บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คดีจำคุก “อากง” 20 ปี คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

                คดีจำคุก “อากง” 20 ปี คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นที่โจทก์ขานเป็นอย่างมากในหมู่คนเสื้อแดง และผู้ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรืออาจรวมไปถึงผู้ที่เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อผู้เฒ่าวัย 60 ปี ที่ถูกห้อมล้อมด้วยลูกหลานต้องมารับชะตากรรมชดใช้โทษความผิดถึง20ปี
 
 
                เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ศาลอาญา ถนนรัชดาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำอ.311/2554 ให้จำคุก นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี 20 ปี
         
 
                 คดีดังกล่าวพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ฟ้องนายอำพล จำเลย ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2),(3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
         
 
                 โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 9-22 พ.ค.2553 จำเลยใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศและหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระราชินีจากนั้นจำเลยส่งข้อความดังกล่าวไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม  เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวง และเขตดุสิตกทม. ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (เกี่ยวพันกัน)
         
 
                 จำเลยให้การปฏิเสธอ้างว่า ขณะเกิดเหตุนำโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้านในห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียล สาขาสำโรง และส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือไม่เป็น
         
 
                 ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่าการที่จำเลยอ้างว่านำโทรศัพท์ไปซ่อมนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปยังห้างดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยอ้างว่าจำชื่อร้านไม่ได้ ทั้งที่จำเลยต้องไปที่ร้านซ่อมโทรศัพท์อย่างน้อย 2 ครั้งในวันที่ส่งซ่อม และในวันที่ไปรับโทรศัพท์คืนส่วนที่จำเลยอ้างว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไม่เป็น และไม่ทราบว่า หมายเลขผู้รับข้อความเป็นของเลขานุการอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวอ้าง พยาน หลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ เชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของโทรศัพท์ และซิมการ์ดโทรศัพท์ที่ใช้ก่อเหตุจริง ข้อความมีลักษณะแสดงความอาฆาตมาดร้าย ใส่ความทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งที่ข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง
         
 
                 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นบทลงโทษสูงสุด ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี จำนวน 4 กระทง รวมจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี
         
 
                 สำหรับการอ่านคำพิพากษา ศาลไม่ได้ออกหมายเบิกตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา เนื่องจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวจำเลยอยู่ขณะนี้มีน้ำท่วมขัง ไม่สะดวกที่จะเบิกตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา แต่ศาลใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
 
                 พล.ต.ท.ไถย ปราศจากศัตรู ผบช.ก. นำกำลังเข้าจับกุม เมื่อเช้าวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ในซอยวัดด่านสำโรง หมู่ 4 ต.สำโรงเหนืออ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งระหว่างจับกุม ทางกลุ่มเสื้อแดงออกมาขัดขวาง แต่เมื่อตำรวจแจ้งข้อหาให้ทราบ ก็ยอมให้ตำรวจจับแต่โดยดี
 
 
                 พลันที่คำพิพากษาให้จำคุกอากง 20 ปี การวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางต่างๆก็ปรากฏขึ้น ...
 
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
 
                 “ผมเข้าเน็ตประมาณช่วงเที่ยงๆ เพื่อเช็คข่าวว่า ผลการตัดสินคดี "อากง" เป็นอย่างไร พอเห็นข่าว พูดไม่ออกเลยทั้งเศร้าลึกๆ และโกรธ มากๆ ผสมกันไป จนร้องไห้อยู่พักนึง (ครับ ผู้ชายก็ร้องครับ)เขียนอะไรไม่ออก ที่อยากเขียนขึ้นมาทันทีในใจ ก็คงเขียนออกมาไม่ได้สงบสติอารมณ์ อยู่ครึ่งวัน (อ่านหนังสือ สูบหรี่ ดูน้ำเน่าหน้าบ้าน ฯลฯ) จนเมือครู่นี้ จึงนึกคำออกมาได้เท่านี้ ดังที่โพสต์ ยังไม่ใช่ที่อยากจะพูดจริงๆหรอก แต่มีปัญญาพูดได้เท่านี้”
 

                 หรือความในใจของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า...
 
                วันนี้เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งเขาเรียนนิติศาสตร์ เคยทำงาน ITV และชื่นชมทักษิณ แต่เราไม่คุยกันมา 5 ปีแล้ว เขาส่ง sms มาว่า "คุณ...ด้วยความเคารพ ผมว่าเรื่องนี้ (คงหมายถึงเรื่องที่อากงส่ง sms หมิ่นสถาบันโดนศาลตัดสินติดคุก 20 ปี) อาจนำมาซึ่งความคิดขัดแย้งครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีมานะ คุณยังพอแก้ไขอะไรได้มั้ย"
 
                เห็นข้อความที่ส่งมาแล้วรู้สึกสงสารประเทศไทยที่คนเรียนจบกฎหมาย แต่มีความคิดแบบนี้เข้าใจว่าเป็นห่วงไม่อยากเห็นความขัดแย้งในสังคม แต่ไม่เห็นถามถึงความรุนแรงของ sms ที่หมิ่นสถาบัน หรือไม่สนใจเหตุผลว่าทำไมถึงโดนติดคุกถึง 20 ปี ซึ่งเขาส่ง sms มา 4 ครั้ง ศาลก็นับเป็น 4 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมเป็น 20 ปี นี่คือข้อเท็จจริง
 
 
                 ส่วนเรื่องที่เค้าติดคุก ผมก็ไม่ได้เป็นคนไปทำให้เขาติด ถ้าเขาไม่ได้ส่งจริงก็สามารถหาหลักฐานมาหักล้างได้ ผมเคยถูกศาลเรียกให้ไปเป็นพยานโจทก์ ผมก็แค่เล่าไปตามข้อเท็จจริง ว่ามีคนส่ง sms หมิ่นสถาบันแบบนี้ ไม่เคยรู้จักคนส่ง ไม่ทราบถึงเหตุผล แล้วผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรในคดีอีกเลย เป็นเรื่องของทางศาล
 
 
                 แน่นอนว่า คนเสื้อแดงก็พยายามจะนำคดีนี้มาใช้ประโยชน์ในการจุดประเด็นความขัดแย้ง ทั้งอ้างว่า อากงแก่ขนาดนี้ส่ง sms ไม่เป็นบ้าง คดีฆ่าคนตายยังติดคุกไม่ถึง 20 ปี ฯลฯ แล้วก็พยายามจุดชนวนไปถึงว่า ควรยกเลิก ม.112
 
 
                 ตกลงสังคมไทยไม่ได้อยู่กันด้วยเหตุผล ด้วยหลักฐาน และด้วยความถูกต้องแล้วหรือ แต่ใครที่พยายามจะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แล้วก็ทำให้คนในสังคมกลัว เราก็ต้องยอมศิโรราบไปเสียหมดเลยหรือ
 
 
                 ผมไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สังคมไทยจะขัดแย้งหรือแตกแยกกันครั้งใหญ่กว่าที่เคยมีมา โดยมีสาเหตุจากคดีนี้หรือเปล่าแต่หากมันจะเกิดขึ้นจริง พวกเราก็น่าจะพึงสังวรณ์ได้ว่า ผมไม่ได้เป็นคนจุดชนวน แต่เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคารพกฎหมาย และพยายามจะใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิดครับ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุผลและที่มาที่ไป เพียงแต่เราจะยอมรับความจริงกันได้หรือเปล่า และบ่อยครั้งที่ความจริงมักทำให้เราเจ็บปวด
 
 
                ถ้า sms ที่ส่งมาเตือนผมเพื่อให้กลัวเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วให้ผมไปบอกตำรวจหรือศาลว่า ผมแจ้งความเท็จ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานที่ส่งมาอย่างชัดเจนโดยที่เรื่องการสืบสวนหาคนผิดไม่ใช่หน้าที่ผม ผมก็ไม่สามารถไปยับยั้งอะไรได้ผมคงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
 
 
                  ถ้าผมจะกลัว ก็กลัวที่ตัวเองจะไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าใครทำเช่นไร ก็ย่อมได้รับกรรมเช่นนั้นและถ้าผมเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ถูกใจใครหลายคนรวมถึงคุณ แม้อาจจะเป็นเหตุให้คุณเลิกคบผมเป็นเพื่อน
ผมก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า "ยังไงผมก็เลือกที่จะยืนอยู่ข้างความถูกต้อง แม้จะต้องเจ็บปวดกับสิ่งที่เลือก"
 
                 ขณะที่นายสมศักดิ์กลับมาแสดงความเห็นอีกครั้งว่า...
 
                  ข้าแต่ศาลที่เคารพ อะไรคือ “ประจักษ์พยานแวดล้อม” ที่แสดงเจตนาที่อยู่ภายในของจำเลยได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่อยู่ภายใน ที่จะทำผิดครับ…จำเลยเคยไปลงนามถวายพระพรที่ศิริราชทั้งยังพาหลานไปลงนามด้วย...และจำเลยก็ได้ให้การต่อหน้าศาลอย่างมีอารมณ์ความรู้สึกว่าจงนักภักดี
 
 
 
                ประเด็นข้อถกเถียงกระบวนการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ย่อมเกิดขึ้นได้อีกทั้งกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายยังไม่สิ้นสุด ...หากแต่ความเลยเถิดของการวิพากษ์วิจารณ์กลับกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ทั้งตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรืออารมณ์จะพาไปคล้ายๆกับที่นายสมศักดิ์เป็น
 
                 โดยเฉพาะที่ปรากฎเกิดขึ้นในเวปไซต์(ทั้งบนดิน-ใต้ดิน) ต่างแสดงอารมณ์เกลียดชัง เคียดแค้นต่อสถาบันเบื้องสูงอย่างเห็นได้ชัด ที่แม้บางข้อความจะพอหยิบยกมานำเสนอได้ แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของการแสดงความคิดเห็นของบุคคลนั้นๆ
 
                 “อยากเป็นคนไทย อยากพูดภาษาไทย ผมมีโฉนดที่ดิน ผมมีบัตรประชาชน ผมเสียภาษี เวลาพูดหรือทำอะไร ก็ไม่ได้หรอ”
 
                ข้อความข้างต้นต้องการสื่อสารว่า การวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ได้ในฐานะคนไทยทำไม่ได้หรือ? ซึ่งเป็นความเข้าใจว่า “อากง” ในฐานะคนไทยก็ควรวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ได้ ซึ่งอาจจะหมายถึง การส่งข้อความในเอสเอ็มเอส แต่ในส่วนนี้ต้องแยกให้ออกระหว่าง ข้อถกเถียงว่า “อากง”ส่งเอสเอมเอสจริงหรือไม่? และข้อความนั้น มีเนื้อหาแค่วิจารณ์หรือ อาฆาตมาดร้าย
 
                 “แต่ไม่เห็นถามถึงความรุนแรงของ sms ที่หมิ่นสถาบัน หรือไม่สนใจเหตุผลว่าทำไมถึงโดนติดคุกถึง 20 ปี ซึ่งเขาส่ง sms มา 4 ครั้ง ศาลก็นับเป็น 4 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมเป็น 20 ปี นี่คือข้อเท็จจริง”
 
 
                 ว่าด้วยการวิจารณ์(โดยบริสุทธิ์ใจ)และการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้ายฯลฯ มีแง่มุมที่ต้องพิจารณาอย่างไรบ้างนั้น จึงขอใช้โอกาสนี้อันเชิญพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548
         
 
                 ".....แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในสมองว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาดๆ ถ้าขอเปิดเผยว่าวิจารณ์ตัวเองได้ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน…”
         
 
                 “ฉะนั้นก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิดให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกันก็ยังไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อยๆ ละเมิดพระเจ้าอยู่หัว ละเมิด THE KING แล้วก็หัวเราะเยาะว่า THE KING ของไทยแลนด์ พวกคนไทยทั้งหลายนี่ เป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย...” 
 
 
                 สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากกลุ่มต่างๆ เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไข โดยอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย “ในการที่จะพูดจะคิดจะเขียนฯลฯ”
 
 
                ที่ผ่านมากลุ่มนิติราษฎร นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่พิจารณา
โดยระบุถึงหลักการประกอบร่างพระราชบัญญัติเอาไว้ 2 ข้อคือ
 
1 ยกเลิกมาตรา 112
 
2 กำหนดความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ออกจากความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ลดอัตราโทษลง
 
                จากบทบัญญัติและโทษเดิมที่ระบุว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี มาเป็นผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมาหากษัตริย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
                ส่วนพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กลุ่มนิติราษฎร ให้เหตุผลการแก้ไขว่า บทลงโทษเดิมมีความรุนแรงเกินไป ส่วนการแยกพระมหากษัตริย์ ออกจากพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ถือเป็นการจัดความสำคัญ
 
                การกำหนดอัตราโทษและจัดลำดับกลุ่มกฎหมายหมิ่นประมาทของไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการจัดอันดับความสำคัญเอาไว้แล้วดังนี้
 
 
1.การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
 
 
1.1.หมิ่นประมาท มาตรา 326 โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
1.2.หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 328 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
 
1.3. หมิ่นประมาทซึ่งหน้า มาตรา 393 ซึ่งอยู่ในหมวดลหุโทษ เป็น "การดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา" มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
2. การหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน มาตรา 136 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
3.การหมิ่นประมาท ศาล มาตรา 198ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
4.การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
 
 
                 พิจารณาตามหลักการดังกล่าว ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ไม่เฉพาะการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกกำหนดอัตราโทษเอาไว้สูงกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไป
 
                 แต่การหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน และศาล ก็เช่นกัน ซึ่งถูกกำหนดอัตราโทษเอาไว้สูงกว่า ทั้งนี้ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการจัดลำดับความสำคัญของการหมิ่นประมาทนั่นเอง
 
                 โดยสามัญสำนักแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าทำไมถึงต้องกำหนดอัตราโทษของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเอาไว้มากกว่าการหมิ่นประมาทธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ราชินี องค์รัชทายาท ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ...ไม่เพียงเท่านั้นหากลงลึกในรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้ทราบถึงข้อเท็จจริงว่าทำไมรัฐธรรมนูญถึงให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้
 
 
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 
มาตรา 10 ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
 
 
                 พิสูจน์กันต่อว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ให้เพิ่มร่างพระราชบัญญัติในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยไม่ผิดกฎหมายนั้น ถือเป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่
 
 
1.ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใด โดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด
 
2.ความผิดต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์
 
3.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
                 ทั้งหมดนี้กลุ่มนิติราษฎร์อธิบายเหตุผลว่า มาตรา 112 ในปัจจุบัน เปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
 
                 เหตุผลที่พูดถึงสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหา การต่อสู้คดี และขั้นตอนการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ดีนั้น ต้องแยกแยะให้ออกว่าเป็นส่วนของการบังคับใช้กฎหมายหรือวิธีการพิจารณาคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สามารถเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ไม่เฉพาะกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น แต่กับคดีทั่วไปก็เหมือนกัน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับบทบัญญัติของกฎหมาย
 
 
                 การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ย่อมสามารถกระทำได้อยู่แล้ว เพราะเนื้อหาตามบทบัญญัติของมาตรา 112 ก็ระบุเอาไว้ภายใต้ขอบเขตของการกระทำความผิดว่าจะต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการหมิ่นประมาททั่วไป แต่ที่สำคัญกลุ่มนักวิชาการ ได้ไปดูรายละเอียดพฤติกรรม ของนักโทษและผู้ต้องหาเหล่านี้หรือไม่ว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย กันแน่
1.นายสุชาติ นาคบางไทร ปราศรัยใส่ความเท็จสถาบัน
2.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ เผยแพร่คลิปหมิ่นทางอีเมล์
3.นายวันชัย แซ่ตัน แจกจ่ายเอกสารเข้าข่ายหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
4.นายเสถียร รัตนวงศ์ ขายซีดีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ
5.นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ลิงค์โฆษณาให้ผู้คนเชื่อมต่อไปอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาให้ร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
6.นาย ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล นำข้อความในลักษณะหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ในรายการ “ทางออกประเทศไทย”เว็บไซต์ norporchorusa ซึ่งจัดรายการโดยนายชูพงศ์ ถี่ถ้วน
7.นาย สุริยันต์ กกเปือย  โทรศัพท์ไปยัง 191 ข่มขู่วางระเบิดโรงพยาบาลศิริราช
9.นางดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ปราศรัยด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย บนเวทีเสียงประชาชน ท้องสนามหลวง
 
 
                 นอกจากนี้พฤติการณ์ของผู้ต้องหาระดับแกนนำอย่างนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือนายจตุพร พรหมพันธ์ ก็จะต้องพิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางว่า ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเจตนาหรือเป็นการกล่าวหา แสดงความอาฆาตมาดร้ายกันแน่
 
 
                   รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการกลุ่มต่างๆ ที่อ้างถึงสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับเคลือบแฝงเอาไว้ด้วยเจตนาบางอย่าง โดยเฉพาะ 8 เสนอข้อของนายสมศักดิ์ ดังนี้
 
1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
3. ยกเลิกองคมนตรี
4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491
5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ การให้การศึกษาเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
6. ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
8. ยกเลิกการบริจาค รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
 
                 และที่ชัดเจนที่สุด กับเป้าหมายของขบวนการล้มเจ้า ที่ยังคงเดินหน้าโจมตีสถาบันอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112
 
 
                  นักวิชาการ นักเขียน หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ จะรับรู้ข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมีกลุ่มที่จ้องโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง ขณะที่การทำหน้าที่เพื่อปกป้องและพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทย ที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
 
 
รัฐธรรมนูญมาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้
 
รัฐธรรมนูญมาตรา 77 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ
 
                  ถึงไม่มีรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และ 77กำหนดให้คนไทยพิทักษ์รักษา พระมหากษัตริย์  แต่ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คนไทยส่วนใหญ่ก็ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวด้วยความเต็มใจ ....
 

ที่มา TNEWS


อยากเตือนผู้ที่เข้าใจในหลวงผิด แล้วคันไม้คันมือ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง