บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

รถคันแรก' หลายจุดพบรูรั่วให้ตักตวง

altทันที ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554  ที่ผ่านมา อนุมัติเรื่องการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมอนุมัติเงินงบประมาณ ประจำปี 2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกเท่ากับภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคันละ 100,000 บาทนั้น ทำให้มีการตั้งคำถามว่า จำเป็นแค่ไหนจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมให้มีประชาชนซื้อรถใหม่มาเพิ่มปริมาณการจราจรบนท้องถนนให้ติด ขัดมากขึ้น และใครได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
 ที่สำคัญนโยบายคืนเงินรถคันแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อมานั่งพิจารณาในเชิงลึกของหลักการและเงื่อนไขต่างๆอย่างละเอียดแล้ว หลายจุดพบรูรั่วที่เอื้อให้เกิดการตักตวงผลประโยชน์โดยมิชอบได้โดยง่าย
**ขอคืนเงิน 1 แสนไม่ง่าย
 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดูหลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกที่ระบุว่า 1.เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555  2.เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อคัน 3.เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์กระบะ (Pick up) รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab) 4. เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ) 5. คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคัน 6. ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 7. ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5  ปี   และ 8. การคืนเงินจะคืนให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปี ไปแล้วนั้น (เริ่มจ่ายคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป)
 นั้นหมายความว่าในหลักการปฏิบัติแล้ว จำเป็นต้องทำความเข้าใจกันใหม่ทั้งรูปแบบของโครงการและระเบียบปฏิบัติ สำหรับผู้ที่คิดจะขอเงินคืนจากการซื้อรถคันแรก อย่างแรกที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่การคืนเงินภาษีสรรพสามิตแต่อย่างใด แต่เป็นการคืนเงินงบประมาณที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษในวงเงิน 30,000 ล้านบาท เพียงแต่มีการหยิบยกมูลค่าของภาษีสรรพสามิต ที่มีการเรียกเก็บในจำนวนที่แตกต่างกัน มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าจะได้คืนเท่าไหร่ เมื่อไรเท่านั้น
 ส่วนกรณีการขีดเส้นเริ่มดำเนินการโครงการในวันที่ 16 กันยายน 2554 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นั้น กรมสรรพสามิตได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะเริ่มคิดจากการจองรถยนต์ที่ต้องเกิด ขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 เป็นต้นไป และการสิ้นสุดโครงการจะอนุมัติให้กับผู้ที่ยื่นเอกสารการซื้อรถยนต์ที่ สมบูรณ์ได้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เท่านั้น นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่จองรถยนต์ไว้ก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับอนุมัติให้คืนเงิน แม้จะเป็นการซื้อรถยนต์คันแรกก็ตาม ขณะเดียวกันหากไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานการเป็นเจ้าของรถทั้งหมดได้ก่อน สิ้นปีหน้า ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติเช่นกัน
++หนักใจในทางปฏิบัติ
 นอกจากนี้ยังมีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายว่านโยบายดังกล่าว กลับสร้างความยุ่งยากในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ตัวอย่างแรกคือเรื่องของการเช่าซื้อ  สถาบันการเงิน ที่ปล่อยสินเชื่อหรือที่เรียกกันง่ายๆว่า ไฟแนนซ์   ให้ความห่วงในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐจะคืนภาษีเป็นเช็คให้กับผู้ซื้อโดยตรง  เมื่อผู้ซื้อครอบครองรถเกิน 1 ปี ผู้ซื้อจึงเหมือนเช่ารถขับนาน 12 เดือน จากนั้นได้เงินดาวน์คืนมา จึงอาจไม่สนใจจะผ่อนต่อ ซึ่งปกติไฟแนนซ์ต้องยึดคืน แต่กรณีที่รัฐระบุว่าผู้ซื้อต้องครอบครองนาน 5 ปี   ทำให้ไฟแนนซ์ไม่สามารถไปยึดคืนได้ ต้องให้รัฐดำเนินคดีจนถึงสิ้นสุด แล้วจึงขายทอดตลาด สร้างความยุ่งยากให้กับไฟแนนซ์เป็นอย่างมาก  จึงมีข้อเสนอให้คืนภาษีผ่านไฟแนนซ์เพื่อไปหักลดค่างวดแทน แต่แน่นอนว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้การตอบรับแต่อย่างใด
 ส่วนกรณีที่ระบุว่า ต้องเป็นรถที่ผลิตภายในประเทศ ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากผู้ผลิตรถยนต์หลายรายโดยเฉพาะค่ายโปรตอน  ที่นำเข้ารถยนต์จากมาเลเซีย  ที่ให้ความเห็นว่า การลดภาษีรถคันแรก ถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าแบบหนึ่ง ซึ่งผิดต่อข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า  อาจถูกทางมาเลเซียคัดค้านเหมือนอย่างที่ไทยคัดค้านรัฐบาลมาเลเซียที่ให้ เอกสิทธิ์พิเศษกับผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ 
alt++โครงสร้างตลาดบิดเบือน
  อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอนคือ โครงสร้างตลาดถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง โดยการลดภาษีรถยนต์นั่งที่สูงกว่ารถปิกอัพ เนื่องจากรถยนต์นั่งเสียภาษี สรรพสามิต 25% จึงได้ส่วนลดมากกว่ารถปิกอัพที่เสียภาษีแค่ 3%  จึงเป็นแรงจูงใจให้บุคคลทั่วไปหันไปซื้อรถเก๋งที่มีส่วนลดมากกว่า ตัวอย่าง เช่น โตโยต้า  วีโก้ ซึ่งเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย  จะมีส่วนลดให้เพียง 12,000 บาท  ขณะที่โตโยต้า วีออส จะได้ส่วนลดประมาณ 100,000 บาท ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์นั่งกันมากขึ้น มียอดจองค้างส่งนานขึ้น ขณะที่รถปิกอัพจะมีผู้สนใจซื้อน้อยลงไปเรื่อยๆ จนอาจกระทบต่อการผลิตรถปิกอัพที่เป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมานาน นับหลาย 10 ปี ไม่นับรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นตลาดรถยนต์มือสอง  ที่มีสต๊อกเก่าอยู่ไม่สามารถขายรถได้เลยนับแต่มีข่าวนี้ออกมาร่วมเดือนแล้ว
++จับตาขบวนการสวมสิทธิ์
 ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือกรณีป้องกันการสวมสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของรถ ยนต์มาก่อนแล้ว ยังเป็นเรื่องทำได้ยาก  แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและ บันทึก "ห้ามโอนภายใน 5 ปี" ลงในต้นระบบคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน ต่อจากนั้นส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก "ห้ามโอนภายใน 5 ปี" ให้กรมสรรพสามิต เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นไป  แต่ทางกรมการขนส่งทางบกออกมายอมรับว่า ฐานข้อมูลผู้จดทะเบียนรถ จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ ย้อนหลังไปแค่ ปี 2549  เท่านั้น ผู้ครอบครองรถก่อนหน้านี้ จึงมีโอกาสจะให้สิทธิ์ซื้อรถคันแรก โดยที่รัฐจะต้องสูญเสียงบประมาณมาอุดหนุนเป็นมูลค่ามหาศาล
 เห็นแบบนี้หากเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจริงตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างจริง ทำไมผู้ที่ได้รับประโยชน์กลับเป็นผู้ซื้อรถเพียง 500,000 คน กับผู้ขายอีกเพียงไม่กี่คน แล้วอีกกว่า 60 ล้านคนได้ประโยชน์อะไร


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,671  18-21  กันยายน พ.ศ. 2554

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง