บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จาก "โจรกระจอก" ถึง "จิ๊กโก๋ปากซอย"...ปัญหาซ้ำรอยไทยในวังวนก่อการร้าย



 เขียนโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร
เห็น ข่าว พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปรียบกลุ่มผู้ต้องหาต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านก่อเหตุระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาว่าเป็นเหมือน "จิ๊กโก๋ปากซอย" แล้วรู้สึกสะท้อนใจ
          ขณะเดียวกันก็อดไม่ได้ที่จะย้อนนึกถึงวาทกรรม "โจรกระจอก" หรือ "โจรห้าร้อย" ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรามาสกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อหลายปีก่อนเอาไว้ และนั่นได้กลายเป็นการ "ส่งสัญญาณผิด" กระทั่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานยืดเยื้อยาวนานมาจนทุกวันนี้
          ฉะนั้นการแสดงท่าทีของรัฐบาล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นอ่อนไหวจึงต้องใช้ ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ไทยในวังวนขัดแย้งมหาอำนาจและก่อการร้าย
          เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า สัปดาห์แห่งความรักที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป ประเทศไทยของเรามีแต่ "ข่าวร้ายๆ" ตั้งแต่เหตุระเบิด 3 จุดในวันวาเลนไทน์ ตามด้วยการถูกขึ้นบัญชีดำโดยกลุ่มคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการ เงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering ; FATF) ที่ระบุว่าไทยมีความเสี่ยงจากการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย
          ไม่ว่าข่าวสารจากทางภาครัฐจะออกมาแก้ไข-แก้ตัวหรือเบี่ยงประเด็นอย่างไร แต่ความจริงก็คือ เหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ 3 จุดเกิดขึ้นหลังจากเหตุลอบสังหารนักการทูตหญิงอิสราเอลในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดียเพียง 1 วัน โดยผู้ลงมือเป็นสายลับที่ผ่านการฝึกมาอยางดี ด้วยการขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปใกล้รถมินิแวน และลอบนำระเบิดแม่เหล็กไปติดไว้หลังรถนักการทูตหญิงซึ่งเป็นภรรยาของผู้ช่วย ทูตทหารอิสราเอลประจำกรุงนิวเดลี เมื่อรถทิ้งห่างไประยะหนึ่งจึงกดระเบิด
          ในวันเดียวกันนั้น ยังเกิดเหตุลอบติดระเบิดแม่เหล็กใต้ท้องรถยนต์ของพนักงานสถานทูตอิสราเอลประ จำกรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจียด้วย แต่เจ้าของรถสังเกตเห็นความผิดปกติเสียก่อน จึงแจ้งตำรวจและปลดชนวนได้สำเร็จ
          ที่น่าสนใจก็คือ เหตุลอบวางระเบิดในอินเดียและจอร์เจียมีขึ้นในวาระครบรอบการเสียชีวิตของสมาชิกระดับสูง 2 คนแห่งกลุ่ม "ฮิซบอลเลาะห์" (กลุ่มต่อต้านและทำสงครามขับไล่อิสราเอลออกจากเลบานอน) ซึ่งมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน และในวาระครบรอบการเสียชีวิตนี้ก็ทำให้อิสราเอลต้องออกคำเตือนด้านการเดิน ทางแก่ชาวอิสราเอลทุกปี
          วิธีที่ใช้ลอบทำร้ายนักการทูตอิสราเอล คล้ายคลึงกับแทคติกที่ใช้สังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่านจนเสียชีวิต ไป 3 รายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยการวาง "ระเบิดแม่เหล็ก" ซึ่งมีส่วนประกอบของแม่เหล็ก ทำให้ติดแน่นกับรถยนต์
          และระเบิดที่พบภายในบ้านเช่าเลขที่ 66 ซอยปรีดี พนมยงค์ 31 กลางมหานครกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ต้องหาชาวอิหร่านอาศัยอยู่นั้น เป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องที่ใช้ซีโฟร์เป็นดินระเบิด ประกอบใส่ไว้ในวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องเล็ก มีแก๊ประเบิดและสลักเป็นตัวจุดชนวน แล้วก็มีแม่เหล็กก้อนเล็กๆ 6 ก้อนอยู่ในตัววิทยุ นัยว่าเพื่อใช้ติดกับวัตถุเป้าหมายที่เป็นโลหะ อาทิ รถยนต์เช่นกัน!!! 
          เป็นระเบิดที่มีความคล้ายคลึงกับ "ระเบิดแม่เหล็ก" หรือ Sticky Bomb ซึ่งคนร้ายใช้ประทุษร้ายนักการทูตอิสราเอลที่อินเดียและจอร์เจีย
          ถึงวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปแล้วว่า ประเทศไทยกำลังเป็นหนึ่งในสนามรบของ "คู่ขัดแย้ง" ในเวทีโลก คืออิหร่านกับผู้สนับสนุนข้างหนึ่ง กับอิสราเอลและสหรัฐอีกข้างหนึ่ง พร้อมกันนั้นยังตกอยู่ในวังวนก่อการร้ายด้วย เพราะด้วยความเป็นประเทศเปิด มีจุดขายที่การท่องเที่ยว จึงทำให้เป็นแหล่งชุมนุมของกลุ่มก่อการร้าย
          ข้อมูลของนักวิชาการด้านความมั่นคงอย่าง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ชี้ว่าประเทศไทยมีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวในลักษณะใช้เป็นทางผ่าน กบดาน ซ่อนตัว และพักผ่อนมากถึงราว 20 กลุ่ม แต่สามารถแบ่งหยาบๆ เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
          1.กลุ่มตะวันออกกลาง ได้แก่ ฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส และพวกอาหรับเอ็กซ์ตรีมมิสต์ (อาหรับหัวรุนแรง) เช่น อียิปต์ ตูนีเซีย อัลจีเรียนคอนเนคชั่น รวมถึงอัลไกด้าแต่มีไม่มากนัก
          2.กลุ่มเอเชียใต้ ได้แก่ พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (จากศรีสังกา) กลุ่มหัวรุนแรงในปากีสถาน บังคลาเทศ
          และ 3.กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อาบูไซยาฟ (ในฟิลิปปินส์) เจมาห์อิสลามิยาห์ หรือเจไอ (ในอินโดนีเซีย)
          คำถามก็คือรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทยจะกำหนด "ท่าที" ของประเทศอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไทยก็อ่วมอยู่แล้ว

อย่าถูกชี้นำปม"ก่อการร้าย"
          แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงไม่ควรให้สัมภาษณ์โดยไม่รู้หรือหรือพูด ตามการชี้นำของชาติมหาอำนาจ เพราะไม่มีใครมากะเกณฑ์เราได้ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นก่อการร้ายหรือไม่ ผู้ที่จะกำหนดแนวทางได้มีอยู่ 3 หน่วยงานคือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ศูนย์รักษาความปลอดภัย และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล
          "แค่สามหน่วยนี้เท่านั้นที่จะบอกว่าเหตุการณ์ไหนเป็นก่อการร้าย ไม่ใช่ใครก็พูดได้ และไม่มีใครหรือชาติใดสั่งให้เราพูดได้ ที่ผ่านมาหลายสิบปีก็ไม่เคยมีการแทรกแซงหรือชี้นำ"
          นายตำรวจที่คร่ำหวอดในวงการข่าวกรองมาเกือบตลอดชีวิตราชการ บอกด้วยว่า แนวทางการทำงานที่ถูกต้องคือ 3 หน่วยนี้ต้องมานั่งประชุมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่จนถึงขณะนี้เขายังไม่เห็นภาพลักษณะนั้นเลย
          "ผมคิดว่าสถานการณ์ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน มี.ค.เป็นห้วงเวลาอ่อนไหว อิหร่านเพิ่งเปิดตัวโรงงานปรมาณู อิสราเอลก็ต้องการจะไปทิ้งระเบิด สงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าสหรัฐไฟเขียวก็เกิดแน่ ทุกอย่างจะชัดเจนภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ เพราะหลังจากนั้นสหรัฐจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งประธานาธิบดี การจะทำหรือไม่ทำต้องตัดสินใจในช่วงนี้เท่านั้น และจุดยืนไทยต้องชัดเจน" อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุ

ระวังกระทบสัมพันธ์คู่ขัดแย้ง
          จุดยืนของรัฐบาลไทยในวังวนปัญหาก่อการร้ายและความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจในโลก ถูกตั้งคำถามโดย พันเอก ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นายทหารนักยุทธศาสตร์ชื่อดังเช่นกัน
          "ผมย้ำมาตลอดว่าเหตุระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯไม่ใช่การก่อการร้าย หากจะเป็นการก่อการร้ายต้องถามว่าเป็นการก่อการร้ายในทัศนะของใคร ต้องให้สหรัฐประกาศถึงจะเป็นก่อการร้ายหรือเปล่า หรือเราดูที่รูปแบบการกระทำ ดูอุดมการณ์การต่อสู้ของผู้กระทำ เพราะที่ผ่านมาการก่อการร้ายมักถูกประกาศโดยประเทศมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่เป็นความขัดแย้งของบางประเทศกับบางประเทศเท่านั้น"
          "เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้อย่างแน่นอน และต้องตั้งคำถามว่าเราเป็นเป้าตรงไหน สมมติคนสองคนทะเลาะกันอยู่นอกบ้านของเรา ต่อมาฝ่ายหนึ่งทราบว่าบุคคลสำคัญของอีกฝ่ายหนึ่งจะเดินผ่านหน้าบ้านเรา เขาก็เลยมาดักตีหัว ถามว่าเราเกี่ยวอะไร เพราะเขาไม่ได้เลือกไทยเป็นเป้า แต่พอดีมีเป้าหมายที่คุ้มค่าผ่านเข้ามาในพื้นที่ของเรา"
          พันเอก ดร.ธีรนันท์ มองว่า การกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านอาจไม่ใช่การกระทำในระดับ รัฐ แต่เป็นกลุ่มบางกลุ่มที่ต้องการทำหรือต้องการแก้แค้นก็ได้ ฉะนั้นรัฐบาลไทยจะต้องพยายามหาคำตอบที่ตอบแล้วไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศกับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ขัดแย้งทั้งสอง คำชี้แจงของรัฐบาลไทยจะต้องไม่นำไปสู่การเลือกข้างใดข้างหนึ่ง สิ่งที่ดีที่สุดคือพูดตามข้อเท็จจริง เอาหลักฐานจริงๆ มาชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความเชื่อมโยงต่างๆ
          "ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่าไปชี้ว่าใครผิด ผมยังยืนยันว่าการก่อการร้ายกับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเราไปพูดให้เป็นเรื่องเดียวกันจะอ่อนไหวมาก"

แนะ"ซื้อเวลา"ดีกว่า"รีบสรุป"
          พันเอก ดร.ธีรนันท์ ย้ำด้วยว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายและไม่มีความเสี่ยงเรื่องการก่อการร้ายมากนัก ตรวจสอบย้อนหลังกลับไป 10 ปีก็ไม่มีความรุนแรงจากการก่อการร้ายเกิดขึ้นเลย ขณะที่ประเทศอื่นมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่า พร้อมกว่าไทยทุกด้านแต่ก็ยังโดน ส่วนไทยไม่เคยโดน
          "วันนี้เขาชกกันนอกบ้าน จะไปดึงมาเป็นเรื่องของเรามันไม่น่าจะถูก ถ้าวันนี้เราเดินเกมผิด ไปโยงเรื่องก่อการร้าย จะนำปัญหาตามมามากมาย แต่ถ้าเราประเมินสถานการณ์ดีๆ และหาช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย เราจะรอดจากสถานการณ์นี้ได้อย่างสง่างามและปลอดภัย"
          พันเอก ดร.ธีรนันท์ บอกอีกว่า นโยบายด้านความมั่นคงของไทยยังดีอยู่ แต่ปัญหาคือทิศทางหลังจากเกิดเรื่องนี้ต้องยึดหลักการผลประโยชน์ของชาติคือ การดูแลชีวิตของคนไทย ไม่ใช่ดูแลชีวิตชาวตะวันตกหรือคนชาติอื่น
          "ถ้าเราเสี่ยงไปเล่นในเวทีนี้ วันหน้าเราตกเป็นเป้าจริงๆ ถามว่าชาติตะวันตกจะดูแลช่วยเหลืออะไรเราหรือไม่ ฉะนั้นนโยบายและการแสดงท่าทีในช่วงนี้จะมีผลมาก ผมย้ำว่ารัฐบาลไทย ฝ่ายความมั่นคงไทย และสื่อไทยต้องดูแลคนไทย ไม่ใช่ดูแลคนตะวันตก ถ้าเราดูแลคนตะวันตกมากกว่า เราเดือดร้อนแน่"
          "ที่สำคัญการรีบแสดงท่าทีอาจไม่ดีนักในสถานการณ์นี้ แต่การซื้อเวลาน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เห็นได้จากอินเดียซึ่งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนักการทูตอิสราเอลก่อนหน้า ระเบิดในไทยเพียง 1 วัน จนถึงขณะนี้เขายังไม่สรุปเลยว่าเป็นการกระทำของอิหร่าน ซ้ำยังบอกว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็จะซื้อน้ำมันจากอิหร่านต่อไป นี่คือท่าทีที่น่าสนใจ และไทยน่าจะพิจารณาเพื่อรักษาดุลให้ดี" พ.อ.ธีรนันท์ กล่าว

ห่วงสะเทือนโอไอซีทำใต้วุ่น
          ความเห็นของนายทหารด้านยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านความมั่นคงอย่าง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่บอกว่า การสร้างความเข้าใจที่ผิด หรือถ่วงดุลไม่ดีพอ อาจมีผลกับสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยด้วย ฉะนั้นต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่าไทยไม่ได้มีปัญหากับอิหร่านหรือกับชาติตะวัน ออกกลาง ไทยให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ด้วยซ้ำไป ซึ่งอิสราเอลก็ประท้วงไทยอยู่
          "เราได้เปรียบดุลการค้ากับอิหร่านหมื่นล้าน เรามีความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ ทั้งภาษา วัฒนธรรม ชาวอิหร่านเข้ามารับราชการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นตระกูลสำคัญๆ หลายตระกูล ฉะนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศต้องต่อสายคุยกับอิหร่าน ไม่ใช่ปล่อยให้เขาโต้กับอิสราเอลแล้วเรายืนดู บอกว่าเราไม่เกี่ยวไม่พอ"
          "อย่าลืมว่าชาติตะวันออกกลางเป็นสมาชิกหลักของโอไอซี (องค์การการประชุมชาติอิสลาม ซึ่งจับตาตรวจสอบปัญหาชายแดนใต้ของไทย) ฉะนั้่นจะบอกว่าเราไม่เกี่ยวอย่างเดียวไม่พอ ควรมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีของอิหร่านจะดีกว่าไหม แทนที่จะโต้กันไปมาผ่านสื่อกับอิสราเอล" ปณิธาน เสนอ
          การดำรงอยู่อย่างปลอดภัยในวังวนก่อการร้ายและความขัด แย้งของมหาอำนาจในโลก คือบทพิสูจน์อีกหนึ่งบทของรัฐไทยในยุค “สงครามสมัยใหม่” ที่หากก้าวพลาดนิดเดียวย่อมหมายถึงพ่ายทั้งประเทศ!


ข้อมูลประกอบ
เปิดนิยาม "ก่อการร้าย"
ความต่างของ "ความรู้สึก" กับ "กฎหมาย"  
          มีความเห็นที่น่าสนใจจากพนักงานสอบสวนมือดีของกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ว่าการจับกุมและออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาที่ถือพาสปอร์ตอิหร่าน ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวโยงกับเหตุระเบิด 3 จุดในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น จะดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้ายได้จริงหรือไม่
          เพราะ "ความรู้สึก" ของผู้คนในสังคมที่มีต่อภาพเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น กับพฤติการณ์ตาม "ข้อกฎหมาย" นั้น หลายๆ ครั้งก็เป็น "คนละเรื่องเดียวกัน"
          หากยังจำกันได้ การจับกุม นายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอน พร้อมของกลางปุ๋ยยูเรียหนัก 4 ตัน และสารแอมโมเนียมไนเตรท เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่มีการให้ข่าวจากรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงว่าน่าจะ เกี่ยวโยงกับ "กลุ่มฮิซบอลเลาะห์" ซึ่งหลายประเทศตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทว่าในการดำเนินคดี ก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาก่อการร้ายแต่อย่างใด
          คงแจ้งเพียงข้อหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 เท่านั้น
          "เรื่องของกฎหมายต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องก่อการร้ายในความรู้สึกของประชาชนกับข้อกฎหมายค่อนข้างต่างกัน กรณีผู้ต้องหาชาวอิหร่านที่ปาระเบิดกลางกรุงเทพฯ ในความรู้สึกของสังคมอาจจะเป็นการก่อการร้ายแล้ว แต่ในทางกฎหมายมีองค์ประกอบมากมาย ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นปัญหาในอนาคต เพราะส่วนตัวก็เห็นว่าพฤติกรรมของผู้ต้องหายังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐาน ก่อการร้าย เพราะไม่ได้มีลักษณะของการบังคับขู่เข็ญให้รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลของประเทศใด กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง" พนักงานสอบสวนกองปราบปราม กล่าว
          พลิกดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2546 จะพบนิยามและองค์ประกอบของความผิดฐานก่อการร้ายตามกฎหมายไทยดังนี้
          มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญา ดังต่อไปนี้
          (1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
          (2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
          (3) การกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
          ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสีย หายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท
          การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
          มาตรา 135/2 ผู้ใด
          (1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ
          (2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดการหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้ก่อการร้ายและกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือปกปิดไว้
          ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
          มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 135/1 หรือ มาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ
          มาตรา 135/4 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายและ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บ้านเช่าของผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตอิหร่าน เลขที่ 66 ซอยปรีดี พนมยงค์ 71 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2555
2 ระเบิดที่ประกอบใส่ในวิทยุทรานซิสเตอร์ขนาดเล็ก มีส่วนประกอบของแม่เหล็กคล้าย Sticky bomb
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บางส่วนของรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ.2555 ด้วย\


สำนักข่าวอิศรา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง