รายงาน
ความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
(คอป.) ครั้งที่ 2 (17 มกราคม 2554 – 16 กรกฎาคม 2554)
รายงานคอป. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาทิ
การดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก
เฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
รัฐบาลสมควร
เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือไม่
หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติ
และนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาปรับใช้ โดยในระหว่างนี้ให้อัยการ
ชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ก่อน
นอกจากนี้
คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม
มาตรา 112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
กลายเป็นพัฒนาการทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ที่สหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
และนานาประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คอป.
เห็นว่ารัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางโดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย
คือการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในสถานะที่สามารถดำรงพระ
เกียรติยศได้อย่างสูงสุดเป็นสำคัญ
ประการสุดท้าย ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา
คอป.ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่าสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งของ
ประเทศจนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.2553
ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการที่ละเมิดหลักนิติธรรม
อันเกิดจากกรณีของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2547 ในคดี "ซุกหุ้น" ที่
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด
เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2
คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี แต่กลับมีการนำเอาคะแนนเสียง 2
เสียงนี้ไปรวมกับคะแนนเสียงอีก 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ
ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาว่า "ซุกหุ้น"
แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้อง
ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้
และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศ
ไทย
คอป.จึงขอเสนอแนะให้รัฐและสังคมได้ตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรม
อย่างจริงจัง
หมายเหตุ - คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ซึ่งมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ยื่นสรุปผลการดำเนินงานครั้งที่ 2 (17 ม.ค. - 16 ก.ค.) เสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามกรอบเวลาที่ต้องสรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในทุก 6 เดือน
เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเม.ย.-พ.ค.53 พบว่ามีการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ชุมนุม รวม 258 คดี แบ่งความผิดเป็น 4 กลุ่มคดี กลุ่มที่ 1 การก่อการร้าย (เหตุร้ายต่างๆ) 147 คดี กลุ่มที่ 2 การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 22 คดี กลุ่มที่ 3 การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 69 คดี และ กลุ่มที่ 4 การกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ 20 คดี
ทั้ง 258 คดีที่รับไว้เป็นคดีพิเศษ สอบสวนเสร็จ 102 คดี มีผู้ต้องหา 642 คน จับกุมได้ 274 คน หลบหนี 366 คน (เสียชีวิตแล้ว 2 ราย)
คดีวางเพลิง 62 คดี ในพื้นที่กทม. 49 คดี ต่างจังหวัด 13 คดี มีผู้ต้องหา 457 คน จับกุมได้ 144 คน มีสถานที่ถูกเพลิงไหม้ 71 แห่ง ในกทม. 37 แห่งและต่างจังหวัด 34 แห่ง จับกุมผู้ต้องหาได้ 14 คดี ซึ่งทุกคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ผู้ต้องขังในคดีความผิดต่อพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยอดรวมถึงวันที่ 22 ก.ค.54 รวม 105 คน แยกเป็น ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวน 64 คน ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา 21 คน และผู้ต้องขังคดีเด็ดขาด 20 คน
ที่ผ่านมา คอป. มีข้อเสนอแนะเป็นหนังสือถึงนายกฯ 2 ครั้ง ในเรื่องการตีตรวนผู้ต้องขัง และสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และข้อเสนอแนะ 8 ประการตามรายงานครั้งที่ 1
แม้จะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ไม่เฉพาะเจาะจงกับรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่ง คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดอง
นอกจากนี้ คอป.ขอเสนอแนะต่อนายกฯ ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดความขัดแย้ง ตรวจสอบว่าเจ้าพนักงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ตรวจสอบและหาตัวผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน
2.ระหว่างที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ระมัดระวังในการกระทำการใดๆ ซึ่งอาจกระทบถึงบรรยากาศ ปรองดอง
โดยเฉพาะรัฐบาล ต้องระลึกว่าชัยชนะจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่สนับสนุนการปรองดอง จึงต้องระวังไม่ดำเนินการใดๆ กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น และการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐบาลตั้งใจจริง อดทน และมุ่งมั่นนำประเทศเข้าสู่กระบวนการปรองดองอย่างจริงจัง
3.ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญนำสู่ความรุนแรงและการทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งมิใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในภาวะปกติ แม้ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายที่เหมาะสม
แต่ในหลายกรณี การฟ้องคดีและการลงโทษทางอาญาไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม และไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ และยังมีข้อจำกัดในการสืบสวนสอบสวน การตั้งข้อหา การรวบรวมพยาน หลักฐานที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลางและโน้มเอียงเป็นคุณต่อผู้กุมอำนาจรัฐในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย
คอป. จึงเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รวมทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ล้วนเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้
3.1 เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร หรือพยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่
3.2 ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐาน เพื่อให้ต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน อัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลผู้ต้องหาและจำเลยว่ามีเหตุที่จะหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่
หากไม่มีสาเหตุดังกล่าว ให้ยืนยันหลักกฎหมายว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และกรณีศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่ให้มีหลักประกันด้วยนั้น รัฐบาลต้องจัดหาหลักประกันให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้
3.3 หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ ควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต
3.4 คดีอาญาเหล่านี้สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง การใช้มาตรการฟ้องคดีอาญามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสม ควรนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมาน ฉันท์ มาศึกษาและปรับใช้ ตลอดจนประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเผชิญความขัดแย้งรุนแรงมาปรับใช้ให้เหมาะสม
โดยระหว่างที่มีการศึกษาถึงมาตรการต่างๆ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญา โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล รอให้มีข้อมูลครบถ้วนในทุกด้าน ถูกต้องและเชื่อถือได้ เพื่อให้อัยการประเมินความเหมาะสมด้านประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมาตรการทางอาญาที่เหมาะสมก่อนการสั่งคดี
4.เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงโดยที่รัฐไม่สามารถป้องกันได้ รัฐย่อมมีหน้าที่เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลและฟื้นฟูสังคม โดยเร็วและจริงจัง ดังนี้
4.1 การเยียวยาในกรณีนี้แตกต่างจากกรณีปกติ จึงไม่อาจใช้มาตรการตามปกติเช่นที่ใช้กับผู้ประสบภัยพิบัติ หรือหลักการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญา แต่ต้องใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ติดยึดอยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานในกรณีปกติ เพื่อให้การเยียวยามีผลป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคตและสร้างความปรองดองในชาติ
4.2 รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 แต่ควรครอบคลุมถึงตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.2549
รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ครอบครัว และขยายขอบเขตการเยียวยาและฟื้นฟูโดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยและย่านการค้าที่ได้รับผลกระทบด้วย
4.3 รัฐบาลควรกำหนดกรอบเยียวยาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ครอบคลุมถึงความสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่เฉพาะด้วยตัวเงินเท่านั้น
4.4 รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทำหน้าที่เยียวยาทุกฝ่าย อย่างจริงจัง เป็นศูนย์กลางประสานความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และต่อเนื่อง
4.5 ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากการชุมนุม ดังนี้
(1) เร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ ตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลยให้ครบถ้วน เร่งเยียวยากลุ่มผู้เสียหายที่ตกสำรวจจากบัญชีรายชื่อ หรือที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาโดยเร็ว
(2) จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยก ฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่
(3) จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของจำเลยในด้านมนุษยธรรม และหากพ้นโทษแล้ว รัฐบาลควรช่วยเหลือแนะนำการ ประกอบอาชีพ เพื่อลดความคับแค้น และฟื้นฟูให้กลับสู่สังคมได้ตามปกติ
4.6 คอป. กังวลต่อการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบทางการเมือง จึงควรดำเนินการดังนี้
(1) รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางปกป้องเทิดทูนสถาบัน ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้จาบจ้วงล่วงละเมิดที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน แต่ไม่ควรนำเอามาตรการทางอาญามาใช้มากจนเกินควรโดยขาดทิศ ทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี อาจเกิดผลกระทบต่อสถาบันตามมาทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ
(2) ทุกฝ่ายต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเทิดทูนสถาบันให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และยุติการกล่าวอ้างถึงสถาบันเพื่อประโยชน์การเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยนักการเมือง พรรคและกลุ่มการเมืองต้องหารือกันอย่างจริงจัง กำหนดแนวทางให้สถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
(3) หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องมีเอกภาพและบูรณาการร่วมกัน จำแนกลักษณะของคดีโดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนา แรงจูงใจ สถานภาพของบุคคลและสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ
(4) อัยการควรสั่งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยใช้ดุลพินิจ แม้คดีมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่อัยการต้องชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดีด้วย
(5) รัฐบาลควรให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว
(6) รัฐบาลควรทบทวนการดำเนินคดีที่นำประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า" ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายกว้างเกินไป ส่งผลต่อความปรองดองและไม่เป็นผลดีต่อการปกป้องสถาบัน
ทั้งนี้ การดำเนินคดีต้องพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจน สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
5.คอป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและสื่อ รวมทั้งประชาชนทุกคนมีบทบาทนำพาประเทศสู่การปรองดอง รัฐบาลควรจัดเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาและการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างถูกวิธี
6.คอป.ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่าสาเหตุความขัดแย้งจนเกิดเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.53 ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นผลของการกระทำและเหตุการณ์หลายครั้งต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถึงความรุนแรงเดือนเม.ย.-พ.ค.53
7.คอป. เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการละเมิดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตยและการบังคับใช้กฎหมาย ที่อ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ นำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหาโดยการรัฐประหาร ซึ่งแทนที่จะเแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดกลับสร้างปัญหามากยิ่งขึ้น
การละเมิดหลักนิติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าของปัญหา เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2547 ในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 295 หรือคดีซุกหุ้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย
หลักกฎหมายในการวินิจฉัยคดีไม่ว่าศาลใดก็ตาม ศาลต้องตั้งประเด็นประการแรกว่า คดีที่จะวินิจฉัยชี้ขาดนั้นอยู่ในอำนาจของศาลหรือไม่ หากศาลเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือผู้ถูกกล่าวหากระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
ในคดีซุกหุ้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 11 คนเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตุลาการ 4 คนเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาล แต่ในชั้นพิจารณาชี้ขาดในเนื้อหาของคดีนั้น ตุลา การ 7 คน วินิจฉัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทำการซุกหุ้นจริง ส่วนตุลาการ 6 คน วินิจฉัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหา
แต่ที่น่าประหลาดคือตุลาการอีก 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีแต่อย่างใด
เท่านั้นไม่พอ ศาลรัฐธรรมนูญยังนำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงหลังนี้ไปรวมกับคะแนนเสียง 6 เสียงที่วินิจฉัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาว่าซุกหุ้น แล้วศาลรัฐธรรมนูญสรุปเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้อง
การปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบมาพากล ทั้งบรรยากาศของบ้านเมืองขณะนั้นไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจในหลักกฎหมายนี้ด้วย เพราะกระแสสังคมระหว่างนั้น คาดหวังในตัวบุคคลอย่างรุนแรงมากจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดหวั่นไหว
การที่ตุลาการ 2 คน ไม่วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี และการที่ศาลนำเอา 2 เสียงเข้าไปบวกรวมกับ 6 เสียง เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้
ทำให้เกิดความผิดพลาด 2 ประการ คือ เป็นความผิดพลาดของตุลาการ 2 คนที่ไม่วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี เท่ากับไม่ทำหน้าที่ตุลาการ เพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นจะไม่ทำหน้าที่ของตนไม่ได้โดยเด็ดขาด
และยังเป็นความผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญเองที่เอา 2 เสียงไปรวมกับ 6 เสียงที่วินิจฉัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทำให้ผลของคดีนี้ไม่ชอบมาพากล เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 บัญญัติเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งว่า "จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย"
ผลของการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายของตุลาการ 2 คน และศาลรัฐธรรมนูญโดยรวม จึงเป็นการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย อันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของไทย
โดยที่ตั้งแต่เกิดการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายขึ้นในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีซุกหุ้น เมื่อปี 2547 นั้น รัฐยังละเลยและไม่ได้ตรวจสอบถึงรากเหง้าของความไม่ชอบมาพากลหรือความที่น่ากังขาของเรื่องนี้
ดังนั้น คอป. จึงขอเสนอแนะให้รัฐและสังคมได้ตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง