วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554
สัมภาษณ์พิเศษพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" คือผู้นำกองทัพ
ประชาชาติธุรกิจ
5 ปีก่อน "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" คือผู้นำกองทัพ คือผู้นำคณะรัฐประหาร
สวมหัวโขนผู้บัญชาการทหารบก - ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรองนายกรัฐมนตรี
เหตุผลของการยึดอำนาจจากรัฐบาล "ไทยรักไทย" ของ "บิ๊กบัง" อดีตหัวขบวนกองทัพคือ ป?ญหาการทุจริต ทำให้คนในชาติแตกแยก
วาระ 5 ปีรัฐประหาร
"ประชาชาติธุรกิจ" บันทึกความรู้สึก"บิ๊กบัง" วันที่สวมหัวโขน ส.ส.หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ท่ามกลางเสียงเสียดสี และข้อครหาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย
- ความรู้สึกกับการทำหน้าที่ ส.ส.ครั้งแรกเป็นอย่างไร
จริง ๆ แล้วเราเรียนรู้ทางทฤษฎีมาเยอะ จากนี้มาสู่ขั้นปฏิบัติ ทำให้นักการเมืองที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ ได้มองไปถึงภาพของนักการเมืองที่ควรจะเป็น เราไม่ได้หนักใจ เพราะเราไม่ได้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เราเป็นฝ่ายที่ตรวจสอบการทำงานพร้อมกับเป็นตัวแทนของประชาชน เรามีแนวคิดทางสร้างสรรค์
- รู้สึกอย่างไรเวลาที่นั่งอยู่ในสภา ได้ยิน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียดสีว่าเป็นผู้นำรัฐประหาร แต่กลับมาเล่นการเมือง
เฉย ๆ นี่คือการเมือง ก็ต้องมีคนรักมาก รักน้อยธรรมดา ไม่มีนักการเมืองคนไหนมีแต่คนรักหมด หรือมีคนเกลียดหมด เป็นธรรมดา ทุกคนก็ต้องมีรักมากหรือรักน้อย เหมือนสุภาษิตว่าคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ เป็นเรื่องปกติ จะไปคิดอะไรมาก
- เคยคิดโกรธบ้างหรือไม่
จะไปโกรธได้อย่างไร ไม่เห็นจะต้องโกรธอะไร เราไม่เคยทะเลาะกับใคร ไม่เคยโกรธเกลียดใครเลยเหรอ มันก็ธรรมดา เขาพูดก็ต้องฟังเขาไป บางครั้งมันก็เป็นประโยชน์
- อย่าง ส.ส.ด้วยกันให้การยอมรับท่านมากน้อยแค่ไหน
ก็โอเคนะ... ก็เรามีเพื่อนเยอะ ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยก็เยอะ แล้วการเมืองจะมาทะเลาะกันได้อย่างไร เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
- ตอนนี้มีสถานภาพ ส.ส.แล้ว เห็นว่า ส.ส.ไทยควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
มันมีหลายอย่าง ส.ส.ในบ้านเรา ควรนำหลักการของนักการเมืองมา ใช้เป็นแนวคิดในการปฏิบัติ
เพราะนักการเมืองจะต้องทำเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติเป็นหลัก บนพื้นฐานของอุดมการณ์ คุณธรรม จริยธรรม
- คิดว่าคุณธรรม จริยธรรม ในด้านไหนที่ ส.ส.ควรมี
ทุกคนจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติทำอย่างไรให้ผล ที่มันออกมานำไปสู่การพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีความสุข มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นหน้าที่ของ ส.ส.จะต้องพยายามทำ แต่หากมีนักการเมืองคนไหนที่ทำหน้าที่ไม่ตรง เราก็จะเสนอแนะ แต่ไม่ถึงกับขั้นตักเตือน
- มองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไร
ก็โอเคนะ รัฐบาลเพิ่งมาเป็นใหม่ ๆ นโยบายที่แถลงไว้ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ก็ต้องให้ทดลองทำงานดู แล้วเราก็คอยตรวจสอบ ขณะนี้ต้องปล่อยให้เขาทำงานไป
- ให้เวลารัฐบาลทำงานกี่เดือน
ไม่ได้ให้เวลา แต่ตัวเราเองมองทุกปัญหาที่รัฐบาลทำ เพราะนโยบายให้ดีอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลทำสอดคล้องกับ ข้อเท็จจริงไหม สอดคล้องกับนโยบายไหม สอดคล้องกับประชาชนหรือไม่ถ้าไม่สอดคล้องเราก็ต้องเสนอแนะไปบอกรัฐบาลว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง
- รัฐบาลถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่ตรงกับที่หาเสียงไว้
ตรงนี้ (นิ่งคิด) เป็นกลยุทธ์ที่เขาหาเสียง แต่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในเรื่องแนวนโยบายของรัฐบาล
- อนาคตหากเพื่อไทยขอ 2 เสียงของมาตุภูมิไปร่วมรัฐบาล จะยินดีหรือไม่
เรื่องพวกนี้ต้องคุยเรื่องใหญ่ ส่วนตัวไม่กล้าไปตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกรรมการพรรค
- พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคีที่มาจากไทยรักไทยที่ถูกรัฐประหาร แต่ชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาล มองเรื่องนี้อย่างไร
มันขึ้นอยู่กับประชาชน เมื่อประชาชนตัดสินใจอย่างไรก็ต้องยอมรับผลการตัดสินใจนั้น เราไม่มีสิทธิ์ไปมองว่าอันนั้นถูก อันนี้ไม่ถูก หรือผิด ประชาชนรู้ เมื่อประชาชนรู้เขาถึงเลือก เพราะฉะนั้นจากนี้ไปถึงเวลาที่ประชาชนจะเฝ้ามองรัฐบาลว่าทำเพื่อประชาชนหรือทำเพื่ออะไร
- เวลานี้เริ่มมีการจุดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มันต้องยอมรับความเป็นจริงอันหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไปอะไรก็เปลี่ยนได้หมด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ วันนั้น เวลานั้นเป็นอย่างนี้ พอถึงสถานการณ์ตอนนี้มันควรเป็นอย่างนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการของมัน
- พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เพราะมันเป็นมรดกของการรัฐประหาร
อันนั้นมันเป็นเทคนิค มันเป็นกุศโลบาย เป็นเรื่องของการหาทางที่จะพูดคุยมากกว่า
- ในฐานะที่เป็น ส.ส.1 ใน 500 คน สมควรหรือยังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การจะแก้รัฐธรรมนูญ มันต้องถามว่าแก้ไขในสภาทำได้ไหม ประชาชนคิดเห็นอย่างไร มันต้องช่วยกันคิดทุกส่วน เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก ส.ส.เข้ามา แม้ ส.ส.ที่เข้ามาจะมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่เขาต้องฟังประชาชน ซึ่งประชาชนจะเป็นตัวชี้วัดอยู่ข้างหลัง นักการเมืองก็ต้องฟัง หากเขาอยากทำอะไรที่ไม่ฟังเสียงประชาชน อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะลำบาก ส.ส.นักการเมืองก็ต้องคิดตรงนี้
- มาตราไหนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และจำเป็นจะต้องแก้ไข
คิดว่าสิ่งไหนที่ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จะต้องมีการพัฒนาก็ต้องว่ากันไป เช่น แก้ไขเรื่อง ส.ว.สรรหา อย่างนี้ก็ต้องขึ้นกับที่ประชุมสภาว่า ส.ส.จะคิดอย่างไร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ไม่ได้มีส่วนอย่างเดียว แต่ ส.ว.ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไข
- เป้าหมายรัฐบาลอย่างหนึ่งคือ แก้ไข หรือตัดทิ้งรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่ถูกมองว่าเป็นมาตราแห่งการนิรโทษกรรม
ก็แล้วแต่...เราไม่มีความเห็นเรื่องนี้
- จะทำให้คณะกรรมการ้การตรวจสอบ "ทักษิณ" ถูกล้างไปหมดหรือไม่
มันย้อนอดีตได้เหรอ กฎหมายมันย้อนอดีตไม่ได้ มันต้องพูดถึงปัจจุบัน กฎหมายส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนี้ ต้องไปดูในกฎหมาย
- ถ้าหากตัดมาตรา 309 จะทำให้คดีต่าง ๆ ที่เสนอโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) จะเป็นโมฆะ ไม่เอาผิด ได้เลย
อันนี้ต้องดูเรื่องกฎหมาย แต่เราไม่มีความเห็น
- เวลานี้มีประเด็นนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โอเค...มันก็เป็นสิทธิของประชาชน ของผู้แทนประชาชน ส่วนตัวไม่มีความเห็น
- จำเป็นต้องทำประชามติเพื่อขอความเห็นสำหรับนิรโทษกรรมหรือไม่
มันก็เป็นวิธีการ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มันเป็นประชามติของประชาชน มันก็แล้วแต่เขาจะใช้วิธีการอย่างไร ก็ต้องฟังด้วย
- พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลว่า จะต้องนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา ดำเนินคดีในประเทศไทย ในฐานะที่มาตุภุมิเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วย หรือไม่
เราบอกแล้วว่าบางเรื่องเราเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย และเป็นเรื่องของประชาชน เราไม่สามารถตอบได้
- มองว่าหนทางปรองดองในประเทศ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
ก็แล้วแต่นายกรัฐมนตรีคนเดียวว่า จะปรองดองได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับท่าน ต้องดูกันว่าท่านเดินไปอย่างไร
- การทำงานของพรรคมาตุภูมิในฐานะฝ่ายค้านเป็นอย่างไร
เราคุยกับ 3 พรรค คือ พรรครักประเทศไทย พรรครักษ์สันติ และพรรคมาตุภูมิ จัดเป็นกลุ่มพรรคเดียว เพื่อทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์ กับประชาชน อาจไม่ตรงกับเรื่องของบางฝ่าย แต่เราร่วมกันด้วยเหตุผล
นโยบายเราคือสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ทั้ง 3 พรรคจะเดินไปด้วยกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน
- มีวิธีหาข้อมูลตรวจสอบรัฐบาลอย่างไร
เรามีคณะกรรมาธิการอยู่แล้ว ทุก คนจะเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการที่ ดูแลด้านใดด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถรวมกลุ่มเพื่อต่อรองเลือกคณะกรรมาธิการได้ เราพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
- 2 เสียงของมาตุภูมิทำอะไรได้หรือไม่
มันอาจจะน้อยไปหน่อย
- จะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร
ส่วนตัวมองว่ามีหลายอย่างที่เป็นปัจจัยทำให้ได้แค่ 2 เสียง เพราะพรรคใหญ่เขามีบทบาทในการดำเนินการทางการเมืองอยู่แล้ว เป็นลักษณะของการชี้แจงประชาชน มีอัตราต่อรอง มีแรงจูงใจสูงกว่าพรรคเล็ก
- แสดงว่าต้องปรับยุทธศาสตร์การจูงใจประชาชน
มันมีวิธีการของมัน อย่างพรรคเล็ก ๆ ก็ประสบความสำเร็จ เช่น พรรคพลังชล พรรคชาติไทยพัฒนา ฉะนั้น เราพยายามหาหนทางของเราที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้า โดยเราจะนำสูตรของพรรคต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เป็นวิธีการของพรรคมาตุภูมิ โดยเราจะเก็บสิ่งที่ดีของแต่ละพรรคมาใช้
อย่างพรรคของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสนใจเป็นเอกลักษณ์ของคุณชูวิทย์ แต่ของเราคงเป็นอีกสไตล์หนึ่ง
- จะสร้างแบรนด์ของตัวเองอย่างไร
คงต่างกับของคุณชูวิทย์ เพราะ แบรนด์ของเราเป็นแบบนั้นไม่ได้ คนละรูปแบบ
- สไตล์การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมาตุภูมิจะนำมาศึกษาด้วยหรือไม่
ก็ใช่ เพราะเป็นพรรคการเมืองที่ยาวนาน ต้องดูว่าเขามีกุศโลบาย มีเทคนิคอย่างไร
- วางแผนเดินเกมในสภาแบบไหน
โอ้...มาตุภูมิเป็นพรรคเล็ก เราก็ศึกษาหาความรู้ไปว่า คณะกรรมาธิการเราจะช่วยเขาตรงไหน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น