ในขณะที่ประเทศในระบบซิวิลลอว์ ซึ่งใช้ในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ได้สร้างหลักนิติรัฐ เพื่อกำกับการบริหารงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการที่จะต้องปฏิบัติ ภายใต้กรอบของกฎหมายอันถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาจากความเห็นร่วม และความยินยอมของประชาชนที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่กำหนด ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือมีอำนาจในการบริการราชการสูงสุดก็ตามก็จะต้องอยู่ ภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ดังนั้น หลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐที่พัฒนาแนวความคิดและนำมาใช้ในหลายๆ ประเทศในโลกนี้ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่จะวางกรอบการใช้อำนาจของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่จะดำเนินการในทางบริหารงานที่สร้างความเป็นธรรม อันหมายถึงการรักษาและธำรงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนในภาพรวม ภายใต้กติกาอันเป็นที่ยอมรับจากประชาชนโดยผ่านทางกระบวนการนิติบัญญัติเป็น หลัก เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรม และความสงบสุขขึ้นในหมู่ประชาชน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ใช้อำนาจรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยในแต่ละประเทศ หากได้ยึดถือแนวทางการบริหารงานภายใต้กรอบของหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐนั้น ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อการยอมรับของประชาชนในประเทศของตน แต่หากผู้ใช้อำนาจดังกล่าวใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ใยดีต่อหลักเกณฑ์ที่ กำหนดไว้ หรือพยายามนำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง แม้จะสามารถดำเนินการได้ในขณะที่มีอำนาจอยู่ แต่เมื่อถึงเวลาที่ผ่านไปจนประชาชนไม่อาจทนกับสภาพความไม่เป็นธรรมนั้นได้ ก็จะเกิดมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนผู้ใช้อำนาจดังกล่าวต้องลาออกหรือถูก พลังประชาชนผลักดันให้ออกจากตำแหน่ง หรือในบางกรณีผู้นำบางคนต้องโทษในคดีอาญาในเวลาต่อมา เหตุการณ์เหล่านี้มีสักขีพยานปรากฏให้เห็นได้ในประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติจน ถึงปัจจุบัน
ในสังคมตะวันออก แม้ไม่ได้กล่าวถึงหลักนิติธรรม แต่ผู้ใช้อำนาจปกครองในอดีตถือกันมาตลอดว่า การปกครองนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความเป็นธรรมให้กับราษฎร อันแสดงให้เห็นว่า จุดหมายหลักของการปกครองแม้จะไม่ใช่หลักประชาธิปไตยก็ต้องถือความสงบสุขและ ความร่มเย็นของราษฎรเป็นที่ตั้ง มิใช่ความมั่งคั่งของผู้ใช้อำนาจปกครอง ดังนั้นหลักการที่ถือประโยชน์สุขของราษฎร ความร่มเย็นของราษฎรทั้งปวงจึงเป็นหลักการบริหารงานที่รัฐจะต้องถือตามแม้ ว่าจะมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมาเป็นการบริหารงานในระบบประชาธิปไตยตาม แบบของตะวันตกแล้วก็ตาม
เหตุที่ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนแม้ว่าจะได้มาจากการเลือก ตั้งหรือได้มาโดยการแต่งตั้งจากคณะบุคคลที่ได้อำนาจรัฐมาโดยการยึดอำนาจ คงจะไม่ใช่เพราะรูปแบบของการได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศชอบธรรมหรือไม่ แต่เพียงปัจจัยเดียว แต่ปัจจัยที่สำคัญและต้องการเวลาที่พิสูจน์คือ การบริหารงานของคณะผู้บริหารของรัฐนั้น ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม หรือนิติรัฐ อันจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สุขจากการบริหารงานของประเทศได้เพียงใด ทั้งนี้เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าแม้ว่าคณะผู้บริหารที่ได้มาจากการเลือกตั้งและ ได้รับการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่หากบริหารงานโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก คะแนนนิยมหรือการสนับสนุนย่อมลดลงไปอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา จนในบางครั้งต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารงานแทนในท้ายที่สุด
ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาให้ลึกลงไป ทำให้เข้าใจได้ว่า หลักนิติธรรมหรือนิติรัฐที่มีผู้ทรงคุณวุฒิได้พยายามอธิบายและสนับสนุนให้ ผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารงานนั้น หาใช่เป็นหลักที่นำกฎหมายมาใช้ตามตัวอักษรที่ปรากฏอยู่เท่านั้นไม่ แต่ผู้ใช้กฎหมายจะต้องมีหลักนิติธรรมนี้อยู่ในจิตใจ และความตระหนักรู้ถึงหลักนิติธรรมเมื่อนำกฎหมายมาใช้ด้วย มิฉะนั้นแล้ว การใช้กฎหมายที่มีอยู่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งผลประโยชน์แต่เพียงบุคคล บางกลุ่มหรือได้ประโยชน์แต่เฉพาะบางคนเท่านั้น มิได้เป็นประโยชน์ในภาพรวม
จากสมมติฐานของการที่ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่มีหลักนิติธรรมในใจนี้เอง ทำให้การใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ รวมถึงการใช้กฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคนบางกลุ่มโดยละเลยผล เสียที่จะเกิดแก่ส่วนรวม ซึ่งการใช้กฎหมายในลักษณะนี้ จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมายหรือเป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมใน เวลาต่อมา
ใน ภาวะของวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความปรวนแปรของสภาพแวดล้อมของโลกและของประเทศ ไทยในปัจจุบัน ผู้บริหารของรัฐจึงต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงและยากต่อการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของชาวบ้าน การบุกรุกที่ดินที่เป็นเขตอนุรักษ์ ปัญหาคนยากไร้มีหนี้สิน และปัญหาเกษตรกรจะต้องเผชิญกับการสูญเสียผลผลิตอันเกิดจากอุทกภัย รวมถึงการซ่อมแซมบ้านหลังจากน้ำลดลง ปัญหาเหล่านี้ จึงต้องการการร่วมมือและการประสานงานในทุกภาคส่วน และข้อที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยคือ การที่จะต้องตัดสินใจว่า ควรจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ กฎหมายที่มีอยู่จะอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ผู้บริหารราชการแผ่นดินทั้งที่เป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง อาจอาศัยหลักนิติธรรม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาประโยชน์สูงสุดของราษฎรท่ามกลางความต้องการ ที่ขัดแย้งกันในแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และคนในแต่ละชุมชน อย่างไรก็ดี หากผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ใช้กฎหมายด้วยจิตใจและจิตสำนึกในหลักนิติธรรมควบ คู่กับการใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว ผลที่ตามมาก็น่าจะอำนวยความสุขและความเป็นธรรมให้แก่ราษฎรโดยถ้วนหน้ากัน แม้ว่าแต่ละกลุ่มจะไม่ได้เต็มตามที่ตนเองตั้งความหวังไว้ แต่หากผู้มีอำนาจตัดสินใจขาดหลักนิติธรรมในการตัดสินใจแล้ว แม้จะใช้กฎหมายตามที่บัญญัติแต่มีผลประโยชน์แอบแฝงในการใช้กฎหมายดังกล่าว ความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงการได้รับความเป็นธรรมตามตัวอักษรหาใช่ ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริงไม่ จึงขอเอาใจช่วยสำหรับการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติในขณะนี้ เพื่อจะทำให้ก่อให้เกิดเป็นธรรมแก่ราษฎรโดยทั่วกัน
Siamrath
Siamrath
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น