: ขยายปมร้อน โดย สมถวิล เทพสวัสดิ์
มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบมาตรการของคณะกรรมการรอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน พร้อมกับมอบหมายให้ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมการให้ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบ
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความปรองดองและสมานฉันท์ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองมีความเห็นแตกต่างกัน
เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยังให้ความสำคัญต่อ "คอป." แม้จะไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นก็ตาม
เพราะการยอมรับข้อเสนอ 7 ประเด็นของ "คอป." นอกจากให้เกียรติคณะทำงานแล้ว ยังถือว่าไม่ "หักหน้า" รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาอีกด้วย
จากนั้นไปต้องจับตาคณะกรรมการสองชุดที่ "ยงยุทธ" จะตั้งขึ้นมา เพื่อเดินหน้าทำตามข้อเสนอของ "คอป." ว่าจะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับข้อเสนอ 7 ประเด็น ได้แก่
1.รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งด้วยการให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของประชาชนต้องให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย ขณะที่ต้องมีการผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบทุกฝ่ายที่มีส่วนให้เกิดความรุนแรงรวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยตามกระบวนการยุติธรรมด้วย
2.ขอให้รัฐบาลควบคุมการใช้อำนาจของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ไม่ให้กระทบกับบรรยากาศของความปรองดอง
3.เห็นควรพิจารณาดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คดีหมิ่นเบื้องสูง คดีกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต้องมีการตรวจสอบการแจ้งข้อหาให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินควร และควรสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย
4.เห็นควรให้มีการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยต้องมีมาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติดกับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานปกติ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องเยียวยาไม่ควรจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน ภาคเอกชน โดยการเยียวยาไม่ควรมีเฉพาะตัวเงินแต่รวมถึงการให้โอกาสในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
5.ควรเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากการชุมนุม ด้วยการเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลย เพื่อเยียวยากลุ่มที่ตกสำรวจ จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่ ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวจำเลยที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว
6.คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์กระทำผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงและการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคดีหมิ่นเบื้องสูงต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดี ทุกฝ่ายต้องยุติการกล่าวอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี โดยยึดประโยชน์สูงสุดในการปกป้องสถาบัน
7.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ผลักดันให้มีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะข้อเสนอ 2 ประเด็นอาจสร้างความหนักใจให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ต้องสะดุด เพราะมีมวลชนคนเสื้อแดงบางกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับบางประเด็นที่ "คอป." เสนอ
ข้อเสนอที่ 2 และข้อเสนอที่ 6 เพราะมีมวลชนบางกลุ่มที่ทำกิจกรรมคู่ขนานกับ "พรรคเพื่อไทย" อาจไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล และรู้สึกว่ารัฐบาลตัดสินใจเอาใจคู่กรณี เพราะไม่อยากให้เกิดแรงปะทะทางการเมือง
ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจบางเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลก็อาจถูกมองได้ว่าไม่กล้าตัดสินใจ เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้ความตั้งใจของรัฐบาลต้องสะดุด
จะเห็นว่าวิธีการขับเคลื่อนของมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลบางกลุ่มเริ่มไร้ทิศทาง ไม่มีใครสั่งการได้ แม้กระทั่ง "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" เองก็ยอมรับว่า "สั่งคนเสื้อแดงไม่ได้"
ระหว่างที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายสนับสนุนการปรองดอง ต้องวางตัวเป็นกลางในสายตาของทุกฝ่าย แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลกลับทำกิจกรรมเคลื่อนไหวสวนทางโจมตีฝ่ายที่เห็นต่าง ดูถูกเหยียดหยามคู่แข่ง ผู้นำกองทัพ และสถาบันเบื้องสูง การเดินหน้าปรองดองของรัฐบาลก็จะล้มเหลว
ในภาวะบ้านเมืองปกติ คนในบ้านเมืองมีความเป็นหนึ่งเดียว "ผู้นำ" ที่จะมาปกครองประเทศไม่ต้องเก่งเลิศเลอกว่าผู้นำประเทศอื่นมากนัก
แต่ในภาวะบ้านเมืองไม่ปกติมีความขัดแย้งแตกแยก "ผู้นำ" นอกจากเป็นคดี มีความสามารถ เด็ดขาดแล้ว "บริวาร" ข้างกายก็ต้องเก่ง มีความสามารถ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เคลียร์พื้นที่และรักษาผลประโยชน์ให้เจ้านายเท่านั้น !
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น