บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สำรวจนโยบายดับไฟใต้...เพื่อไทย-ทหารยังเห็นต่าง และทิศทางปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ

 by ปกรณ์ ,

พระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทรงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งหาวิธีคืนความสงบสุขให้กับดินแดนปลายสุดด้าม ขวานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ภาคใต้ ณ ปัจจุบันหนักหน่วงรุนแรงเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาจนถึงขณะนี้ยังไม่มี “ยุทธศาสตร์” ที่ดีพอที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ความรุนแรงรายวันเกิดขึ้นซ้ำๆ มานานกว่า 7 ปีแล้ว
ขณะ ที่ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ดูจะเป็นปัญหาและถูกตั้งคำ ถามมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ปรากฏความ ชัดเจนว่าจะมีทิศทางอย่างไร

แม่ทัพ 4 ชู “อภัยโทษ-ล้างธุรกิจเถื่อน”
ประเด็นที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงมากเป็นพิเศษคือ “เหตุรุนแรงรายวัน” ที่ยังมิอาจหยุดยั้งได้ ทั้งการทำร้ายพระสงฆ์ ประชาชนไทยพุทธ มุสลิม และข้าราชการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครู
แน่นอนว่าการหยุดเหตุร้ายรายวัน เป็นภารกิจโดยตรงของทหาร!
                             
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในขณะนี้ มีสาเหตุจาก “ภัยแทรกซ้อน” คือกลุ่มอิทธิพลมืด ค้ายาเสพติด น้ำเถื่อน และสินค้าเถื่อน มากถึง 80% ส่วนสาเหตุจากการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ มีเพียง 20% เท่านั้น
โดยกลุ่มอิทธิพลเถื่อนใช้เงินจ้างกลุ่มติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอุดมการณ์ “ญิฮาด” (ทำสงครามและพร้อมพลีชีพเพื่อศาสนา) ให้ก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะลอบวางระเบิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่พะวงหรือเทกำลังไปยังจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเปิดทางหรือเปิดพื้นที่อีกหลายๆ จุดที่เป็นเส้นทางขนถ่ายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย
“เรา มีหลักฐานการโอนเงินจากกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายไปยังบัญชีของกลุ่มที่อยู่ใน โครงสร้างของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อผมได้ข้อมูลตรงนี้ ผมก็สั่งจับหมด ทำให้มีการก่อเหตุระเบิดตอบโต้บ่อยครั้งในระยะหลัง” แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
สำหรับ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 20% ที่เป็นระดับปฏิบัติการจริงๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า จริงๆ แล้วมีไม่มากนัก ตัวเลขล่าสุดน่าจะไม่เกิน 7 พันคน โดยพื้นที่ก่อเหตุจะวนเวียนอยู่ในราว 12 อำเภอจาก 33 อำเภอ (เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วยจะเป็น 37 อำเภอ) และหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการซึ่งเรียกว่า “หมู่บ้านที่มีอำนาจซ้อนอำนาจรัฐ” มีอยู่ 309 หมู่บ้านจาก 2 พันหมู่บ้าน
จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การสังเคราะห์ และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของฝ่ายทหารใน 2 มิติ คือ
1.จัดการ กับกลุ่มอิทธิพลเถื่อนและผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ด้วยการประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินคดีและยึดทรัพย์ขบวนการเหล่านี้ เพื่อหยุดวงจรธุรกิจเถื่อนและตัดเส้นทางเงินสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ
2.จัดการกับกลุ่มติดอาวุธและแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยใช้นโยบาย “อภัยโทษ” เพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาดึงคนเหล่านั้นให้เข้ามอบตัวกับทางราชการ
พล.ท.อุดม ชัย ชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งมีอยู่ 20% ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่ถูกปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และศาสนา ทำให้จับอาวุธขึ้นมาสู้กับรัฐ ฉะนั้นจึงเสนอให้ “อภัยโทษ” กับคนกลุ่มนี้ และนำตัวเข้ารับการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ขณะเดียวกันก็เยียวยาผู้เสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบทุกคนทุกกลุ่ม โดยให้ฝ่ายทหารรับผิดชอบดูแลทั้งกระบวนการ
แนวทาง “อภัยโทษ” ของแม่ทัพภาคที่ 4 ใช้หลักการเดียวกับมาตรา 17 สัตต ของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 ต.ค.2519) ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว และคล้ายคลึงกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งทำให้คนที่เข้าป่าจับปืนสู้กับรัฐออกมามอบตัวเป็นจำนวนมาก (เพราะได้รับการยกเว้นความผิด) และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ได้อย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด
พล.ท.อุดม ชัย บอกว่า สาเหตุที่ต้องการประกาศนโยบายอภัยโทษก็เพื่อให้เกิดผลสะเทือนทางจิตวิทยาใน วงกว้าง เนื่องจากกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากเกินไป หลังจากประกาศใช้มาระยะหนึ่งในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ปรากฏว่ามีผู้เข้ามอบตัวกับรัฐเพียง 4 คน แต่กระนั้น การอภัยโทษจะมีระบบคัดกรองป้องกันพวกที่ต้องการเข้ามาฟอกตัว และจะไม่อภัยโทษให้กับกลุ่มที่ก่อคดีร้ายแรง เช่น ฆ่าตัดคอ เป็นต้น
อย่าง ไรก็ดี แนวทางอภัยโทษซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่ามีความพร้อม และยินดีให้ตั้งคณะกรรมการจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการดำเนินงานของ ฝ่ายทหารนั้น ปรากฏว่ายังไม่เคยเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ฉะนั้นเรื่องนี้จึงจะเป็นข้อมูลสำคัญที่แม่ทัพภาคที่ 4 เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ตัดสินใจด้วย
                   

เพื่อไทยเล็งตั้ง กอส.2 – เปิดโต๊ะเจรจา
ด้าน ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยดูจะยังไม่มีความชัดเจน เรื่องนโยบายดับไฟใต้ เพราะตั้งแต่ชนะเลือกตั้งมายังไม่เคยพูดจาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเลย
สาเหตุ ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ ไม่ได้ ส.ส.เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ประกอบกับความผิดพลาดในอดีตสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดอาการ “อึกอัก” เพราะเป็น “จุดอ่อน” ของพรรคตัวเอง
โดยเฉพาะแคมเปญหาเสียงเรื่อง “นครปัตตานี” หรือการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (อ่านรายละเอียดในเวทีวิชาการ) ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายความมั่นคงว่าจะกลายเป็น จุดเริ่มต้นของการ “แบ่งแยกดินแดน” ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่กล้าประกาศชัดๆ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ 
อย่างไรก็ดี มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ภายในพรรคเพื่อไทย โดยแกนนำพรรคจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าน่าจะผลักดันนโยบาย “นครปัตตานี” ต่อไป แต่ปรับรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นเรื่อง “กระจายอำนาจ” ซึ่งเป็นทิศทางที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศ อันจะเป็นการลดแรงกระแทกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามคัดค้านนโยบาย “นครปัตตานี” อย่างแข็งขันด้วย
ทั้ง นี้ แนวทางการขับเคลื่อนจะตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาชุดหนึ่งในรูปแบบที่คล้ายกับ คณะกรรมการอิระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในอดีต เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงจากประชาชน แล้วนำมากำหนดรูปแบบการปกครองอีกครั้ง ซึ่งอาจไม่เหมือนกับโมเดล "นครปัตตานี" เสียทีเดียว ทั้งนี้เพื่อลบข้อครหาที่ว่าการผลักดัน "นครปัตตานี" ไม่ได้เป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยซึ่งใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า การจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถสร้างกระแสที่เป็นโจทย์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อจากการก่อความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมา ได้ระดับหนึ่ง และยังอาจเป็นเวทีการพูดคุยร่วมกันอย่างเปิดอกระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่คิดเห็นต่างกัน เพื่อร่วมกันสร้างโมเดลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อีกด้วย 
ขณะเดียวกัน ได้มีการประสานไปยังนายทหารที่เคยมีบทบาทเรื่องการ “เจรจาอย่างไม่เป็นทางการ” กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ให้มาร่วมทีมแก้ไขปัญหาในมิติของการ “พูดคุยเพื่อสันติภาพ” หรือ Peace Talk ด้วย
นี่คือทิศทางการทำงานในภารกิจ “ดับไฟใต้” ของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งดูจะยังไม่เป็นเอกภาพหรือมีทิศทางสอดคล้องลงตัวกับฝ่ายความมั่นคงมากนัก โดยเฉพาะการจัดตั้ง “นครปัตตานี” และการ “เปิดโต๊ะเจรจา” ซึ่งฝ่ายกองทัพปฏิเสธมาตลอด
และนั่นจึงทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอึมครึมต่อไป!
------------------------------------------------------------

“ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ทิศทางที่มิอาจเลี่ยง!
นอกจากแนวทาง “ดับไฟใต้” ตามยุทธศาสตร์คู่ขนานคือ “ความมั่นคง” ควบคู่ “งานพัฒนา” ซึ่งทำกันมาหลายปี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แล้ว ในช่วง 1-2 ปีมานี้ยังเกิดกระแส “กระจายอำนาจ” ซึ่งพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและภาคประชาสังคมด้วย
แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ก็ยังกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยเฉพาะการให้ยุบเลิก “การปกครองส่วนภูมิภาค” แล้วสนับสนุน “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงแทน
สอด คล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 ที่ว่า “รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการ สาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ทั้งหมดนี้ได้นำมาสู่การสร้างกระแสรณรงค์ “จังหวัดจัดการตนเอง” และโมเดลองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่แบบพิเศษ เช่น เชียงใหม่มหานคร มหานครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งเป็นกระแสที่คึกคักจริงจังอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 กระแสที่ว่านี้ลามไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการเสนอ 2 โมเดลหลักๆ คือ 

1.นครปัตตานี เป็นโมเดลของพรรคเพื่อไทย และทางพรรคใช้เป็นนโยบายหาเสียงหลักในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา 
2.ปัตตานีมหานคร เสนอโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายของนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่หลายสิบ องค์กร
ในส่วนของ “นครปัตตานี” พรรคเพื่อไทยยกร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว ชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี ความยาว 121 มาตรา เพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษชื่อว่า "นครปัตตานี" ครอบคลุมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี "ผู้ว่าราชการนครปัตตานี" มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และมี "สภานครปัตตานี" ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งอำเภอละ 1 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้ว่าราชการนครปัตตานี
สาระ สำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ให้ยกเลิก ศอ.บต.และ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (ผลักดันโดยพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายปีที่แล้ว) โดยให้ "นครปัตตานี" เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.นราธิวาส ยะลา และ จ.ปัตตานีอย่างบูรณาการแทน โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างและอัตรากำลังของ ศอ.บต.มาเป็นของนครปัตตานี
แต่ ไม่แตะโครงสร้างกำนันผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ส่วนโมเดล “ปัตตานีมหานคร” แม้จะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษขนาดใหญ่คล้ายๆ “นครปัตตานี” แต่มีประเด็นต่างกันในรายละเอียดพอสมควร ได้แก่
- พื้นที่ของปัตตานีมหานคร ครอบคลุม จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
- ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ เลือกตั้งทั้งหมด มีวาระ 4 ปี มีรองผู้ว่าฯ เป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
- สภาปัตตานีมหานคร มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คนและผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ
งานพัฒนาพื้นที่ขับเคลื่อนโดย “ผู้อำนวยการเขต” ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ โดยมี “สภาเขต” มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อยเขตละ 7 คน คอยจัดทำแผนพัฒนาและจัดสรรงบประมาณ
นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างของ “สภาประชาชน” ลักษณะคล้ายสภาวิชาชีพที่มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ แต่เลือกตัวแทนกลุ่มวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการทำงานของปัตตานีนคร มี “คณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม” คอยให้คำปรึกษาและวินิจฉัยประเด็นทางศาสนาอิสลาม และ “คณะผู้แทนส่วนกลาง” ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างปัตตานีมหานครกับรัฐบาลกลางด้วย
แม้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยซึ่งชูนโยบาย “กระจายอำนาจ” โดยใช้โมเดล “นครปัตตานี” จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูธง “ไม่เอานครปัตตานี” และ “ไม่ยุบ ศอ.บต.” ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่ากระแส “กลัวการกระจายอำนาจ” ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะพื้นที่นี้มีปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ความไม่สงบอยู่
ขณะที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากเดินหน้า “นครปัตตานี” หรือโมเดลการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษโมเดลอื่น จะกลายเป็นการตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” และอาจส่งผลให้เกิดการ “แบ่งแยกดินแดน” ได้ในท้ายที่สุด
แต่เชื่อเถิดว่า กระแสการกระจายอำนาจและจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังเป็น “ทิศทางของโลก” ซึ่งไม่อาจขวางกั้นได้อีกต่อไป และพรรคเพื่อไทยก็กำลังฉวยกระแสนี้สร้าง “โจทย์ใหม่” ขึ้นในพื้นที่ ด้านหนึ่งก็เพื่อเปิดทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการ “ให้ยาที่ถูกกับโรค” ก็เป็นได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อสถาปนา “อำนาจใหม่” ขึ้น มาเพื่อผลทางการเมือง คล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าพรรคการเมืองใดที่คุม กทม. พรรคนั้นก็สามารถชิงความได้เปรียบและมีโอกาสได้ ส.ส.กรุงเทพฯมากกว่าพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งทั่วไป
นี่คือทิศทางของ “ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ซึ่งกำลังกลายเป็นทิศทางที่มิอาจหลีกเลี่ยงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว!
/////////////////////////////////////////////////////////
หมายเหตุ : สกู๊ปชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.2554

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แบบอื่นๆก็ลองทำมาหมดแล้วไม่ได้ผล การปกครองแบบพิเศษ น่าจะทำได้
หากย้อนไปศึกษาตามประวัติศาสตร์คนปัตตานีถูกค้นไทยกวาดต้อนมาอย่างโหดร้ายทารุนโดยวิธีร้อยหวาย อาจทำให้คนปัตตานีเองเจ็บแค้นอยู่จึงเกิดเหตุไม่สงบขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าให้พวกเขาปกครองกันเองโดยให้อยู่ภายใต้ธงชาติไทยก็น่าจะเกิดได้ดี คล้าย กทม.หรือ พัทยา ทำนองนั้น

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง