บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

โปรโมชั่นคืนเงินรถคันแรก รัฐบาลถูสีข้างรักษาสัญญา!!

เดลินิวส์


ใน ที่สุดรัฐบาล ’ยิ่งลักษณ์ 1” ก็สามารถเข็นมาตรการคืนเงินรถคันแรกออกมาจนได้ แม้ว่าต้องควักเนื้อมากถึง 30,000 ล้านบาท และอยู่ท่ามกลางกระแสที่เต็มไปด้วยคำถาม ทั้งจากประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิ ค่ายรถยนต์ ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อ นักวิชาการ หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงพลังงาน ก็ตามแม้มาตรการนี้ สามารถเติมเต็มความฝันของคนหลายคนที่ต้องการมีรถคันแรกเป็นของตนเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วผลของมาตรการจะนำไปสู่ปัญหาอะไรตามมาบ้าง?

ทั้งนี้เงื่อนไขหลัก ๆ ของโครงการนี้คือ ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศและไม่ใช่รถประกอบ ครอบคลุมเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี, รถปิกอัพและรถดับเบิลแค็บ ที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ผู้ซื้อต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่สำคัญต้องครอบครองรถคันนี้เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่เริ่มทำสัญญาซื้อรถตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 54 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 55

เมื่อดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว ผู้ซื้อที่ได้สิทธิจะได้รับเงินคืนเท่ากับอัตราภาษีของรถยนต์แต่ละชนิดไม่ เกิน 100,000 บาท มีระยะเวลาการคืน 1 ปี หลังการซื้อ โดยกรมสรรพสามิตเริ่มคืนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 55 เป็นต้นไป ในเมื่อเงื่อนไขโดนใจเช่นนี้ มีหรือที่ใครจะไม่สนใจ แม้ในวันแรกของการเริ่มโครงการคือเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา บรรยากาศการจองซื้อรถยนต์คันแรกยังไม่คึกคักเท่าที่ควรก็ตาม

แต่เชื่อได้ว่าสัญญาที่รัฐบาลชุดนี้พยายามรักษาไว้กับคะแนนเสียงของตัวเอง นั้น ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปี 54 มีโอกาสขยายตัวสูงถึง 12-17% หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ 900,000-940,000 คัน โดยเฉพาะเมื่อกรมสรรพสามิตได้กำหนดการ “คลิก ออฟ” โครงการระหว่างวันที่ 4-8 ต.ค. นี้ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่บรรดาค่ายรถยนต์เตรียมโปรโมชั่นในสารพัดรูปแบบมานำเสนอ รวมไปถึงราคารถที่ชัดเจน จะยิ่งทำให้คนซื้อตัดสินใจได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันผลของนโยบายที่ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 55 ประกอบกับมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่เตรียมเปิดตัวออกสู่ตลาดในปีหน้านี้ ทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์ยังได้รับอานิสงส์จนทำให้ยอดขายรถยนต์ในปี 55 ทะลุ 1 ล้านคัน
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาค่ายรถยนต์ต่างเร่งเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับกำลังซื้อที่เกิดขึ้น แม้เบื้องต้นบางค่ายยังขอเวลาประเมินสถานการณ์ เช่นค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง “โตโยต้า” ที่ขอเวลาอีก 15 วันเพื่อดูท่าทีให้ชัดเจนก่อนหากต้องการเพิ่มขึ้นจริง บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที โดยเฉพาะ “โตโยต้า วีออส” ที่ได้รับอานิสงส์แบบเต็ม ๆ เพราะเมื่อคำนวณอัตราภาษีที่ 25% แล้ว คนใช้สิทธิจะได้รับเงินคืนมากถึง 100,000 บาท สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อีก 5-10% จากปัจจุบันที่ผลิตได้เดือนละ 10,000 คัน ขณะที่รถปิกอัพ สามารถเพิ่มการผลิตได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดต้องดูความพร้อมของโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศด้วย

ด้านค่ายมาสด้าได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดย “สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า มาสด้าได้แจ้งให้บรรดาตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ พร้อมรับมือ ทั้งเรื่องของเอกสารเพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้า การตั้งโต๊ะตามโชว์รูมต่าง ๆ เพื่อชี้แจงรายละเอียด ทั้งเงื่อนไข เอกสาร และการขอคืนภาษี ซึ่งมาสด้าเตรียมเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์ “มาสด้า 2” จากเดิมเดือนละ 3,000 คัน เป็น 3,500 คัน ส่วนรถกระบะ “มาสด้าบีที-50” มียอดผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 1,000 คัน เป็น 1,300 คัน ซึ่งกลุ่มรถกระบะได้รับคืนภาษีที่ 30,000-60,000 บาท ขณะเดียวกันยังเตรียมช่วยเหลือลูกค้าที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติสินเชื่อ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนรถให้เข้ามาอยู่ในโครงการมากที่สุดอีกด้วย

ส่วนบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า มีรถ “เชฟโรเลต อาวีโอ” ขนาดเครื่องยนต์ 1,400 ซีซี และรถกระบะ “เชฟโรเลต โคโลราโด” โฉมใหม่ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ ที่อยู่ในเป้าหมาย แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และเงื่อนไขที่อาจทำให้ความต้องการเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และอาจไม่บรรลุเป้าหมายเพราะมีความซับซ้อนทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับค่ายฮอนด้า ที่ “พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ที่บอกว่า ขณะนี้ฮอนด้าได้ผลิตรถเต็มกำลังการผลิตของโรงงานทั้ง 2 แห่งที่ 240,000 คันซึ่งรองรับความต้องการได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันได้แจ้งไปยังดีลเลอร์ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ แต่ต้องอยู่ที่ตัวลูกค้าเองว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดหรือไม่ ส่วนลูกค้าที่ซื้อและโอนไปแล้วคงทำอะไรไม่ได้
   
ไม่เพียงค่ายรถยนต์เท่านั้นที่ได้อานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาล บรรดาสถาบันการเงินเองต่างได้รับผลประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ ยนต์เพิ่มขึ้น โดย “ณรงค์ ศรีจักรินทร์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ยอดสินเชื่อในระบบธนาคารจะขยับเพิ่มมากขึ้นแน่ โดยปัจจุบันพอร์ตรถยนต์ขนาดเล็กของธนาคารมีอยู่ประมาณ 20% ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นตลาดวัยรุ่น หรือวัยเริ่มทำงานที่ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดสินเชื่อทุกปี แต่คาดการณ์ว่าคงไม่ทำให้สัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ขนาดเล็กของธนาคารขยับเพิ่ม ขึ้นมากนัก

ขณะที่ “ชลิต ศิลป์ศรีกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ ในฐานะรองประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ซึ่งเห็นว่า เมื่อยอดซื้อรถยนต์เพิ่มมากขึ้นย่อมทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มตามไป ด้วยโดยเชื่อว่าสินเชื่อรถยนต์จะขยับไปอยู่ที่ระดับ 400,000-500,000 ล้านบาท จากที่ในปีก่อนอยู่ที่ระดับ 420,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยที่เชื่อว่าได้รับผลดีเช่นกันเพราะผู้ซื้อรถ ยนต์ต้องทำประกันภัยควบคู่กันไป

มาตรการนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ผลดีด้านเดียวเท่านั้น แต่…มีผลเสียตามมาเช่นกันโดยเฉพาะธุรกิจรถยนต์มือสองที่อาจต้องถึงขั้นปิด กิจการเลยก็เป็นได้ เพราะการคืนเงินมากถึง 100,000 บาท ย่อมทำให้ค่ายรถมือสองต้องลดราคารถยนต์ลงเพื่อสู้กับรถใหม่ป้ายแดง โดย “ภิญโญ ธนวัชรภรณ์” เจ้าของเต็นท์รถยนต์มือสองโยรัชดา กล่าวว่า บรรดาผู้ประกอบธุรกิจในขณะนี้ไม่สามารถจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเล็ก หรือมีเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี ได้ เพราะลูกค้าหันไปรอซื้อรถใหม่ตามนโยบายรัฐบาล เพราะราคาไม่แตกต่างจากรถมือสอง แถมยังได้ดอกเบี้ยจากการจัดไฟแนนซ์ถูกกว่า จากดอกเบี้ยลีสซิ่งรถมือสองเฉลี่ยที่ 2.9-3.25%

นอกจากนี้เต็นท์รถมือสองต้องเร่งระบายสต๊อกรถเล็กยอมขายขาดทุนคันละ 10,000-20,000 บาท หรือขาดทุนคันละไม่น้อยกว่า 10-20% ทำให้การรับซื้อรถจากนี้ไปต้องมีราคาถูกลงประมาณ 50,000- 60,000 บาท หรือ 10-15% และยังกังวลว่าในช่วงอีก 1 ปีของมาตรการนี้ เมื่อผู้ซื้อรถได้รับเงินภาษีคืนแล้ว นำรถไปขายเต็นท์ และโอนลอยไว้กรณีที่เต็นท์นั้น ๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้เชื่อว่าส่งผลเสียต่อผู้ซื้อช่วงต่อไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากเต็นท์รถมือสองบางรายบอกว่า ปัญหาไม่ได้มีเพียงเท่านี้แต่ยังนำไปสู่การเกิดปัญหาการสวมสิทธิซื้อรถเพิ่ม มากขึ้นและที่หนักไปกว่านั้นจะเกิดการนำรถไปชำแหละขาย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งประกันภัย และบริษัทลีสซิ่ง ขณะเดียวกันอาจทำให้ประชาชนที่ซื้อรถยนต์ป้ายแดงไปไม่นานทิ้งการผ่อนชำระ หนี้กับสถาบันการเงินจนกลายเป็นหนี้เสียได้ รวมทั้งยังเป็นนโยบายที่สวนทางกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทำให้เกิดนิสัยการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเนื่องจากเป็นนโยบายที่เชิญชวน แม้ว่าสำหรับบางคนแล้วอาจยังไม่มีความสำคัญแต่ด้วยแรงจูงใจที่แรง ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจนกลายเป็นหนี้ ที่สำคัญนโยบายนี้ยังเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันและปัญหาจราจรบนท้องถนนมากขึ้น เพราะทุกวันนี้แม้ไม่มีมาตรการส่งเสริม ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนมีเป็นสิบล้านคันอยู่แล้ว ทั้งรถใหม่ป้ายแดงที่ขายดิบขายดี หรือรถเก่าที่ใช้กันโดยไม่มีปลดระวาง จนสะสมเป็นปัญหาการจราจรที่คับคั่ง ยังไม่รวมภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่รัฐพยายามลดการบริโภค น้ำมันลง แต่กลับส่งเสริมให้ปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้น

สุดท้ายจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพิสูจน์คำสัญญาว่า “ทำได้จริง” จะกลับกลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีคนไทยทั้งประเทศเป็นผู้รับกรรม!!!.

คนได้ประโยชน์         คนเสียประโยชน์

1. รัฐบาลได้คะแนนเสียงเพิ่ม1. รัฐควักเนื้อ 30,000 ล้านบาท

2. ประชาชนบางกลุ่มมีรถขับเพราะ2. ประชาชนบางกลุ่มไม่ได้สิทธิ เช่น รถที่ใช้ก๊าซ

ครอบคลุมรถหลายประเภท       ซีเอ็นจีที่มีขนาดเกินกว่า 1,500 ซีซี
   
3. ค่ายรถยนต์มียอดขายเพิ่ม3. เต็นท์รถมือสองจุกอกต้องลดราคาสู้

4. ธุรกิจลีสซิ่ง-ไฟแนนซ์ได้สินเชื่อเพิ่ม4. สภาพจราจรติดขัดมากขึ้น

5. บริษัทประกันได้เบี้ยประกันเพิ่ม    5. สูญเสียพลังงานมากขึ้น เกิดปัญหามลพิษ

ข้อมูลคืนเงินรถยนต์คันแรกเบื้องต้น บนเว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต (15 ก.ย. 54)
   
ประเภท        ภาษี    ได้เงินคืน

รถยนต์นั่ง (47 รุ่น)

นิสสัน มาร์ช 1,200 ซีซี    17%    53,000-80,000 บาท

ฮอนด้า บริโอ้ 1,200 ซีซี    17%    64,000-70,000 บาท

ฮอนด้า แจ๊ซ 1,500 ซีซี    25%    100,000 บาท

ฮอนด้า ซิตี้ 1,500 ซีซี    25%    100,000 บาท

โตโยต้า วีออส 1,500 ซีซี    25%    100,000 บาท

โตโยต้า ยาริส 1,500 ซีซี    25%     100,000 บาท

มาสด้า 2 1,500 ซีซี    25%    100,000 บาท

เชฟโรเลต อาวีโอ 1,400 ซีซี    25%    100,000 บาท

ฟอร์ด เฟสต้า 1,400 ซีซี    25%    100,000 บาท

รถยนต์กระบะ (250 รุ่น)

อีซูซุ ดีแมคซ์        3%    11,000-21,000 บาท

โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้    3%    12,000-20,000 บาท

มิตซูบิชิ ไทรทัน        3%    10,000-20,000 บาท

นิสสัน นาวารา        3%    12,000-19,000 บาท

นิสสัน ฟอนเทียร์        3%    10,000-11,000 บาท

ฟอร์ด เรนเจอร์        3%    12,000-17,000 บาท

เชฟโรเลต โคโลราโด    3%    12,000-26,000 บาท

ทาทา ซีนอน        3%    13,000-15,000 บาท

รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (172 รุ่น)

อีซูซุ ดีแมคซ์        12%    65,000-94,000 บาท

โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้    12%    62,000-99,000 บาท

มิตซูบิชิ ไทรทัน        12%    57,000-88,000 บาท

นิสสัน นาวารา        12%    66,000-92,000 บาท

ฟอร์ด เรนเจอร์        12%    56,000-83,000 บาท

ทาทา ซีนอน        12%    69,000-70,000 บาท

ที่มา : กรมสรรพสามิต

ทีมเศรษฐกิจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง