ผ่าขบวนการปลอมบัตรแรงงานต่างด้าวขยายฐานการเมืองคลุมพื้นที่ชายแดน จากเนปาล เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า สู่แหล่งขุดทองย่านเยาวราช จ่ายสินบนใบละแสนให้ใคร?
“อามาน” เล่าภายหลังถูกจับว่า เขาเดินจากทางจากเนปาล ผ่านมายังเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
ก่อนจะมีผู้พาเข้าประเทศไทยและไปประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างร้านตัดสูทย่าน ทองหล่อ มีเงินเดือนหลักหมื่น โดยในร้านดังกล่าวมีลูกจ้างที่เป็นชาวต่างด้าวหลายคน และทุกคนมีบัตรประชาชนจริง และมีชื่อและนามสกุลเป็นชาวไทย นับถือศาสนาพุทธ ทั้งๆที่อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้แม้แต่น้อย
“มีนายหน้าพาผมมาทำบัตร เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2 หมื่นบาท แล้วเขานัดให้ผมมารับบัตรวันนี้ เขาสอนให้ผมเขียนชื่อ ก่อนที่จะนำบัตรประชาชนออกมา” อามานบอกเพียงสั้นๆก่อนจะถูกตำรวจจากสถานีตำรวจทองผาภูมิไปควบคุมใน 2 ข้อหา คือ คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไว้หรือใช้เอกสารราชการ ปลอม
กรกฎาคมปีเดียวกัน “อามาน” พ้นโทษและถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยไปแล้วหลังครบกำหนดการลงโทษ แต่ปัญหาขบวนการปลอมบัตรประชาชนให้คนต่างด้าวยังไม่หมดไปและคงยังเกิดขึ้น ต่อเนื่องตามพื้นที่อำเภอใกล้แนวชายแดนของประเทศไทย มีข้อมูลประมาณการว่า รายได้จากขบวนการปลอมบัตรให้คนต่างด้าวนั้นสูงถึงหลักพันล้านบาทต่อปี
เปิดเส้นทางขนต่างด้าวเข้าประเทศ
รายงานจากหน่วยงานด้านความมั่นคงได้สรุปสถานการณ์การลักลอบนำพาแรงงาน ต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ใน 3 อำเภอแนวชายแดน คือ อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิและไทรโยค ระบุว่า ในเขต อ.สังขละบุรีมีถึง 7ช่องทาง ประกอบด้วย ช่องทางด้านบ้านต้นยาง บ้านห้วยมาลัย บ้านวังกะ บ้านท่าแพ บ้านไร่อ้อย ด่านเจดีย์สามองค์
เขตอ.ทองผาภูมิใช้เส้นทางหมายเลข 323ทางน้ำโดยการลงเรือ และขึ้นฝั่งที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ และขึ้นบริเวณแหล่งพักที่บ้านท่าแพ ก่อนจะมีนายหน้านำรถยนต์มารับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วน อ.ไทรโยคจะมีการลักลอบเข้าบริเวณช่องทางบ้านเหมืองเต่าดำ ช่องทางบ้านบ้องตี้และช่องทางบ้านห้วยโมง ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีการนัดแนะจุดที่เป็นแหล่งพักโดยมีกลุ่มบุคคลทำหน้าที่ รวบรวมแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นนายหน้าชาวไทย ชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ มีหมู่บ้านพักรวมแรงงานต่างด้าว 4 แห่ง บ้านพญาตองซู่ บ้านไร่อ้อย บ้านญี่ปุ่นและบ้านฮะลอคอนี
แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวว่า การลักลอบนำคนต่างด้าวเข้าประเทศนั้นไทยนั้น จะทำเป็นขบวนการ โดยในฝั่งพม่าจะมีกลุ่มบุคคลจากพม่า ทั้งวินรถจักรยานยนต์จากฝั่งตลาดพญาตองซู่ เป็นผู้รวบรวมมาไว้ที่บ้านไร่อ้อยแล้วนัดแนะให้นายหน้าชาวไทยนำรถไปรับ โดยนายหน้าชายไทยจะเสียค่าผ่านด่านให้ทหารและตำรวจหัวละประมาณ 15,000 บาท และหากส่งต่อแรงงานไปถึงเขต อ.เมือง จ.กาญจนบุรี-อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร จะเสียค่าผ่านด่านอีกรายละ 12,000-15,000 บาท แต่ถ้ามีการส่งต่อไปยังภาคใต้จนถึงประเทศมาเลเซียนายหน้าจะต้องจ่ายเป็น จำนวนเงินถึงรายละ 20,000 บาท หรือมากกว่านั้น
“คนพวกนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะออกหนังสือรับรองการผ่านแดน เป็นหนังสือชั่วคราว โดยนายหน้าจะเป็นผู้จัดการให้ด้วยการนั่งมากับรถยนต์ที่ขนคนไป เมื่อถึงจุดตรวจจะมีตำรวจออกมาตรวจสอบหลักฐานทั้งๆที่ปกติเขาจะไม่ออกมา เขาจะได้ค่าตอบแทนคนละ 200-300 บาทต่อคน เขาจะขนคนครั้งละ10-15 คน เมื่อไปถึงจุดหมายแรงงานต่างด้าวที่ได้รับเอกสารแล้ว จะไม่เดินทางกลับไปพม่าอีก แต่จะส่งหลักฐานทางไปรษณีย์กลับมาให้นายหน้า หรือผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง”แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุ
และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวนั้นส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์กระบะหรือบางครั้งอาจ จะใช้รถตู้ หากเป็นรถกระบะจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย โดยจะมีรถยนต์นำทางจ่ายเงินให้ก่อนที่รถยนต์ขนแรงงานต่างด้าวจะผ่านจุดตรวจ
“คนพวกนี้ไม่มีบัตรต่างด้าว แต่หลายๆคนยอมที่จะเข้ามาทำงานก่อน จากนั้นจึงจะติดต่อนายหน้าให้ช่วยพาไปทำบัตรประชาชนให้ด้วยการเพิ่มชื่อลงใน บ้านเลขที่ที่ไม่มีอยู่จริง โดยนายหน้าจะรู้กันกับเจ้าหน้าที่ ทำบัตรประชาชนเสร็จแล้วก็รอรับบัตรประชาชนกลับไปได้เลย”แหล่งข่าวระบุ
ขบวนการทำบัตรประชาชนปลอม
“อามาน”เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นช่องทางการกระทำทุจริตที่ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันกับนายหน้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอชายแดน ซึ่งในวันที่มีการจับกุมเด็กหนุ่มเชื้อสายพม่าชาวเนปาลนั้น ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงมีแรงงานต่างด้าวได้เข้ามารับบัตรประชาชนออก ไปแล้วมากว่า 20 คน
อำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กล่าว ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรีที่ มีส่วนร่วมในขบวนการปลอมบัตรประจำตัวประชาชนให้กับคนต่างด้าว โดยเฉพาะที่ทองผาภูมิ ซึ่งพบว่ามีการออกบัตรประชาชนให้กับคนต่างด้าวมากผิดปกติ โดยเฉพาะชาวพม่า ชาวมอญและชาวเนปาล ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลพบว่า มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด และเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบไปยัง บ้านเลขที่ดังกล่าวปรากฏว่าไม่มีบ้านเลขที่ตามที่ปรากฏในบัตรจริง
“ขั้นตอนการออกบัตรให้ชาวต่างด้าวจะต้องมีผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ให้การรับรองเอกสารการออกบัตร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจออกบัตร ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ท.ได้ส่งข้อมูลการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่ให้กับสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไปแล้ว และทราบว่าป.ป.ช.มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่อำเภอทองผาภูมิที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ก็ได้ส่งข้อมูลไปให้กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการแล้วเช่นกัน”นายอำพล กล่าว
ส่วนกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้านั้น ทาง ป.ป.ท.มีรายชื่อแล้วว่า ขบวนการใหญ่มีใครบ้าง มีกี่กลุ่ม และได้ส่งต่อข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ดำเนินการต่อไป และขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ตรวจสอบ เส้นทางการเงินด้วย
“จากการตรวจสอบข้อมูลการทำบัตรประชาชนย้อนหลัง 3ปี เราพบข้อมูลว่าช่วง 3ปีที่ผ่านมาอำเภอทองผาภูมิได้ออกบัตรประชาชนให้คนต่างด้าวไปจำนวนมากกว่า 1หมื่นราย และหากคิดเป็นรายได้ที่ผู้ร่วมขบวนการได้รับจะมีมูลค่าถึงหลักพันล้านบาท”นายอำพล กล่าว
มีรายงานจากชุดสืบสวนของป.ป.ท.ระบุว่า จากการขยายผลการตรวจสอบไปอีกหลายพื้นที่ใน เขตจ.กาญจนบุรี พบข้อมูลว่า มีการออกบัตรประชาชนให้ต่างด้าวผิดปกติ เช่นด้านอ.ศรีสวัสดิ์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรีและ เขตอ.แม่สอด จ.ตาก รวมทั้ง จ.ระนอง สำหรับพฤติกรรมดังกล่าวน่าจะมีลักษณะเป็นขบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหลายระดับ
“การเสียค่าใช้จ่ายในการให้ได้มาซึ่งบัตรประชาชนปลอมจะมีราคาแตกต่าง กันไป ถ้าเป็นคนพม่าเชื้อสายมอญ หรือกะเหรี่ยงราคาอยู่ที่ 20,000 -30,000 บาทต่อหัว แต่ถ้าเป็นชาวเนปาลจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000-150,000 บาท อย่างไรก็ตามพบข้อมูลว่า 2 อำเภอในพื้นที่ทองผาภูมิและสังขละบุรีขณะนี้มีคนสัญชาติไทยอยู่จริงไม่ถึง ร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นคนต่างด้าว”แหล่งข่าวจากชุดสอบสวน กล่าว
หวั่นต่างด้าวขยายฐานอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น
ในขณะที่แหล่งข่าวในพื้นที่ ยืนยันว่า ขบวนการดังกล่าวมีการทำอย่างมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เจ้าหน้าที่ในอำเภอหลายคนสามารถซื้อที่ดินและมีเงินทองมูลค่าหลาย ล้านบาท แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับความมั่นคง เพราะหลังจากคนกลุ่มนี้ได้รับบัตรประชาชนชาวไทย ก็จะมักตั้งตัวเป็นหัวโจกคุมคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่และกลายเป็น กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลไปในที่สุดและทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในทุกระดับก็ จะส่งบุคคลเข้ารับสมัครเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองขึ้นในท้องถิ่น
“หากรัฐยังปล่อยให้คนต่างด้าวเข้ามามาก โดยเฉพาช่วงที่มีการประกาศขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท คนจะทะลักเข้ามามาก และน่ากังวลว่าในอนาคตคนต่างด้าวจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอเพราะขณะนี้มันมีการขยายฐานอำนาจในทางการเมือง ด้วยการส่งคนลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบ ต.)แล้ว”แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูล
เจ้าหน้าที่ อบต.ตำบลแห่งหนึ่งในเขตอ.ศรีสวัสดิ์ ยอมรับว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงและมอญที่ถือบัตรชาว ต่างด้าวสีชมพูและสีฟ้า ที่สามารถเข้ามาทำงานในพื้นที่ได้ โดยคนกลุ่มนี้จะมีญาติพี่น้องที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว และเข้ามารับจ้างทำสวน ทำนา ส่วนการเข้าไปทำงานในเมืองนั้น มีไม่มากนัก ยกเว้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง และต้องการเดินทางออกไปรับจ้างในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง
“การตั้งเป็นกลุ่มอิทธิพลการเมืองในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จะไม่ชัดเจนเท่าทางด้านสังขละบุรีหรือทองผาภูมิ เพราะมีแต่ชาวบ้าน แต่ที่โน่นจะมีคนพม่าเข้ามามากกว่า เพราะทำกันมานานแล้ว บางคนก็ตั้งตัวเป็นนายหน้ามีบัตรสองสัญชาติเข้าออกทั้งฝั่งไทยและพม่าได้ คนกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีอิทธิพลเพราะคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐ”
“อามาน” เป็นต่างด้าวคนหนึ่งที่ตกเป็นข่าวเพราะเจ้าหน้าที่จับกุมได้ เขาโชคไม่ดีเหมือนเพื่อนๆที่เดินทางมารับบัตรประชาชนแล้วไม่ได้เดินทางกลับ ไปทำงานในพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจของไทยอีกเลย แต่กลับถูกเนรเทศกลับไปยังถิ่นที่อยู่ที่เขาจากมาทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว เขาไม่มีสิทธิจะลักลอบเดินทางเข้ามาเสียด้วยซ้ำ
หากการประพฤติทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและนายหน้าจะไม่ก่อตัวขึ้น จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ร่วมกันกัดกร่อนทำลายความมั่นคงของประเทศไปอย่างน่า เสียดาย
ภาพโดย ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ www.tcijthai.com
ปรากฏในหน้าแรกที่:
ข่าวเจาะพาดหัว (สไลด์โชว์)
24 สิงหาคม 2011
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น