นับจากนี้เหตุการณ์ประชาชนรวมกันคัดค้านบริษัทสำรวจ-หรือขุดเจาะ น้ำมัน-แก๊สธรรมชาติอย่างที่สมุย-เกาะเต่า สุราษฎร์ธานีหรือที่บ้านกลาย ท่าศาลา นครศรีธรรมราชจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนด้วยพล็อตเรื่องที่ซ้ำ ๆ จำเจเพียงแต่เปลี่ยนฉากเปลี่ยนตัวละครบริษัทน้ำมันชื่อต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศไทยพบแหล่งก๊าซและน้ำมันดิบแหล่งใหม่มากขึ้นกว่าทศวรรษที่แล้วมากมายและก็มีสัมปทานแบบที่เป็นอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปี 2524 ในยุค พล.อ.เปรมที่เราเจอแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกเราประกาศว่าประเทศไทยกำลัง เข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” แต่ในทางปฏิบัติจริงของการพลังงานไทยเมื่อ 30 ปีก่อนยังทำได้แค่เชื่อมท่อก๊าซเข้าสู่โรงผลิตไฟฟ้า ใช้ก๊าซแทนน้ำมันเตาที่แพงกว่ากัน หาได้ใช้ก๊าซพื่อประโยชน์ด้านอื่นอย่างคุ้มค่าและครบวงจรแต่อย่างใด แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน-หลังจากเราประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มคิดเรื่องการผลักดันให้ใช้ก๊าซ NGV เพื่อการขนส่งโดยตรงทำให้ 10 ปีหลังมีรถ NGV วิ่งบนถนนมากมายแม้รถยนต์ของเรายังไม่ได้เป็น FFV (Flexible-fuel vehicle) เหมือนต่างประเทศที่สามารถเลือกเติมเชื้อเพลิงแบบไหนก็ได้ลงไป(ตามแต่ สถานการณ์และราคาแล้วเจ้าเครื่องอัจฉริยะจะแยกแยะนำไปใช้เอง) เอาแค่ NGV กับ LPG รถติดก๊าซก็ได้เป็นหนึ่งในทางเลือกของพลังงานเพื่อการขนส่งไปแล้วเต็มตัว เราเคยมีความคิดแบบดั้งเดิมว่า ก๊าซธรรมชาติหรือจะสู้น้ำมันดิบที่ทั้งราคาแพง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าต่อให้เราเป็นเจ้าแห่งก๊าซธรรมชาติก็คง สู้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบไม่ได้ ฐานคิดดังกล่าวควรจะปรับปรุงใหม่เพราะด้วยพลานุภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบันจะ เป็นน้ำมัน เป็นก๊าซหรือเป็นไฟฟ้าล้วนแต่สามารถแปลงมาใช้ประโยชน์ในฐานะ “พลังงานในชีวิตประจำวัน” ของคนระดับชาวบ้านทั่ว ๆ ไปได้ไม่แตกต่างกัน พี่น้องคนไทยทราบหรือไม่ว่าเทคโนโลยีปัจจุบันมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเล็กแค่มีท่อก๊าซเสียบเข้าไปก็ปั่นไฟฟ้าใช้ได้ในชุมชนได้เลย ภาพจินตนาการสวย ๆ ที่ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานของเราเองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยดังกล่าวจะ เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรื้อปรับนโยบายพลังงานของประเทศกันเสียก่อน ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของบริษัทน้ำมันที่พาเหรดเข้ามาสัมปทานขุดเจาะ สำรวจและผลิตน้ำมัน-ก๊าซทั้งบนบกและในน้ำยืนยันความล้ำค่าของทรัพยากร น้ำมัน-ก๊าซที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นอย่างดี...ถ้าทำแล้วขายไม่ได้ไม่มีคนต้อง การมีหรือที่บริษัทเหล่านี้จะพาเหรดเข้ามาแบบหัวกะไดไม่แห้งอย่างที่เป็น อยู่ ถ้ายังจำกรณีที่บริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมันยุคแรกอย่างยูโนแคลประกาศ ขายกิจการซึ่งครอบคลุมพื้นที่ไทยพม่าและเอเชียอาคเนย์มีบริษัทจีนมาซื้อที่ สุดอเมริกาไม่ยอมขายถึงขั้นต้องเอาเข้าสภาคองเกรสและให้เชฟรอนมาซื้อกิจการ นี้แทนจนเชฟรอนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอ่าวไทยที่กำลังมีปัญหากับคนสมุย-คนบ้านกลายในเวลานี้ นอกเหนือจากยุทธศาสตร์พลังงานในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเหตุผลต้องซื้อ ยูโนแคลแล้ว อเมริกายังทราบเรื่องปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองของไทยเป็นอย่างดี ข้อมูลของอเมริกานี่เองที่บอกว่าปริมาณพลังงานของไทยนั้นติดอันดับโลก เอาเฉพาะหมวดก๊าซธรรมชาติยังเหนือกว่าประเทศในกลุ่มโอเปคบางประเทศเสียอีก มาดูตารางของสถาบัน Energy Information Administration - EIA ของสหรัฐอเมริกา ตารางนี้ผุ้เชี่ยวชาญที่เกาะติดสถานการณ์น้ำมันชาวไทยท่านหนึ่งที่ไม่อยาก เปิดเผยตัวปรับมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบและทำความเข้าใจ นำมาจากสถาบัน EIAสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกว่า อเมริการู้ดีว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเป็นลำดับ 27 ของโลก อยู่ท่ามกลางประเทศกลุ่มโอเปคและประเทศที่เราเชื่อว่ามีทรัพยากรเยอะ(ที่วง กลมไว้) ไม่เฉพาะก๊าซธรรมชาติเท่านั้นแม้กระทั่งการผลิตน้ำมันดิบก็อยู่ลำดับ 33 ของโลกเหนือกว่าบรูไนหรืออดีตโอเปคอย่างกาบองเสียอีก | ||||
ทรัพยากรพลังงานของไทยแม้จะไม่มากเท่ากับยักษ์ใหญ่ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย หรือประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ แต่มันก็มากเพียงพอจะให้ไทยอยู่ในแผนที่พลังงานโลกไม่ว่าจะด้วยปริมาณสำรองหรือด้านภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งที่ต้องย้ำเป็นหลักคิดพื้นฐานจากภาวการณ์นี้ก็คือประชาชนคนไทยมี สิทธิ์เต็ม 100% ในทรัพยากรพลังงานเหล่านี้ น้ำมันและก๊าซเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารปตท. หรือกระทั่งนายทุนจมูกไว หลักคิดที่สอง-ทรัพยากรพลังงานที่เรามีอยู่จะต้องสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชน หลักคิดข้อสุดท้ายก็คือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเป็นประเทศที่ถูก จัดในแผนที่แหล่งพลังงานโลก จะดีร้ายยังไงเราก็ต้องเจอกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพลังงานไม่ทางใดทาง หนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้นน่าจะเปลี่ยนกรอบคิดในทำนอง “มึงมาข้าเผา” หรือปฏิเสธไม่เอาสถานเดียว เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถวางใจได้มากกว่ายุคก่อนหน้าแต่สิ่งที่ต้อง เร่งกระทำก็คือการทำความเข้าใจกับสิ่งเปลี่ยนแปลงในบ้านของเราอย่างลึกซึ้ง และรอบด้าน เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับบ้านเมืองและชุมชนของเราเอง อย่างน้อย ๆ ไม่ใช่แค่ค่าภาคหลวงให้อบต.ปีละไม่กี่สตางค์เมื่อเทียบกับกำไรที่เขาสูบได้ไป ฐานคิดของประชาชนจึงไม่ควรคิดแต่ผลกระทบกับเราเท่านั้น เพราะทุกอย่างที่มีทั้งบวกลบ อย่างเช่นเทคนิคการขุดเจาะสำรวจแบบน้ำตื้นย่อมวางใจได้มากกว่าแบบที่ BP ทำในอ่าวเม็กซิโก หรือแม้แต่ระบบท่อแก๊ซมาตรฐานโลกก็สามารถวางใจได้ในทางทฤษฎีมิฉะนั้นเขาไม่ มีการวางท่อแก๊ซเหมือนท่อประปาไปตามบ้านเรือนในหลายประเทศ เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ๆ ที่ สุดแล้วเรายังสามารถไว้วางใจเทคโนโลยีและระบบที่ดีได้เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น ของตาย.. แต่ที่ไม่ควรวางใจนั่นคือคน-โดยเฉพาะคนไทยด้วยกันเอง ! ท่านทราบหรือไม่ว่าในขณะที่ประเทศไทยเริ่มกลายเป็นเป้าหมายในแผนที่ พลังงานโลก และคนไทยเป็นเจ้าของทรัพยากรที่คนทั้งโลกต่างต้องใช้แต่ไทยยังเก็บภาษีขุด เจาะน้ำมันและพลังงานเพียงเฉลี่ย 10-11% เท่านั้น ขณะที่บางประเทศเขาต่อรองกับบริษัทน้ำมันรัฐบาลเก็บไป 80% บริษัทน้ำมัน 20% และโดยส่วนใหญ่หลาย ๆ ประเทศเขาแบ่งผลประโยชน์กันครึ่ง ๆ คนที่อื่นเขาได้ 50-80% แต่คนไทยเจ้าของน้ำมันได้แค่เฉลี่ย 10% เท่านั้น ! ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเก็บภาษีขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่อัตรา 12.58% อัตราดังกล่าวกำหนดในยุคที่ประเทศไทยเราไม่มีเทคโนโลยีและทักษะเรื่องการขุด เจาะมากเพียงพอต้องอาศัยการลงทุนจากภายนอกทั้งหมด อัตราดังกล่าวจึงตั้งขึ้นให้จูงใจดึงคนมาลงทุนสำรวจและลงทุนขุดเจาะนำมาใช้ แต่พอถึงยุคปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรต่อเนื่อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แก้กฎหมายใหม่อ้างสวยหรูว่าเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า อยู่ในช่วง 5-15% ตามแต่ปริมาณการขุดขึ้นมา อัตราก้าวหน้าจึงทำให้เราเก็บภาษีน้ำมันได้เฉลี่ยแค่ 10% กว่า ๆ ลดจากเดิมลงไปอีก !!! น่าแค้นใจไหมคนไทยเจ้าของบ่อก๊าซบ่อน้ำมัน .. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เราปรับภาษีขุดเจาะน้ำมันให้ไทยได้รับน้อยลง ประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ ของเวเนซุเอล่ากลับเป็นเป้าหมายสนใจของคนทั้งโลกเพราะปฏิวัติระบบรายได้ส่วน แบ่งน้ำมันจากบริษัทต่างชาติให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด อยากให้พี่น้องคนไทยอ่านงานของกมล กมลตระกูลเรื่อง ฮูโก ชาเวซ : เส้นทางสู่การเมืองภาคประชาชน ว่าเขามีแนวทางทำให้ทรัพยากรธรรมชาติยังประโยชน์ให้กับประชาชนเจ้าของ ทรัพยากรอย่างไร เอาแค่ตัวอย่างเดียวก่อนหน้านี้เวเนซูเอล่าถูกสูบน้ำมันโดยนักการเมืองร่วม กับทุนต่างชาติ โดยผ่านองค์กรรัฐวิสาหกิจชื่อPDVSA (Petroleos de Venezuela, S.A.) แต่ผลกำไรของบริษัทที่ตั้งขึ้นตกอยู่ในกลุ่มพวกพ้องทั้งสิ้นแทบไม่เหลือกลับ เข้าประเทศเลย กรณีประเทศเขา PDVSA ที่ไม่แยแสประชาชนไปสนแต่นักลงทุนเหตุไฉนจึงเหมือนกับ ปตท.บ้านเราได้ถึงเพียงนี้ มีหลักฐานมากมายหลายประการยืนยันว่านโยบายการพลังงานที่เอื้อต่อทุน ไม่สนประชาชน การแปรรูปปตท.และการทำมาหากินในเครือข่ายขุนนางพลังงานกับทุน การพาเหรดเข้ามาของต่างชาติบนพื้นฐานนโยบายไม่แยแสประชาชน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้นนั่นก็คือปัญหาโครงสร้างการพลังงานไทยที่ อัปลักษณ์ ไม่วางบนผลประโยชน์ชาติและประชาชนจริง ๆ ในฐานะเจ้าของทรัพยากรแทบไม่ได้อะไร ในฐานะผู้บริโภคยังถูกเปรียบในทุกขั้นตอน ถ้านโยบายและการปฏิบัติในเรื่องพลังงานยังไม่ได้ยืนบนประโยชน์ประชาชนจริง ๆ ก็ รบเถิดประชาชน !! นี่ไม่ใช่เป็นการยุเอามันแบบมึงมาข้าเผา หากแต่ต้องการให้ประชาชนคนไทยรบเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานและสิทธิของความ เป็นเจ้าของทรัพยากรมากขึ้น ระหว่างที่พี่น้องสมุยออกมาเคลื่อนไหว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเทคโนโลยีขุดเจาะไม่เป็น อันตรายไม่เหมือนอ่าวเม็กซิโกอย่างแน่นอน ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ให้สัมปทานและกำกับดูแลสัมปทานต่าง ๆ ก็ออกมาแถลงแบบเดียวกันไม่เพียงเท่านั้นยังซื้อหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์รายวันโฆษณาความปลอดภัยในประเด็นดังกล่าว ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวมทั้งขุนนางพลังงานเทคโนแครตทั้งหลายคงจะคิดว่าประชาชนไม่เข้าใจข้อมูล ตื่นกลัวไปเอง.. ฐานคิดคือ “ประชาชนไม่รู้ข้อมูล !!?” แต่ขอโทษเถิดอยากจะใช้คำแรง ๆ เช่น บัดซบหรืออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกันมาประกอบนั่นเพราะว่ารัฐที่หมายถึงนักการ เมืองและขุนนางพลังงานต่างหากที่ปิดบังข้อมูลอันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แค่เริ่มต้นกระบวนการแรกก็ละเมิดสิทธิ์ประชาชนแล้ว -จะไม่ให้ประกาศรบยังไงไหว !! พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 กำหนดว่า สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ ของ รัฐย่อมไม่เป็นความลับ มาตรา 9(6) จึงกำหนดให้หน่วยงานจัดสัญญาดังต่อไปนี้ให้ประชาชนตรวจดู นั่นคือ ก.สัญญาสัมปทาน ข.สัญญาผูกขาดตัดตอน ค.สัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ แต่กระทรวงพลังงานโดยเฉพาะกรมเชื้อเพลิงพลังงานไม่ได้เปิดสัมปทานสำรวจ-ขุดเจาะน้ำมันใด ๆ ออกสู่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันในแวดวงผู้สนใจปัญหาพลังงานมานานแล้ว และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคมเวลาบ่ายผมทดสอบเพื่อยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งโดยได้โทรฯไปที่เบอร์ซึ่งเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุให้โทรฯไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียม และมติคณะกรรมการปิโตรเลียม ผมไม่ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่หรอก พูดดีด้วยสุภาพเพราะรู้ว่าคนผิดคือฝ่ายนโยบายและข้าราชการระดับสูงเพียงแต่ ได้รับการยืนยันว่าให้ไปหาข้อมูลแปลงสัมปทานต่าง ๆ ได้ในรายงานประจำปี ซึ่งเมื่อไปดูแล้วมันเป็นคนละเรื่องกับสัญญาสัมปทานที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานต้องเปิดให้คนทั่วไปเข้าดูได้ทันที สัญญาสัมปทานสำรวจน้ำมันหรือก๊าซเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องรู้ และเข้าถึงได้ทันที แต่เพราะว่ามันมีผลประโยชน์ในระหว่างทุน-ขุนนางพลังงานและนักการเมืองร่วม กันกำอยู่ดังนั้นเรื่องพื้น ๆ ดังกล่าวจึงกลายเป็นความลับงี่เง่าประจานตัวเองรัฐบาลไทย ปากหนึ่งบอกประชาชนไม่ศึกษาข้อมูล แต่อีกทางหนึ่งก็ปิดข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ !! ตัวอย่างสัมปทานที่เอกชนไม่ทำ..ปล่อยคาราคาซังไม่ทำตามสัญญาถ้าเป็น ประเทศที่เขาโปร่งใสประชาชนจะไม่ยอมให้บริษัทดังกล่าวได้สัญญาอีก แต่เชื่อไหมว่าต่อมาได้มีพลังลึกลับอุ้มชูบริษัทดังกล่าวเข้ามาฮุบพื้นที่ แปลงสัมปทานทั่วอ่าวไทยก็คือ กรณี “Harrods Energy” ที่ต่อมาแปลงร่างเป็น “Pearl Oil” เพื่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ชื่อโมฮัมหมัด อัล ฟาเยดตั้งบริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ (Harrods Energy) ก็ได้สิทธิสำรวจน้ำมันใน 4 แปลงขุดเจาะในอ่าวไทยอีกบริษัทหนึ่งไปสำรวจแหล่งแร่ที่ชายฝั่งพังงาซึ่งคนใน วงการรู้ว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อมาแฮรอดส์ก็ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “Pearl Oil” เมื่อ 2547 คราวนี้มีเป้าหมายใหม่ใหญ่กว่าเดิมเพราะต้องการแปลงสัมปทานในประเทศไทยมาก ขึ้นจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่คู่กับ เชฟรอน-ปตท. เรื่องแฮรอดส์-เพิร์ลออยล์มีรายละเอียดเยอะจะค้างไว้วันหลังเพียงรอบ นี้อยากบอกว่าเงื่อนไขสัมปทานทั้งหลายแหล่นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการ พิจารณาให้สัมปทานใหม่หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ จึงเป็นช่องให้ทุนบางรายมีไว้เพื่อรักษาสิทธิ์และทำมาหากินได้ต่อไป และถ้าหากเปิดสัญญาสัมปทานดูดี ๆ ไม่แน่จะพบบริษัทน้ำมันที่จดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน หรือเกาะฟอกเงินอื่น ๆ ก็ ได้เพราะครั้งหนึ่งบริษัทในกลุ่มเพิร์ลออยล์ก็เคยจดทะเบียนที่เกาะฟอกเงิน นี้มาแล้ว -นี่กระมังที่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ขุนนางพลังงานไม่อยากเปิดข้อมูลส่วนนี้ ให้คนไทยรับรู้ นโยบายการพลังงานไทยปัจจุบันยังเป็นกรอบนโยบายที่ถูกกำหนดโดยขุนนาง พลังงานร่วมกับทุนใหญ่ โดยมีปตท.ผู้สวมหมวกสองใบเอกชนก็เป็นรัฐวิสาหกิจก็ใช่เป็นกลไกควบคุม มหากาพย์เรื่องการพลังงานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกล่าวถึงปัญหาของปตท. ที่เดินห่างจากคำว่าผลประโยชน์ชาติและประชาชนมากขึ้นทุกขณะ เอาง่าย ๆ ราคาขายปลีกน้ำมันที่ขายให้คนไทยห่างจากราคาน้ำมันดิบมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ นับจากปี 2544 เป็นต้นมา ยกตัวอย่างราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อปี 2546 ปตท.คิดเพิ่มจากราคาน้ำมันดิบดูไบแค่ลิตรละ 10 บาทโดยเฉลี่ย มาปีนี้การคิดบวกเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 20 บาท จะเอากำไรมากมายไปทำไมคำตอบก็คือเขาต้องกำไรเพราะเข้าตลาดหุ้น ต้องปันผลและต้องสร้างผลงาน นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ตัวอย่างหนึ่งในหลายร้อยตัวอย่างที่บ่งบอกว่า ปตท. ไม่ได้ยืนบนผลประโยชน์ประชาชนตามความคาดหวัง จะเรื่องสมุย เรื่องเชฟรอนที่บ้านกลาย หรือเรื่อง ปตท. ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะนี่เป็นปัญหาทั้งใหม่และใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้าคนไทย เชื่อเถอะครับนโยบายพลังงานที่มองเห็นหัวประชาชนสามารถเติมเงินในกระเป๋าคนไทยได้จริงแต่ปรากฏว่ามีคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งดังกล่าวมิหนำซ้ำยังสูบเงินจากกระเป๋าคผู้บริโภคคนไทยไปอีก ทั้งนักการเมือง ทั้งทุน และทั้งขุนนางพลังงานที่เบาะ ๆก็รับเงินค่าตำแหน่งเพิ่มปีละ 5 ล้าน 10 ล้านล้วนแต่ปกปิดกีดกันประโยชน์ดังกล่าวนี้ การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองทั้งในฐานะเจ้าของทรัพยากรและในฐานะผู้ บริโภค- อันดับแรกชาวสมุยและชาวนครศรีฯ ควรจะทวงสิทธิ์การรับรู้ข่าวสารพื้นฐานจากกระทรวงพลังงานซึ่งดีแต่โฆษณาใน มุมเดียว หลังจากนั้นถึงคราวคนไทยต้องมาทวงสิทธิ์รับรู้ขั้นตอนการทำกำไรเกินควรจาก ผู้บริโภคพลังงาน และที่สุดคือสิทธิ์ที่จะร่วมคิดร่วมจัดการทรัพยากรของประเทศซึ่งที่สุดแล้ว คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในทรัพยากรนั้นอย่างเท่าเทียม |
ปตท.เป็นอะไรกันแน่ ?
เป็นรัฐวิสาหกิจน่ะแน่นอนเพราะรัฐบาลถือหุ้นเกินกึ่งแถมยังใช้สิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ในนามขององค์กรรัฐตั้งแต่เรื่องใหญ่ ๆ ที่เป็นนโยบายชาติมาจนกระทั่งถึงเรื่องเล็ก ๆ เช่นภาษีป้ายก็ไม่ต้องเสีย
ก่อนหน้าจะแปรรูป สถานะของปตท.คือรัฐวิสาหกิจคนไทยที่ต้องต่อกรอย่างยากลำบากกับบริษัทน้ำมัน ข้ามชาติ มียุคหนึ่งที่ถูกโรงกลั่นและบริษัทต่างชาติบีบเรื่องราคาขายปลีก แต่วันนี้ปตท.เป็นผู้ผูกขาดโรงกลั่นในประเทศ แม้ว่าจะมีข้ออ้างการถือหุ้นไม่ถึงครึ่งหรืออะไรก็ตามแต่ทว่าเนื้อแท้ต้องไป ดูจากผู้บริหารที่ส่งเข้าไปกำกับโรงกลั่นน้ำมันและดูจากนโยบายการแข่งขัน ระหว่างโรงกลั่นซึ่งไม่ได้แข่งกันเลยในทางปฏิบัติ
หลังการแปรรูปปตท.อ้างว่าต้องทำกำไรสูงสุดเพื่อรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งปรัชญาข้อนี้มันทะแม่ง ๆ หากนำมาอธิบายภารกิจขององค์กรที่เรียกตัวเองว่ารัฐวิสาหกิจ
ปรัชญาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ฝรั่งเข้าใจก็คือการแปลงองค์กรของรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มจะผูกขาดตัดตอนให้เป็นเอกชนและอยู่ใต้กฎการแข่งขันเสรีที่เท่า เทียม กรอบคิดกระแสหลักของสำนักแปรรูปฯ ทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่มองว่าการบริหารแบบรัฐกิจขาดประสิทธิภาพสู้บรรษัทเอกชน ไม่ได้
แต่สำหรับกรณี บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กลับใช้ทฤษฎีใด ๆ เกี่ยว กับการแปรรูปฯมาอธิบายแทบไมได้เลย เพราะแปรรูปไปแล้วยังคงอำนาจและสิทธิประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจเต็มตัว และยังได้เงื่อนไขหลุดพ้นจากสภาพกฎระเบียบหยุมหยิมแบบเดิมที่ร้อยรัดอยู่
รายงานประจำปี 2552 ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ประกาศไว้อย่างน่าตื่นเต้นว่า พันธกิจของเขามี 6 ด้านคือพันธกิจต่อประเทศ ต่อสังคมชุมชน ต่อผู้ถือหุ้น ต่อลูกค้า ต่อคู่ค้า และต่อพนักงาน
ที่น่าสนใจคือต่อผู้ถือหุ้นที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “จะดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์สามารถสร้างกำไรเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความ เจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน”
และได้ประกาศพันธกิจต่อลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนไทยผู้บริโภคน้ำมันและก๊าซว่า “จะสร้างความพึงพอใจต่อลูกค้าโดยผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มี คุณภาพสูงในระดับมาตรฐานสากลด้วยราคาเป็นธรรม”
ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลย ในพันธกิจต่อผู้ถือหุ้นเพราะปตท.สามารถสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องเป็นทบเท่า หลายร้อยเปอร์เซ็นต์นับจากปี 2545 เป็นต้นมาและก็ดูแลผุ้ถือหุ้นอย่างอิ่มหมีพีมัน
เมื่อปี 2551 ปตท.มีรายได้จากการขายและบริการมากเป็นประวัติการณ์ 2,000,816 ล้านบาท ส่วนปี 2552 ลดลงมาเหลือ 1,586,174 ล้านบาทซึ่งก็มหาศาลอยู่ดี เอกสารฉบับเดียวกันในหน้า 90 ระบุว่า ปตท.มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ
ด้านพันธกิจต่อพนักงานบริษัท ปตท.ก็ปฏิบัติได้อย่างเต็มที่สามารถนับเป็นกิจการที่จ่ายค่าตอบแทนแก่ พนักงานติดอันดับท็อปของประเทศ
ปี 2552 ปตท.ระบุว่ามีพนักงานจำนวน 3,405 คน (ไม่รวมพนักงานที่ไปปฏิบัติหน้าที่กับบริษัทในเครือ) งบการเงินเขียนไว้ว่าได้จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรไม่รวมกรรมการผู้จัดการใหญ่และ ผู้บริหารระดับสูงเอาไว้ดังนี้
เงินเดือน/โบนัส/ค่าสมทบกองทุนเลี้ยงชีพและอื่น ๆ 5,684,386,009 บาท
หารเฉลี่ยจำนวนพนักงาน 3,405 คนตกอยู่ที่ประมาณคนละ 1,722,369.75 บาท/ปี
ส่วนผู้บริหารและกรรมการต่าง ๆ จะ ยังไม่กล่าวถึงในตอนนี้เพราะเรื่องนี้ต้องแยกไปพิจารณาในกรอบของความ สัมพันธ์ระหว่างรัฐ การกำกับดูแล การรักษาผลประโยชน์รัฐและประชาชน กับ รัฐวิสาหกิจที่ถูกกำหนดให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีข้าราชการตำแหน่งสูง ๆ ไป นั่งกินเงินเดือนของบริษัทเหล่านี้ในนามของการส่งไปกำกับดูแล..แต่แท้จริง ไม่รู้ใครถูกกำกับและใครดูแลใครกันแน่ เชื่อหรือไม่บางคนซัดไปเกือบ 10 ล้าน/ปีไปนั่งกำกับโดยไม่ต้องสนใจเงินเดือนข้าราชการก็ยังไหว !
เรื่องนี้จะแยกมาพูดต่อในปัญหาการครอบงำนโยบายพลังงานในโอกาสต่อไป เพราะที่สุดแล้วการตั้งคำถามในเรื่องปัญหาการพลังงานไทยก็หนีไม่พ้น ปตท.และกลุ่มขุนนางพลังงานที่กำกับนโยบาย โดยหลักการรัฐหรือข้าราชการควรจะกำกับเพื่อถ่วงดุล ตรวจสอบและกำหนดทิศทางเพื่อรักษาประโยชน์ชาติและประชาชน แต่ในทางปฏิบัติหลายเรื่องสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ทั้งข้าราชการและปตท. กลายเป็นพวกเดียวกัน
หมวกใบหนึ่งของปตท.คือเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ก่อนหน้าจะแปรรูป พนักงานปตท.จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นประจำเหมือนกับข้าราชการและ รัฐวิสาหกิจทั่วไป และเมื่อแปรรูปกลายเป็นบริษัทพนักงานก็ยังคงได้รับพระราชทานฯ เป็นประจำต่อเนื่องตามสิทธิ์เฉกเดียวกับข้าราชการที่ทำหน้าที่รับใช้ประเทศ ชาติ
อำนาจหน้าที่ของความเป็นรัฐวิสาหกิจจึงเอื้อต่อการดำเนินกิจการคล่องตัว ได้รับการตอบสนองทางนโยบายต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ระดับ ผูกขาดท่อส่งก๊าซจนกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดก๊าซธรรมชาติครบวงจร แม้กระทั่งจะมีโครงวางท่อก๊าซปตท.ยังสามารถออกประกาศ ปตท.ได้ด้วยตัวเองลงตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาว่าจะวางแนวท่อก๊าซผ่านเขตใด บ้าง ได้เปรียบชาวบ้านตั้งแต่เรื่องใหญ่ ๆ เรื่อยมาจนถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแทบทุกเรื่อง
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าปั๊มน้ำมันปตท. ทุกแห่งในประเทศได้รับยกเว้นภาษีป้าย ในขณะที่ปั๊มอื่น ๆ ต้อง จ่ายภาษีดังกล่าวนี้ให้กับท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม โดยปตท.อ้างว่าตนเป็นรัฐวิสาหกิจ เรื่องดังกล่าวนี้ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์เคยตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลตอบ เขาตอบมาดังนี้ว่า...
“เดิมการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(7)ตามพรบ.ภาษีป้าย 2510 ต่อมาเมื่อปตท.แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ และมีการตรา พรฎ.กำหนดอาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) 2544 โดย ให้บมจ.ปตท. มีอำนาจได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย...ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ของ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่มีอยู่อย่างไรและไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามกฎหมายใด ๆ ก็จะโอนมาเป็นของ บมจ.ปตท”
แปลไทยเป็นไทยง่าย ๆ ว่า สิทธิประโยชน์เหนือชาวบ้านของรัฐวิสาหกิจ (ที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ของลัทธิแข่งขันเสรี) ถูกผ่องถ่ายให้กับบริษัทมหาชนตามเดิม แม้กระทั่งสิทธิที่จะไม่เสียภาษีป้ายปั๊มน้ำมันก็ตาม
อันที่จริงแล้วเอกชนรายย่อยเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันนั้นต่อให้สังกัด ปตท.เองก็ใช่ว่าจะได้เปรียบชาวบ้านเขาได้มากมายอะไรหรอกดังจะเห็นจากข่าว ปั๊มน้ำมันร้องโอดโอยปิดตัวเป็นแถวมาก่อนหน้า ถ้ายังจำกันได้ปั๊มน้ำมันรายย่อยเขาบอกว่าเขาได้ค่าการตลาดเฉลี่ยแค่ลิตรละ บาทเดียวซึ่งเขาอยู่ไม่ได้
คำถามข้อแรก-กองทุนน้ำมันจากกระเป๋าคนไทยใช้อุ้มใคร ?
อย่างที่ได้เรียนข้างต้นว่าการตั้งคำถามเรื่องปตท.จะต้องหมายรวมไป ถึงนโยบายรัฐและขุนนางพลังงานที่กำกับนโยบายเข้าไปด้วย เพราะทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออก
กรณีกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งเป็นเงินที่ประชาชนผู้ใช้รถต้องควักจ่ายทันทีที่ไปเติมน้ำมันเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนว่า นโยบายการพลังงานไทยที่เป็นอยู่ปัจจุบันเอาเปรียบประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นทั้งปตท.และขุนนางพลังงานยังใจดำขนาดที่เอาเงินประชาชนส่วน นี้ไปอุ้มบริษัทเอกชนและบริษัทย่อยของปตท. ให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีก
เฉพาะปมปัญหานี้เรื่องเดียวมันก็ซับซ้อนอยู่พอสมควรเพราะต้องเข้าใจภาพรวมของวงจรก๊าซธรรมชาติและตลาดก๊าซ LPG ของไทยเสียก่อน
อธิบายแบบภาษาชาวบ้านให้ง่ายขึ้นเราสามารถเปรียบก๊าซธรรมชาติที่เรา ขุดเจาะได้เปรียบเสมือนต้นสักต้นใหญ่ ซึ่งแม้จะไม่แปรรูปก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แต่มันไม่คุ้มกับการที่ตัดลง มา เราจึงต้องแปรรูปไม้สักส่วนที่ดีที่สุดคือลำต้นที่ตรง ส่วนที่เป็นเปลือก เป็นกิ่ง เป็นโคน เป็นรากก็แยกออกมาจนถึงก้านเล็ก ๆ ก็สามารถรวบรวมไปเป็นเชื้อเพลิงได้
ก๊าซธรรมชาติก็เช่นกัน หากเราต้องการใช้ประโยชน์กับสิ่งที่เราเจาะขึ้นมาได้ให้คุ้มค่าสูงสุดก็ต้องแยกก๊าซออกมาเป็นกลุ่มต่าง ๆ ที่ มีคุณค่าและราคาต่างกันไปเช่น มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน เรื่อยมาถึง L.P.G.หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว และเป็น ก๊าซโซลีนธรรมชาติ หรือ NGL (Natural Gas Liquid) ส่วนย่อยยังเป็นจารบี หรือน้ำมันหล่อลื่นได้อีกต่างหาก
ก๊าซธรรมชาติที่เราขุดเจาะจากทะเลไทยทุกวันนี้เข้าโรงแยกก๊าซแค่เพียงครึ่งเดียว คิดจากเลขกลม ๆ เรา ขุดวันละ 3 พันล้านลบ.ฟ. เข้าโรงแยกได้เพียง 1.7 พันล้านลบ.ฟ. ที่เหลืออีก 1.3 พันล้านลบ.ฟ. (เปรียบเหมือนต้นสักทั้งต้น) ถูกส่งเข้าโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยตรง
ปัจจุบันปตท.มีโรงแยกก๊าซ 5 หน่วย กำลังก่อสร้างหน่วยที่ 6 ที่มาบตาพุดซึ่งติดปัญหาการคัดค้านจากประชาชนแต่แท้จริงแล้ว ปตท.เองก็เคยมีท่าทีไม่อยากสร้างหน่วยที่ 6 ให้ทันการณ์มาก่อนหน้าบังเอิญที่ติดปัญหาเรื่องนี้อีก - เรื่องปัญหาหน่วยที่ 6 ต้องแยกมามองในอีกประเด็นหนึ่งก็เลยกลายเป็นขนมผสมน้ำยาไป
ตัดมิติอื่น ๆ ไม่ ก่อนหากเรามองในเชิงความคุ้มค่าของเจ้าของประเทศเป็นหลัก ถือว่าก๊าซที่ไม่ได้แยกแล้วส่งเข้าเผาเลยนี่มันไม่คุ้ม เปรียบเสมือนไม้สักทั้งต้นเข้าไปเผาฟืนนั่นแหละ สมมติว่าหากเราสามารถน้ำก๊าซที่ขุดเจาะได้ 3 พันล้านลบ.ฟ.มาเข้าโรงแยกก๊าซได้ทั้งหมด มีการคำนวณยืนยันแล้วว่า ผลผลิตก๊าซ LPG จะเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศอย่างแน่นอน
แต่ปัจจุบัน LPG ที่เราแยกออกมานั้นยังไม่เพียงพอ เราก็เลยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยปตท.นี่แหละนำเข้าหลัก ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ปัจจุบันเรามีการคุมราคาขาย LPG ในประเทศให้ถูกกว่าตลาดโลก
ปตท.เองในฐานะผู้นำเข้าแพง ต้องมาขายราคาต่ำเพราะถูกคุมราคาอยู่คงไม่สบายใจนัก รัฐก็เลยใช้วิธีนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากประชาชนทั้งหลายไปชด เชย
ฟังดูเป็นธรรมดีใช่ไหมครับ !!!
เพราะในเมื่อประชาชนอยากได้ก๊าซหุงต้มราคาถูกกว่าตลาดโลก ก็สมควรนำเงินประชาชนที่ถูกหักไปจากการเติมน้ำมันมาชดเชย
แต่แท้จริงเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักความเป็นธรรมอย่างที่เราท่านคิด
หลักฐานแรกเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ - มาจากกระทู้ถามของอ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.ปชป.ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ขอให้รัฐบาลตอบคำถามเกี่ยวกับปตท.หลายประเด็น
ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.สมเกียรติถามว่า “ตั้งแต่ปตท.แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนได้ขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ให้แก่ประเทศใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าไหร่ และเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่”
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงานได้ตอบคำถามนี้ลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ยอมรับโดยสรุปว่า ปตท.ได้ขาย LPG ให้กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2544 แรก ๆ มี สัดส่วนประมาณ 20% ของปริมาณการผลิตได้จากโรงแยกก๊าซในประเทศ แต่มาเมื่อปี 2550-2551 แม้จะมีการส่งขายไปต่างประเทศคือประเทศลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย แต่ก็เป็น LPG ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซในประเทศเหมือนปีก่อน หน้า
ขอขีดเส้นใต้คำชี้แจงอธิบายว่า LPG ที่ส่งขายต่างประเทศเมื่อปี 2551-2552 เป็น LPG ที่นำเข้า “เนื่องจากภาวะขาดแคลนในประเทศ” และมีบางส่วนเพื่อขายส่งออก โดยLPGที่นำเข้าและส่งออกนั้นปตท.ไม่ได้ค่าชดเชย
ในคำอธิบายนั้นยังมีความคลุมเครืออยู่บ้างในบางประเด็นที่ปตท.ควรตอบ คำถาม อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ต่อ นั่นคือคำถามว่า..การนำเข้าโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกนั้นแรกทีเดียวนำเข้ามา โดยอ้างการขาดแคลนในประเทศ การขนส่งมาในล็อตเดียวรวมกัน (เพื่อลดต้นทุนการค้า) และใช้ข้ออ้างนั้นส่งออกไปยังตลาดเดิมที่เป็นคู่ค้าเดิมก่อนปี 2551 หรือไม่ ?
ลองมาดูตัวเลขที่คนไทยผู้ใช้น้ำมันควรรู้กันสักตัวหนึ่ง ประกอบการทำความเข้าใจเพิ่มเติม
การเอาเปรียบจากกองทุนน้ำมัน
*เงินกองทุนน้ำมันของประชาชนไปอุ้มบริษัทของใคร ?
จากตารางมีวงกลมสำคัญ 3 จุดที่คนใช้น้ำมันน่าจะรู้ว่าเงินของเราที่ออกจากกระเป๋าในนามของการเติม น้ำมันรถหรือซื้อก๊าซหุงต้มในครัว
วงกลมแรก คือภาษีน้ำมัน ตั้งแต่ 7 บาทลงมาถึง LPG 2 บาทกว่า - นี่เป็นเม็ดเงินบำรุงหลวงโดยตรง
วงกลมสุดท้าย ก็คือค่าการตลาด ที่เก็บลิตรละ 5.7 บาทลงมาถึง 2 บาทกว่า เงินส่วนนี้ปั๊มรายย่อยบอกได้แค่บาทหรือบาทกว่า คำถามตัวโต ๆ ไป ยังบริษัทน้ำมันว่าส่วนต่างค่าการตลาดที่เหลือหายไปไหน เพราะในเมื่อปั๊มไม่ได้ก็เท่าบริษัทน้ำมันรับเงินหักจากประชาชนตรงจุดนี้ เข้ากระเป๋าเพิ่มเข้าอีกในนามของค่าการตลาด
ส่วนที่น่าสนใจและต้องอธิบายเพิ่มคือวงกลมที่สอง-ว่าด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
วงกลมที่สอง ที่เขียนว่า Oil fund จะต้องว่ากันยาวเพราะมีการซิกแซกเอาเงินของประชาชนไปอุ้มนายทุนและโรงงาน รวมถึงบริษัทผูกขาดที่อ้างชื่อรัฐวิสาหกิจนั่นก็คือ “กองทุนน้ำมัน” เมื่อก่อนกองทุนนี้เอาไว้พยุงราคาเวลาน้ำมันโลกแพงก็เอากองทุนนี้มาอุ้ม ประคองคนในสังคม แต่เดี๋ยวนี้ได้เปลี่ยนเป็น “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” สถานะของกองทุนนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ประมาณ 26,900 ล้านบาทซึ่งควักใช้ในกิจกรรมที่เหมือนจะช่วยให้การพลังงานไทยมั่นคง เช่นอุดหนุนราคาก๊าซNGV หรือเปลี่ยนเครื่องแท็กซี่ แต่ก็มีอีกชนิดหนึ่งที่ดูยังไงก็เหมือนกับควักกระเป๋าคนไทยไปช่วยปตท.และโรง งานเอกชน นั่นก็คือชดเชยค่าก๊าซ LPG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ล่าสุดเว็บไซต์ปตท.ก็เพิ่งประกาศว่าเพิ่งลงนามนำเข้า LPG ล็อตล่าสุดจาก Itochu Corporation หนึ่งในผู้นำเข้า LPG ของประเทศญี่ปุ่น โดย ปตท. ซื้อ LPG จากบริษัท Itochu จำนวน 3 เที่ยวเรือ เที่ยวเรือละ 44,000 ตัน ภายในเดือนกันยายน 2553
การนำเงินกองทุนน้ำมันที่คนไทยควักกระเป๋าจ่ายเพื่อหนุนการนำเข้า LPG จากต่างประเทศ (ที่แพงกว่าราคาขายในประเทศ) ดูเผิน ๆ เหมือนแฟร์ดี แต่ในรายละเอียดไม่ใช่ !
นั่นเพราะว่าสัดส่วนผู้ใช้ LPG ในประเทศไทยเป็นครัวเรือนและยานยนต์น้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหลาย เท่าตัว (ดูตารางประกอบ) ดังนั้นเงินที่เราเอาไปหนุนช่วยการนำเข้าที่ล้วนมาจากกระเป๋าผู้ใช้น้ำมัน ต้องแบ่งไปช่วยกลุ่มปิโตรเคมีและโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งไม่ได้ออกเงินในกองทุน น้ำมันแม้แต่น้อย
พูดภาษาชาวบ้านก็คือการยักยอกเงินกองทุนของประชาชนไปอุ้มบริษัทเอกชน และปตท. โดยการสมคบทางนโยบายกับกลุ่มขุนนางพลังงานนั่นเอง !
กรณีภาษีที่เก็บเป็นกองทุนน้ำมัน สามารถอธิบายให้กระชับขึ้นอีกครั้งได้ว่า
1.เงินกองทุนนี้มาจากประชาชน ขุนนางพลังงานร่วมกับปตท.ได้ใช้หนุนการนำเข้า LPG ที่ราคาแพงกว่าขายประเทศ แต่ประโยชน์จากราคาก๊าซถูกกลับตกอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีที่ไม่ ได้ควักกระเป๋าภาษีดังกล่าว
2.แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยสามารถผลิต LPG ได้มากพอหากมีโรงแยกก๊าซเพิ่ม เพราะที่ผ่านมาโรงแยกก๊าซปตท.(ผูกขาด) ทั้ง 5 โรงมีกำลังการผลิตประมาณ 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจากหลุมปัจจุบัน 3,146 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่ปตท.ยื้อเรื่องการสร้างหน่วยที่ 6 เอาไว้ พร้อม ๆ กันนั้นก็ผลักภาระการเป็นรัฐวิสาหกิจที่เห็นใจคนไทยด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศให้คนไทยควักกระเป๋าจากเงินกองทุน
3.การยื้อสร้างโรงแยกก๊าซทำให้ปตท.ยังมีกำไรสูงสุด ส่วนความรับผิดชอบที่ก๊าซ LPGขาด ก็มีเงินประชาชนมาชดเชยนำเข้า ปตท. ไม่ต้องเสียประโยชน์อะไรมากมาย
4.พร้อม ๆ กันนั้นกลุ่มปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์จากการนำเข้าราคาถูก ซึ่งก็รวมถึงกลุ่มปตท.เองด้วย
5.ประเด็นเรื่องโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ซึ่งปัจจุบันชะงักงันจากกรณีคำสั่งศาลปกครองที่มาบตาพุด มีกำลังการผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กับโครงการโรงแยกก๊าซอีเทน กำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี เป็นข้ออ้างให้ปตท. ไม่ต้องควักกระเป๋าลงทุนเพื่อผลิตก๊าซที่ขายแล้วไม่ได้กำไร (แต่ประชาชนเดือดร้อนจากต้องควักกระเป๋าเงินชดเชยไปตรึงค่าก๊าซเอาไว้) เรื่องนี้สามารถถกเถียงกันได้ยาวว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถสร้างได้ ทันแต่แท้จริงแล้ว ปตท. ได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนเรื่องการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซออกมาทางสื่อมวลชน นี่เป็นหลักฐานประกอบว่าปตท. ใช้เงื่อนไขลอยตัวก๊าซไปผูกกับการลงทุนเพื่อจะได้กำไรเต็มที่อย่างที่ตัว ต้องการจริง
เพราะหาก ปตท.ยังคงมีจิตวิญญาณของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้คิดกำไรเป็นสรณะ ผู้บริหารปตท.จะต้องไม่ออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้
สิ่งที่ประชาชนคนไทยอยากได้ยินที่สุดคือคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร ระดับสูงในแวดวงพลังงานโดยมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่มองประชาชนคนไทยเป็นศูนย์ กลาง
ผมขอฝันใหม่เปลี่ยนคำสัมภาษณ์นายประเสริฐในข่าวว่า “ปตท.จะเร่งสร้างโรงแยกก๊าซหน่วย 6และ 7 โดยเร็วเพราะก๊าซธรรมชาติที่เป็นสมบัติของชาติส่วนที่เหลือไม่ถูกนำมาใช้ ประโยชน์เต็มที่ เสมือนกับเอาต้นสักทั้งต้นไปเผาเป็นฟืน ควรจะแยกสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจออกมาเสียก่อน การสร้างดังกล่าวจะทำให้คนไทยไม่ขาดแคลน LPG และไม่ต้องนำเข้าจากต่างชาติแม้ว่าการลงทุนนั้นจะยังไม่คุ้มค่าเวลานี้แต่ เนื่องจากปตท.กำไรปีนึงเป็นแสนล้านสามารถถัวเฉลี่ยต้นทุนกำไรได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ”
ผมในนามพลเมืองไทยคนหนึ่งขอฝันใหม่จะได้ไหมว่า...ผู้บริหารปตท.และ ขุนนางพลังงานออกมาประกาศว่า กองทุนน้ำมันที่เก็บไปจะใช้เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคจริง ๆ ไม่ซิกแซ็กเบียดบังไปอุ้มธุรกิจเอกชน
ผมขอฝันใหม่ได้ไหมว่า..ผู้บริหารปตท.ประกาศว่า ระหว่างนี้ที่ประเทศไทยยังผลิต LPG ไม่เพียงพอ..หากจะนำเข้า LPG แต่ละล็อต จะแยกบัญชีและการขนส่งนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศตามที่ขาดแคลนจริง ไม่เยี่ยวปนฝนนำเข้าล็อตเดียวกันลดต้นทุนการขนส่งให้ต่ำสุดเพื่อค้ากำไรส่ง ขายต่างประเทศในนามของการนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
ขอแค่แฟร์กับผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับผู้ถือหุ้น..แค่นี้จะได้ไหมครับ !
| ||||||||||||||||||||||||
เมื่อทศวรรษกว่าก่อนระหว่างที่กระแส “แปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ไหลเข้ามาแรงพอ ๆ กับ “การเปิดเสรีการค้า” หากมีคนตั้งคำถาม หรือคัดค้านการเปิดเสรี หรือค้านการแปรรูปอาจจะถูกหาว่าเป็นพวกไม่ทันโลก ไม่ทันโลกาภิวัตน์ เป็นพวกตกยุค
พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ต่อต้านจะถูกมองอย่างง่ายดายว่าเห็นแก่ ประโยชน์ตัวเอง ไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมปรับปรุงตัวเองให้มีประสิทธิภาพ
นั่นเพราะว่ากระแสหลักของโลกในระยะ 2 ทศวรรษว่านี้ยืนอยู่บนกรอบแนวคิดที่เรียกว่าฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) และปรัชญาเศรษฐศาสตร์ทุนเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ซึ่งเป็นหัวใจความคิดของการจัดระเบียบโลกใหม่ที่เริ่มเมื่อปลายทศวรรษ 70 ทั้งยังเป็นจุดเริ่มขององค์กรการค้าโลก และการเปิดการค้าทวิภาคีแบบ FTA ที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าทำอยู่
ถ้ายังจำได้ลมหายใจของคนยุคนั้นจะหนีไม่พ้นจากคำว่า โลกาภิวัตน์ ค้าเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ
การแปรรูป ปตท. เมื่อปี 2544 เป็นผลพวงมาจากกรอบแนวคิดดังกล่าว แต่ที่ประหลาดยิ่งกว่าก็คือรัฐบาลทักษิณอ้างอิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจและตลาดเสรีมาครอบงำ ปตท. ทั้ง ๆ ที่โดยที่เนื้อแท้แล้วการแปรรูปครั้งนี้ไม่ได้อยู่บนรากปรัชญาทาง เศรษฐศาสตร์ตัวใดเลยแม้แต่น้อย
อ้างเสรีก็ไม่จริง - เพราะปตท.ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และใช้สิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม
อ้างว่าแปรรูปเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนแทนที่รัฐต้องควักก็ ไม่จริง - เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าเงินที่ได้มาเป็นส่วนน้อย เงินที่เสียไปให้คนนอกกลับเป็นก้อนใหญ่
เรามาดูตัวเลขผลพวงของการแปรรูปแบบทักษิณกัน…คุณรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ศึกษาพบว่า การแปรรูปทำให้ ปตท.ได้เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแค่ 28,083 ล้านบาท (ปี 2544 จำนวน 24,250 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 1,405 ล้านบาท และปี 2550 จำนวน 2,427 ล้านบาท) แต่ผู้ถือหุ้นใหม่เหล่านี้ได้รับส่วนแบ่งกำไรระหว่างปี 2544 - 2550 มากถึง 216,384 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสูงถึง 771% (ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน15ก.ย.2552)
ขออ้างเรื่องการแปรรูปเอาเข้าตลาดเพื่อระดมทุนจึงถูกกำไร 771% ที่แบ่งให้กับผู้ถือหุ้นเอกชนหักกลบลบหายไปสิ้น เหลือแต่เพียงคำถามตัวโต ๆ ว่าแปรรูปไปเพื่ออะไรกันแน่ !!!?
จนกระทั่งบัดนี้คนปตท.หลายคนก็ยังคงท่องคาถาเดิม ๆ ว่าแปรรูปเพื่อเอาเงินลงทุนมาขยายกิจการ ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องให้ประชาชนแบกรับแต่ตัวเลขส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ปรากฏออกมามันแสดง ให้เห็นชัดเจนว่า ได้น่ะมีส่วนที่ได้ แต่ได้กลับไม่คุ้มเสีย ! ใครจะรับผิดชอบ
คนที่ตั้งคำถามต่อแนวคิดการแปรรูปในยุคก่อนหน้ามีไม่น้อย แต่เสียงไม่ดัง เพราะกระแสโลกในห้วงเวลานั้นแรงกว่า
นักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ตรงกันข้ามกับ Neo-Liberalism และฉันทามติวอชิงตันอย่าง ศ.พอล ครุกแมน หรือ ศ.โจเซฟ สติกลิทซ์ ที่เราคุ้นชื่อกันดีในยุคนี้พูดเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ถึงผลลบของการเปิดเสรี และการแปรรูปก็ไม่มีใครฟังเท่าที่ควร จนกระทั่งล่าสุดที่โลกเริ่มเปลี่ยนไป
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งผ่านไปก็มีผู้ออกมาชี้ว่าเจ้าระเบียบโลกใหม่-ฉันทามติวอชิงตันก็คือต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้
กลายเป็นว่าวันนี้โลกเงี่ยหูฟังแนวคิดของครุกแมน สติกลิทซ์ มากขึ้นๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีผลกระทบโดยตรงกับแนวคิดกระแสหลักดั้งเดิมของการเปิดเสรี แบบ Neo-Liberalism
โลกทุกวันนี้กำลังตั้งคำถามตัวโต ๆ กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เราเคยเชื่อกันว่ามันคือหนทางแห่งความรุ่งเรือง ว่าที่แท้แล้วมันรุ่งเรืองหรือหายนะกันแน่ !!?
นึกถึงเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2539 ประเทศไทยยังเป็นสาวกที่ดีของฉันทามติวอชิงตันจึงก้มหน้าก้มตาแก้ปัญหาที่ เกิดขึ้นด้วยสูตรยาแรงของ IMF-ADB ตัดแบ่งประเทศให้เสือหิวตะวันตก ส่วนประเทศมาเลเซีย ไม่เดินตามแนวคิดครอบโลก เลือกใช้คำแนะนำของ ศ.พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ที่ยืนคนละฟากกับฉันทามติวอชิงตัน ที่สุดมาเลเซียก็ประคองตัวเองผ่านวิกฤตมาได้อย่างสวยงาม
ถ้ายังจำได้ตอนนั้นคนที่เชื่อในแนวทางแบบกระแสหลักวิจารณ์ครุกแมนและ มาเลเซียอย่างรุนแรงจนกระทั่งเหตุการณ์เป็นตัวพิสูจน์ตัวมันเองว่าของเขาถูก เราต่างหากที่เป็นฝ่ายผิดเพราะไปเชื่อ IMF/ADB
ศ.โจเซฟ สติกลิทซ์ เป็นผู้วิพากษ์แนวคิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่ามันคือการคดโกงที่ออกแบบมา เพื่อให้รัฐมนตรีในรัฐบาลกอบโกยผลประโยชน์ไปสูงสุด ดังนั้นการแปรรูปจึงไม่ใช่ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่รัฐ
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนนี้บอกว่าที่จะต้องห่วงมากที่สุดในการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คือการคอรัปชั่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการโกงกินทีละเล็กทีละน้อยเพราะมัน คือการทุจริตขนาดใหญ่
ศัพท์ที่สติกลิทช์ หยิบมาล้อ "Privatization" ก็คือ "Briberization"(การติดสินบน) ซึ่งคำ ๆ นี้กลายเป็นภาพด้านลบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั่วโลกไปแล้ว
โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่สังคมไทยล่ะ..ยังศรัทธาและเชื่อมั่นต่อแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามก้นใครอยู่อีกหรือ ?
ความคิดสำเร็จรูปของขุนนางพลังงาน
ย้อนมาดูเมืองไทยของเราว่ามีอะไรเปลี่ยนไปเหมือนที่โลกเปลี่ยนบ้าง. สิ่งที่เห็นก็คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแทบทุกระดับยังไม่ให้ความสนใจ หรือตั้งคำถามต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ผ่านมาว่า ให้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังหรือไม่แค่ไหนอย่างไร ?
สำหรับวงการพลังงาน-ดูเหมือนว่าแนวคิดหลักที่ครอบงำฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมือง ข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมา
พอมีคนวิจารณ์ว่าทำไมประเทศไทยขุดก๊าซขุดน้ำมันได้เองแล้วราคาขายยัง แพงอยู่ ? ก็จะมีผู้ออกมาอธิบายความด้วยชุดคำแบบสูตรสำเร็จทำนองว่า
1.ประเทศไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันเป็นประเทศผู้บริโภคไม่ใช่ประเทศผู้ผลิต
2.ไทยยังต้องอิงราคาขาย ณ โรงกลั่นสิงคโปร์เพราะเรานำเข้าน้ำมันมากลั่นและต้องส่งออกขายแข่งกับต่างประเทศ
3.ไม่ควรลดราคาขายในประเทศเพราะเดี๋ยวประชาชนจะใช้เยอะ ไม่ประหยัดพลังงาน
4.ประเทศไทยยังต้องพึ่งการเข้ามาลงทุนขุดเจาะจากบริษัทต่างประเทศ ยังต้องมีเงื่อนไขที่ดึงดูดการลงทุนมิฉะนั้นบริษัทต่างชาติจะไปลงทุนประเทศ เพื่อนบ้าน เราจะไม่มีรายได้ ดังนั้นอย่าคิดหวังจะให้ขอผลประโยชน์เพิ่มให้กับชุมชนหรือประชาชน
5.เราเก็บรายได้ภาษีและค่าภาคหลวงเหมาะสมแล้ว เพราะที่ไหน ๆ ก็คิดแบบนี้ จะโหดเกินมาตรฐานไม่ได้เพราะเดี๋ยวจะไม่มีคนลงทุน
6. และ ฯลฯ.......................
ชุดความคิดที่เป็นกระแสหลักของวงการพลังงานไทยในทำนองนี้ปรากฏออกมา ให้เห็นในหลายรูปแบบเพื่อตอบโต้ผู้วิพากษ์วิจารณ์และเสียงเรียกร้องจากผู้ บริโภค
ดังนั้นผู้บริโภคน้ำมันในประเทศไทย จึงต้องอยู่ใต้โครงสร้างตลาดน้ำมันที่พิลึกพิลั่น ประกาศกับโลกว่าเป็นตลาดเสรีแต่ไม่มีการแข่งขัน แล้วกำหนดราคาขายผูกกับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เพื่อจะได้บวกค่าใช้จ่าย จิปาถะเพิ่มเข้าไปขายให้กับผู้บริโภคคนไทยทั้ง ๆ ที่น้ำมันดิบบางส่วนก็มาจาก อ่าวไทยของเราเองไม่ต้องบวกค่าเดินทางขนส่งอะไรแต่บริษัทน้ำมันก็ยังบวกเข้า ไป
ตัวชี้วัดตลาดไม่เสรี-ราคากดขี่คนไทย ?
หากตลาดน้ำมันเสรีจริง จะต้องมีการแข่งขันระหว่างโรงกลั่น-บริษัทน้ำมันซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายหน้า ปั๊มแตกต่างกัน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ราคาขายหน้าปั๊มไม่ต่างกัน ไม่ได้สู้กันเรื่องราคาจริง ทั้งนี้เป็นเหตุมาจากปตท. ถือหุ้นในโรงกลั่นใหญ่ 5 โรงจากจำนวน 7 โรงของประเทศไทย แม้ว่าปตท.จะอ้างว่ามีบางโรงที่ถือหุ้นไม่มากไม่ได้ครอบงำกิจการหรือผูกขาด กิจการ แต่ในทางปฏิบัติโรงกลั่นใหญ่ 5 โรงร่วมมือกันกำหนดราคาในประเทศไปแล้ว
แท้จริงแล้วต้นทุนราคาน้ำมันที่โรงกลั่นในไทยผลิตได้ถูกกว่าราคา FOB สิงคโปร์ ผู้เกี่ยวข้องในวงการน้ำมันอ้างว่าเราต้องอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เพราะ เอาไว้อ้างอิงเพื่อการส่งออก นำเข้า และแข่งขันกับตลาดโลก
ราคาต้นทุนน้ำมันที่โรงกลั่นในไทยผลิตได้มาจากวัตถุดิบ 2 ส่วน ๆ แรกต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาซึ่งมักจะอ้างอิงราคาน้ำมัยดิบดู ไบ อีกส่วนหนึ่งมาจากอ่าวไทยเอง กำลังการผลิตของ 7 โรงกลั่นในไทยล้นความต้องการภายในประเทศ ดังนั้นจึงต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นแล้วออกไปต่างประเทศ และประเทศไทยก็ได้ค่ากลั่นเป็นกำไร
ราคาน้ำมันที่ส่งไปขายต่างประเทศต้องอิงราคา FOB สิงคโปร์ ถามว่าเหตุใดคนไทยต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
นั่นเพราะว่าน้ำมันดิบส่วนหนึ่งมาจากอ่าวไทยของเราเอง นำมาผลิตในโรงกลั่นประเทศไทยซึ่งเมื่อผลิตออกมาแล้วมีต้นทุนที่ถูกกว่า FOB สิงคโปร์อย่างแน่นอนเพราะน้ำมันบ้านเราเหลือต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ การส่งออกไปขายต่างประเทศต้องทำราคาให้แข่งขันได้
แต่การที่เราไปอิงราคาสิงคโปร์ดังกล่าวเป็นช่องทางให้บริษัทน้ำมัน บวกค่าใช้จ่ายจิปาถะเสมือนมีการขนส่งจริงจากสิงคโปร์มาไทย (ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่มีการขนส่ง) แล้วกลายเป็นราคาขายปลีกในไทย
ราคาขายปลีกในไทยจึงเป็นราคาที่บวกเพิ่มจาก FOB สิงคโปร์ โดยโรงกลั่นและบริษัทน้ำมันได้กำไรจากส่วนต่างดังกล่าวในจำนวนมากกว่าที่ควร จะได้
หากมีการแข่งขันระหว่างโรงกลั่นจริง น้ำมันขายปลีกอาจจะลดลงมา แต่ปรากฏว่าในเมื่อไม่มีการแข่งขันจริง ดังนั้นราคาน้ำมันที่ขายคนไทยจึงพิลึกพิลั่นในนามของตลาดเสรี
จริงอยู่ที่เมื่อ 2 ทศวรรษก่อนประเทศไทยเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันที่ไม่มีวัตถุดิบของตนเอง ในยุคนั้นเทคโนโลยีการขุดเจาะยังไม่ทันสมัยและบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างมุ่งไปที่ แหล่งน้ำมันขนาดยักษ์ของโลก ทำให้เราต้องพึ่งพาการลงทุนและเทคโนโลยีต่างชาติ
แต่โลกวันนี้มันเปลี่ยนไปมากมาย
ประเทศไทยก็ยังคงยึดคำอธิบายแบบเดิม ๆ ว่าเรามีมาตรการที่เหมาะสมแล้วกับการเก็บภาษีน้ำมัน
เมื่อมีผู้ยกตัวอย่างประเทศซ้ายจัดอย่างเวเนซูเอล่าที่ประธานาธิดีฮู โก้ ชาเวซต่อรองผลประโยชน์กับบริษัทน้ำมันใหม่ให้รัฐได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็ม หน่วยก็จะมีคนแก้ตัวให้แทนว่าเป็นกรณีเฉพาะแต่สำหรับเมืองไทยยังต้องแข่งขัน กับเพื่อนบ้าน ถ้าเก็บมากไปจะไม่มีคนมาลงทุนเขาจะไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหมด
แท้จริงแล้วการแบ่งผลประโยชน์ขุดเจาะน้ำมันให้รัฐ 70-80% ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับโลกยุคใหม่ ข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งเมื่อ 4 เดือนก่อนรายงานว่า บริษัทเปโตรนาสของมาเลเซียเพื่อนบ้านเราเข้าไปลงทุนขุดเจาะน้ำมันในเวเนซู เอลา Petronas enters into major oil venture in Venezuela แต่ก็น่าแปลกที่ประเทศไทยยังคงมีคนท่องคาถาว่าจะต้องเก็บภาษีจากบริษัทต่าง ชาติให้เป็นมาตรฐานเดียวกับเพื่อนบ้านมิฉะนั้นจะไม่มีคนมาลงทุนอยู่ต่อไป เช่นเดิม
หรือแม้แต่ประเทศอเมริกาเองก็เหมือนกัน รัฐคาลิฟอเนียเคลื่อนไหวขอขึ้นภาษีขุดจาะน้ำมันในส่วนของรัฐเมื่อปีที่แล้ว แม้กระทั่งวุฒิสมาชิกก็ยังเคลื่อนไหวเรื่องนี้กับเขาด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้ภาษีน้ำมันของคาลิฟอร์เนีย สูงสุดในบรรดารัฐผู้ผลิตน้ำมัน แต่เขาก็ยังจะขึ้นโดยไม่เห็นจะกลัวว่าไม่มีนักลงทุนเข้าในรัฐของเขาต่อไป
วงการน้ำมันโลกในศตวรรษใหม่ดูไปแล้วคล้าย ๆ กับวงจรชีวิตของฉันทามติวอชิงตันนั่นก็คือเป็นยุคขาลงและมีผู้รู้ทันกับแนว คิดกระแสหลักดั้งเดิมมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ เปโตรนาสของมาเลเซียเพื่อนบ้านเราเป็นบรรษัทน้ำมันของรัฐที่สามารถทำให้ราคา ขายปลีกในประเทศต่ำพอจะบริการประชาชนได้โดยไม่ติดข้อปัญหาว่า “ถ้าน้ำมันถูกคนจะไม่ประหยัด” และเชื่อไหมว่าวงการน้ำมันโลกยกให้เปรโตนาสกลายเป็น 1 ใน 7 กิจการน้ำมันในทศวรรษใหม่ที่จะขึ้นมาท้าทาย 7 ยักษ์โลกตะวันตกเดิม
กิจการน้ำมันน้องใหม่มาแรงถูกขนานนามว่า “The new seven sisters” ที่กำลังถูกจับตามองว่า อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในขั้วอำนาจพลังงานโลกของศตวรรษนี้ เพราะนอกจากจะควบคุมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไว้เกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณทั่วโลกแล้ว ยังครอบครองแหล่งพลังงานทั้งที่สำรวจมากกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานทั่วโลก ประกอบด้วย ซาอุดี อะรัมโก ของซาอุดีอาระเบีย ,กาซปรอม ของรัสเซีย ,ซีเอ็นพีซี ของจีน ,เอ็นไอโอซี ของอิหร่าน ,พีดีวีเอสเอ ของเวเนซุเอลา ,เปโตรบราส ของบราซิล และเปโตรนาส ของมาเลเซีย
บริษัทเหล่านี้กำลังจะเป็นหัวขบวนการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดกระแสหลัก ที่ครอบงำวงจรพลังงานโลกอยู่ ... นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่ใกล้ตัวคนไทยยิ่ง เพราะประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์การพลังงานที่สำคัญจุดหนึ่งของ เอเชีย
กิจการพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและปัญหารัฐศาสตร์ชาติ แทบทุกประเทศในโลกไม่ว่าชาติมหาอำนาจหรือด้อยพัฒนาต่างถือว่ากิจการพลังงาน คือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปกป้องผลประโยชน์ชาติและประชาชน คำถามตัวโตย้อนกลับมาถามคนไทยว่า กิจการด้านพลังงานของไทยนั้นเป็นไปตามสิ่งที่ว่าหรือเพื่อประโยชน์ของคน กลุ่มใดกันแน่
*การแปรรูปปตท. เมื่อปี 2544 เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ชาติและประชาชนหรือผลประโยชน์ใคร ?
*ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติได้จากกิจการขุดเจาะน้ำมันสมน้ำสมเนื้อและ สมกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการพลังงานของโลกแล้วหรือยัง ?
*การควบคุมการขุดเจาะและผลิตพลังงานมีช่องโหว่ รูรั่ว หรือเหมาะสมดีแล้วอย่างไร เรื่องนี้คนท้องถิ่นจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่รู้จักแท่นขุดเจาะในอ่าวไทยทราบกันดีว่า แท่นขุดเจาะบางแห่งนำน้ำมันลงเรือขนส่งโดยไม่มีหลักประกันใดเลยว่าน้ำมันดิบ ดังกล่าวเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใด เป็นการเดินทางโดยถูกต้องหรือลักลอบไม่จ่ายภาษีและค่าภาคหลวงหรือไม่อย่างไร ? แม้กระทั่งพนักงานคนไทยเองก็ยังไม่เคยล่วงรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ขณะที่หน่วยงานควบคุมอย่างเช่น ตำรวจน้ำ ทหารเรือ มีส่วนในการควบคุมดูแลเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงไร ?
*การเปิดให้สัมปทาน การต่ออายุสัญญาสัมปทาน มีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร ? ระบบการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทันการณ์หรือไม่ ? จริงหรือไม่ที่ขุนนางพลังงานยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปล่อยผีบริษัทขุดเจาะน้ำมันล็อตใหญ่และต่ออายุสัญญาสัมปทานแบบผิดปกติ
*ระบบการตรวจสอบของรัฐบาลไทยมีประสิทธิภาพเพียงใดเพื่อพิสูจน์ทราบ ว่า บริษัทเอกชนที่เข้ามาทำมาหากินในแปลงสัมปทานของไทยเป็นกิจการบังหน้าของ ทุนกลุ่มใด หรือประเทศใด หรือมองแค่เพียงขอให้จดทะเบียนถูกต้องก็เข้ามาทำมาหากินได้ โดยไม่ได้มองมิติด้านความมั่นคงมาประกอบการพิจารณา
*นโยบายของบริษัทน้ำมัน ไม่ว่าปตท. หรือบริษัทต่างชาติที่มีต่อสังคมและท้องถิ่น การตอบแทนต่อท้องถิ่นเพียงพอเหมาะสมแล้วหรือยัง ?
*นโยบายพลังงานที่ยังเอาเปรียบประชาชน และผู้บริโภค ให้ประโยชน์บริษัทเอกชนและพวกพ้องจะต้องได้รับการแก้ไขเช่นไร โดยใคร?
*ที่สุดแล้วก็มาถึงคำถามต่อนโยบายการพลังงานของประเทศว่ายืนอยู่บนผล ประโยชน์ของชาติและประชาชนแล้วจริงหรือ ? จะทำให้การพลังงานเป็นหัวหอกของความจำเริญงอกงามโชติช่วงชัชวาลดั่งที่คน รุ่นก่อนวาดฝันแล้วได้จริงหรือไม่ ?
คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะที่ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถตั้งขึ้น และควรจะมีช่องทางในการมีส่วนต่อกิจการที่ใกล้ตัวที่สุดอีกอย่างหนึ่ง
กิจการด้านพลังงานเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยรวมของชาติ เป็นเรื่องความมั่นคงและการช่วงชิงระดับโลก เป็นผลประโยชน์ที่ตีเป็นตัวเงินมหาศาล เป็นกิจกรรมที่ยืนอยู่บนทรัพยากรส่วนรวมของคนในชาติ และเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนแต่ละคนโดยตรง
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคนทั่วไปควรรับรู้ วิจารณ์ เสนอแนะ แสดงความเห็นได้ใช่หรือไม่ ?
ถ้าใครคิดว่าไม่ใช่...ขอให้กลับไปคิดใหม่ !!!!
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น