สิบสงสัย ๔/ใครคือชนชั้นกรรมาชีพยุคใหม่?
ชนชั้นกลางกับสถานะพลังทางสังคมยุคใหม่
โดย Tan Rasana
หลังการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายโลกาภิวัตน์ได้สยายปีกการควบคุมระบบสังคมโลกทั้งระบบ ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทุนนิยมก้าวเข้ามาถึงจุดหนึ่งที่สถาบันเงินและอุตสาหกรรมการเงินมี อำนาจผูกขาดเป็นจักรพรรดิแห่งทุนเหนือธุรกิจอุตสาหกรรมภาคการผลิตจริงอื่นใด ทั้งหมด การแปรเปลี่ยนรูปแบบการขูดรีดครั้งมโหฬารได้เกิดขึ้นในรูปของดอกเบี้ยและการ เก็งกำไร ชั้นชนในสังคมตั้งแต่ กรรมกร ชาวนา นายทุนน้อย ถูกหลอมรวมกันเป็นชนชั้นเดียวคือชั้นที่ถูกขูดรีดในลักษณาการเดียวกัน การขูดรีดแบบศักดินาเก็บกินค่าเช่านาได้หายไปจากของสังคมไทย การขูดรีดแรงงานในโรงงานแบบเก่าค่อยๆเลือนหายไป การปรากฏตัวของชนชั้นกรรมาชีพยุคใหม่ที่ไม่ได้ทำงานเฉพาะในโรงงาน หากพวกเขาขายทั้งแรงงานกายแรงงานสมอง เพื่อปลดโซ่ตรวนของหนี้สินอันเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินระบบสินเชื่อ เครดิตและการเช่าซื้อ ในตลาดแรงงานทุกที่ที่มีบรรษัท บริษัท โรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก แม้กระทั่งในภาคเกษตรกรรมเอง ทุนผูกขาดภาคการเกษตรขนาดใหญ่ก็ได้ใช้รูปแบบวิธีการดังกล่าวเช่นกัน การคุกคามของทุนอุตสาหกรรมการเกษตรระดับโลกต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศยากจน เริ่มมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุน แหล่งพันธุกรรมพืชและสัตว์จากทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่มีลักษณะข้ามชาติ
ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นปริศนาของนักติดทางสังคมมาเนิ่นนาน ไม่เคยมีคำจำกัดความที่ตายตัวลงไปสำหรับชนชั้นนี้ว่า พวกเขาดำรงสถานะอย่างไร กุมการผลิตได้สัดส่วนเท่าไหร่ หรือถือใบหุ้นเอาไว้กี่ใบ ทฤษฎีการปฏิวัติแบบเดิมๆเรียกชนชั้นนี้ว่า ชนชั้นนายทุนน้อย ท่าทีทางการเมืองก็คือ โลเล เสรี เย่อหยิ่ง ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ก็พอจะรู้ว่า นี่คือมโนทัศน์ของการปฏิวัติประเทศจีนที่มีต่อชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเติบโตจากชนชั้นโดยตนขึ้นเป็นชนชั้นเพื่อตนหลังการปฏิวัติ อุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง และมีลักษณะพิเศษทางสังคมที่แตกต่างจากชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนา เนื่องจากพวกเขาเป็นส่วนกลางของสังคม จำนวนของชนชั้นกลางจึงมีมากที่สุดในสังคม(ภายหลังเริ่มมีแนวคิดว่าด้วยการ หายตัวไปของชนชั้นกลาง) ถ้าหากอ้างอิงทฤษฎีสีวัตถุธาตุเอาแค่เพียงให้เกิดมโนภาพชนชั้นกลาง การประสมสีตรงกันข้าม(true contrast)ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือมากน้อยต่างกัน สีที่ได้มาใหม่ก็คือสีกลางหรือสีเทา(gray) หากนำมาเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์สังคม ชนชั้นกลางคือชนชั้นที่อยู่ระหว่างชนชั้นสูง(ผู้กุมปัจจัยการผลิต)กับคนชั้น ล่าง(ผู้ขายแรงงาน)พวกเขาก็มีสถานะเหมือนกับอยู่ในพื้นที่สีกลางหรือสีเทา ชนชั้นกลางมักจะถูกกล่าวหาจากท่าทีทางการเมืองของเขาว่า เป็นพวกทำอะไรครึ่งๆกลางๆอันเนื่องมาจากสถานะที่มือก็เอื้อมไม่ถึงฟ้า ตีนก็ไม่ติดดิน แต่นี่เป็นคำถากถางที่ชนชั้นกลางผู้เป็นปัญญาชนไม่อาจรับได้
อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดเกี่ยวกับคนชั้นกลางที่น่าสนใจของนักคิดสังคมนิยมใหม่หรือแนว มาร์กซิสต์ใหม่ อยู่สี่แนวคิดก็คือ แนวคิดของแนวคิดของคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ยุคทศวรรษที่ ๑๙๗๐ ที่เชื่อว่า ในสังคมสมัยใหม่จะมีชนชั้นอยู่สองชนชั้นเท่านั้น(ไม่มีชนชั้นกลาง)นั่นก็คือ ชนชั้นผูกขาด(นายทุน-นักบริหารระดับสูง)และชนชั้นกรรมาชีพอุตสาหกรรม แนวคิดนี้นับรวมบรรดามืออาชีพผู้บริหารระดับสูงเข้าไปเป็นชนชั้นนายทุนด้วย
แนวคิดที่สอง เป็นแบบจำลองของ Erik Olin Wright ที่ว่า สังคมสมัยใหม่ประกอบไปด้วยสองชนชั้นใหญ่(ทุนกับแรงงาน) ในขณะเดียวกันก็มีชนอีกกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลางหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งจะผูกพันกับนายทุนและอีกส่วนหนึ่งจะมีชีวิตที่ตกตำอยู่กับแรง งาน และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ เช่นนายทุนน้อย นักธุรกิจขนาดเล็ก ฯลฯ แต่แนวคิดนี้ยังยึดถือโครงสร้างสองชนชั้นเป็นหลักในการวิเคราะห์คือนายทุน กับแรงงาน
แนวคิดที่สาม เป็นแบบจำลองของ Harry Braverman (ค.ศ. ๑๙๗๔)ซึ่งมีความเห็นว่า ในยุคทุนนิยมผูกขาด ทุนได้แผ่อิทธิพลเข้าไปในกิจกรรมของการค้า การบริการและงานอาชีพของ คนงานคอปกขาว ((white collar)หลายๆประเภท ในขณะเดียวกัน การจัดระบบงานแบบใหม่และคอมพิวเตอร์มากขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่มีความ รู้เป็นอย่างมาก เพราะความรู้ความชำนาญที่เคยรำเรียนและฝึกฝนมาไม่สอดคล้องกับมาตรฐานงานใหม่ เสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ “ชนช้นกลางรุ่นใหม่”ซึ่งเป็นแรงงานคอปกขาว จึงแปรสภาพไปเป็นแรงงานชนขั้นกรรมาชีพแบบใหม่ ภาวะแรงงานแบบ ต่ำกว่าเกณฑ์Unqualified หรือ สูงกว่าเกณฑ์ Overqualified เช่นนี้มีผลให้แรงงานที่มีการศึกษาหลายประเภทมีเงินเดือนและรายได้ต่ำกว่า แรงงานฝีมือของชนชั้นกรรมาชีพเสียอีก ในโลกสมัยใหม่จึงเป็นการไม่เหมาะสมแล้วที่จะแยกระหว่างการใช้แรงงานกายและ แรงงานสมอง
แนวคิดของกลุ่มนี้เน้นสิ่งที่เรียกว่า proletarianization of labor power ของกลุ่มชนที่อยู่ตรงกลาง(ทุนกับแรงงาน)ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องอาศัยคน กลุ่มใหม่หรือแรงงานชนิดใหม่ๆที่เข้าใจเทคโนโลยีเพื่อประสิทธิภาพของการสะสม ทุนและธำรงรักษาระบบทุน
แนวคิดสุดท้ายให้ความสำคัญอย่างสูงกับ “ชนชั้นกลาง”ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ตัวอย่างที่ดีก็คือแนวคิดของ Poulantzas ซึ่งย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่ากลุ่มคนที่อยู่ระหว่างกลางได้อยู่ในโครงสร้างชนชั้น แรงงารนที่เรียกว่า แรงงานคอปกขาวไม้ได้สังกัดทั้งชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงาน พวกเขาคือชนชั้นกลางอย่างแท้จริง Nicos Poulantzas ใช้คำว่า New Petty Buorgeoisie หรือพวกชั้นกลางที่เกิดใหม่ ชนชั้นนี้มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการคือ
ทางด้านเศรษฐกิจ พวกเขาถูกแยกออกจากความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและพวกเขาก็ไม่ใช่แรงงานที่ทำการผลิตด้วย
ทางด้านการเมือง พวกเขามีอำนาจควบคุมดูแลแรงงานที่ทำการผลิต
ทางด้านอุดมการณ์ พวกเขามีอำนาจผูกขาดความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของเศรษฐกิจและแรงงาน
สรุปแล้ว ชนชั้นกลางก็คือกลุ่มชนทุกอาชีพที่ไม่ได้ทำการผลิด(แรงงานกาย)ใช้แต่ความคิด และมีหน้าที่ดูแลกำกับควบคุม หน้าที่หลักคือเป็นคนกลางในการสร้างความชอบธรรมของระบบทุนนิยมทางด้านการ เมืองและอุดมการณ์(อ่านทฤษฎีชนชั้นกลาง ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ หนังสือชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย)
ในโลกยุคหลังการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ด้านหนึ่งการรวมศูนย์กำไรและการผูกขาดทำให้ชนชั้นนายทุนผู้ด้อยสมรรถภาพ ในการแข่งขันล้มละลายและค่อยๆสลายตัวลงมาเป็นชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่องแล้ว เทคโนโลยียุคใหม่ที่เครื่องยนต์กลไกและคอมพิวเตอร์ได้เข้าไปเบียดขับกรรมกร ผู้ด้อยทักษะออกจากโรงงาน พวกเขาต้องเร่งออกมาเพิ่มพูนทักษะให้กับตนเอง ด้วยการส่งลูกหลานเข้าเรียนหลักสูตรบริหารและการบัญชี เพื่อมุ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการ และทำให้แรงงานเกิดใหม่เหล่านี้ถูกดูดดึงเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการที่เติบโต ขึ้นรองรับการขยายตัวอย่างไร้ขีดจำกัดของการแข่งขัน นัยหนึ่ง-อุตสาหกรรมบริการเช่นการบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน ไฟแนนซ์และลิสซิ่ง บริการแรงงานรับจ้างในห้างสรรพสินค้า บริการแรงงานเพื่อการสื่อสารคมนาคมและขนส่ง บริการงานโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อการกระตุ้นยอดขาย ฯลฯ ได้ช่วยให้การเติบโตของทุนนิยมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่นัยที่สำคัญคือ มันได้ช่วยปรับสมดุลระหว่างผลผลิตที่ล้นเกินด้วยการกระตุ้นความต้องการส่วน เกินของสังคมอย่างหนักหน่วงให้สามารถรองรับผลผลิตล้นเกินจำนวนมหาศาลเอาไว้ ให้ได้ อุตสาหกรรมบริการกลายเป็นเสาเอกต้นใหม่ที่เข้าไปเสริมทดแทนเสาเอกเดิมที่นำ มาซึ่งกำไรคือการขูดรีดแรงงานส่วนเกินและการทุ่มทำตลาดและขายผลผลิตที่มี ลักษณะอนาธิปไตย ที่จะนำหายนะมาสู่ระบบทุนโดยรวม
กรรมกรที่ออกจากโรงงานมาผู้ชายผูกเนคไทผู้หญิงใส่สูทเหล่านี้เป็นกองทัพชน ชั้นกรรมาชีพใหม่ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า(Modern Trade Industry)และหน่วยบริการต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนถูกยกฐานะจากชนชั้นกรรมกรไป เป็นชนชั้นกลางด้วยภาระหน้าที่และแรงจูงใจโดยวัฒนธรรมหน้าที่ที่พวกเขา ปฏิบัติอยู่ พวกเขาต้องฝึกทักษะในการให้บริการ ฝึกภาษาพูดที่นอบน้อมแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นเร้าให้เกิดการบริโภคเพียงแค่ มีผู้คนเดินผ่านหรือเพียงได้ยินสัญญาณการเปิดประตูร้านค้าหรือแม้กระทั่ง แสดงเจตนาจะเก็บเงินทอนเอาไว้โดยแลกกับสินค้าอื่นๆที่ลูกค้าไม่ต้องการในนาม ของการบริการ
แรงงานส่วนเกินส่วนหนึ่งของกรรมกรในโรงงานถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและ คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ที่เหลือของพวกเขาก็คือแรงงานที่เต็มไปด้วยทักษะและได้รับการแบ่ง ปันหุ้นให้ดูเสมือนว่าเป็นเจ้าของร่วม อันเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้เขารับใช้ระบบด้วยจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของ
การ มีและดำรงอยู่ของตลาดหุ้น/ตลาดทุนเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเด็นความสัมพันธ์ ทางการผลิต ทำให้กรรมาชีพผู้ขายแรงงานกลายเป็นผู้มีสมบัติในรูปใบหุ้น แต่ขาดการตระหนักว่าหุ้นที่กระจัดกระจายอยู่ในพวกเขาเหล่าแมลงเม่านั้นเป็น พื้นที่หรือหน่วยกระจายความเสี่ยง และอำพรางวิธีการขูดรีดที่ซับซ้อนขึ้น อีกนัยหนึ่ง มันได้ลดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าของปัจจัยการผลิตที่แท้กับแรงงานในรูปความ สัมพันธ์ทางการผลิตที่เอารัดเอาเปรียบแบบเดิมลงไป เป็นการผ่อนคลายความขัดแย้งระหว่างด้านตรงข้ามทั้งสองให้ยังคงตรึงเอาไว้ อยู่ในด้านที่พึ่งพามากกว่าด้านที่ขัดแย้งกัน ยืดระยะเวลาการดำรงอยู่ของระบบทุนออกไปดูคล้ายไม่สิ้นสุด
กรรมาชีพหรือชนชั้นผู้ไร้สมบัติในความหมายเดิม ถูกทำให้มี “สมบัติเสมือน”ในโลกเสมือนจริงของระบบทุนดิจิทัล เพียงแต่สมบัติที่ตนเองได้รับมาใหม่นั้น ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตที่แท้จริง เพราะปัจจัยการผลิตจริงอันได้แก่โรงงาน(ผู้ควบคุมโรงงาน)ปัจจัยการผลิต(ผู้ ควบคุมปัจจัยการผลิต)ก็คือระบบการบริหารจัดการ นโยบายและกำไรสุทธิของบริษัทที่กรรมาชีพใหม่ได้ปันผลมาอย่างกระเส็นกระสาย ในยุคนี้เงินได้กลายมาเป็นปัจจัยการผลิตเป็นเครื่องจักรเสมือน อำนาจเงินก็คืออำนาจที่ใหญ่ที่สุดและก็คือผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่ แท้จริง
หากใช้หลักคิด “วิภาษวิธีของแรงงาน”น่าจะทำให้เราค้นคว้าหาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกาย กับแรงงานสมองได้ว่า แรงงานทั้งสองไม่สามารถแบ่งตัดกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผู้มีอาชีพใช้แรงงานสมองเป็นหลักก็ย่อมต้องมีแรงงานกายจำนวนที่แน่นอนรองรับ เช่นเดียวกันผู้ใช้แรงงานกาย หากไม่มีแรงงานสมองๆรองรับก็ไม่ต่างจากเครื่องจักร จากข้อคิดนี้ อาจจะสร้างโมเดลชนชั้นกลางขึ้นมาได้ดังนี้
การจัดแบ่งสถานการณ์ใช้แรงงานระดับสูง(A)ที่ใช้แรงงานสมองถึงร้อยละ ๗๐-๘๐ จะเป็นแรงงานชั้นสูง แรงงานเหล่านี้คือผู้มีอาชีพรับจ้างระดับผู้บริหาร(อาชีพ)ที่ขายความรู้ การตัดสินใจและไม่ใช่เจ้าของปัจจัยการผลิต แรงงานระดับนี้หากจะเรียกว่าเป็นกรรมาชีพใหม่ก็ย่อมได้ แต่พวกเขาผูกติดกับระบบ เป็นกำลังสำคัญในการสร้างและทำให้ระบบทุนเดินไปข้างหน้าได้ ท่าทีทางการเมืองของเขาก็คือท่าทีที่ไร้สำนึกทางชนชั้น เพราะผลประโยชน์ที่เขาได้รับจากระบบนั้นเพียงพอและเหลือเฟือ ชนชั้นกลางระดับสูงเหล่านี้จะกลายเป็นมาตรฐานของชนชั้นกลางใหม่ เป็นต้นฉบับเป็น ตัวอย่าง(Idol)ให้กับชนชั้นกลางทั่วไปที่มีค่าตัวแพงสำหรับระบบทุน
ชนชั้นกลาง-กลาง (B)จะมีทวิลักษณะที่ตัดกันรุนแรงและพร้อมที่จะเลือกข้างใดข้างหนึ่งที่ตนเอง ได้รับประโยชน์สูงสุด ในสถานการณ์ที่บนหรือล่างแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน ระดับนี้เองที่ถูกกระทบกระเทียบด้วยวลีที่ว่า โลเล เสรี เย่อหยิ่ง
ชนชั้นกลาง-ล่าง(C) ระดับนี้ใช้แรงงานกายเป็นหลัก แรงงานระดับนี้เป็นแรงงานที่เครื่องจักรทดแทนไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องใช้ฝีมือหรือการตัดสินใจของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ชนชั้นนี้ก็คือชนชั้นแรงงานแบบดั้งเดิม เป็นกรรมาชีพดั้งเดิม แต่ภายหลังมักถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมใหม่ๆจากนอกโรงงาน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในระบบทุน อุตสาหกรรมการเงินทีเข้าไปมีส่วนในชีวิตแรงงานประจำผู้มีรายได้ต่ำแต่มั่นคง เหล่านี้ จะเป็นตลาดใหญ่ของบัตรเครดิตและการขูดรีดแบบเช่าซื้อหลังจากถูกขูดรีดในโรง งาน ด้วยระบบดอกเบี้ยที่เป็นการขูดรีดจากในอนาคต เป็นชนชั้นที่ถูกขูดรีดซ้ำที่หนักหน่วงที่สุด มีสถิติหนี้เสียในอุตสาหกรรมการเงิน คนเหล่านี้มีหนี้เสียเรื่องบัตรเครดิตน้อยที่สุด เพราะต้องรักษาความมั่งคงของตัวเองที่ถูกผูกติดกับเครื่องจักรเอาไว้ เคยมีปรากฏการณ์การประท้วงของแรงงานเหล่านี้เพราะต้องการให้เพิ่มเวลาการทำ งาน(Over Time)ให้มากขึ้นเพื่อรายได้ที่มากขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่หยิบยืมจากอนาคตในรูป แบบของสัญญาเช่าซื้อ
กล่าวโดยสรุป ชนชั้นกลางนับลงมาตั้งแต่กลาง-กลางจะมีแนวโน้มสลายตัวลงมาเป็นชนชั้น กลาง-ล่าง และหลอมไหลเข้ากับกรรมาชีพแบบดั้งเดิมที่ยังตกค้างอยู่ในสังคมประเทศกำลัง พัฒนาซึ่งถูกรูปแบบการถูกขูดรีดที่ซ้ำซ้อนจากในโรงงานสู่นอกโรงงาน จากปัจจุบันสู่การขูดรีดจากอนาคต จากการขูดรีดแรงงานส่วนเกินสู่การขูดรีดความต้องการส่วนเกิน ด้วยกลไกทางการเงินและดอกเบี้ย ชนชั้นกรรมาชีพใหม่เหล่านี้จะมีพลังพิเศษอันน่าสนใจก็คือ พวกเขาอยู่กับเทคโนโลยี มีความรู้ความสามารถในการใช้พลังสื่อและการสื่อสารที่เป็นอาวุธของการต่อสู้ ทางชนชั้นยุคใหม่ พวกเขาจะมีบทบาทเป็นกองหน้าที่ตื่นรู้ ของกรรมาชีพใหม่และเก่าทั้งชนชั้นที่ยังหลับใหลจากการถูกมอมเมาทางวัฒนธรรม ของทุนอันเนื่องมาจากปรีชาญาณของพวกเขา.
/การขูดรีดโลกยุคใหม่เป็นอย่างไร?
จากจำเป็นต้องกิน จำเป็นต้องใช้สู่จำเป็นต้องมี การสูบกินผ่านความสมัครใจ
นักคิดของระบบทุนนิยมสร้างกลไกทางจิตวิญญาณขึ้นมากระตุ้นการบริโภค เพื่อรองรับการผลิตที่ล้นเกินอันเนื่องมาจากการแข่งขันผลิตจนเกินความต้อง การจริงของตลาด (Over Supply)ทำให้การบริโภคเป็นการบริโภคเชิงสัญญะ เพื่อสร้างตลาดใหม่ที่มอมเมาขึ้นดูดซับเอาสิ่งล้นเกิน เป็นการข้ามยุคจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของแรงงาน มาสู่ยุคของการสูบกินความต้องการส่วนเกินของผู้บริโภค คือจาก “ความจำเป็นต้องกิน จำเป็นต้องใช้สู่จำเป็นต้องมี”
ฌอง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard)* เป็นนักคิดวิพากษ์สังคมบริโภคนิยมที่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาแนวคิดมาร์กซและ เองเกลส์และความเป็นนักสังคมวิทยา เขาเป็นนักคิดรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีความหมายเพียง สินค้า หากแต่มุ่งค้นคว้า “นัยยะ”หรือ “สัญญะ”ที่ซ่อนอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้ผู้คนบริโภคโดยมีเหตุผลการตัดสินใจอื่นๆที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงความ จำเป็นต้องกินจำเป็นต้องใช้
โบดริยาร์ดมองเห็นว่าการบริโภคในปัจจุบันไม่ใช่การบริโภคเพื่อสนองตอบความ จำเป็นขั้นพื้นฐาน หรือการใช้ประโยชน์โดยตรงจากสินค้าอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นการบริโภคเชิงความหมาย หรือที่เรียกว่า “การบริโภคเชิงสัญญะ” (consumption of sign) สำหรับเขาแล้ว สัญญะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสิ่งอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนสิ่งอื่นที่ขาดหายไป ดังนั้นสิ่งของต่างๆไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง แต่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนประกอบในการสร้างบรรยากาศของระบบคุณค่าระบบใดระบบ หนึ่ง ที่ดำรงอยู่มากมายในสังคม
ฌอง โบดริยาร์ดมองเห็นว่า ในสังคมแห่งการบริโภค ที่เต็มไปด้วยการบริโภคเชิงสัญญะนั้น ตัวสินค้าได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นสัญญะก่อนที่จะถูกบริโภค การกลายเป็นสัญญะของสินค้ากระทำได้หลากหลาย ทั้งการจัดวาง การกำหนดราคา การตกแต่งสถานที่ขาย การใส่ยี่ห้อ การออกแบบหีบห่อ และที่สำคัญการโฆษณาที่ประกอบด้วยการใส่รหัสต่างๆ เข้าไปมากมาย ซึ่งรหัสเหล่านั้นต่างมีลำดับชั้นที่จะมากำหนดและจัดระเบียบให้กับสินค้า โดยเป็นลำดับชั้นที่สอดคล้องกับโครงสร้างการจัดระเบียบทางชนชั้นของสังคม ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงรับรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนในโครงสร้างทางสังคม จากลำดับชั้นของสินค้าที่เขาต่างบริโภคกันในชีวิตประจำวัน
ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับสินค้า ผู้บริโภคและวัฒนธรรมการบริโภคในสังคมปัจจุบันจึงเป็นการบริโภคเชิงสัญญะ (consumption of sign) ที่สนองตอบความหมายบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้น และความต้องการความหมายแตกต่างจากผู้อื่น ภาพของสังคมแห่งการบริโภคของโบดริยาร์ดเต็มไปด้วยมนุษย์ที่ถูกมอมเมาในสัญญะ ภายใต้การมุ่ง เน้นและแสวงหาความต่าง มนุษย์จะอยู่ท่ามกลางระบบคุณค่ามากมายที่สร้างสรรค์ค่านิยมหลากหลายเป็นสัญ ญะให้มนุษย์บริโภค ลักษณะสำคัญของสังคมบริโภคนิยม คือ สินค้าสัญญะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านความหมายใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ รวมทั้งแบบรักษากฏเกณฑ์ทางวัฒนธรรม สมาชิกในแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมต่างต้อง “เรียนรู้” กฎเกณฑ์เหล่านี้ผ่านทางสัญญะในวัฒนธรรมการบริโภค เพราะนอกจากสัญญะในตัวสินค้าจะมีมากมายแล้ว ความต้องการเชิงสัญญะยังถูกปรุงแต่งขึ้นอีก กล่าวคือเป็นความต้องการใช้สินค้า
อีกนัยหนึ่ง การผลิตสินค้าในปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับการเติม “มูลค่าเพิ่ม”( Value Added) ให้กับสินค้าที่สามารถตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค ทำให้ได้กำไรและเพิ่มยอดขายได้มากกว่าความจำเป็นต้องกินต้องใช้ที่เป็นความ ต้องการพื้นฐาน
ทีวีจอแบนหน้ากว้างสี่สิบนิ้ว ย่อมกระตุ้นให้การความอยากได้ใคร่มีมากกว่าจอยี่สิบนิ้วหลังนูนแบบเดิมๆ ทั้งๆที่รายการผังรายการเป็นทีวียังแสดงออกถึงการเป็น “กล่องงี่เง่า”( Idiod Boxes) มีรายการละครน้ำเน่าโปรแกรมเดียวกันอยู่เช่นเดิม รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อแบบใหม่ที่ไม่เคยได้ใช้เกียร์ที่ออกแบบมาให้ล้อทำงาน ครบทั้งสี่ล้อเพราะสภาพถนนที่ราบเรียบ ย่อมดึงดูดใจนักขับได้ดีกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบเดิมๆ โทรศัพท์มือถือที่ทำได้สารพัดอย่างเช่นไอแพด ไอโฟนย่อมเร้าใจวัยรุ่นได้มากกว่าโทรศัพท์ที่มีกลไกแบบธรรมดาๆและทำให้คนถึง กับขายไตข้างหนึ่งเพื่อซื้อมาใช้ เด็กวัยรุ่นถึงกับขายตัวแลกกับมือถือเพียงเครื่องเดียว สินค้าที่เรียกว่า consumer product อื่นๆกระหน่ำโฆษณากรอกหูวัยเยาว์ที่มีรายได้มาจากการแบมือขอ ครีมรักแร้ขาว ครีมผิวกระจ่างใส ครีมหน้าเด้ง ครีมอกตูม ยาสระผมที่ทำให้ผมเด้งได้ เมื่อสระผมแล้วก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงยีนส์ของตัวเองด้วยการไปทำ “ไฮไลท์”สีผมแบบที่บรรพบุรษถ้าได้เห็นคนต้องทึ่ง ชาเขียวมหัศจรรย์ น้ำปั่นสารพัดประโยชน์ ยาลดน้ำหนักที่ทำให้รูปร่างผอมแห้งเหมือนไม้เสียบผีเลียนแบบดาราฯลฯ
วัฒนธรรมไม่เพียงแต่ทำให้ความหมายของสินค้าเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากยุคก่อนๆ มันยังได้สร้างระบบขูดรีดแบบใหม่ขึ้นมาพร้อมกันด้วย นั่นก็คือการขูดรีดและการถูกเอารัดเอาเปรียบแบบสมยอม (Exploit by Consent)
ฌอง โบดริยาร์ด ได้ให้ความหมายใหม่ของสินค้าแตกต่างจากที่มาร์กซกล่าวเอาไว้ เขาไม่ได้เน้นความสำคัญที่ตัวสินค้าโดยตรง แต่เขาให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ของมันเพื่อการบริโภคมากกว่า ซึ่งภายหลังทำให้เขามีความสัมพันธ์อย่างอิสระทางความคิดจากทั้งมาร์กซ และแนวคิดเก่าๆแบบอดัม สมิธ
เขากล่าวว่าสินค้าจะแสดงออกถึงมูลค่าของมันดังนี้คือ
๑.มูลค่าของการใช้งาน เช่น ปากกามีไว้เพื่อเขียน ตู้เย็นมีเอาไว้เพื่อทำความเย็น นี่นับเป็นมูลค่าพื้นฐานคือมูลค่าในการใช้ประโยชน์จริงของมัน
๒.มูลค่าของการแลกเปลี่ยน ปากกาด้านหนึ่งอาจจะแลกดินสอได้สามเล่ม ตู้เย็นใบหนึ่งอาจแทนค่าแรงงานคนได้ถึงสามเดือน เป็นมูลค่าที่แปรค่าได้ ซึ่งอาจจะยังต้องขึ้นกับความต้องการของผู้แลกเปลี่ยน
๓.มูลค่าเชิงสัญลักษณ์ เช่นการนำปากกาไปเป็นรางวัลให้กับผู้ได้รับทุนเรียนดีหรือให้กับผู้ประศาสน์ ปริญญา หรือเพชรเป็นสัญลักษณ์ของความรักในวันแต่งงาน และ
๔.คือมูลค่าในฐานะสร้างช่วงชั้นหรือการแสดงถึงฐานะละความมีระดับทางสังคม
มูลค่าที่สี่นี่เองที่นักคิดระบบทุนนำไปกระตุ้นการบริโภคของผู้คนให้อยากได้ ใคร่มี ความหมายของมันก็คือการเบียดตัวเองขึ้นไปในช่องว่างที่สูงกว่าสถานะของตนเอง และความภาคภูมิใจในการแสดงรสนิยมเพื่อบอกฐานะตำแหน่งและช่วงชั้นในทางสังคม
การกระตุ้นการบริโภคจะเป็นไปไม่ได้หากขาดสื่อ นักคิดผู้สร้างสรรค์หรือครีเอทีฟของระบบจำต้องอาศัยสื่อ ไม่เพียงเพื่อทำให้เกิดความจงรักภักดีในสินค้าเท่านั้น หากการใช้สื่อยังมีความหมายรวมไปถึงการครอบงำในทุกปริมณฑลทางความคิด ไม่เพียงรสนิยมของการกินการอยู่ การใช้ชีวิต การอ่านหนังสือ ฟังเพลง การเสพศิลปะ มันยังรวมเอาการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองให้กับผู้คนอย่างเป็นไปเอง
หลังยุคของการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดการก้าวกระโดดฉับพลันของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ระบบทุนนิยมดิจิทัลมีเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มขึ้นอีกมากมายในการเผยแพร่ ข่าวสารการโฆษณา สร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ไม่สิ้นสุดและไม่จำกัด เป็นสังคมบริโภคแบบ “ข้ามเวลา” มีร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในทุกชุมชน บางชุมชนมีมากกว่าสองแห่ง มีอินเทอร์เน็ท ๒๔ ชั่วโมง จาก ๗๐,๓๙๒,๕๖๗ เว็บไซท์และอีก ๒๐,๓๔๐,๐๐๐,๐๐๐เว็บเพจ(ตัวเลขเมื่อพฤศจิกายน ๒๐๐๙)รวมทั้งผ่านการค้าของห้างสรรพสินค้ายุคใหม่( Modern Trade)ที่รวมศูนย์ความต้องการเอาไว้ในที่เดียวกันบริการด้วยระบบสายพานที่ สะดวกและรวดเร็ว เพื่อการนี้ระบบยังได้สร้างบริการด้านการเงิน เช่นระบบเงินผ่อน ระบบสินเชื่ออื่นๆสูบกินจากอนาคตของคนทำงาน และเพื่อเป็นหลักประกันให้กับอนาคตทางเศรษฐกิจอันว่างเปล่าของผู้คน ระบบทุนก็ได้สร้างปรัชญาของการ “รวยทางลัด” (Shotcut Wealhty) หรือเศรษฐีชั่วข้ามคืน (Overnight Millionaires)เป็นวัฒนธรรมใหม่ของโลก เป็นศาสนาใหม่ที่เงินคือพระเจ้า คิดค้นตั๋วจำนำแรงงานเป็นสัญญาก่อหนี้รายวันในรูปแบบสลิปของบัตรเครดิต สารพัดเงินด่วน-หนี้ด่วน ที่สามารถอนุมัติฉับพลันไม่ทันที่จะนั่งรอ เป็นหนี้ติดล้อหากหลักประกันก็คือพาหนะที่นำไปค้ำประกันที่ยิ่งขับหนี้สิน ยิ่งเพิ่มพูน การสูบกินแบบใหม่นี้เป็นการขูดรีดถึงสามชั้น นั่นคือการขูดรีดจากแรงงาน สอง การขูดรีดจากผลกำไร ที่ผนวกรวมถึงงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ และสามการขูดรีดจากดอกเบี้ยเงินผ่อนที่สูงลิ่ว.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค
บทความย้อนหลัง
-
►
2012
(274)
- ► กุมภาพันธ์ (51)
-
▼
2011
(1241)
-
▼
สิงหาคม
(263)
-
▼
09 ส.ค.
(9)
- เอกสารต่างๆของ ศอฉ.
- โผ ครม. ล่าสุด
- 'A-Z' อักษร 'ซี๊ด' อธิบาย 'สามัญสู่สูงสุด...!!!' น...
- ชนชั้นกลางกับสถานะพลังทางสังคมยุคใหม่
- เทพไท เสนพงศ์ ทวิตฯโจมตีพรรคเพื่อไทย – คนเสื้อแดง ...
- ทักษิณและมาร์กอส : การวางรากฐานอำนาจ
- ผุดเมกะโปรเจกต์แสนล้าน ทุนไทย-เทศ ชิงธงแลนด์มาร์ค ...
- ทักษิณ มิใช่นักประชาธิปไตย
- มหากาพย์พลังงานไทยโกงไทย
-
▼
09 ส.ค.
(9)
-
▼
สิงหาคม
(263)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น