บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โซตัส : เมล็ดพันธุ์อุดมการณ์อำนาจนิยมที่ตกค้างในสังคมไทย

โดย วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


"พวกคุณ ท้าทายอำนาจ ประธานเชียร์"

"ทำลายเจตนารมณ์ ของพวกผมที่ สืบทอดมาเป็นรุ่น

พวกคุณไม่ ภูมิใจในสถาบัน ใช่ไหมครับ จึงทำอย่างนี้ ไปเรียนที่อื่น ก็ยังทันนะครับ"

"ถ่ายรูปบันทึกหน้าตาให้ผมหน่อย จะได้ ออกนอกระบบ แบบเบาๆ เหมือน Singular"

"มิน่าล่ะครับ รุ่นน้อง มันถึงไม่ฟัง รุ่นพี่"

"Staff ทุกคนมี ความจิตอาสา"

เหล่า นี้คือประโยคที่ถูกเปล่งออกมาจากปากของนิสิต "รุ่นพี่" ซึ่งเป็นประธานเชียร์ในงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อประณามนิสิตกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรม "ห้องเชียร์" และได้พยายามขึ้นเวทีแสดงป้ายประท้วงและขออ่านแถลงการณ์ที่พวกตนเตรียมมา จนถูกกลุ่มผู้จัดงานโห่ไล่ให้ออกไปจากสถานที่จัดงาน (ดูวิดีโอที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=hVpM9lKr378&feature=player_embedded)

วิดีโอ นี้ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ Youtube และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์และเว็บบอร์ ดต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต ล่าสุด เว็บไซต์ประชาไทได้ลงสัมภาษณ์หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิสิตที่ดำเนินกิจกรรมคัด ค้านห้องเชียร์ และมติชนออนไลน์ได้เผยแพร่ "จดหมายเปิดผนึกถึงประชาคมมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสังคมไทย เรียกร้องปฏิรูประบบรับน้อง/ห้องเชียร์" ซึ่งมีอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อมากกว่า 200 คน และยังคงมีผู้ทยอยลงชื่อสนับสนุนจดหมายนี้อย่างต่อเนื่องใน Event ซึ่งถูกสร้างขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook

จากระบอบการปกครองแบบเจ้าอาณานิคม สู่เผด็จการห้องเชียร์ : เส้นทางประวัติศาสตร์ของ "อุดมการณ์โซตัส"ระบบ โซตัส (SOTUS) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายสถาบันการศึกษาในปัจจุบันนั้น สันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นจากการนำระบบอาวุโสของโรงเรียนกินนอนในประเทศ อังกฤษ (Fagging system) เข้ามาใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ซึ่งเป็นระบบที่มีการแต่งตั้งดรุณาณัติ (Fag-master หรือ Prefect) จากนักเรียนอาวุโสผู้เรียนดีและประพฤติดี เพื่อทำหน้าที่ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียน โรงเรียนมหาดเล็กซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่าย พลเรือนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินของ รัชกาลที่ 5 โดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อผลิตข้าราชการสำหรับกิจการปกครองท้องถิ่น

ใน แง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนมหาดเล็กคือกลไกสำคัญในการทำให้โครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจเพื่อ "ปกครอง" และ "ควบคุม" เมืองขึ้นแข็งแกร่งขึ้น ในช่วงเวลาที่สยามยังไม่ได้เป็นรัฐชาติเฉกเช่นที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ครั้น ต่อมา เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สานต่อระบบอาวุโส ผนวกกับแนวคิดเรื่องระเบียบ ประเพณี สามัคคีและน้ำใจ จนคำว่า โซตัส (SOTUS) กลายเป็นคำขวัญทั้ง 5 ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นปณิธานในการอบรมสั่งสอนของผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ ไม่ปรากฏการใช้ความรุนแรงใดๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าระบบโซตัสในระยะแรกมีลักษณะของความเป็น "อุดมคติ" คือเป็นจินตนาการร่วมของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ข้าราชการพลเรือน (ซึ่งต้องออกไป "ปกครอง" ท้องถิ่นแดนไกลอันป่าเถื่อนล้าหลังในนามของราชการไทย) ต้องไปให้ถึง ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับบริบททางการเมืองของการผนวกรวมชาติและการสร้าง มาตรฐานเดียวให้กับคุณค่าต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเป็นมาตรฐานของ "ส่วนกลาง" เท่านั้น

ต่อ มา ระบบโซตัสในรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งหมายถึงการผนวกรวมกิจกรรมการว้ากและการลงทัณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งนั้น ประเทศไทยรับมาในช่วงสงครามเย็นหรือประมาณทศวรรษ 2480 โดยได้มีการส่งนักศึกษาไปเรียนระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยโอเรกอนและมหาวิทยาลัยคอร์แนล) และในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองลอสแบนยอส ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งในขณะนั้น ฟิลิปปินส์ถูกยึดครองโดยอเมริกามาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนหน้า "ผู้ปกครอง" ได้ถ่ายทอดรูปแบบเทคโนโลยีและรูปแบบการเรียนการสอนให้กับ "ผู้ถูกปกครอง" จึงทำให้ แนวคิดและระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เป็นไปในแบบอเมริกัน

เมื่อ จบกลับมา นักศึกษาของไทยก็ได้นำเอาระบบการว้าก (การกดดันทางจิตวิทยา) และการลงโทษ (การทรมานทางร่างกาย) มาใช้กับมหาวิทยาลัยไทย โดยเริ่มจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ เชียงใหม่ ซึ่งผลิตนักเรียนเพื่อเข้าเป็นนิสิตของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เป็นไป ได้ว่าในช่วงเวลานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้นำคำว่า "โซตัส" ซึ่งเป็นคำขวัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาปรับใช้เรียกระบบการรับน้อง "นำเข้า" รูปแบบใหม่นี้
จากมุมมองทางประวัติศาสตร์นี้ ระบบ โซตัส ถือเป็น "ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม" ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการหยิบยืม "องค์ความรู้" และ "เทคโนโลยี" สมัยใหม่มาจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยมทั้งอังกฤษและอเมริกัน แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็อิงอยู่บนฐานกรอบคิดเดียวกัน กล่าวคือ กรอบคิดแบบเจ้าผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งมีรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรงเพื่อกำราบ "เมืองขึ้น" ให้สยบยอม โดยในทางเนื้อหานั้น การเข้าไปรุกรานและควบคุม จำต้องนำรูปแบบการปกครองแบบทหารเข้ามาใช้ โดยผ่านกลไกของระบบการศึกษาของพลเรือน

นอกจากนี้ หากพิจารณาบริบททางการเมืองของไทยในยุคที่โซตัสลงหลักปักฐานอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยไทยนั้น เรากำลังอยู่ในยุค "รัฐนิยม" ที่มาพร้อมกับการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้แก่เยาวชนและราษฎรไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากแนวคิดและรูปแบบของการปกครองนี้จะถูกหยิบมาใช้ใน สถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยมีจุดประสงค์เชิงอุดมการณ์ เพื่อสร้างราษฎรที่มีคุณภาพ (ตามอุดมคติของรัฐ) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ เพราะในลัทธิชาตินิยม ไม่มีพื้นที่ให้กับความเป็นปัจเจกและความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเป็น ของตน จะมีก็เพียงแต่สำหรับราษฎรที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามหน้าที่ของตน (ตามที่รัฐบอก) อย่างเชื่องๆ

ต่อมาในทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสสำนึกประชาธิปไตยถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อต้านอำนาจ เผด็จการทหารโดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา ประเพณีและวิถีปฏิบัติจารีตนิยมหลายอย่างได้ถูกตั้งคำถามในฐานะฟันเฟือง สำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้นำเผด็จการและเครือข่ายอุปถัมภ์นำมาใช้ครอบงำความคิดในระดับจิตใต้ สำนึกของประชาชนอย่างแนบเนียน

ระบบโซตัส ภายใต้ชื่อเรียกว่า "การรับน้อง" และ "ห้องประชุมเชียร์" จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตั้งคำถามในฐานะหัวขบวนแห่งกระบวนการปลูก ฝังกล่อมเกลาปัญญาชนคนหนุ่มสาวให้อยู่ในสภาพเกียจคร้านทางปัญญาและสภาพชินชา ทางการเมือง
ในยุคนี้ เรามีตัวอย่างมากมายของ "คนรุ่นใหม่" ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดประเด็นถกเถียงเรื่อง "วัฒนธรรมการรับน้อง" ดังกรณีของกลุ่มวลัญชทัศน์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ส่งตัวแทนชิงตำแหน่งประธานชมรมเชียร์ โดยมีนโยบายสำคัญคือการ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเชียร์ ซึ่งก็ได้รับชัยชนะ และสิ่งแรกที่ทำคือการแจกบทกวี "ฉันจึงมาหาความหมาย" ของ วิทยากร เชียงกูล ให้แก่นักศึกษาใหม่ในห้องเชียร์

แต่ หลังจากความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาหลัง 2519 ระบบโซตัสก็ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง คู่ขนานไปกับการกลับมาของการเมืองแบบจารีต ที่มีฐานมาจากระบบอุปถัมภ์และเครือข่ายความสัมพันธ์ของชนชั้นปกครอง การใช้อำนาจปกครองทางการเมืองและวัฒนธรรมถูกทำให้ซับซ้อนและนุ่มนวลขึ้นด้วย เครื่องมือใหม่ที่ชนชั้นนำไทยรับมาจากระบอบจักรวรรดินิยมใหม่ในยุคหลัง สงครามเย็น ภายใต้โฉมหน้าของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่งใช้กลไกระบบตลาดในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนในสังคมจากการกดขี่และ จากปัญหาที่แท้จริงได้อย่างเหนือชั้นยิ่งกว่าระบบใดๆ ในประวัติศาสตร์

การ ตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (แม้จะมีมาช้านานก็ตาม) จึงถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทย เฉกเช่นจิตสำนึกทางสังคมที่เจือจางไปจากคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิต รั้วมหาวิทยาลัย
หากพิจารณาภาพรวมทางประวัติศาสตร์การเดินทางของระบบโซตัสเพื่อฝังรากในวัฒนธรรมไทยนั้น จะเห็นได้ว่าจาก "อุดมคติทางจริยธรรม" ในยุคแรกเริ่มพัฒนาสยามประเทศ ระบบโซตัสได้อวตารมาเป็น "อุดมการณ์โซตัส" อันเข้มแข็งและแข็งทื่อในยุครัฐนิยมและยุคเผด็จการทหารในตอนปลายพุทธศตวรษ ที่ 25 และตอนต้นพุทธศตวรรรษที่ 26 และได้สร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองอีกครั้งหลังความพ่ายแพ้ของขบวนการนัก ศึกษาหัวก้าวหน้า

และก็เป็นรูปแบบ "เผด็จการห้องเชียร์" เดียวกันนี้เองที่ยังคงสืบต่อมาจนปัจจุบัน


การว้าก การลงทัณฑ์และห้องเชียร์ : ฤๅเยาวชนไทยจะไร้ซึ่งจินตนาการ?
ใน แต่ละปี ตลอดช่วงเดือนแรกคาบเกี่ยวถึงเดือนที่สองของการเปิดภาคการศึกษา การประชุมเชียร์หรือห้องเชียร์ได้กลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นิสิตนัก ศึกษาแรกเข้าหรือ "น้องใหม่" ต้องถูกบังคับหรือกึ่งบังคับให้เข้า "ซ้อมเชียร์" โดยรุ่นพี่ที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยหรือที่จบไปแล้วจะ ประชุมวางแผนซักซ้อมกิจกรรมตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วย การว้ากที่มาพร้อมกับการลงทัณฑ์

"การว้าก" คือ การสร้างบรรยากาศของความกดดันและความหวาดกลัวทางจิตวิทยา ด้วยกระบวนการทำให้เกิด "ความรู้สึกผิด" (emotional guilt) ผ่านการใช้ชุดคำแบบแผนสำเร็จรูปชุดหนึ่งซ้ำไปมา โดยกลุ่มคนซึ่งสถาปนาตนเองเป็น "รุ่นพี่" บนฐานข้ออ้างเรื่องความอาวุโส (Seniority อักษรตัวแรกของชื่อย่อ SOTUS) เป็นผู้บังคับใช้คำสั่งและการลงโทษทรมานทางร่างกายซ้ำไปมา ในฐานะเครื่องมือละลายพฤติกรรม

ทั้งหมดทั้งมวลมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อสร้างกลุ่มรุ่นน้องที่เชื่อฟังอย่างมีระเบียบวินัย (Order จึงถูกใช้ในสองความหมาย คือคำสั่งและระเบียบวินัย) มีความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) และมีความรักเทิดทูนและภูมิใจในสถาบันของตน (Spirit) ทั้งหมดนี้ เรียกกันทั่วไปว่า กระบวนการสืบทอดส่งต่อ "ประเพณีรับน้องใหม่" (Tradition)

หาก พิจารณาคำพูดของนักศึกษาผู้นำเชียร์ที่ยกมาในตอนต้นของบทความตอนที่หนึ่งและ เชื่อมโยงเหตุการณ์นี้เข้ากับวันที่บนปฏิทิน (5 มิถุนายน พ.ศ.2554) เราจะเห็นความลักลั่นระหว่างบริบทของยุคสมัยกับชุดคำพูดซึ่งสะท้อนชุดความ คิดของอุดมการณ์โซตัสได้เป็นอย่างดี

กล่าวคือ ในยุคซึ่งฉันทามติของสังคมไทยเรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก อุดมการณ์โซตัสกลับผลิตซ้ำวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของยุคเผด็จการ อันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความซาบซึ้งกับจารีตนิยมอย่างปราศจากการถก เถียงด้วยเหตุด้วยผล และการผูกขาดการตีความรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสถาบัน (ในที่นี้ คือสถาบันการศึกษาและสถาบันอาวุโส) ให้มีลักษณะแข็งทื่อไร้พลวัต โดยโจมตีกลุ่มคนที่เห็นต่างว่าเป็นพวกบ่อนทำลาย "เจตนารมณ์" และ "ประเพณีอันเก่าแก่"

หรือเป็นพวก "ร้อนวิชาสิทธิมนุษยชน" หรือ "ทำลายชื่อเสียงสถาบัน" (ดังตัวอย่างบทสัมภาษณ์อันน่าเศร้าสลดใจของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และความคิดเห็นของกลุ่มสนับสนุนกิจกรรมประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัย มหาสารคาม)

วิวาทะว่าด้วยระบบโซตัสจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การตั้ง คำถามกับรูปแบบและวิธีการของประเพณีการรับน้องภายในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น (กล่าวคือ เราจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แม้ว่าจะล้าหลังหรือขัดแย้งกับยุคสมัยเพียงใด เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดมุ่งหมายอัน "ดี" หรือ? ซึ่งในที่นี้ ยังไม่ได้ตั้งคำถามกับ "เจตนาดี" นี้ ว่าแท้จริงมาจากมุมมองของใคร เพื่อใครกันแน่และ "ดี" จริงหรือ)

แต่หมายรวมถึงการเชื่อม โยงระบบโซตัสเข้ากับบริบทภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย เข้ากับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันที่รากเหง้าของปัญหาทางการ เมือง สังคมและวัฒนธรรมมาจากการไม่ยอมรับและไม่เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างหลาก หลายและจากการดำรงอยู่ของระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องอันนำมาซึ่งการเลือก ปฏิบัติและความอยุติธรรมทั้งหลายในสังคม
ในแง่นี้ พื้นที่ปิดของห้องเชียร์จึงกลายมาเป็นพื้นที่จำลองของปฏิบัติการใช้อำนาจที่ ไร้ความชอบธรรมใดๆ เป็นพื้นที่ฝึกความชาชินให้สยบยอมต่อ "ความเป็นธรรมชาติ" (ภายใต้ชื่อเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ว่า "ประเพณี") ของโครงสร้างเดิมทางสังคม ซึ่งถูกประกอบสร้างและสถาปนาขึ้นจากอำนาจภายนอก จนนำไปสู่การสมยอมให้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อไป และยังเป็นพื้นที่ของการส่งทอด "วัฒนธรรมเหยียด" ผู้อื่น

จึงไม่น่า แปลกใจเลย หากแท้จริงแล้ว ชนชั้นกลางมีการศึกษาทั้งหลายจะเป็นผู้ชื่นชอบในระบอบเจ้าขุนมูลนายและดูถูก ผู้อื่นที่ไม่มีการศึกษาเท่าเทียมตน เพราะคนเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ที่สถาปนาผ่านระบอบการศึกษา จึงต้องพยายามปกปักรักษาอุดมการณ์โซตัสนี้ไว้เพื่อรักษาสถานภาพความเหลื่อม ล้ำที่เป็นอยู่ในสังคมให้คงทนถาวรสืบไป

ภายในพื้นที่ปิดของห้อง เชียร์และรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องได้กระทำการ "สืบทอด" พิธีกรรมปิดหูปิดตาและปิดจินตนาการของคนหนุ่มสาวในนามของ "อัตลักษณ์" อันคับแคบของการเป็นนักศึกษาของสถาบันใดสถาบันหนึ่งอย่างเดียว

การ ปฏิเสธที่จะตั้งคำถามหรือเปิดเวทีเสวนาถกเถียงถึงความชอบธรรมของการมีอยู่ ของระบบโซตัส ในท่ามกลางสังคมไทยยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่โครงสร้างทางสังคมการเมือง แบบจารีตนิยมสั่นคลอนอย่างถึงราก เป็นเสมือนการเลือกขีดเส้นวงกลมล้อมรอบตนเองเพื่อปิดตายศักยภาพของความเป็น ปัญญาชนที่ควรจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและเลือกการกดทับปิดกั้นพลัง สร้างสรรค์แห่งวัยรุ่นด้วยการสร้างความเป็นอื่นให้กับตนเองและให้กับคนอื่น ที่ไม่ใช่พวกตน

นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ของรูปแบบการต้อนรับ "เพื่อนใหม่" ที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมนุมโดยรอบมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนรู้จากของจริง ปัญหาจริงและคนจริง

ฤๅพวกเขามองไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่ พื้นที่ปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดสู่ความท้าทายของการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสภาพความเป็น จริงของสังคมภายนอกซึ่งพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ใน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของสังคมเพื่อการปฏิรูปทางการเมือง การตั้งคำถามกับระบอบคุณค่าอันเป็นฐานเชื่อมโยงและจัดระเบียบความสัมพันธ์ ของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่พึงกระทำร่วมกัน ประเพณีการรับน้องของสถาบันอุดมศึกษาไทยนี้เป็น "พื้นที่สีเทา" ซึ่งไม่มีที่ทางชัดเจนในภูมิทัศน์ของระบบการศึกษาไทย

สวนทางกับยุทธศาตร์การพัฒนาการศึกษา

สวนทางกับปณิธานของการผลิตบัณฑิตที่มุ่งเน้นให้นิสิตนักศึกษามีทักษะทางปัญญา

สวนทางกับสปิริตของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่ควรอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการวิพากษ์

ท้ายที่สุด ประเพณีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อปรัชญาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่สามารถประนีประนอมได้

เพราะ ระบบโซตัสเป็นกลไกหลักของการครอบงำเชิงวัฒนธรรมและเป็นเมล็ดพันธุ์ของ "อุดมการณ์อำนาจนิยม" ที่ตกค้างอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกและความคิดความอ่านของผู้คนอย่างแยบยลและ แยบคาย อันเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาการเมืองที่นำไปสู่การสังหารหมู่เมื่อพฤษภาคม 2553

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง