นักกฎหมายอิสระ facebook.com/verapat.pariyawong
พวกเราอย่ายอมให้คำแถลงของ พล.ต.อ ประชา พรหมนอก ที่ยืนยันว่า “คุณทักษิณ” ไม่เข้าข่ายผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษ (ตามร่างพระราชกฤษฎีกาที่เป็นข่าว) ทำให้พวกเราสบายใจแล้วกลับไปเครียดกับน้ำท่วมเอาเสียง่ายๆ
แต่ขอให้พวกเรากลับมาทบทวนแบบน้ำนิ่งไหลลึกว่า “กระแสข่าว” การอภัยโทษ และ “กระแสตอบรับ” ที่ผ่านมานั้นได้ทำให้เราเห็น “ควันหลงเรื้อรัง” อะไรในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่าปัญหาของคนที่รักหรือไม่รัก “คุณทักษิณ” เสียด้วยซ้ำ ?
1. ควันหลงถึงผู้ตื่นตระหนก: ท่านไว้ใจรัฐบาลนามสกุลชินวัตรได้นานแค่ไหน ?
ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ติดใจจะตัดสินว่าคุณยิ่งลักษณ์มีเจตนาจะช่วยพี่ชายตนเองหรือไม่ อย่างไร แต่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสารไปยังผู้ที่ตื่นตระหนกเพราะเชื่อว่าคุณยิ่ง ลักษณ์มีเจตนาจะช่วยพี่ชายตนเองโดยแน่ แล้วถามต่อว่า การะแสข่าว “การอภัยโทษ” เพียงไม่กี่วันก่อนได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและน่าตื่นตระหนกเพียงนี้ แล้วอะไรจะเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลหลังการปลดปล่อยบ้าน 111 ชุดหน้าจะไม่พยายามดำเนินการ ทำนองนี้อีก ?
อย่าลืมว่านอกจากกฎหมายจะเปิดช่องให้การ “อภัยโทษ” ทำตามวาระโอกาสได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องผ่านสภาแล้ว รัฐบาลยังมีเครื่องมืออื่น เช่น การ “นิรโทษกรรม” กล่าวคือ ไม่ใช่แค่ให้อภัยธรรมดา แต่ถึงกับลบล้างความผิดจนไร้โทษ หรือหากจะแยบยลกว่านั้น ก็อาจใช้วิธี “ชะลอการลงโทษ” (reprieve) หรือ หรือลด-เปลี่ยนโทษ (commute) เช่น แทนที่จะให้จำคุกก็นำตัวมากักขังในบ้านแทน (house arrest/home confinement) ก็เป็นได้
คำถาม คือ ประชาชนฝ่ายที่ตื่นตระหนกกับการช่วยเหลือคุณทักษิณนั้น จะเล่นบทบาทได้แต่เพียงผู้ตามเก็บหมากที่เดินโดยนักการเมืองและต้องมาทนลุ้น ระทึกกับกระแสข่าวเป็นระยะต่อไปเช่นนี้ หรือจะมีวิธีการรวมพลังกับฝ่ายที่ไม่ตื่นตระหนกเพื่อจัดการให้เหตุนี้คลี่ คลายไปได้ (นอกไปจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือการอาศัยอำนาจนอกระบบ) หรือไม่ ?
หนึ่งในวิธีที่เป็นไปได้นั้น อาจต้องลองนึกย้อนไปถึงข้อเสนอนิติราษฎร์ หากเรานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงให้ประชาชนเป็น “ฝ่ายรุก” ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองก่อนทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระทำอย่างเปิดเผยและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้เพื่อออกแบบวิธีล้างคำ พิพากษาเก่าแล้วนำคุณทักษิณและผู้อื่นกลับเข้าสู่กระบวนการศาลใหม่ในยามปกติ โดยต้องมีขั้นตอนเชื่อมโยงที่รัดกุมชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย (ผู้เขียนไม่ได้เจาะจงไปที่ศาล แต่กำลังพูดถึงกระบวนการเชื่อมโยงจากการล้างคดีเก่าไปสู่การเริ่มต้นคดีใหม่ มิใช่ล้างแล้วปล่อยไว้ลอยๆ ถึงเวลา ปปช. ไม่ฟ้อง อัยการไม่ฟ้อง ทุกอย่างเงียบไป ความรุนแรงก็อาจกลับมาอีก)
หากทำได้เช่นนี้ จะเข้าท่ากว่าการปล่อยให้ประชาชนเป็น “ฝ่ายรับ” เก็บหมากการเมืองหรือไม่ ?
ผู้เขียนเคยเตือนไปแล้ว และก็จะเตือนอีกครั้งว่า หากท่านไม่พอใจกับข้อเสนอนิติราษฎร์เพียงเพราะท่านไม่พอใจคุณทักษิณ ก็ขอท่านทบทวนให้ดีว่า “คุณทักษิณในแบบที่ท่านไม่พอใจ” มีเครื่องมืออื่นที่ดีและสะดวกทางยิ่งกว่าข้อเสนอนิติราษฎร์อีกมากจริงหรือ ไม่ ?
2. ควันหลงถึงขบวนการนิติราษฎร์: ท่านพร้อมจะสร้างพันธมิตรทางความคิดของท่านมากแค่ไหน ?
ขบวนการนิติราษฎร์ก็เช่นกัน ผู้เขียนเคยเตือนไปแล้ว และก็จะเตือนอีกครั้งว่า ผู้ที่พร้อมจะร่วมอุดมการณ์ล้มล้างลัทธิรัฐประหารพร้อมกับท่านนั้นมีอยู่มาก แต่เขาเหล่านั้นอาจจะไม่อยากร่วมเป็นแรงสนับสนุนท่านเลยหากวิธีการนำเสนอและ สื่อสารของท่านยังคงแข็งทื่อ และกวาดมองว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านในทันทีต้องเป็นผู้สมยอม ลัทธิรัฐประหารในทันใด ในโลกนิติศาสตร์ปัจจุบันที่ก้าวพ้นยุคของหลักการทฤษฎีในหมู่ผู้ปกครองนี้ ท่านไม่อาจยึดมั่นแต่เพียง “กฎหมายที่ควรจะเป็น” เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจใน “มนุษย์ที่เป็นอยู่” เช่นกัน
ขบวนการนิติราษฎร์อาจเริ่มขยายพันธมิตรจากภายในสถาบันเก่าแก่ที่ภูมิใจใน เสรีภาพทางวิชาการของท่าน หากท่านทำให้เพื่อนผู้ทรงปัญญารู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับอัธยาศัยทางวิชาการ ที่ตอบรับกับสภาพความคาดหวังของเขาหล่านั้นไม่ได้ สถาบันของท่านก็จะไม่ต่างอะไรไปกับสถาบันเก่าแก่อีกแห่งที่ภูมิใจในความเป็น น้องพี่ที่กลมเกลียวแต่เกรงใจกันจนไม่ค่อยได้พบเห็นนวัตกรรมทางความคิดอะไร ได้สะดวกนัก
ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ขบวนการนิติราษฎร์ได้พัฒนาปรับปรุงข้อเสนอที่ ไม่เพียงสะท้อนหลักการทางกฎหมาย แต่ยังสอดคล้องกับจิตวิทยาทางการเมืองอย่างแหลมคมและแยบยล โดยเฉพาะในประเด็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการล้มล้างคดีเก่าและการเริ่มต้น กระบวนการใหม่ให้มีการเชื่อมโยงที่รัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อรวมพลัง “ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารตราบใดที่ทักษิณรับผิด” เข้ากับ “ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารไม่ว่าทักษิณจะต้องรับผิดหรือไม่” และเชื้อเชิญ “ฝ่ายที่เชื่อว่ายังไงทักษิณก็ไม่ผิด” เพราะหากคุณทักษิณบริสุทธิ์แล้วจะมีเหตุใดต้องกลัวศาลพิจารณาคดีใหม่
ไม่แน่ว่าขบวนการนิติราษฎร์อาจนำไปสู่การรวมกลุ่มอำนาจในสังคมไทยเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนก็เป็นได้!
3. ควันหลงถึงครูบาอาจารย์สื่อสารมวลชน: จรรยาบรรณว่าด้วยแหล่งข่าวอยู่ที่ใด ?
“การแสข่าวอภัยโทษ” เริ่มต้นมาจาก “แหล่งข่าว” ที่ไม่เปิดเผย เคราะห์ดีที่เหตุการณ์ดูจะคลี่คลายหลังมีการแถลงข้อแคลงใจจนมีการยุติการ เคลื่อนไหวชุมนุม ซึ่งหากรายละเอียดเป็นจริงมาแต่ต้นเหตุใดรัฐบาลจึงไม่อธิบายให้ชัดมาแต่แรก ? และแหล่งข่าวที่ว่านี้คือใคร ? สำนักข่าวใดได้ข่าวนี้มาแต่แรก? มีการตรวจสอบและรายงานระดับความน่าเชื่อถืออย่างไร ? แหล่งข่าวนี้สมควรจะได้สอบถามความจริงได้จาก พล.ต.อ ประชา พรหมนอก แต่แรกหรือไม่ ? หากสุดท้ายรัฐบาลอธิบายไม่ทันจนเกิดการปะทะวุ่นวายในยามวิกฤตเช่นนี้ สื่อหรือผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?
หากสื่อมวลชนผู้มีจรรยาบรรณตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ประชาชนก็อย่าได้แต่รอ ขอให้ท่านได้ใช้ช่องทางที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม ครม. ลับที่เป็นข่าว โดยอาศัยช่องทางตาม “พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร อีกวิธีคือการเรียกร้องกดดันให้ผู้แทนของท่านในสภาได้ใช้อำนาจตาม “พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554” เพื่อเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้ที่มาที่ไป เป็นอย่างไร หรือเป็นเพียงการสร้างกระแสผ่านสื่อมวลชนอันเป็นการซ้ำเติมความกังวลให้กับ พี่น้องประชาชนที่ลำบากในยามน้ำท่วมเช่นนี้ ?
หวังว่าเพดานทางปัญญาของสื่อมวลชนไทยจะไม่จบที่การ “ตีข่าวหักมุม” หรือ “วิเคราห์ทางที่หินถูกโยน” แต่เพียงนั้น
4. ควันหลงถึงพวกเราทุกคน: คนไทยมีปัญญาเพียงแค่ยกมวลชนตีกันเช่นนั้นหรือ ?
อาการเรื้อรังของสังคมไทยที่ปรากฎชัดจาก “กระแสการอภัยโทษ” นั้นไม่ได้ต่างไปจาก “กระแสประตูระบายน้ำ” ในภาวะวิกฤติอุทกภัย ทั้งสองเหตุการณ์พิสูจน์ว่าในยามที่สังคมไทยมีปัญหานั้น ก็เป็นจริงดังที่ถูกสอนให้เชื่อว่าคนไทยสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวจริง แต่สามัคคีกลมเกลียวเฉพาะกับ “พวกเดียวกัน” เท่านั้นแต่สังคมไทยยังไม่คุ้นชินกับการต่อสู้ตามกติกาที่ต้องรอ ผู้เขียนเป็นห่วงอย่างยิ่งกับตรรกะของฝ่ายที่กล่าวว่ารัฐบาลไม่ควรเสนอการ อภัยโทษตามข่าว เพราะจะทำให้ผู้คนแตกแยกออกมาตีราฆ่าฟันกันอีกรอบ ซึ่งเป็นตรรกะที่อันตรายไม่ต่างไปจากการยอมให้บ้านเมืองปกครองโดยกำลังมวลชน เป็นสำคัญ (might is right) หากคิดได้เช่นนี้ ต่อไปการกระทำใดจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ก็คงดูแต่เพียงว่าจะมีผู้เคลื่อนไหวปะทะกันหรือไม่ หากมีกำลังปะทะ ก็ไม่ควรทำ กระนั้นหรือ ?
ตรรกะที่ถูกต้อง คือ การถามว่าการกระทำนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ และหากเราเชื่อว่าการออกการอภัยโทษตามข่าวเป็นการใช้อำนาจที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลยืนยันว่าตนมีอำนาจตามกฎหมาย เราก็ต้องใช้อำนาจทางปัญญาต่อสู้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะคัดค้านโดยสันติ จะเข้าชื่อแก้กฎหมาย หรือสู้คดีในศาล ฯลฯ การชุมนุมกันไม่ควรถูกสันนิษฐานว่าจะต้องเป็นการยกมวลชนตีกัน ส่วนใครที่ใช้วิธีก่อความไม่สงบนอกวิถีแห่งกฎหมาย กฎหมายก็ต้องจัดการโดยเด็ดขาดให้ประจักษ์เป็นปกติ และหากรัฐใช้กำลังเกินควร ก็ต้องหาคนรับผิดชอบตามปกติ จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ยากเกินปัญญาคนไทยนั้น กระนั้นหรือ ?
ตรงกันข้าม หากเรายอมเชื่อว่าการออกการอภัยโทษตามข่าวเป็นการใช้อำนาจที่ “ผิดกฎตามใจฉัน” หรือ “ผิดเกณฑ์ศีลธรรมความดีงามบาปบุญคุณโทษอันเป็นสัจจะของฉัน” และในเมื่อจิตใจและความดีงามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีแก้ปัญหาก็คงวนเวียนอยู่กับวาทกรรมมักง่ายที่ว่า “อย่าทำมันเลย เดี๋ยวคนเขาตีกัน…แต่ถ้ามันยังทำ ฉันก็จะตีมัน”
แม้ผู้เขียนจะไม่อยากให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ทนายวิ่งไล่รถพยาบาล แต่ก็สงสัยเหลือเกินว่า คนไทยเรามีปัญญาเพียงพอที่จะไม่หลีกเลี่ยงปัญหาเพียงเพราะข้ออ้างมวลชนปะทะ กันได้หรือไม่หนอ ?
หมายเหตุ: บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความของผู้เขียนเรื่อง “รัฐประหาร – ทักษิณ – นิติราษฎร์: ๓ คำเตือนที่คนไทยต้องรู้”
บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ชมได้ที่
- รายการคมชัดลึก: http://www.youtube.com/watch?v=Pp25gkDQG1Y
- รายการสถานี Bluesky Channel: http://livestre.am/18ynP
- รายการ ASEAN Newsroom (ภาษาอังกฤษ): http://www.youtube.com/watch?v=kxGQA4-s1hk