ทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ได้รับเกียรติจาก นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เดินทางมาที่กองบรรณาธิการฯ ถ.วิภาวดีรังสิต ให้สัมภาษณ์แบบเปิดใจ กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนแก๊สธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่อ่าวไทยระหว่าง ไทย-กัมพูชา ความชัดเจนด้านนโยบายพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต รวมไปถึงการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โครงการถมทะเลปากอ่าว ฯลฯ ซึ่งประชาชนในสังคมต่างตั้งข้อสังสัยกับการทำงานของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ที่ผ่านมา
- กรณีที่มีนักวิชาการเคยออกมากล่าวว่า แก๊สในอ่าวไทยนั้นมีคุณภาพดี เกินกว่าที่จะขุดขึ้นมาเผาเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานตามครัวเรือนเท่านั้น ไม่เหมือนแก๊สฝั่งพม่าที่มีคุณภาพต่ำกว่าจริงหรือไม่ แล้วไทยมีแนวคิดนำแก๊สในอ่าวไทยไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ดีกว่าหรือไม่?
นาย พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า บ้านเรามีโรงแยกแก๊สอยู่แล้ว ถ้าขุดขึ้นมาได้ก็ต้องนำมาแยกก่อน ที่เหลือแล้วจึงจะนำไปเผาทำแก๊สใช้ในครัวเรือน ความจริงแก๊ส ถ้าเทียบกับพลังงานอย่างอื่น มันมีค่ามากกว่า เช่น แก๊สที่เหลือ เอาไปเติม เเอลพีจี เชื้อเพลิงในรถยนต์ มีประโยชน์มากกว่า แต่ต้องยอมรับ ถ้าไปตั้งโรงถ่านหิน ต้นทุนถูกกว่า หรือจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะตอนนี้คงทำไม่ได้แล้ว เพราะประชาชนจะต่อต้านเนื่องจากเสี่ยงสร้างมลพิษ แต่สร้างโรงไฟฟ้าแก๊สน่าจะดีกว่า เพราะเราขุดได้เอง และยังสามารถนำไปขอคาร์บอนเครดิตได้
"หากถามว่า แก๊สที่ขุดขึ้นมาจากอ่าวไทยจะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ดีกว่าไหม? ก็คงต้องตอบว่า ดีกว่า แต่ปัจจุบันเราไม่มีทางเลือก เพราะเราใช้แก๊สผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศถึง 70% แล้วทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตของโลกมุ่งไปตามใช้แก๊สเยอะ เพราะตอนไปร่วมประชุม รมว.พลังงานโลกนั้น ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มาชี้เลยว่า ผลิตไฟฟ้าต้องใช้แก๊สมากขึ้น ในอนาคตนะ เพราะอเมริกาน่าจะขุดแก๊สในอนาคตจากบริษัทเอกชนของอเมริกาได้เยอะขึ้น เชื่อว่าภายใน 2-3 ปี น่าจะเริ่มส่งออกแก๊สได้ อเมริกาจึงเริ่มมาล็อบบี้ประเทศอื่นให้ใช้แก๊สมากขึ้น เพื่อให้ตลาดใหญ่และสามารถขายแก๊สได้ดีขึ้น ทิศทางเป็นอย่างนั้น"
"ยืน ยัน รัฐบาลปัจจุบันมีความชัดเจนในเรื่องแผนพลังงานทดแทนของประเทศไทย รับรองว่า ไม่มีนโยบายที่สับสน จริงๆ แล้วคือ รัฐบาลส่งเสริมอย่างแน่นอน ในอีกไม่นานนับจากนี้ รัฐบาลจะออกแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ แต่ขออุบไว้ก่อน ตอนนี้ประชาชนอาจงงๆ และรู้สึกสับสนเรื่องนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลทั้งที่เป็นนโยบายระยะสั้น รวมไปถึงนโยบายระยะยาว แต่ขอย้ำว่า รัฐบาลเตรียมออกแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศชาติ ขอเวลาอีกซักหน่อย อีกไม่นานเกินรอ รวมทั้งอย่าเพิ่งไปฟัง พรรคปชป. พูดเยอะ ไม่อย่างนั้นเราจะชนะการเลือกตั้งเยอะอย่างนี้หรือ" รมว.พลังงานกล่าว…
นาย พิชัย ยังระบุอีกว่า การประกาศยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้ทราบถึงปัญหาว่า ประเทศไทยที่ผ่านมาใช้เงินกองทุนน้ำมันผิดวัตถุประสงค์ คือ นำไปชดเชย ราคา LPG NGV ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว หลักคิดทั่วไป การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทั่วโลก เพราะต้องการให้เกิดการประหยัดพลังงาน และนำเงินที่ได้มาสร้าง ซ่อมถนนหนทาง คือ เมื่อคุณใช้รถมากก็ต้องจ่ายมาก แต่คนขับรถใช้พลังงาน LPG (แท๊กซี่,รถบริการสาธารณะ) นอกจากไม่จ่ายภาษีแล้ว ยังให้คนอื่นเอาเงินมาช่วยอุดหนุนอีก ด้วยเหตุผลนี้ แนวโน้มของรัฐบาลและประเทศไทยจึงต้องปล่อยลอยตัว LPG อีกเหตุผลหนึ่ง
"ถ้า คุณไปดูราคาแก๊ส LPG ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ราคาอยู่ที่ 46 บาท กัมพูชา 46 บาท ลาว 46บาท พม่า 35 บาท ขนาดมาเลเซียซึ่งผู้ผลิตเอง ยังขายที่ราคา 20 บาท เมื่อภาพเป็นอย่างนี้ หากต่อไปมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเปิดเสรีทางการค้า ท่องเที่ยว ประชาคม คงมาแย่งซื้อแก๊ส LPG ของประเทศไทยหมด เพราะมีราคาถูกกว่าประเทศอื่น เมื่อดูภาพอย่างนี้แล้ว แม้ไม่อยากให้ลอยตัว ถึงเวลานั้นก็ต้องลอย เพราะจะไปอุดหนุนให้คนอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนไม่ไหวแน่ ซึ่งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างตามแนวชายแดน ก็มีการใช้กองทัพมดมาขนไปอยู่แล้ว ซึ่งยอมรับว่า ค่าครองชีพของประชาชนจะสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้นต้นทุนการผลิตแก๊สในภาคครัวเรือนของประเทศไทยในอนาคตจะต้องขึ้นอย่าง แน่นอน จะไม่ให้ขึ้นมามาก แต่ก็ต้องขึ้นราคาบ้างเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ยอมรับว่ามีการคิดกันไว้แล้ว หมายถึง ราคาที่จะมีการทยอยประกาศปรับขึ้น สำหรับราคาแก๊ส LPG หลังประกาศลอยตัว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยกำหนดเวลาได้" รมว.พลังงาน กล่าว…
- หากรัฐจะกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกครั้ง จะเริ่มเก็บที่อัตราไหน และเมื่อไร?
นาย พิชัยกล่าวว่า รัฐบาลนี้มีแนวคิดกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราที่ลดลงอยู่แล้ว พูดตรงๆ เรื่องพลังงานทดแทน รัฐบาลอาจยกเลิกเบนซิน 95 หรือ 91 เลยก็ได้ เหลือแต่โซฮอล์ แนวความคิดมีอยู่แล้ว ขออนุญาตไปหารือกับท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก่อน ถ้าเห็นด้วยก็เดินเลย สำหรับประเทศไทยมีความเสถียรเรื่องพืชพลังงานอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันเราผลิตเกินเยอะมาก ส่วนตัวมั่นใจว่า จะไม่มีกรณีพืชพลังงานขาดแคลนเกิดขึ้นในประเทศไทย ต่อไปเราก็จะกลายเป็นศูนย์กลางปลูกพืชพลังงานทดแทนของอาเซียนอยู่แล้ว ตอนที่ไปประชุม รมว.พลังงานที่บรูไน ที่ประชุมมีการหารือเรื่องส่งต่อพลังงานด้านไฟฟ้ากับแก๊ส ประเทศไทยเราเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นเหมือนหัวใจหมูอยู่ตรงกลาง นับเป็นโอกาสที่ดี ถึงแม้ไทยจะมีปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม เพราะคงไม่ต้องทำท่อส่งแก๊ส หรือนำมันผ่านตรงนั้น
-แล้วจะทำอย่างไรกับคนขับรถแท็็กซี่ ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย
รม ว.พลังงาน ยอมรับว่า รถแท็กซี่เราจะเปลี่ยนเป็น NGV ให้หมดในอนาคต เพราะตอนนี้ก็มีการใช้ NGVอยู่แล้วกว่า 50,000คัน เราก็จะเปลี่ยนให้หมด แล้วออกบัตรเครดิตก๊าซพลังงาน โดยบัตรแต่ละใบจะมีวงเงินให้สามารถนำไปเติมแก๊ส NGV อาจคนละ 2,000 บาทต่อเดือน (กำลังคิดกรอบวงเงินอยู่) ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือคนขับรถ หากรายได้ไม่เพียงพอในแต่ละเดือน ทั้งนี้ไม่กลัวเรื่องหนี้เสีย เพราะวงเงินที่จะให้ มันไม่ได้เยอะ แล้วมีเงื่อนไขถ้าคนขับรถแท็กซี่ใช้วงเงินเติมแก๊สในบัตรเต็มแล้วไม่ได้เติม เงินใหม่ รัฐก็จะตัดสิทธิ์ฯ นั้นทันที แบบเดียวกับบัตรทางด่วนอีซีการ์ด รัฐจะให้บัตรเครดิตแก๊สพลังงานเป็นแบบคนต่อคนเท่านั้น ไม่ให้เป็นแบบคัน เพราะต้องการช่วยเหลือคนขับรถแท็กซี่โดยตรง ไม่ใช่อู่รถ ทั้งนี้ตั้งเป้าว่า จะสามารถดำเนินการให้ประชาชนได้เห็นก่อนปีใหม่ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน ส่วนจักรยานยนต์รับจ้าง รัฐบาลกำลังดูแนวคิดในการช่วยเหลืออยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
รม ว.พลังงาน ยังกล่าวถึงวิธีการช่วยเหลือประชาชน หากมีการประกาศขึ้นราคาแก๊สหุงต้มในอนาคตว่า มีแนวคิดจะใช้เป็นแจกคูปองตามครัวเรือน อาจกำหนดว่า บ้าน 1 หลังจะใช้แก๊สเดือนละกี่ถัง แล้วรัฐบาลก็จะแจกคูปองไป หากบ้านหลังไหนใช้เกินกว่าที่กำหนด ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นไปเอง เป็นต้น อันนี้ยังเป็นแนวความคิดอยู่ ซึ่งก็ได้สั่งให้ทีมงานไปคิดแล้วจึงเสนอมา
-ในชีวิตนี้มีความฝันอะไรที่อยากทำหรือไม่ ในเมื่อมีโอกาสเข้ามาเป็นรมว. พลังงาน ?
นาย พิชัยกล่าวว่า ในชีวิตของการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีพลังงานของประเทศ ขอทำงานเพื่อชาติ 2 เรื่อง 1. เรื่องไทย-กัมพูชา 2. คือเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ในชีวิตนี้ หากทำ 2 เรื่องนี้ได้ ประเทศไทยก็จะเจริญแล้ว เราจะรู้สึกแม้เลิกเล่นการเมืองไปแล้ว ก็ยังรู้ว่า เราได้ทำอะไรเพื่อประเทศไทยบ้าง เรื่องแลนด์บริดจ์นี้เชื่อว่าไทยแทบไม่เสียงบประมาณเลย เพราะมีคนอยากร่วมทุนฯ ด้วยเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ว่า เราจะให้ใครร่วมทุนฯ บ้างเท่านั้น ส่วนปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าใจโครงการสร้างแลนด์บริดจ์ ทำให้ที่ผ่านมาดำเนินการไม่ได้นั้น พูดตรงๆ เรื่องนี้ มันก็มีการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับประเทศ ปชป. เจ้าของพื้นที่ก็ไม่อยากให้เราทำได้ง่ายๆ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ ก็ไม่อยากให้ดำเนินโครงการ เพราะทำให้ประเทศอื่นเสียผลประโยชน์มหาศาล แต่ทั้งหมดประชาชนในพื่้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะทำหรือไม่ ผมมีหน้าที่เสิร์ฟให้ประชาชน แต่ถ้าเค้าบอกว่า ไม่เอาหรอก ผมก็ไม่ทำ
"ที่ กลัวกันว่า นักการเมืองมาเร่งทำเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนใช่ไหม ผมยอมรับกับทีมข่าว"ไทยรัฐออนไลน์"ตรงนี้เลยว่า"มีผลประโยชน์ เพราะผมมีลูก ทำแล้วประเทศเจริญ ลูกหลานก็เจริญ ถ้าประชาชนจำชื่อผมได้ ลูกหลานผมก็จะเป็นที่เชิดหน้าชูตา ถามว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไหม บอกว่าไม่มีมันก็ไม่ใช่ อย่างเรื่องแก๊สธรรมชาติและน้ำมันในอ่าวไทย ทำไปแล้ว ลูกหลานผมก็ได้ประโยชน์ได้ใช้ไปอีก 50 ปี ถ้าไม่ทำ อีกประมาณไม่เกิน 10 ปี แก๊สก็หมดไป ประชาชนก็จะต้องเดือดร้อน ดังนั้นจึงถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ผมจะได้ แต่ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์อย่างนั้น ยืนยันว่าทำไปแล้ว ซักบาทซักสลึงหนึ่งผมก็ไม่ได้ ถ้าทำได้ถือเป็นความสุขของชีวิตแล้ว" รมว.พลังงาน กล่าว...
นายพิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์(ท่อเชื่อมส่งพลังงาน)ระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่ง อ่าวไทย มีหลายจุดที่รัฐบาลกำลังพิจารณาจะสร้าง ยอมรับเล็งพื้นที่ "ปากบารา"จ.สตูล เอาไว้ เพราะมีความเหมาะสม เพื่อเป็นเส้นทางที่ตรงและใกล้ที่สุด ซึ่งยอมรับว่ายังมีปัญหา ชุมชนในพื้นที่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งเราเองก็ต้องลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้ ว่า ถ้ายอมให้สร้างแล้ว พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรที่คุ้มค่าบ้าง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันเสนอข่าวสารข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ให้ประชาชนได้เข้าใจให้มากขึ้น และโครงการนี้ต้องบอกว่า คงจะไม่เกิดกรณีที่มีความกลัวกันว่าจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแยกดิน แดน เพราะพื้นดินยังเชื่อมต่อกันอยู่ ฝังท่อส่งน้ำมันผ่านในพื้นที่ มีทั้งอุตสาหกรรมโรงกลั่น ไม่เหมือนการขุดคอคอดกระ ทั้งนี้ รมว.พลังงาน ระบุ หากเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดเอง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ไม่มีการทุจริตโกงกินอย่างแน่นอน
- ระหว่างโครงการขุดพลังงานในอ่าวไทย กับโครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ อยากให้อันไหนเกิดก่อนกัน?
นาย พิชัย กล่าวว่า ความจริงอยากเห็นทั้ง 2 อย่าง อย่างก๊าชในอ่าวไทยนั้น ไทยก็อยากทำ กัมพูชาก็อยาก ยืนยันรัฐบาลนี้เปิดเผยตรงไปตรงมาให้คนเค้ารู้ ไม่เหมือนบางคนไปทะเลาะเค้า แล้วก็แอบไปเจรจาจุกจิก เหมือนคนประเทศเราโง่ ต้องมาแอบมาซ่อน แล้วกัมพูชาจะเชื่อเราได้อย่างไร ขนาดคนของตัวเองยังถูกหลอกเลย ผมอยากเห็นความก้าวหน้าทั้ง 2 โครงการในรัฐบาลนี้ อีกเรื่องที่คนไม่รู้กันว่าแม้ตกลงกันวันนี้ได้ ไม่ใช่ได้เลย กว่าจะได้แก๊สมาอีก 8-10 ปี เพราะฉะนั้นผมทำเนี่ย เพื่อลูกหลานจริงๆนะ เพราะถ้าถึงเวลา เกิดขุดแก๊สขึ้นมาไม่ทัน ใครรับผิดชอบ
"ส่วนเรื่องที่มากล่าวหากันทางการเมืองอย่างโน้น อย่างนี้ เรื่องใครได้ประโยชน์นั้น ให้โครงการมันเกิดมาก่อน แล้วถ้ามีหลักฐานใครทำผิด ก็จับเต็มที่เลย ดีกว่าสุดท้ายก็ไม่ทำอะไร ถ้าทำ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันเรื่องเราจะมีพลังงานใช้ในอนาคต มันก็ดีกว่า ขุดขึ้นมามองมุมไหน ไทยก็ได้ประโยชน์ เรามีโรงแยกแก๊ส 6 โรง มีอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีคอล มูลค่าเป็นแสนล้าน ขณะที่กัมพูชายังไม่มีเลยแม้แต่โรงเดียว แล้วถ้าต่อไปในอนาคต กัมพูชาจะสร้างโรงแยกแก๊ส เราก็เข้าไปร่วมลงทุนได้ถ้าเขาอนุญาต แต่ทั้งนี้ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการหารือระหว่าง 2 ประเทศ เรื่องการลงทุนแต่อย่างใด ส่วนตัวอยากให้ประชาชนทุกคนได้ได้คิด หากไม่มีการขุดแก๊สขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งกับประเทศไทย และกัมพูชา ในอนาคตจะรับกันได้หรือไม่ หากต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 1 เท่า ถามว่า คุณจะยอมจ่ายกันหรือไม่ ต้องยอมรับความจริงกันก่อน ดังนั้นจึงต้องหาทางเจรจากัน
ขณะที่หากนำข้อมูลปริมาณการเก็บ น้ำมันสำรองทั่วโลกบางส่วนมาเปรียบเทียบ ก็จะทราบได้ว่า ไทยมีการสำรองพลังงานในระดับที่ถือว่าต่ำมาก เพราะมีสำรองไว้เพียงแค่ 18 วันเท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นมีปริมาณน้ำมันสำรองมากกว่าหลายเท่า ดังนั้น หากเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ สงคราม หรือวิกฤตการณ์ขาดแคลนพลังงานขึ้น ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวก็ไม่อยากคิด นายพิชัย กล่าว…
***ข้อมูลการเก็บน้ำมันสำรองของกลุ่มประเทศสมาชิก IEA***
- แล้วนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ออกมา ถือเป็นการขัดนโยบายประหยัดพลังงานของประเทศหรือไม่
นาย พิชัย กล่าวว่า ความจริงเป็นการเข้าใจผิดนะ เพราะนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลก็ถือเป็นการประหยัดพลังงาน เพราะรถรุ่นใหม่ประหยัดพลังงานกว่ารถรุ่นเก่า กรอบคิดนโยบายรถคันใหม่ อยู่บนพื้นฐานประชาชนทุกคนอยากได้รถยนต์ อย่าไปบอกว่า โอ๊ย รถยนต์มีเยอะแล้ว ออกมามากๆ รถก็ติด ไม่มีถนนจะวิ่ง คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีรถก็อยากได้รถอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเอาตัวเองเป็นกรอบไปปิดกั้น มันไม่ใช่ ส่วนที่มีข้อทักท้วงว่า ควรจะจัดการกับรถเก่าที่ใช้งานมา 10-20 ปีอย่างไร เพราะเป็นรถที่ไม่ประหยัดพลังงาน และสร้างมลพิษ ก็จะขอกลับไปดูว่า ต้องทำอย่างไร
ขณะที่มีการระบุว่า ทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมรถอีโก้คาร์นั้น เรากำลังดูแผนที่จะส่งเสริมอยู่ แล้วที่ยังไม่ส่งเสริมตั้งแต่แรก รมว.พลังงานอ้างว่า เพราะเกรงว่าดูเหมือนจะไปช่วยผู้ผลิตรถยนต์ประเภทนี้อย่างเดียว ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง แล้วการส่งเสริมให้คนมีรถยนต์ง่ายขึ้น รัฐก็เห็นว่าสอดคล้องกับการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคอา เซียน แล้วทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องอีกมาก อย่าเพิ่งไปคิดเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างเดียว คนต่างจังหวัดก็อยากซื้อ
"ต้องออกตัวก่อนว่า กระทรวงพลังงาน ความจริงไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายรถยนต์คันแรก เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง สำหรับกรณีที่คลังออกมายอมรับว่า เตรียมจะพิจารณากรอบเงื่อนไข โครงการรถยนต์คันแรกเพิ่มโดยเฉพาะ ให้ครอบคลุมไปถึง รถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น อันนี้ที่เคยพูดคุยกันมาก่อนในพรรคเพื่อไทย ไม่มีการส่งเสริมเรื่องนี้ ยอมรับอาจต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังกันอีกรอบ เพราะตอนนี้ งานในกระทรวงพลังงานเองก็ยุ่งมาก แต่ยืนยันได้ว่า ตอนที่ช่วยคิดนโยบายให้พรรคเพื่อไทยนั้น ไม่มีกรอบคิดในเรื่องนโยบายดังกล่าว รวมไปถึงกรณีขยายซีซี รถยนต์ จากไม่เกิน 1,500 ซีซี เป็น ไม่เกิน 1,600 ซีซี ด้วย" รมว.พลังงาน กล่าว...
เรื่องบอร์ดในกระทรวงพลังงานตอนนี้ มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลง?
นาย พิชัยกล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณการลาออกในตอนนี้ แต่ต่อไปยอมรับว่า ก็คงมีการลาออกของบอร์ดในกระทรวงพลังงาน เชื่อว่า คณะกรรมการแต่ละคนมีความรู้ ความสามารถเหมาะสมและทราบประเพณีดีอยู่แล้ว และก็เป็นกรอบแนวคิดธรรมดาๆเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องมีวุฒิภาวะ มีมารยาทเพียงพอและเชื่อว่าคงไม่ไปดื้อ จนทำให้เสียชื่อตัวเอง อย่างใน ปตท.เองก็มีผู้มีความเหมาะสมหลายท่าน ที่จะมาทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่เกษียณอายุไป อย่างนายณอคุณ เป็นต้น แต่ก็มีกระแสท้วงติงมาว่า มีตำแหน่งอยู่ในราชการแล้ว ยังจะมามีตำแหน่งในบริษัท ปตท.อีก จะมีความเหมาะสมหรือไม่ เราก็รับมาพิจารณาดูเช่นกัน
- ถมทะเล ถึงตอนนี้ส่วนตัวคิดเห็นอย่างไร?
นาย พิชัย กล่าวว่า สนับสนุนอยากให้เกิดขึ้น เพราะอยากให้มองว่า ตอนนี้ กทม. น้ำเริ่มท่วมหนักแล้ว ขณะที่วันใดวันหนึ่ง กทม.คงจมน้ำ ทั้งนี้ วิธีการแก้ปัญหา อย่างที่ 1 คือ ต้องคิดสร้างเขื่อนก่อน แล้วเขื่อนนี้ถ้าจะสร้างมา ต้องใช้งบประมาณเท่าไหน นับแสนล้าน แล้วถ้าจะทำ จะหาเงินมาสร้างเขื่อนได้อย่างไร ดังนั้น พท. จึงมีแนวความคิดให้ถมทะเล เพื่อที่จะได้นำพื้นที่ดินที่ได้ใหม่มาสร้างเมืองเพื่อหารายได้สร้างเขื่อน กันน้ำท่วมในอนาคต ไม่เช่นนั้น จะหาเงินมาจากที่ไหน การถมทะเลนี้เพื่อเป้าหมายนำรายได้ไปสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกทม. ทั้งยังสามารถนำพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่ไปสร้างเมื่องใหม่ เป็นเมืองธุรกิจเพื่อพัฒนาประเทศได้ ทั้งนี้ยอมรับว่า การถมทะเลทำให้ประเทศชาติสูญเสียทรัพยากรมหาศาล แต่หากไม่สร้างแล้วเกิดน้ำท่วมใหญ่ หรืออนาคต กทม.จมน้ำอย่างที่กลัวกัน มันก็ไม่เหลืออะไรอยู่ดี ส่วนที่คิดแล้วจะทำได้หรือไม่ ก็ยังดีกว่าไม่ได้คิด เพราะถ้าไม่คิดก็คงไม่มีการลงมือทำ
รม ว.พลังงาน ยังขอยืนยันความในใจกับทีมข่าว"ไทยรัฐออนไลน์" กรณีสังคมอาจเกิดข้อสงสัยทุจริตคอรัปชันด้วยว่า หากรัฐบาล พท. พยายามเร่งเจรจาผลประโยชน์ทางทะเลในอ่าวไทย ระหว่าง 2 ประเทศในขณะนี้ ว่า ขนาดยังไม่มีอะไร ยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงขนาดนี้ หากจับได้มีการทุจริตจริงจะโดนขนาดไหน คนละแบบกับรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะเราต้องทำดีอย่างเดียว ทั้งนี้แต่ก็ถือเป็นวาระที่ดี อย่างนี้โอกาส ทิศทางประเทศไทยจะเจริญต่อไปในอนาคต เพราะใครจะคิดโกงไม่ได้ เนื่องจากมีการตรวจสอบจากสังคมอย่างเข้มข้น..
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น