บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิจารณ์ กมธ ยุค พท. เสื้อแดง





คอลัมน์ รายงานพิเศษ นสพ.ข่าวสด


ในที่สุดเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 35 คณะ ในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการวางตัวเรียบร้อยแล้ว ตามโควตาของแต่ละพรรคที่จัดสรรกัน

เหลือเพียงรอให้กมธ.แต่ละชุดนัดประชุม เพื่อให้ขั้นตอนการเลือกประธานถูกต้องตามระเบียบ คาดว่าเรื่องจะจบได้ภายในสัปดาห์หน้า

ระหว่างนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงภาพรวมของ กมธ. ทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ยึดกมธ.ในคณะด้านความมั่นคง กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน ภายใต้การคุมทีมของส.ส.เสื้อแดง

โดยเฉพาะชื่อ การุณ โหสกุล ที่จะมานั่งเป็นประธานกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ เรียกเสียงฮือฮาจากสังคมไม่น้อย

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเอง ก็ล็อกเก้าอี้ในคณะที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีของตัวเอง

ผู้คลุกคลีในแวดวงการเมือง มองเรื่องนี้อย่างไร



สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ส.ว.สรรหา

เป็นปกติของรูปแบบการเมืองไทย การแบ่งสัดส่วนกมธ.ประจำสภาผู้แทนฯชุดนี้ แต่ละพรรคย่อมจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ไว้ลงตัวแล้วว่าจะให้ใครมานั่งเป็นประธาน

แต่มันไม่ตอบโจทย์ที่ กมธ. ได้ตีกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อตรวจสอบรัฐบาล ทั้งที่ควรจะช่วยคานอำนาจฝ่ายบริหารไว้ เพราะกมธ. ที่สำคัญๆ รัฐบาลก็ได้ไปควบคุม พรรคฝ่ายค้านเองก็เช่นกัน มีการควบกมธ.ที่ตัวเองคุมกระทรวงนั้นๆ อยู่

แต่สิ่งที่จะตอบโจทย์ คือผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแต่ละประธาน ต้องมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์โดยตรงจริง หรือจะเลือกจากเกณฑ์อาวุโสก็แล้วแต่ ขอแค่ทำงานได้ทันที ไม่ใช่มาเริ่มต้นกันใหม่

การตรวจสอบรัฐบาลของ กมธ. ต่อจากนี้ไป หากเปรียบเทียบกับอดีตจะแตกต่างกันมาก ก่อนหน้านี้ยังมีอำนาจไม่เท่าปัจจุบัน เนื่องจากมีพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ให้อำนาจการตรวจสอบมากขึ้น

อีกทั้งยังมีการร่างระเบียบกฎหมายลูกฉบับนี้ขึ้นมาแล้ว ว่าด้วยขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการส่งหนังสือและคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนก็มีโทษทางอาญาด้วย

สิ่งเหล่านี้จึงต้องวางแผนในหลักการให้ดี ผู้มาทำหน้าที่ต้องคำนึงหลักความเป็นธรรม ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง

ผมไม่อยากเจาะจงในแง่รายบุคคลว่าใครเป็นอย่างไร แต่คนที่เคยมีความประพฤติโลดโผนมากๆ ขอแค่ให้ทำงานเพื่อสังคม เมื่อมาทำหน้าที่แล้วต้องกล้าตรวจสอบพวกพ้อง ห้ามละเว้นกันเอง และต้องมีมาตรฐานเดียว

อย่างไรก็ตาม ในความดีของกมธ.ชุดนี้ยังมีแสดงให้เห็นอยู่ถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะที่พรรคประชาธิปัตย์คุมกมธ.ตำรวจ และพรรคเพื่อไทยตรวจสอบในนามกมธ.ทหาร ซึ่งยังพอรับกันได้

นอกเหนือจากนี้ เราต้องให้โอกาสประธานทั้ง 35 คณะ พิสูจน์ผลงานก่อน จากนั้นฝ่ายตรงข้ามกันก็คงตรวจสอบกันเอง แต่ถ้าไม่ไหวก็ส่งมาให้วุฒิสภาช่วยเหลือ



ศุภชัย ใจสมุทร

โฆษกพรรคภูมิใจไทย

ประธานกมธ.ต้องเป็นผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีความรู้ มีประสบการณ์ รวมทั้งต้องเป็นผู้มีบารมีและได้รับความเคารพนับถือ

ถือเป็นการให้เกียรติกับกรรมาธิการในชุดนั้นๆ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ต้องถูกเรียกมาชี้แจงในเรื่องต่างๆ ด้วย

หากเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติข้างต้น ถามว่าเป็นการให้เกียรติสภา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมาธิการชุดนั้นๆ หรือไม่

ยิ่งมีแขกต่างประเทศมาเยือน หรือประธานต้องนำคณะไปเยี่ยมสภาต่างประเทศ หากประธานมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนอาจดูไม่สง่างาม

ผมไม่ติดใจว่ากลุ่มเสื้อแดงจะนั่งอยู่ในกรรมาธิการชุดใด เพราะเป็นส.ส.เหมือนกัน แต่ติดใจตัวประธานกมธ.เท่านั้น

กมธ.มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้าใช้วิธีพวกมากลากไป แทนที่จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ กลับทำหน้าที่เป็นกับดักช่วยเหลือฝ่ายบริหารเสียเอง

ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น



สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

กมธ.ทุกคณะไม่ได้สำคัญเฉพาะตัวประธาน แต่มีความสำคัญทั้งองค์คณะ ทุกคนล้วนมีบทบาทต่อความรับผิดชอบความทุกข์ของประชาชนที่ส่งผ่านมายังกมธ.แต่ละชุด

ไม่อยากให้มองที่ตัวบุคคล แต่ให้มององค์คณะที่ประกอบไปด้วยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งช่วยถ่วงดุลการทำงานได้อยู่แล้ว ไม่ว่ากมธ.เสียงข้างมาก หรือกมธ.เสียงข้างน้อย ทุกเสียงย่อมมีความหมาย หากทำงานตรงไปตรงมา

บางครั้งกมธ.พิจารณาแนวทางหนึ่ง แต่สังคมไม่เห็นด้วยก็จะลงโทษการทำงานของบุคคลนั้นเอง

หากยึดตัวบุคคลว่าเป็นคนที่มีบาดแผล มีปัญหา จะแคลงใจกันเปล่าๆ แต่หากมองว่าการทำงานของกมธ.เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเคารพการทำงาน

กรณีมีชื่อ นายการุณ เป็นประธานกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่เป็นปัญหาสังคม หากเรายึดที่ตัวบุคคล จะนึกถึงแต่การเข้ามาแก้แค้น

ขอย้ำว่าประธานไม่ได้มีบทบาทสำคัญ เพียงแค่ทำหน้าที่ดำเนินการประชุม สรุปการประชุม ไม่สามารถชักนำหรือเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบได้



จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

ส.ว.ศรีสะเกษ

การแบ่งสัดส่วนกมธ.ชุดนี้ เหมือนการจำลองสภาใหญ่ให้อยู่ในรูปของ กมธ. ที่ต้องผลัดกันถูกตรวจสอบ

จึงไม่ใช่เรื่องน่าเครียดอะไร หากต้องมีการโต้ตอบของ 2 ฝ่าย เมื่อถึงเวลาเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงในชั้นสืบสวนสอบสวนเพื่อตรวจสอบปัญหา

คิดแง่ดี จะทำให้กระบวนการแสวงหาความเป็นจริงมีความเข้มข้นมากขึ้น

เราต้องแยกแยะให้เข้าใจใน 3 มิติก่อนว่า ด้านอำนาจหน้าที่ฝ่ายตุลาการ คนที่เป็นศัตรูกันจะมาเป็นผู้พิพากษาไม่ได้ แม้แต่ใน ชั้นตำรวจ

ส่วนฝ่ายบริหารก็ห้ามเช่นกันเพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับคู่กรณี จะมาใช้อำนาจปกครองในการตรวจสอบอีกฝ่ายไม่ได้

แต่อำนาจนิติบัญญัติ ในรัฐสภากลับออกแบบให้คู่ปรับสามารถตรวจสอบกันเองได้ และที่เขายอมกันก็เพราะถือว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น สามารถมีสิทธิ์ชี้แจงแสดงหลักฐานได้อยู่

ดังนั้น เรื่องความยากลำบากในการตรวจสอบของ กมธ. จึงไม่น่ามีปัญหา มีความกังวลน้อยกว่าที่ต้องเป็น รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ หรือรมว.ยุติธรรม ฯลฯ มาตรวจสอบกันเอง

แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วง คือขั้นตอนการลงมติเรื่องต่างๆ ของกมธ. ที่จะต้องลงมติตัดสินโดยใช้ความรอบคอบ และควรพิจารณาตัวเองด้วยว่า เหมาะสมที่จะร่วมลงมติหรือไม่

รู้ๆ กันอยู่ว่ามีบุคคลในบางคณะกรรมาธิการ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบโดยตรงกับปัญหานั้นๆ อยู่ เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณชนเป็นอย่างมาก

จึงอยากเรียกร้องให้กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ต้องมีความโปร่งใส ให้โอกาสความเท่าเทียมแก่ทุกคนได้ชี้แจงแสดงข้อมูลหลักฐาน

ฉะนั้น เรื่องที่ว่าใครจะคุมด้านใด ไม่ใช่ปัญหามากนัก ในฐานะการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่หนักใจเรื่องส่วนได้เสีย เพราะต้องการให้แสดงบทบาทข้อเท็จจริงกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านอาจได้คุมกมธ. รองจากพรรครัฐบาล ก็ใช่ว่าจะไม่ดี คนเราต้องดีอย่างเสียอย่าง อย่างน้อยก็ยังได้คุมกมธ.ที่พรรคเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆอยู่

สำหรับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย บางคนอาจมองว่าจะไปแย่งซีนประธานกมธ.ตำรวจ ผมกลับมองว่า ตำแหน่งรองประธานถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติจริง แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทมากมาย

รอเวลาอีกสัก 1-3 เดือน ให้ประธานกมธ. 35 คณะได้แสดงฝีมือก่อน เมื่อนั้นจึงค่อยมา วิพากษ์กันต่อ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง