลังของนาโต้ และกองกำลังของสหภาพยุโรปที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ด้วย”
สำหรับการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือไทย จะมีอยู่ 2 ส่วน คือเราจะไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองกำลังผสมทางทะเล Combined Maritime Forces (CMF) โดยเราจะต้องฟังแผนที่เขาออกมาเป็นหลัก เพราะเราไม่ได้ทำในหน้าที่ของเรือไทย แต่เราทำหน้าที่เป็นกองกำลังผสมร่วมกับชาติอื่นๆ ดังนั้นแผนที่ออกมาเราก็จะต้องศึกษาแผนของหน่วย CMF เป็นหลัก จากนั้นก็จะทำเป็นแผนของ CTF 151 เพราะ CTF 151 เป็นหน่วยงานรองของ CMF ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศบาห์เรน ซึ่งกำลังทหารจะมีการทำงานสอดรับกัน เมื่อทาง CMF มอบภารกิจให้ ทาง CTF 151 ก็จะออกไปปฏิบัติภารกิจทางทะเลในอ่าวเอเดน ชายฝั่งโซมาเลีย
พล.ร.ต.ธานินทร์ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติสูงสุดที่กองทัพเรือไทยได้รับโอกาสแบบนี้ เพราะการที่จะเป็นผู้บัญชาการกองเรือต่างชาติประวัติศาสตร์ไม่เคยมี และประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทยเราไม่เคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังต่างชาติเลย ถือเป็นเกียรติสำหรับตน กองทัพเรือไทย และกองทัพไทย เมื่อได้รับโอกาสก็จะต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดีเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจได้ผล และนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศของกองทัพเรือไทย
“พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้นโยบายแก่กำลังทหารที่ไปปฏิบัติจะต้องมีการประสานในทุกระดับชั้นเพื่อให้ได้ผลสำเร็จในการทำงานสูงสุด และสิ่งสำคัญคือให้ทำงานแบบเป็นทีม และอยากให้คนไทยได้รับทราบว่าการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เรามีโอกาสไปทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการต่างชาติ ซึ่งคนที่ไปตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด ขอให้กำลังใจแก่กำลังพลของเราด้วย”
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน