วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554
เปิดบันทึกกฤษฎีกาเบรก”ยิ่งลักษณ์” ยกเก้าอี้ ผอ.กอ.รมน.ให้”กุนซือ-พล.อ.พัลลภ”
หมายเหตุ-เป็นบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1(นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน)ให้เห็นความเห็นกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหารือว่า นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้“ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”คนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจแทนในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(ผอ.กอ.รมน.) โดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบว่า การมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔
กล่าวคือมอบได้แต่เฉพาะอำนาจในการกำกับการบริหารราชการ โดยมิอาจอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบททั่วไปได้ ทั้งนี้ เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว
ทั้งนี้ มาตรา๑๑ (๒)ระบุว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวงไม่มีการระบุว่า สามารถอำนาจให้”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีรัฐมนตรี”ได้
(บันทึกเรื่องเสร็จที่ ๗๖๘/๒๕๕๔ ส่งพร้อมหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๙๐๑/๑๑๔๗ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
สำหรับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีปัจจุบันมีอยู่ ๔ คน ประกอบด้วย พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี, พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร,นายโอฬาร ไชยประวัติ และนายสุชน ชาลีเครือ
ในจำนวนทั้งหมด พล.อ.พัลลภ เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.และที่ปรึกษา กอ.รมน.มาก่อนและทำงานใน กอ.รมน.มาอย่างนาวนาน จึงคาดหมายกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการที่จะให้ พล.อ.พัลลภปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กอ.รมน.แทน
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การมอบอำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๔๐๕ (ลน)/๘๕๐๕ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ด้วยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภาย
ในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร โดยกำหนดให้
ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน กอ.รมน. และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน. รวมทั้งมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจดังกล่าว ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้ อำนาจแทนก็ได้
แต่โดยที่มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า นอกจากการมอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด หรือผู้อำนวยการศูนย์หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ ได้ ซึ่งมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติว่า อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่าง อื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกัน หรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในพระราชกฤษฎีกา
ด้วยเหตุนี้ นายกรัฐมนตรีจึงมีบัญชาให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีหากนายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งปฏิบัติ หน้าที่และใช้อำนาจแทนในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา ๕[๑] แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรี “ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) และเป็นผู้บังคับบัญชาข้า
ราชการ พนักงาน และลูกจ้างในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ได้บัญญัติเรื่องการมอบอำนาจของ ผอ.รมน. ไว้เป็นการเฉพาะ คือ มาตรา ๕ วรรคแปด ที่อาจมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทน ได้ และมาตรา ๘ ที่บัญญัติว่า นอกจากการมอบอำนาจตามกฎหมายว่า
ด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด หรือผู้อำนวยการศูนย์หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ ได้
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดใช้อำนาจแทนใน ฐานะ ผอ.รมน. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้บัญญัติหลักทั่วไปของการมอบอำนาจไว้ในมาตรา ๓๘[๒] ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด อาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น ได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของ
คณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ และโดยที่มาตรา ๕[๓] แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ ได้บัญญัติให้การดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน. ของนายกรัฐมนตรีเป็นการดำรงตำแหน่ง “ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” ซึ่งมาตรา ๑๑[๔] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่และการมอบอำนาจของนายก
รัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว
ดังนั้น การมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ จึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑[๕] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ คือมอบได้แต่เฉพาะอำนาจในการกำกับการบริหารราชการ โดยมิอาจอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๘[๖] แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบททั่วไปได้ ทั้งนี้ เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว
(นายอัชพร จารุจินดา)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กันยายน ๒๕๕๔
——————————————————————————–
[๑]มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เรียกโดยย่อว่า �กอ.รมน.� ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
กอ.รมน. มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี โดยวิธีการปฏิบัติราชการและการบริหารงาน การจัดโครงสร้าง การแบ่งส่วนงานและอำนาจหน้าที่ของส่วนงาน และอัตรากำลัง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร เรียกโดยย่อว่า �ผอ.รมน.� เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน กอ.รมน. และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน. โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการจากข้าราชการในสังกัด กอ.รมน. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงโครงสร้างและการแบ่งส่วนงานภายในของ กอ.รมน.ให้เสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. มีหน้าที่รับผิดชอบงานอำนวยการและธุรการของ กอ.รมน.รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และเลขาธิการ กอ.รมน. มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างใน กอ.รมน. รองจากผู้อำนวยการและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ทั้งนี้ โดยกระทำในนามของสำนักนายกรัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามพระ ราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้ อำนาจแทนก็ได้
[๒]มาตรา ๓๘ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือ ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่าง อื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกัน หรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ฯลฯ ฯลฯ
[๓]โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑, ข้างต้น
[๔]มาตรา ๑๑ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง
(๓) บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม
(๔) สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม
(๕) แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมาดำรงตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
(๖) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
(๗) แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
(๘) วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(๙) ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบายระเบียบตาม (๘) เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้
[๕]โปรดดูเชิงอรรถที่ ๔, ข้างต้น
[๖]โปรดดูเชิงอรรถที่ ๒, ข้างต้น
prasong.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น