บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิด 16 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลดันประชานิยมวัดฝีมือ 'ยิ่งลักษณ์'


รอกันมานานนับเดือน ที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” จะมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศและทำความฝันที่คนไทยกำลังรอคอยให้เป็นจริง ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับคนทั้งประเทศ โดยระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค.นี้ นายกฯหญิง จะเป็นผู้นำในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
   
นั่นหมายความว่าตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. เป็นต้นไป รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ โดยร่างนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ที่เป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลว่าต้องการเข้ามาบริหารประเทศเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทยอย่างแท้จริง…หรือแฝงไว้ด้วยซึ่งผลประโยชน์!!!
   
ร่างนโยบายของรัฐบาลมีทั้งหมด 8 ด้านที่ครอบคลุม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การปรองดอง การต่างประเทศ การศึกษา ไว้อย่างครบถ้วน และยังมีมากถึง 16 ข้อ ที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มทำทันทีในปีแรกของการบริหารประเทศ ทั้งการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้เหมาะสมและเป็นธรรม การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยการดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน การพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท
   
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเพิ่มรายได้รายวันสำหรับแรงงานเป็นวันละ 300 บาท และรายเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20%  ในปี 2556 เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน
   
ที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นมาตรการเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก  การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท การจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาท หรือแม้แต่การใช้นโยบายจำนำสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร การออกบัตรเครดิตเกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แจกแท็บเล็ตให้นักเรียนป.1 จำนวน 8 แสนเครื่อง เป็นต้น
   
นับได้ว่าร่างกรอบนโยบายของรัฐบาล ล้วนแต่เน้นในเรื่องของ “ประชานิยม” ตามที่หาเสียงไว้จนครบถ้วน ส่วนเม็ดเงินที่นำมาใช้นั้นอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณที่เบื้องต้นคาดกันว่าจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท ในช่วง 4-5 ปี เพื่อเดินหน้านโยบายให้ได้ตามสัญญา ซึ่งยังไม่รวมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ยังต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลอีกนับแสนล้านบาท
   
เบื้องต้นคาดกันว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 ใหม่ได้ลงตัวเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ก่อนการเบิกจ่ายจริงจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 55 ซึ่ง ’กิตติรัตน์ ณ ระนอง“ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ตอกย้ำไว้ชัดเจนว่า “โครงการใดไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำและรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ดีแต่กู้แน่ และหลักการที่สำคัญคือยึดมั่นในวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด”

อย่างไรก็ตามในแง่ของนักวิชาการ อย่าง ’ธนวรรธน์ พลวิชัย“ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า การจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงรัฐสภา กับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ภาพรวมถือว่าสอดคล้องกัน เพียงแต่จัดหมวดหมู่ให้กระชับและแบ่งสัดส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาวให้ชัดเจน โดยแผนระยะสั้น ส่วนหนึ่งเพื่อหวังผลทางการเมืองตามที่เคยหาเสียงกันไว้ หากไม่ทำจะเกิดแรงกดดันจากสังคม
   
แต่อีกส่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้ฟื้นตัว เพราะธุรกิจบางกลุ่มยังมีปัญหา และประชาชนยังเผชิญภาวะค่าครองชีพแพงอยู่ จึงจำเป็นต้องกระตุ้น ทั้งด้านการลดรายจ่าย ผ่านการงดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อลดราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีรายจ่ายลดลง รวมถึงลดแรงกดดันการขึ้นราคาสินค้าได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน รับจำนำข้าวเปลือก 15,000-20,000 บาท บัตรเครดิตพลังงาน กับชาวนา ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ การจับจ่ายในภาคประชาชน ขณะเดียวกันยังทำแผนระยะยาวควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การพัฒนาลุ่มน้ำ สร้างรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ซึ่งจะมีเงินอัดฉีดเข้าระบบ และทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีก 0.5-1%
   
ภาพรวมการจัดทำนโยบายจึงทำท่าว่ามีความเหมาะสม แต่ในขั้นปฏิบัติบางนโยบายมีสุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหาตามมาได้เช่นกัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี เช่น การขึ้นค่าแรง 300 บาท รัฐบาลควรมีท่าทีผ่อนปรน ให้บางส่วนที่พร้อมนำร่องไปก่อน ส่วนที่ยังไม่พร้อมค่อยทยอยปรับขึ้น รวมถึงการจำนำข้าว หากตั้งราคานำตลาดสูงไปจะบั่นทอนขีดการแข่งขันกับต่างชาติ รัฐจึงควรฟังเสียงผู้ประกอบการ และหาจุดลงตัวของการส่งออก และราคาข้าวในประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้
   
รวมถึงนโยบายพลังงาน รัฐบาลต้องดูให้ดี การลดดีเซลลิตรละ 2.60 บาท ถือว่าเหมาะสม เพราะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ราคาสินค้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก แต่ขณะที่เบนซินรัฐไม่ควรทำยาว อาจทำแค่ 3 เดือนตามที่หาเสียงไว้ เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง มีรถเก๋งขับ แรงกระตุ้นกำลังซื้ออาจไม่มีความจำเป็นนักและอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงได้ และทำให้แผนรณรงค์การใช้พลังงานทดแทนในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า  
   
ดังนั้นภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจำเป็นต้องเดินอย่างระวัง ไม่ควรทำประชานิยมมากไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเศรษฐกิจระยะยาวได้ จุดเปราะบางแรกคือ หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น รัฐต้องติดตามนโยบายการกระตุ้นกำลังซื้อให้ดี ต้องทำให้เกิดการหมุนเวียนสร้างรายได้ระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต มีจีดีพี ที่ขยายตัวสอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เพราะหากไม่ได้ผลอาจเกิดปัญหาหนี้สาธารณะสูงขึ้น เหมือนหลาย ๆ ประเทศที่เผชิญในตอนนี้
   
อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวัง คือ การดูแลเงินเฟ้อ หากมีการใส่เงินสูงขึ้น จะเป็นการเร่งให้เงินเฟ้อสูง และกระทบต่อเสถียรภาพการเติบโตในระยะยาว เพราะหากไม่ดูอาจทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มไปแบบไม่หยุด กลายเป็นความเสี่ยง และก่อให้เกิดฟองสบู่ขึ้นได้ จึงอยากให้รัฐบาลดูประเทศอื่นๆ เป็นแบบอย่าง เช่น จีนแม้เศรษฐกิจเติบโต แต่ได้คุมเงินเฟ้อไปด้วย ดังนั้น การมุ่งเพิ่มรายได้ประชาชน ให้สูงกว่ารายจ่ายอย่างเดียว โดยไม่มองถึงเงินเฟ้อ อาจไม่ใช่คำตอบของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเสมอไป
   
ขณะที่ ’รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์“ ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มองว่า นโยบายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้นเป็นไปตามที่เคยหาเสียงไว้ ทั้งเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งถือว่าต้องทำไม่เช่นนั้นเท่ากับว่าหลอกลวงประชาชน แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลต้องขยับโครงการที่ได้จัดงบประมาณของรัฐบาลชุดที่แล้วไว้ โดยการรื้อใหม่หรือทบทวน เมื่อเข้าไปรื้อใหม่จำเป็นต้องเป็นไปในลักษณะที่ใช้ความต้องการของประชาชนที่เคยถามไถ่กันมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งถือว่าไม่น่าเกลียดที่จะดำเนินการ 
   
นอกจากนี้การปรับนโยบายโดยเฉพาะเรื่องของภัยพิบัติ เช่นเรื่องน้ำท่วมที่ถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญจริง ๆ ที่ต้องใช้เงิน ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา หากมองว่าเป็นการทำประชานิยมเพื่อหาเสียง ตรงนี้…ทุกพรรคการเมืองเหมือนกันหมดแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง
   
แต่เรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะการแก้ปัญหาสังคม อย่างปัญหายาเสพติดแล้ว เรื่องการทุจริต ถือเป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ง่ายนักและเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาโดยตลอด ซึ่งมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายนี้ออกมาให้ชัดเจน ที่อาจนำไปสู่การรื้อขนานใหญ่ในงบประมาณรายจ่ายปี 55 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้า
   
อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรพิจารณาให้หนัก คือโครงการต่าง ๆ ถือเป็นโครงการที่จำเป็นและใช้เงินค่อนข้างมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยาหรือแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะออกมาแบบงบฉุกเฉินหรืองบพิเศษ สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากที่สุดคือความรั่วไหล เพราะว่าถ้ารั่วไหลขึ้นมา นโยบายที่บอกว่าจะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เท่ากับว่ากลายเป็นการตอกย้ำหรือซ้ำเติมให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก และอาจนำไปสู่การเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาตรวจสอบได้ทันที
   
นี่…เป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกของการทำงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเท่านั้น จากนี้ไปคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นลงแล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะทำได้ในสิ่งที่พูดไว้ต่อประชาชนหรือไม่ หากทำไม่ได้ก็เท่ากับว่า “ดีแต่พูด” นั่นเอง.

...................

สาระสำคัญในร่างนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

ข้อเสนอนโยบายประกอบด้วยเอกสารทั้งหมด 34 หน้า แบ่งเป็นนโยบาย 8 ด้าน ประกอบด้วย
   
1. นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก ซึ่งมีทั้งหมด 16 ข้อ เช่น การสร้างความปรองดอง การแก้ไขปัญหายาเสพติด การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ การยกระดับคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น 
   
2. นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การพัฒนาและเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศของกองทัพให้มั่นคง เสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เป็นต้น
   
3. นโยบายเศรษฐกิจ
       
3.1 นโยบายเศรษฐกิจมหภาค เช่น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน พัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศให้รับผิดชอบคนส่วนใหญ่และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
       
3.2 นโยบายสร้างรายได้ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภายนอกและภายในประเทศ ขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าอาหาร ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงาน พลังงานทดแทน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น
       
3.3 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบด้วยภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการและกีฬา  และการตลาด การค้าและการลงทุน
       
3.4 นโยบายโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน การบริหารจัดการระบบสินค้าและบริการ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย พัฒนาการขนส่งทางน้ำ พัฒนาท่าอากาศยานสากล เป็นต้น
       
3.5 นโยบายพลังงาน เช่น กำกับราคาพลังงานให้เหมาะสม เป็นธรรม ส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้น
       
3.6 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารความเร็วสูง ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรี เป็นต้น
   
4. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
       
4.1 นโยบายการศึกษา เช่น การปฏิรูประบบความรู้ของสังคมไทย ปฏิรูปครู จัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นต้น
       
4.2 นโยบายแรงงาน
       
4.3 นโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชน
       
4.4 นโยบายศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
       
4.5 นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม
   
5. นโยบายที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
   
6. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม
   
7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
   
8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
       
8.1 ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
       
8.2 กฎหมายและการยุติธรรม
       
8.3 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม.

ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง