บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์ความเชื่อ-การครองอำนาจนำประชาชน

โดย Tan Rasana

คัดย่อบทเพิ่มเติมใน “วิกฤติที่ไม่บอกกล่าว”(THE UNTOLD CRISIS)
 
ยุคโลกาภิวิตน์ที่ได้กลายเป็น “โลกาวิบัติ”บนกระแสโลกทุกวันนี้ ได้ตอกย้ำทฤษฎีการครองอำนาจนำ(The Concept Hegemony)ของอันโตนิโย กรัมชี่ได้เป็นอย่างดี กรัมชี่เป็นนักคิดมาร์กซิสต์ที่ฉีกแนวออกมาจากมาร์กซิสต์รุ่นเก่า เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี. ค.ศ. ๑๘๙๑– ๑๙๓๗ (http://en.wikipedia.org/wiki/Antonio_Gramsci)ผลงานที่โดดเด่นของกรัมชี่ก็คือ “บันทึกจากคุก” (Prison Notebooks) เขาใช้เวลาที่อยู่ในคุกเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา และหลักการของเขาก็ได้อธิบายการกดขี่ขูดรีดยุคใหม่ได้ดีกว่ามาร์กซิสต์รุ่นก่อนๆของเขา(Orthodox Marxist) กรัมชี่เชื่อว่า “การปกครองด้วยความเชื่อ มีประสิทธิผลมากกว่าการปกครองด้วยความกลัว” และเขาเชื่อว่า “อุดมการณ์”เป็นสิ่งที่สร้างได้และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง
 
มหาอำนาจจักรวรรดินิยมนักล่าเมืองขึ้นแบบใหม่ ไม่ได้ใช้เรือปืนทำการบีบบังคับด้วยกำลังเพื่อปล้นชิงทรัพยากรในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าและมีผู้ปกครองอ่อนแอที่มีแต่ความโลภโมโทสัน หรือฉลาดแต่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตน นักล่าเมืองขึ้นแบบใหม่ใช้การให้ความช่วยเหลือทางการศึกษา สาธารณสุขและจับประเด็นสาธารณะอื่นๆค่อยๆทำการแทรกซึม ประเทศไทยเราเริ่มกลายเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่รัฐบาลไทยลงนามในสัญญาถนัด-รัสต์(แถลงการณ์ร่วมของ นายถนัด คอมันตร์ และนายดีน รัสต์ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๕ )ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยได้ทำการจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันนายหน้าของการพัฒนาให้ประเทศเป็นแบบตะวันตกและเป็นแบบอเมริกา ซึ่งได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียสำนึกของความเป็นชาติและหลงลืมมาจนปัจจุบันว่า “ผลประโยชน์ของชาติ”คืออะไร
 
คนไทยถูกปลูกฝังอุดมการณ์แบบ “เสรีประชาธิปไตย” ว่ามันคือเป้าหมายการพัฒนาเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ สิ่งเก่าๆเช่นระบอบการปกครอง ชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ วิชาการองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมดั้งเดิม ถูกทำให้เป็นสิ่งล้าสมัยไปหมด วิถีชีวิตแบบอเมริกัน(American Dream)ทำให้คนไทยเชื่อตามตะวันตกว่า โลกอารยะจะต้องประกอบด้วย ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจจะต้องเป็นตลาดเสรี วัฒนธรรมจะต้องทันสมัยใหม่เสมอ ซึ่งแม้จะเป็นความจริงอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวและเป็นครึ่งที่มีทวิลักษณะคือทั้งทำลายและสร้างสรรค์
 
กรัมชี่เชื่อว่าโลกยุคใหม่ผู้ที่จะมีบทบาทสูงต่อการสร้างความเชื่อและอุดมการณ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ก็คือชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีพลวัตในสังคมสูง มุมมองนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติโดยมหาอำนาจชาติใหญ่และมหาเศรษฐีของอเมริกาและตะวันตกที่ได้จัดตั้งในรูปของมูลนิธิบ้าง ที่คุ้นเคยและมีบทบาทสูงในประเทศแถบเอเชียเช่น มูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเล่อร์ ที่อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มประธานาธิบดีซูการ์โน่ผู้แข็งขืนของอินโดนีเซีย องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเช่นยูเสด(USAID) ยูซิส(USIS)บ้างเพื่อส่งผ่านการช่วยเหลือในรูปเงินทุนแบบให้เปล่า การให้ทุนการศึกษาแก่ปัญญาชนในประเทศด้อยพัฒนา การเผยแพร่การข่าว การสาธารณสุขแผนใหม่ การนำเสนอเศรษฐกิจแผนใหม่ที่มหาอำนาจได้รับประโยชน์ความช่วยเหลือแบบนี้ให้ผลในการครอบงำที่มีประสิทธิผลมากกว่าการกดขี่โดยการใช้เรือปืนแบบเก่า กระทั่งในปัจจุบันองค์กรเหล่านี้ก็เป็นต้นรากขององค์กรโลกบาลในปัจจุบันอันได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF)ที่สามารถโค่นล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โต้หลังจากใช้วิธีการอื่นๆไม่สำเร็จ องค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) เขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา(ASEAN Free Trade Area :AFTA )ที่มีมหาอำนาจคอยหนุนหลัง กระทั่งสนธิสัญญาทางการเมืองการทหารอื่นๆถ้ามีความจำเป็นต้องบีบบังคับให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือที่มีแนวคิดเป็นฝ่ายตรงข้าม เช่น นาโต้(NATO)


คัดย่อบทเพิ่มเติมใน “วิกฤติที่ไม่บอกกล่าว”(THE UNTOLD CRISIS)
 
เศรษฐศาสตร์ความเชื่อ( Unreal Economy )ในขอบเขตกว้างใหญ่ระดับโลก ต้องใช้พลังและแรงจูงใจสูงมาก มหาอำนาจมีแรงจูงใจและใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลสำหรับการเดินทางข้ามโลกเพื่อที่จะแสวงหาแผ่นดินที่เป็นแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ
 
การครองอำนาจนำประชาชนในประเทศที่ด้อยพัฒนา กำลังพัฒนาหรือตรงตัวที่สุดก็คือ กำลังจะตกอยู่ในสภาพเมืองขึ้นแบบใหม่ของมหาอำนาจ จำเป็นต้องผ่านเอเยนต์ผู้ซื่อสัตย์ไว้วางใจได้และมีพลังอำนาจทางทหารเพียงพอ สมทบเข้ากับกองทัพผู้ผลิตความเชื่อให้กับสังคม หรือปัญญาชนที่ได้รับการปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่าทันสมัยมาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ประชาคมในประเทศนั้นๆด้วยการเบียดขับปัญญาชนรุ่นเก่าๆออกไป
 
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันประกาศเมื่อปี ๑๙๖๗ ว่า “อินโดนีเซียเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์” (ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เช่น ทองแดง นิเกิล ดีบุก เการัน ป่าไม้และน้ำมัน)และหากสหรัฐไม่อาจเอาชนะสงครามเวียดนามได้ การเข้าแทรกแซงอินโดนีเซียได้สำเร็จนับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คำกล่าวนี้สอดคล้องกับแผนการ ๒๐ ปีของมูลนิธิฟอร์ด
 
สหรัฐเลือกที่จะไม่ทำสงครามกับเจ้าอาณานิคมเก่าของอินโดนีเซีย แต่เลือกที่จะเบียดขับด้วยการสนับสนุนให้คนอินโดนีเซียกู้เอกราชจากฮอลแลนด์ด้วยตนเอง นี่เป็นกโลบายอันนำมาซึ่งความเชื่อว่าที่สหรัฐฯคือมหามิตรของกลุ่มประเทศแถบนี้แม้กระทั่งประเทศไทย ชัยชนะในการกู้อิสรภาพของอินโดนีเซียอยู่ในห้องโถงกลางกรุงนิวยอร์คและวอชิงตัน
 
มูลนิธิฟอร์ดได้เริ่มงานเพื่อควบคุมการศึกษาเพื่อสร้างเศรษฐศาสตร์ความเชื่อ เพื่อการครองอำนาจนำประชาชนอินโดนีเซียผ่านมหาวิทยาลัยสำคัญเช่น เอ็มไอที คอร์แนล เบอร์คเล่ย์ ฮาวาร์ด ให้ทุนเรียนต่อต่างประเทศเพื่อสร้างผู้นำอินโดนีเซียยุคใหม่ที่เดินตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาทั้งพลเรือนและกองทัพ วิชา Indonesia Studies ได้รับการบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยคอร์แนลแหล่งข้อมูลทางสังคม-การเมืองของเอเชียอาคเนย์ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด
 
ประธานาธิบดีซูการ์โนผู้แข็งขืนทั้งปฏิเสธความรู้ใหม่ๆของ Joseph Alois Schumpeter เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics)และอ่านแต่หนังสือของ Karl Marx ก็ถูกวางแผนโค่นล้มโดยกลุ่มนายทหารหัวใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ บนความเพิกเฉยของกองทัพปัญญาชนเอเยนต์ผู้ผลิตความเชื่อใหม่ๆให้กับผู้คน ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ราว ๒๐ ล้านคน(ก่อนหน้ากอบกู้อิสรภาพมีเพียง ๘,๐๐๐ คน)และมีส่วนในการสนับสนุนซูการ์โนถูกฆ่าตายราว ๓๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ คน(บางรายงานว่าราว ๗๕๐,๐๐๐ คน)แม่น้ำลำธารในอินโดนีเซียเกลื่อนไปด้วยศพและแม่น้ำเป็นสีเลือด
 
รัฐบาลชุดใหม่ของซูฮาร์โตได้นำเสนอต่อนายทุนชาวยุโรปและอเมริกาว่าอินโดนีเซียยุคใหม่นี้ มีเสถียรภาพทางการเมือง ค่าแรงงานถูก ลู่ทางตลาดแจ่มใส ทรัพยากรมั่งคั่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยได้ผลิตคนคุณภาพใหม่ไว้รองรับเศรษฐกิจแบบใหม่พร้อมแล้ว การเสนอดังกล่าวสร้างความพึงพอใจให้กับ นาย David Rockefeller ประธานธนาคารเชสแมนฮัตตัน เขากล่าวว่า เขาประทับใจในคุณภาพการศึกษาของคนอินโดนิเซียยุคใหม่มาก 
 
แต่หลังจากนั้นอีก ๓๐ ปีของการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจให้กับอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีซูฮาร์โตผู้ครองอำนาจมายาวนาน( ๑๙๖๘-๑๙๙๘)ด้วยการหนุนหลังของมหามิตรที่ไว้เนื้อเชื่อใจที่สุด ก็ถึงกาลล่มสลายด้วยการขูดรีดยุคใหม่ของทุนอุตสาหกรรมการเงิน ด้วยมาตรการกัดกร่อนบ่อนเซาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านระบบการเงินการคลังจนต้องเข้าโปรแกรมการเยียวยาในภาคบังคับของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ.
 
กรณีของอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกาสามารถครองอำนาจนำเหนือผู้คนในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วยการผลิตความเชื่อผ่านทุกโครงสร้างของสังคม ที่สำคัญคือโครงสร้างทางการศึกษาและการผลิตปัญญาชนเอาไว้เพื่อรองรับระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ที่สามารถแยกผลประโยชน์ส่วนตนของคนในชาติออกจากผลประโยชน์ชาติ ในทางกลับกันก็ต้องสร้างให้เกิดความเชื่อแบบที่กรัมชี่เสนอไว้ว่า ต้องทำให้ผู้คนเข้าใจว่าผลประโยชน์ของรัฐนั้นเป็นผลประโยชน์ของประชาชนด้วย.
 
 


Michel Camdessus and Haji Mohammed Suharto. “ภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพัน และภาพหนึ่งถูกถ่ายในปี ๑๙๙๘ และถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นภาพที่ตราตรึงอยู่ในหัวของคนนับล้านๆคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน นั่นคือภาพของนายไมเคิล คัมเดซูส์ กรรมการผู้จัการไอเอ็มเอฟ(IMF)อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ซึ่งอ้างว่า ตัวเองมีความคิดสังคมนิยม ยืนกอดอก ทำหน้าเครียด ค้ำหัวประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ของอินโดนีเซียผู้ต่ำต้อยที่กำลังเซ็นชื่อในข้อตกลงรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ”- โจเซฟ อี สติกลิทซ์ -นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จากหนังสือ โลกาภิวัตน์ที่ล่มสลาย(ขุนทอง ลอเสรีวานิช แปลจาก Globalization and its discontents)


          การขับเคี่ยวของสองระบบ ทุนนิยมและสังคมนิยมในยุคก่อนที่จะเรียกเป็นทางการว่ายุคโลกาภิวัติเป็นไปอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น จวบจนกระทั่งเกิดการล่มสลายของประเทศศูนย์กลางสังคมนิยมสหภาพโซเวียตรุสเซีย กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สิ้นสุดยุค “สงครามเย็น” สหรัฐอเมริกาดำรงฐานะมหาอำนาจเดี่ยว ในขณะที่มหาอำนาจอื่นๆทั้งยุโรป ญี่ปุ่นและจีนมีภาระภายในประเทศที่จะต้องทำการเยียวยาสังคมและสร้างชาติ ยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เศรษฐศาสตร์ความเชื่อที่ผลิตวาทกรรม“ภัยของคอมมิวนิสต์”ก็ถูกปรับมาเป็น “ภัยจากการก่อการร้าย” เศรษฐศาสตร์ความเชื่อถูกยกระดับให้มีลักษณะสากลยิ่งขึ้น
 
          ก่อนหน้านั้น การยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์ให้กับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับจักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นหนึ่งในแผนการสร้างเศรษฐศาสตร์ความเชื่อในระดับสากลของอเมริกา เป็นยุทธศาสตร์ที่มาพร้อมๆกับการเข้าครอบครองทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ เร่ธาตุและแหล่งการตลาดใหม่ๆของนักลงทุนจากยุโรปและอเมริกา การวางแผนเพื่อขจัดอุปสรรคที่จะมาจากบูรพาทิศ เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยและเวียดนามที่กำลังสู้รบเพื่อกอบกู้ประเทศในเวลานั้น
 
          อินโดนีเซีย-ไทยก็เผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่ต่างกัน และคล้ายคลึงกันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่มีความขัดแย้งภายในในประเด็นระบอบการเมือง ระบบเศรษฐกิจในยุคเปลี่ยนผ่านประเทศ ด้วยการแทรกแซงโดยตรงและโดยอ้อมในทั้งสองปีก การเมือง-เศรษฐกิจ ในนามความช่วยเหลือแบบเปิดและการแทรกแซงทางการทหารรวมทั้งความรุนแรงแบบปิด
 
          สถานการณ์และตัวตนของซูการ์โนไม่แตกต่างกันมากนักกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม  ที่มหามิตรจากโพ้นทะเลตะวันตกที่เคยเกื้อหนุนจุนเจือวางแผนโค่นด้วยน้ำมือของเขาเอง ซีไอเอ ท่มเงินสร้างพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ติดอาวุธและฝึกกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน ขุนเลี้ยงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์จนโค่นจอมพลป.พิบูลสงครามได้สำเร็จ ท่ามกลางบรรยากาศที่มีม่านดำคลี่คลุมครอบงำสังคมให้เกิดความเชื่อว่า จะมีการรุกรานครั้งใหญ่มาจากบูรพาทิศ จากลัทธิอันเป็นภัยต่อสังคมของประเทศกำลังพัฒนานั่นคือลัทธิคอมมิวนิสต์
 
          เอเยนต์ทางความเชื่อที่สามารถรวมศูนย์การตัดสินใจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แบบสฤษดิ์ –ซูฮาร์โต้ ย่อมทำให้ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อในหมู่ประชาชนของประเทศทั้งสองดำเนินไปได้ราบรื่นกว่าบรรยากาศทางการเมืองแบบกึ่งปิดกึ่งเปิดแบบจอมพลแปลก-ซูการ์โน มันเป็นผลดีต่อการสร้างหลักประกันให้กับรากแก้วทางเศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมที่กำลังหยั่งราก ให้ยึดโยงได้มั่นคงและแตกรากฝอยได้ดีกว่าการที่จะมีผู้คนในประเทศที่รู้เท่าทันนับ ๒๐ ล้านคนในอินโดนีเซียและอีกนับแสนคนในประเทศไทย อีกทั้งยังคอยประท้วงสิทธิในการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมืองของตนเอง มหาอำนาจใช้วิธีเดียวกันก็คือการฆ่าคนหลายแสนคนในอินโดนีเซียด้วยน้ำมือของคนในชาติเดียวกัน กำจัดศัตรูทางการเมืองนับพันๆคนในประเทศไทย แล้วแทนที่ความเชื่อเดิมๆด้วยระบอบการเมืองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจที่อ้างว่าเสรี แทนที่การพัฒนารูปแบบอื่นๆด้วยคำว่า “ศิวิไลซ์”
         
          หลังยุคของซูการ์โน ไม่มีอะไรแตกต่างจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ที่มีคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีเงินใช้ ”
 
          “...จะสังเกตเห็นว่า นักวิชาการที่มีบทบาทมากในสมัยจอมพลสฤษดิ์  คือ นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารรัฐกิจ รวมทั้งนักเทคนิคทั้งหลาย เช่น นักสถิติ เป็นต้น  มีการตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ขึ้น เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุดเน้นอยู่ที่การพัฒนาการศึกษา มีการขยายมหาวิทยาลัยออกต่างจังหวัดทุกภาค จุดเน้นอยู่ที่การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยไม่ตั้งประเด็นสงสัยในระบบการเมืองการปกครองว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด  กล่าวอีกนัยหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ใช้วิธีการแช่เย็นการเมือง โดยถือว่าเป็นเรื่องวุ่นวายยุ่งยาก แต่เน้นการบริหารและการพัฒนาคือ มีรัฐบาลและระบบราชการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนก็เพียงพอแล้ว” (ที่มา -อาจารย์รัชตะ  พันธ์แสง)
 
          อย่างไรก็ตาม  แนวความคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ก็ได้ถูกโจมตีว่า  ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและสร้างปัญหาเศรษฐกิจสังคมให้แก่สังคมไทยมากมาย เช่น งานของ ศจ.เสน่ห์ จามริก  ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ได้นำไปสู่การกระจุกตัวของกลุ่มธุรกิจผูกขาด ในขณะเดียวกันได้ทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมลงอย่างย่อยยับ



        ประเทศไทยไม่เพียงแต่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์เช่นเดียวกับประเทศในอินโดจีนที่กำลังจะพัฒนา แต่ยังมีทรัพยากรอันวิเศษเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการครองอำนาจนำของมหาอำนาจนั่นก็คือทรัพยากรบุคคล เนื่องจากคนไทยมีนิสัยโอบอ้อมอารี มีวัฒนธรรมอ่อน ไม่ก้าวร้าวและไม่ชอบความรุนแรงหากไม่ถูกรังแกอย่างที่สุด ทั้งเรายังมีศาสนาที่มีหลักคำสอนที่ดีงามกล่อมเกลาจิตใจ เศรษฐศาสตร์ความเชื่อจึงสามารถหยั่งรากลงไปได้ง่าย และเมื่อประชาชนถูกทำให้เชื่อว่า “ความศิวิไลซ์”หรือ “ความเจริญ”คือความดีงาม คือความมั่งคั่ง คือความผาสุก ประชาชนของเราจึงคล้อยตามไปได้ง่าย และรับมาอย่างขาดการวิพากษ์ว่า แท้ที่จริงความศิวิไลซ์ ความเจริญ ความมั่งคั่งและความผาสุกที่เห็นๆกันนั้น มันเป็นของใคร ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยแค่ไหนเพียงใด ?
 
        คนไทยเรามักภาคภูมิใจกับคำว่า“THAILAND -LAND OF SMILE” หรือสยามเมืองยิ้ม จนมองข้ามไปว่าประเทศที่เราเรียกว่ามหามิตรนั้นกำลังนำภัยพิบัติอันใหญ่หลวงเข้ามาให้กับคนไทยด้วยหรือไม่ สิ่งที่เรียกว่าความเจริญ ความมั่งคั่งและความผาสุกเป็นจริงมากน้อยเพียงใด เราต้อนรับผู้คนที่มาจากประเทศมหามิตรยุโรปและอเมริกาด้วยรอยยิ้มและน้ำใสใจจริงจนลืมไถ่ถามไปว่า พวกเขามาด้วยจุดประสงค์อันใดกันแน่
 
          การเข้ามาสร้างเศรษฐศาสตร์ความเชื่อและการครองอำนาจนำประชาชนไทย ไม่ต่างกันกับอินโดนีเซียเท่าใดนัก และประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะพบแบบวิธีเดียวกัน “โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”ได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในแผนกเอเชียบูรพาศึกษา ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๐ ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยมีเพียงสอง-สามรายเท่านั้น อาทิ แลงการ์ตและ ควอริช เวลส์(ค.ศ. ๑๘๕๐) และมีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ของนายเดวิด วายอัตต์และนายคอนสแตนส์ วิลสัน ที่กล่าวถึงลักษณะพิเศษทรัพยากรบุคคลของไทยดังที่กล่าวมาว่า
 
          “การสนองตอบของไทยต่อชาติตะวันตกนั้นเป็นลักษณะของการสร้างสรรค์ เพราะว่าเป็นการตอบสนองตอบอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบระมัดระวัง แต่ก็เป็นไปโดยธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมไทยที่เปลี่ยนจากราชอาณาจักรสยามแต่โบราณมาเป็นประเทศไทยใหม่และทันสมัย”
 
          ในโลกทุนนิยมซึ่งทุนนิยมศูนย์กลางมีพลังอำนาจครอบโลก รัฐอื่นๆมีสภาพไม่แตกต่างไปจากรัฐบริวารหรือเรียกได้ว่าเป็น “ทุนนิยมบริวาร”รัฐบาลของแต่และประเทศที่ผูกพันกับมหาอำนาจ ทั้งมีคำขอและได้รับความช่วยเหลือโดยส่วนใหญ่แล้วก็คือรัฐบาลนายหน้า ผลประโยชน์ของมหาอำนาจกับรัฐบาลมักจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และมักจะไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
 
        จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ได้ให้เหตุผลต่อประชาชนว่าอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุด พล.ท.ถนอม กิตติขจร ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านการคลัง กล่าวคือ งบประมาณประจำปี ๒๕๐๐  ขาดดุลอยู่ถึงกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท เขากล่าวว่า “สมัยก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติ ชาติที่รักของเราต้องตกอยู่ในสภาวะที่คับขันเพียงใด ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศต้องทรุดลงไปอย่างหนักยิ่ง รัฐบาลต้องตกเป็นลูกหนี้ธนาคารแห่งชาติ ถึง ๑,๕๐๗ ล้านบาทเศษ"ทางออกของรัฐบาลก็คือ การขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจทั้งหมดใน พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๒  เป็นเงิน ๕๘.๙ ล้านเหรียญสหรัฐ ยุคเผด็จการอันยาวนานของจอมพลสฤษดิ์-เผ่า เป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเททั้งกำลังคน พลังทางเศรษฐกิจ กโลบายทางการเมือง ไม่เพียงเป็นยุคที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “ยุคทมิฬ” แต่ยังเป็นยุคของการฉ้อฉลจากทั้งเงินช่วยเหลือของมหาอำนาจ เงินจากการค้ายาเสพติด และจากงบประมาณแผ่นดินมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ปกครองไม่กี่คนได้ถูกทำให้กลายเป็นผลประโยชน์ร่วมของคนไทยทั้งชาติ
 
        มองจากมุมมองของอันโตนิโย กรัมชี่ก็จะได้ข้อสรุปว่า เรากำลังถูกทำให้เชื่อ และเชื่อมาโดยตลอดว่า “ผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มนั้นเป็นผลประโยชน์ของประชาชนด้วย” แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ประจักษ์อยู่ชัดแจงว่า ผลประโยชน์ของนักการเมืองที่แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่มีที่มาจากการซื้อเสียงนั้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนในชาติอย่างที่คิดที่เชื่อกัน
 
        การปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศทุนนิยมทำให้พวกเขาต้องเร่งระดมทรัพยากรธรรมชาติเพื่อป้อนโรงงานทำการผลิตและขยายตลาด ทรัพยากรธรรมชาติจากโพ้นทะเลที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งวัตถุดิบที่จะต้องช่วงชิง จากการใช้เรือปืนมาสู่การใช้กโลบายทางการเมืองที่ยังต้องกำกับด้วยการทหารและกำลังรบที่แน่นอน เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สังคมทุนนิยมเต็มรูปแบบกระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคผูกขาดของทุน แนวคิดที่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยม เช่นแนวคิดชาตินิยม แนวคิดสังคมนิยมและแนวคิดแบบสังคมคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นคู่ขนานและขับเคี่ยวกัน การช่วงชิงสร้างเศรษฐศาสตร์ความเชื่อและการแย่งชิงพื้นที่เพื่อครองอำนาจนำเหนือแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ก็เกิดขึ้น พัฒนาขึ้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อของประชาชนในประเทศตัวกลางด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระดับสากล ก็ปรากฎสงครามขนาดใหญ่ที่ลากเอาประเทศโลกที่สามเข้าไปเป็นนั่งร้าน ประเทศไทยเคยมีสภาพเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ให้กับสหรัฐอเมริกาเข้าไปรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน
       
          ที่น่าแปลกใจก็คือ ประชาชนในประเทศตัวกลางดังเช่นประเทศไทย  ผู้คนกลับพากันหลงลืมไปเสียสนิทว่า เนื้อแท้ของความขัดแย้งภายในของพวกเรานั้น ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ของมหาอำนาจชาติใหญ่ซึ่งเรากำลังตกเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง ถูกยกระดับให้อยู่เหนือปัญหาการแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ การขูดรีดทรัพยากร ความยากจนที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ช่องว่างในสังคมที่นับวันจะถ่างกว้างออกไป ปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ถูกแช่แข็งในที่ๆซึ่งถูกกีดกัน อำพรางเอาไว้โดยเอเยนต์ทางความคิดความเชื่อ
 
        พวกเขาก็คือบรรดานักเรียนทุน นักเรียนนอก นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก นักการเงินการธนาคาร กล่าวโดยรวมก็คือบรรดาเอเยนต์เหล่านี้มักจะเป็นเทคโนแครตในภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่.
เว็บไซต์สำหรับภาพนี้... 2 วัน เผด็จการสฤษดิ์เสนอเงินรางวัลให้นับแสนบาท เพื่อให้ทรยศต่ออุดมการณ์ ... sanamluang2008.blogspot.com



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง