ตระเวนรอนแรมลงพื้นที่ 5 วันเต็ม
น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำทีม “ทัวร์นกขมิ้น” ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เดินสายลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ไล่ตั้งแต่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี
มี การประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อติดตามและสั่งการเกี่ยวกับการวางระบบระบายน้ำ การสร้างเขื่อนและการป้องกันพื้นที่ การหาพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง การขุดลอกแม่น้ำคูคลอง รวมทั้งการซ่อมแซมฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ทุ่ม งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการระบบการระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนของปีนี้
งานนี้ต้องยอมรับว่า การเดินทางลงพื้นที่ตรวจงานป้องกันน้ำท่วมของนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้เสียงขานรับจากสังคม
เพราะเป็นการลงไปสัมผัสรับรู้ปัญหาแบบเข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงจุดเกิดเหตุ เข้าถึงประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย
ติดตาม สำรวจตรวจตราเส้นทางเดินของน้ำตั้งแต่ภาคเหนือที่เป็นต้นน้ำ ลงมาถึงภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ที่เป็นช่วงกลางน้ำ และพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางยันเขตปริมณฑล ที่ถือเป็นช่วงปลายน้ำ
เพื่อ หาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การระบายน้ำติดขัด ผิดพลาด บกพร่อง รวมไปถึงการหาช่องทางให้การบริหารจัดการในการระบายน้ำเกิดประสิทธิภาพมาก ขึ้นกว่าเดิม พร้อมที่จะทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
อาทิ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา
มี โครงการระยะเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 3 เดือน จำนวน 581 โครงการ งบประมาณ 10,700 ล้านบาท โครงการระยะยาว 1,935 โครงการ งบประมาณ 38,500 ล้านบาท
ยังไม่รวมโครงการที่ กยน.และจังหวัด เสนอเพิ่มเติมอีก 55 โครงการ การทำฝายชะลอน้ำ แก้มลิง และปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรม 10 ล้านไร่
ได้ใจทั้งฝ่ายข้าราชการและประชาชน ที่มองว่านายกฯยิ่งลักษณ์มีความตั้งใจจริงในการเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม
เสียงขนานนามกล่าวขานถึง “ทัวร์นกขมิ้น” “ทัวร์นกแก้ว” “ทัวร์เอาอยู่” ของนายกฯยิ่งลักษณ์ ดังกระหึ่มไปหมด
ฝากความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาป้องกันน้ำท่วมรอบใหม่ได้
ขณะ เดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยทุกหน่วยงาน ตื่นตัวกันไปทั่วทุกจังหวัด ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ
เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นกันชัดๆว่าการเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมรวมศูนย์สั่งการอยู่ที่ตัวผู้นำ
อย่าง ไรก็ตาม มาถึงวันนี้ การเดินสาย “ทัวร์เอาอยู่” เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของนายกฯยิ่งลักษณ์ จบทริปลงไปแล้ว
แน่นอน การลงพื้นที่ตรวจงานติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการสร้างความหวังให้กับประชาชน เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ
นายกฯยิ่งลักษณ์ได้ภาพไปแล้วเต็มๆ ในเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน หากมองในแง่การตลาดถือว่าเรตติ้งกระฉูด
แต่เมื่อนายกฯกลับมาแล้วก็ใช่ว่าความหวังของประชาชนจะเป็นจริง หรือความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศจะกลับมาเต็มร้อย
เพราะ ความหวังของชาวบ้านและความมั่นใจของนักลงทุนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อโครงการต่างๆตามแผนบริหารจัดการน้ำที่ประกาศเอาไว้ มีการปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งโครงการต่างๆตามแผนระยะเร่งด่วนที่มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆไปดำเนินการ จะเดินหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน
ก็ ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดติดตามและตรวจสอบขององค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลและการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการ บริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดอุทกภัย ได้แก่
คณะ กรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายจัดทำแผนปฏิบัติการ รวมทั้งนโยบายอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย
คณะ กรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการอื่นๆ ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ รวมทั้งตรวจสอบและติดตามประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ
สำนัก นโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สนอช.)ที่ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐ ในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ สภาพน้ำในลุ่มน้ำหรือเขื่อน และรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำและการปฏิบัติตามระเบียบต่อ คณะกรรมการ กนอช.และ ครม.
แผนงานบริหารจัดการน้ำที่วางกันไว้จะปฏิบัติให้ลุล่วงเป็นจริงได้ ช้าหรือเร็ว ทันเวลา ทันต่อสถานการณ์หรือไม่
ก็ขึ้นอยู่กับการจัดระบบติดตามงานขององค์กรเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นหน้าที่โดยตรงของนายกฯยิ่งลักษณ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
ทั้ง นี้ เมื่อรัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็น วาระแห่งชาติ และเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา
การ บริหารจัดการระบบติดตามงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สารพัดโครงการในการแก้ปัญหาอุทกภัยสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนงาน จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย
และเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำครั้งสำคัญของ “ยิ่งลักษณ์”
“เอาอยู่” หรือ “ท่วมซ้ำซาก” “เชื่อมั่น” หรือ “หมดศรัทธา” เดิมพันมันอยู่ตรงนี้
อย่าง ไรก็ตาม ในห้วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์เร่งเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหา น้ำท่วม ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีภาพของการชิงไหวชิงพริบชิงความได้ เปรียบทางการเมืองแฝงอยู่ อย่างเช่น การที่นายกฯนำ “ทัวร์เอาอยู่” เดินทางไปตรวจงานพื้นที่ต้นน้ำทางภาคเหนือ
ปรากฏว่าไม่มีโปรแกรมเดิน ทางไปตรวจงานติดตามการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่ถือว่าเป็นเขื่อนสำคัญในพื้นที่ต้นน้ำ
จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนาหูว่า เป็นเพราะจังหวัดตาก เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย
จากปรากฏการณ์ตรงนี้ จึงทำให้ถูกมองว่า การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองอาจจะเป็นอุปสรรคลดทอนประสิทธิภาพการทำงานบริหารจัดการน้ำ
ทั้งที่การวางระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งทำแข่งกับเวลา
ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ รวมไปถึงภาคประชาชน
หากเกิดปัญหาความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากัน ก็จะส่งผลให้การทำงานสะดุด ไม่เป็นไปตามแผน ตามกรอบเวลา ย่อมส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่วางไว้
ที่สำคัญ ในบรรยากาศขณะนี้มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่องที่เปรียบเสมือนเป็นทุ่นระเบิดการเมืองรออยู่ข้างหน้า
ไล่ตั้งแต่เรื่องการตีความพระราชกำหนด 2 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต ประเทศ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกอง ทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555
ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
ตามมาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
รวม ถึงประเด็นร้อนๆในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา ที่จะเป็นกุญแจสำคัญปลดพันธนาการโละความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องที่นักวิชาการและคนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวล่ารายชื่อขอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน
โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลัง ถือเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าในสังคม
ที่อาจกลายเป็นปมเหตุให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลในการเร่งเดินหน้าแผนบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ส่งผลเสียหายไปถึงประเทศชาติและประชาชน ที่ต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยรอบใหม่ซ้ำซาก
ฉะนั้น ในห้วงที่รัฐบาลพยายามแสดงความมุ่งมั่นที่จะเร่งเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เป็นงานสำคัญของประเทศชาติ
นายกฯยิ่งลักษณ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ก็สมควรที่จะต้องแสดงบทบาทแสดงศักยภาพในการลดทอนความร้อนแรงทางการเมือง
เพื่อ ทำให้การเมืองชะลอชิดซ้าย เปิดทางให้รัฐบาลสามารถใส่เกียร์เดินหน้าเร่งเครื่องทำงานแก้ปัญหาอุทกภัย ที่เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างเต็มที่
เพราะเห็นๆกันอยู่ว่า เกือบทุกเรื่องที่เป็นปัญหาเป็นปมร้อนแรงทางการเมืองอยู่ในขณะนี้
ส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนโดยคนของพรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มเสื้อแดง และเครือข่ายแนวร่วมเกือบทั้งนั้น
การลดแรงเสียดทาน ลดปัญหาอุปสรรค ที่อาจกลายเป็นชนวนทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ตรงนี้แหละจะเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำของ “ยิ่งลักษณ์”
ว่าจะ “เอาอยู่” จริงหรือไม่.
“ทีมการเมืองไทยรัฐ"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น