บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

3คนยลตามช่อง ลบล้างผลพวง 19กันยา 2549จากข้อเสนอ"คณะนิติราษฎร์

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
Share
10



แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ที่โยนขึ้นมาจาก "7 อาจารย์" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ถูกโต้แย้งอย่างรุนแรงจาก "ชนชั้นนำ-ขั้วอำนาจเก่า"
 
ด้วยเพราะหลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์ดังกล่าวอยู่ที่การเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" โดยถือว่าเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
จึงถูกมองเป็นข้อเสนอที่ "สุดโต่ง-สุดขั้ว"
 
พร้อมถูกจินตนาการไปว่า "ปัญญาชน" กลุ่มนี้ ไปรับงาน-รับลูก-รับใบสั่งจาก "พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก มาหรือไม่อย่างไร?
 
"มติชน" จึงรวมรวม "ข้อหักล้าง-ข้อสนับสนุน" จากนักกฎหมาย 3 ฝ่าย ประกอบด้วย "วิรัตน์ กัลยาศิริ" ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) "พิชิต ชื่นบาน" อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และ "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
ถือเป็นเสียงสะท้อนความเห็นต่อการล้างคราบปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ออกจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากคนต่างขั้ว-ต่างสำนัก-ต่างมุมมอง
 
1.ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน-30 กันยายน 2549 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
-ฝ่ายค้าน : ในการดำเนินการต้องเข้าใจว่ารัฐประหาร 2549 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 309 ดังนั้น สภาพกฎหมายจะมาย้อนให้มีผลมิชอบนั้น ทำไม่ได้ในนิติประเพณี ไม่เช่นนั้นปัญหาในบ้านเมืองจะไม่จบไม่สิ้น
 
- รัฐบาล : เป็นข้อเสนอที่ดีที่ทำให้บ้านเมืองเป็นไปตามหลักนิติธรรม และตามอารยะสากล ไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพราะตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ศาลยุติธรรมดูเหมือนจะยอมรับประกาศ คปค.ตลอดมา คดีที่เกี่ยวข้องกับคณะปฏิวัติเมื่อมีการนำขึ้นสู่ศาล ศาลก็ยอมรับ เช่น การแต่งตั้ง คตส. ซึ่งมีการต่อสู้กันว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คตส.เป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่ถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่ศาลวินิจฉัยว่าประกาศชอบ จึงกลับไปว่าเมื่อไหร่ที่ศาลยุติธรรมจะกลับคำวินิจฉัยเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมต้องไปทบทวน
 
- นักวิชาการ : เห็นด้วยในหลักการ เพราะจะเป็นการลบล้างผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่อาจมีปัญหาว่าการรองรับกฎหมายที่เกิดจากการรัฐประหารโดยศาลจะมีปัญหาหรือไม่ และศาลจะปรับตัวได้หรือไม่ ส่วนช่องทางที่ที่จะทำได้นั้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยให้มีบทบัญญัติที่ระบุว่ามีกรณีใดบ้างที่สามารถลบล้างได้
 
 
2.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
- ฝ่ายค้าน : รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้ยกเลิกโดยอัตโนมัติไปแล้ว เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมาบังคับ
ใช้ ถามว่าจะยกเลิกผลตรงส่วนไหน
 
- รัฐบาล : อย่างที่ผมบอกไปว่าเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ศาลยุติธรรม ถ้าต้นน้ำไม่ชอบ ปลายน้ำก็ไม่ชอบ กระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการยกเว้นโทษ หรือการกระทำใดๆ ถ้าไปยอมรับ หรือนิรโทษให้ ก็เป็นเหมือนไปรับรองการกระทำนั้นๆ
 
- นักวิชาการ : ถ้าสังคมเห็นร่วมกันในกรณีนี้ จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่อาจมีปัญหากรณีที่นักการเมืองซึ่งได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารนั้น จะทำได้เพียงใด ซึ่งเป็นไปได้ในแง่อาจจะมีการเยียวยาผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 27
 
 
3.ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คปค.เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
 
- ฝ่ายค้าน : ข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวคือ ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องรับโทษ ได้กลับมามีอำนาจใหม่ ได้รับเงินที่ยึดไปคืน ไม่มีเรื่องอื่น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิดคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเกิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 พิพากษามาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคดี ไม่มีปัญหาสักคดี มามีปัญหาคดีเดียว มันเป็นเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์รัฐ เช่น ศาลฎีกาพิพากษาประหารนาย ก. ต่อมาล้มเลิกคำพิพากษาว่าพิพากษามิชอบ จะเอาชีวิตนาย ก. กลับมาได้หรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้น เท่ากับว่าผู้พิพากษาสั่งฆ่าคนไปแล้ว และต้องติดคุกด้วย อีกทั้งหากทำได้จริง ผู้ที่พ้นจากผลพวงรัฐประหารที่ถูกคำพิพากษาต่างๆ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ บ้านเลขที่ 111, 109 ก็ต้องฟ้องรัฐ เพียงเรียกค่าเสียหายคนละ 1 พันล้านบาท บ้านเมืองจะอยู่ตรงไหน ในวันนั้นมีแต่ลุกเป็นไฟ ระบบนิติรัฐจบทันที
 
- รัฐบาล : ต้องยอมรับว่าโดยวิธีการของประชาธิปไตยคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักของประเทศว่าจะแก้ไขแบบใด หรือออกกฎหมายใดเพื่อให้เกิดผลตามที่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายควรฉุกคิด โดยนึกถึงชาติและบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง
 
- นักวิชาการ : หากให้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่มีผลทางกฎหมาย ผมเห็นว่าจะต้องกำหนดไว้เป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
 
 
4.ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดย คตส.เป็นอันยุติลง
 
- ฝ่ายค้าน : ถ้าจะทำต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพื่อล้มอำนาจรัฐประหาร ซึ่งก็เขียนได้ และผลพวงจากประกาศ คปค. ล้มไปได้จริง แต่คดีที่ยังเหลืออยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลอาจมีผล ถ้าทำอย่างนั้นกับคดีร้ายแรง เช่น คดีทุจริต คดีเผาบ้านเผาเมือง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ
 
- รัฐบาล : เรื่องนี้ขออย่าเอากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวตั้ง แต่ขอเอาประเทศมาเป็นตัวตั้ง เราอยากให้ทุกฝ่ายเคารพในหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งนี้ สำหรับคดีที่ผ่านการตัดสินของ คตส.มีหลายเรื่อง อาทิ คดีที่ดินรัชดาฯ คดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซ์ซิมแบงก์ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า) ปล่อยกู้พม่า ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการสอบสวนช่วงหลังจากที่มีการปฏิวัติ การสอบสวนจึงไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบเคียงกับอารยประเทศ ยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา แต่กลับไม่มีรายชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล) ตรงนี้แสดงให้เห็นว่านานาประเทศไม่ยอมรับในส่วนนี้
 
- นักวิชาการ : ข้อเสนอนี้อาจไม่มีผลในแง่ที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว หากจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขอให้บรรดาการใดๆ ของ คตส.ที่กระทำหลังการรัฐประหารต้องยุติลง หรือไม่มีผลทางคดี เว้นแต่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รองรับไว้
 
 
5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
- ฝ่ายค้าน : หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีผลต่อการยกเลิกผลพวงรัฐประหาร ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักการร่างกฎหมายต้องเดินหน้า ไม่มีผลย้อนหลัง อะไรที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ถือว่าจบไปแล้ว และยิ่งเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ายิ่งกว่าคำพิพากษา เพราะกฎหมายเขียนให้ผูกพันทุกองค์กรคือคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่คำพิพากษา ผูกพันแค่โจทก์กับจำเลย
 
- รัฐบาล : การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแผนการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ซึ่งสมัยเรายังเป็นฝ่ายค้าน ก็มีการนำเสนอแนวคิดให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง ดังนั้น คงจะต้องมีการดำเนินการต่อ
 
- นักวิชาการ : การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำได้ด้วยการเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทำได้อยู่แล้วในแง่หลักการ เพราะในอดีตก็เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารแล้ว อย่างรัฐธรรมนูญปี 2534 (ต่อมาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ) ที่ต่อมาจนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น อย่าไปคิดเพียงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่จะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้


มติชนออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง