โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 19 และ 26 กันยายน 2554
งานวิจัยของ อาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย ชี้ให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่คนจน เพราะ รายได้เฉลี่ยของพวกเขานั้น ห่างไกลจากเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ขีดไว้ให้ไกลโขทีเดียว
และโดยอาชีพแล้ว อาจกล่าวได้ว่าจำนวนมากของพวกเขาเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อย" แม้แต่ทำเกษตร (เช่นปลูกบัว) ก็เป็นการทำเกษตรแบบ "ผู้ประกอบการ" ที่นำพืชผลของตนเข้าสู่ตลาดโดยตรง
หลังจากงานศึกษาของอาจารย์อภิชาติแล้ว มีโครงการศึกษาคนเสื้อแดงของนักวิชาการเพิ่มมากขึ้น
แต่ไม่ใช่การศึกษาเฉพาะด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากมีประเด็นครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ผมได้อาศัยข้อมูลความเห็นของงานศึกษาเหล่านี้ บวกกับที่ผมได้ประสบมาเองเพื่อคุยกับท่านผู้อ่านในที่นี้
ผมเชื่อว่า หากมีการศึกษาคนเสื้อเหลืองทางวิชาการให้มากขึ้น ก็จะได้ข้อมูลอีกหลายอย่าง ที่คาดไม่ถึง และต้องมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เกิด ขึ้นในเวลานี้อย่างไม่ต้องสงสัย
งานศึกษาของหลายท่าน ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงนั้นข้ามชนชั้น หมาย ความว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้น หนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจนร่วมอยู่ในขบวนการคนเสื้อแดง และมีคนรวยขนาดมั่งคั่งผสมปนเปอยู่ในขบวนการจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน
การจัดองค์กรของคนเสื้อแดงนั้นมีประสิทธิภาพมาก แต่ประสิทธิภาพในโลกนี้ไม่เคยอยู่ลอยๆ ย่อมหมายถึงทำอะไรบางอย่างได้ดี ไม่ใช่ทำได้ดีทุกอย่าง และประสิทธิภาพที่คนเสื้อแดงทำได้ดีคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล, การชุมนุมทางการเมือง, และท้ายสุดคือ การจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง
ส่วนการประกบติดตามตรวจสอบและกำกับรัฐบาลที่ตัวเลือกมากับมือในระยะยาว จะทำได้หรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่
สิ่งที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ประสิทธิภาพทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงนั้นอาจมีจำกัด ไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปใช้ในการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยได้ทุกเรื่อง นี่เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนนะครับ ต้องจับตาดูกันต่อไป
เมื่อเปรียบเทียบกับคนเสื้อเหลือง ศักยภาพในด้านถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลสมัยทักษิณเสื่อมลง จนกลายเป็นอันธพาลของประชาธิปไตยในเวลาอันรวดเร็ว ขบวนการประชาชนที่ไหนๆ ในโลกก็ล้วนแต่งอกได้ทั้งนั้น จะงอกไปทางไหนก็ได้ทั้งนั้นด้วย
เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถูกหลอกให้เชื่อว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ก็เพราะการจัดตั้งก็ตาม ทุนทรัพย์ก็ตาม เป้าหมายในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ตาม ล้วนมาจากนักการเมือง ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ
ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังพูดถึงระดับแกนนำของขบวนการ หรือพูดถึงระดับมวลชนที่ร่วมเคลื่อนไหว
งานศึกษาทุกชิ้นต่างชี้ให้เห็นว่า ในระดับมวลชนฐานราก การจัดองค์กรกระทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดเฉพาะกิจเมื่อจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แม้เป็นการจัดองค์กรอย่างหลวมๆ แต่ประสิทธิภาพของขบวนการคนเสื้อแดงมาจากตรงนี้ ไม่ใช่การอุดหนุนชี้นำของนักการเมืองแต่อย่างใด
และในส่วนนี้แหละที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ
ในระดับล่างสุด และในชุมชนที่ความสัมพันธ์ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับชนบท การจัดองค์กรเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนในชุมชน แหล่งกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็น อาจเป็นร้านชำ, บ้านเรือนของผู้นำตามธรรมชาติ, หรือสถานประกอบการของกลุ่มแม่บ้าน (เป็นต้น)
ส่วนในชุมชนที่มีลักษณะเป็นเมืองมากขึ้น สื่อสมัยใหม่ เช่น วิทยุชุมชน, นิตยสารของคนเสื้อแดง, และการนัดพบปะสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ย่อมมีความสำคัญกว่า
คนเสื้อแดงที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่า เขาแทบไม่รู้จักใครที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงเป็นส่วนตัว เลย ถึงตัวเขาเองจะ "ตาสว่าง" แล้ว แต่ก็ต้องระวังไม่พูดถึงความสว่างที่เขาได้ประจักษ์กับใคร เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือเป็นสายลอบเข้ามาปะปน ซึ่งเขาเชื่อว่าต้องมีแน่
เรื่อง "ตาสว่าง" นี้น่าสนใจนะครับ นักการเมือง (ทุกพรรค) และข้าราชการระดับสูง ดูเหมือนจะเชื่อว่า อาการ "ตาสว่าง" เกิดขึ้นจาก มีใครบนเวทีประท้วง ส่องแสงสว่างลงมาสู่ผู้ร่วมชุมนุม จึงเกิดอาการนี้กันขึ้นอย่างแพร่หลาย ฉะนั้นจะหยุดอาการนี้ได้ ก็โดยจับกุมคุมขังคนที่ส่องแสงสว่างบนเวที (ทุกประเภท) แสงสว่างก็จะไม่สาดส่องมาให้ใครได้ "ตาสว่าง" กันอีก
แต่ผมได้คุยกับคนเสื้อแดงที่ "ตาสว่าง" หลายคน ซึ่งไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับเขาเลย เพราะไม่สามารถสละเวลาหาเลี้ยงชีพไปร่วมชุมนุมได้ ต่างให้การตรงกันว่า อาการ "ตาสว่าง" ของเขานั้น เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ส่วนหนึ่งก็ได้ข้อมูล (ซึ่งที่จริงคือข้อสรุป) จากคนเสื้อแดงด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากข้อมูลที่เขาได้รับผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทีวีในกำกับของรัฐนั่นแหละ ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า อาการ "ตาสว่าง" นี้เกิดขึ้นจากคำพูดหรือข้อเขียนของใคร
ผมสรุป (ซึ่งแปลว่าเดา) เอาเองว่า อาการ "ตาสว่าง" ของคนไทยจำนวนมากในเวลานี้ เกิดขึ้นจากการขยับจุดยืน ก็ข้อมูลเก่า วลีเก่า, ความเปรียบเก่า, และการรณรงค์แบบเก่านั่นแหละครับ เพียงแต่ผู้ชมไม่ได้ยืนชมจากจุดยืนเดิมแล้ว ภาพที่ตาเห็นจึงไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป และไม่เหมือนกับเจตนารมณ์ที่ผู้รณรงค์อยากให้เห็นด้วย เกิดอาการที่เรียกว่า "ตาสว่าง" ขึ้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น