นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีการสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีนายเจะเด็น อนันทบรพงศ์ และชาวบ้านรวม 30 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2545 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีครั้งแรก
ทั้งนี้นายชาญชัยเปิดโอกาสให้นางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ผู้ร้องลำดับที่ 4 เป็นตัวแทนกล่าวคำแถลงด้วยวาจาต่อศาล โดยนางสุไรด๊ะห์กล่าวยืนยันว่าตำรวจได้ทำเกินกว่าเหตุ ด้วยการเข้าสลายการชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน ที่เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ก่อนที่ชาวบ้านจะได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่โรงแรมเจบี. หาดใหญ่ เพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการวางท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย
“ชาวบ้านถูกทุบตี ทำลายทรัพย์สิน คนแก่บางคนถึงกับหัวแตก ถูกตีแล้วยังถูกออกหมายจับมาตามล่าจับกุม เอาตัวไปซ่อนไว้บังคับไม่ให้ส่งข่าวถึงญาติมิตรในเวลา 1 – 2 วัน จึงอยากให้ศาลช่วยกำหนดกฎให้ตำรวจมีบรรทัดฐาน ว่าอย่าใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิ์ของชาวบ้าน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านยังมีผลกระทบทางจิตใจ เห็นตำรวจต้องตกใจกลัวตลอดเวลา” นางสุไรด๊ะห์ กล่าว
โดยฝ่ายผู้ถูกร้อง คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ในคดีนี้ ในสองประเด็น คือเห็นว่าศาลปกครองกลางได้ตัดสินเกินคำร้องของผู้ฟ้อง และคัดค้านคำตัดสินโดยอ้างว่าชาวบ้านชุมนุมโดยมีอาวุธ ไม่ใช่การใช้สิทธิ์โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปรากฎว่าฝ่ายอุทธรณ์ไม่ได้มาหรือส่งตัวแทนมาร่วมฟังการพิจารณาคดีแต่ อย่างใด
จากนั้นนายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ่านคำแถลงต่อองค์คณะ ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า การชุมนุมของชาวบ้านไม่ใช่การใช้สิทธิ์เกินกว่าเหตุ โดยขณะที่พักกินข้าวและทำพิธีละหมาดในระหว่างการเดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือ ดังกล่าว ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้น ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่มีการยั่วยุจนชาวบ้านขว้างปาสิ่งของใกล้ตัวและอาหารใส่ตำรวจ แม้จะมีการยึดอาวุธได้ส่วนหนึ่งเช่นหนังสติ๊ก ด้ามไม้ มีดสปาต้า แต่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้มาชุมนุม จึงถือเป็นกรณีเฉพาะราย ส่วนภาพการปะทะกันภายหลังการสะกัดกั้น มีการต่อสู้กับกระบองของตำรวจด้วยด้ามธง ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการชุมนุมที่กลายเป็นอาวุธตามสภาพ ไม่ใช่อาวุธโดยเจตนาที่พกพามาเพื่อก่อความรุนแรง
“จึงฟังได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบโดยปราศจากอาวุธ ขณะที่การสลายของเจ้าหน้าที่กระทำโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม จึงเห็นด้วยกับที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้ชดเชยแก่ผู้เสียหายทั้งสภาพร่างการและจิตใจรายละ 10,000 บาท” นายสมศักดิ์กล่าว
คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีดำเนินไปเพียง 5 นาที จากนั้นนายชาญชัยได้แจ้งว่า หลังจากองค์คณะมีคำพิพากษาแล้ว จะแจ้งไปยังคู่กรณีอีกที โดยให้ไปรับฟังคำพิพากษาที่อ่านโดยศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือศาลปกครองกลางจังหวัดสงขลา โดยจะมีการนัดหมายต่อไป โดยยังไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่นอน
..........................
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น